ทะเลทุกข์...กว้างไกล กลับใจ......คือฟากฝั่ง

หลักการภาวนา



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ วัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐




เอานั่ง นั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือเบื้องขวาทับมือเบื้องซ้าย ตั้งกายให้ตรง หลับตา กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก สังเกตลมเข้าลมออกที่ปลายจมูก ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ พวกเรามันคนใหม่ยังไม่เคย ก็อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ อยากจะปฏิบัติ สนใจในธรรมะที่เราได้ศึกษาตามตำรับตำราเราก็จะพอรู้พอเข้าใจ แต่เราจะนำมาปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร เราก็ยังหาเข้าใจในหลักของการปฏิบัติไม่ ที่มีความสนใจนี่ก็ดีแล้ว เราจะมาศึกษาเฉยๆ ถามเฉยๆ ถามไปแล้วมันก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำ เมื่อไปทำมันก็จะสงสัย มันก็เลยหาประโยชน์ไม่ได้ ก็จะเกิดความสงสัยในตัวเอง มันก็จะทำอะไรไม่ได้อีก สู้เรามาปฏิบัติไปเลยก็ฟังไปเลย ทำความเข้าใจใหม่ ก็คือ กำหนดลมหายใจเข้าออก พุทเข้าไป โธออกมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือเราเอาคำเดียว อย่าเอามาก อย่าไปกังวล อย่าไปคิดห่วงคนนั้นคนนี้ เราวางมันไว้ก่อน เอาเฉพาะพุทโธพุทโธ กับลมเข้าลมออกเสียก่อน พุทเข้าไป โธออกมา พุทโธ พุทโธ นี่สำหรับคนใหม่เราก็กำหนดเพียงแค่นั้นแหละ ทำเพียงแค่นั้นแหละ ไม่ได้เอาอะไรมาก แล้วก็เพื่ออะไร ก็เพื่อว่าจะให้ใจเราสงบนั่นล่ะ ที่เราว่า เราทำก็เพื่อความสงบของใจ มันก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ประสงค์อย่างอื่น แล้วเราก็กำหนดเข้าไปที่ทรวงอก ตามตัวรู้เข้าไปที่ทรวงอก อย่าส่งออกไปข้างนอกอย่าให้มันออกไปเที่ยวตามทุ่งไร่ทุ่งนา เที่ยวตามป่าตามเขาตามตลาด ถนนหนทาง ตึกราม บ้านช่อง ก็ไม่ต้องให้มันไป ให้มันเข้าไปเที่ยวในทรวงอกนั่นน่ะ เข้าไปอยู่ท่ามกลางทรวงอก ของดีมันอยู่ตรงนั้นล่ะ สวรรค์มันก็อยู่ในอกนรกมันก็อยู่ในใจนั่นล่ะเข้าไปดูกันบ้าง สวรรค์น่ะมันเป็นอย่างไร มันมีปราสาทกี่หลังที่มันตั้งอยู่ในหัวใจเราก็ควรจะไปดูสิ โบราณเขาว่าเอาไว้ นรกมันอยู่ในใจ ใจของเรามันมี กี่หม้อ แต่ละหม้อมันใหญ่ขนาดไหน มันมีอะไรอยู่ในหม้อนรก ก็เข้าไปดูบ้างสิ ก็ให้โบราณเขาว่าอย่างเดียว แต่เราไม่ได้เข้าไปดู ความเป็นจริงจะมีแค่ไหนมันจะจริงเหมือนอย่างนักปราชญ์โบราณว่าไหม เราก็ต้องทดสอบในตัวเอง จะทดสอบแต่ตำรา ค้นหาแต่ตำรา มันก็ได้แต่ตำรานั่นล่ะ ได้รู้ก็แต่ตามตำรา เขาก็ว่าไว้ตามเหตุตามผลของตำรา เราก็จะเข้าใจแต่หนังสือเห็นเฉพาะแต่หนังสือ แต่ว่าตัวจริง ๆ มันจะเป็นยังไง มันจะมีจริงรึเปล่านรกมันมีจริงไหม สวรรค์มันมีจริงไหม หรือมันมีแต่หนังสือว่า หรือมันมีแต่ตำราว่าที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวเอาไว้ มันจะเป็นจริงไหมสวรรค์มันอยู่ตรงไหน นรกมันอยู่ตรงไหน สวรรค์มันก็อยู่ที่อกนั่น นรกมันก็อยู่ที่ใจก็นั่นล่ะ จึงอยากจะให้กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกที่ปลายจมูกเสียก่อนในเบื้องต้น เพื่อว่าจะให้ใจของเรามันมีความสงบ เมื่อมันสงบแล้ว แล้วมันก็จึงจะรู้ว่าสวรรค์มันอยู่ตรงนี้จริง นรกมันอยู่ตรงนี้จริง เราก็จะได้รู้ เราก็จะได้เห็น เราก็จะได้เข้าใจ พอเรามารู้มาเห็นมาเข้าใจ เราก็จะได้เชื่อสิ เชื่อตำราของโบราณท่านว่าไว้ มันจริงที่โบราณปู่ย่าตาทวดของเราว่าเอาไว้ เราก็จะได้รู้ตรงนั้นล่ะ เราก็จะได้เข้าใจตรงนั้น จะรับความเป็นจริงของโบราณท่านว่าเอาไว้ เพราะเรามันรู้จริงเห็นจริง ที่จะรู้ก็เพราะอะไร ก็เพราะความสงบ
เราก็ทำความสงบของจิตเสียก่อน อย่าไปอยาก ให้ระวังความอยากอยากอะไรก็ตาม อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดีอยากอะไรก็ตาม อย่าไปใช้ความอยาก ถ้าอยากแล้วมันจะไม่สงบ เรามีแต่ลมเข้าลมออก พุทเข้าไป โธออกมา กำหนดเข้าไปที่ทรวงอกนั่น เมื่อมันสงบแล้วมันก็จะลงไปโน่นล่ะ มันไม่ได้สงบอยู่ข้างนอกหรอก มันสงบอยู่ภายใน ถึงเราจะว่าเบื้องต้นอยู่นอกนอกเสียก่อน คือว่าที่ปลายจมูกฐานที่ตั้งของความสงบมันอยู่ภายใน ว่ากับลม เพราะลมมันออกที่ปลายจมูก มันเข้าตรงนั้น แล้วมันก็ออกตรงนั้น เราก็ว่าตรงนี้เสียก่อน พอเราว่าพอเรานึก พอเรากำหนด เวลามันสงบน่ะ มันก็ไม่ใช่จะมาสงบที่ปลายจมูกไม่ใช่ว่ามันจะมาอยู่ที่ปลายจมูก เวลามันสงบน่ะ มันก็รวมเข้าไปข้างในสงบเข้าไปข้างในทรวงอก เวลามันจะสงบมันก็เคลิ้มเหมือนกับเราจะหลับเหมือนง่วง นี่คนใหม่อย่าไปคิดว่ามันจะหลับ อย่าไปคิดว่ามันง่วง เราก็สังเกตไปก่อน ถ้าจะหลับก็ให้มันหลับดู ถ้าง่วงก็ให้มันง่วงดู ก็สังเกตเอา ถ้ามันยังรู้แสดงว่ามันยังไม่หลับ ถ้ามันหลับจริง ๆ มันไม่รู้หรอก เราอย่าไปเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นจิตของเรามันจะถอน เราพยายามรักษาอาการที่มันเป็นขึ้นมา โดยลักษณะมันวูบเคลิ้ม บางทีตัวเราก็จะเบาก็เรียกว่ากายมันก็เบา ใจมันก็เบา ลักษณะมันบอก ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็อย่าไปกลัวมัน คอยสังเกต ให้มันเป็นไปมันจะสงบโดยวิธีไหนเราก็ต้องดูเสียก่อน

แต่ครั้งแรกนี้เราไม่รู้หรอกว่าความสงบมันเป็นอย่างไร ถึงมันสงบอยู่ก็ไม่รู้ เพราะเราไม่เคย เพราะเราไม่เคยเห็นมา เพราะยังไม่เป็นมันก็ต้องสงสัย ถ้ามันสงบ แต่ถึงมันไม่สงบ มันก็มีส่วนเบามีส่วนสบาย ความคิดมันก็ลดลง มันก็รู้เท่าเอาทันในตัวมัน แก้ในตัวมันนั้นล่ะ ก็แก้ความคิด มันก็จะแก้เข้ามาหาพุทโธนั่นล่ะ ถ้ามัวแต่ไปคิดอยู่เดี๋ยวมันจะไม่ได้ว่าพุทโธ แก้ความคิดนั่นแหละ จิตมันก็จึงจะได้มาอยู่กับพุทโธ คือ พระพุทธเจ้านั้นเราเรียกว่าพระคุณของพระพุทธเจ้า คือมีมหากรุณาธิคุณ วิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ นี่คือพระมหากรุณาธิคุณ คือ พระองค์มีความสงสารสัตว์โลกอันใหญ่หลวง กระทั่งถึงพวกเรานั่นล่ะ อันนี้เป็นมหากรุณาของท่าน เราจึงได้พากันมาประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านวางคำสอนเอาไว้ให้ นี้ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ พระองค์ผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาภายในดวงจิตของพระองค์ได้ ยังความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น นั่นเรียกพระวิสุทธิคุณ พระองค์ปราศจากมลทินทั้งหมด ไม่มีกิเลสน้อยใหญ่เจือปนอยู่ในพระองค์ท่าน ฉะนั้นจึงได้เรียกว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ก็พร้อมไปด้วยองค์สาม

เพราะฉะนั้นเราควรยึดเอาคุณของพระพุทธเจ้า คือ พุทโธ เอาเฉพาะพุทโธนั่นล่ะ พอได้พุทโธ ธรรมโมมันก็จะอยู่ด้วยกันนั่นล่ะ คุณของพระธรรม ก็เมื่อได้แล้วก็รักษาเราไม่ให้ตกไปในสถานที่ชั่ว พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณพระมหากรุณาธิคุณ ก็เป็นพระธรรมทั้งนั้นล่ะ หมายถึงว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในใจของพระองค์นั่นแหละ ก็จึงได้เรียกว่า พระพุทธเจ้า ถ้าธรรมเหล่านี้ไม่เกิดก็เรียกพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็รวมแล้วทั้งสามพระองค์ก็อยู่ด้วยกันคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ใจตัวเดียวนั้นแหละ พอเรารู้ธรรมะแล้ว เราก็ปฏิบัติตามธรรมะ การปฏิบัติตามธรรมะนั่นแหละเรียกว่าพระสงฆ์ คุณทั้งสามจึงได้อยู่ในหัวใจอันเดียว เมื่อเราได้พุทโธกับใจ ใจกับพุทโธแล้ว ก็เหมือนกับว่าเราได้หมดทั้งสามพระองค์

อันนี้เราไม่ต้องสงสัย ถ้าสงสัยจิตมันก็จะกังวล แล้วจะหาความสงบไม่ได้ จะมาว่าแต่พระพุทธเจ้า แล้วพระธรรมล่ะ ว่าพระธรรมก็แล้วพระสงฆ์ล่ะ จิตมันก็จะไปกังวลตามนั้น มันก็เลยกระโดดไปกระโดดมาเลยหาจุดเด่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเอาพุทโธอันเดียวกำหนดเข้าไปภายในเท่านั้น กำหนดไปเลย เพ่งไปเลย ไม่ต้องไปสงสัย มันเสียเวลา แทนที่จะได้มันก็ไม่ได้ มัวแต่สงสัยมันจะดีมันก็ไม่ดีมีแต่สงสัยมันจะจริงหรือไม่จริง แท้หรือไม่แท้ มันก็เลยไม่ได้ ทีนี้เราไม่ต้องสงสัย เอาแต่พุทโธคำเดียวเพ่งเข้าไปในทรวงอกนั่นล่ะ อย่างอื่นก็ช่างมันไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปอยากรู้อะไรมาก รู้มากก็ลำบากอีก รู้อันเดียวแล้วจะเป็นยังไง มันจะมีอะไรเกิดขึ้นไหมก็ให้มันได้รู้ได้เข้าใจตัวเองบ้าง เราพยายามกำหนดเอาไว้ แล้วก็มันเกิดของมันเอง มันรู้ของมันเอง เห็นของมันเอง มันเป็นของมันเอง ดีก็อยู่กับมัน ชั่วก็อยู่กับมัน มันก็จะแก้ตัวของมันเอง พอจับได้แล้ว พอรู้ว่าจิตของเราเป็นของที่มีคุณค่า เป็นของประเสริฐ มันก็จะได้แก้ตัวมัน เราจึงจะได้รู้ว่าดีก็อยู่กับเรา ชั่วก็อยู่กับเรา อยู่กับตัวคนทุกคนนั่นล่ะ ดีก็ดีของเขา ชั่วก็ชั่วของเขา ดีของเรา ชั่วของเรา มันเอามาใส่กันไม่ได้

ทีนี้เราก็จะได้แก้เอา คนอื่นเขาไม่แก้ก็เป็นเรื่องของเขาเพราะเขาไม่เห็น เขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ ก็ถือว่ามันเป็นเรื่องของเขา ก็เรื่องของเราน่ะ เราก็จะทำของเรา เราก็จะแก้ตัวเรานี่ เราไม่ใช่ว่าจะแก้คนอื่น เราจะทำให้ตัวเราสงบนี่ เราไม่ใช่จะทำให้คนอื่นสงบ เราจะทำเพื่อเราสุข เราไม่ได้ทำเพื่อให้คนอื่นเป็นสุข มันเป็นเรื่องของตัวเองทั้งสิ้นน่ะ แก้ปัญหาเอา เข้าใจเอา มันอยู่ในนี้หมดล่ะ อย่าไปสงสัย มันสงบแล้วจะมีอะไรก็ดูเราสิ มันจะมาหลอกมาล้อมาให้เรารู้เราเห็นให้เราดิบเราดี ยังไงเราก็รู้เพราะมันเป็นเรื่องใจ เป็นเรื่องของตัวเอง แก้ปัญหาเอาให้มันสงบ ถ้ามันสงบแล้วมันไม่ได้มีอะไรหรอกเรื่องเจ็บเรื่องปวดมันไม่มีหรอก มันมีแต่เบาตนเบาตัว เบากายเบาใจ โล่งอกโล่งใจ สมองก็ปลอดโปร่ง มันไม่ทื่อ มันไม่หนัก เพราะมันคลายอารมณ์ออกจากตัวมันแล้ว อารมณ์ที่มันรบกวน ที่มันวุ่นวาย มันระงับได้แล้ว มันคลายได้แล้ว มันก็เบาสิ มันก็โล่งสิ มันก็ปลอดโปร่ง ก็โดยลักษณะนี้มันก็ไม่มีใครรู้ เขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ต่อเมื่อทำไม่ได้ก็เลยไม่รู้ว่ามันจะได้อย่างไร มันจะเป็นได้อย่างไร ตัวเองก็ไม่ทำเอง ถึงทำตัวเองก็ไม่สงบอีก ก็จะไปใช้แต่ความคิด ได้เวลาแล้วก็ออกมาเท่านั้น ผลลัพธ์ที่มันจะเกิดขึ้นจากการกระทำซึ่งได้แก่ความสงบ ก็ไม่รู้อีกนั่นล่ะ ก็เลยปฏิเสธว่ามันไม่มี มันเป็นไปไม่ได้ โดยมากมันก็เป็นไปในทำนองนี้ล่ะคน ก็เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีเวลาทำ เขาก็ทำมาหากินของเขาก็เขาจะปลีกเวลาของเขามาทำก็ไม่มีอีก อันนั้นมันก็เป็นเรื่องของเขา ก็เรื่องของเราเมื่อเราได้รับทราบรู้เห็นในตัวเองแล้ว มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะปฏิบัติเอาและทำเอา ดีก็ของเราชั่วก็ของเรา นรกก็ของเราสวรรค์ก็ของเราก็แก้เอาในนั้นล่ะ ทำลายหม้อนรกเสีย นำความสงบเข้าไป เมื่อความสงบเข้าไป หม้อนรกมันก็จะดับ ไฟนรกมันจะดับ ความโมโหโทโสก็จะดับ ถ้ามันสงบ ถ้ามันไม่สงบหม้อนรกก็จะเดือดอยู่อย่างนั้น ไฟนรกก็ลุกอยู่อย่างนั้นตกลงนรกมันก็จะเผาตัวเองโดยไม่รู้ตัว

สัตว์โลกมันก็เป็นอย่างนั้นทั่วโลกว่าใครไม่ได้หรอก เราก็รู้เอาเองก็มันมีมาอย่างนั้น โทษใครไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้ารู้แล้วก็ทำเอา ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็ให้หนีเอา ปัญญาให้มันรู้เท่าเอาทันมันจะไปไหนมาไหนก็พยายามดึงมันมา ส่งมันเข้าไป มันสงบก็ปล่อยมันไปปล่อยมันข้างในอย่าปล่อยข้างนอก อย่าส่งมันออกไปข้างนอก ส่งเข้าไปท่ามกลางทรวงอก ไปดูว่าหน้าอกเรามีอะไร หม้อนรกมันมีกี่หม้อ ปราสาทในเมืองสวรรค์มีกี่ปราสาท แต่ละชั้นละชั้น สวรรค์มีหกชั้น แต่ละชั้นมันมีปราสาทกี่หลัง และก็มีเทวดาอยู่ในสวรรค์นั้นมากน้อยแค่ไหนก็ไปดูเอาสิจะไปดูด้วยตาเปล่ามันไม่เห็นหรอก เทวดาก็ไม่ใช่เอาตาไปเป็น เอาหูไปเป็นเทวดาน่ะเอาใจไปเป็นเทวดา แต่ใจนั้นประกอบด้วยบุญกุศล บุญกุศลนั้นพาใจให้ไปเป็นเทวดา ไปเสวยสุขตามกำลังของบุญกุศล ถ้าได้พอสมควรก็ดาวดึงส์ สูงไปกว่านั้นก็ยามา สูงไปกว่านั้นอีกก็ดุสิตา สูงไปกว่านั้นอีกก็นิมมานรดี สูงไปกว่านั้นอีกก็ปรนิมมิตวสวัสวดีมันก็ไปตามลำดับ ลำดับของภูมิธรรม สวรรค์ไม่ใช่ว่าจะมีชั้นเดียว คือความสุขมันไม่เหมือนกันความสุขแต่ละชั้นละชั้นมันไม่เหมือนกัน ก็คือ อำนาจของจิตเราที่มีคุณธรรมดีกว่ากัน แล้วมันก็มีผลลัพธ์ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็เหมือนกับคนที่มีเงินมากก็สร้างบ้านได้ดีสร้างได้สูงได้หลายชั้น คนที่มีเงินน้อยก็พอสร้างบ้านได้ บางคนก็ได้ชั้นเดียว บางคนก็ได้สองชั้น ก็แล้วแต่สิ ผู้มีบุญบารมีคือ มีธรรมของจิต มันก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ มันก็ส่งผลตามกำลังของความดีที่มันมีในตัวเอง เราต้องเข้าใจอย่างนี้

นี่เรียกว่าการปฏิบัติ ผลที่มันจะเกิดขึ้นเรียกว่าการศึกษาในตัวเองถึงเราจะศึกษามาในตำราก็ดี แต่เราก็มาศึกษาในตนเองอีกทีหนึ่ง เพราะของจริงมันอยู่ตรงนี้ เรียกว่าศึกษาในตัวเอง หาความจริง มันจะมีไหมจริงไหมหรือมันว่ากันเฉยๆ ตำราว่าเฉยๆ เขียนเฉยๆ เราก็จะได้รู้ จะคอยเอาแต่เวลาจะตายแล้วก็ถึงจะไป เราก็จึงจะไปอยู่เราก็จึงจะไปเห็น แต่ไม่รู้จะได้ไปหรือไม่ไป ตายแล้วก็ไม่รู้ จะไปไหนก็ไม่รู้เรื่องอีก เราก็ไม่รับรองตัวเองอีกแหละ เพราะอะไรก็เพราะเรามันยัง ไม่เห็น ที่มันไม่เห็น ก็เพราะอะไรก็เพราะมันไม่สงบ ที่มันไม่สงบเพราะอะไร ก็เพราะมันไม่ภาวนาที่มันภาวนามันก็ภาวนาไม่เป็นอีกมันก็ไม่เข้าใจอีก ปัญหามันทำความยุ่งยากให้ตัวเองมันเป็นอย่างนั้น ยากได้ดีก็อยากอยู่แต่มันจะดีอย่างไรก็ไม่รู้และปฏิบัติอย่างไรจึงจะดีขึ้น และความดีอันเกิดจากการปฏิบัติมันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ดีอย่างไรก็ไม่รู้ เวลามันเป็นมา ก็จะไปกลัวความดีอีกแหละก็ยากอยู่นะเรื่องของจิต

เพราะฉะนั้นจึงทำความเข้าใจไว้ก่อน การปฏิบัติ เพื่อมันมีอะไรเกิดขึ้นมาในการปฏิบัติเราก็จะได้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะไม่หวั่นวิตก จะได้ไม่กลัว จะได้ไม่สงสัย มันก็จะสะดวกในการปฏิบัติ จิตมันก็ไปง่าย มันก็ไม่ได้ไปทรมานยาก ไม่เหมือนเขาที่ไปทรมาน เราก็เป็นแต่เพียงมานั่งตามเวลาเราเท่านั้น แต่เราก็ยังได้รับผลคือความสงบอันเป็นที่พึงพอใจของเราเราก็จะเอาขนาดไหนอีก จะเอาดีขนาดไหน พอได้แล้วเราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ สิ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สิ ความดีก็จะเกิดไปเรื่อยๆ จนเมื่อมันเต็มเมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้นแหละที่เราจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน คือ ความพ้นทุกข์ ถ้ายังไม่เต็มก็อยู่กันเสียก่อน ขึ้นไปแล้วก็ลงมา ลงมาแล้วก็ขึ้นไปอยู่นั่นแหละกลับไปกลับมาเสียก่อน ทำใจให้ดี อย่าไปท้อแท้ ถือว่าเราทำดี ความดีมันก็มีของมันอยู่ในตัวนั่นล่ะ อย่าไปอยาก หาความสงบให้มันได้ อย่าไปกลัว มันสงบ ก็ปล่อยให้มันสงบไป อย่าไปกลัวมัน ถ้ามันจะเห็นก็ปล่อยมันเห็นไป อย่าไปกลัวมัน ก็เราอยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับพระธรรมอยู่กับพระสงฆ์ ท่านต้องรักษาเราสิ ถ้าท่านไม่รักษาเราใครจะไปรักษาถ้าเราคิดอย่างนี้มันก็ไม่มีความกลัวในตัวเอง ก็นั่งได้สบาย

นี่ละวิธีการภาวนา วิธีการปฏิบัติ ทำไปทีละเล็กละน้อยอย่างนี้ล่ะทำความเข้าใจอย่างนี้ล่ะ ต่อไปเราก็จะได้ทำได้ง่าย จะไม่ได้สงสัย จะได้สะดวกขึ้น ต่อไปนี้ก็พากันนั่ง ต่างคนต่างนั่ง ได้เวลาแล้วค่อยออก





 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:44:02 น.
Counter : 256 Pageviews.  

