สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

รีวิว...วิธีตั้งค่าการควบคุมแอร์ SAMSUNG ผ่าน WiFi

หลังจากที่ได้ทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter เสร็จสินไปแล้ว 

ซึ่งก็ได้รีวิวรายละเอียดของตัวสินค้า และขั้นตอนการติดตั้งไปแล้วเช่นกัน แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านรีวิว หรือยังอ่านไม่ครบทั้ง 5 ตอน ก็สามารถกลับไปอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่าง



และก็มาถึงขั้นตอนของการตั้งค่าการเชื่อมต่อ เพื่อให้สามารถควบคุมเครื่องปรับอากาศผ่านทาง WiFi โดยใช้ Smart Phone 


การควบคุมเครื่องปรับอากาศด้วยสัญญาณ WiFi โดยใช้การสั่งการจากSmart Phone

ในปัจจุบันมีนักพัฒนาซอฟท์แวร์หลายๆรายได้สร้างสรรค์และพัฒนาโปรแกรม ในรูปแบบซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่น(Application) สำหรับนำมาใช้ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบไร้สายในระยะใกล้ และระยะไกลโดยใช้การสั่งการจากApplication ที่ติดตั้งบน SmartPhone 


แต่ในแวดวงเครื่องปรับอากาศบ้านเรา การนำเอา Smart Phone มาใช้ในการควบคุมเครื่องปรับอากาศโดยตรงถือเป็นเรื่องใหม่ในเครื่องปรับอากาศ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง SAMSUNGได้ทำการเปิดตัว เครื่องปรับอากาศสำหรับใช้ในบ้านพักอาศัยโดยมีจุดเด่นในเรื่องการควบคุมแบบอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมเครื่องปรับอากาศได้จาก SmartPhone ด้วยสัญญาณ Wi-Fi 


เครื่องปรับอากาศในบ้านเราที่รองรับการควบคุมในรูปแบบนี้ที่ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ก็มีเครื่องปรับอากาศ Trane Greenergy Inverter Multi System ซึ่งสามารถควบคุมการทำงานผ่านทางแอปพลิเคชั่นบน iPad แต่เนื่องด้วยรูปแบบการทำตลาดที่ดูจะไม่ค่อยเข้าถึงผู้บริโภคทั่วไปสักเท่าไหร่อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องปรับอากาศแบบ Multi System หรือเครื่องปรับอากาศระบบรวมที่ใช้คอยล์ร้อนเพียงชุดเดียว รองรับคอยล์เย็นหลายๆชุดทำให้กลุ่มตลาดลูกค้าที่ใช้ดูจะอยู่ในกลุ่มเฉพาะและไม่ค่อยแพร่หลายในแวดวงผู้ใช้ภาคครัวเรือนระดับทั่วไปจึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย


การตั้งค่าก่อนใช้งานเครื่องปรับอากาศ SAMSUNGSmart Wi-Fi Inverter


ก่อนการใช้งาน จะต้องดำเนินการในส่วนของการตั้งค่าเบื้องต้นเพื่อเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ เข้ากับเครือข่ายไร้สายภายในบ้านสำหรับการใช้งานฟังก์ชั่นการควบคุมผ่าน Application บน SmartPhone
รายละเอียดการตั้งค่าเบื้องต้นมีอธิบายไว้แล้วในคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตให้มา



แต่การใช้งานในครั้งแรกก็อาจจะยุ่งยากสักนิดสำหรับใครที่ไม่เคยตั้งค่าระบบและไม่เคยใช้งานเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้มาก่อน(แบบผม)ก็คงต้องใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจเบื้องต้นกันสักพัก
ในขั้นแรกสุดผมพยายามอ่านข้อมูลที่ระบุในคู่มือ(ทั้งหมด)ให้เข้าใจก่อนหลังจากนั้นก็ค่อยๆลองทำตามที่บอกในคู่มือเป็นขั้นๆไป

สำหรับโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ที่จะเอามาใช้ทดลองตั้งค่าในครั้งนี้ผมขอเอาเป็นตัวที่ผมมีใช้อยู่ คือ iPhone 5 กับ SAMSUNGGalaxy S3เพื่อจะได้นำมาทดลองให้ดูในมุมมองของ ระบบปฏิบัติการ iOSและ ระบบปฏิบัติการ Android


ส่วนระบบปฏิบัติการ Windows Phone อันนี้ต้องขออภัยด้วยจริงๆเพราะส่วนตัวผมเอง ไม่มีโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการWindows Phoneไว้ในครอบครองจึงไม่สามารถนำมาประกอบการรีวิวให้ดูได้ และผมก็ไม่แน่ใจว่าApplication ที่ใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ ทาง Windows Phone มีการรองรับหรือไม่

อันดับแรกสุด ตรวจสอบเบื้องต้นว่า Wi-Fi Router ที่ใช้งานอยู่ รองรับการใช้งานควบคุมเครื่องปรับอากาศหรือไม่วิธีตรวจสอบเบื้องต้นโดยสังเกตที่บรรจุภัณฑ์ว่ามี สัญลักษณ์(ตามภาพข้างล่าง)หรือไม่ ถ้ามีก็ใช้งานได้



การเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้เข้ากับเครือข่ายไร้สาย(การตั้งค่าเครือข่าย)ตามที่ระบุมาในคู่มือ สามารถทำได้สองวิธี คือ
1.    การเชื่อมต่อเครือข่ายผ่านทาง Applicationของ Smart Phone
2.    การเชื่อมต่อเครือข่ายกับการตั้งค่า WPS 

การเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศเข้ากับเครือข่าย มีสองวิธีแต่...ให้เลือกใช้วิธีใด เพียงวิธีหนึ่ง
และผมก็เลือกใช้วิธีที่ 1 โดยการเชื่อมต่อเครือข่ายผ่านทางApplication ของSmart Phone


การตั้งค่าเครือข่ายด้วย iPhone


สำหรับการตั้งค่าเครือข่ายด้วย iPhone แรกสุดคือต้องเข้าไปที่ App Store เพื่อDownload application ที่ชื่อว่า Smart Air Conditioner ซึ่งสามารถDownloadและติดตั้งได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว จะพบ Application ที่มีไอคอนแบบในวงกลมสีแดงแสดงอยู่บนหน้าจอ



หมายเหตุ Application ที่ใช้สำหรับควบคุมเครื่องปรับอากาศในการนำไปใช้งาน สามารถเลือกให้แสดงผลออกมาได้ทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทย และภาษาอังกฤษขึ้นอยู่กับการตั้งค่าในส่วนภาษาหลักที่ใช้บน Smart Phone  

รายละเอียดของ Application ที่แสดงในรีวิวชุดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจาก Smart Phone ของผมตั้งค่าภาษาหลักเป็นภาษาอังกฤษ
ซึ่งถ้าอยากให้ภาษาใน Application เป็นภาษไทยจะต้องเปลี่ยนภาษาหลังของSmart Phone ใน setting ให้เป็นภาษาไทยก่อน

ก่อนที่จะดำเนินการตั้งค่าระบบ เราต้องเปิดเครื่องปรับอากาศให้ทำงานก่อนแล้วกดตั้งค่าบนรีโมทคอนโทร โดยกดปุ่ม [2ndF] บนรีโมท
แล้วกดปุ่ม [Wi-Fi]



ให้สังเกตบนหน้าจอ LEDบนตัวเครื่องปรับอากาศ ต้องแสดงข้อความ {AP} จึงจะทำการตั้งค่าเครือข่ายได้



เข้าไปที่ [Setting]  [Wi-Fi]ในเมนูการตั้งค่าของ iPhone 

จากรายชื่อของ Wi-Fi ให้เราเลือกเชื่อมต่อกับ SMARTAIRCON



เมื่อเราเลือกเชื่อมต่อกับ SMARTAIRCONแล้วป้อนรหัสผ่านว่า“JUNGFRAU2011”



จากนั้นก็เปิด Application Smart Air Conditioner ที่ได้ทำการติดตั้งไว้แล้วก่อนหน้านี้จากนั้นเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งค่าเครือข่าย
เมื่อเปิด Application Smart Air Conditioner ขึ้นมาแล้วจะพบหน้าจอเมนูหลัก


ให้เลือกเมนู [Network Setting] หรือ[ตั้งค่าเครือข่าย]


ตรวจสอบตามคำแนะนำเบื้องต้นถ้าเครื่องปรับอากาศมีการแสดงผลตามคำแนะนำแล้ว ให้เลื่อนลงมาข้างล่างสุด แล้วเลือก[Setting Start] หรือ [ตั้งค่าเริ่มต้น]




