ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

โทษของเด็ก7 - 14 ปี

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 บัญญัติว่า เด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ยังไม่เกิน 14 ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจจะดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ว่ากล่าวตักเตือนเด็กแล้วปล่อยตัวไป และศาลเห็นสมควรตักเตือนบิดามารดาด้วยก็ได้
2. ถ้าศาลเห็นว่าบิดามารดาดูแลเด็กได้ จะวางข้อกำหนดให้บิดามาราระวังเด็กมิให้ก่อเรื่องต่อไปตามเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 3 ปีและกำหนดเงินตามที่สมควรซึ่งบิดามารดาต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1000 บาท เมื่อเด็กก่อเหตุร้ายขึ้น
3. ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติของเด็ก
4. หากไม่มีบิดามารดาหรือมีแต่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ และบิดามารดาไม่ยอมรับข้อกำหนดของศาล ก็จะมอบเด็กให้องค์กรที่เห็นสมควรเพื่อดูแลสั่งสอนต่อไป
5. ส่งเด็กไปสถานฝึกอบรมตลอดเวลาที่ศาลกำหนด มิให้เกินกว่าเด็กมีอายุครบ 18 ปี


หมายเหตุ
แม้เด็กจะไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายยังถือว่า เด็กกระทำผิดกฎหมายอยู่ จึงกำหนดมาตรการให้ศาลชี้แนะและสั่งสอนสิ่งที่ถูกต้องเพื่อป้องกันมิให้เด็กกลายเป็นคนชั่วก่อเหตุร้ายให้คนในสังคมอีก มันเป็นการให้โอกาสแก่เด็ก ดังนั้น ผู้ปกครองเด็กจึงพึงระลึกไว้ว่า โชคดีและโอกาสงามมีไม่บ่อยครั้ง จึงควรสั่งสอนและเตือนลูกหลานอย่าทำละเมิดกฎหมายเด็ดขาด และพึงคิดถึงจิตใจของผู้เสียหายด้วย เพราะการแจ้งความเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเขา ย่อมดีกว่าเขาใช้วิธีนอกกฎหมายทำร้ายร่างกายเด็ก ซึ่งอาจถึงขั้นพิการ หมดสิ้นอนาคตไป เขาเลือกใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาตัดสินว่า ควรดูแลเด็กอย่างไร ย่อมเป็นการเลือกทางที่ถูกต้องของผู้เสียหายแล้ว ส่วนผู้กระทำผิดจะรับโทษหรือไม่ ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลหรือเจ้าหน้าที่ด้านยุติธรรมซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้




 

Create Date : 17 มีนาคม 2548    
Last Update : 17 มีนาคม 2548 15:15:22 น.
Counter : 2424 Pageviews.  

โทษของคดีเช็ค

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1. เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
2. ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
3. ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
4. ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
5. ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

หมายเหตุ
การฟ้องคดีเช็คได้ต้องมีหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้กู้ยืมเงิน ต้องมีสัญญากู้ที่สมบูรณ์ประกอบด้วย หากไม่มีสัญญากู้ที่ถูกต้อง จะฟ้องคดีเช็คเป็นคดีอาญาไม่ได้ เป็นต้น หากเป็นหนี้อันเกิดจากการพนันซึ่งผิดกฎหมาย หรือ หนี้นอกระบบต่างๆ หากคิดจะฟ้องคดีเช็ค ย่อมทำไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ต้องห้ามในการบังคับตามกฎหมาย เช็คหนึ่งใบมีอัตราโทษสูงสุดหนึ่งปี ถ้าท่านถูกฟ้องเช็คห้าใบ สมมติว่า ศาลลงโทษเต็มอัตราแต่ละใบ คือ 1 ปี ท่านต้องติดคุกถึง 5 ปีสำหรับเช็คห้าใบทีเดียวและยังมีผลต่อเครดิตชื่อเสียงของผู้สั่งจ่ายให้เป็นคนไม่น่าเชื่อถืออีก จึงพึงระวังการใช้เช็คให้มากด้วย




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2548 14:42:49 น.
Counter : 5508 Pageviews.  

