สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 
รีวิว...เครื่องปรับอากาศ SAMSUNG Maldives Inverter ตอนที่ 3

มาถึงรีวิวตอนที่ 3 แล้ว ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นตอนสุดท้ายท้ายสุดของรีวิว...เครื่องปรับอากาศ Inverter SAMSUNG รุ่น Maldives Inverter (13000 BTU) ซึ่งตอนที่ 3 นี้ ผมจะรีวิวในส่วนของขั้นตอนและวิธีการติดตั้ง



ถ้าใครที่เพิ่งเปิดมาเจอ หน้านี้ซึ่งเป็นรีวิวตอนที่ 3 (ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 และ 2) แนะนำว่าให้กลับไปอ่านที่รีวิวตอนที่ 1 และ 2 ก่อนนะครับ 

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าอ่านรีวิวตอนที่ 1 และ 2 ก็คลิ๊กเข้าไปตามลิงค์ข้างล่างเลย

Link : รีวิวตอนที่ 1

Link : รีวิวตอนที่ 2



อันที่จริงในส่วนของห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ คุณพ่อผมมีแผนที่จะทาสีปรับปรุงใหม่ เพราะตัวบ้านหลังนี้ก็มีอายุกว่า 40 ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทาสีเพราะข้าวของก็ยังไม่ได้เคลื่อนย้าย ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะทาเสร็จ และผมก็ไม่แน่ใจว่าตอนที่ทาสีเสร็จแล้วจะว่างเข้ามาที่บ้านสวนอีกเมื่อไหร่ ไหนๆช่วงนี้ยังว่างก็เลยเข้ามาติดแอร์ไว้ให้ใช้ไปก่อนในช่วงหน้าร้อนนี้ จะทาสีเมื่อไหร่ ค่อยให้ไปหาพลาสติกมาหุ้มเอาก็แล้วกัน



ขั้นแรกเตรียมพื้นที่ นำแผ่นยึดคอยล์เย็นมาทำการวัดระดับ แล้วกำหนดรูที่จะเจายึด






ใส่พุกพลาสติก แล้วยึดแผ่นยึดคอยล์เย็นเข้ากับผนังให้มั่นคงแข็งแรง ทำการตรวจเช็คระดับความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้การไหลของน้ำทิ้งทำได้สะดวก






เจาะรูสำหรับวิ่งท่อออกไปนอกตัวบ้าน บริเวณมุมห้อง ซึ่งในการติดตั้งครั้งนี้ไม่สามารถเจาะทะลุออกไปหลังคอยล์เย็นได้ เพราะเป็นฝั่งของอีกห้องหนึ่ง งานนี้ไม่ได้นำเอาหัวเจาะ Hole Saw เจาะปูนมาด้วย เลยต้องใช้ดอกส่วนขนาดโตสุดเท่าที่พาติดมาด้วยในกล่องสว่าน เจาะนำเป็นรูละทุออกไป แล้วใช้สกัดขยายแต่งรูให้มีขนาดเหมาะสม กว่าจะได้รูนี้ใช้พละกำลังเยอะพอสมควร เพราะผนังปูน เป็นผนังเก่าที่ก่อมาร่วมกว่า 40 ปีแล้ว ปูนและอิฐสมัยก่อนแข็งมากๆ







ดอกสว่านโตสุดเท่าที่นำมาด้วย ในการติดตั้งครั้งนี้






จัดการเอาคอยล์เย็นมาตัดช่องสำหรับเดินท่ออก ตามรอยบากที่มีมาให้






จัดการถอดถาดน้ำทิ้งออกมา เพื่อย้ายด้านของท่อน้ำทิ้ง แต่ก่อนจะถอดถาดน้ำทิ้งต้องไม่ลืม ปลดมอเตอร์สวิงตัวเล็กๆออกเสียก่อน






แล้วจึงถอดถาดน้ำทิ้งออกมาจากฐานของเครื่อง รุ่นนี้จุดต่อของถาดน้ำทึ้งกับท่อออกแบบมาให้ยึดติดด้วยสกรูหนึ่งตัว






ทำการย้ายข้าง ท่อน้ำทิ้งจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง ข้างที่ไม่ใช้ก็เอาจุกยางที่ให้มาเสียบกลับเข้าไปเหมือนเดิม...สังเกตดูที่ถาดน้ำทิ้งทางผู้ผลิตเขียนตัวเลขพร้อมรูปหัวใจมาให้ด้วย ไม่รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ในขั้นตอนการประกอบหรือแอบส่งความรักมาให้ใครกันแน่???