หลังจากนั้น ป้อนข้อมูลของ Routerที่ใช้งานอยู่ในขณะนั้น (AP Information)
ข้อมูลที่จำเป็นจะต้องป้อน คือ SSID , ประเภทของความปลอดภัย, ประเภทของการเข้ารหัสข้อมูล และรหัสผ่าน


เมื่อป้อนข้อมูลเบื้องต้นเสร็จ ให้กด [OK]


เมื่อมีข้อความ “Transfer complete” หรือ “การตั้งค่าการเชื่อมต่อเสร็จสมบูรณ์” ปรากฏขึ้นให้กด [OK]



กลับไปที่ [Setting]  [Wi-Fi] ในเมนูการตั้งค่าของiPhone ทำการเลือก Routerที่ใช้งานอยู่



ลองเปิดฝาครอบบริเวณส่วนหน้ากากของชุดเครื่องปรับอากาศ(หน้ากากที่คอยล์เย็น)
เราจะพบกล่องสีดำ ติดอยู่ที่หน้ากากส่วนบนซึ่งกล่องสีดำตัวนี้เป็นมอดูลของ Wi-Fi ถ้าหากเครื่องปรับอากาศได้รับการเชื่อมต่อเข้ากับRouter ได้อย่างถูกต้อง ไฟสีเขียวบนมอดูล Wi-Fi จะสว่างขึ้น



หลังจากนั้น ให้สังเกตหน้าจอ LED บนเครื่องปรับอากาศ
หลังจากที่เราดำเนินการตั้งค่าเครือข่ายเสร็จ ผ่านไปประมาณสองนาทีหลอดไฟที่อยู่ตรงสัญลักษณ์ Wi-Fi จะสว่าง แสดงว่าขั้นตอนการตั้งค่าเครือข่ายเบื้องต้น ได้เสร็จสมบูรณ์ สามารถใช้ iPhone ควบคุมเครื่องปรับอากาศได้แล้ว





การตั้งค่าเครือข่ายด้วย Smart Phone ระบบปฏิบัติการ Android


สำหรับการตั้งค่าเครือข่ายด้วย Smart Phone ระบบปฏิบัติการ Android ในการสาธิต ผมจะใช้เป็น SAMSUNG Galaxy S3 มาตั้งค่าการควบคุมเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้



ก่อนอื่นจะต้องติดตั้ง Application ที่ใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศ โดยการเข้าไปที่ Play Store หรือแหล่ง Download Application เพื่อ Download applicationที่ชื่อว่า Smart Air Conditioner โดยสามารถDownload และติดตั้งได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย




หลังจากติดตั้งเสร็จ ทำการเปิด Application ขึ้นมา


ก่อนที่จะดำเนินการตั้งค่าระบบ เราต้องเปิดเครื่องปรับอากาศให้ทำงานก่อน แล้วกดตั้งค่าบนรีโมทคอนโทร โดยกดปุ่ม [2ndF] บนรีโมท

แล้วกดปุ่ม [Wi-Fi]



เมื่อเปิด Application ขึ้นมา ก็จะเข้ามาสู่หน้าแรก


กดเลือก [Network Setting] หรือ [ตั้งค่าเครือข่าย]




เมื่อเข้ามาสู่หน้านี้ กด [Setting Start] หรือ [ตั้งค่าเริ่มต้น]


แล้วเลือก Router ไร้สายที่ใช้งานอยู่



ทำการป้อนรหัสผ่านของ Router ที่เลือก เมื่อป้อนรหัสเสร็จ กด [OK]



เมื่อมีข้อความ “Transfer complete” หรือ “การตั้งค่าการเชื่อมต่อเสร็จสมบูรณ์”ปรากฏขึ้นมา ให้กด [OK]


หลังจากนั้น ให้สังเกตหน้าจอ LED บนเครื่องปรับอากาศ
หลังจากที่เราดำเนินการตั้งค่าเครือข่ายเสร็จ ผ่านไปประมาณสองนาที หลอดไฟที่อยู่ตรงสัญลักษณ์ Wi-Fi จะสว่าง แสดงว่า ขั้นตอนการตั้งค่าเครือข่ายเบื้องต้น ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สามารถใช้ Galaxy S3ควบคุมเครื่องปรับอากาศได้แล้ว



เสร็จไปแล้ว สำหรับการตั้งค่าเครือข่ายในการเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศ เข้ากับRouter Wi-Fi ผ่านทาง Applicationของ Smart Phone ทั้งระบบปฏิบัติการiOSและ ระบบปฏิบัติการ Android

แต่โดยสรุป...ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง ผมคิดว่า SmartPhone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากมากนักสามารถตั้งค่าและเชื่อมต่อเครือข่ายได้ง่ายกว่าระบบปฏิบัติการ iOS


การควบคุมเครื่องปรับอากาศ ด้วย SmartPhone

ภายหลังการเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศ เข้ากับ Router Wi-Fi เสร็จแล้ว เราสามารถใช้ Smart Phone ควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศผ่านทางApplication ที่ได้ติดตั้งไว้



โดยเมื่อเปิดเข้ามาใน ApplicationSmart Air Conditioner ให้เลือกที่โหมดการควบคุมภายในบ้าน [In-home]




ใน Application อันนี้ เราสามารถสั่ง เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการปรับระดับอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 16-30 องศาเซลเซียส (เพิ่มหรือลดที่ละ 1 องศา)
สามารถเลือกโหมดการทำงานได้เป็น Auto – Cool – Dry – Fan –Heat (แต่...เครื่องปรับอากาศที่ใช้ไม่สามารถใช้โหมดทำความร้อนได้)




และการควบคุมผ่าน Smart Phone ยังสามารถใช้งานฟังก์ชั่นเสริมต่างๆได้เหมือนกับการสั่งการจากรีโมทคอนโทรล
ตัวอย่างเช่น ปรับสปีดพัดลม , ปรับบานสวิง ,เปิดปิดระบบฟอกอากาศ Virus Doctor , โหมดการทำงานSmart Saver , โหมดการทำงานแบบเงียบ ,โหมดd’light Cool , โหมดทำความสะอาดตัวเอง Auto Clean , โหมดเพื่อการนอนหลับ Good’ sleep 




การควบคุมเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ ยังสามารถตังค่าเพิ่มเติมในส่วนของเวลาเปิด-ปิด สามารถกำหนดได้ ว่าในรอบสัปดาห์ เราต้องการให้เครื่องทำงานและหยุดทำงาน ในวันและเวลาใดบ้าง



และสำหรับกรณีที่จะนำไปติดตั้งใช้งานมากกว่าหนึ่งเครื่องภายในสถานที่แห่งเดียวกัน ยังสามารถเปลี่ยนในส่วนของชื่อของเครื่องปรับอากาศแต่ละเครื่อง ให้สอดคล้องกับการใช้งานได้อีกด้วย




แต่...การควบคุมด้วย Smart Phone เบื้องต้นนี้สามารถใช้งานได้ในโหมดการควบคุม In-home เท่านั้นซึ่งสามารถใช้ Smart Phone ควบคุมเครื่องปรับอากาศได้เฉพาะในรัศมีที่สัญญาณWi-Fi ไปถึงเท่านั้น ถ้าอยู่นอกเหนือจากรัศมีที่สัญญาณ Wi-Fiไปถึง โหมดการควบคุม In-home จะไม่สามารถใช้งานได้
ต้องใช้การควบคุมจากนอกบ้าน ด้วยโหมด Out-of-home แต่การจะใช้โหมดนี้ได้ จะต้องมีการลงทะเบียนในเว็บไซด์ของผู้ผลิตเสียก่อนมิฉะนั้น...จะไม่สามารถสั่งการควบคุมเครื่องปรับอากาศจากนอกบ้านได้


สำหรับขั้นตอนกรลงทะเบียน และการควบคุมเครื่องปรับอากาศจากระยะไกล สามารถเข้าไปชมได้ตามลิงค์ข้างล้าง

Link... การควบคุมเครื่องปรับอากาศจากระยะไกล ผ่าน SmartPhone




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:31:05 น.
Counter : 44783 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ตอนที่ 5

คำแนะนำ...สำหรับใครที่เพิ่งเปิดมาเจอหน้านี้ ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 5 (ถ้าหากท่านยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 , 2 และ 3) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 , 2 , 3 และ 4 ตามลิงค์ข้างล่าง