เทวดารักษา



พระธรรมเทศนาของ พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
แสดง ณ วัดอโศการาม จ. สมุทรปราการ
วันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สัพพะธัมมานุภาเวนะ
สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เต ติ

ต่อไปนี้ให้ตั้งใจฟังและตั้งใจปฏิบัติ เทวดาจะได้พากันมาอนุโมทนา มาช่วยรักษา และมาฟังธรรมพร้อมกับพวกเรา เหล่าเทพเจ้า และเทวดาทั้งหลายที่มีศรัทธาในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ท่านจะได้มาประคับประคองรักษาพุทธศาสนา และมารักษา ผู้ปฏิบัติธรรม การมาของเทวดาท่านมาโดยวิธีไหนและเทวดาเป็นอย่างไร มีหรือไม่ เราไม่สามารถที่จะมองเห็นเทวดาได้

เทวดาโดยสมมุติเรียกว่าสมมุติเทพ คือพระราชามหากษัตริย์ อุบัติเทพ คือเทวดาโดยอุบัติ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยบุญญาธิการของผู้มีบุญ เป็นเทพเจ้าเหล่าเทวดาอยู่ในสวรรค์นับตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมิตตะวสวดี ผู้ที่เป็นอุบัติเทพที่ได้ไปเกิดเป็นเทวดาด้วยอำนาจบุญฤทธิ์ หรือว่า บุญญาธิการ ที่เขาได้กระทำเอาไว้ ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เป็นการให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี หรือทำสิ่งที่จะเป็นสาระประโยชน์ก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมารวมตัวกันเข้าเรียกว่าบุญญาบารมีที่มาสนับสนุน และประคับประคองสนองใจของเขาผู้ที่เป็นบุญให้ไปอุบัติในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา หรือชั้นดุสิตที่สูงขึ้นไปโดยลำดับ เราหาได้เห็นไม่ แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านก็รับรอง อย่างที่สวดกันในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ดุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา เป็นสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็แสดงว่า พระพุทธเจ้าท่านก็รับรองในเรื่องสุคติสวรรค์ ว่า มีผู้ที่จะไปสู่สุคติสวรรค์ จะไปด้วยอำนาจบุญญาธิการ การให้ทาน และการรักษาศีล เท่าที่ตัวเองจะรักษาได้

ความอุดมสมบูรณ์ของสวรรค์ ท่านว่าอุดมสมบูรณ์ ไม่มีความอดอยาก ทุกข์ยาก การได้เสวยสุขสมบัติอยู่เป็นเวลาอันช้านานก็ด้วยบุญญาธิการของแต่ละท่านที่ได้ทำเอาไว้ ในสวรรค์แต่ละชั้น ๆ ก็พร้อมไปด้วยความสุขตามฐานะของแต่ละชั้น จะสุขน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับอำนาจบุญของแต่ละคนที่ทำไป เรียกว่าเทพในสรวงสวรรค์ ส่วนเทวดาในโลกมนุษย์เรียกว่า เทวธรรม และธรรมของเทวดาเหล่านี้ ได้แก่ หิริ คือ ความละอายต่อบาป และโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป อันนี้เป็นเทวธรรม คือ เป็นธรรมของเทวดา ซึ่งเราเป็นเทวดากันอยู่ทุกวันนี้ เพราะธรรม ๒ ประการนี้ เรียกว่าเทวดาในมนุษย์ที่เรารักษากันอยู่เป็นประจำ

เมื่อเรามีเทวธรรม ๒ ข้อนี้ประจำอยู่ อุบัติเทพท่านก็ยินดีปรีดาปราโมทย์กับพวกเราที่มีคุณธรรม ท่านจึงมาอนุโมทนาและรักษาพวกที่เป็นเทวดาด้วยกัน เทวดา ๒ จำพวกนี้ ต่างก็รักษาซึ่งกันและกัน คือท่านต้องมาอนุโมทนาสาธุการกับการปฏิบัติธรรมของพวกเราท่าน ทั้งหลาย
อย่างที่เรากำลังนั่งภาวนาสมาธิอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ถือว่าเราเป็นผู้มีหิริธรรม คือ ความละอายในบาป โอตตัปปะธรรม คือ ความเกรงกลัวในบาป เราจึงได้มาปฏิบัติและนำเอาธรรมะ ๒ ข้อนี้ เป็นเครื่องประดับของตัวเองอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกที่เรามีชีวิตอยู่ และพยายามรักษา กาย วาจา และจิตไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากธรรม ๒ ประการนี้ เรียกว่าเราละอายต่อบาปอยู่เสมอ กายเราก็ไม่ทำความชั่ว วาจาเราก็ไม่กล่าวชั่ว ใจเราก็ไม่คิดชั่ว เรียกว่ากายสุจริต มโนสุจริต วจีสุจริต คือ ความบริสุทธิ์พร้อมไปด้วยองค์สาม

เมื่อเรารักษาตัวของเราให้อยู่ในคุณธรรมดังที่กล่าวแล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีหิริธรรม คือมีความละอายต่อความชั่ว และพร้อมที่จะเกรงหรือกลัวตัวของตัวเองจะเป็นบาป เป็นกรรม และพยายามที่จะต้องประคับประคองรักษาตัวของตัวเอง เรียกว่ามีความกลัวอยู่เสมอในเรื่องบาป เป็นลักษณะของโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัว เราจะไม่ล่วงละเมิดในศีลของตัวเอง เมื่อเรารักษา กาย วาจา จิต พร้อมด้วยองค์สามนี้จัดได้ว่าเป็นเทวธรรม เรียกว่าเราอยู่ในธรรมของเทวดา อยู่ในความเป็นเทวดา เทวดาที่ตาเราเห็น และเทวดาที่ตาเราไม่เห็นเป็นเทวดาที่ออกจาก ร่างมนุษย์ เป็นโลกของวิญญาณ ที่เหนือกว่าโลกของเรา เป็นโลกที่เสวยคุณสมบัติคือคุณธรรมที่ส่งผลให้ไปสู่สุคติสรวงสวรรค์ เป็นเทวดาที่ ปราศจากร่าง ถึงเขาจะมีร่างก็คงจะเป็นร่างทิพย์ ถึงเขาจะมีกายก็คงจะเป็นกายทิพย์ กายทิพย์หรือร่างทิพย์อาจจะแสดงขึ้นชั่วขณะหนึ่งให้เราได้เห็นเป็นบางครั้งบางคราว

ถ้าเราอยากจะเห็นเทวดาท่านทั้งหลายเหล่านั้น ให้เรามองลงไปที่ใจของเรา ให้เพ่งมองจ้องเข้าไป พร้อมไปด้วยคำที่เรานึกว่า
"พุทโธ"

ถ้าเราอยากจะเห็นเทวดาท่านทั้งหลายเหล่านั้น ให้เรามองลงไปที่ใจของเรา ให้เพ่งมองจ้องเข้าไป พร้อมไปด้วยคำที่เรานึกว่า พุทโธ คือส่งคำว่า พุทโธ ให้เข้าไปที่ใจ เมื่อเพ่งมองจ้องเข้าไป ใจของเรานั้นไม่มีการไปและไม่มีการมาจิต จะรวมตัวเข้าไปอยู่ที่จุดของความเป็นพุทธะ คือความนิ่ง ความนิ่งคือความสงบ มีความมั่นเรียกว่าสงบอยู่ด้วยความมั่น และสงบได้นาน เมื่อสงบได้นานเรียกว่าสมาธิคือมีความตั้งใจมั่น ใจของเรามั่นอยู่ในความสงบ ใจของเราสงบอยู่ด้วยความมั่นคงนั่นจึงเรียกว่าสมาธิ เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิ ไม่มีการหวั่นไหวไม่สั่นสะเทือน และก็อยู่ด้วยความสงบด้วยความเป็นพุทโธ และก็มั่นอยู่ด้วยความเป็นพุทโธ จิตก็จะเกิดอานุภาพหรือว่าเกิดพลังในตัวเองเป็นความสว่าง เมื่อจิตเกิดความสว่าง จิตก็จะมีหู มีตา เมื่อจิตมีหู มีตา ก็จะเห็นเทวดา

เมื่อจิตเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เทวดาก็จะมาอนุโมทนา เขาเห็นว่าเรามีบุญญาธิการ มีคุณธรรมแล้ว เมื่อเขามา เราจะเห็นเขา เขาจะมาลักษณะไหน แต่งตัวแบบสวยงาม มีชฎา มีเครื่องแต่งตัวอันวิจิตรพิศดาร เรียกว่า ผิดแปลกแตกต่างจากความเป็นมนุษย์สวยงามกว่าโลกมนุษย์ เขามาปรากฏในทางจิต ให้เห็นในทางจิต เห็นได้ด้วยใจ
เมื่อเราเห็นอย่างนั้นเราก็จะเกิดความปิติ คือ ความ พอใจ เขามาให้เห็น เพื่อมารักษาเรา ส่วนที่ไม่ดีท่านก็จะช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้เราเกิดความดีขึ้น โดยเมื่อเราเห็นของดี เราก็จะต้องดีใจและเราก็จะต้องทำดีต่อไป การทำความดีต้องทำให้เราได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ดีทั้งนอก ดีทั้งใน ดีขึ้น ดีขึ้น เหมือนกับเทวดามาช่วยเรา นี้เรียกว่าเทวดารักษา
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน

รักขันตุ สัพพะเทวะตา ขอเหล่าเทวดาจงมารักษาท่าน เทวดาท่านมารักษาโดยลักษณะนั้น ในส่วนลึกที่เราเห็นในทางจิต ส่วนที่เราไม่เห็น ถ้าเรามีศีลธรรม เทวดาย่อมมารักษา เพราะเทวดาผู้มีธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมเหมือนอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เสด็จไปอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่นั้นย่อมมีรัศมี มีแสงสว่าง ซึ่งพระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่านั้นคืออะไร พระองค์ได้บอกว่านั้นคือพวกเทวดาเขามารักษา แล้วนำความสว่างไสวนั้นมาให้ ตามนุษย์คือตาเนื้อนี้ก็ยังเห็นได้

แม้แต่พระอริยสงฆ์สาวกผู้ที่สำเร็จแล้ว มีคุณธรรมแล้ว พวกเทวดาก็ไปรักษาช่วยคุ้มครองให้มีความปลอดภัยปราศจากอุปัทวันตราย สำหรับเทวดานั้นก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร ท่านเป็นผู้มีบุญที่ได้ไปเป็นเทวดา แล้วท่านก็มาอนุโมทนาผู้ที่ได้บรรลุธรรมอันสูงกว่าท่าน และท่านได้มาเพื่ออนุโมทนาและรักษาผู้ที่สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว เพื่อความ เป็นบุญของท่านนั้นเอง เทวดาก็พลอยที่จะได้บุญด้วย เรียกว่าเป็นการสร้างบุญ สร้างบารมีในตัวของท่านต่อไป

พวกเราเทวดาท่านก็มารักษาเราเช่นกัน แต่คงจะมองไม่เห็น เพราะใจของเรายังมืดมน จึงไม่เห็นอะไร เมื่อใจเราสงบบ้างแล้วอาจเห็นแต่เราอาจไม่รู้ จึงควรพยายามกระทำจิตของเราท่านทั้งหลาย ให้มีคุณธรรมนำจิตของเราให้เข้าไปสู่ความสงบ และยังความสว่างไสวให้เกิดขึ้น ณ ภายใน เราจะได้เห็นในสิ่งที่เรายังไม่เคยเห็น หรือสิ่งที่เราไม่คิดว่ามันจะมี แต่มันก็มีได้

พระพุทธเจ้าท่านจึง " เอหิ ปัสสิโก " เรียกให้มาดู ดูของที่มันแปลก ของในตัวเองนี้มันเป็นของที่แปลก เราไม่คิดว่าจะมี ก็มีขึ้นมาได้ และก็เป็นได้ เราต้องเรียกมาดู โดยต้อง "โอปะนะยิโก" น้อมเข้าไปภายใน จิตมันรวมเข้าไป สิ่งทั้งหลายมันจะปรากฏขึ้น ของที่แปลกประหลาดมันจะปรากฏขึ้น ทั้งเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานก็จะมาให้เห็นเป็นของที่ แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นภายในใจ




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:39:07 น.
Counter : 252 Pageviews.  

มรณานุสติ



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ วัดอโศการาม จังหวัด สมุทรปราการ
วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๘ เวลา ๒๐.๓๐ น.




มรณานุสติ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

มรณะ ธัมโม หิ มรณัง อนัตติโต ติ อิมัสสะ ธัมมะ ปริยา ยัสสะ ตโข สาธายา สมา ตัน เตหิ สัจขจัง โส ตัปโพ หิ

อันดับต่อนี้ไป จงพากันตั้งใจฟังธรรม และ ตั้งใจภาวนาตามที่เราเคยพากันประพฤติและปฏิบัติมา เพราะการฟังธรรมเป็นของจำเป็นที่เราจะต้องมารวมกันฟังเพื่อเป็นการศึกษาหาความรู้ในเรื่องธรรมะอันเป็นข้อปฏิบัติของพวกเราชาวนักปฏิบัติ คือ เราทุกคนก็ล้วนแต่มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมกันทั้งนั้น

การปฏิบัติธรรมถ้าเราไม่มีความรู้ และเข้าใจ เราก็ไม่เข้าใจว่าจะปฏิบัติกันอย่างไร และจะมีอะไรเป็นเครื่องตอบแทนของการปฏิบัติ ดังนั้น เราจึงอาศัยการฟังเพื่อเป็นการศึกษา เราต้องตั้งใจและเคารพในการปฏิบัติและเคารพในธรรม เมื่อเราตั้งใจ และพอใจในการปฏิบัติแล้ว ก็ให้ประคับประคองจิตของตัวเองให้อยู่ในศีล ในธรรม และอยู่ในท่าอันสงบ เมื่อเรามีความสงบภายนอกได้แล้ว ส่วนภายในเมื่อยังไม่สงบ เราก็ต้องประคับประคองจิตให้อยู่ในความสงบ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องพยายามผูกมัดในเรื่องจิตของตัวเอง
ในเรื่องของการพิจารณาธรรม เราก็ต้องพิจารณาได้ ถ้าหากสิ่งไหนที่จะทำให้ใจของเราเกิดความสังเวส สิ่งนั้นเราก็ควรกำหนดให้มาก อย่างมรณานุสติเรื่องของความตายอันเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความสังเวส ให้เกิดความทิฐิมานะ ให้ยอมรับในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่กำหนดถึงเรื่อง มรณานุสติ เรื่องทิฐิมานะก็กำเริบเสิบสานขึ้นในตัวเองว่าจะไม่เป็นอะไร คิดว่าตัวเองจะไม่ตาย เราจะมาบำเพ็ญจิตให้เป็นไปในทางศีลธรรมก็เป็นไปได้ยาก จึงอยากให้กำหนดมรณานุสติ

เรื่องของความตาย มันเกิดขึ้นแน่นอน จะตายแบบปกปิด หรือตายแบบเปิดเผยก็มีด้วยกันสองอย่าง ตายแบบปกปิดมันเกิดขึ้นทุกวัน นับตั้งแต่เราเกิดมาจนบัดนี้ วันเวลาที่มันล่วงไปนั้นแหละ ชีวิตเราก็หมดไปด้วยกับวันเวลาที่มันล่วงไป เรียกว่า ตายปกปิด ส่วนที่ตายเปิดเผย เรียกว่า เราทิ้งลมหายใจ เหมือนอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ หมดลมหายใจเข้า-ออก หมดความเป็นอยู่ที่จะอยู่ต่อไปได้ อันนี้เรียกว่า ตายเปิดเผย ชีวิตจิตใจของพวกเราทั้งหลายก็ตกอยู่ในความตายทั้งนั้น เรียกว่าหนีความตายไปไม่ได้ แต่ต้องตายแน่นอน เพราะฉะนั้น ให้เรากำหนดให้มาก และพิจารณาให้มาก เมื่อเราพิจารณาเรื่องความตายให้มากแล้ว เราก็จะได้เสาะแสวงหาที่พึ่ง ถ้าหากเราตายไปแล้ว เราก็หมดสิทธิ์จากความเป็นมนุษย์ เราก็หลุดไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองของวิญญาณ ซึ่งเราจะพึ่งอะไรก็หารู้ไม่ แต่เมื่อเราอยู่ในเมืองมนุษย์ เราก็พึ่งกันได้ พึ่งดินฟ้าอากาศ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ ตลอดถึงอาหารและการบริโภค เครื่องใช้ไม้สอย ที่อยู่อาศัย เราก็พึ่งกันได้ แต่เมื่อเราหลุดพ้นเมืองมนุษย์ไปสู่โลกวิญญาณ ก็ไม่รู้จะไปพึ่งเพื่ออะไร ก็หาใครได้ทราบสถานที่อยู่ของตัวเองไม่ จะไปอย่างไร จะไปอยู่กับใคร โดยลักษณะนี้ไม่มีใครรู้ทั้งนั้น เมื่อไม่รู้ความเป็นอยู่และการไป เราก็กลัวว่าจะลำบากและมีทุกข์ ใครๆก็กลัวกันทั้งนั้น แต่จะไปอย่างสุขหรือทุกข์ เราก็หารู้ไม่

ตอนเรามีชีวิตอยู่ เราก็จำเป็นจะต้องแสวงหาสิ่งที่เป็นที่พึ่ง สำหรับโลกวิญญาณต่อไปข้างหน้า นอกจากความเป็นบุญเป็นกุศล อันนี้จะเป็นที่พึ่งที่จะทำให้ไปสู่สุคติ หรือสวรรค์ได้ เมื่อเราต้องการความสุข เราก็มาแสวงหาความเป็นบุญ อย่างเรามาฟังธรรมมันก็เป็นบุญ

ที่เรามานั่งภาวนาทำจิตของเราก็เป็นบุญ การเสียสละในการให้ทานก็เป็นบุญ อันนี้เป็นการสร้างทานกันไว้สำหรับวันข้างหน้า ถ้าหากเราไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เราก็ตกทุกข์ได้ยาก ก็มีความลำบาก ความวิตกกังวลนั้นก็มีกันทุกคน กลัวตัวเองต้องไปทุกข์ไปยากไปลำบากตรากตรำ กลัวความลำบากมาถึงตัวเอง

เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จึงพากันออกมาบำเพ็ญ และออกมาแสวงหา หาที่พึ่งที่อาศัย ทีนี้ที่พึ่งของเราจะเกิดขึ้นได้ เกิดจากทางไหน มาจากไหน เมื่อเรามาเป็นชาวพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ท่านเป็นพระบรมครู เป็นศาสดาจารย์เอกของโลก คือท่านเป็นผู้ได้กระทำ ได้รู้ได้เห็นมาก่อนในเรื่องความเป็นบุญเป็นกุศล เป็นมรรคเป็นผลตลอดจนเรื่องวิญญาณ อันปราศจากร่างแล้วไปสู่โลกหน้า ท่านทรงรู้หมด และพระองค์เป็นผู้รู้เห็นมาก่อน และเป็นผู้ที่ได้มีความประพฤติและปฏิบัติ และได้กระทำมาในเรื่องแสวงหาที่พึ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำมาก่อน จนถึงที่สุด คือ พระนิพพาน พระองค์ทรงรู้ทรงเข้าใจและเห็นอะไรทั้งหมด พระองค์จึงได้เป็นห่วงแก่ดวงวิญาณของสัตว์ที่ยังตกค้างอยู่ในโลก กลัวว่าจะมีความทุกข์และเดือดร้อน ด้วยอำนาจของกิเลส และอำนาจของความหลง ก็จะมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ก็มีความเมตตาและสงสาร ซึ่งพระองค์ได้มีชัยชนะแล้วและพ้นแล้ว พระองค์ก็ได้ประกาศสัจธรรม คือความเป็นจริงในความเห็นของพระพุทธองค์ ก็ได้แก่คำสอนของพระองค์ทั้งหมด จึงได้ทรงชี้แจงแสดงบอกตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลนั้น ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็ได้ไปสอนแก่บุคคลผู้มีอุปนิสัย เมื่อพระองค์ได้ทรงสอนจบคำเทศนาเท่านั้น ก็เรียกว่า ได้สำเร็จตามคำสอนของพระองค์ และได้พ้นทุกข์ไปได้ชัยชนะเหมือนอย่างพระองค์