เมื่อย้ายข้างท่อน้ำทิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการประกอบเข้าที่เดิมให้ลงล็อค ติดมอเตอร์บานสวิงกลับเข้าที่






จัดการต่อสายไฟในส่วนที่จะจ่ายไปให้ชุดคอยล์ร้อน 
N(1) คือสาย Neutral - 1 คือสาย Line - 2 คือสาย Control






จัดสายไฟเข้า สายไฟออก ให้แนบไปกับชุดท่อ เตรียมที่จะยกคอยล์เย็นขึ้นไปแขวน






ค่อยๆทำการคลี่ม้วนท่อทองแดงออกทั้งสองม้วน






ยกคอยล์เย็นขึ้นไปแขวนบนแผ่นรองรับที่ได้เตรียมไว้แล้วแต่แรก จัดการคลายแฟร์นัทของท่อทองแดงที่คอยล์เย็นเพื่อปล่อยแก๊สไนโตรเจนที่ทางผู้ผลิตอัดไว้ในให้ในชุดคอยล์เย็น 
ปล. ในคู่มือ ผู้ผลิตได้ระบุมา ประมาณว่า...ในขณะที่คลายข้อต่อของท่อที่ชุดคอยล์เย็น หากไม่มีแรงดันของก๊าซเฉื่อย(ไนโตรเจน)พุงออกมา ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าชุดคอยล์เย็นมีรอยรั่ว ไม่ควรดำเนินการติดตั้งต่อ และควรติดต่อศูนย์บริการใกล้บ้านทันที 

เมื่อปล่อยแรงดันในคอยล์เย็นออกหมดแล้ว จัดการถอดแฟร์นัทมาสวมที่ปลายท่ออีกด้าน แล้วทำการบานท่อทองแดงทั้งท่อใหญ่และท่อเล็ก ท่อทองแดงที่มากับชุดเครื่องปรับอากาศเป็นท่อแบบหนา ดังนั้นการบานท่อโดยการบานชั้นเดียวก็ถือว่าเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการบานสองชั้น
เมื่อบานท่อเสร็จก็ทำการขันแฟร์นัทเข้าให้แน่น 
แล้วทำการจัดแนวท่อสารทำความเย็น ท่อน้ำทิ้ง และสายไฟ ให้อยู่ในแนวการเดินท่อที่กำหนด






เจาะกำแพงส่วนนอกบ้าน ยึดขาแขวนคอยล์ร้อนให้มั่นคง แน่นหนา แล้วทำการยกคอยล์ร้อนขึ้นไปวางบนขาแขวน 

…ขั้นตอนนี้ยากลำบากนิดหน่อย เพราะทำงานคนเดียว จังหวะที่ขึ้นไปวัดระดับและเจาะรูปีนบันไดขึ้นไป เพราะจุดที่จะแขวนกะจะแขวนให้สูงเหนือชุดคอยล์ร้อนของแอร์เครื่องที่มีอยู่เดิม ซึ่งถ้ายืนบนพื้นดินแอร์เครื่องเดิมพัดลมจะพัดมาในระดับศีรษะพอดี เมื่อแอร์เครื่องใหม่มาติดในระดับสูงกว่าเดิม คิดดูครับทำงานคนเดียวแถมไปยึดขาแขวนซะสูง ลองนึกภาพดู ผมสูง 180 ชูมือขึ้นสุดยังแตะไม่ถึงขาแขวนคอยล์ร้อนเลย เอาไงดี...ถ้าอุ้มคอยล์ร้อนคนเดียวปีนขึ้นบันใด มีหวังได้หล่นทั้งคนทั้งแอร์แน่ๆ ตอนนั้นอยู่ที่บ้านสวนคนเดียวด้วยทำยังไงดี คิดอยู่สักพัก บังเอิญพี่คนงานในสวนก็ขับรถทุกปุ๋ยมาเก็บที่โกดังข้างบ้านพอดี เลยเรียกให้มาช่วยยกชุดคอนเด็นซิ่งขึ้นแท่น…
เมื่อยกตั้งได้แล้วก็จัดการยึดชุดคอยล์ร้อนด้วยสกรูที่ขาทั้งทั้งสี่ ให้เรียบร้อย