Link : รีวิวตอนที่ 1

Link : รีวิวตอนที่ 2

Link : รีวิวตอนที่ 3

Link : รีวิวตอนที่ 4




หลังจากที่เคลียพื้นที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้วมาเข้าสู่การติดตั้งเครื่องใหม่กันเลย


เริ่มแรกคือการติดตั้งชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit โดยขั้นตอนแรกสุดคือกำหนดจุดติดตั้งนำแผ่นฐานรองรับเครื่องมาทาบบนจุดที่ต้องการติดตั้ง ตรวจสอบระดับและความลาดเอียงจากนั้นก็กำหนดตำแหน่งจุดที่จะยึดด้วยสกรู จากนั้นก็ทำการเจาะรูบนผนังแล้วนำแผ่นฐานรองรับเครื่องขึ้นไปติดตั้งให้มั่นคง



เมื่อฐานรองรับถูกติดตั้งเข้าที่อย่างมั่นคงแน่นหนาแล้วก็ทำการยกชุดคอยล์เย็นที่มีน้ำหนักกว่าสิบกิโลกรัมขึ้นมาแขวนกับฐานรองรับ



เมื่อแขวนคอยล์เย็นเข้าที่แล้วนำกล่องบรรจุท่อนำสารทำความเย็นมาเปิดกล่องนำท่อที่ม้วนเป็นขดมาทำการคลี่ออกจากม้วน



ท่อทองแดงที่ให้มาทั้งสองท่อตรงปลายท่อแต่ละด้านจะมีจุกพลาสติกสวมเอาไว้ ซึ่งต้องไม่นำจุดนี้ออกหรือทำหลุดในระหว่างดำเนินการติดตั้ง เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในท่อซึ่งสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไป อาจจะนำมาสู่การอุดตันในระบบ
จุกที่สวมปิดอยู่ปลายท่อจะนำออกได้ก็ต่อเมื่อถึงขั้นตอนที่จะสวมแฟร์นัท และเตรียมจะเชื่อมต่อระบบ เท่านั้น



นำท่อทองแดงที่ถูกคลี่ออกแล้วมาวางตามแนววิ่งท่อที่ได้กำหนดไว้จากนั้นค่อยๆคลายแฟร์นัทที่ขันติดอยู่กับท่อที่ออกมาจากคอยล์เย็นที่ต้องค่อยๆคลายแฟร์นัท เพราะว่าในท่อของคอยล์เย็นทางผู้ผลิตได้มีการบรรจุแรงดันก๊าซเฉื่อย(ไนโตรเจน)เอาไว้จึงต้องค่อยๆคลายแฟร์นัทเพื่อระบายแรงดันทิ้ง

เมื่อระบายแรงดันออกหมดแล้ว ถอดแฟร์นัททั้งสองมาสวมปลายท่อทองแดงที่จะเดินไปยังคอยล์ร้อน แล้วทำการบานปลายท่อทองแดงเมื่อบานเสร็จจึงทำการขันแฟร์นัทเพื่อเชื่อมต่อท่อทองแดงทั้งสองท่อ


ปล.กรณีที่คลายแฟร์นัทแล้วไม่มีแรงดันก๊าซเฉื่อย(ไนโตรเจน)ระบายออกมาให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลย ว่าชุดคอยล์เย็นมีรอยรั่ว ไม่ควรดำเนินการติดตั้งต่อ แต่ควรติดต่อศูนย์บริการลูกค้าทันที


หลังจากเชื่อมต่อท่อทองแดงในฝั่งคอยล์เย็นครบทั้งสองท่อแล้วก็ออกมาดำเนินการในส่วนการติดตั้งชุดคอยล์ร้อนนอกบ้าน
ผมเลือกการติดตั้งคอยล์ร้อนแบบวางบนขารองรับที่ยึดอยู่กับกำแพงซึ่งมันก็เป็นขารองรับของเดิมที่เคยใช้รองรับเครื่องตัวเก่า


แต่ต้องมีการปรับระยะเพิ่มเติม เพราะคอยล์ร้อนของเก่ามีระยะห่างบริเวณจุดกึงกลางของขาคอยล์ร้อน ประมาณ 50 เซนติเมตรแต่คอยล์ร้อนเครื่องใหม่มีระยะห่างประมาณ 55 เซนติเมตรทำให้ต้องขยับขารองรับคอยล์ร้อนออกไปด้านใดด้านหนึ่ง อีก 5 เซนติเมตร
และผมก็ได้ปรับความสูงส่วนที่เป็นแท่นรองรับคอยล์ร้อนให้ต่ำลงมาจากเดิม เพื่อความสะดวกในการยกขึ้นไปติดตั้งบนแท่นและยังมีผลพลอยได้คือสะดวกในการบำรุงรักษาในอนาคต


เมื่อแท่นรองรับถูกยึดเข้าที่อย่างมันคงแข็งแรงก็ทำการยกชุดคอยล์ร้อน ขึ้นวางบนแท่นรองรับ

น้ำหนักของชุดคอยล์ร้อนเครื่องใหม่ถือว่าหนักเอาเรื่องถ้ายกเพียงคนเดียว ซึ่งชุดคอยล์ร้อนนี้ มีนำหนักประมาณ 33-35กิโลกรัม
ด้วยรูปทรงของวัตถุที่มีขนาดใหญ่และต้องยกขึ้นวางบนแท่นที่สูงประมาณอกผมพยายามลองยกขึ้นด้วยตัวคนเดียวหลายครั้งด้วยความทุลักทุเล สามารถยกขึ้นได้แต่ก็ไม่สามารถยกขึ้นวางให้ตรงกับตำแหน่งบนแท่นได้สุดท้ายต้องไปตามหาคนที่อยู่ใกล้ๆมาช่วยกันยก
และก็ยกวางบนแท่นได้อย่างเรียบร้อยพอดี
จากนั้นจึงใช้สลักเกลียว 4 ชุดร้อยเข้ากับรูที่ฐานคอยล์ร้อน



หลังจากที่ชุดคอยล์ร้อนถูกยกขึ้นไปวางบนแท่นรองรับแล้วยึดฐานทั้งสี่ด้านให้เข้าที่แล้ว ต่อมาก็เตรียมที่จะบานปลายท่อทองแดงทั้งสองเพื่อเชื่อมท่อเข้ากับเซอร์วิสวาล์วที่ชุดคอยล์ร้อน

ทำการดัดท่อทองแดงลงมายังจุดที่จะต่อเข้าชุดคอยล์ร้อนให้ได้ตามแนวที่ต้องการตอนแรกสุดก็กะว่าถ้ามีท่อเหลือ จะขดเก็บเอาไว้โดยไม่ตัดออก แต่เอาเข้าจริงหลังจากที่ปรับระดับในการวางชุดคอยล์ร้อน ก็มีส่วนท่อที่เหลือเกินมาประมาณ 50 เซนติเมตรซึ่งน้อยเกินไป ถ้าจะขดเก็บไว้โดยที่ไม่ตัดก็จะดูไม่ค่อยสวยผมเลยตัดท่อส่วนเกินออกไป
จากนั้นก็สวมแฟร์นัทแล้วบานปลายท่อทองแดงหลังจากนั้นก็เชื่อมต่อท่อเข้ากับเซอร์วิสวาล์ว

หลังจากเชื่อมต่อท่อทั้งสองเสร็จ ก็ทำสุญญากาศระบบ เป็นเวลา 45นาที(ในคู่มือระบุแค่ 15 นาทีแต่ผมเผื่อระยะเวลาไปอีก)
ระหว่างรอทำสุญญากาศระบบ ก็จัดการต่อวงจรไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศเสร็จแล้วจึงเตรียมแคลมป์มิเตอร์เพื่อวัดกระแสไฟฟ้า


หลังจากครบเวลาทำสุญญากาศแล้ว ก็ดำเนินการตรวจสอบหารอยรั่วบริเวณจุดต่อแต่ละจุด
เมื่อมั่นใจว่าระบบไม่มีรอยรั่ว ก็ทำการเปิดวาล์วที่เซอร์วิสวาล์วเพื่อปล่อยสารทำความเย็นเข้าสู่ระบบ
โดยเริ่มเปิดที่วาล์วของทางอัด (Discharge Line) แล้วตามด้วยการเปิดวาล์วทีท่อทางดูด (Suction Line)

เมื่อเปิดวาล์วสารทำความเย็นทั้งสองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำการ ONเบรกเกอร์ นำรีโมทที่ให้มาพร้อมเครื่อง ใส่ถ่านอัลคาร์ไลน์แล้วเปิดเครื่องปรับอากาศในโหมด Cool ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 23องศาเซลเซียส

