ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

อายุความคดีอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา หมวดอายุความ มาตรา 95 บัญญัติว่า ในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
1. ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
2. สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี
3. สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 ปี ถึง 7 ปี
4. ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 เดือน ถึง 1 ปี
5. หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนี หรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ

การดูว่าคดีใดมีอายุความนานเท่าไร ต้องทราบอัตราโทษตามกฎหมายของความผิดนั้นก่อน เช่น ความผิดฉ้อโกงหรือลักทรัพย์มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จึงมีอายุความ 10 ปี หรือความผิดปล้นทรัพย์มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 15 ปี จักมีอายุความ 15 ปี เป็นต้น เราจึงเห็นคนที่ฉ้อโกงแชร์เป็นเงินจำนวนมาก แต่หลบหนีไปอยู่เมืองนอกจนพ้นอายุความ แล้วกลับเมืองไทยหลังจากครบเวลา 10 ปี เพื่อมาทำธุรกิจและเอาเงินจากคนไทยอีกครั้ง เราไม่อาจดำเนินคดีเพื่อลงโทษเขาเพราะเขาได้ประโยชน์จากกฎหมายเรื่องอายุความคดีอาญา หลายคนคงอยากทราบว่า การหนีคดีกับการสำนึกผิดแล้วรับโทษอย่างไหนดีกว่ากัน อันที่จริงแล้วระยะเวลาหนีคดีจักยาวนานมากและจิตใจหวาดผวาทุกวันว่าจะมีคนมาจับส่งคุกตลอดเวลาอายุความในคดีนั้นๆ ส่วนเวลาการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพอย่างแท้จริงมักสั้นกว่า เช่น ศาลลงโทษจำคุก 5 ปี ด้วยเหตุประพฤติตนดีในระหว่างรับโทษ เราจะได้ลดโทษ อาจเหลือเพียงหนึ่งปีก็ได้ ทำให้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่และเป็นอิสรภาพเร็วขึ้น เป็นต้น แนวคิดของการลงโทษผู้กระทำผิดนั้น จะมีเหตุลดโทษด้วยหลักเมตตาธรรมแฝงไว้ ส่วนคนที่หลบหนีความผิดนั้น จะต้องพบความอิสระที่ไม่เป็นสุขอย่างแท้จริงและทรมานใจยาวนาน นอกจากนั้นผู้เสียหายจากพฤติกรรมของเขาต่างสาปแช่งผู้กระทำความผิดทุกวันคืนจนลมหายใจสุดท้าย และผู้นั้นไม่อาจหลุดพ้นจากบ่วงกรรมไม่ว่าทางกายหรือใจตามหลักพุทธศาสนาอีกด้วย

**********************




 

Create Date : 22 มีนาคม 2549    
Last Update : 22 มีนาคม 2549 14:14:26 น.
Counter : 21749 Pageviews.  

แหล่งที่มาของนายกฯตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวด คณะรัฐมนตรี มาตรา 201 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้เคยป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นจากสมาชิกภาพเพราะถูกแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน

มาตรา 7 บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


หมายเหตุ

หากไม่มีเรื่องใดที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ จึงให้เป็นการวินิจฉัยโดยคำนึงถึงประเพณีที่เคยทำสืบทอดกันไว้ เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน ว่าต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น การแต่งตั้งผู้นำประเทศต้องทำตามรัฐธรรมนูญก่อนโดยเฉพาะในเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ส่วนจะกำหนดให้ชายหรือหญิงคนใดเป็นนายกฯนั้นแล้วแต่เห็นสมควรได้ นอกจากนั้นยังมีการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรและมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งอีกด้วย ทุกขั้นตอนของการเลือกสรรผู้นำประเทศล้วนมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน หากต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ จึงทำได้สองวิธี คือ การล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งหมด หรือ แก้ไขบางมาตรา แต่ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่แก้ไขมาตราต่างๆเป็นของสมาชิกสภาทั้งสองเท่านั้น เมื่อมีการยุบสภาแล้วเท่ากับไม่มีส.ส. จึงแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย ดังนั้น คนไทยต้องเลือกส.ส.ให้มีสภาขึ้นเสียก่อน จึงแก้ไขสิ่งที่ต้องการในรัฐธรรมนูญได้
การเลือกหรือถอดถอนนายกรัฐมนตรี ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยจะสงบและมั่นคงไม่ได้ ถ้าคนไทยตั้งใจทำละเมิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้น การเรียกร้องให้คนไทยคนหนึ่งออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือห้ามใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ด้วยการชุมนุมประท้วง ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่มอบให้คนไทยไว้ หากท่านไม่ชอบใคร สิทธิเลือกตั้งมอบกลับคืนมาให้ในมือแล้ว จึงควรใช้สิทธินี้บอกความต้องการของตน มิใช่การประท้วงหรือด่าประณามผู้นั้น เสียงเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ คือ ผู้กำหนดเลือกนายกรัฐมนตรี มิใช่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง
************************




 

Create Date : 10 มีนาคม 2549    
Last Update : 10 มีนาคม 2549 13:39:10 น.
Counter : 672 Pageviews.  