เมื่อจัดการในส่วนของแฟร์นัทด้านคอยล์เย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาจัดการใส่แฟร์นัทและบานท่อทองแดงในส่วนของด้านที่จะต่อเข้าคอยล์ร้อน 
เมื่อขันต่อแฟร์นัทในส่วนของคอยล์ร้อนแล้ว จัดการเปิดวาล์วด้านท่อทางอัด(ท่อเล็ก) เพื่อปล่อยแรงดันเข้าสู่ระบบส่วนหนึ่ง แล้วปิดวาล์วกลับเหมือนเดิม ให้น้ำยาส่วนหนึ่งเดินทางจาดท่อไปยังคอยล์เย็น แล้วเอาน้ำฟองสบู่มาเทสรั่วตามจุดต่อที่ขันแฟร์นัทไว้เมื่อครู่ ถ้าไม่พบรอยรั่วก็ปล่อยแรงดันส่วนนั้นทิ้งไปเพื่อเตรียมทำสุญญากาศในระบบ






ในระหว่างนั้นก็เก็บงานในส่วนระบบไฟฟ้าให้เรียบร้อย ต่อสายไฟเข้าตามขั้วที่กำหนดให้ถูกต้อง แล้วจึงทำการพันท่อด้วยเทปไวนิลเก็บท่อและสายไฟให้เรียบร้อย ติดตั้งตัวแคลมป์สำหรับยึดท่อ แล้วเอาปูนมาอุดรูที่ผนังให้เรียบร้อย
ผมเลือกใช้ลวดอลูมิเนียมแบนมาเป็นตัวยึดท่อ และเดินท่อลอยบนผนังโดยไม่ต้องใส่รางตรอบท่อ เพราะบ้านสวนของคุณพ่อผม เป็นบ้านเก่า ไม่ซีเรียสเรื่องความสวยงามมากมาย เดินท่อโดยการพันเทปไวนิลให้เรียบร้อยแล้วยึดลอยบนผนังก็เพียงพอแล้ว






เก็บงานในส่วนของท่อด้านในห้องให้เรียบร้อย แล้วต่อเกจทำระบบให้เป็นสุญญากาศ (Vacuum) ประมาณ 15 – 20 นาที (เวลาตามที่ผู้ผลิตได้ระบบไว้ในคู่มือ) เมื่อทำสุญญากาศเสร็จสิ้นแล้ว จึงทำการเปิดวาล์วน้ำยาท่อทางอัดและท่อทางดูดให้สุด คล้องแคลมป์มิเตอร์วัดกระแส ที่สายไฟเข้าคอยล์ร้อนเพื่อวัดกระแสไฟฟ้า แล้วเริ่มเดินเครื่อง







ส่วนเรื่องแรงดันสารทำความเย็นขณะเดินเครื่อง ในกรณีดังกล่าว เป็นเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งระดับแรงดันน้ำยามีการแปรผันเปลี่ยนแปลงตามรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์และอุณหภูมิสภาพแวดล้อม เราจะใช้วิธีการสังเกต แรงดันท่อทางดูดเหมือนที่ทำกันในสารทำความเย็น R-22 ดูจะไม่ได้ผล เพราะแรงดันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขณะที่เครื่องทำงาน ดังนั้นสารทำความเย็น R-410A ในการเติมสารทำความเย็น จะใช้วิธีการคำนวณน้ำหนักตามความยาวท่อ
ซึ่งการติดตั้งครั้งนี้ใช้ท่อความยาว 4 เมตร พอดีกับที่บริษัทให้มา ในชุดคอยล์ร้อนทางผู้ผลิตได้อัดสารทำความเย็นมาให้ในปริมาณที่พอดีแล้ว (และอาจเหลือมาให้อีกนิดหน่อยด้วยซ้ำ) กรณีนี้ถือว่าปริมาณสารทำความเย็นในระบบมีอยู่เพียงพอกับความต้องการ 
ระดับค่าแรงดันมาตรฐานที่กำหนด สำหรับค่าที่วัดได้จากแมนิโฟลด์เกจ ของสารทำความเย็น R-410A 
ด้านแรงดันต่ำ 0.15-0.25 MPa(1.5-2.5 กก/ตร.ซม, 21-36 PSIG)
ด้านแรงดันสูง 1.37-1.57 MPa(14-16 กก/ตร.ซม, 199-228 PSIG)



เมื่อเริ่มเดินเครื่อง หลักๆที่ควรจะสังเกตและบันทึกข้อมูล คืออัตราการใช้กระแสไฟฟ้าของตัวเครื่อง






แรกเริ่มเดินเครื่อง ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 23 องศา ในขณะที่เครื่องทำงานเต็มกำลัง อัตราการใช้กระแสไฟฟ้าที่วัดได้ อยู่ที่ 4.3 A. เสียงของเครื่องในขณะที่เร่งรอบเพื่อเดินเครื่องเต็มกำลัง เครื่องเดินได้นิ่งและค่อนข้างเงียบ 

ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลบนป้ายแสดงรายละเอียดของตัวเครื่อง (Name Plate) ระบุอัตราการใช้กระแสไฟที่ 4.8 A. (วัดจริงได้ 4.3 A.)






