พ่อหมี พี่หมอ อิอิ
เตรียมวุ้นเพาะกล้วยไม้

จากที่บอกว่าการเพาะเมล็ดกล้วยไม้เดี๋ยวนี้เพาะกันในวุ้นปลอดเชื้อ ซึ่งจะมีสองขั้นตอนด้วยกัน คือการเพาะจากเมล็ด กับการถ่ายขวดเพื่อเลี้ยงให้โต นั่นคือเพาะเมล็ดขึ้นมาก่อน เมื่อแน่ใจว่าขึ้นมากน้อยเพียงใดแล้ว ก็จะถ่ายขวดอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ต้นกล้ากระจายอย่างสม่ำเสมอ

ในขั้นตอนการเพาะเมล็ดนั้น ควรเพาะในขวดปากกว้าง ผมใช้ขวดแยมหรือน้ำพริกเผานั่นแหละครับ แต่ซื้อตรงจากบริษัทผลิตขวดเลย หาจากเน็ตได้ไม่ยาก เอาแบบที่มีฝาเป็นพลาสติกสีขาวขุ่น ฝาพลาสติกแบบนี้ทนความร้อนสูงได้ นำไปนึ่งฆ่าเชื้อได้ ส่วนในขั้นตอนการถ่ายขวดเพื่อเลี้ยงต้นกล้าให้โต อาจทำในขวดแยมก็ได้ หรือจะใช้ขวดเหล้าแบน หรือขวดเหล้าเหลี่ยม (มักเรียกกันว่าขวดแบล็ค ซึ่งก็คือขวดเหล้าแบล็คเลเบลนั่นแหละครับ) ก็ได้ ถ้าใช้ขวดแยมหรือขวดเหล้าแบนก็ใส่ได้ขวดหนึ่งไม่กี่ต้น แต่สะดวกสำหรับคนที่ต้องการซื้อจำนวนน้อย แต่ได้ต้นใหญ่แข็งแรงกว่า ถ้าใช้ขวดแบล็คจะได้ต้นจำนวนมาก แต่ความสูงของต้นที่ได้ก็จำกัด กรณีของขวดเหล้าไม่ว่าแบบไหนก็มีปัญหาเรื่องปากขวดแคบ ทำให้ใส่ต้นกล้าไม่สะดวก และการเอาต้นออกจากขวดเมื่อโตเต็มที่แล้วก็ไม่สะดวก บางทีต้องทุบขวด แต่ดีที่ไม่เปลืองที่วางขวดในระหว่างการรอต้นเติบโต


ก่อนที่จะเล่าเรื่องกระบวนการเพาะและถ่ายขวด สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือการเตรียมวุ้นอาหาร วุ้นอาหารเพาะกล้วยไม้มีหลายสูตรมาก เพื่อให้เหมาะสมกับกล้วยไม้แต่ละสกุล และสูตรสำหรับเพาะเมล็ดกับสูตรสำหรับเลี้ยงให้ต้นกล้าโตก็แตกต่างกันด้วย ลองเข้าไปดูในเว็บของบริษัท Phytotechnology เป็นตัวอย่างก็ได้ แต่ในที่นี้ผมจะสรุปมาเพื่อให้ง่ายในการสั่งซื้อและเตรียมวุ้น

สูตรอาหารที่จะเขียนถึงในที่นี้ผมจะนำเสนอแบบที่เป็นมาตรฐาน บทความนี้ไม่พูดถึงสูตรแบบทำง่ายใช้เอง แต่เป็นแบบที่ซื้อสูตรสำเร็จไม่ต้องเตรียมเอง ฟังแล้วเหมือนน่าจะแพง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่แพงอย่างที่คิด เพราะสำหรับมือสมัครเล่นแล้ว ซื้อมาทีเดียวสามารถใช้ได้นานจนลืมเลย เพราะขนาดบรรจุต่ำสุดก็มากเกินพออยู่แล้ว

มาดูสูตรอาหารบางสูตรที่น่าสนใจกัน
1.สูตร Knudson C แทบจะพูดได้ว่าเป็นสูตรครอบจักรวาล ใช้เพาะได้หลายสกุล และใช้เลี้ยงต้นอ่อนของกลุ่มสกุล Oncidium และกลุ่ม Vandaเช่น แวนด้า เข็ม ช้าง เอื้องกุหลาบ Phalaenopsis ได้ดี