ส่วนที่เหลือและยังไม่สามารถกระทำได้อย่างพวกเรานี้ พระองค์ก็ทรงวางแนวทางเอาไว้ให้เราได้กระทำ ตามคำสอนของพระองค์ไว้ ก็เป็นเหตุให้เกิดขึ้นซึ่งความเป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งทรงบัญญัติ และชี้แนวทางเอาไว้ มีอยู่สามประการ ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นซึ่งความเป็นบุญและเป็นกุศล มีทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา พระองค์ทรงวางแนวทางไว้อย่างนี้

เมื่อพระองค์ได้วางแนวทางไว้นั้น เราก็นำมาประพฤติและปฏิบัติตาม อย่างการให้ทาน เราก็เสียสละและให้ทานอยู่เป็นประจำ การรักษาศีลเราก็รักษาศีลอยู่เป็นประจำ การภาวนาเราก็ได้ภาวนาอยู่เป็นประจำ

อย่างนี้ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดเป็นบุญและเป็นกุศล บุญกุศลอันนี้จะเป็นปัจจัย เป็นอุปนิสัย เป็นยานพาหนะ สำหรับที่จะทำให้เราไปสู่สุคติ คือ โลกสวรรค์ได้ คือทำให้เราไปสู่ความสุขได้ อันนี้เป็นส่วนเบื้องต้นที่เราได้แสวงหา สำหรับประพฤติปฏิบัติเป็นประจำ และทำอยู่เป็นอาจิณ พอเราทำเป็นพื้นฐานแห่งความเป็นบุญเอาไว้แล้ว นอกจากนั้นเราก็มาดำเนินจิต คือเราจะมาทำจิตของเราให้เป็นไปในทางสงบ เราก็มาฝึกด้วยการภาวนา อันนี้เป็นการแสวงหาบุญ เป็นการแสวงหาที่พึ่งเช่นเดียวกัน เมื่อเราต้องการที่จะได้ประสบพบเห็น เห็นด้วยความเป็นจริงในขณะปัจจุบันชาติที่เรามีชีวิตอยู่ และต้องการความสุขของจิตเช่นนั้น ก็ให้เราทุกท่านตั้งจิตอธิษฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ แล้วให้รวมลงมาบรรจุเอาไว้ที่หัวใจของเรา แล้วก็ขอให้อำนาจคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์นั้น จงมาช่วยประคับประคองจิตของข้าพเจ้า ให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ให้เกิดความรู้แจ้งและแสงสว่าง และเกิดปัญญาขึ้นมาในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อความพ้นทุกข์

อันนี้เป็นการอธิษฐานจิต เราก็ตั้งสติและสัมปชัญญะ และก็จดจ้องอาการของจิตตัวเอง แล้วก็น้อมนำคำบริกรรมที่เราบริกรรมกัน เมื่อเราบริกรรมอันไหนที่ถูกกับจริตตัวเอง จะว่าพุทโธ หรือ ธัมโม สังโฆ ก็แล้วแต่ อันใดอันหนึ่ง ถ้ามันถูกกับจริต เราก็ควรเอาสิ่งนั้นมาบริกรรม เราบริกรรมอย่างไหนก็ให้บริกรรมอย่างนั้น คือให้เอาเฉพาะอย่าง เอกหลายอย่าง จิตจะมุ่งหาความสงบไม่ได้ เพราะมันหลายเรื่อง ทำให้สับสน เราจึงไม่เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะว่าพุทโธ พุทโธ ถ้าเรากำหนดตามลมไม่ได้ เราก็กำหนดพุทโธข้างในไปเลย กำหนดตั้งไว้ที่ใจไปเลย เรียกว่า พุทโธ พุทโธ ไม่เกี่ยวกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะว่า ธัมโม ธัมโม ไม่เกี่ยวกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะว่า สังโฆ สังโฆ ไม่เกี่ยวกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าเราบริกรรมคำเดียวให้เราบริกรรมคำเดียวเท่านั้น ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น จะว่าพุทโธอยู่อย่างนั้น จนจิตของเรามันชินต่อคำบริกรรม

เมื่อจิตของเรามันชินต่อคำบริกรรม จิตก็จะไม่ไปไหนจะอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว จึงเป็นเอกคตารมณ์ เรียกว่า เอกคตาจิต ตอนนี้แหละมันจะหาความสงบไม่ได้ เพราะมันคิดหลายเรื่อง ถ้าเรากำหนดอยู่โดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตของเราก็จะมีความสงบ เมื่อจิตมีความสงบแล้ว เราก็จะเห็นความเป็นบุญเป็นกุศลขึ้นทันที คือความสุขและความสบายมันจะปรากฎขึ้นทันที ความเบากาย เบาใจ โล่งอกโล่งใจ มันจะปลอดโปร่งไปทั้งหมด สมองเราก็ปลอดโปร่ง จะนึกคิดอะไรมันก็สบาย มันเป็นผลของความสงบ

ถ้ามีความสงบแล้ว จะเห็นอำนาจบุญทันที ความเป็นบุญเมื่อเข้าถึงจิต เราก็จะเห็นทันทีที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า มันเป็นบุญ ก็จะได้รู้ว่า บุญเป็นอย่างไร อันนี้เรารู้ได้ด้วยตนเอง ได้เห็นความสงบของจิตของเราเอง ที่จิตของเราสงบได้ก็เพราะเราได้เจริญกรรมฐาน คือ มาเจริญภาวนาเพื่อเป็นฐานที่ตั้งของจิต เมื่อเราพยายามตั้งจิตลงสู่ฐานของกรรมฐาน เมื่อได้ฐานที่ตั้ง จิตจะยังอยู่ในตัวของกรรมฐาน แล้วเราก็จะมีความสงบ สงบในอารมณ์ของกรรมฐาน อย่างพุทธานุสตินี้ก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน เมื่อสงบก็สงบในอารมณ์ของกรรมฐาน เรียกว่า เป็นฐานที่ตั้งของจิต เราก็กำหนดจิตของเราสู่สภาพของอารมณ์แห่งกรรมฐาน เมื่อมันสงบลงไปไม่ใช่ว่าจะไปนิ่งอยู่โดยไม่รู้อะไร ถ้าจิตมันสงบแล้ว ลักษณะความรู้มันก็มีอยู่ในอารมณ์ของมัน แต่ข้อสำคัญให้มันสงบเสียก่อน อย่างไรมันถึงสงบได้ ให้เราพยายามประคับประคองจิต พยายามต้อนจิตของตัวมา แล้วมาระลึกตั้งไว้ที่ตรงหน้า แล้วกำหนดจิตของตัวเองไป ถ้ามันดื้อดึงมันคิดมาก และโอหังมาก ก็ให้ย้อนพิจารณาถึงความตาย ความตายเราก็ย้อนเข้ามาพิจารณาอยู่เสมอ

ถ้าได้พิจารณาถึงความตายแล้ว จิตของเราจะได้เกิดความสังเวส

ถ้าได้พิจารณาถึงความตายแล้ว จิตของเราจะได้เกิดความสังเวส และเมื่อเกิดความสังเวสขึ้น ทำให้เรายอมรับเอาศีลธรรม เมื่อพิจารณาตามก็จะภาวนาได้ง่าย ถ้าจิตเราไม่ยอมรับ มันมีทิฐิมานะ อันนี้จะทำยาก เพราะฉะนั้น ให้ประคองจิตให้ดี ให้ใช้สติและปัญญา ให้เพียบพร้อมให้ดูลักษณะความง่วงเหงา ความซบเซา ความเศร้าหมองของจิต

สิ่งเหล่านี้แหละ เราควรจะต้องรับรู้ เราต้องรีบแก้ไข เรื่องปัญหาของจิตนี้แหละเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะเรามันมีกิเลสเป็นเจ้าของอยู่ในตัว และเป็นผู้ครองบ้านครองเมือง เราจะมาแก้ไขปัญหาของกิเลสนั้นมันยากนัก แต่ถึงจะยากก็ตาม คำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ยังมีหนทางที่จะต้องแก้ไขได้ เหมือนอย่างพระองค์หรือครูบาอาจารย์ ถ้าท่านได้ไปแสวงหาที่วิเวก ท่านก็มีความสามารถทำจิตของท่านให้เกิดสมาธิ และเกิดความรู้แจ้ง พบแสงสว่าง และได้เกิดปัญญาขึ้นมา ก็สามารถจะกำจัดอาสวะกิเลสของเราได้เป็นบางส่วน และท่านก็ได้รับและประสบซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ด้วยการปฏิบัติของท่านและการเสียสละของท่าน มันก็มีช่องทางอยู่ แต่เมื่อเราไม่มีโอกาสที่จะไปเช่นนั้นเราก็ไม่จำเป็น ให้เราถือเอาวิเวก วิเวกในความเป็นอยู่ตัวเอง ให้ถือเอาจิตวิเวก เอาความสงบของจิตเป็นรากฐาน
ในกรณีที่เราหาสถานที่วิเวกไม่ได้ คือเมื่อเราอยู่ที่ไหนก็ให้สงบที่นั่น จะอยู่ในบ้านก็ให้มันสงบ จะอยู่ในเมืองก็ให้มันสงบ ให้ทำความสงบให้อยู่ในจิต ให้เป็นจิตวิเวก เมื่อจิตของเราวิเวกแล้ว เราจะอยู่ที่ไหนมันก็วิเวกที่นั่น คือเราไม่ได้คิดว่าที่ป่านั้นวิเวก ที่ถ้ำนั้นสงบวิเวกดี คือใจเราไม่ได้คิดสถานที่อื่นเป็นที่วิเวก แต่ให้เอาความสงบในจิต เรียกว่าจิตวิเวก คือเราไม่เกี่ยวสถานที่ ถ้าเรายังแสวงหาสถานที่ว่าอยู่ตรงไหนมันจะวิเวก แต่เมื่อจิตเรามันไม่วิเวก มันก็ลำบาก ถ้าจิตของเรามันวิเวกแล้ว เราจะอยู่ในวัดวาอารามของเรา หรือที่ไหนๆมันก็วิเวก ข้อสำคัญขอให้ใจเรามันมีวิเวกเท่านั้นแหละ นั้นแหละ เรียกว่าวิเวก แล้วให้เราทำความวิเวกมากขึ้นในจิต และมีความสงบมากขึ้นในจิต เมื่อจิตของเรามีความสงบครั้งหนึ่งแล้ว และเราได้มาเพิ่มเติมครั้งที่สอง มันก็มากขึ้นโดยลำดับ ถ้าครั้งที่สามถ้ามีความสงบได้อีก มันก็เพิ่มเป็นทวีคูณมากขึ้น มันจะดีขึ้นทุกครั้ง ถ้าจิตของเรามีความสงบมากขึ้นโดยลำดับ ความละเอียดสุขุมของจิตมันก็ละเอียด ความเย็นความสบายของจิตมันละเอียดไปตามลักษณะของจิตที่มีความสงบนั้น

อันนี้มันเป็นของที่แปลกถ้าเราทำได้ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะรู้รสของจิตที่มีความสงบและวิเวกนั้น ถ้าเรามีความสงบและมีความวิเวกในตัวแล้ว เราก็รู้รสของความสงบของจิตนั้น จะมีรสเอร็ดอร่อยและจะมีความสุและหาอะไรเปรียบเทียบมิได้ แม้แต่เราสงบธรรมดาก็ทำให้มีความสุข เราจะเดินไปไหน จะรู้สึกเบาเหมือนไม่มีตัว จะนั่งก็เบาเหมือนไม่มีตัว จะยืนจะนอนก็เบาเหมือนไม่มีตัว มันจะเบาไปทุกอิริยาบท เป็นความสุขที่แปลกไม่มีอะไรที่จะเปรียบเทียบ ถึงแม้เราจะแตกดับหรือตายในขณะนั้น เราก็ไม่วิตก เพราะมันมีสุขในตัวเอง มันเป็นผลของความสงบ ส่วนเรื่องสติปัญญา มันจะเกิดขึ้นตามมาจากความเป็นสมาธิของจิตนั้นแล้วแต่ดวงจิตใคร เราจะบอกไม่ได้ มันจะเป็นปัญญาที่รู้แจ้งและรู้ชัด ไม่เหมือนกับความคิดที่เราปรุงเราแต่ง มันเป็นความชัดแจ้งขึ้นมาในจิต ซึ่งเป็นการรู้เฉพาะตน คนอื่นจะมารู้เห็นด้วยนั้นมันยาก เป็นความสุขขึ้นในจิตที่มันมีวิเวกในตัวเอง มันเป็นของหาได้ยาก ซึ่งเราทุกคนก็ต้องการความสุขแบบนี้ จึงได้อุตส่าห์พยายามกระทำกันมานั่งอดตาหลับขับตานอน แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เราก็อดทน เพื่อหวังในความสงบอันนี้

เราจึงพยายามทำความสงบนี้ให้มาก พยายามตั้งสติและปัญญาให้มาก ในเมื่อเวลาเรานั่งก็ให้ระวังจิต ให้ระวังความคิดด้วยสติปัญญาของตัวเอง ให้ยึดคำบริกรรมพุทโธเอาไว้ เราต้องพยายามเร่งให้ทันกับความคิด เมื่อจิตจับคำบริกรรมให้มั่นโดยเป็นเอกัตคตารมณ์ จิตก็สงบทันที

เมื่อความสงบลงไปถึงฐานที่ตั้ง จิตก็เกิดความสว่างขึ้นทันที เราจึงตามรักษาความสงบอันนี้ไว้ จะสว่างน้อยมากหรือนานเท่าใดก็แล้วแต่ ถ้ารักษาความสว่างไว้ได้ 30 นาทีขึ้นไป แสดงว่าจิตมีกำลังใช้ได้ ทีหลังนั่งใหม่จะกำหนดได้ทันที คือ ใจมันพร้อมที่จะเป็นพุทโธอยู่ข้างใน บางท่านเกิดความสว่างทะลุปรุโปร่งครอบไปหมด จะกำหนดเพ่งแผ่นดินมันก็ทะลุปรุโปร่งไป เหมือนไม่มีอะไรมาบังเลย อำนาจจิตของคนจะผิดกัน บางคนได้แต่รู้เฉยๆ จะมีความสงบและสว่างเฉยๆ จะมีนิมิตก็มีนิมิตธรรมดา จิตไม่โลดโผนและน่ากลัว ถ้าจิตเริ่มสว่างตั้งแต่วันแรก และได้มาปฏิบัติต่อเนื่องสัก 7 วัน จะทำให้จิตโลดโผน เพราะจิตกำลังห้าวหาญ ก็ให้รักษาจิตและประคับประคองจิตไว้ จิตจะนิ่งไม่โลดโผน จิตจะละเอียดและเย็นสบาย จนเข้าไปถึงซึ่งฐานที่ตั้งด้วยความเรียบร้อย แล้วก็พักอยู่อย่างสบาย เมื่อจิตมันสงบแล้วมันจะทำงานด้วยความละเอียด และเป็นสุขด้วยความเป็นราชา สติมันตื่นรู้ เราต้องทำความสงบให้เต็มอิ่ม แล้วเราจะทำเวลาไหนก็ได้ จะไปนั่งอยู่ตรงไหนก็ได้ ถ้าเราทำความสงบได้ไม่เต็มที่ เราก็ต่อไม่ติด มันต่อยาก ถ้ามันสงบได้เต็มที่ คิดว่าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ครั้งที่สอง และที่สามมาก็ไม่ยาก อย่างกรณีที่เป็นความสงบเบื้องต้น ยังสงบได้ไม่เต็มที่ คือ ยังไม่ดับ ก็ยังหาความสว่างไม่ได้ แต่ก็ได้ความสบาย ถ้าจิตมันดับ มันจะดับสัญญาอารมณ์ภายนอก จิตจะรวมอยู่ที่ฐานที่ตั้งอยู่ภายใน จิตก็มีความสว่างในตัว จิตจึงมีคุณค่า หรือสมาธิจึงมีคุณค่า ความสงบจึงมีคุณค่า จิตจะรับรู้ได้ถึงความสบาย แต่ไม่ใช่ความสำเร็จ เป็นเพียงแค่ผลของการภาวนา เมื่อเป็นอย่างนี้ ความขยันหมั่นเพียรก็มีมา จะเดินจงกรมก็ไม่รู้จักเหนื่อย นั่งภาวนาก็ไม่รู้จักเจ็บปวดและไม้รู้จักเหนื่อย ความขยันหมั่นเพียรทำให้วันเวลารู้สึกไปไว เพราะมันเห็นผลในตัวเหมือนเราเมื่อได้ของ ใครจะบอกให้เอาคงจะไม่มี มีแต่เราเก็บเกี่ยวเอาเอง
บางท่านบางองค์จะเดินจงกรม หรือนั่งภาวนาก็กระทำได้ตลอดทั้งคืน บางคนทำง่ายรู้ง่ายก็มี บางคนทำยากรู้ยากก็มี ก็แล้วแต่จิต ถึงเราจะหาความสงบไม่ได้ก็ตาม ก็ขอให้รับทราบเอาไว้ เผื่อวันข้างหน้าและโอกาสที่มีมา เมื่อเราทำไปและเกิดประสบการณ์ขึ้นมา เราก็จะได้นึกขึ้นได้ และจะได้ประคับประคองจิตของเราได้ เราก็จะได้แก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวลและไม่ต้องกลัว หรือกรณีจิตของเรามีความสงบมาแล้วมันจะได้เพิ่มเติมให้แน่นหนาเข้ามาอีก จะได้เกิดปัญญา คุณธรรมก็จะปรากฎและเกิดขึ้นกับเรา ความสุขและความสบายมันก็จะเพิ่มทวีคูณขึ้นมา ก็เป็นเหตุให้เราเกิดความพอใจในการปฏิบัติต่อไป ทำให้จิตไม่เกียจคร้าน

กรณีที่บางท่านทำไปแล้วไม่เกิดอะไรเป็นผลขึ้นมาในจิต จิตก็เกิดความเอือมระอา เกิดความเกียจคร้าน เพราะเราเคยเป็น จิตมันจะบอกว่า ถ้าไม่ได้อะไรแล้วจะทำไปทำไม มันเถียงขึ้นมาในจิต ทำให้จิตเกียจคร้านขึ้นมาทันที ไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ต้องทำ นี่เป็นเพราะของเรื่องคือเรื่องของตัวเอง แต่ถึงจะได้หรือไม่ได้ หน้าที่ของเราที่ควรจะกระทำ หน้าที่ของเราที่ควรจะประพฤติและปฏิบัติ จำเป็นเราก็จะต้องทำ จำเป็นเราจะต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ได้อย่างหนึ่งมันก็ได้อย่างหนึ่ง ได้ก็คือเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ หมายถึงว่า กิริยาอันนั้นเป็นบุญ อย่างที่เรามานั่งภาวนานี้ จิตมันไม่สงบ อะไรก็ไม่สงบ แต่ว่ากิริยาของเราที่เราทำไปนั้น เรียกว่าเป็นบุญแล้ว อันนี้เรียกว่าบุญกิริยา เรียกว่ากิริยาของเราเป็นบุญ เรียกว่ามันไม่ได้เสียหาย มันก็เป็นประโยชน์

ทีนี้เมื่อส่วนจิตของเราได้เข้าไปอีก มีความสงบเข้าไปอีก เรียกว่ามันเพิ่มเข้าไปอีก มีส่วนเพิ่มปริมาณมากขึ้น และความดีมันก็มากขึ้น ถ้ามันเป็น คือเราก็เห็นด้วย เราก็สุขด้วย เราก็สบายด้วย นี้เรียกว่ามันเพิ่มปริมาณ เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำไปแล้ว ถ้ามันไม่ได้ก็อย่าไปเสียใจ ถ้ามันได้ก็อย่าไปนิ่งนอนใจ คืออย่าไปสะเพร่า พยายามทำให้มันได้ พยายามทำให้มันเป็น พยายามทำให้มันได้ ดูจิตดูใจของเราเท่านั้น คือทำจิตทำใจ พิจารณาเอาอะไรต่ออะไรก็ให้พิจารณาตัวของตัวเองไปก่อน จะเป็นเรื่องอะไร เรื่องของจิตของใจอะไรก็ให้พิจารณาตัวของตัวเองไปก่อน คือเรามันพร้อมที่จะต้องมีกันทุกคน เรื่องของจิตก็ดี เรื่องใจก็ดี เรื่องวิญญาณก็ดี เรามีในตัวของเราพร้อม เราก็พิจารณาในตัวของตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร จะมีตัวมีตนอย่างไร เราก็พิจารณาเอา

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นของที่หาตัวตนไม่ได้อยู่แล้ว เราจะนำตัวตนมาให้ดูเป็นของที่ลำบาก นอกจากเราจะทำจิตของเราให้มีความสงบตั้งมั่นแล้ว เราก็จะได้รู้เห็นขึ้นมาในตัวของตัวเองว่ามันเป็นอย่างนี้ เรียกว่า ให้รู้ด้วยตนเอง และให้กระทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง เราจะได้รับรองด้วยตนเอง เราจะได้รู้ด้วยตนเอง เรียกว่าให้มีขึ้นมาในตัวของตัวเอง คือมันมีกันทุกคน เรื่องจิตวิญญาณหรือเรื่องจิตเรื่องใจ มันมีมาพร้อม เราจะทำอย่างไรจึงจะปรากฎ ขึ้นในตัวเองได้ ขอให้เราท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักปฏิบัติ ให้ค้นคิดพิจารณาด้วยตัวเอง ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ได้ทรงบัญญัติมา เมื่อพิจารณาในตัวของตัวเองได้อย่างไรแล้ว เราก็เปรียบเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ว่ามาอย่างนั้น และก็ตรงกับจิตใจของเราเป็นอย่างนี้ อันนี้ให้เราพิจารณาด้วยตัวเอง และให้กำหนดรู้ด้วยตัวเอง จะชัดกว่าและจะดีกว่า ซึ่งเราเห็นด้วยตนเอง

ดังนั้น ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ต่างก็มีศรัทธา ปสาถะและความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า และยอมเสียสละเวลา แม้กระทั่งชีวิตจิตใจของตัวเองก็ยอมเสียสละเพื่อปฏิบัติ เรียกว่ายกมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้ชีวิตของเราจะแตกดับ เราก็ยอม แม้ชีวิตของเราจะหาไม่ เราก็ยอม เรียกว่ายกให้ท่านหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลาย จงอย่าได้มีความประมาทในความเป็นอยู่ของตัวเอง และให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติและปฏิบัติ ตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงชี้ไว้แล้ว เราจะปฏิบัติได้มากหรือน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่สติกำลังของตัวเอง ถ้าสติกำลังของตัวเองหรือสติปัญญาของตัวเองมีมาก เราก็ทำให้มันมาก เรียกว่าตามสมควร

เมื่อเราทำแล้ว สิ่งที่เราได้รับก็เป็นหน้าที่ของพวกเรา เมื่อเรารับแล้ว และผลเกิดขึ้นมาแล้ว ในอนาคตกาล คือโลกหน้า ได้แก่โลกวิญญาณ ก็ขออำนาจบุญกุศล หรือคุณความดีของท่านทั้งหลายจงเป็นยานพาหนะ สำหรับที่จะรับรองท่านทั้งหลาย อย่างน้อยขอให้ไปสู่สุคติและโลกสวรรค์ ถ้ามากยิ่งกว่านั้นคือ พรหมโลก สูงที่สุด คือ พระนิพพาน เรียกว่า สิ้นทุกข์ สิ้นยาก พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร เป็นพระบรมสุข คือสุขอันยอดยิ่ง อันนี้เรียกว่า ผลของการปฏิบัติ ก็ขอให้ได้ดังความประสงค์จำนงหมาย ของบรรดาท่านทั้งหลายทุกทุกท่าน ดังที่ได้บรรยายมา สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ..