ออกมารอดูที่คอยล์ร้อน รอประมาณ 3 นาทีชุดคอยล์ร้อนก็เริ่มทำงาน
กระแสไฟฟ้าขณะที่เครื่องสตาร์ทออกตัวเริ่มต้นอย่างนุ่มนวลตามแบบฉบับของคอมเพรสเซอร์ที่ควบคุมด้วยระบบ Inverter ซึ่งไม่กระชากไฟเหมือนกับการสตาร์ทออกตัวของคอมเพรสเซอร์แบบปกติ
ข้อมูลที่ระบุบนฉลาก Name Plate ระบุอัตราการใช้กระแสไฟฟ้าที่7.0 A 
แต่ในช่วงแรกเริ่มเดินเครื่องค่ากระแสไฟฟ้าสูสุดที่ผมสังเกตได้จากมิเตอร์ อยู่ราวๆ 5 A และกระแสไฟฟ้าก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ4 A และคงอยู่ในระดับนี้สักพักหนึ่ง





กระแสไฟฟ้าที่วัดได้ มีแนวโน้มที่จะต่ำลงมาเรื่อยๆจนมาคงอยู่ที่ประมาณ 2 A


หลังจากกระแสไฟฟ้าลดลงมาที่ระดับ 2 A คงอยู่ที่ระดับนี้สักพัก
กระแสไฟฟ้าก็ค่อยๆลดลง จนกระทั่งเกือบจะเป็น 0 A แต่ในขณะนั้นพัดลมระบายความร้อนยังคงหมุนอยู่ซึ่งนั่นก็แสดงว่าอุณหภูมิในห้อง ลดลงมาอยู่ในระดับที่ตั้งไว้แล้วซึ่งเมื่อห้องเย็นตามที่ตั้งไว้ และไม่มีโหลดความร้อนเพิ่มขึ้นในระยะเวลาหนึ่งคอมเพรสเซอร์ก็จะหยุดทำงานในที่สุด เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเดินต่อไปอีกแม้จะเป็นการเดินในความเร็วรอบที่ต่ำก็ตาม

และเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก พัดลมระบายความร้อนก็หยุดทำงานซึ่งการทำงานของชุด Condensing Unit ทั้งพัดลมระบายความร้อนและคอมเพรสเซอร์จะทำงานพร้อมกันใหม่อีกครั้ง เมื่ออุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น

การทำความเย็นในระบบจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ตามวัฏจักรของการทำความเย็น หรือไม่
จุดที่สังเกตได้ง่ายๆคือ ที่บริเวณเซอร์วิสวาล์วถ้ามีหยดน้ำเกาะบริเวณท่อทั้งสอง ก็แสดงว่าระบบทำความเย็น เป็นไปอย่างสมบูรณ์



หลังจากนั้นก็เก็บงานในส่วนของท่อนำสานทำความเย็นและสายไฟจัดการพันด้วยเทปไวนิลให้เรียบร้อย ถอดเครื่องมือวัดออกแล้วทำการปิดฝาครอบด้านข้าง เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนในการติดตั้งและการทดสอบระบบ




และก็มาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านขั้นตอนสุดท้ายคือการนำรีโมทคอนโทรลของเก่าออกไปเก็บรวมกับชุดคอยล์เย็นของมันที่ถูกถอดลงไปแล้วก่อนหน้านี้




จากนั้นก็ดำเนินการติดตั้งรีโมทคอนโทรตัวใหม่เข้าแทนที่




เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับขั้นตอนของการติดตั้งและทดลองเดินเครื่องในช่วงแรก

สามารถติดตามวิธีการตั้งค่าระบบควบคุมผ่าน WiFi โดยใช้Smart Phone เพื่อใช้งานในฟังก์ชั่นการทำงานอันเป็นจุดเด่นของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้

ตามลิงค์ข้างล้าง

Link  : รีวิว...ตั้งค่าการควบคุมแอร์ SAMSUNG ผ่าน WiFi


ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้ตั้งค่าฟังก์ชั่นเสริมที่ว่านี้เครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ก็จะดูเป็นเครื่องปรับอากาศ Inverter แบบธรรมดา ที่ไม่มีอะไรพิเศษมากนักและใช้งานได้ไม่เต็มความสามารถที่มันมีอยู่









 

Create Date : 03 มิถุนายน 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:28:55 น.
Counter : 7521 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ตอนที่ 4

คำแนะนำ...สำหรับใครที่เพิ่งเปิดมาเจอหน้านี้ ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 4 (ถ้าหากท่านยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 , 2 และ 3) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 , 2 และ 3 ตามลิงค์ข้างล่าง

Link : รีวิวตอนที่ 1

Link : รีวิวตอนที่ 2

Link : รีวิวตอนที่ 3



หลังจากดูรีวิวในส่วนของชุดคอยล์ร้อน CondensingUnit และชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit กันไปเรียบร้อยแล้วต่อไปจะเป็น D.I.Y. ในส่วนกระบวนการและขั้นตอนในการติดตั้ง


งานนี้ผมลงมือดำเนินการเองในช่วงวันว่างทำทุกขั้นตอนเกือบทั้งหมดเพียงคนเดียว อาศัยที่ว่าทำงานของตัวเอง จึงไม่รีบร้อนทำแบบเรื่อยๆเหนื่อยก็พัก ใจจริงก็อยากพาช่างมาช่วยงานที่นี่ด้วยแต่ไม่สะดวกในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางมานอกพื้นที่หรือความไม่สะดวกในการเก็บข้อมูลควบคู่กับการดำเนินการ หลายเหตุผลจึงสรุปว่างานนี้ตัดสินใจที่จะลุยเองคนเดียวเพราะจะสะดวกกว่าในการทำไปถ่ายรูปเก็บข้อมูลไปแต่ว่า...ในบางขั้นตอนอาจจะไม่มีภาพมาประกอบเพราะไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ได้ในขณะนั้น ก็ต้องขออภัยด้วย


ก่อนจะติดเครื่องใหม่ จำเป็นต้องถอดเครื่องปรับอากาศเครื่องเก่าออกเสียก่อน


ในภาพ คอยล์ร้อนที่ติดตั้งด้านบนคือเครื่องที่ได้มาติดตั้งไว้เมื่อปีที่แล้ว และได้นำมาทำรีวิวไปแล้ว
ส่วนชุดคอยล์ร้อนที่ติดตั้งด้านล่าง คือเครื่องเก่าที่จะทำการถอดออกแล้วติดตั้งเครื่องใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิม แทนที่



เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนของการถอดย้ายเครื่องปรับอากาศ

อันดับแรกก็ต้อง เปิดฝาครอบเซอร์วิสวาล์ว และเปิดฝาครอบวาล์วลูกศรหลังจากนั้นต่อเกจวัดแรงดันสารทำความเย็นที่ตัวเครื่องปรับอากาศแล้วเริ่มเดินเครื่อง เตรียมตัวทำขั้นตอน pump down ซึ่งเป็นขั้นตอนเก็บสารทำความเย็นไว้ในชุดCondensing Unit ก่อนจะถอดย้ายเครื่องปรับอากาศ
แทนการปล่อยสารทำความเย็นทิ้งสู่บรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน



จากนั้นเข้าไปเปิดเครื่องปรับอากาศให้ทำงาน
เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงาน สังเกตุที่เกจวัดแรงดัน หน้าปัดของเกจด้าน Low(สีฟ้า)ซึ่งกำลังวัดค่าแรงดันสารทำความเย็นด้านท่อทางดูด Suctionค่าแรงดันมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อแรกเริ่มเดินเครื่องใหม่ๆรอสักพักก็มาคงที่ ที่ระดับ 80 - 81 PSIG



ค่าแรงดันที่วัดได้ ที่ระดับประมาณ 80 PSIG ถือว่าเกินกว่าค่าปกติไปบ้างเพราะค่าปกติของแรงดันด้านท่อทางดูดสำหรับสารทำความเย็น R-22 คือ 68-75 PSIG แต่แรงดันยิ่งมากแอร์ก็ยิ่งทำงานหนัก คอมเพรสเซอร์ กินกระแสไฟฟ้าสูงแต่ถ้ากระแสที่วัดได้จริงไม่เกินกระแสที่ระบุบป้าย name plate ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องปล่อยสารทำความเย็นที่เกินทิ้ง

ค่าแรงดัน และกระแสไฟฟ้าที่วัดได้ในตอนที่ติดตั้งเสร็จและเดินเครื่องเป็นครั้งแรก ของเครื่องนี้ ผมจำได้ว่าเคยบันทึกไว้ในสมุดโน๊ตไปรื้อมาดู เดินเครื่องครั้งแรกก็80 PSIG กระแสไฟฟ้าขณะคอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ที่3.0 A กระแสไฟฟ้าบนป้าย name plate 3.59 A.

