All Blog
รีวิว "มหัศจรรย์แห่งสี" "The Secret Lives of Colour" โดย Kassia ST Clair
ช่วงปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย เจอปัญหาเรื่องตาเลยงดอ่านหนังสือสักพักใหญ่เลยค่ะ สำหรับเล่มนี้ที่จริงอ่านยังไม่จบหรอก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านจบก่อนด้วยจึงจะมารีวิวได้ เพราะอะไร กำลังจะเล่าให้ฟังนี่แหละค่ะ
 

ชื่อเรื่อง: มหัศจรรย์แห่งสี The Secret Lives of Colour
ผู้เขียน: Kassia ST Clair
สำนักพิมพ์: Open Books

คำโปรย
หนังสือเล่มนี้จะพาคุณย้อนไปยังต้นทางของแต่ละสีที่คุณใช้ หลายสีที่คุณไม่รู้จัก เพื่อให้คุณเข้าใจประวัติศาสตร์ว่า กว่าจะกลายมาเป็นสีในปัจจุบันที่คุ้นตา นักบุกเบิกค้นคว้าต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้
สายตาที่คุณมองสีจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


หลังอ่าน (บางบท)

เล่มนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Openbooks ค่ะ มีหน้าปกให้เลือก 10 สี แล้วแต่ความชอบเลยค่ะ ส่วนตัวเราชอบสีฟ้าเลยซื้อเล่มนี้มา อยากได้ทุกเล่ม แต่ไม่มีที่ให้เก็บเลยเลือกสีที่ชอบเอา

ในแง่ Production หนังสือ เล่มที่เราซื้อเป็นปกบาง ตัวเล่มค่อนข้างหนา ประมาณ 500 หน้า แต่ละหน้าจะกล่าวถึงเฉดสีต่างๆ ตรงขอบของกระดาษนอกจะมีการพิมพ์สีนั้นๆ กำกับไว้ให้คนอ่านเห็นด้วย นอกจากนี้ ขนาดตัวหนังสือค่อนข้างอ่านได้สบายๆ

สนนราคาเล่มนี้คือ 595 บาท ถือว่าราคาแรง แต่คุ้มค่าถ้าจะทำเล่มออกมาได้ขนาดนี้ แต่น่าจะเหมาะกับคนที่สามารถใช้เวลาละเลียดหนังสือได้มากกว่าคนที่อ่านรวดเดียวจบนะคะ 

ส่วนตัวเรา ด้วยความหนาขนาดนี้เลยใช้ที่วางหนังสือ แต่ส่วนมากเก็บอ่านเฉดสีที่ตัวเองต้องการ สบายใจแระ ปิด เก็บเข้าชั้น วันไหนที่อยากอ่านก็ค่อยหยิบมาอ่าน มันจะเป็นอารมณ์นี้

มาที่เนื้อเรื่องกันบ้าง คนเขียนเปิดมาบอกถึงสาเหตุว่าทำไมจึงสนใจและทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น มันเกิดจากการที่คนเขียนต้องค้นคว้าเรื่องแฟชั่นในสมัยศตวรรษที่ 18 แล้วในนั้นจะมีการบรรยายถึงเครื่องแต่งกายพร้อมเฉดสี (มีแนบตัวอย่างสีพร้อมคำบรรยายในบางครั้ง) เลยทำให้เข้าใจแค่ครึ่งๆ พอมีโอกาสเลยเขียนเรื่องเฉดสีโดยที่ไม่ได้ต้องการกล่าวถึงประวัติศาสตร์แบบละเอียด มีทั้งสีที่ศิลปินใช้และสีย้อม

จากนั้นก็บอกถึงการมองเห็นของสีแต่ละคนไม่เหมือนกันในเชิงอวัยวะ หรือแม้แต่กับสีของมันเองก็ยังเพี้ยน เช่น สีที่เห็นในคอมตอนซื้อ สีจริงที่อยู่ในถังสี หรือสีเดิมที่ทาบนผนังเรียบร้อย จะมีความแตกต่างกัน จึงควรเข้าใจเฉดสีในฐานะผลงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมมากกว่า

