พ่อหมี พี่หมอ อิอิ
บทเรียนจากลูกผสมสิงโต ตอนที่ 11

บังเอิญได้เข้าไปดูเว็บของ bboong.bloggang.com ของคุณสมบูรณ์ เห็นรูปลูกผสมสิงโตที่เลี้ยงไว้บางต้นน่าสนใจมาก จึงนำมาเสนอให้ดูกันในที่นี้ หากคุณสมบูรณ์เข้ามาอ่านบล็อกนี้ ก็ขออนุญาตนำรูปมาลงในที่นี้ เพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านด้วยครับ



ต้นแรกที่จะให้ดูคือ Mastiphyllum (Bulbophyllum) Tsiku Pouter จดทะเบียนโดย Tsiku Taiwan Orch. เมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นลูกผสมระหว่าง Mastigion (Bulbophyllum) putidum กับ Bulbophyllum lobbii น่าสนใจที่กลีบเลี้ยงคู่ข้างผายกางอย่างชัดเจน ไม่บิดพับแบบสกุล Mastigion เลย ยืนยันอีกครั้งว่าลักษณะกลีบผายของ Bulbophyllum section Sestochilos นั้นแรงกว่าอย่างแน่นอน สังเกตดีๆ เห็นได้ว่าปลายขอบกลีบดอกมีขนละเอียดอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในสกุล Mastigion แต่ไม่พบใน Bulbophyllum section Sestochilos ลองย้อนกลับไปเทียบกับ Mastiphyllum (Bulbophyllum) Koolau Star ในตอนที่ 5 แต่ก็นับว่าลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ข้างที่โค้งเข้าหาแนวกลางของ Mastigion นั้นเด่นชัด ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะที่ถูกบดบังโดยลักษณะขอบกลีบบนบิดพับ และลักษณะนี้ไม่พบในสิงโตสกุล Cirrhopetalum ซึ่งจะเห็นได้จาก Cirrhophyllum (Bulbophyllum) Stars And Stripes ซึ่งกลีบเลี้ยงคู่ข้างกางออกอย่างมากจนดูประหลาด

นั่นคือในสกุล Cirrhopetalum นั้น กลีบเลี้ยงคู่ข้างน่าจะพัฒนามาจากกลีบที่ยาวและกางแผ่ออก แล้วขอบกลีบบนบิดพับมาด้านหน้า จนมาจรดกันเหมือนพับกระดาษ และบางชนิดก็เชื่อมติดกัน ลักษณะขอบกลีบเลี้ยงคู่ข้างที่พับมาด้านหน้านั้น ทำให้ไม่เห็นลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ข้างว่าโค้งหรือไม่โค้ง จนเมื่อมาผสมกับ Bulbophyllum ใน section Sestochilos ทำให้กลีบเลี้ยงคู่ข้างแผ่ออก จึงเห็นลักษณะที่ซ่อนอยู่ ที่แตกต่างกันระหว่างสกุล Cirrhopetalum ซึ่งกลีบเลี้ยงคู่ข้างไม่โค้งเข้ากลาง กับสกุล Mastigion ซึ่งมีกลีบเลี้ยงคู่ข้างโค้งเข้ากลาง



ลองมาสังเกตกลีบเลี้ยงคู่ข้างของ Mastigion (Bulbophyllum) putidum กันดีๆ จะเห็นแนวโค้งของกลีบเลี้ยงคู่ข้างได้ชัดเจน สังเกตที่แนวขอบกลีบเลี้ยงคู่ข้าง ที่ถึงแม้จะจินตนาการว่าพยายามแผ่ออกแล้ว ก็ยังเป็นแนวโค้งอยู่อย่างชัดเจน ที่เห็นได้เช่นนี้ก็เนื่องจากในต้นนี้ส่วนโคนกลีบยังอยู่ห่างกัน แต่ลักษณะนี้ดูแทบไม่ออกในต้นที่กลีบบิดพับมาติดกันตั้งแต่ส่วนโคนกลีบ โดยเฉพาะใน Mastigion (Bulbophyllum) fascinator