ท่อที่ใช้ไปเต็มความยาว 4 เมตรพอดีตามที่ให้มาซึ่งระยะเดินท่อจริง มีไม่ถึง 4เมตร ส่วนที่เหลือในตอนนั้น ผมเลยม้วนไว้ด้านหลังเครื่องไม่ได้ตัดออก




เมื่อเครื่องเดินไปได้สักพักจนแรงดันคงที่ ก็เริ่มการpump down โดยเริ่มจากการเปิดฝาเกลียวที่ครอบช่องขันวาล์วของท่อทั้งสอง
ในขณะที่เครื่องกำลังเดิน ใช้ประแจหกเหลี่ยมหรือประแจแอลขันปิดวาล์วด้านท่อทางอัด (Discharge) หรือท่อเล็ก(รีบขันปิดให้แน่น)





เมื่อปิดวาล์วด้านท่อทางอัด (Discharge Line) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้สังเกตุหน้าปัทม์ของเกจวัดแรงดันสารทำความเย็นเพราะการปิดวาล์วด้านท่อทางอัด (Discharge Line) ทำให้สารทำความเย็นไม่ถูกอัดเข้าระบบอีกต่อไปและท่อทางดูด (Suction Line) จะรับช่วงต่อโดยการดูดสารทำความเย็นที่ค้างในระบบกลับเข้ามาในคอมเพรสเซอร์ซึ่งต้องสังเกตค่าที่แสดงบนเกจให้ดีใช้ประแจหกเหลี่ยมหรือประแจแอลไปเสียบรอไว้ก่อนที่ท่อทางดูด (Suction Line) 





จากนั้นรอดูค่าแรงดันที่เกจ เมื่อแรงดันเริ่มลดลงมาระหว่างที่หมุนปิดวาวล์วของท่อทางดูด (Suction Line) สังเกตแรงดันที่ลดลงบนเกจด้วยเมื่อค่าแรงดันตกลงมาจนอยู่ที่ประมาณ 10 PSIG ให้ทำการหมุนปิดวาล์วทันทีต้องหมุนปิดวาล์วให้เสร็จพร้อมกับค่าแรงดันที่ลดลงจนเป็น 0 PSIG





เมื่อปิดวาล์วทั้งสองสนิทแล้วจากนั้นก็รีบปิดเครื่องปรับอากาศให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงานอย่างรวดเร็ว


เพราะถ้าปล่อยให้คอมเพรสเซอร์ทำงานขณะที่วาล์วทั้งสองปิดสารทำความเย็นจะถูกอัดออกมาเรื่อยๆในขณะที่สารทำความเย็นไม่ได้เดินหมุนเวียนในระบบเพราะวาล์วที่ถูกปิดอยู่ถ้าระบบป้องกันภายในทำงานปกติ คอมเพรสเซอร์ก็จะตัดการทำงานก่อนจะเกิดอันตรายเพราะตัวป้องกันโอเวอร์โหลดทำงาน แต่ถ้าโอเวอร์โหลดไม่ทำงานปล่อยให้สารทำความเย็นถูกอัดออกมาขณะที่วาล์วถูกปิด อัดไปเรื่อยๆอาจจะเกิดการระเบิดได้



เนื่องด้วยผมทำงานเพียงคนเดียว หลังจากปิดวาล์วทั้งสองเสร็จจะสั่งให้คนข้างในกดรีโมทปิด ก็ทำไม่ได้วิธีการที่จะให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงานได้อย่างรวดเร็วที่สุด คงต้องใช้วิธีลัดผมจึงตัดสินใจปลดสายคอนโทรที่ควบคุมการตัด/ต่อของรีเลย์ภายในชุดคอยล์ร้อน

หลังจาก Pump down เก็บสารทำความเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องมาทำการถอดเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ออกเริ่มที่ถอดท่อทั้งสองที่ต้อกับชุดคอยล์ร้อนถอดเสร็จก็ปิดปลายท่อโดยการบีบปลายแล้วใช้เทปพันอีกครั้งเพื่อกันสิ่งสกปรกเข้าท่อ



ส่วนด้านเซอร์วิสวาล์วที่ต่อเข้าคอยล์ร้อนก็เอาแฟร์นัทของเดิม ตัดออกมาให้ติดท่อสักนิด แล้วปีปลายท่อที่อยู่อีกด้านและพันเปทตามเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าท่อจากนั้นก็เอาแฟร์นัทพร้อมท่อที่บีบปลายติดมาด้วย ใส่กลับเข้าไปอย่างเดิม





หลังจากทำในส่วนที่อยู่ข้างนอกเสร็จก็เข้ามาเตรียมถอดคอยล์เย็นลงมา



คอยล์เย็นลงมาแล้ว ยังเหลือแผงยึด



หลังจากถอดแผงยึดออกมา





ปลดประจำการ ด้วยอายุการใช้งาน ประมาณ 5 ปี



รีวิวยังไม่จบ อ่านรีวิวต่อ ตอนที่ 5 Click




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:26:09 น.
Counter : 5635 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ตอนที่ 3

คำแนะนำ...สำหรับใครที่เพิ่งเปิดมาเจอหน้านี้ ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 3 (ถ้าหากท่านยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 และ 2) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 และ 2 ตามลิงค์ข้างล่าง

Link : รีวิวตอนที่ 1

Link : รีวิวตอนที่ 2



สำหรับคอมเพรสเซอร์ ที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศ เครื่องนี้ เป็นคอมเพรสเซอร์ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือของ SAMSUNG

ถ้าหากใครอยากรู้รายละเอียด เกี่ยวกับคอมเพรสเซอร์ของ SAMSUNGเพิ่มเติม ก็ลองเข้าไปหาดูเพิ่มเติมในเว็บไซด์ของผู้ผลิตซึ่งในส่วนนี้ผมจะไม่ขออธิบายอะไรมากนัก เพราะผมเองก็ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคอมเพรสเซอร์SAMSUNG มากนัก




ในข้อมูลจำเพาะของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ระบุว่าคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ เป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ แบบ Twin Rotary Compressor หรือคอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบสองใบพัด ซึ่งภายคอมเพรสเซอร์จะมีตัวใบพัดโรเตอร์จำนวนสองอัน ถูกวางในแกนเพลาลูกเบี้ยวแกนเดียวกันทำให้สามารถดูดและอัดสารทำความเย็นได้รวดเร็วและดีขึ้นอีกทั้งในขณะที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน Twin Rotary Compressor ยังสามารถทำงานได้นุ่มนวลกว่าเนื่องจากมีการลั่นสะเทือนที่น้อยกว่า ซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ เสียงที่เงียบลง

ส่วนคอมเพรสเซอร์แบบเดิมๆที่มีใช้ในเครื่องปรับอากาศรุ่นธรรมดาทั่วไปจะเป็น Single Rotary Compressor หรือคอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบใบพัดเดียวมีใบพัดโรเตอร์อยู่เพียงชุดเดียว



แต่ว่า Twin Rotary Compressor ที่มีใช้กันในขณะนี้มันไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งได้รับการคิดค้นแต่อย่างใด คอมเพรสเซอร์ชนิดนี้เริ่มมีการนำมาใช้หลายปีแล้วและปัจจุบันนี้ผู้ผลิตรายอื่นๆก็ได้มีการนำไปพัฒนาและนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายผู้ผลิตหลายรายได้เริ่มนำเอา Twin Rotary Compressor มาใช้ในเครื่องปรับอากาศของตน
ในตอนนี้มีหลายยี่ห้อ ที่นำเอาเทคโนโลยี Twin RotaryCompressor เข้ามาใช้



ในส่วนของการรับประกันคอมเพรสเซอร์สำหรับคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ทางผู้ผลิตได้มีการรับประกันคอมเพรสเซอร์ เป็นเวลา 5 ปีซึ่งเป็นระยะเวลาการรับประกันเทียบเท่ากับแบรนด์ชั้นนำหลายๆเจ้า
แต่ในคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นของ SAMSUNG รุ่นใหม่ระยะเวลารับประกันคอมเพรสเซอร์ ผู้ผลิตได้รับประกันเป็นเวลาถึงถึง 10 ปี จัดว่าเป็นระยะเวลาในการรับประกันที่นานสุดในตอนนี้สำหรับคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นในบ้านเรา