2.สูตร Murashige & Skoog (MS) ใช้เป็นสูตรเพาะเมล็ดก็ได้ แต่มักนิยมใช้เป็นสูตรเลี้ยงต้นอ่อนมากกว่า ใช้กับกลุ่ม Vanda, Cattleya และอีกหลายสกุล สูตรนี้เมื่อใช้เพาะหรือเลี้ยงต้นอ่อนกล้วยไม้ นิยมใช้ความเข้มข้นเพียงครึ่งหนึ่งของสูตรดั้งเดิมเท่านั้น

3.สูตร Mitra เป็นสูตรที่พัฒนาขึ้นหลังสุด ใช้เพาะเมล็ดและเลี้ยงต้นอ่อนสกุลหวาย (Dendrobium) และสิงโต (Bulbophyllum) ได้ดีมาก

4.สูตร Ichihashi ใช้ได้ดีกับสกุล Phalaenopsis และ Doritis โดยเฉพาะ

5.สูตร Morel ใช้ได้ดีกับสกุล Cymbidium โดยเฉพาะ

ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเลี้ยงหรือต้องการเพาะกล้วยไม้อะไรเป็นหลัก ก็เลือกให้เหมาะสม โดยทั่วไปสูตร Knudson C ใช้เพาะเมล็ดได้ทุกสกุล (อัตราขึ้นอาจต่างกันในแต่ละสกุล) และอาจใช้สูตร MS เพื่อเลี้ยงต้นอ่อน (ถ่ายขวด) แต่ถ้าเลี้ยงสกุล Dendrobium หรือ Bulbophyllum เป็นหลัก ก็ควรมีและเริ่มต้นจากสูตร Mitra

แล้วจะหาได้จากที่ไหน ขอให้ลองค้นดูในเน็ต ส่วนตัวผมใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Phytotechnology Laboratories แต่สั่งผ่านเว็บในไทยนี่เอง ในที่นี้จะไม่บอกชื่อเว็บไทย เดี๋ยวจะกลายเป็นโฆษณา ลองค้นดูก็จะพบว่าเป็นเว็บไหน ลองดูขนาดบรรจุของเขานะครับ มีให้เลือก 3 ขนาด สำหรับทำวุ้นอาหาร 1 ลิตร 10 ลิตร และ 50 ลิตร ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ของเรา สะดวกดีครับ อย่างสูตรนี้มีน้ำตาล วุ้น และผงถ่านกัมมันต์ผสมอยู่แล้ว ไม่ต้องเติมอะไรเพิ่มก็ใช้ได้เลย


แต่ละสูตรจะบอกส่วนผสมไว้แล้ว ผลิตภัณฑ์บางรหัสของ Phytotechnology ผสมน้ำตาล ผงถ่่านกัมมันต์ (activated charcoal) และวุ้นแล้ว บางสูตรก็ไม่มี คือให้เติมเองได้ น้ำตาลก็ใช้น้ำตาลทรายธรรมดานี่แหละ ส่วนผงถ่านกัมมันต์ สามารถซื้อผงถ่านที่ใช้กินล้างพิษขององค์การเภสัชกรรมได้ ราคาไม่แพง ส่วนวุ้นจะมีสองแบบ ถ้าซื้อวุ้นทำอาหารชนิดผงมาผสม จะใช้ 7-8 กรัมต่ออาหาร 1 ลิตร แต่ถ้าเป็นวุ้น Gellan gum ของ Phytotechnology ก็จะใช้เพียง 3-4 กรัมต่ออาหาร 1 ลิตร วุ้นทำอาหารจะแข็งตัวช้ากว่า Gellan gum มาก ดังนั้นก็เลือกใช้ให้เหมาะสมกับการทำงานของเรา

น้ำตาลที่ผสมในวุ้นอาหารมีความสำคัญในการเพาะเมล็ด เพราะเมล็ดกล้วยไม้ไม่มีอาหารสะสม ในช่วงหลายวันหลังจากเมล็ดเริ่มงอกซึ่งเรียกว่าระยะ protocorm นั้นต้นอ่อนจะยังไม่มีคลอโรฟิลด์คือยังไม่เขียว จีงยังไม่สามารถสร้างน้ำตาลเองได้ แต่เมื่อโตจนมีใบแล้วน้ำตาลก็ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แต่ต้นอ่อนก็นำไปใช้ได้จนกว่าจะใช้หมด ส่วนถ่านกัมมันต์นั้นจะจับสาร phenolic ที่เป็นของเสียที่ต้นอ่อนปลดปล่อยออกมา ไม่ให้สะสมจนถึงระดับที่เป็นพิษ จึงมีความสำคัญในขวดเลี้ยงต้นอ่อนมากกว่าขวดเพาะเมล็ด เพราะต้นโตกว่าจึงปล่อยสาร phenolic ออกมามากกว่า