อีกต้นหนึ่ง Cirrhophyllum (Bulbophyllum) Ekachai Punpreuk จดทะเบียนโดย Punpreuk เมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นลูกผสมระหว่าง Cirrhopetalum (Bulbophyllum) longissimum กับ Bulbophyllum lasiochilum เห็นได้ว่าส่วนบนของดอก ที่มีกลีบเลี้ยงบนและกลีบดอกยาว ได้อิทธิพลของ Bulbophyllum lasiochilum อย่างมาก ส่วนกลีบเลี้ยงคู่ข้างแม้จะมีขอบบนบิดพับ แต่ก็ถูกถ่างออกไม่ติดกัน ยกเว้นส่วนปลาย เป็นลักษณะเดียวกันกับที่พบในลูกผสม Bulbophyllum lasiochilum กับ Cirrhopetalum และ Mastigion ทุกชนิด เช่นที่เคยเห็นแล้วใน Mastiphyllum (Bulbophyllum) Sheryl Kurizaki ในตอนที่ 4 และ Cirrrhophyllum (Bulbophyllum) Meen Buddy ในตอนที่ 3

สังเกตลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ข้างของ Bulbophyllum lasiochilum กันดีๆ อีกที



จะเห็นว่ากลีบเลี้ยงคู่ข้างไม่โค้งเข้ากลาง แต่ขอบกลีบบนบิดพับมาด้านหน้าเท่านั้น หากจินตนาการว่าเมื่อแผ่ขอบกลีบที่บิดพับให้กางออกแล้ว ดูเหมือนว่าขอบบนของกลีบแค่บิดพับลงมาเฉยๆ เท่านั้น ไม่มีแนวโค้งของขอบกลีบให้เห็นแต่อย่างใด อีกลักษณะหนึ่งที่เห็นชัดแล้วตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้เน้นย้ำ เนื่องจากเป็นลักษณะที่ดูไม่เห็นชัดทางด้านหน้า คือลักษณะขอบกลีบด้านกลางของกลีบเลี้ยงคู่ข้างที่บิดพับมาด้านหน้า ซึ่งหากเกิดร่วมกับขอบกลีบด้านบนที่บิดพับ จะทำให้กลีบมีแนวโน้มที่จะห่อเป็นหลอด ซึ่งลักษณะนี้พบได้ในสิงโตหลายชนิดของสกุล Bulbophyllum หลาย section เช่น Cirrhopetalum และ Cirrhopetaloides บางชนิด จนถึง Umbellatae และในสกุล Mastigion และ Rhytionanthos

ลักษณะขอบกลีบแนวกลางของกลีบเลี้ยงคู่ข้างบิดพับมาด้านหน้านั้นสังเกตได้ยากใน Bulbophyllum section ที่มีกลีบเลี้ยงคู่ข้างแผ่อยู่แล้ว แต่จะเห็นได้ง่ายในพวกที่ขอบด้านบนของกลีบเลี้ยงคู่ข้างบิดพับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยของกลีบด้านกลางไม่บิดพับ เช่นในสกุล Cirrhopetalum บางชนิด ได้แก่กลุ่มสิงโตพัด เนื่องจากขอบด้านบนของกลีบบิดกลับมาอยู่ด้านกลางแทน เมื่อขอบกลีบแนวกลางไม่บิดพับ จึงกลายเป็นขอบด้านนอกของกลีบแทน และทำให้กลีบเลี้ยงคู่ข้างแผ่กางออก ประกอบกับการเรียงตัวของดอกในแนวรัศมี ทำให้สิงโตในกลุ่มนี้มีช่อดอกเป็นรูปพัดอย่างสวยงาม แต่ถ้าขอบแนวกลางของกลีบบิดพับด้วย จะทำให้กลีบห่อเป็นหลอด เช่นที่พบใน Cirrhopetalum sanguineopunctatum และ Bulbophyllum longissimum



มาดูอีกต้นหนึ่งครับ Bulbophyllum Vicky Leighty จดทะเบียนโดย Thoms เมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นลูกผสมของ Bulbophyllum Jersey กับ Bulbophyllum orthoglossum ใน section Lepidorhyza ส่วน Bulbophyllum Jersey นั้นก็เป็นลูกผสมระหว่าง Bulbophyllum echinolabium ใน section Intervalatae กับ Bulbophyllum lobbii ใน section Sestochilos ลองมาดูหน้าตาของพ่อแม่กันก่อน