ถึงแม้ว่าผมเอง จะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคอมเพรสเซอร์ SAMSUNG สักเท่าไหร่เนื่องจากคอมเพรสเซอร์แบรนด์นี้ เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะใหม่สำหรับผม แต่ถ้าดูจากระยะเวลาในการรับประกันที่ผู้ผลิตได้ให้ไว้ก็ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว



กลับมาต่อกันในส่วนแผงวงจรควบคุม ที่อยู่ในชุดคอยล์ร้อน ในส่วนนี้มีการแสดง Diagram วงจรไฟฟ้าโดยรวมเอาไว้บนฝาครอบของกล่องควบคุมซึ่งให้ไว้ละเอียดในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นวงจรที่ละเอียดมาก แบบวงจรจริงที่ใช้ประกอบในขั้นตอนการผลิต ด้านใต้วงจรไฟฟ้าก็จะเป็นตารางที่แสดงอาการขัดข้องต่างๆและการแก้ไขเบื้องต้น







ในภาพนี้ ด้านบนคือส่วนของบอร์ดควบคุมหลัก ถัดลงมาคือReactor (ขดลวดรีแอคเตอร์)มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการและควบคุมความถี่อีกทั้งยังช่วยจัดการกับการรบกวนของกระแสฮาร์โมนิค ที่เกิดขึ้นในระบบขณะที่เครื่องทำงาน




บริเวณหลักต่อสายไฟฟ้า หรือ Terminal ส่วนที่อยู่ในคอยล์ร้อนในเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้รูปแบบการเชื่อมต่อสายไฟให้เครื่อง มีดังนี้
เริ่มที่สายเมนของเครื่องปรับอากาศซึ่งรับพลังงานมาจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าในบ้าน(AC 220V) นำสายเมนไฟเข้ามาต่อที่บริเวณTerminal ที่ชุดคอยล์ร้อนด้านที่ระบุว่า Power โดยที่ตัว Terminal ที่ชุดคอยล์ร้อน ในด้าน Powerจะมีสองชั้น ให้เราต่อสายไฟฟ้าได้ 2 คู่ 4เส้น (ด้านนี้จะเป็นด้านแรงดัน 220V) สำหรับต่อเมนไฟเข้าและพ่วงสายไฟสำหรับไปจ่ายให้ชุดคอยล์เย็น

สำหรับ Terminal อีกอันที่อยู่ในชุดคอยล์ร้อนส่วนนี้จะเป็น Terminal ที่ระบุข้อความว่า Communicationซึ่งเป็นจุดสำหรับเชื่อมสายสัญญาณของภาคคอนโทรล ระหว่างชุดคอยล์ร้อนและคอยล์เย็นต้องเชื่อมต่อด้วยสายสองเส้น และต้องระวังอย่าสลับสายกันเด็ดขาด





ส่วนของฝาครอบคอยล์ร้อน ลักษณะเป็นแผ่นเหล็กชิ้นเดียวยึดติดกับฐานเครื่องด้วยสกรูประมาณ 8-9 ตัว มีตะแกรงพลาสติกสำหรับป้องกันใบพัดลมติดตั้งอยู่ตัวฝาครอบคอยล์ร้อนถูกเคลือบด้วยสีกันสนิม



ดูคอยล์ร้อนเบื้องต้นไปแล้วต่อไปมาแกะดูตัวคอยล์เย็น Fan Coil Unit



ลื่อนลังกระดาษออกก็จะพบคอยล์เย็นบรรจุในฐานโฟมถูกหุ้มด้วยพลาสติก




เมื่อนำพลาสติกที่หุ้มออก รู้สึกว่าสีของหน้ากากมันไม่ค่อยจะออกโทนฟ้าเหมือนที่เคยเห็นจากภาพที่แสดงในแผ่นพับ และสื่อโฆษณาต่างๆ
วัสดุที่นำมาประกอบเป็นชุดคอยล์เย็น อย่างเช่นพลาสติกที่ทำฝาครอบเป็นพลาสติกหนา มีสัมผัสที่มันเงา
ความเห็นของผมในส่วนนี้...ผมว่าตัวนี้พลาสติกที่ใช้จัดว่ามีคุณภาพดีอยู่ในระดับที่พอจะเทียบกันได้กับเครื่องปรับอากาศ Inverter หลายแบรนด์จากฝั่งญี่ปุ่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ




มุมล่างขวาของชุดคอยล์เย็นจะมีหน้าจอแสดงผลติดตั้งอยู่ ถัดลงมาจะเป็นสวิทช์สำหรับเปิด/ปิดในกรณีฉุกเฉินโดยไม่ต้องใช้รีโมทคอนโทรล


พื้นที่บนหน้าจอ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลักๆคือส่วนบนและส่วนล่าง

ส่วนบนของหน้าจอ คือพื้นที่สำหรับแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขและอักษรภาษาอังกฤษ โดยหน้าจอส่วนบนจะแสดงผลออกมา ในรูปแบบ Seven segment 
โดยปกติส่วนนี้จะถูกใช้แสดงผลเป็นตัวเลขซึ่งตัวเลขที่แสดงจะเป็นค่าของอุณหภูมิห้องในขณะนั้น
เมื่อปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศหน้าจอส่วนนี้จะแสดงตัวเลขของค่าอุณหภูมิที่ถูกปรับตั้ง เป็นเวลาประมาณ 3 วินาที แล้วจะกลับมาแสดงค่าอุณหภูมิห้องเหมือนเดิม
หน้าจอส่วนบน ยังใช้แสดงผลออกมาเป็นตัวอักษรในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นการแสดงผลเฉพาะในกรณีพิเศษ อย่างเช่นการตั้งค่าให้กับเครื่องปรับอากาศ

ส่วนล่างของหน้าจอ จะเป็นส่วนที่แสดงสถานะของโหมดการทำงานต่างๆโดยที่ผิวของจอแสแดงผลจะมีสัญลักษณ์ของโหมดการทำงานต่างๆด้านในของจอแสดงผลจะมีหลอดไฟ LED ฝังอยู่ตรงกับตำแหน่งของสัญลักษณ์แต่ละตัวมีไว้เพื่อเป็นตัวแสดงสถานะการทำงานของโหมดการทำงานต่างๆ




แผงอีแวปปอเรเตอร์ Evaporator หรือแผงทำความเย็นที่อยู่ในชุดคอยล์เย็นของเครื่องปรับอากาศ เป็นแบบท่อและครีบมาตรฐานแบบเดียวกันกับเครื่องปรับอากาศของยี่ห้ออื่นๆ
แผงอีแวปปอเรเตอร์ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ทางผู้ผลิตได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ได้รับการเคลือบด้วยสารป้องกันการกัดกร่อน




แผ่นกรองอากาศหรือฟิลเตอร์ ยังคงเป็นแบบ FullHD Filter เส้นใยความละเอียดสูง ซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานของทาง SAMSUNG




ลองขยายเพื่อจะได้ดูชัดๆในเรื่องความละเอียดของเส้นใยในแผ่นกรองอากาศ ซึ่งเส้นใยที่มีความละเอียดสูงย่อมสามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กได้ดีแต่ก็ต้องแลกกับการอุดตัดที่อาจเกิดได้เร็วขึ้นกว่าแผนกรองอากาศแบบทั่วๆไปเนื่องจากสิ่งสกปรกที่ถูกดักจับไว้ได้มากกว่า ทำให้ต้องขยันถอดออกมาล้างบ่อยๆแต่ถ้าเทียบกับผลที่ได้ ก็ถือว่ารับได้ในส่วนนี้




เมื่อสังเกตเข้าไปภายในช่องลมออกของคอยล์เย็นตรงบริเวณมุมขวา จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของระบบฟอกอากาศ Virus Doctor
ตัวสี่เหลี่ยมที่ติดตั้งอยู่ในมุมขวาของช่องลมออก จะเป็นตัวสร้างอิออนลบ (-) ที่มีหน้าที่กำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ราและสารก่อภูมิแพ้ที่แพร่กระจายในอากาศ




แท่งสีดำที่ติดอยู่กับโครงของฝาครอบชุดคอยล์เย็นเป็นหลอดไฟ LED ใช้สำหรับแสดงสถานะ การทำงานของระบบฟอกอากาศ Virus Doctor