เมื่อทำความเข้าใจกันเรียบร้อยว่าเรากำลังจะเจออะไรบ้างในหนังสือเล่มนี้ ก็เข้าสู่เกร็ดประวัติของเฉดสีกันบ้างค่ะ เขาจะแบ่งหมวดใหญ่ๆ เลยเป็นสีขาว เหลือง ส้ม ชมพู แดง แล้วเริ่มต่อด้วยสีโทนเย็น อย่างม่วง ฟ้า (หรือน้ำเงิน) เขียว น้ำตาล แล้วก็เทา (หรือดำ) ในที่สุด

แต่ละเฉดสีจะมีเรื่องเล่าหรือเกร็ดประวัติเฉลี่ยสัก 4-5 หน้าเท่านั้นเอง อ่านเพลินๆ ดีค่ะ แล้วในรูปแบบนี้ เราไม่จำเป็นต้องตะบี้ตะบันอ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าจบ วันนี้ครึ้มใจอยากอ่านเฉดสีเขียว ก็ค่อยลองเปิดๆ หาเฉดสีที่ชอบใจแล้วอ่านก็ได้ (เพราะมีตัวอย่างสีให้เราเห็นตรงสันอยู่แล้ว) หรืออยากได้ความอึนๆ ก็ไปอ่านเฉดสีดำ เป็นต้น 

ส่วนตัวเป็นคนสนใจภาพสีน้ำ เลยมีหลายเฉดในพาเลตของตัวเอง การได้หนังสือเล่มนี้มา บวกกับเราที่รู้จักเฉดสีพอสมควร มันทำให้เอ็นจอยในเชิงเรื่องเล่าที่ทำให้เราได้รู้ที่มาที่ไปของหลอดสีที่เราหยิบใช้ด้วย หรือบางเฉดที่ไม่รู้จัก เราก็ยังสนุกและสบายใจในการได้อ่านเกร็ดเกี่ยวกับสีนั้นๆ

ดังนั้น ต่อให้บางคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานในการรู้จักเฉดสี ก็สามารถเอ็นจอยกับหนังสือเล่มนี้ได้สบายๆ ค่ะ มันคล้ายๆ กับ Color Therapy ประเภทหนึ่งก็ว่าได้ เรื่องเล่าก็ไม่ได้เน้นอารมณ์หรืออะไร เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สนุกดี โดยเฉพาะหากมีพื้นฐานประวัติศาสตร์ศิลปะในแถบยุโรปเป็นทุนเดิม น่าจะทำให้ยิ่งอินกับเนื้อเรื่องมากขึ้น

การจะเกิดสีได้ส่วนมากเป็นเรื่องของธาตุหรือเคมีที่ทำปฏิกิริยากันจนเกิดเป็นสีให้เราได้ใช้กัน ในยุคโบราณ มักจะเป็นสีที่บังเอิญเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยังผลิตเองได้ยาก ราคาสีจึงแพงมาก หรือบางอันที่สามารถผลิตได้ แต่อาจจะต้องใช้ชีวิตของคนผลิตเข้าเสี่ยงเพราะธาตุบางอย่างมันเป็นพิษ (นึกถึงสีฟ้าก็ได้ค่ะ) พอตอนหลังที่เทคโนโลยีดีขึ้น สามารถผลิตสีหลอดได้จึงส่งผลให้เหล่าศิลปินสามารถออกไปสร้างสรรค์ผลงานแบบ Outdoor ได้ แทนที่จะต้องหมกตัวอยู่แต่ในสตูดิโอ

ขอยกตัวอย่างความอินในหนังสือเล่มนี้สักอย่างนะคะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่า สีที่พิมพ์ออกมากับสีที่ใช้ในสีน้ำคนละแบบกัน แต่คนเขียนชี้แจงไว้ก่อนแล้วว่าให้คุยกันเรื่องเฉดสีในแง่การสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นเราไม่พูดถึงความแตกต่างของเฉดแล้วกันนะคะ