เมื่อเดินเครื่องไปสักพักอัตรากระแสก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ 3.7 A.






และลดลงมาที่ 3.2 A.






กระแสไฟฟ้ายังคงลดลงมาจนถึงระดับ 2.8 A. และเสียงของคอมเพรสเซอร์ในตอนนี้ถือว่าเงียบมาก ได้ยินเพียงแค่เสียงพัดลมระบายความร้อน แทบจะไม่ได้ยินเสียงคอมเพรสเซอร์ทำงานเลย ถือว่าทำงานได้เงียบ






และกระแสไฟฟ้าก็คงลดลงมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ 1.8 A. จากนั้นผมก็ลงมาดูอุณหภูมิในห้อง






ในขณะเครื่องทำงาน เกิดเป็นหยดน้ำเกาะที่วาล์วทั้งสอง ก็แสดงว่าเครื่องทำงานตามวัฏจักรอย่างสมบูรณ์






เดินเข้ามาดูภายในห้อง อุณหภูมิในห้องเย็นสบาย 
ระดับความเร็วพัดลมที่ความเร็วสูงสุดเสียงก็ไม่ได้ดังมาก ลมแรงใช้ได้เลย ยิ่งถ้าปรับเป็นความเร็วพัดลมแบบ Auto ในช่วงที่ห้องเย็นแล้ว พัดลมเดินในระดับความเร็วต่ำสุด ถือว่าเสียงเงียบมาก






ปรับตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 23 องศาเซลเซียส






จัดการถอดสายเกจ ถอดแคลมป์มิเตอร์ แล้วปิดฝาครอบด้านข้างของตัวเครื่อง เก็บข้าวของให้เรียบร้อย ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนในการติดตั้ง
ตัวล่างเป็นแอร์ของเดิมที่ติดไว้อีกห้องหนึ่ง ยี่ห้อ Mitsubishi ติดตั้งไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว






ส่วนของชุดรีโมทคอนโทรล ใบรับประกัน และคู่มือ






รีโมทคอนโทรล มีขนาดเล็กกะทัดรัด ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆมากมาย โดยรวมแล้ว Mode ฟังก์ชั่นพื้นฐานของแอร์เครื่องนี้ก็จะมี 
อัตโนมัติ (Auto) - ทำความเย็น (Cool) - ขจัดความชื้น (Dry) - พัดลม (Fan) และ ทำความร้อน (Heat)
ลองเอารีโมทคอนโทรล ของ Mitsubishi มาเทียบกันให้ดู






ภายในคู่มือที่แนบมากับเครื่อง ระบุรายละเอียดข้อมูลในการใช้งานและการติดตั้งมาให้อย่างละเอียด






บอกแม้กระทั้งค่าทอร์คที่ใช้ในการขันแฟร์นัท






หรือแม้แต่ขนาดในการบานท่อทองแดง คู่มือเล่มนี้ก็บอกรายละเอียดมาให้ครบถ้วน






มีภาพประกอบในขั้นตอนการติดตั้ง การตัดท่อ ลักษณะการบานท่อ การขันแฟร์นัท ฯลฯ และมีคำอธิบายมาให้อย่างละเอียด...อ่านคู่มือไปพลางก็แอบอมยิ้มไปด้วย ข้อมูลที่ให้มาละเอียดดีมาก จนทำให้นึกย้อนไปถึงตำราเรียนวิชาเครื่องทำความเย็นสมัยก่อน




ข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องปรับอากาศตัวนี้ ที่ทางผู้ผลิตระบุไว้

ประสิทธิภาพ

ความจุ (การทำความเย็น, Btu/ชม.) Btu/ชม. 11300
ความจุ (การทำความเย็น, Kcal/ชม.) Kcal/ชม. 2847
ความจุ (การทำความเย็น, kW) Kw 3.31
ความจุ (การทำความเย็น, ต่ำสุด-สูงสุด) (ต่ำสุด~สูงสุด) Kw: 0.97 - 4 Btu/hr: 3310 - 13648 Kcal/hr: 834 - 3439
ความจุ (การทำความร้อน, Btu/ชม.) Btu/ชม. N/A
ความจุ (การทำความร้อน, Kcal/ชม.) Kcal/ชม. N/A
ความจุ (การทำความร้อน, kW) Kw N/A
ความจุ (การทำความร้อน, ต่ำสุด-สูงสุด) (ต่ำสุด~สูงสุด) N/A