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:36:29 น.
Counter : 277 Pageviews.  

ท่ามกลางโลกธรรม



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ กรมพละศึกษา กรุงเทพมหานคร


อันดับต่อไปให้พากันตั้งใจฟัง และ ปฏิบัติพร้อมไปกับการฟัง การปฏิบัตินั้นหาโอกาสทำได้ยาก ยากที่เราจะปลีกเวลาออกไปปฏิบัติ การนั่งภาวนาถือเป็นการปฏิบัติ ไม่เหมือนการทำงานหรือการจัดงาน การปฏิบัติมีแต่การนั่ง และต้องหาสถานที่อันปราศจากการคลุกคลี หรือเสียงรบกวน คือทำด้วยความสงบ ความสบาย ไม่เกี่ยวเรื่องอะไรทั้งสิ้น เรานั่งฟัง เราก็ปฏิบัติไปด้วย
การปฏิบัติเป็นการฝึกฝนจิต แต่เอากายมากระทำ เอากายมานั่ง สู้ด้วยทางกาย แต่ใจเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ปฏิบัติอยู่ข้างใน การปฏิบัติมีแต่นั่งด้วยท่าทางอันสงบ ส่วนใจเป็นผู้อยู่ภายในร่างกาย เราจะหาท่านผู้นั้น คือใจ เราจึงเอาร่างกายมานั่ง ที่เอาร่างกายมานั่งเพราะเขาอยู่ด้วยกัน แต่ให้อาศัยร่างกายเสียก่อน เขาอยู่ด้วยกันตั้งแต่เกิดมา และอยู่ด้วยกันมาจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่แยกจากกัน เมื่อเอาร่างกายมานั่ง ใจก็อยู่ด้วย

การปฏิบัตินี้เพื่อจะเอาร่างกายไปสู่สุคติสวรรค์ก็หาใช่ไม่ ร่างกายเป็นเพียงสะพานที่ให้เราเดินข้าม คือเอาร่างกายมาทำ แล้วผู้ได้ประโยชน์ ก็คือผู้อยู่ข้างใน เรามาหากันว่าใครคือผู้อยู่ข้างใน ผู้อยู่ในมีหรือไม่ เราหาผู้อยู่ข้างในที่มาอาศัยร่างกาย ก็ได้แก่ใจเรา เราจะปฏิบัติท่านผู้นั้น

ทำไมจึงต้องปฏิบัติท่านผู้นั้น เพราะท่านผู้นั้นอยู่มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว หลายภพ หลายชาติ หลายกัปป์ หลายกัลป์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทราบแล้วว่า การท่องเที่ยวหลายภพหลายชาติหาที่สิ้นสุดไม่ได้ หรือถึงมีที่สิ้นสุด ก็ยาวนาน การท่องเที่ยวไปมายังมีความไม่สม่ำเสมอ ที่เรามาครั้งนี้เป็นมนุษย์ พร้อมด้วยมนุษย์สมบัติซึ่งถือว่าดี แต่ส่วนที่ผ่านมาแล้ว เราเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไรก็หาทราบไม่ จะเป็นอะไรมาก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสว่าความทุกข์ในการเป็นในการมาก็ยังอยู่ ยังเป็นทุกข์อยู่ ยังหาหนทางออกจากทุกข์ไม่ได้ ยังไม่มีทางไป พระองค์จึงได้มาชี้หนทางออก ก่อนที่พระองค์จะมาชี้หนทางออก พระองค์ก็ได้ออกไปแล้ว ออกได้แล้ว มีตัวอย่างแล้วท่านจึงบอก พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าของพระองค์ท่านก็ได้ออกไปแล้ว

การออกนั้นเพื่ออะไร มีความหมายอะไร การออกนั้น ท่านว่าหาอะไรสุขเทียบไม่ได้ หาอะไรมาเสมอเหมือนไม่ได้ เป็นยอดของความสุขและเป็นยอดของความเป็นมงคล ท่านจึงได้มาตรัส มาชี้หนทางให้ออกได้อย่างท่าน ไปได้อย่างท่าน การที่พระองค์และพระอริยเจ้าทั้งหลายจะออก จะหนีได้ ก็ด้วยการปฏิบัตินั้นแหละ ให้ตั้งความประสงค์ไว้ที่จะออก แต่จะออกได้เวลาไหนนั้นเป็นอีกเรื่อง เราต้องการปฏิบัติเพื่อออก ถ้าออกไม่ได้ก็ยังเป็นบุญบารมี อันดับแรกต้องการบุญเสียก่อน ถึงยังไปไม่ได้ บุญก็ยังเป็นสิ่งที่รับรองการปฏิบัติของเราอยู่ ไม่ได้ไร้ประโยชน์ เหมือนที่ผ่านมาบุญสนองเรา เราจึงได้มนุษย์สมบัติ เมื่อเราปฏิบัติยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ถึงเป้าหมาย บุญนั้นก็จะมารับรอง มาสนองเราต่อไป แต่เราจะไปอยู่ภพใหนย่อมแล้วแต่อำนาจความดีของเราที่จะตามสนองเรา คือสนองผู้ที่อยู่ใน ผู้ที่เรามาหาและมาปฏิบัติกันอยู่

ให้เราตรวจดูโดยใช้สติปัญญาให้รอบคอบ อันไหนถูก อันไหนผิด เราควรทราบด้วยตนเองเสียบ้าง เรามาถูก หรือเราจะไปถูก เรามาผิด หรือเราจะไปผิด เราก็พิจารณาด้วยตนเอง แต่ก่อนที่เราจะพิจารณา ก่อนที่เราจะรู้แจ้งชัดในตัวของตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยความสงบเสียก่อน

การปฏิบัติก็เพื่อความสงบ เราจะทำวิธีไหนก็เพื่อความสงบทั้งนั้น แต่ความสงบไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก แล้วใครที่เป็นผู้สงบ ก็ผู้อยู่ข้างในนั้นแหละ ผู้อยู่ข้างในที่มากับกาย มาวุ่นวายกระโดดโลดเต้นอยู่นี้ ก็คือผู้นั้นแหละ หาผู้นั้นแหละ แล้วทำให้ท่านผู้นั้นสงบระงับ ความสงบของเขานั้นสงบตรงไหน เราต้องหาสถานที่ของเขา เราต้องรู้สถานที่ของเขา เวลาเขาสงบ เขาไม่ได้ไปสงบอยู่ข้างนอก เขาสงบอยู่ข้างใน คือข้างในท่ามกลางหน้าอก เวลาวุ่นวายก็ที่เดียวกันนี้แหละ เวลาวุ่นวาย บางครั้งเหมือนอกจะแตก เมื่อสถานที่เขาอยู่ตรงนั้น จำเป็นหรือต้องไปหาสถานที่อื่น เราเข้าไปหาสถานที่อันที่สงบในนั้นไม่ดีหรือ

เมื่อสงบแล้วจะเอาไปทำไม ก็เอาไประงับความวุ่นวาย ความฟุ้งซ่านนั้นแหละ ระงับตรงนั้น สงบตรงนั้น เวลารู้ก็รู้ตรงนั้น เวลาสุขก็สุขตรงนั้น เวลาวุ่นก็วุ่นตรงนั้น มีบารมีหรือไม่ ก็ตรงนั้นอีกแหละ นั้นแหละให้เข้าไปตรงนั้น แต่เราจะเข้าโดยวิธีไหน เข้ายังไง ทางเข้าอยู่ตรงไหน ทางเข้าของเขา พระพุทธเจ้าได้บอกแล้ว คือ อาณาปาณสติ หรือ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ตั้งแต่ปลายจมูก คือ ทางเข้าของเขาเข้าตรงนี้ ให้เข้าไปตามลม เวลาหายใจเข้า ก็ตามลมเข้าไป เวลาหายใจออก ก็ตามลมออกมา เข้าไปแล้วก็ออกมา อยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น ทีนี้เมื่อเวลาเราหายใจเข้าไป และออกมา ก็ให้มีพระพุทธเจ้า ซึ่งพวกเราเคารพนับถืออย่างยิ่ง ให้พระองค์ตามไปด้วยไม่ดีกว่าหรือ ดีกว่าหายใจทิ้งเฉยๆ เวลาหายใจเข้า ก็ว่า พุท เวลาหายใจออกก็ว่า โธ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความสงบในเบื้องต้น คือให้พระพุทธเจ้าเข้าไปด้วยและออกมาด้วย

เราปฏิบัติอยู่เพียงแค่นี้ เพื่อให้เข้าไประงับยับยั้งความวุ่นวาย เพื่อจะได้นำความสุขไปให้เขาบ้าง เพื่อจะได้นำบุญนำกุศลเข้าไปให้เขาบ้าง ทุกคนก็มีร่างกายอยู่แล้ว กายก็เอาใช้แล้ว งานก็ทำแล้ว งานทางโลกเราก็ได้ประโยชน์จากกายและจากใจ เราก็ได้ใช้เขาอยู่ งานทางธรรมก็ให้มีบ้าง โดยนำท่านเข้าไป เพราะธรรมะอยู่ตรงนี้ ตรงที่ท่ามกลาง เรียกว่า มัชฌิมา คือกลางของความเป็นโลก ที่เรียกว่าโลกธรรม คือธรรมประจำโลก ก็ให้อยู่ในความเป็นกลาง คือกลางรัก กลางชัง กลางความยินดียินร้าย คืออย่ายินดีและอย่ายินร้ายในอารมณ์ต่างๆ ให้อยู่ระหว่างกลางทั้งสองนั้น ตลอดทั้งอดีต ดีทั้งอดีต ไม่ดีทั้งอดีต ก็ให้อยู่ระหว่างกลาง กลางอดีต กลางอนาคต กลางอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ คือ ความยินดียินร้ายนั้นแหละ ให้ตั้งอยู่ในท่ามกลางนั้นแหละ เรียกว่ามัชฌิมาคือความเป็นกลาง สิ่งที่บังคับให้เราเกิดความวุ่นวาย ก็เพราะความยินดี และความยินร้าย ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต

เราเอาท่านผู้รู้ไปตั้งที่ตรงท่ามกลาง แล้วตามลมเข้าไป อันดับแรกตามลมตั้งแต่ปลายจมูกแล้วก็นำพระพุทธเจ้าเข้าไปด้วย ก็คือพุทโธ พระพุทธเจ้าก็คือพุทโธ ไม่ใช่เอาตัวตน เราเอาแต่ชื่อ เอาแต่นาม เอาแต่คำบริกรรม เข้าไปอยู่ในระหว่างความเป็นกลาง เพื่อกำจัดอดีตบ้าง เพื่อกำจัดอนาคตบ้าง เพื่อกำจัดความยินดีบ้าง เพื่อกำจัดความยินร้ายบ้าง จะได้อยู่ด้วยความเป็นกลาง สันติ หรือ ความสงบ ก็จะเริ่มเกิดขึ้นและเกิดขึ้น ความสงบอยู่ตรงที่ความเป็นกลางนี้แหละ

ที่เราทำให้เป็นกลางไม่ได้จึงลำบากอยู่ เดี๋ยวก็ยินดีทางนี้ เดี๋ยวก็ไปยินร้ายทางนั้น ยินดีทั้งที่อดีตผ่านมาแล้ว ยินร้ายทั้งที่อดีตผ่านมาแล้ว สองประเด็นนี้แหละ กระโดดข้ามกันไปข้ามกันมา ไม่ยอมอยู่ในระหว่างกลาง เพราะฉะนั้นเอาความเป็นกลางเป็นมัชฌิมาในตัวเองจึงยาก ไม่ว่าใครทั้งนั้น จะบรรลุเป้าหมายนี้ยาก

จะบรรลุหรือไม่ก็ตาม ให้เอาไว้ก่อน ให้เราเข้าไปก่อน ไปเห็นเสียก่อนว่าความเป็นกลางอยู่ตรงไหน เมื่อเราไปอยู่ด้วยความเป็นกลางแล้ว สงบแล้ว สุขแล้ว ตั้งมั่นแล้ว ใช่ว่าจะสุขอยู่เฉยๆก็หาไม่ ใช่จะไปตั้งมั่นอยู่เฉยๆก็หาไม่ ต้องใคร่ครวญ ใช้วิจารณญาณของตัวเองพิจารณาหาหนทางว่าทางที่เข้ามา เข้าโดยวิธีไหน เข้ามาแล้วมีอะไรในตัวเอง ต้องสำรวจให้รอบคอบ ที่ว่าเป็นญาณ เป็นฌาน หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นอิทธิวิธี เป็นมโนมยิทธิ เป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ ทั้งหมดก็อยู่ในนั้น

แล้วจะไปอยู่เฉยๆ ได้หรือ ธรรมะอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องดูเอาบ้าง นั้นแหละญาณก็เกิดในนั้น มีธรรมะสารพัดอย่างเกิดขึ้น มีแต่บุญทุกประเภท จะบุญใกล้ บุญไกล บุญที่ไหนก็ตาม ก็อยู่ท่ามกลางนั้น อยู่กับคนคนนั้น อยู่กับท่านผู้นั้น ไม่ว่าท่านไปทำมาจากไหน ก็อยู่กับท่านผู้นั้น ไม่ใช่ว่าท่านไปทำมาที่หนึ่งและจะไปอยู่ที่โน้น ทำแล้วก็มาอยู่กับท่านผู้นั้น คือผู้ที่อยู่กลางนั้นแหละ แม้จะทำอยู่ประเทศอินเดียก็ใช่ว่าบุญจะไปอยู่ที่อินเดีย ก็มาอยู่ในท่ามกลาง อยู่กับท่านผู้ทำ ท่านผู้รู้ที่อยู่ท่ามกลางนี้แหละ มารวมกันอยู่ตรงนี้หมด แม้ที่จะไปก่อภพก่อชาติ ที่เรียกว่าไปเกิดก็ท่านผู้นั้นแหละเป็นผู้ไป บุญของตัวเองมีเท่าไรเขาก็เอาไปหมดไปด้วยกันหมด

แต่สำคัญที่การไปนี้ไม่มีใครรู้ ปัญหายากอยู่ตรงนี้ แม้แต่จะไปสู่อบายภูมิก็ดี แม้แต่จะไปสู่สุคติภูมิก็ดี ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น มันสลับซับซ้อนปิดบังอย่างลึกซึ้งนัก ปิดบังชนิดให้คนปฏิเสธที่ที่จะไปนั้น เหมือนเราที่มานี้ก็ถูกปิดบัง ไม่รู้ว่ามาจากไหน ข้างหน้าที่จะไปก็ปิดอีก ฉะนั้นที่เรามาทำกันนี้ จึงเพื่ออะไร ถึงจะปิดจะเปิดอะไรก็ตาม ก็ยังทำกันอยู่นี้แหละ ก็เผื่อกันอยู่นี้แหละ เผื่อกันขนาดไหน ก็ปิดกันขนาดนั้น แต่ว่าผลก็รับ ถึงจะปิดก็รับ ถึงจะเปิดก็ได้รับ เพราะว่าผลนั้นอยู่ในตัวเขาแล้ว ก็เขาได้ทำแล้ว แต่ไปแบบลึกลับ

แม้แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในเบื้องต้นพระองค์ก็หาได้ทรงทราบไม่ว่ามาอย่างไรไปอย่างไร จนถึงตอนที่พระองค์จะตรัสรู้ เกิดบุพเพนิวาสานุสติญาณ จูตุปปาตญาณ อาสวักขยญาณ จึงได้ใคร่ครวญพิจารณาคืนหลัง จึงได้ทรงทราบวิถีการเดินทางของพระองค์มา แม้แต่บุคคลอื่นพระองค์ก็ทรงทราบว่าเคยได้ทำอะไรมา

เมื่อพระองค์ทรงรู้อย่างนี้แล้ว ทรงเปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นแล้ว พระองค์ก็เอามาสอนเรา แต่ถึงท่านจะสอนขนาดไหนก็ตาม ตัวภายในของเราก็ยังไม่เห็นอยู่ตามเคย แล้วก็ยังปฏิเสธอยู่ตามเคย ก็เพราะไม่เห็น ที่ไม่เห็นเพราะอะไร ก็เพราะเขาไปอยู่สองฟากฝั่ง ฝั่งที่หนึ่งคือความยินดี ฝั่งที่สองคือความยินร้าย ฝั่งที่หนึ่งคืออดีต ฝั่งที่สองคืออนาคต นี่เพราะเขาไม่ลงเป็นกลางให้ ความเป็นกลางไม่มีก็เลยไม่รู้ไม่เห็นอะไร เพราะเขาไม่อยู่กลาง ส่วนอดีตก็ลากหนีไปเสีย ส่วนอนาคตที่ยังไม่ถึงก็มาคำนวณไปโน่น ส่วนความยินดีก็ยินดีในสิ่งที่ได้ดีมา ส่วนความยินร้ายก็ไม่พอใจเกิดความเหี่ยวแห้งใจ เกิดโทมนัสคือความทุกข์ใจ แทนที่จะลงไปตรงกลางก็ไม่ลง แล้วจะไปพินิจพิจารณาอะไรในส่วนกลางในส่วนภายใน ก็พิจารณาไม่ได้ ได้แต่ส่วนภายนอก หยิบยกเอาแต่ส่วนภายนอกออกมาว่า ออกมาวิจารณ์กัน ไม่ได้เข้าไปเสียที ความที่จะได้รู้เห็นอันที่เราเป็นมาก็เลยไม่รู้ และการที่เราจะไปข้างหน้าก็ไม่รู้อีก ถูกปิดไปหมด ที่ปิดไว้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า อวิชชา

พระพุทธเจ้าเลยเอาความรู้อันนี้มาให้มาสอน อวิชชาได้แก่ความมืด คือไม่มีวิชชา มีแต่ความมืด นั้นแหละพระองค์จึงได้เอาอันนี้มาให้แก่จิตทั้งหลายในโลก ไม่ใช่เฉพาะแต่เราหรอก มันก็มืดมนด้วยกันอยู่นี้แหละ เพราะฉะนั้นเราจึงควรนำเข้าไป ตั้งแต่ปลายจมูกลงไป ตามลำคอลงไป เข้าไปหาปอด แล้วย้อนออกมา เข้าไปออกมาอยู่อย่างนี้ก่อน แล้วก็กำหนด พุทโธ พุทโธ เข้าไป นี่แหละการกระทำ นี่แหละการปฏิบัติ เราอย่าพากันไปเข้าใจว่าบริกรรมกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกแล้วจะว่าถูก จะบริกรรมอะไรก็ตามก็คือการหายใจอยู่ตามเคยนั้นแหละ จะว่ายุบหนอ พองหนอ ก็คือหายใจ หายใจเข้าก็ว่าพอง หายใจออกก็ว่ายุบ ก็อันเดียวกันนี้แหละ หายใจเข้าหายใจออก