โทษส่งเสียงดังเกินควร

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 กำหนดว่า ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

หมายเหตุ
หากท่านใดเจอเพื่อนบ้านเปิดเพลงดังเกินไป เช่น เปิดร้านคาราโอเกะ ดื่มเหล้าเมาโวยวาย เป็นต้น ท่านควรแจ้งความตำรวจให้เขาดำเนินคดีปรับไปเลย หากทุกท่านที่เดือดร้อนทยอยแจ้งเรื่องเดียวกันนี้ไปเรื่อยๆ คนส่งเสียงถูกปรับไปเรื่อยๆ ไม่นานก็ทนไม่ได้แน่ ชาวบ้านธรรมดาคงทำได้แค่นี้ และขอให้อดทนให้มาก ถ้าต้องเผชิญเรื่องนี้ ปล่อยให้ตำรวจช่วยจัดการตามอำนาจของเขา ปรับไปทุกวันที่มีคนแจ้งความ เพราะก.ม.ถือว่า ทุกครั้งที่แจ้งความและมีบันทึกแจ้งความที่สถานี้ไว้ ต้องมีคำตอบว่าตำรวจทำอย่างไรบ้างเป็นผลงานของเขา จึงต้องมีการปรับ ทำให้คนส่งเสียงจ่ายเงินอานไปเลย ขอให้ผู้เดือดร้อนรวมตัวกันให้แน่นในการขจัดเสียงดังนี้ น่าจะผ่อนคลายความเดือดร้อนได้มากขึ้น




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2548 14:59:31 น.
Counter : 848 Pageviews.  

การไม่ยอมไปให้การตามคำสั่งของเจ้าพนักงานสรรพากร

ประมวลรัษฎากร มาตรา 25 ถ้าผู้ได้รับหมายหรือคำสั่งของอำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมิน แล้วแต่กรณี ไม่ปฏิบัติตามหายหรือคำสั่งของอำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 23 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันควร อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนภาษีอากรไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน

หมายเหตุ
หากได้รับหมายเรียกหรือคำสั่งเจ้าพนักงานสรรพากรไปสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการยื่นเสียภาษีของท่าน ผู้เสียภาษีต้องไปพบตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบคำถามตามข้อเท็จจริงของท่าน ห้ามเบี้ยวเด็ดขาด เพราะจะมีการบันทึกข้อโต้แย้งของท่านลงในเอกสารด้วย อาจมีผลให้เสียภาษีถูกต้องมากขึ้น มิฉะนั้น เขาจะประเมินภาษีต้องเสียตามใจชอบของรัฐเลย อีกอย่างหนึ่งขอเตือนท่านที่ไปพบเจ้าหน้าที่ แล้วพบว่า เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้ท่านทำบัญชีตามตัวเลขที่เขาต้องการ นั่นคือ การทำบัญชีปลอม ท่านต้องปฏิเสธเด็ดขาด เพราะท่านจะทำผิดกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่คนนั้นได้ผลประโยชน์แค่ตัวเลขเงินที่รัฐได้เป็นผลงานและยังทำให้ท่านติดกับดักของเขาเพราะท่านทำผิดกฎหมายไว้ ทำบัญชีเท็จ จักกลายเป็นเหยื่อให้เขารีดเงินสินบนกับท่านตลอดชั่วชีวิตไป ท่านต้องปกป้องตัวเองให้มาก ห้ามทำผิดกฎหมายตามคำแนะนำที่ไม่หวังดีของเขา หากเขารุกเร้าหนัก ก็แจ้งอธิบดีกรมสรรพากรเอาโทษเจ้าหน้าที่คนนั้นได้ทางเว็บหรือหนังสือร้องเรียนก็ได้ หากไม่อยากเป็นเหยื่อสินบนอีกคน และถ้าเขาคิดจะเอาผลงานอีก ก็ยังส่งเรื่องของท่านแจ้งตำรวจจับท่านได้อีก ผลงานสองต่อทีเดียว ขอให้พิจารณาใคร่ครวญในการเชื่อฟังเจ้าหน้าที่บางท่านที่ไม่ดีให้มาก




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2548 14:48:27 น.
Counter : 516 Pageviews.  

การไม่ยื่นเสียภาษี

ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทวิ บัญญัติว่า ผู้ใดโดยเจตนาละเลย ไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเหตุ
โทษของการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตามเวลากำหนดของรัฐ จะมีโทษอาญารวมอยู่ด้วย นอกเหนือจากการจ่ายค่าปรับ แล้วยังอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่รัฐได้ด้วย ดังนั้น ขอพึงระวังการเลี่ยงยื่นแบบเพราะคิดว่าจะหลบจ่ายภาษีได้ ตอนนี้มีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาตรวจหาคนเลี่ยงภาษีมีประสิทธิภาพมาก พึงคิดว่า เงินภาษีที่นำจ่ายอย่างถูกต้อง จะจ่ายเงินที่เหลืออย่างสบายใจ มันคือเงินบริสุทธิ์ หากเลี่ยงภาษีหรือจ่ายภาษีน้อยลง สักวันท่านจะถูกเรียกภาษีเพิ่มจนกระทั่งไม่มีเงินจ่ายและกลายเป็นคนมีหนี้สินต่อรัฐซึ่งหลบหนียากมาก ไม่คุ้มที่จะเลี่ยง เพราะต้องเจอเบี้ยปรับ เงินเพิ่มมากมาย




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2548 14:31:02 น.
Counter : 945 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.