ประหยัดพลังงาน

EER (Cooling, Btu/W) 11.6
EER (Cooling, W/W) 3.41
COP (Heating, W/W) N/A
การระบายความชื้น (ลิตร/ชม.) 1.4 
การหมุนเวียนอากาศ (สูงสุด, ม.3/นาที) ม.3/นาที 9
ระดับเสียงรบกวน Indoor High/Low 37 / 21 - Outdoor High 46

ข้อมูลทางไฟฟ้า

แหล่งจ่ายไฟ V/Hz/Phase 220 / 50 / 1
ประหยัดพลังงาน ความสิ้นเปลืองกำลังไฟ (การทำความเย็น) 970
ความสิ้นเปลืองกำลังไฟ (การทำความร้อน) N/A
กระแสไฟที่ใช้ทำงาน (การทำความเย็น) 4.3
กระแสไฟที่ใช้ทำงาน (การทำความร้อน) N/A

ข้อกำหนดทางกายภาพ

ขนาด Net Dimension (WxHxD, Indoor) 820 x 285 x 205
Net Dimension (WxHxD, Outdoor) 720 x 548 x 265
น้ำหนัก Net Weight (Outdoor) 26.7
Shipping Weight (Indoor) 10
Shipping Weight (Outdoor) 29.4
Net Weight (Indoor) 8.4

ข้อมูลทางเทคนิค

ประเภทน้ำยาทำความเย็น R410A 
วาล์ว SVC Liquid (ODxL) Φ6.35mm
Gas (ODxL) Φ9.52mm
ความยาวท่อ Piping Length (Max) 15
ความสูงท่อ Piping Height (Max) 7

คุณสมบัติโดยทั่วไป

- การฟอกอากาศ

S-Plasma ion Yes
บานปิดหน้ากากอัตโนมัติ N/A
ตัวกรอง HD เต็มรูปแบบ 80
ตัวกรอง DNA N/A
ตัวกรองดูดกลิ่น N/A
ตัวกรอง Catechin N/A
การป้องกันภูมิแพ้ N/A
การเคลือบป้องกันแบคทีเรีย Yes
ทำความสะอาดอัตโนมัติ (ทำความสะอาดตัวเอง) Yes

- การไหลของอากาศ

ใบพัดคู่แบบกว้าง N/A
ใบพัดเดี่ยวแบบดีที่สุด Yes
ขั้นตอนการควบคุมการไหลของอากาศ (ทำความเย็น/พัดลม) 4
การควบคุมทิศทางลม (บน/ล่าง) Auto
การควบคุมทิศทางลม (ซ้าย/ขวา) Manual
อากาศธรรมชาติ Yes

- โหมดการทำงาน

เย็นสบาย N/A
หลับสบาย Yes
ประหยัดพลังงาน Yes
โหมดเทอร์โบ Yes
การลดความชื้น Yes
โหมดอัตโนมัติ Yes
โหมดพัดลม Yes
เงียบ Yes

- ความสะดวกสบาย

ตัวแสดงการทำความสะอาดตัวกรอง N/A
แสดงอุณหภูมิภายในห้อง N/A
รีโมตคอนโทรล Yes
เปิด/ปิดจอแสดงผล N/A
เปิด/ปิดเสียงบี๊พ N/A
ตัวตั้งเวลาจริง N/A
ตัวตั้งเวลา 24 ชม. Yes
รีสตาร์ทอัตโนมัติ Yes
เปลี่ยนอัตโนมัติ N/A

- ชุดอุปกรณ์นอกอาคาร

ประเภทคอมเพรสเซอร์ BLDC
ครีบกันสนิม Yes
คอนเดนเซอร์แบบหลายช่อง Yes

- อุณหภูมิ

ทำความเย็น 16 - 46
ทำความร้อน N/A





รีวิวชุดนี้ก็ต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าคงได้เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ไม่มากก็น้อย 
ขอขอบคุณที่เข้ามาติดตามรับชม...สวัสดีครับ



Create Date : 28 พฤษภาคม 2556
Last Update : 9 มิถุนายน 2556 3:37:11 น. 1 comments
Counter : 22627 Pageviews.

 
Wow! This can be one particular of the most useful blogs We have ever arrive across on this subject. Basically Excellent. I'm also a specialist in this topic therefore I can understand your effort.
Louis Vuitton Vente //porsector.com/acer/hko.cfm


โดย: Louis Vuitton Vente IP: 94.23.252.21 วันที่: 21 สิงหาคม 2557 เวลา:6:31:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.