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะให้หายใจเข้าออกอยู่เพียงเท่านี้ ผลของการเข้าออก ผลของการกำหนดเพื่ออะไร เราต้องคิด ที่ให้ทำนี้เขาประสงค์ความสงบ ไม่ใช่ว่าจะให้ตามลมอยู่อย่างนั้นตลอดปีตลอดชาติ ลมนั้นถึงเราจะตามก็ตาม ไม่ตามก็ตาม ลมนั้นก็เข้าๆ ออกๆ อยู่อย่างนั้น แต่ผลประโยชน์ที่เรามากำหนดนั้นเพื่ออะไร ให้พยายามเข้าใจกันบ้าง ก็เพื่อความสงบ พอสงบแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับลม เราก็จะได้พิจารณาธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะกำหนดกันแต่ลมเข้าลมออกอยู่นั้นแหละ การที่จะได้พิจารณาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นมา ก็เลยไม่ได้ ได้เพียงแค่ลมอยู่อย่างนั้นตลอดปีตลอดชาติ แต่ธรรมะอันที่จะเกิดจากการพิจารณาธรรมที่เราได้ด้วยความเป็นกลาง เป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งเพื่อจะได้หนีออกจากอวิชชา จะได้เปิดประตูออกบ้าง แต่นี่ให้เขาปิดประตูตันหมด เราไม่มีทางไปเลยได้แต่วนหน้าวนหลังอยู่ เขาใส่ลูกกลอนอะไรก็ไม่รู้ มีแต่ปิดประตูกันตัวเอง ไม่รู้จักทางไปไม่รู้จักทางมา

ทีนี้เราเข้าไปเปิดประตูบ้าง คือประตูอวิชชาที่ปิดเราอยู่ แล้วจะเข้าไปอย่างไร ก็เข้าไปท่ามกลางหน้าอก และให้อยู่ด้วยความเป็นกลาง กลางอดีต กลางอนาคต กลางความยินดี กลางความยินร้าย คือไม่กระทบทั้งสองฝั่ง ถ้าอยู่ด้วยความเป็นกลางได้นี้แหละ ที่พระองค์ เรียกว่า มัชฌิมา คือ ความอยู่ด้วยความเป็นกลาง นี่กลางข้างใน กลางของธรรมะ กลางมรรคกลางผล จะเกิดมรรคเกิดผล อะไรต่างๆก็จะเกิด หูทิพย์ ตาทิพย์ก็เกิดในนั้น มโนมยิทธิ อิทธิวิธีก็เกิดในนั้น อภิญญาณก็เกิดในนั้น ฌานก็เกิดในนั้น ทีนี้เราจะพิจารณาอะไรก็ง่าย ถ้าเข้าอยู่ในความเป็นกลางแล้ว ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วอยู่สบายแล้วจะอยู่ไปเลยเฉยๆ ให้พิจารณาอีกที เพื่อจะเกิดปัญญาขึ้นมาเพื่อหาหนทางออก ไม่ใช่ว่าจะไปหมกอยู่ ไปแล้วให้หาหนทางออกจากพวกนี้ พวกอดีต พวกอนาคต ดีในอดีต ดีในอนาคต ร้ายในอดีต ร้ายในอนาคต ก็เพื่อเราจะหนีพวกนี้ ไม่ใช่จะอยู่ เราต้องพิจารณาให้ดี ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นลึกซึ้งนัก ส่วนประเพณีนิยมของพวกเราที่พวกเราทำกันอยู่อย่างนี้ เป็นประเพณีนิยม ทำไปก็เพื่อเป็นความเป็นบุญเท่านั้น แต่ว่าบุญนั้นอยู่ที่ไหน ก็คืออยู่กับท่านผู้นั้นผู้ที่อยู่กับความเป็นกลาง ถ้าเข้าไปได้แล้วก็หมดปัญหา ทีนี้เราจะเข้าไปได้หรือเปล่า เข้าไปได้แล้วในนั้นก็ไม่ใช่ว่า จะมีแต่พวกฌาน พวกญาณ ยังมีสิ่งที่จะทำลาย พวกกามาสวะ อวิชชาสวะ อาสวะก็คือกิเลสที่ทับถมกัน ปิดบังกัน ก็ไม่ใช่ว่าจะมีอยู่อย่างเดียว นี้แหละเราจะเข้าไปแก้พวกนี้

ในจิตแต่ละคนไม่ใช่ว่าจะสะอาดหมด ที่เราว่าเราบริสุทธิ์ ก็ว่าเอาได้อยู่หรอก เป็นบริสุทธิ์ภายนอก เราไม่ประกอบความชั่ว เป็นความบริสุทธิ์ทางกาย ทางวาจา ก็ได้อยู่ แต่ส่วนภายใน สุทธิ อสุทธิปัจจัตตัง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็เพราะตน นี่ตรงนี้เราควรเข้าไปดู นี่คือวิธีปฏิบัติ ทางที่เราจะปฏิบัติ ถ้าเข้าถึงตรงนั้นแล้วไม่ได้เข้าไปหาใครและไม่ได้ไปเกาะใครหรือขอใคร ไม่ได้อ้างถึงใคร เป็นอิสระ เราจะเดินไปด้วยอิสระ และไม่ได้ไปอ้างคนนั้นเป็นอย่างนั้น องค์นี้เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องของตัวเองที่เข้าไปถึงแล้ว จึงไม่ได้ไปอ้างใคร คืออ้างตัวเอง แต่ก็อ้างอยู่ภายในไม่ได้ไปหาอวดคนหรอก เขารู้ของเขา เขาหาหนทางออกของเขา นั้นแหละจึงจะรู้ย้อนหลังได้ อดีตชาติอาจจะปรากฏบ้าง แต่เราไม่รู้ก็มี อาจเคยได้ประสบเห็นในนิมิตอะไรต่างๆ ซึ่งแสดงบอกเรื่องของเก่าของหลัง เกี่ยวกับเรื่องของอดีต เกี่ยวกับการกระทำของตัวเองที่เคยทำมา ก็คือกรรมนั้นแหละ กรรมที่เคยทำมาแต่อดีตชาติ มันก็บอก บอกเรื่องกรรม แล้วก็ตามมาสนอง ญาณก็เกิดในนั้น แล้วเรื่องอนาคต บางทีก็บอกหนทางที่จะไป บอกอยู่ในตัวเอง

เมื่อบอกแล้วเราก็ต้องไป ต้องเดินตามที่เขาบอก คือตัวของตัวเองสอนตัวเอง ในตอนนั้นเป็นเอกเทศ เราจะต้องไปของเรา จะไปใกล้ไปไกลได้ขนาดไหนก็แล้วแต่อายุของเรา พอกำลังจะได้ดีก็มาตายเสียอย่างนี้ก็มี แทนที่จะได้ดี พอเริ่มจะได้ดีนิดหน่อย มัจจุมารก็เลยมาตัดรอน มาสังหารกันอย่างนี้ก็มี เหมือนพระอริยเจ้า แค่ได้พระโสดาบัน แทนที่จะบรรลุไปถึงพระอนาคามีก็ไปไม่ได้ มัจจุราชมาตัดก่อน คือตายก่อนอย่างนี้ก็มี ที่ไปอยู่พรหมโลกกัน ไปอยู่ชั้นสุทธาวาสกันก็เพราะอายุนี้แหละ แทนที่จะบรรลุอรหันต์ มัจจุราชก็จัดการเสียก่อน แค่โสดาบันแทนที่จะได้บรรลุธรรมชั้นสูงขึ้นไปอีกก็ไม่ให้ไป เอาแค่นั้นก่อน พอได้เสวยสุขเสียก่อน แล้วจะได้มาเกิดอีกเสียก่อน ถ้าโสดาบันตามตำราว่าไว้ ถ้าเอกพิชี ก็อีกชาติเดียว ถ้าโกลังโกละก็อีก 3 ชาติ ถ้าสัตตักขัตตุปรมะก็ 7 ชาติ มีอยู่ 3 ชั้น นี่แค่โสดาบัน ไม่ใช่ว่าโสดาบันแล้วจะเสมอกัน แค่โสดาบันก็ยังไม่เสมอกันและก็เพราะมัจจุราชมาสังหารเสียก่อน กลัวเราจะได้ดี อย่างที่เรากำลังจะได้ดี บางทีก็มาสังหารเสีย เป็นได้นะพวกมาร เรียกมัจจุมาร

พวกเราอย่าพากันประมาทในชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง ถ้ามีโอกาสและเวลาให้พากันสำนึกบ้าง และให้พากันกระทำบ้าง ทำก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอก แค่นั่งเท่านั้น แต่ก็นั่งยากนัก ลำบากมากนัก เกี่ยวกับแข้งกับขา ตัวนี้แหละตัวลำบาก พอนั่งก็เจ็บ ก็ปวดแข้งปวดขา จะให้นั่งสบายก็นั่งได้ แต่ไม่ถูกระเบียบ ถ้านั่งฟังก็ฟังไป แต่การนั่งภาวนาก็ให้นั่งขัดสมาธิเหมือนพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าสอนมาอย่างนั้น ก็ต้องเอาตามนั้น แต่การนั่งนี่มันลำบาก ถึงจะลำบากก็ตาม หากมีส่วนศรัทธาก็ทำได้ ถึงจะเจ็บก็มีสิ่งตอบแทนความเจ็บ ก็คือบุญกุศลนั้นแหละ ถ้าหากว่านั่งได้ก็คือความสงบสุขเป็นสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ว่าเจ็บแล้วจะเจ็บโดยไร้ประโยชน์ พอออกจากภาวนาก็หาย ไม่ใช่ว่าจะเจ็บไปตลอด

ถึงการนั่งนั้นยากแต่ก็มีสิ่งตอบแทน เหมือนการทำบุญให้ทานร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง เราถือว่ามีสิ่งตอบแทนเราจึงให้ทาน ก็เหมือนกัน การภาวนาถึงเจ็บบ้างก็มีสิ่งตอบแทน ก็คือบุญกุศล ถ้าได้ความสงบ ความสงบนั้นแหละคือสิ่งตอบแทน ใจสบายตอบแทน แต่ออกมาแล้วขาก็หายเจ็บ ก็ทำงานได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปเลย ให้พากันคิดกันบ้าง ไม่ใช่ว่าคิดแต่ว่ามันเจ็บแล้วก็เลยเลิก ไม่ทำเลย ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาให้ ไม่รู้จะไปทำกันยังไง

เพราะฉะนั้น เราทุกคนที่ได้เกิดมาสมบูรณ์แล้วด้วยความเป็นมนุษย์สมบัติ ควรรักษาคุณสมบัติอันที่จะนำให้เราเป็นมนุษย์สมบัตินี้เอาไว้ ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เอาชีวิตไปแลกมา ก่อนที่เราจะได้มาประพฤติปฏิบัติ พระองค์เอาชีวิตไปแลกมาแต่ผู้เดียวในครั้งแรก ต่อมาจึงค่อยมีพระสงฆ์ สาวกเอาชีวิตไปแลกมา แล้วเราจึงได้พากันมาปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะมาแย่งเอากับเรา พระองค์สอนก็เพื่อจะให้เธอทั้งหลายถ้ายังไม่ถึงที่สุด ก็ให้ได้ไปเกิดทางที่ดี เพื่อจะได้เป็นมนุษย์สมบัติบ้าง ความหมายของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ให้เราเข้าใจตามนี้ ถ้าไปได้ถึงที่สุดก็ไป พระองค์ก็ไม่ได้ว่า ถ้าไม่ถึงก็ให้ได้มนุษย์สมบัติ ก็เหมือนที่เราได้มนุษย์สมบัติอยู่นี้ ถึงจะยากหรือง่าย ก็ได้มนุษย์สมบัติแล้ว ก็อยู่กันอย่างนี้แหละ ที่ทะเลาะกันก็ทะเลาะไป ที่เถียงกันก็เถียงไป ที่ฆ่ากันก็ฆ่าไป แต่เมื่อมาถึงแล้วซึ่งมนุษย์สมบัติจะทำยังไงได้ ก็ต้องอยู่กันจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ดังนั้น เราทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังมา ที่ได้อธิบายกันมา ก็พอเป็นที่เข้าใจ และให้พากันกำหนดจดจำไว้ เพื่อนำไปเป็นข้อคิด และเพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อท่านได้ปฏิบัติตาม ขออานิสงส์นั้นจงบังเกิดแก่ท่านผู้ฟัง และผู้ปฏิบัติตามสมควรแก่สติกำลังของตัวเองที่จะปฏิบัติได้ ดังที่ได้แสดงมา ก็สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:22:13 น.
Counter : 221 Pageviews.  

จิตตภาวนา



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ




นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆติ อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ
อัตโถ สาธายัสมันเตหิ สักกังจัง ธัมโม โสตัพโพติ

เอานั่งภาวนากันที่นี้ นั่งให้ดี ๆ ห้ามลุก นั่งให้ตลอด เจ็บแข็งเจ็บขาก็ให้อดเอา ให้ทนเอา แต่ก็อย่าไปง่วง อย่าไปนั่งภาวนาหัวหนักหรือว่าหนักหัว เหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา อันนั้นก็ไม่เอา เอาให้มันตรงๆ ให้หลับตาให้สนิท แล้วก็ให้ระวังความคิด อย่าคิดไปเหนือไปใต้ ตะวันตกตะวันออก ข้างบน ข้างล่าง ที่บ้าน ที่ช่อง ที่หลับที่นอน ให้ระวังสมกับว่าเรามาภาวนา ภาวนาไม่ใช่ว่ามาคิดเรื่องนอกเรื่อง ท่านบอกให้มาว่าพุทโธให้คิดกับพุทโธ ให้คิดกับพระพุทธเจ้า นั้นล่ะชื่อภาวนา คิดเป็นห่วงกับความหลับความนอน คิดเป็นห่วงที่หลับที่นอน คิดเป็นห่วงบ้านห่วงช่องมันก็ไม่ใช่ว่าเรามาภาวนา คือการภาวนานั้น เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรท่านให้ตั้งอยู่ในองค์พุทโธให้อยู่กับพระพุทธเจ้า

เดี๋ยวนี้เรารู้ไหมว่าเรามาอยู่กับพระพุทธเจ้า คือเรามาหาพระพุทธเจ้าเรามอบการถวายชีวิตต่อพระองค์ เราต้องยกถวายท่านทั้งหมด รวมความนึกความคิดทั้งหัวใจทั้งหมด ให้ยกถวายต่อพระพุทธเจ้าคือพุทโธ ถ้าเราจะพึ่งท่านจริงๆ เราจะอาศัยท่านจริง ๆ เราต้องยกถวายท่าน ให้ท่านเป็นผู้รักษา ให้พระพุทธเจ้าคือพุทโธเป็นผู้รักษา เพื่อจะคุ้มกันไม่ให้ไปตกอบายภูมิ มีใครล่ะจะมารักษาหัวใจคนได้ในโลกนี้ นอกจากพระพุทธเจ้าคือพุทโธ ก็มีพุทโธเท่านั้นที่จะมีความสามารถ ที่จะรักษาหัวใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ที่จะไม่ให้ไปตกอบายภูมิ

เมื่อเรามาเข้าใจพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย ท่านเป็นผู้ที่คุ้มกันอันตรายทุกอย่าง ทั้งภายนอกและภายใน ก็หัวใจดวงเดียวเท่านั้น จะยกให้ท่านไม่ได้หรือ ขอถวายท่านไม่ได้หรือ ตลอดถึงความนึกความคิดปรุงแต่งอะไรต่าง ๆ ก็ควรจะยกให้พระพุทธเจ้า เพื่อท่านจะได้รักษา นี่พระพุทธเจ้าอยู่ไหนละ พระพุทธเจ้าก็คือพุทโธ พุทโธก็คือพระพุทธเจ้า พุทโธก็คือใจ ใจก็คือ พุทโธ นั่นล่ะเรากำหนดลงตรงนั้น อย่าให้มันไปท่องเที่ยวตามทะเลทะเลและชายทะเล หรือว่าสถานที่ต่างๆ มอบให้พระพุทธเจ้าคือพุทโธ อย่าให้มันไปพุทโธก็อยู่กับเรานี่ เราก็อยู่กับพุทโธสิ

สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ก็คือความรู้ตัว สติมันอยู่ตรงไหนล่ะและอะไรเป็นสติ และสติมันอยู่ที่ไหน ที่ตั้งของสติมันอยู่ตรงไหนและมันงอกออกจากไหน ก็สติมันก็งอกออกจากใจ และมันก็อยู่ที่หัวใจเป็นต้นของสติ สัมปชัญญะก็ออกจากหัวใจ มันก็อยู่ในใจ มันไม่ได้ไปอยู่นอกจากใจ สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ปัญญาก็ดี แล้วเราจะเอาสติที่เราว่าพากันไปฝึกสตินั่นน่ะ แล้วจะเอาสติไปใช้เวลาไหน เอาสัมปชัญญะไปใช้เวลาไหน ถ้าเราไม่ใช่ในเวลาที่เรานั่งภาวนา สติมันก็งอกออกจากจิต จิตมันมีสติ สัมปชัญญะมันก็งอกออกจากจิต ก็จิตมันมีสติสัมปชัญญะรวมความได้แล้วก็คือ ตัวของเรา มันมีอยู่ในตัวเราเอง มันไม่ใช่ของที่อยู่นอก

ก็เอาสติของตัวเองอันที่มันเกิดขึ้นจากหัวใจตัวเอง ก็เอามาระงับหัวใจตัวเอง สัมปชัญญะก็ออกจากหัวใจตัวเอง สัมปชัญญะก็ออกจากหัวใจตัวเองก็เอามันมารู้หัวใจตัวเอง ก็หมายความว่าของที่อยู่ในตัวเอง แล้วก็เอามาใช้ให้มันเป็นประโยชน์กับตัวเอง นั้นล่ะเรียกว่า พระธรรม เราต้องใช้ให้มันเป็น เราศึกษามาแล้วเราก็เรียนมาแล้ว จะเอามาใช้แต่เฉพาะเวลาก่อนจะทำ ก่อนพูด ก่อนคิด นั่นใครล่ะใช้มันได้

บางครั้งมันพูดไม่มีสติมันก็มี ทำไม่มีสติมันก็ยังมี เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้เวลาไหน อันนี้มันใช้ข้างนอกน่ะ คือก่อนจะกระทำนี่อันนี้มันข้างนอกคือความเป็นอยู่ของเรามีอยู่เป็นปกติธรรมที่เราจะพูดจะทำจะคิด อันนี้มันเป็นเครื่องคุ้มกันข้างนอกใช้เฉพาะข้างนอก แต่ถ้าจะใช้เข้าไปข้างในแล้วมันเข้าไปรู้เฉพาะ มันจะกระดุกกระดิกไปไหน มันจะกระโดดไปไหน แล้วมันจะเอาอะไรเข้ามา มันจะเอาเรื่องอะไรเข้ามา มันต้องรู้ สติมันต้องกันไว้ก็บอกมันสิว่านอกจากพุทโธแล้วก็อย่าไปยุ่งมัน นอกจากพุทโธแล้วอย่าไปเกี่ยวข้องก็บอกมันสิ

และเราจะไปเอาอะไรกับสิ่งภายนอกเราก็รู้กันแล้วว่า ของภายนอกมันเป็นเครื่องรบกวนแห่งความสงบ เราจะเอาสติของเรามาคุ้มกันเรื่องต่างๆอันที่มันจะเกิดขึ้น และมันจะมาเชื่อมโยงกันภายใน คนในก็อย่าให้มันออกคนนอกก็อย่าให้มันเข้ามา กันมันได้ไหม คือสติ เป็นทำนบหรือว่าเป็นกำแพงที่จะต้องกั้นอารมณ์ มันจะไหลไปตามความอยาก ไหลไปตามความโลภความโกรธ ความหลง ไหลไปตามความรัก ความเกลียด ความชัง จิตใจมันไหลไปทางนั้น เรามีอะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น

พระองค์ก็ตรัสว่าสติเป็นทำนบ เป็นเครื่องกั้นเพื่อไม่ให้มันไหลไม่ให้จิตใจของเรามันไหลไปตามอารมณ์ สติเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ แต่สตินั้นอย่าแต่ว่าเฉยๆ แล้วตัวจริงของสติก็ให้มันมีด้วย ให้มันรู้เท่าเอาทันด้วย มีสติมันก็มีสัมปชัญญะ มีสัมปชัญญะมันก็มีสติ เพราะของสองอย่างมันสัมพันธ์กันอยู่พอมีสติระลึกได้มันก็รู้ตัวพอรู้ตัวมันก็มีสติ มันสัมพันธ์กันอยู่มันไม่ใช่ว่าแบ่งกันอยู่

ธรรมะไม่ใช่แบ่งกันอยู่คนละที่ ที่มันแบ่งกันก็คือศึกษาเท่านั้น เรื่องของปริยัติธรรม นักปราชญ์ท่านคัดออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วก็ให้มีความหมายแต่ละอย่าง ละอย่าง อันนั้นมันเรื่องของการศึกษาจะต้องมีข้ออรรถข้อธรรมเป็นข้อ ๆ เรียงกันเป็นหมวดๆ เป็นหมู่ๆ คือว่าแบ่งกันไปได้ในหลักของการศึกษา ถ้ามันเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้แบ่งกันหรอก มันสัมพันธ์กันอยู่ขอให้เราเข้าใจอย่างนี้ การภาวนาหรือการปฏิบัติของเราจะเป็นไปด้วยความสะดวก จะไม่มีความสงสัยและจะไม่มีความยุ่ง การปฏิบัติของเรามันก็จะก้าวเข้าไปหาความสงบได้ง่าย