ทีนี้สูตรอาหารเหล่านี้เมื่อจะผสมก็ต้องมีเครื่องชั่งสารที่มีความละเอียดสูง เพราะเราอาจจะต้องชั่งเป็นจุดทศนิยมของกรัมกันเลย ก็หาซื้อเครื่องชั่งดิจิตัลมาใช้ได้ และนอกจากนี้ก็ต้องมีเครื่องวัดความเป็นกรดด่าง (pH) ด้วย เพราะกล้วยไม้ต้องการช่วง pH ที่เป็นกรด อยู่ประมาณ 4 ถึง 6 ขึ้นอยู่กับสูตร แต่มีบางบทความบอกว่า pH ที่เหมาะแบบครอบจักรวาลน่าจะเป็น 5.5 และหากเป็นกล้วยไม้ที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกาใต้ก็ให้สูงขึ้นอีกนิดเป็น 5.6

นอกจากนี้แล้ว เราอาจเติมน้ำมะพร้าว 5-15% โดยปริมาตร หรือเนื้อกล้วยหอมยี 60 กรัมต่อวุ้นอาหาร 1 ลิตร ลงไปในวุ้นได้อีก โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบเติมน้ำมะพร้าว เพราะไม่ทำให้วุ้นขุ่นเกินไป และเมื่อทำในปริมาณน้อยๆ ก็ตวงได้ง่าย ถ้าเป็นเนื้อกล้วยหอมยีอาจทำให้การชั่งเลอะเทอะวุ่นวายพอสมควร แต่หากไม่สะดวกจะไม่เติมก็ได้

ทีนี้ pH ของอาหารที่เราผสมจะเริ่มต้นเป็นเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับน้ำที่เราใช้ผสม ส่วนใหญ่จะบอกว่าให้ใช้น้ำกลั่นบริสุทธิ์ ซึ่งมี pH เป็นกลาง แต่ปัจจุบันสามารถใช้น้ำดื่มที่ผลิตโดยวิธี reverse osmosis (RO) ได้ เพราะจะกรองเกลือที่ปนเปื้อนออกไปมากเกือบหมดอยู่แล้ว นั่นคือน้ำดื่มที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดแหละ เอาแบบที่มียี่ห้อ แต่ไม่ใช่น้ำแร่ ทั้งแพงไป และมีเกลือแร่ปนอยู่มาก pH ของน้ำก็มีผลต่อ pH ของสารละลายอยู่ไม่น้อย เมื่อผสมทุกอย่างแล้วก็ใช้ pH meter วัด แล้วปรับให้ได้ค่าที่ต้องการ ซึ่งคราวนี้ก็ต้องมีกรดและด่าง (เอามาเจือจางก่อนใช้) ส่วนตัวผมใช้กรดไนตริก (nitric acid, HNO3) กับอีกตัวหนึ่งคือ โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (potassium hydroxyde, KOH) เพราะทั้งไนโตรเจนและโปแตสเซียมเป็นสารอาหารสำหรับพืชอยู่แล้ว

ถึงตอนนี้ถ้าใครค้นเจอเว็บของไทยที่ขายสูตรอาหารแล้ว ก็จะรู้แหล่งขายอุปกรณ์แปลกๆ ที่ว่าทุกอย่างข้างต้น สำหรับ KOH มักจะแถมมาให้แล้วกับอาหารเป็นเกร็ดบรรจุซองเล็กๆ แต่กรดไนตริกต้องซื้อ อาจซื้อจากวิทยาศรมหรือร้านขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนได้ แต่หากคิดว่าไม่อยากใช้กรดไนตริก ก็ใช้น้ำส้มสายชู (acetic acid) ได้ เพราะจริงๆ เราใช้ปริมาณน้อยมากก็ปรับ pH ได้แล้ว กรดไนตริกมักจะมีขนาดบรรจุจำนวนมากเกินที่จะใช้ หากเก็บไม่ดีจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้ เครื่องตวงต่างๆ ก็หาซื้อได้เช่นกัน รวมไปถึง dropper (ที่ดูดน้ำยาจำนวนน้อยๆ) ก็หาซื้อได้ที่เดียวกัน เครื่อง pH meter อย่าลืมตั้งค่า (calibrate) pH มาตรฐานที่เขาให้มาพร้อมกับอุปกรณ์ตั้งแต่ตอนซื้อมาเสียก่อน มิฉะนั้น pH ที่วัดได้จะผิดพลาดหมด