เรามีเฉดสีหนึ่งชื่อว่า Ultramarine ในกระบะสี 4 ยี่ห้อ ซึ่งที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีเยอะขนาดนี้ แต่เพราะไม่เข้าใจเลยว่าสีนี้ต้องใช้ยังไง มันคือ สีน้ำเงินแปร๋นๆ ที่นึกไม่ออกว่าท้องฟ้าแบบไหนถึงจะใช้สีนี้ หรือมันจะต้องไปวาดกับสีน้ำทะเลตามรากศัพท์ของชื่อมัน หรือต้องใช้กับสีเสื้อผ้าหรือของใช้ หรือต้องใช้ยังไง ตอนแรกๆ นึกว่าเฉดสีนี้ถ้าคนละยี่ห้อ อาจจะให้เฉดทีต่างกันก็ได้มั้ง จากนั้นก็พบว่า ต่างแค่นิดเดียวแหละ ลองแล้วลองเล่าก็ไม่เข้าใจค่ะ เลยเก็บไว้ก้นกระบะ แทบไม่ได้หยิบมาใช้อีกเลย

 


จากภาพ เราลองระบายสี Ultramarine กับยี่ห้อของสีกำกับไว้ค่ะ ที่จริงแล้วความจัดพอกันแหละ แต่สีที่สามเราแค่ใช้น้ำเยอะไปหน่อยสีมันเลยจากกว่าคนอื่นเขา (ถ้าเห็นจากภาพสีน้ำ ลองเดากันเล่นๆ ดีไหมคะว่าเขาใช้สีน้ำเงินจัดระดับนี้สำหรับวาดอะไร)

ดังนั้นพอได้หนังสือเล่มนี้มา สีแรกที่เปิดหาก่อนเลยคือ Ultramarine นี่เอง ตอนแรกนึกว่าเป็นสีที่ได้มาจากทะเล แต่เปล่าเลยค่ะ ได้มาจากหิน Lapis Lazuli ที่ในยุคโบราณจะเจอที่อัฟกานิสถาน แล้วถูกส่งมายังเส้นทางสายไหม พอถึงท่าเรือค่อยลงเรือมาที่ยุโรปจนถึงมือจิตกรในที่สุด ชื่อเลยคล้ายว่ามาจากทะเลอันไกลโพ้น (แต่ในนิยามของผู้เขียนเป็นอีกแบบนะคะ)

คนเขียนยกตัวอย่างของสีที่ใช้ Ultramarine จากภาพ "The Virgin in Prayer" ของ Giovanni Battista Salvi ใครอยากเห็นลอง Search ดูได้นะคะ ขี้เกียจแปะ (แหะ แหะ) และที่น่าแปลกใจกว่านั้น เฉดสีนี้เอาไว้ใช้วาดท้องฟ้ายามค่ำคืนค่ะ ตอนที่ได้รู้ งงมากว่าท้องฟ้าตอนกลางคืนแบบไหนถึงได้แจ๋นขนาดนี้ จนกระทั่งมีโอกาสเล่าเรื่องนี้กับเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งที่เป็นคนชอบวาดภาพสีน้ำเหมือนกัน หนิงบอกเขาว่า หนิงไม่เคยใช้ภาพท้องฟ้าด้วย Ultramarine เลย จะใช้เป็น Cobalt มากกว่า เขาได้ยินก็หัวเราะ แล้วบอกว่า เขาใช้แต่ Ultramarine ไม่เคยหยิบ Cobalt มาใช้สักครั้ง

พอได้ฟังแบบนี้ก็เลยมาคิดๆ ดู เฉดสีแต่ละเฉด มันเกิดจากประสบการณ์ของคนที่ได้เห็น หนิงมาตระหนักเรื่องนี้ตอนที่นึกถึงภาพ "The Starry Night" ของ Van Gogh (ใครไม่รู้จักสามารถหาดูได้ค่ะ) ที่จริงภาพนั้นอุดมไปด้วยสีฟ้าและน้ำเงินหลายเฉดมาก และหนึ่งในนั้นคือ Ultramarine ซึ่งในตอนแรกหนิงเดาว่ามันน่าจะเพราะแนว Expressionism มันเลยสีเจิดกว่าปกติหรือเปล่า แต่คิดไปคิดมาหลังจากคุยกับเพื่อน หรือที่จริงแล้วชาวยุโรปสามารถเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยสีนี้จริงๆ ยิ่งคิดยิ่งเป็นไปได้เพราะเขาอยู่โซนทางเหนือกว่า การได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ช่วงเวลากลางคืนอาจไม่ได้มืดสนิทเหมือนคนที่อยู่ในเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย

(แต่ Cobalt ส่วนตัวใช้เป็นตอนกลางวันนะคะ ถ้าตอนกลางคืนเราอาจจะใช้เป็น Prussian Blue ผสม Indigo ให้เข้มจนเกือบดำ)

สิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างของเรื่องเล่าเกี่ยวกับเฉดสี หนิงคิดว่าหากเราได้มีโอกาสทำความรู้สึกเฉดสีมากขึ้น โลกของเราจะมีสีสันและเปิดกว้างมากขึ้นนะคะ โดยเฉพาะเวลาไปในต่างแดน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ท้องฟ้าที่ต่างประเทศกับท้องฟ้าที่เมืองไทยสีคนละเฉดกันค่ะ และที่เห็นได้ชัดมากๆ คือ เฉดสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าของป่าเบญจพรรณอย่างบ้านเรา กับสีเขียวของเขตอบอุ่นที่มีสี่ฤดู แตกต่างกันมาก

บางทีการไปต่างแดนอาจทำให้เราพบผู้คนใหม่ๆ อากาศใหม่ๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงประสบการณ์ในการเห็นเฉดสีใหม่ๆ สิ่งใดที่เราไม่รู้จัก เราจะไม่สนใจมัน แต่เมื่อเรารู้จักแล้ว เราจะเห็นมันไปเองโดยปริยาย และสิ่งนี้คือการเปิดโลกทัศน์ของเราในอีกแง่มุมหนึ่งมากๆ เลยค่ะ (บางทีไม่ต้องบินไปเมืองนอกหรอกค่ะ แค่ไปเดินในห้าง เห็นสีสันของสินค้าที่อยู่ในนั้นก็ทำให้โลกของเรากว้างขึ้นแล้ว)

ลองทำความรู้จักกับเฉดสีผ่านหนังสือเล่มนี้ดูนะคะ

เป็นเล่มที่หากไม่นับว่าราคาสูงเอาเรื่อง ก็ถือว่าแนะนำให้ซื้อเก็บติดบ้านไว้อ่านเพลินๆ ค่ะ



Create Date : 08 มกราคม 2567
Last Update : 8 มกราคม 2567 22:52:10 น.
Counter : 189 Pageviews.

0 comments
(โหวต blog นี้) 
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

peiNing
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]



เป็นเด็กกรุงเทพแท้ๆ แต่อยู่บ้านนอกของกรุงเทพน่ะนะ ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษนอกจากแกล้งสัตว์เลี้ยงที่บ้าน นั่นคือนกฮู้ผู้มีอายุ 10 ปีได้ (นกแก่มีหนวด) (แต่ตอนนี้ในที่สุดนกฮู้ก็จากไปอย่างสงบ ไม่รู้อายุรวมเท่าไรแต่มาอยู่ที่บ้านได้ 11 ปี ขอไว้อาลัยปู่ฮู้ ขอให้ไปสู่สุขคตินะ T^T)

ขอชี้แจงอีกอย่าง ชื่อ peiNing นี้ เป็นชื่อที่พี่กะน้องใช้ร่วมกันสองคน ดังนั้นอย่างงว่าเดี๋ยวก็แทนตัวว่ารุ้งบ้างหนิงบ้าง ก็มันคนละคนนิ (รุ้งน่ะคนพี่ หนิงน่ะคนน้อง)

FB สำหรับคนชอบงานเขียน peiNing ค่ะ

FB สำหรับคนชอบบทความสอนห้องเรียนนิยายค่ะ

  •  Bloggang.com