เวลามันสงบมันรวมหมด สติ สมาธิ ปัญญา มันรวมมาหมดแต่มันยากก็คือความสงบนี่มันยาก เรากั้นทางนี้มันก็ออกทางโน้น กั้นทางโน้นมันก็หลบทางนี้ ปิดข้างบนมันก็ลงข้างล่าง ปิดข้างหลังมันก็ไปข้างหน้าปิดข้างหน้ามันก็ออกข้างหลัง ปิดซ้ายออกขวา ปิดขวามันก็ออกซ้าย มันมีทางออกของมันจนได้ อันนี้ล่ะมันยาก ถ้าเห็นว่ามันยากเราก็คิดว่าจะไม่ทำก็ไม่ใช่ มันก็มีทางได้คือ เราอย่าไปสงสัย คืออย่าส่งออกนอก

เวลาภาวนาอย่างส่งจิตออก แม้แต่ข้างล่างอย่าส่งมันไป แม้แต่นอกศาลาอย่าส่งให้มันออกไป ให้เพ่งเข้าไปข้างใน ในทรวงอกโน่น เข้าไปดูซิว่าทรวงอกมันมีอะไร เวลามันสงบมันใช่ว่าจะมาสงบอยู่ข้างนอก เหมือนกับเราไปฝึกสติ ยกไม้ ยกมือ ยกแข้ง ยกขา ให้สติมันมาอยู่กับมือซ้ายหรือมือขวา ขาขวา ขาซ้าย จะเรียกว่าตั้งสติไว้ในกายเขาว่า แต่ไม่เห็นมันสงบซักที เวลาสงบจะให้มันไปสงบตรงไหน เวลาฝึกสติ จะให้มันอยู่กับมือซ้ายหรือ หรือจะให้มันมาอยู่กับมือขวา หรือจะให้มันสงบลงขาซ้ายหรือขาขวา เวลามันสงบมันเลยหาที่ตั้งไม่ได้ ได้แต่ว่าสติเฉยๆ แต่ไม่รู้ว่าฝึกสติแล้วเพื่ออะไร ไม่ได้คิด ได้แต่ว่าฝึกสติ ก็โดยมาก มันมักจะมีความคิดไปอย่างนั้น เราฝึกสติ ฝึกอยู่ภายใน ฝึกแล้วสตินั่นสามารถที่จะนำใจให้เข้าไปสู่ระบบของความสงบ แล้วมันก็ไปตั้งอยู่ภายใน มันสงบ

สถานที่ตั้งของจิตมันไม่ใช่อยู่ข้างนอก เพราะฐานความสงบมันไม่ใช่อยู่ข้างนอก ฐานความสงบมันอยู่ข้างใน พุทโธมันอยู่ในอย่ามาพุทโธอยู่นอกสติก็ให้มันอยู่ข้างใน อย่าให้มันอยู่ข้างนอก สัมปชัญญะก็ให้มันอยู่ข้างในอย่าให้มีอยู่ข้างนอก ทบทวนเข้าไปที่ว่า ทวนกระแส เราก็มีแต่ว่าอ่านเฉยๆว่าทวนกระแส ที่เขาเรียนมา ที่พระเขียนมาให้ว่ามันทวนกระแส มันทวนยังไงล่ะ ก็ไปอ่าน แล้วก็หนังสือที่เขียนดีๆ ก็ว่าหนังสือนี่ดีถูก ไอ้หนังสือมันเอาผิดเอาถูกไม่ได้หรอก ถ้ามันถูกว่าใจตัวเองล่ะ แล้วมันเป็นยังไง แล้วมันถูกไหม มันทวนกระแสเข้ามาได้ไหม แล้วทวนเข้าไปตั้งอยู่ในฐานที่ตั้งได้ไหม มันก็ไม่ได้อีก ก็ได้แค่ว่าดีเท่านั้น แต่ว่าจะผิดหรือถูกไม่รู้นะ แต่ว่าเขาเขียนดีเราก็เลยว่าดีกับเขาเฉยๆ แต่เวลามันเข้าไปจริงมันจะเข้าไปได้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราก็ไม่ได้ทดสอบ และเมื่อเข้าไปทวนกระแสไปแล้วมันจะเป็นยังไงอยู่ข้างใน ในเมื่อเวลาเราทวนเข้าไปแล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้น ในเมื่อที่เราทวนกระแสเข้าไปแล้วนั้น ก็หาได้รู้ไม่พอทวนเข้าไปแล้วไปปะทะกับหินโสโครก ไปปะทะกับหินภูเขา มันนะไม่กระโดดออกมาหรือ มันไม่ใช่ว่า เหมือนว่าในหนังสือที่เขียนเอาไว้ ทวนเข้าไปแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นๆ มันว่าได้ แต่เมื่อเวลามันเข้าไป สิ่งที่มันกีดขวางอยู่ในระยะหนทางที่เราจะทวนกระแสเข้าไป แล้วมันจะมีอะไรมันนะเปิดโล่งให้เราเชียวหรอ มันไม่ได้เปิดโล่งนะ มันจะต้องมีอะไรประสบการณ์ มันต้องมีอะไรปะทะ

ในเมื่อที่มันจะเดินเข้าไปความสงบนั้น ก็กิเลสของเราทั้งหลายมันยังมีอยู่ แล้วมันจะไม่กีดขวางหรือ สิ่งที่มากีดขวางก็คือกิเลสนั่นแหละพอมันจะเข้าไปกิเลสมันก็มาสกัด มันเอาอารมณ์ข้างนอก พอเราจะมีความสงบสักหน่อย เดี๋ยวมันก็ผุดขึ้นมา แล้วมันก็มันก็ไปเชื่อมกับอารมณ์ภายนอกก็ชักชวนกันไป มันก็เลยเปิดหัวใจเอาไว้ เลยทวนเข้าไปไม่ได้ ก็เลยไปตามเรื่องตามราวอีก มันปิดมันบังขนาดนั้นน่ะกิเลส เราอย่าเข้าใจว่าง่ายๆ นะ

ไอ้รู้นะมันรู้หรอก ศึกษาเล่าเรียนมันก็มี ในตำรับตำรามันก็มี มันก็รู้กันทั้งนั้น แต่มันทำไมถึงหลง ก็มันหลงก็เพราะหลงความรู้ แล้วมันก็รู้ในเรื่องที่มันหลง มันก็หลงกันอยู่นั่นล่ะ ก็คือมันปิดเอาไว้ มันบังเอาไว้เวลาเราจะแทรกเข้าไปเท่านั้นหละมันสกัดทันที เพราะกิเลสทั้งหลายมันเอาอารมณ์เข้ามาสกัด พอมันสกัดแล้ว มันก็ฉวยโอกาสแย่งชิงเอาไปเสียแทนที่จะเป็นพุทโธ หรือจะเข้าไปหาพุทโธ มันไปอะไรไม่รู้ เอาเรื่องอะไรมาคิด เอาเรื่องอะไรมานึก เอาเรื่องอะไรมาแต่ง ไม่รู้มันแต่งเรื่องอะไรสารพัด เรื่องตัวเองบ้าง เรื่องของคนอื่นเขาบ้าง รักเขาบ้าง เกลียดเขาบ้างไม่รู้ว่ามันไปได้ยังไง ทั้งเรื่องตัวเอง ทั้งเรื่องคนอื่น ทั้งเรื่องดี ทั้งเรื่องไม่ดีมันสับเปลี่ยนกันอยู่ อันไหนดีมันก็พอใจ อันไหนไม่ดีมันก็ร้อน เกิดไม่พอใจมันก็หงุดหงิด นี่มันสกัด มันต้านทานเอาไว้ มัน ไม่ยอมให้พระพุทธเจ้าเข้าไป ไม่ให้เข้าง่ายๆ

เรื่องของกิเลสมันปิดมันบังถึงขนาดนี้ มันส่วนหยาบ ถ้าเราผ่านส่วนหยาบนี้ได้ เราก็พอที่จะมีช่องทาง เพราะมันผ่านส่วนหยาบไปได้แล้ว มันจะมีช่องทางที่จะเปิดหนทางให้เราที่จะเข้าไปสู่ความสงบได้ คือความละเอียดมันก็จะยิ่งไปกว่าที่เราอยู่ธรรมดา จิตมันจะต้องมีความละเอียดในตัวเองด้วยความสงบนั้นมันก็จะตรงเข้าไป มันรู้จักเส้นทางแล้ว ทีนี้ส่วนหยาบ ๆมันผ่านไปแล้ว แล้วมันก็เข้าไปที่ว่าในตำรา ท่านว่ามันก็กิเลสส่วนกลางนั่นมันก็เข้าไปนั้น เข้าไปในหยาบบ้างละเอียดบ้าง มันผสมกันบางครั้งมันก็ละเอียด บางครั้งมันก็มาหยาบ สลับกันไปสลับกันมา

พอเราเร่งความเพียรเข้าไป กำหนดจิตเข้าไป จิตมันก็จะต้องผ่านคือถ้ามันสงบได้ด้วยความแน่นอน คือมันสงบยิ่งกว่านี้อีก คือมันผ่านเข้าไปอีกทีนี้จิตมันก็เข้าขั้นความละเอียด ความละเอียดมันก็มีมาในตัวเองของมันนั้นน่ะ มันไม่ได้มาจากไหนหรอก มันผิดกันกับจิตเราธรรมดาที่อยู่ทุกวันนี้มันผิดกัน คนละโลก ถ้ามันเข้าไปแล้ว มันเหมือนกับอยู่คนละโลก

แล้วมันยิ่งสงบมากเท่าไร ความละเอียดมันก็ยิ่งมาก และความสุขมันก็ยิ่งมาก ความเบาตน เบากาย เบาใจ โล่งอกโล่งใจ สมองปลอดโปร่ง ถ้ามันเข้าไปสู่ความสงบ จิตมันมีความละเอียดที่เราจะเรียกว่าอุปจารสมาธิ ก็ดี อัปปนาสมาธิ ก็ดี มันแล้วแต่เราจะว่ากับมัน ถ้ามันเข้าไปแล้วมันก็ไม่ได้บอกว่า นี่อุปจารนะ อันนี้อัปปนานะ มันก็ไม่ได้ว่าหรอกมีแต่คนเขาว่า เรามาเรียนตามหลัก ก็ว่าไปตามหลัก แต่เมื่อจิตมันลงจริงๆ มันสงบจริง ๆ มันไม่ได้บอกหรอก ว่านี่อุปจาระ อันนี้อัปปนา มันไม่ได้ว่าหรอก ถ้ามันสงบแล้วมันละเอียดลิ่วลงไป จิตมันก็ตก ตกถึงฐานที่ตั้งแล้วมันเกิดความแน่นอนและมีความมั่นคง ไม่มีความหวั่นไหวตามสัญญาตามอารมณ์ต่าง ๆ ของภายนอก ซึ่งมันจะมาสัมผัส และมันไม่ยอมรับและมันก็ไม่ตามกับสิ่งเหล่านั้น มันมีความมั่นคงในตัวของมันนั้นแหละจึงเรียกว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น จิตมันตั้งมั่นในความสงบ และความสงบมันก็ต้องมั่นอยู่กับจิต นั่นแหละจึงเรียกว่าสมาธิเมื่อมันสงบและมีความชำนิชำนาญ ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออกชำนาญในความสงบ ครั้งแรกมันก็มีความสุขในตัวเองก่อน มีความสบาย

ในตัวเองก่อน บางครั้งคนบางคนก็ยังไม่รู้อาศัยแต่ความสงบนั้นเป็นเครื่องอยู่ก็สบายและก็ออกมา บางคนปัญญาไม่เกิดได้แต่ความสงบมันก็มี บางคนก็พอตกเข้าไปหาความสงบ มันก็เกิดของมันก็มี มันพร้อมไปก็มี แต่ว่าความเข้าใจในสิ่งที่เราเห็นเรารู้นั้น ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไรที่มันยังมีคือความสงสัยในสิ่งที่ตนไปรู้ไปเห็น บางจิตบางขณะเข้าไปแล้วมันสงบอยู่และมันมีความสุข อิ่ม แล้วก็ได้เวลาแล้วก็ย้อนคืน ก็ปกติไม่มีอะไร ก็ได้อยู่เพียงแค่นี้ คือทำแล้ว จับตัวเขาได้แล้ว แต่ว่าใช้งานไม่เป็น พอรู้ตัวเขาแล้ว พอเห็นตัวเขาแล้ว จะเอามาทำให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองไม่เป็น มันก็เป็นเหตุที่ทำให้เราช้าอีก กว่ามันจะเกิดความรู้ขึ้นมามันก็ต้องใช้เวลา ลักษณะนั้น เพราะเรายังใช้จิตที่มันมีความชำนาญในความสงบนั้นยังไม่เป็น ก็ได้แต่เสวยสุข ที่ครูบาอาจารย์ท่านว่ามันติดสุขติดสุข มันก็อาจจะว่าได้ แต่มันก็เป็นเพียงชั่วขณะ

มันก็ต้องมีสุข ถ้ามันไม่มีสุข การกระทำก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเป็นผลลัพธ์ และจะมีความหมายอย่างไรในสมาธิ ถ้ามันปราศจากซึ่งความสุขความสุขมันเป็นผลลัพธ์ มันเป็นพลังงานของจิตที่จะทำให้จิตนั้นมีพลังที่จะเกิดความขยันหมั่นเพียรในด้านการกระทำ ก็เพราะความสุขซึ่งเกิดจากความสงบนั้น ถ้าหากเราใช้งานเป็น คือเรามีแต่ความสงบ เข้าไปเวลาไหนมันก็สงบ ได้เวลาก็ถอนออกมา ได้แต่ความสุข ได้แต่รู้อยู่ในจิต ได้แต่จิต มันรู้อยู่เฉยๆ แต่ว่าปัญญามันไม่กว้าง ไม่ขยายตัวออก อันนี้เราต้องใช้ให้เป็นถ้ามันได้มาแล้วเราต้องใช้ให้เป็น ให้มันไปทำงาน ทำงานคืออะไรคือพิจารณา พิจารณาได้ตอนนั้นมันไม่หนีนะ เราจะยกกระดูกเพ่งใส่กระดูกกำหนดใส่กระดูกสันหลังหรือว่าซี่โครง กำหนดไปเถอะ เพ่งไปเถอะ เพ่งไปใส่ตับ ใส่ไต ใส่อะไรภายในนั่นล่ะ นั่นเราจะเอาพวกนี้เข้ามาพิจารณาได้ มากำหนดได้ เพ่งได้ เดี๋ยวก็แจ้งขึ้นมาทันที จิตมันเกิดผลและก็เกิดประสิทธิภาพขึ้นในตัวของมัน จะทำให้รู้พวกโครงกระดูก พวกตับ พวกไตพวกไส้ พวกพุง พวกอะไรต่ออะไร นั่นเมื่อเวลาเราทำงาน คำว่าทำงานก็คือพิจารณา เราพิจารณาได้ ถ้าเรายังไม่สงบ เราไปพิจารณากันก่อนมันจึงขาดทุนอยู่เดี๋ยวนี้ มันจึงหาสถานที่ลงไม่ได้

พิจารณาในขันธ์ห้า รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดีวิญญาณก็ดี พอเราจะนำมาพิจารณาเท่านั้น จะใคร่ครวญเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่ามันกระโดดไปไหนอีก มันหาได้อยู่กับสิ่งที่เราพิจารณานั้นไม่ เราก็ว่าเราเดินวิปัสสนา ก็เอาอย่างนั้นมาเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาหรอกแต่เป็นวิปัสสนาไม่คงที่ วิปัสสนามันไม่อยู่กับตัวเอง วิปัสสนาเคลื่อนที่ เลยหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ ทีนี้เราก็เลยหารสชาติแห่งคุณธรรมอันที่เราได้ปฏิบัตินั้นมาปรากฏภายในจิตของตัวเอง เลยไม่ได้ประสบการณ์เลย แต่ตัวเองก็ยังยืนยันว่าเป็นธรรม หรือว่าตัวเองปฏิบัติอยู่ตัวเองก็ถือว่าตัวเองได้ธรรม ถือว่าตัวเองมีสติ มันก็ดันทุรังไปอีก ที่จะร่อนลงหาความสงบอันเป็นหลักแหล่งเป็นที่ตั้งของคุณธรรมทั้งหลาย อันประกอบไปด้วยความสงบอันยอดยิ่งจะแหวกว่ายเข้าไป มันก็เลยไม่ได้ปรากฏ

เมื่อมันเข้าไปตั้งโดยมีฐานที่ตั้งด้วยความชำนาญแล้ว ทำงานไปเถอะทีนี้ พิจารณาไปเถอะจะไปไล่ให้มันหนีมันก็ไม่หนี บอกไปเถอะไปทะเลไปเที่ยวทะเลมันก็ไม่ไป บอกให้ไปตลาดลาดดีมันก็ไม่ไป จะให้มันหนีไปไหนมันไม่ไปหรอก มันทำงานของมันในตัว มันก็รู้ในตัวของมัน มันจะหนีไปไหน มันก็รู้ว่าสุขแล้ว รู้ว่ามันดีแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้ไปหรอก ไล่ให้มันไปมันก็ไม่ไป มีแต่พิจารณาในตัวเอง ยิ่งพิจารณาเท่าไหร่มันก็ยิ่งแจ้งยิ่งละเอียด ยิ่งเข้าใจดี ยิ่งปรากฏขึ้นมาเท่านั้น

ทีนี้ ถ้ามันรู้ขึ้นด้วยความเป็นจริง อันซึ่งจิตมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิทีนี้คำว่าละกิเลส ไม่ได้บอกยาก ไม่ได้บอกมันหรอก มันละของมันเองก็เมื่อมันสงบด้วยความสุขแล้ว มันจะมายุ่งอะไรกับของภายนอก เรื่อง ลดละ มานะ ทิฏฐิ อะไรต่าง ๆ ไอ้เขา ไอ้เรา ไอ้กู ไอ้มึงน่ะ พวกทิฏฐิทั้งหลายเหล่านี้ แม้กระทั่งถึงความโลภ ความโกรธ ความหลง กระทั่งถึงว่าความกำหนัดรักใคร่ ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ไม่ได้ไปบอกมันหรอกว่าละกิเลส ถ้าลงว่าสงบแล้ว ผลของความสงบมันฝ่าฟันสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว มันลดพลังของมันเองในตัวด้วยคุณธรรมอันซึ่งมันนำให้เกิดในตนนั้น

เมื่อจิตของเรามันมีพลังธรรมแล้ว มีธรรมะในตัวแล้วมันมีกำลัง ก็กำลังกิเลสมันก็ลดสิ มันก็ลดน้อยถอยลง มันก็ค่อยละของมันไปเองมันก็ค่อยหมดของมัน ถ้ามันเห็นความจริงแล้ว เรื่องโลภ เรื่องโกรธ เรื่องหลง เรื่องรัก เรื่องเกลียด เรื่องไม่รัก ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่นในรส รักในระหว่างซึ่งกันและกันนั้น ก็เมื่อมันมองไปเห็นโครงกระดูกแล้วมันไปสวยที่ไหน มันไปงามที่ไหน มันไปหล่อที่ไหน มันเห็นกระดูก เห็นตับ เห็นไต มันไม่มีอะไรที่ไปสวย ไปงาม ทีนี้ความรักใคร่ยินดีในรูปเสียง กลิ่น รส อันเป็นกามารมณ์จะไปเกิดขึ้นได้ยังไง มันระงับของมันในตัว มันเห็นแล้ว แต่มันก็ไม่ได้ขาดหรอก ว่าจะละหมด มันก็ไม่ใช่คุณธรรมมันมีเท่าไหร่ในตัวเอง มันก็ละได้เท่านั้น ก็เบาไป มันก็ดีไป จิตมันก็สดใสไป แล้วมันก็ดำเนินตัวของมันเอง แล้วก็ใคร่ครวญพิจารณา ยิ่งพิจารณา ยิ่งเห็น ยิ่งรู้ ยิ่งเข้าใจ ยิ่งแจ่มแจ้ง ทีนี้มันจะเกิดได้หรือราคะ มันก็มีอยู่แต่มันจะแสดงขึ้นที่ว่า กุปปะธัมโม มันกำเริบไม่ได้เพราะอะไร เพราะสมาธิคือความสงบเข้าไปสกัดแล้ว เข้าไปตั้งอยู่แล้วและมันก็ไม่รับสัมผัสกับของภายนอก ตามันรับมันเห็นรูป หูได้ยินเสียงมันไม่ตามเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนพอเห็นรูปสวยๆ มันไม่ได้อยู่กับตัวเองมันไปอยู่กับเขา สวยหมด หล่อหมด มันไปพัวพันอยู่กับเขา ก็นึกสิ นึกตามวิธีการของโลกียะวิสัย มันก็ปรุงแต่งไปตามหน้าที่ของมัน พอปรุงแต่งเท่านั้นเขาเรียกว่ามันดำริในกาม พอเกิดความดำริ มันก็กำเริบ ถ้ามันกำเริบแล้ว มันก็ยิ่งทวี ทีนี้มันก็หลงตัวหมด มันไปอยู่นู่นหมดเพราะมันขาดหลัก ขาดที่ตั้ง ขาดความเป็นสมาธิ