การวัด pH ด้วย pH meter จะวัดที่อุณหภูมิห้อง (25 เซลเซียส) หรือใกล้เคียง นั่นคือห้ามต้มสารละลายแล้วเอา pH meter ไปวัด เพราะนอกจากจะวัดผิดพลาดแล้ว เครื่องจะพังแน่นอน ทีนี้ในอุณหภูมิห้องวุ้นจะไม่ละลาย แต่ไม่ต้องเป็นห่วง คนๆ ให้ผงวุ้นแขวนลอยจนทั่ว แล้วเทแบ่งใส่ขวดที่จะใช้เพาะได้เลย อย่าต้มให้วุ้นละลายแล้วทิ้งให้เย็นแล้วจึงปรับ pH เป็นอันขาด เพราะเมื่อวุ้นเย็นและแข็งตัวจะคนเพื่อปรับ pH ไม่ได้ และเมื่อนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ วุ้นที่แข็งตัวแล้ว และละลายอีกครั้ง จะไม่สามารถแข็งตัวได้อีก จะกลายเป็นน้ำเหลวๆ ใช้การไม่ได้เลย

เมื่อแบ่งบรรจุขวดตามปริมาตรที่ต้องการแล้ว ก็นำไปนึ่งฆ่าเชื้อโดยวิธี autoclave คือต้องใช้ความดันถึง 15 psi และอุณหภูมิถึง 121 เซลเซียส อย่างน้อย 15-20 นาที ดังนั้นเราต้องมีหม้อนึ่งความดันอีกตัวหนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วถ้าไม่มีจะใช้วิธีอื่นได้หรือไม่ ในบทความบางชิ้นบอกว่าสามารถใช้เตาไมโครเวฟได้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใช้กำลังวัตต์เท่าใด เวลานานเท่าใด ซึ่งทั้งหมดนี้กำหนดได้ยากในเตาไมโครเวฟแบบธรรมดา แต่ทำได้ในเตาไมโครเวฟขนาดใหญ่ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญการใช้ไมโครเวฟจะฆ่าเชื้ออุปกรณ์บางอย่างที่เป็นโลหะเช่นปากคีบไม่ได้ และเครื่องแก้วที่แห้งก็อาจมีปัญหาในการฆ่าเชื้อ เนื่องจากการฆ่าเชื้อด้วยไมโครเวฟต้องอาศัยน้ำเป็นสื่อในการฆ่าเชื้อ ในที่นี้จึงยังไม่แนะนำให้ใช้

ในตอนนึ่ง เนื่องจากความดันอากาศภายในหม้อนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมามาก ทำให้ความกดอากาศภายในและภายนอกขวดแตกต่างกัน จึงต้องคลายฝาเกลียวที่ปิดปากขวด อย่าให้ปิดแน่น เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้าออกขวดได้ในระหว่างการนึ่ง เมื่อนึ่งเสร็จแล้ว และปล่อยให้อุณหภูมิและความดันเท่าปกติแล้ว จึงบิดเกลียวให้สนิท แล้วนำเข้าตู้เพาะปลอดเชื้อ เมื่อจะเริ่มการเพาะ และทำให้อากาศภายในตู้เพาะปลอดเชื้อแล้ว จึงคลายเกลียวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สามารถใช้มือข้างเดียวเปิดและปิดฝาขวดได้สะดวก ในขณะที่มืออีกข้างหนึ่งใช้จัดการกับฝักหรือเมล็ดกล้วยไม้

เรื่องชักจะยุ่งและยาวแล้วสิ ถึงแม้การเพาะกล้วยไม้จะไม่ง่าย แต่ถ้าค่อยๆ ติดตามก็น่าจะทำได้ในที่สุด



Create Date : 24 มีนาคม 2553
Last Update : 24 มีนาคม 2553 14:13:04 น. 3 comments
Counter : 8009 Pageviews.

 
หวัดดีตอนบ่ายค่า อิอิ^^


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 24 มีนาคม 2553 เวลา:16:07:21 น.  

 
สวัสดีค่ะ...แวะมาแอบดูข้อมูล ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆนะคะ
By Sharry Baby


โดย: sa (ชาลีเบบี้ ) วันที่: 24 มีนาคม 2553 เวลา:19:59:07 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ครับ


โดย: มะโรง วันที่: 31 มีนาคม 2553 เวลา:22:48:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pohmie
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แนะนำตัวครับ สำหรับคนที่ไม่เคยเจอ
พ่อหมีมีรูปร่างใหญ่มากครับ อ้าว มะเชื่ออีก จริงๆ นะ
เป็นผู้ใหญ่ใจดี ขี้บ่น ขี้เบื่อ
บางคนว่ารู้มาก คิดลึก ส่วนตัวผมเองว่าน่าจะไม่ค่อยรู้อะไร แต่พูดไปได้เรื่อยซะมากกว่า
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add pohmie's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.