Bulbophyllum Jersey


Bulbophyllum orthoglossum

เห็นได้ว่า Bulbophyllum Jersey นั้น มีลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ข้างโค้งเข้ากลางอย่างชัดเจน แต่ขอบบนไม่บิดพับ แสดงถึงลักษณะเด่นของกลีบเลี้ยงคู่ข้างโค้งเข้ากลาง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ได้สังเกตมาก่อน เมื่อมาผสมกับ Bulbophyllum orthoglossum ซึ่งมีขอบกลีบบนบิดพับมาด้านหน้าเฉยๆ โดยไม่มีการโค้งเข้าในของกลีบ (ลองจินตนาการว่าถ้าพับกลีบเลี้ยงคู่ข้างกลับขึ้นไป กลีบคงจะมีลักษณะกางแผ่ออกด้านข้างอย่างมาก ซึ่งคงจะดูแปลกตาพิกล) ผลลัพธ์ใน Bulbophyllum Vicky Leighty ต้นนี้สามารถทำให้กลีบบิดพับได้ แต่ยังดูแปลกพิกลอยู่ เดาว่าลักษณะกลีบบิดพับเช่นนี้น่าจะพบในบางต้นเท่านั้น น่าจะประมาณสักครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งน่าจะมีขอบกลีบไม่บิดพับ คือดูกลีบเลี้ยงคู่ข้างโค้งแต่ไม่บิดพับ ซึ่งจะดูคล้าย Bulbophyllum Jersey

สังเกตดีๆ จะเห็นลักษณะขอบแนวกลางของกลีบเลี้ยงคู่ข้างของ Bulbophyllum Vicky Leighty ต้นนี้มีลักษณะบิดพับมาด้านหน้าอย่างชัดเจน ที่จริงลักษณะนี้ถ่ายทอดมาจาก Bulbophyllum lobbii นั่นเอง ลองกลับไปดูรูปในตอนที่ 5 ทำให้ Bulbophyllum Vicky Leighty มีครึ่งปลายของกลีบเลี้ยงคู่ข้างที่ดูห่อเป็นหลอด

จากลักษณะของทั้งสามต้นนี้ จะขอสรุปเพิ่มเติมจากที่สรุปไว้แล้วในตอนที่ 8 ว่า นอกเหนือจากลักษณะขอบบนของกลีบเลี้ยงคู่ข้างบิดพับแล้ว ลักษณะกลีบเลี้ยงคู่ข้างโค้งเข้ากลาง กับลักษณะขอบแนวกลางของกลีบเลี้ยงคู่ข้างที่บิดพับมาด้านหน้า ก็เป็นลักษณะเด่นที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย ในการทำลูกผสมกล้วยไม้ในกลุ่ม Bulbophyllum



Create Date : 31 ธันวาคม 2550
Last Update : 5 มกราคม 2551 18:20:48 น. 3 comments
Counter : 1030 Pageviews.

 
กลับมาตามติดตอนที่ 11 แล้ว

สวัสดีปีใหม่ 2008 ด้วยครับ


โดย: appendiculata191 วันที่: 31 ธันวาคม 2550 เวลา:22:28:42 น.  

 
ขอให้มีความสุขทุกวันในปีใหม่นี้ครับพี่

ขอให้มีแต่สิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิตครับผม

Photobucket


โดย: พ่อน้องโจ วันที่: 1 มกราคม 2551 เวลา:1:59:57 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ครับ ติดตามผลงานตลอดนะครับ


โดย: ชนินทร์ (Gua Chin ) วันที่: 2 มกราคม 2551 เวลา:19:56:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pohmie
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แนะนำตัวครับ สำหรับคนที่ไม่เคยเจอ
พ่อหมีมีรูปร่างใหญ่มากครับ อ้าว มะเชื่ออีก จริงๆ นะ
เป็นผู้ใหญ่ใจดี ขี้บ่น ขี้เบื่อ
บางคนว่ารู้มาก คิดลึก ส่วนตัวผมเองว่าน่าจะไม่ค่อยรู้อะไร แต่พูดไปได้เรื่อยซะมากกว่า
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add pohmie's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.