ถึงยังไงก็ขอให้มีสมาธิไว้เสียก่อน จะรู้ หรือไม่รู้อะไรก็อย่าไปคำนึงเอาตัวสมาธิคือความสงบนี้ไว้ก่อน มันจะรู้อะไรหรือไม่รู้อะไรก็ช่างมันเถอะอย่าไปอยากมัน แล้วมันจะเป็นยังไงค่อยว่ากันทีหลัง เดี๋ยวจะไปใช้แต่ปัญญาใช้แต่หลักวิปัสสนา คือความคิดมันก็เลยยุ่ง เลยหาหลักเกณฑ์ไม่ได้ กิเลสมันก็ยิ่งกำเริบ ยิ่งไปพิจารณาเพศตรงกันข้าม แล้วมันพิจารณาในทางอสุภะกรรมฐานชะเมื่อไร มันพิจารณาหาเรื่องที่จะผูกพัน ผูกมัดตัวเองที่ให้มันมีความสัมพันธ์ หาโอกาสอันที่เราจะต้องให้ได้ตามความประสงค์มันไปทำนองนั้นมันจะไปพิจารณาในวิปัสสนากรรมฐานอะไรล่ะ มันจะไปเห็นปฏิกูลอะไรล่ะ หนักเข้ามันก็เกิดความรัก ความพอใจ ทั้งเขาและทั้งเราใช้กลอุบายต่าง ๆ เพื่อจะให้เกิดความสัมพันธ์กัน มันก็ลงมากิเลสอีกมันก็วกมาหากิเลสอีก

ถ้าจิตของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ที่เราใช้งานให้มันเป็นพิจารณาใคร่ครวญในสกลกายของตัวเอง เพื่อจะให้มันเกิดความรู้แจ้งขึ้นในตัวเอง เพื่อได้เป็นความจริง เป็นของจริง มันขึ้นอยู่กับเรา ตับ ไต ไส้พุง อะไรมันก็ขึ้นอยู่กับเรา จิตของเรามันก็อยู่กับเรา แล้วมันจะไปเห็นอะไรเป็นของจริง มันก็เห็นตัวเองเป็นของจริง จริงอะไร จริงในปฏิกูล จริงในความสกปรกเป็นของที่น่าเกลียดโสโครก จริงในเรื่องอนิจจังความไม่เที่ยงจริงในความทุกขัง จริงในอนัตตา มันก็จริงไปหมด ถ้ามันจริงอย่างนี้มันจะไปกำเริบได้หรือกาม ไอ้เจ้าราคะ เจ้าโทสะ ไอ้เจ้าโมหะ มันจะไปกำเริบได้ยังไง ก็มันมีที่ตั้ง ฐานมันมีแล้ว สติมันก็อยู่กับสมาธิมันพร้อมกันแล้ว สัมปชัญญะมันก็พร้อมกันแล้ว มันจะโยกย้าย มันไปไม่ได้ เมื่อมันไม่ไปมันจะไปกำเริบยังไงกาม แล้วมันจะไปรักคนนั้น มันจะไปชอบคนนี้มันสวย มันหล่อ มันจะไปหรือ มันไม่ได้ไป ถ้าเราระงับเจ้าราคะตัวนี้ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่ามันละขาดนะ มันระงับได้ มันไม่กำเริบ

เพราะตัวสมาธิที่เราเรียกว่า ฌาน นั่นล่ะว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อะไรก็ว่าเอาไปเถอะอันนั้น ใครจะว่าไงก็ว่าไปเถอะ สมาธิมันอยู่แล้ว แล้วมันก็พร้อมมาหมดแล้ว สัมมาสมาธิมีอะไรเป็นเครื่องรับรอง ก็ฌานทั้งสี่นั่นล่ะมารับรอง ก็ได้สมาธิ ฌานทั้งสี่มันก็มา นั่นมันก็กดเอาไว้ พอมันจะไปเท่านั้นล่ะ หลับตาเท่านั้น มันก็ลิ่วลงไปเลย มันดิ่งลงไปเลย มันจะไปอะไรอยู่กับคนนั้น มันไม่ได้ไป เลยมันกลับคืน อยู่กับเจ้าของอยู่กับคนนี้ ทีนี้มันจะไปกำเริบอะไร มันจะไปรักมันจะไปชอบ มันจะไปยินดี จะไปเกิดความกำหนัด มันไม่ได้ไปหรอกมันอยู่ในตัวของมัน กิเลสมันก็จะมีทางลดบ้าง เมื่อกิเลสคือราคะ มันมีความลดลง มันเบา มันบาง โลภ โกรธ หลง มันก็ลดไปตามกันสิ

ถ้าตัวราคะไม่มี มันจะโลภมาทำไมถ้าตัวราคะไม่มีมันจะโกธรมาทำไม ถ้าตัวราคะไม่มีมันจะหลงไปทำไม ที่มันโลภ ที่มันโกรธ ที่มันหลงโลภก็มาเพื่อราคะ ก็เพื่อกามนั่นละ ถ้ามันมีกามละก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้ามันมีใครที่จะมารบกวน ที่จะมาก่อกวน แย่งชิง ไอ้เจ้าโทสะ ไอ้เจ้าโกรธ มันก็ต้องเกิด เพราะมันมีกาม ไอ้เจ้าหลง ไอ้ความยินดีในรูป ในเสียงในกลิ่น ในรส ความกำหนัดในรูป ในเสียง ในกลิ่นในรสมันก็มี ก็ยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส มันก็เกิดความกำหนัด มันก็หลง ก็เพราะมันมีกามนั่นน่ะ ก็เพราะราคะตัวนี้ ถ้าเราลดตัวนี้ได้ ไอ้พวกเหล่านั้น มันก็พลอยที่จะลดกำลังมันลง กำลังมันก็จะอ่อนลง ทีนี้อ่อนแอลง ไม่แสดงแล้ว แสดงไม่ขึ้นหรอก มันจะขึ้นอะไร อันนี้มันกดหัวมันอยู่ มันไม่ได้ไปหนี มันไม่ได้ตามรูป ไม่ได้ตามเสียง ไม่ได้ตามเกลิ่น ตามรส ตามอะไรมันไม่ได้ไป ถ้าไม่ไปมันจะไปกำหนัดยังไง มันจะไปกำเริบยังไง มันจะไปรักยังไง รักมันก็ไม่รัก เกลียดมันก็ไม่เกลียด มันอยู่แล้ว

ทีนี้มันก็สบาย มันก็สุข จะมีก็ตามไม่มีก็ตาม มันอยู่ได้ ก็มันสุขในตัวเองแล้ว มันก็อยู่ได้ มันมีความดีในตัวเอง มันก็อยู่กับความดีตัวเอง มันอยู่กับความสุขตัวเองก็อยู่ได้ มีมันก็เท่านั้น ไม่มีก็เท่านั้น มันก็สุขเท่าที่มันมีอยู่ในตัวเอง เมื่อความดีมันมีมากขึ้น มากขึ้น ของภายนอกคุณธรรม สิ่งที่เขาจะมาบูชา มันก็ต้องมาเอง ถ้ามันมีคุณธรรมคนที่จะบูชาธรรมมันต้องมี จะไปคิดว่ามันจะอดอยาก อย่าไปคิดว่ามันทุกข์ นั้นแหละมันจะยิ่งมาก ยิ่งจะลำบากในการต้อนรับแขก แขกผู้คนมันจะมาหามันจะมาบูชาธรรมะ เพราะจิตของเรามีคุณธรรมแล้ว เราจะพูดก็จะเป็นธรรมะ เราจะทำก็จะเป็นธรรมะ เราจะคิดมันก็เป็นธรรมะ มันมีแต่ธรรมล้วน ๆ ทั้งภายนอกและภายใน ใครล่ะจะไม่บูชา มันจะอดอยากรึ เขาจะเอาอะไรมาบูชา ก็เครื่องสักกะวรารามิส คืออามิสทั้งหลายนั้น ก็เขาอยากได้บุญกับเรา มาบูชาธรรมก็เขาอยากได้บุญนั้นล่ะ ทีนี้มันอดซะเมื่อไร ก็เหมือนกับเรากินบุญของครูบาอาจารย์ มันมาจากไหน ก็ไม่ใช่ว่ามาจากบุญ บารมี คือคุณธรรมของครูบาอาจารย์นั่นหรือ ทีนี้มันอดอยากไหมล่ะ มันก็ไม่อดล่ะซิ มันก็ไหลมา เทมา ถ้าจิตของเรามีคุณธรรมที่มันมีความสุขในตัวเอง ซึ่งมันไม่มีความต้องการและปรารถนาอะไรอย่าเข้าใจว่ามันจะอดอยาก มันไม่ได้อด มันไม่ได้ทุกข์ได้ยากกับสิ่งเหล่านี้ มีแต่มันจะมาให้เราลำบาก มันมากเกินไปมันก็เลยลำบาก

นั่นเพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นอย่างนั้นเราอย่าไปคิด คิดในแง่นี้และมุมนี้ มันจะเป็นการที่จะให้เราสงสัย และจะทำใจของเราไปหาความสงบไม่ได้มันเกิดความสงสัย แล้วไปแล้วมันจะเห็นอะไร มันจะมีอะไร มันจะว่ากิเลสตัวนั้นมันอ้างขึ้นมา มันกีดกันไปหมด มันไม่ยอม ถ้าอย่างนั้นก็เลยไม่ทำก็เลยไม่ได้ ไม่ได้ก็ยิ่งอด มันกีดกันถึงขนาดนั้นนะกิเลสน่ะ กีดกัน ถึงอติเรกราช ไม่ใช่คนธรรมดาแต่คนไม่รู้ ถ้าเรามาเข้าใจในอย่างนี้ เราจะไม่สงสัยในการปฏิบัติ เราจะดำเนินจิตของเรานั้นเข้าไปสู่ระบบของความสงบด้วยองค์ภาวนา คือพุทโธ

เราเอาพุทโธคำเดียว แต่อย่ามาตั้งที่ปลายจมูกอย่างเดียว มันไม่ใช่ฐานที่ตั้งของจิต เป็นฐานรวมของจิตในเบื้องต้น เป็นที่รวมจิตคือรวมความรู้ในเบื้องต้น เมื่อรวมเข้าไปแล้ว ก็ฐานที่ตั้งมันอยู่ข้างใน มันจะอยู่ตรงไหน ก็ไปหาเอาเถอะข้างใน ต้นตอของความรู้มันอยู่ตรงไหน มันก็อยู่ตรงนั้น เราจะมาตั้งอยู่แต่ปลายจมูกนี่หมดปีหมดชาติ พุทโธ พุทโธก็ให้อยู่ที่ปลายจมูก อานาปานสติอยู่ ไอ้จิตที่มันจะสงบลงไป มันจะดับลงไปมันละเอียดลงไปนั่นน่ะ ก็เข้าใจว่าตัวเองลืมพุทโธ ว่าพุทโธหาย ไม่ได้ว่าพุทโธ เอ้าถอนขึ้นมาว่าอีก ตั้งแล้วก็ตั้งเล่า วันนี้ก็ตั้ง พรุ่งนี้ก็ตั้ง มะรืนนี้ก็ตั้งเช้าก็ตั้ง เย็นก็ตั้ง กลางคืนก็ตั้งอยู่ตรงนี้ ถ้ามันจะลงไปสู่ฐานที่ตั้ง มันก็ไม่รับรองมันอีก ก็ไม่เอาก็ไปดึงมันขึ้นมาอีกมันจะไปได้อะไรที่ไหน มันจะไปสงบลงฐานที่ตั้งได้อย่างไร มันก็เลยลงไม่ได้ก็เลยมาเอาอยู่แค่ปลายจมูกไม่ใช่ว่ามันจะสงบแล้ว จะมาอยู่ที่ปลายจมูกนะจิตน่ะ ไม่ใช่ฐานที่ตั้งมันอยู่ตรงนี้ มันเป็นที่รวมในเบื้องต้น รวมมาแล้วก็ส่งเข้าไป ตามลมเข้าออก ตามตัวรู้เข้าไป ให้มันไปสงบอยู่ข้างใน ทิ้งมันตรงนี้แล้วให้มันไปพุทโธอยู่ข้างในแล้วมันจะได้เกิดความสว่างไสวขึ้น มันจะรู้จะเห็นมันอยู่ข้างใน แล้วมันจะเกิดประสิทธิภาพขึ้น ทีนี้เราจะมาตั้งอยู่แค่ปลายจมูก มันไม่ใช่ฐานที่ตั้ง ไม่ใช่ว่าสมาธิจะมาอยู่ตั้งไว้ที่ปลายจมูก มันไม่ใช่ โดยมากมันมักจะเป็นอย่างนั้น เท่าที่เคยสัมผัสมากับบุคคลส่วนมาก เคยไปเทศน์ในสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ เขาก็ว่าเขาตั้งอยู่ในปลายจมูก กำหนดอานาปานสติเขาก็มาอ้างของเขา ลมเข้า ลมออก อยู่นั่น แต่มันก็ไม่เห็นรู้อะไร มันไม่เห็นอะไรเขาก็ว่ามา

ความเข้าใจของเขามันมีเพียงแค่นี้ แล้วก็ไปสอนเขาก็สอนเพียงแค่นี้ พระทั้งหลายผู้ที่สอนนั่น ก็ได้แต่ว่าอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกว่าพุทโธ พุทโธ ก็พุทโธเข้า พุทโธออก ก็เอาแต่เพียงแค่นั้น คนที่ปฏิบัติก็เข้าใจว่าจะตั้งอยู่ตรงนั้นตลอดไป ก็พุทโธอยู่ที่ปลายจมูก ลมเข้าลมออก ก็อยู่ตรงนั้น เขาบอกให้อยู่ตรงนั้นก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ไอ้จะปล่อยลงไป จิตมันจะสงบลงไป ก็ว่าพุทโธหายอีก ไม่ได้ว่าพุทโธ ดึงขื้นมาอีกมันจะออกนอกก็ดึงเข้ามาก็อยู่แค่นั้น ทีนี้มันก็เลยไม่ไปไม่มา มันก็เลยไม่เกิดอะไรขึ้น ก็เลยหาว่าตัวเองภาวนาไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่เป็น นั่นล่ะกล่าวหาตัวเองไปเรื่อยไปซิ

นี่ก็เพราะอะไร ก็เราไม่เข้าใจฐานที่ตั้งของจิต คิดว่าจิตนั้นจะมาตั้งอยู่ที่ปลายจมูก และสงบแล้วก็จะมาเป็นสมาธิอยู่ที่ปลายจมูก มันเข้าใจอย่างนี้เราก็บอกว่าปล่อยสิ ปล่อยให้มันลงไป ทิ้งมันซะปลายจมูกนั่นน่ะ อย่ามายุ่งกับมันเถอะ มันเข้า มันออกของมันเองหรอก ถ้ามันสงบแล้วก็ให้สงบลงไป อย่ามาเอาแต่พุทโธอยู่เฉพาะแค่นี้มันไม่ใช่ มันเสียเวลาเราทำให้เรานี่เสียเวลาแล้วเรา แทนที่เราจะได้ประสบความสงบอันแท้จริง มันก็เลยไม่ได้ มันก็เลยเสียเวลาตัวเอง เสียวัน เสียคืน เสียปี เสียเดือนเสียอายุอานามไป สังขารร่างการก็ชำรุดทรุดโทรม แก่เฒ่าชรา เอาไปเอามาเลยตาย แทนที่จะได้มันก็เลยไม่ได้ แล้วก็ได้แต่แค่บ่นว่า มันไม่เห็นเป็นอะไร ความสงบอยู่ตรงไหน อะไร เป็นไม่รู้ทั้งนั้น ก็ได้แต่ทำ ทำอยู่อย่างนั้น วันนี้ก็ทำ พรุ่งนี้ก็ทำ มะรืนนี้ก็ทำ เอ! มันอยู่ตรงไหนกันหนอ ความสงบความเป็นสมาธิ แล้วมันเป็นอย่างไง เป็นแล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้นจากสมาธินั้น เกิดจากความสงบนั้น เมื่อไหร่มันจะเห็น เมื่อไหร่มันจะรู้ เมื่อไหร่มันจะมีมา ก็มีแต่ทำกับทำ แล้วมันก็เลยไม่ประสบ แล้วอายุอานามมันก็เลยมากไปๆ สังขารมันเป็นของที่ทนทานได้หรือ ถ้าอายุมันก็หมดไป สังขารมันไม่ใช่ของที่จะทนทานนะ มันก็ชำรุดไป ผลสุดท้ายก็ได้เวลามันก็ไป ก็เลยไม่ได้อะไรอีก สมาธิก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน

ได้แต่แค่ฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์ชั้นผู้ดีมา ก็โห่กัน ก็คิดว่าจะได้เหมือนอย่างท่าน คิดว่าจะได้กับท่าน มันไม่ได้หรอกก็ไปเห่อกันเฉย ๆ ฟังแล้วก็ฟัง ว่าท่านเทศน์ดีบ้าง อันนั้นอันนี้บ้าง อันดีล่ะเทศน์นั่น แล้วใจตัวเองล่ะมันจะเป็นเหมือนอย่างเทศน์ไหม จะทำได้เหมือนอย่างนั้นไหมล่ะจะให้มันเป็นเหมือนอย่างนั้นไหมล่ะ มันก็ไม่ได้อีก ก็ได้แต่เห่อเฉยๆ เห่อไปก็จนลืมตัวเอง เข้าใจว่าตนเองนั้นน่ะจะไม่มี แล้วจะเป็นไม่ได้ก็คิดว่าจะได้แต่เฉพาะท่าน นั่น จิตมันเลยไปอยู่นู้นหมด เลยไม่อยู่กับตัวเองความดีเลยไปอยู่กับท่านหมด นี่ นี่ นี่มันเป็นอย่างนี้ มันเสียตรงนี้

ท่านก็เทศน์ให้ดูตัวเองอยู่แล้ว ของดีก็อยู่กับเรา ทำไมจะไม่เอาล่ะทั้งที่ว่าท่านก็บอกแล้วว่า อยู่กับเรา อยู่กับตัวเอง แล้วมันอยู่ยังไงก็ไม่รู้อีกก็คอยแต่จะไปขอท่าน ให้ท่านช่วยบ้าง อันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง มันช่วยไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่ทำเอง มันช่วยไม่ได้หรอก ถ้าเราทำของเราได้ ทำเองให้จิตมันสงบมันไม่ต้องไปขอจากท่านหรอก มันได้ของมันเอง แล้วมันก็เป็นของมันเองอยู่ในนี้ ไม่ได้ขอจากใคร ฟังแต่อุบายของท่านว่ามันตรงกับจริตหรือว่าจิตของเราซึ่งเป็นอยู่หรือไม่ เราคอยแต่จะจับเอาอุบายธรรมจากท่านในเมื่อที่เรายังไม่เข้าใจในเรื่องธรรมะ ที่มันเป็นอยู่แล้ว เมื่อท่านพูดออกมาแล้วมันตรงกับสิ่งที่เราเป็นนั้น เราก็เลยหายสงสัย

เมื่อหายสงสัย เราก็ทำจิตของเรามันก็ผ่านไป มันก็ก้าวเข้าไป มันก็ละเอียดเข้าไป นี่มันได้เฉพาะเรา ไม่ใช่ว่าได้กับใคร เพราะเราเข้าใจในด้านการกระทำ เราฟังแล้วเราไม่รู้จักว่าจะทำยังไงมันจะถูก แล้วทำยังไงมันถึงจะได้ ก็ได้แต่สงสัยอยู่นั่นล่ะ จะเอาอารมณ์อะไร จะบริกรรมอะไรจะว่าพุทโธก็สงสัยธรรมโม ว่าธรรมโมก็สงสัย สังโฆ จะว่าพุทโธก็สงสัย สัมมาอะระหังจะว่าสัมมาอะระหัง ก็สงสัยยุบหนอ พองหนอ ก็แล้วแต่ล่ะมันสงสัยไปเรื่อย ก็จิตมันไม่ลงมันก็สงสัย จิตมันก็ไม่สงบมันก็สงสัยทั้งนั้นแล้วอะไรมันถูก ก็มันสงบกับอะไรล่ะ ถ้ามันสงบกับอะไร ก็อันนั้นล่ะมันถูก เราจะเอาอะไรมาว่าก็ตามเถอะ แต่เวลามันสงบมันก็สงบเหมือนกันนั่นล่ะ ก็คือจิตนั่นหละมันสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มันไปสำคัญอยู่ตรงนั้นที่ว่ามันถูกหรือผิด เราจะมาเอาคำบริกรรมไปอ้างกันอันนั้นผิดอันนี้ถูก มันเสียเวลาถ้าอันไหนมันทำให้จิตของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธินั้น อันนั้นล่ะถูกแล้วก็จับตัวนั้นให้ดี แล้วเราก็รักษาหัวใจให้ดี