เมื่อเปิดใช้งานฟังก์ชั่น Virus Doctor หลอดไฟ LED ก็จะสว่างเป็นเหมือนสัญญาณบอกให้ผู้ใช้งานรู้ว่า...ขณะนี้ระบบฟอกอากาศ Virus Doctor กำลังทำงานอยู่





ช่วงหลังๆมานี้ เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG ได้มีการพัฒนาในส่วนของระบบฟอกอากาศและนำเสนอจุดขายของการเป็นเครื่องปรับอากาศเพื่อสุขภาพซึ่งได้รวมถึงเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ ทางผู้ผลิตก็ได้เน้นในเรื่องการดักจับสารก่อภูมิแพ้ซึ่งกลไกลหลักๆที่เครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ใช้ในการดักจับสารก่อภูมิแพ้ผมคาดว่า...เป็นผลที่ได้จากความละเอียดของเส้นใยในแผ่นกรองอากาศซึ่งเส้นใยที่ว่านี้ เมื่อพิจารณาด้วยตาเปล่า ก็จะเห็นได้ชัดว่ามีความละเอียดสูงอีกทั้งยังมีระบบฟอกอากาศ Virus Doctor เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน



สำหรับใครที่ตั้งโจทย์ในเรื่องของระบบฟอกอากาศที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือใครที่ให้ความสำคัญในส่วนของการป้องกันและยับยั้งสารก่อภูมิแพ้เครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ก็น่าจะมีส่วนช่วยได้เยอะ
แต่สำหรับตัวผมเอง และคนในครอบครัว เนื่องจากไม่มีใครที่เป็นภูมิแพ้ผมจึงไม่ค่อยจะซีเรียสในส่วนนี้มากสักเท่าไหร่ แต่การมีระบบฟอกอากาศเข้ามาผมก็ถือกว่าดีกว่าไม่มีครับ



รีวิวยังไม่จบ อ่านรีวิวต่อ ตอนที่ 4 Click






 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:24:49 น.
Counter : 14631 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Smart WiFi Inverter ตอนที่ 2

คำแนะนำ...สำหรับใครที่เพิ่งเปิดมาเจอหน้านี้ ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 2 (ถ้าหากท่านยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 ตามลิงค์ข้างล่าง

Link : รีวิวตอนที่ 1


สำหรับรีวิวตอนที่ 2 จะเป็นรีวิวในส่วนของ รายละเอียดในแต่ละส่วนของเครื่องปรับอากาศ

หลังจากเลือกเครื่องปรับอากาศได้แล้วผมก็รอจนถึงช่วงที่ว่างเว้นจากภารกิจแล้วเดินทางมายังบ้านสวนของคุณพ่อที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่งพร้อมด้วยเครื่องปรับอากาศตัวใหม่ และเครื่องไม่เครื่องมือบางส่วนเท่าที่จำเป็น


ชุดเครื่องปรับอากาศที่จะนำมาติดตั้ง ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆแบ่งบรรจุมาในกล่องกระดาษ 3 ใบ



กล่องใบแรกซึ่งใหญ่และหนักสุดจะบรรจุชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit หรือส่วนที่ติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร



กล่องอีกใบที่มีขนาดและน้ำหนักลองลงมาจากใบแรกจะเป็นกล่องที่บรรจุชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit หรือส่วนที่อยู่ภายในห้องภายในกล่องใบนี้ยังมีคู่มีการใช้งานกับรีโมทคอนโทรล และถ่านอัลคาไลน์ ขนาด AAAใส่มาให้จำนวน 2 ก้อน



กล่องอีกใบที่เล็กและเบาสุดบรรจุชุดท่อนำสารทำความเย็นแบบสำเร็จรูป เป็นท่อทองแดงแบบหนาจำนวนสองท่อหุ้มมาด้วยฉนวนโฟมสีขาว มีความยาวท่อละ 4 เมตรถูกอุดปลายท่อทั้งสองด้านไว้ด้วยจุดพลาสติกเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปในท่อโดยที่ท่อทั้งสองจะถูกม้วนไว้เป็นขดบรรจุมาในกล่อง ประกอบด้วย
-    ท่อทองแดงขนาด ½ นิ้วซึ่งเป็นท่อทางดูด (Suction Line) สำหรับสารทำความเย็นสถานะแก๊ส
-    ท่อทองแดงขนาด ¼ นิ่วซึ่งเป็นท่อทางอัด (Discharge Line) สำหรับสารทำความเย็นสถานะของเหลว



เริ่มเปิดกล่อง ลำดับแรก คือชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit



เมื่อตัดสายพลาสติกที่รัดกล่องออก แล้วยกส่วนของกล่องที่ครอบฐานโฟม ออกไป เราก็จะพบคอยล์ร้อนที่ถูกห่อด้วยแผ่นพลาสติกมาจากผู้ผลิต





เมื่อนำพลาสติกที่หุ้มตัวคอยล์ร้อนออกไปก็จะพบกับโฉมหน้าของคอยล์ร้อน ที่มีตัวถังเป็นเหล็กเคลือบด้วยสีขาวออกไปทางโทนเทาอ่อนๆ
ชุดคอยล์ร้อนชุดนี้ มีน้ำหนักประมาณ 32 – 33 กิโลกรัมซึ่งเป็นน้ำหนักของชุดคอยล์ร้อนพร้อมกับสารทำความเย็น R-410a เต็มระบบ (จำนวน 850 กรัม)ซึ่งได้ถูกบรรจุมาให้จากโรงงานผู้ผลิต

สารทำความเย็น R-410a จำนวน 850 กรัม ที่ถูกบรรจุมาให้จากโรงงานผู้ผลิตเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการนำไปติดตั้งใช้งานแบบปกติ ที่มีความยาวท่อไม่เกิน 4เมตร(ตามที่ให้มา) หากในการติดตั้งมีความจำเป็นต้องเดินท่อยาวมากกว่า4 เมตร จะต้องมีการเติมสารทำความเย็นเพิ่มตามความยาวของท่อส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้มีระบุไว้ในคู่มือการติดตั้งที่ให้มา






บนตัวถังคอยล์ร้อนในส่วนด้านหน้า ก็จะมีสติ๊กเกอร์ตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ SAMSUNG และฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ติดเอาไว้




มาดูในส่วนรายละเอียดของข้อมูลด้านการใช้พลังงานที่แสดงไว้ในฉลากประหยัดไฟ เบอร์
ค่า EER (Energy Efficiency Ratio) หรืออัตราส่วนประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ
ซึ่งเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ มีค่า EER อยู่ที่12.19 
ข้อมูลด้านการใช้พลังงานที่ผู้ผลิตให้มาสำหรับเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ มีอัตราการประหยัดไฟเพิ่มขึ้นจากเดิม 30– 60 % เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา






ตรงมุมขวาของฐานโฟมที่วางคอยล์ร้อนมีห่อพลาสติกซุกไว้อยู่ ซึ่งภายในห่อนั้นจะบรรจุแผ่นยางรองกันสะเทือนมีให้เพื่อใช้สวมเข้ากับฐานวางคอยล์ร้อนทั้งสี่ด้านแผ่นยางนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ติดตั้งคอยล์ร้อนบนขาแขวน หรือติดตั้งแบบวางลงบนพื้นราบโดยไม่ใช้ขายางรอง





ด้านข้างของคอยล์ร้อน(ซ้าย – ขวา)ซึ่งด้านขวาจะเป็นฝั่งที่มีจุดเชื่อมต่อท่อนำสารทำความเย็น และจุดต่อสายไฟโดยที่จุดทั้งสองจะอยู่ภายในฝาครอบ และในด้านนี้ก็ยังมีฉลากแสดงรายละเอียด (NamePlate) และคำเตือนต่างๆแสดงไว้อย่างชัดเจน





ฉลากเนมเพลต (Name Plate) ที่ใช้แสดงข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องปรับอากาศรวมถึงข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และข้อมูลของผู้ผลิต






ฉลากอีกส่วนหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยฉลากส่วนนี้มีการระบุข้อควรระวังและคำเตือนเอาไว้

และข้อควรระวังที่ผมอยากจะฝากเพิ่มเติมคือเรื่องการดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ระบบ Inverter หรือเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410a การดำเนินการติดตั้งและซ่อมบำรุงทุกครั้งควรจะเลือกใช้ช่างที่ได้ผ่านการอบรมมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วช่างจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมโดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศก่อนที่จะออกให้บริการในงานจริงทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการติดตั้งและการใช้งาน