การยุบสภา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หมวดสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 116 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
การยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน


หมายเหตุ

การยุบสภานั้นเป็นพระราชอำนาจเฉพาะของพระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การที่พระองค์ไม่เห็นชอบกับคำเสนอให้ยุบสภา ย่อมเกิดขึ้นได้ซึ่งเราจะไม่เห็นพระราชกฤษฎีกายุบสภาแน่ อีกทั้งการยุบสภานั้นรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดสาเหตุที่จะยุบสภาไว้ รัฐบาลที่ผ่านมาจึงมีหลายสาเหตุที่ขอยุบสภาแตกต่างกัน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว จะขอเลิกการยุบสภาไม่ได้ ส่วนการขัดขวางการเลือกตั้งหรือประท้วงมิให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานั้นอาจเป็นการละเมิดพระราชอำนาจหรือทำละเมิดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
การยุบสภา เป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ในการคืนสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจต่อความขัดแย้งหรือไม่พอใจที่เกิดขึ้นของคนไทยแต่ละกลุ่ม เพื่อให้คนไทยคิด ไตร่ตรองให้รอบคอบอีกครั้งว่า ต้องการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบไหน นโยบายพรรคการเมืองใด อยากให้ประเทศดำเนินต่อไปในสังคมโลกอย่างไร พระมหากษัตริย์ทรงกระทำตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดอันเป็นตัวอย่างที่ดีของคนไทย ดังนั้น การกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นการลดทอนภาพของคนไทยในสายตาของชาวโลกให้ตกต่ำ เมื่อคนไทยได้สิทธิเลือกตั้งกลับมาแล้ว จึงควรใช้สิทธินั้นอย่างมีสติปัญญาเพื่อชี้ตัดสินปัญหาขัดแย้งของเหล่านักการเมืองและกลุ่มคนต่างๆที่พยายามอวดตนเป็นผู้แทนเสียงประชาชนว่า คนไทยทั้งประเทศต้องการอย่างไรด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ไว้

******************************




 

Create Date : 09 มีนาคม 2549    
Last Update : 9 มีนาคม 2549 15:06:26 น.
Counter : 530 Pageviews.  

หลักฐานการชำระหนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรค 2 บัญญัติว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของผู้ให้ยืมมาแสดง หรือ เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว


หมายเหตุ

ตอนที่กู้ยืมเงินมักมีสัญญากู้ยืมให้ลูกหนี้เซ็นชื่อเพื่อฟ้องคดี ถ้าฝ่ายนั้นไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงิน ดังนั้น เมื่อมีการชำระเงินคืนหนี้ทุกครั้ง แม้จะเป็นรายงวด ลูกหนี้มีสิทธิ์เรียกใบเสร็จรับเงินหรือขอคืนสัญญากู้จากเจ้าหนี้ได้ทันทีกรณีจ่ายคืนหนี้ครบถ้วน เจ้าหนี้หมดสิทธิ์เก็บสัญญากู้หรือไม่ยอมเขียนใบรับเงิน หากลูกหนี้ชำระหนี้แล้วไม่มีเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายระบุไว้ เช่น คืนสัญญากู้ ใบเสร็จรับเงินซึ่งต้องมีลายมือชื่อของเจ้าหนี้ด้วย หรือ เจ้าหนี้เขียนระบุการชำระหนี้คืนลงในสัญญากู้ เป็นต้น ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินอีกครั้ง ถ้าไม่สามารถพิสูจน์การชำระหนี้ตามกฎหมายได้ เจ้าหนี้ยังมีสิทธิ์ในสัญญากู้อยู่ กรณีนี้ไม่อาจใช้บุคคลมายืนยันการคืนหนี้ได้เลยเนื่องจากกฎหมายบังคับเด็ดขาดไว้

*********************




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2549 13:39:50 น.
Counter : 5916 Pageviews.  

แบบสัญญากู้ยืมเงิน

เขียนโดย ลีลา LAW

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่



หมายเหตุ
กฎหมายกำหนดรูปแบบสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไปอย่างชัดเจนว่า ควรทำเป็นสัญญากู้ลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นหลัก จำนวนเงินกู้แน่ชัด บางครั้งแม้มีชื่อของผู้ให้ยืมแต่ไม่มีลายเซ็นชื่อของเขาก็ไม่ทำให้สัญญากู้ขาดความสมบูรณ์ หลักฐานการเป็นหนังสือตามกฎหมายนั้นอาจเป็นจดหมายที่ลูกหนี้เขียนยืนยันหนี้สินโดยมีลายมือชื่อลูกหนี้หรือการแจ้งความต่อตำรวจรับรองการเป็นหนี้ซึ่งมีลายมือชื่อของลูกหนี้ก็ได้ หากขาดหลักฐานเป็นหนังสือ จักร้องฟ้องคดีเรียกคืนหนี้ไม่ได้ ดังนั้น ผู้ให้ยืมควรทำสัญญากู้ทุกครั้งที่ให้ผู้อื่นกู้เงินไม่ว่าจะเป็นเงินสองพันบาทหรือต่ำกว่านั้น เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการเป็นหนี้ที่โต้แย้งกันยาก

***************************




 

Create Date : 19 มกราคม 2549    
Last Update : 19 มกราคม 2549 0:35:59 น.
Counter : 890 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.