ถ้ามันสงบแล้ว เราไม่ใช่ว่าจะมาเล่นคำบริกรรมอยู่หรอก ก็มันสงบแล้วมันจะมาเล่นอะไรกับคำบริกรรม เป็นแต่เพียงว่านึกเท่านั้น จะกำหนดหลับตา หายใจวูบเดียวเท่านั้น มันลงแล้ว แล้วมันจะไปได้ว่าพุทโธอะไรเหมือนแต่ก่อน มันเป็นตัวจริงพุทโธอยู่ข้างใน เกิดความสว่างไสวขึ้นอยู่ข้างใน พุทโธ แปลว่า ผู้ตื่น พุทโธ แปล ว่า ผู้เบิกบาน พุทโธแปลว่า ผู้รู้ โน่น มันอยู่ข้างใน มันเบิก มันบาน มันตื่นมันรู้ มันไม่ได้ว่าอีกหรอก มีแต่ค้นคว้าเท่านั้น ค้นหาความเจริงเท่านั้นมันเกิดมาจากไหน แล้วมันจะไปไหน แล้วมันมาจากไหน แล้วก็ออกจากนี่มันจะไปไหน นั่นนะหาตัวนั้น เจอหน้ามันสักทีเถอะ แล้วถามมันดูทีว่ามันมาจากไหน แล้วมาอยู่นี่ แล้วออกจากนี่มันจะไปไหน ก็ถามมันดูชิ ที่เราหามานี่ เรายังไม่เจอมันนะ มันยังไม่ได้เจอหน้ามัน เจ้าพระยาจิตราชนี่นะมันไม่ให้เจอง่ายๆ นะ มันหลบหน้า ถ้าเจอมันก็จะได้ถามมัน ว่ามาจากไหน จะไปไหน จะไปกับอะไร มันจะได้ถามกัน

เดี๋ยวนี้มันยังถามกันไม่ได้เลย เจอกันไม่ได้ ไม่ได้มีเวลาเจอมันไม่ได้พบปะสังสรรค์อะไรกับมันเลย ตามแล้วก็ตาม ว่าแล้วก็ว่า นึกแล้วก็นึก แล้วมันจะไปยังไงกัน ก็เลยจะไม่รู้เรื่อง คอยแต่ว่าเราทำดีแล้ว คือบุญแล้ว คาดหมายกันไปว่าบุญข้างหน้าคอยเรา ทำอย่างนี้มันจะได้ไหมบุญก็คอยแต่จะถามอยู่นั่น คือคอยข้างหน้า มันไม่ได้เห็นตัวมัน มันจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ มันไม่ได้ยอมพบปะ มันไม่ให้ใครพบทั้งนั้น เราจะเข้าไปดูพุทโธเข้าไปเข้าไป พลิกตาลปัตรไปเลย หลบ แทนที่เราจะไปตั้งมั่นอยู่เราจะได้เห็น เห็นกันมันจะได้ซักกันถามกัน หอบกิเลสมาเท่าไร แล้วอยู่กับกิเลสเท่าไหร่ แล้วก็จะไปกับกิเลสเท่าไหร่ มันจะได้ถามกันบ้าง อันนี้มันไม่ได้ถามกันเลย มีแต่มางมหากันอยู่เหมือนกับงมเข็มในทะเล ว่าเข็มเล่มนี้มันอยู่ตรงไหน ไม่รู้เมื่อไรมันจะไปถูกเข็มเล่มนั้น ที่เราหาใจเราเดี๋ยวนี้ก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับงมเข็มในทะเล ไม่รู้ว่าเราจะเอาตรงไหนเราจะเอาตรงนี้ มันก็หลบไปนั่น ตามไปตรงนั้น มันหลบมานี่ ตามมาตรงนี้ก็หลบไปนั้น ยอมให้เจอมั๊ยล่ะ ไม่ยอม มันกลัวเรานะเห็นหน้ามันมันไม่ให้เห็นง่ายๆ เหมือนกับองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ได้ตามมาไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ ที่หากันนั่น กี่อสงไขย กี่ล้านแสนมหากัป โบราณก็ว่า ก็ไม่เจอ กว่าจะมาเจอกัน ก็ที่ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา เมืองพุทธคยาอยู่ข้างแม่น้ำเนรัญชลาเมืองแขกนั่น พระองค์ตามแล้วก็ตาม ตามในเวสสันดรก็ไม่ทัน หลบจากนั้นมาก็จะได้มาเป็นสิทธัตถะตอนนี้ล่ะตามทัน พอตามทันเท่านั้นที่เราเรียกว่า สมาธิ ก็หมายถึงว่า พระองค์ติดตามมหาเจ้าพระยาจิตราช ก็จะมาพบไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลล์ เมื่อมาพบแล้วตรงนั้นได้หญ้าคา ๘ กำ ของโสตธิพราหมณ์ แล้วก็มาทำเป็นบัลลังก์ หญ้าคา ๘ กำนั้น ก็ได้แก่ โลกธรรมทั้ง ๘ พระองค์ก็มานั่งทับไม่ให้โลกธรรมขึ้นมาเหยียบอีก ขึ้นมาสู่หัวใจอีก นั่นล่ะพระองค์มาตามทันตรงนั้น

พอตามทันแล้วรู้แล้วมายังไงก็ไล่ไปสิ ตั้งแต่เวสสันดรชาดก สิบชาติมีอะไรบ้าง พระองค์ตามดู ที่มาจากไหน มันมามากแสนจะมาก แล้วมันจะไปอีก ถ้าไปมันยิ่งจะมากกว่านี้ ท่านรู้แล้ว ความทุกข์ความยากในการมา มันลำบากตรากตรำเหลือเกิน ทุลักทุเล สารพัด ไม่ไปอีก ที่ไม่ไปจะทำยังไงถึงไม่ไปล่ะ อะไรมันพาให้มา ก็ กิเลสตัณหา ก็ สมุทัยกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันนี้หรือมันพามา ก็ตัวนี้แหละมันพามา ก็รู้ตัวมัน ที่นี้มันจะพาเราไปอีกไม่ได้ เพราะเราไม่ไปกับมัน เราเห็นโทษแล้ว เพราะมันทำให้เรามีโทษมามาก จะไม่ตาม กำจัดด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาน จุตูปปาตญาน ก็ว่าได้ อาสวักขยญาน ก็ว่าไปอีก ญาณปัญญามันเกิด ก็มันเกิดแล้ว พวกนี้มันจะมาอยู่กับญาณปัญญาของพระองค์ได้หรือ ธรรมะอันนี้มันเป็นอาวุธขัดเกลาออกได้ ชำระมันได้ ตัดตีน ตัดมือมันชะสิ

เพราะตัวตัณหา มันเป็นนายช่าง สร้างโลก ตั้งแต่เทวโลก ลงมามนุษยโลก ทั่วขอบจักรวาล ก็มีแต่ตัณหาทั้งนั้น คือเราพากันมาอยู่เดี๋ยวนี้มานั่งรวมกันอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เรื่องตัณหามันพา เรื่องของตัณหาทั้งนั้น กิเลสตัณหามันเป็นนายช่างสร้างเราให้มานั่งหลับหู หลับตา ฟังเทศน์ ฟังธรรมบวชเรียน เขียนอ่านกันอยู่นี่ ทำมาหากินอยู่นี่ รบราฆ่าฟันกันตัวไหนล่ะก็นายช่างตัวนี้ คือตัณหานี่ล่ะ สร้างมา พระองค์รู้ว่านายช่างมันสร้างเรามาสร้างภพ สร้างชาติ ทำให้เราเกิดภพเกิดชาติ เพราะนายช่างนี้ เอาล่ะเรารู้ ตัดตีนตัดมือมันไม่ให้มันไปก่อสร้างอีก ไม่ให้มันไปก่อภพก่อชาติอีกพระองค์ก็หมด ประกาศตนสัมมาสัมพุทธะ ก็เราตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ก็ตัวนี้ล่ะ ชนะอันนี้ล่ะ ก็ด้วยสมาธิไม่ใช่หรือ ต่อสู้มา ถ้าตามทัน ไม่ไปทีนี้เราไม่ไปอีกแล้ว และก็ไม่มีอีกแล้ว เลิกกันเสียทีโลกนี้

เมื่อพระองค์จะหนีจากโลก เพราะพระองค์เบื่อโลกแล้ว ลาโลก เมื่อ พระองค์จะลาโลก จะหนีจากโลก เบื่อโลก เอาละโลกทั้งหลายนี้ ข้านั่นรู้แล้ว ข้านี่เบื่อแล้ว ข้านี่จะหนีแล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะไม่ได้เห็นเจ้าอีกเสียแล้ว เราจะขอฝากพระบาทของเราคือรอยเท้า ก็ไปเหยียบไปชะที่หินตรงใดตรงหนึ่ง เหยียบเอาไว้ก็เป็นรอยนั่นแหละ สัตว์โลกเอ๋ย แต่นี้ไปเห็นแต่รอยเรานะ ตัวเราคงไม่เห็น นั่น สั่งเลย หนีไปเลย นิพพานังปะระมัง สุขัง เห็นแต่รอยเราเท่านั้นจะไม่เห็นเราอีก จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็เหมือนกัน ก่อนจะจากโลกนั้นก็เหยียบเอาไว้ เราก็ถือเป็นรอยพระบาท ไปกราบกัน กราบแล้วก็กราบอีก กราบอีก กราบอีก พระพุทธเจ้าเบื่อแล้ว ท่านได้เอาแต่รอยไว้ให้เราเห็นเท่านั้นนี่ล่ะพระองค์ตามทัน ตามเจ้าพระยาจิตราช มันอาศัยพระนางตัณหาเป็นอัครมเหสี คอยแต่เชื่อฟังพระนางตัณหา มันบอกยังไงก็ทำตาม มันหมด หลงหมด เจ้าพระยาจิตราชก็หลงใหลใฝ่ฝันมาจนตลอด ทีนี้เราจะหลงไปไหนอีก อาศัยพระนางตัณหาเป็นมเหสีของเจ้าพระยาจิตราช มันคอยคุมอยู่ตลอดทุกวันนี้ มันบอกได้ใช้ฟัง พระยาจิตราชจะไปไหนมันบอกหมด มันไม่ไปไหนหรอก มันก็ไปหากันนั่นล่ะ เขาก็ไปหาเรา เราก็ไปหาเขา นี่มันสัมพันธ์กันอยู่นี้ มันไม่ได้บอกไปไหนนะ ไอ้นั่นมันก็บอกมานี่ ไอ้นี่มันก็บอกไปนั่น นี่มันไม่ได้บอกไปไหนดอก บอกพระยาจิตราชก็บอกให้หลงมันน่ะ พอไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัสมันอยู่อย่างนี้ล่ะ

ใครจะเทศน์ดีแค่ไหนก็ไปเถอะ เทศน์มันก็สำนวนก็ธรรมดา มันก็ไพเราะเพราะพริ้ง เราก็ไปยินดีกับคำเทศน์ว่าดี แต่ความเป็นจริงมันมีอะไรบ้างที่ในตัวเอง ก็คิดเอาหน่อยเถอะ ที่เราหาอยู่เดี๋ยวนี้ ที่นั่งภาวนาหลับหู หลับตา ทุกวัน ทุกวัน ฝนจะตก แดดจะออก ก็พากันอุตส่าห์พยายามมา ทั้งยุง ทั้งริ้น ทั้งร้อน ทั้งหนาว เอาทั้งนั้น ทั้งจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเจ็บแข็งเจ็บขา ปวดหลังปวดเอวก็ทน ก็ตามหามันอยู่นี่ล่ะ ไม่รู้ว่าจะไปเจอกันที่ไหนล่ะ จะไปอำลากันตรงไหน นั่นก็แล้วแต่นะ ว่าไปเถอะไหว้ไปเถอะ ไหว้พระสวดมนต์กันไป มันก็ไม่เป็นไร ก็ไม่ว่า มันก็ไม่ผิดมันก็ไม่ถูก มันก็ดีนั่นล่ะ แต่ว่าเราจะหาอะไรอีก ความหมายเป็นยังไงอีกก็คิดเอาหน่อย ก็ดีอยู่หรอกไอ้ทางดีน่ะ แต่ให้คิดเอาหน่อย คิดหามันมันก็มีข้อที่ให้คิด อยู่นั่นล่ะ ให้คิดเอาหน่อย สักน้อยหนึ่งเท่านั้นล่ะ มันจะไปยังไงเท่านั้นล่ะ

ทำแล้วก็ต้องคิดบ้าง อย่าไปมัวแต่อันเดียว ก็ว่าไปดีอันเดียว สิ่งที่ เราต้องการมันมีอยู่นี่ เราท่านทั้งหลายเป็นผู้ปฎิบัติดีอยู่แล้ว ความสงบเรียบร้อยของพวกเรานั่นมันมีอยู่ ความเป็นศีลมันก็มีอยู่ ศีลก็คือ รักษากาย วาจา เรียบร้อยมันก็เรียบร้อยแล้ว มันก็เป็นแล้ว ชั่วโมงกว่าๆ มันศีลสมบูรณ์แล้ว ยังสมาธิเท่านั้น เรียกว่าเราเป็นผู้ปฎิบัติดี จึงได้สมกับว่าสุปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี ใครปฏิบัติดีก็คือพวกเรา เป็นผู้ปฏิบัติดีเดียวนี้เงียบกัน นั่งกันเรียบร้อยไม่มีผิดในศีลในธรรมอะไร มันดีไหมล่ะ นั่นล่ะสุปะฏิปันโน คือ ผู้ปฏิบัติดี ก็คือเรา ส่วนพระสงฆ์ อริยสงฆ์ ท่านไปนิพพานแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับท่านหรอก ท่านไม่ได้มาเกี่ยวกันหรอก ท่านทำดีไปหมดแล้ว

สงฆ์ใครล่ะ สงฆ์เรานี้ล่ะ สงฆ์ทั้งหมดศาลานี่ล่ะ นี่ล่ะ สุปะฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติดี อุชุปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ก็ตรงเข้าไปชี ก็ตรงเข้าไปข้างในโน่น อย่าตรงออกนอก แล้วตรงไปทำไม ก็ตรงไปหา ญายะก็ความเป็นธรรม นั่น ผู้ปฏิบัติเป็นธรรมเขาเรียกว่า ญายะปะฏิปันโนเมื่อไปถึงธรรมแล้ว ตรงเข้าถึงธรรมะแล้ว ก็สามีจิปะฏิปันโน ก็ชอบ ละสิก็ไปถึงธรรมแล้ว มันก็จะไปไหนละ ก็ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติชอบเห็นไหม แล้วมันจะไปปฏิบัติตรงไหน มันจึงจะชอบ ถ้าเราไม่ชอบ อัตตสัมมาปณิธิก็ ตั้งตนไว้ชอบ ก็ตั้งไว้ตรงนี่ละ ตั้งไว้ใน สามีจิปะฏิปันโน เรียกว่าตั้งตนไว้ชอบแล้วจะไปตั้งตรงไหน พระพุทธเจ้าบอกให้ไปตั้งตรงไหน ไปนั่งตรงไหนจึงเรียกว่าตั้งตนไว้ชอบ พระองค์ก็ไม่ได้จำกัดในสถานที่ ว่าตั้งตรงนั้นนะจึงจะถูก จึงเป็น อัตตสัมมาปณิธิ คือ เรียกว่าตั้งตนไว้ชอบ พระองค์ก็ไม่กำหนดกฎเกณฑ์สถานที่ เราก็พิจารณาเอาบ้าง สามีจิปะฏิปันโน ผู้ปฏิบัติชอบ ก็ตั้งตนไว้ชอบนี่ แต่มันก็ชอบอย่างนี้ กำลังชอบอยู่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มเข้าไปหาความชอบ

ครั้งแรกก็สุปฏิปันโนก่อน ต่อไปมันก็ตรงเข้าไป ตรงเข้าไปข้างในอย่าตรงไปข้างนอก ก็ตรงเข้าไปหาธรรม ญายะปะฏิปันโนผู้ปฎิบัติเป็นธรรมพระธรรมกองเต็มอยู่นั่น คอยเราอยู่ ไปชิไปกับพุทโธ พอไปถึงแล้วมันก็เป็นสามีจิปะฏิปันโน ก็ผู้ปฏิบัติชอบ ก็ตั้งตนไว้ชอบ คิดให้เป็นหน่อยโอปนยิโก ทวนเข้ามาหาตัวเองกันเสียบ้าง ธรรมะก็รู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือว่าอริยะเจ้าทั้งหลาย มันก็จริง ก็ออกมาจากท่าน แต่ท่านก็บ่งชี้มาหาตัวเรา ธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ก็ว่ามาอยู่กับเราก็มาอยู่ที่ใจ อยู่ที่ใจเรา ท่านก็บอกมาอย่างนี้ แต่เราก็อย่าไปเหมาให้มันเห็นว่าพระธรรมอยู่ที่ใจก็เหมาให้ว่า ธรรมะอยู่ที่ใจ เหมาให้เลยก็ไม่ได้อีกทั้งๆ ที่ธรรมะไม่มีสักตัวเดียว ก็เลยไปเหมาและเห็นพระท่านว่า ธรรมะอยู่ที่ใจก็เลยไปว่าอยู่ที่ใจเรา ทั้งปฏิบัติอะไรก็ยังไม่เป็น ไม่ได้ปลุกเสกหรือว่าไม่ได้เสกสรรจิตใจของตัวเองให้เกิดธรรมะ ธรรมโมอะไรเกิดขึ้นมาเลย แล้วจะไปเหมาให้มันเลย ก็ไปเหมาให้มันเลย เดี๋ยวมันก็เคยตัว เลยไม่ได้สร้างสรรค์จิตของตัวเองให้ได้มีคุณธรรมเลย ตกลงก็กลายเป็น มานะทิฏฐินี่เขาเรียกว่าเหมาให้ไม่เป็น คล้ายกับไปยกเมฆให้ลอยเพราะทั้งที่ตัวเองไม่มีการปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติดีแล้ว ธรรมะก็หาว่ามาอยู่ที่ใจ มัน ถูกอยู่หรอก คือได้แล้วมันก็ตรงนั้น สำเร็จก็สำเร็จใจ ประเสร็จก็ประเสริฐใจ อันนี้มันถูกต้องอยู่ แต่ว่ากิเลสยังเต็มอยู่ จะไปเหมาให้มันไม่ได้ มันได้ใจ อยู่กับเราเป็นอะไร อยู่ที่ใจเรา เลยไม่ทำอะไร ถ้ามันอยู่ในใจจริงๆแล้ว มันจะมานั่งให้มันปวดแข้ง ปวดขา ให้ยิงกินทำไมน่ะ มันก็ไปซะสิพระนิพพานน่ะ ให้ลำบากทำไมถ้ามันมีอยู่ในใจจริงๆ มันยังไม่มี นี่มีแต่กิเลส กิเลสมันอยู่ในใจ

นี่มันต้องพิจารณาอีกทีหนึ่งเราจึงจะปฏิบัติเพื่อเกิดความสะดวกสบายจะไม่ได้สงสัยในวิธีการกระทำ จิตของเราก็จะดำเนินไปด้วยความสะดวกสบายดีไม่ดีก็อาจจะมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ อาจจะเป็นผลลัพธ์ให้เราในปัจจุบันนี้ก็ได้ ถ้าเราทำให้ถูกล๊อคหรือทำให้ถูกต้อง ไม่สงสัยลังเลกับอันไหนถูกอันไหนผิด จิตของเรา จะผิดมันก็อยู่ที่จิต จะถูกมันก็อยู่ที่จิต มันไม่สงบมันก็ผิดทั้งนั้น ถ้ามันสงบมันก็ถูกทั้งนั้น ถ้าเราคิดอย่างนี้ มันก็มีหนทางที่จะลงให้บ้าง ถ้ามิฉะนั้น ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่ได้ สามชาติก็ไม่ได้สิบชาติก็ไม่ได้นะ มันไม่ใช่ของง่ายนะ

ฉะนั้นแหละ ที่เราได้มาแสดงธรรมในวันนี้ ก็ให้ทัศนะทางจิต ในทางด้านการปฏิบัติของพวกเราท่านทั้งหลาย นานทีจะได้มาวันนี้ก็ได้ถือโอกาสมาเทศน์ให้ ก็คงหลายปีที่ไม่ได้มานี่ แต่ก่อนก็ว่าเป็นวัดตัวเอง ก็เคยมาอยู่ จะถือว่าเป็นพระที่อื่นก็ไม่ไช่นะ ความเป็นจริงก็เป็นพระวัดนี้คนสมัยนี้ก็ไม่รู้เฉยๆ หรอก คนสมัยเก่าเขาก็รู้ว่าพระวัดนี้ แต่มันไม่ได้มาเทศน์เฉย ๆ หรอก ไม่ได้มาบ่อยเพราะมันยาก มันหลายทาง เทศน์โน่นบ้างเทศน์นี่บ้างก็ให้ไปเทศน์ทางอื่นบ้าง เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ตอนนี้มันก็ยังมีกำลังวังชาพอที่จะมาได้ ก็จะมาเทศน์ให้บ้างหรอก ถ้ามีโอกาส ถ้าไม่มีโอกาสก็แล้วไป ฟังกับใครก็ฟังไปเถอะก็ไม่เป็นไรหรอก เอาใจของตัวเองฉะนั้นล่ะที่ได้แสดงมาให้เราท่านทั้งหลาย ให้กำหนดจดจำธรรมะที่ได้ชี้แจงแสดงมาแบบง่าย ๆ แบบพูดกันอย่างง่าย ไม่ต้องไปเล่นสำนวนทางอื่นเอาตัวเรานั่นล่ะ มันง่ายเหลือเกิน ที่ให้ทัศนะมานี้ไม่ต้องไปคิดยาก ถ้ามันเป็นมันก็เป็นในตัวมัน

นี่ก็พอที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ดังที่ได้แสดงมาสมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:19:32 น.
Counter : 237 Pageviews.  

1  2  3  4  

Jingjoknoi
Location :
Fl United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Jingjoknoi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.