เนื่องจากเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter มีระบบการควบคุมและการทำงานที่ซับซ้อนต่างจากเครื่องปรับอากาศแบบทั่วไปซึ่งระบบ Inverter จะมีภาคควบคุมและประมวลผลที่ซับซ้อนกว่ามากที่สำคัญคือเรื่องสารทำความเย็นที่ใช้ในเครื่องที่เป็นระบบ Inverter คือสารทำความเย็นตัวใหม่ที่มีชื่อว่า R-410a ซึ่งจะต่างจากเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดาทั่วไปที่ใช้สารทำความเย็นR-22 

ที่ผมให้ความสำคัญในส่วนนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะว่าสารทำความเย็นตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า R-410a มีลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติต่างกับ R-22 หากมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกวิธีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้






มาดูกันต่อในส่วนด้านหลัง ของชุดคอยล์ร้อน



หลายคนอาจจะสังเกตเห็นบริเวณด้านหลังชุดคอยล์ร้อนมีท่อใสหุ้มสายสีดำ โผล่ออกมาจากในตัวเครื่อง ดูใกล้ๆมีหน้าตาเหมือนตัวรับสัญญาณอะไรสักอย่างหรือคล้ายกับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในชุดควบคุมของเครื่องปรับอากาศ

ซึ่งตัวผมเองก็ได้พยายามหาข้อมูลทั้งในคู่มือ แผ่นพับและเว็บไซด์ของผู้ผลิต แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าส่วนนี้มีหน้าที่หลักๆเพื่ออะไรแต่หลังจากลองพิจารณาไล่สายเข้าไปในบอร์ดควบคุมภายใน ดูจากรูปแบบวงจรแล้วคาดว่าน่าจะเป็นเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ




ส่วนของแผงระบายความร้อน หรือแผงควบแน่น (Condenser) ที่ใช้ในคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เครื่องปรับอากาศรุ่นนี้ใช้แผงระบายความร้อนที่เป็นแบบอลูมิเนียมทั้งท่อและครีบโดยจะเป็นท่อแบบแบนวางเรียงกันซึ่งมีอลูมิเนียมแผ่นบางๆขดไปมาเรียงซ้อนกันอยู่ในช่องว่างระหว่างท่อลักษณะคล้ายกับแผงระบายความร้อนในเครื่องปรับอากาศของรถยนต์ และแผงหม้อน้ำรถยนต์



ครีบแบบนี้เป็นแบบเดียวกับที่ผมเจอในเครื่องปรับอากาศ InverterSamsung เครื่องที่ได้มาติด และทำรีวิวไปในชุดก่อนคาดว่าคงจะเป็นมาตรฐานเดียวกันในเครื่องปรับอากาศของ Samsung


แผงครีบระบายความร้อนในเครื่องปรับอากาศชุดนี้ต่างจากครีบระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบท่อทองแดงกับครีบอลูมิเนียมซึ่งใช้ท่อทองแดงสอดผ่านอลูมิเนียมแผ่นที่เรียงซ้อนกัน โดยท่อจะวิ่งแบบขดไปขดมา
เรียกว่า แผงระบายความร้อน หรือแผงควบแน่น แบบท่อและครีบ



แผงควบแน่น แบบท่อและครีบ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศเป็นรูปแบบที่ถูกใช้กันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ
นับตั้งแต่เครื่องปรับอากาศ เข้ามาในประเทศไทยยุคแรกๆจนถึงทุกวันนี้ที่เราผลิตเครื่องปรับอากาศได้เองในประเทศแผงควบแนบรูปแบบดั้งเดิม(แบบโบราญ)ก็ยังคงมีใช้อยู่แพร่หลาย

ถ้าเทียบเรื่องต้นทุนของแผงควบแน่นหรือครีบระบายความร้อนทั้งสองแบบหากเทียบโดยใช้ข้อมูลด้านราคาของวัตถุดิบยังไงทองแดงก็ย่อมมีราคาสูงกว่าอลูมิเนียม
ซึ่งก็ไม่แปลกที่หลายๆคนอาจคิดว่าแผงระบายความร้อนที่เป็นอลูมิเนียมทั้งหมดจะมีราคาที่ถูกกว่าแผงระบายความร้อนแบบดั้งเดิมที่เป็นท่อทองแดงกับครีบอลูมิเนียม

แต่จากการที่ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าต้นทุนของค่าใช้จ่ายในการผลิตแผงระบายความร้อนแบบที่เป็นอลูมิเนียมทั้งชุดนั้นสูงกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตแผงระบายความร้อนแบบดั้งเดิม
ต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากราคาวัตถุดิบแต่เป็นต้นทุนที่เกิดจากกระบวนการผลิตเพราะในกระบวนการผลิตแผงแบบอลูมิเนียมทั้งท่อและครีบจะทำได้ยากกว่าต้องใช้เครื่องจักรที่ออกแบบมาพิเศษส่งผลให้ทางผู้ผลิตต้องลงทุนในเครื่องจักรแบบใหม่ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง



เรื่องประสิทธิภาพในการนำมาใช้กับระบบทำความเย็นประเภทเครื่องปรับอากาศ
สำหรับการนำมาใช้งานกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศพบว่าแผงระบายความร้อนอลูมิเนียมทั้งชุดจะมีประสิทธิภาพการดึงความร้อนออกจากสารทำความเย็นได้ดีกว่าเพราะการไหลเวียนของสารทำความเย็นนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าและมีพื้นที่สัมผัสที่มากกว่า (ตามหลักการ Coefficient Heat transfer)

สำหรับแผงควบแน่น หรือแผงคอยล์ร้อน ในชุด Condensing Unit ที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ ทางผู้ผลิตมีการรับประกันในส่วนของแผงควบแน่น เป็นเวลา 3 ปี


มาเปิดฝาดูภายในคอยล์ร้อนกันต่อ 
ในภาพ...คือภาพรวมภายในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit





ใบพัดของพัดลมระบายความร้อน ทำจากพลาสติกแข็ง



มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนพัดลมระบายความร้อนเป็นมอเตอร์ชนิดปิดสนิท เพื่อป้องกันน้ำ และสิ้งแปลกปลอมอื่นๆอย่างเช่น ฝุ่น หรือแมลง


มาดูในส่วนสำคัญ ที่เป็นหัวใจหลักในระบบเครื่องทำความเย็นนั่นก็คือคอมเพรสเซอร์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวดูดและอัดสารทำความเย็นให้ไหลเวียนในระบบทำความเย็น




คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนและช่วยดูดซับเสียงในแวดวงช่างแอร์มักเรียกว่า “ผ้าห่มคอมเพรสเซอร์” ซึ่งมีหน้าที่หลักๆในการป้องกันเสียงรบกวนที่เกิดขณะคอมเพรสเซอร์ทำงาน


ฉนวนหรือผ้าห่มคอมเพรสเซอร์ที่ใส่มาหลายชั้นทำให้เวลาขณะที่เครื่องทำงาน สิ่งที่ผมได้ยินรู้สึกว่าเสียงรบกวนที่ออกมาภายนอกตัวเครื่องมีน้อย เครื่องเดินได้เงียบเลยทีเดียว



หน้าตาของตัวคอมเพรสเซอร์ มีกำลังทำความเย็นขนาด 17,881.95 BTU ถือว่ามีขนาดกะทัดรัด และเล็กลงเมื่อเทียบกับคอมเพรสเซอร์แบบธรรมดาที่ใช้กันในอดีต

คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้นี้ตัวมอเตอร์ต้นกำลังที่อยู่ภายในคอมเพรสเซอร์ เป็นมอเตอร์ที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส 380V ซึ่งจะถูกนำมาใช้ร่วมกับชุดควบคุมความถี่ในระบบอินเวอร์เตอร์

เมื่อเปิดออกมา ผมพยายามหาว่าตัวนี้เป็นคอมเพรสเซอร์ที่ทางSAMSUNG ผลิตเองหรือไปนำเอาคอมเพรสเซอร์ยี่ห้ออื่นมาใช้ ล้วงมือเข้าไปลูบๆดูข้างหลังคอมเพรสเซอร์ก็สัมผัสเจอสติ๊กเกอร์อยู่ข้างในผมเลยไปหาเอากระจกเงาอันเล็กๆมาส่องดูสติ๊กเกอร์ที่อยู่ด้านในปรากฏว่าประทับตราของ SAMSUNG








 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:16:53 น.
Counter : 14116 Pageviews.  

1  2  3  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.