ทะเลทุกข์...กว้างไกล กลับใจ......คือฟากฝั่ง

ข้อคิดจากถังน้ำสองใบ



ชายจีนคนหนึ่งแบกถังน้ำสองใบไว้บนบ่าเพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร
ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิ
และสามารถบรรจุน้ำกลับมาได้เต็มถัง...
แต่ด้วยระยะทางอันยาวไกล จากลำธารกลับสู่บ้าน....
จึงทำให้น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว

เหตุการณ์ ทั้งหมดนี้ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม
ที่คนตักน้ำสามารถตักน้ำ กลับมาบ้านได้หนึ่งถังครึ่ง....
ซึ่งแน่นอนว่า ถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจ ในผลงานเป็นอย่างยิ่ง

...ขณะเดียวกันถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึกอับอาย
ต่อความบกพร่องของตัวเอง
มันรู้สึกโศกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียวของจุดประสงค์ ที่มันถูกสร้างขึ้นมา

หลังจากเวลา 2 ปี…
ที่ถังน้ำที่มีรอยแตกมองว่าเป็นความล้มเหลวอันขมขื่น

วันหนึ่งที่ข้างลำธาร มันได้พูดกับคนตักน้ำว่า

'ข้ารู้สึกอับอายตัวเองเป็นเพราะรอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้า
ที่ทำให้น้ำที่อยู่ข้างในไหลออกมาตลอดเส้นทางที่กลับไปยังบ้านของท่าน'

คนตักน้ำตอบว่า

'เจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้า...
แต่กลับไม่มีดอกไม้อยู่เลยในอีกด้านหนึ่ง
เพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่....
ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงข้างทางเดินด้านของเจ้า
และทุกวันที่เราเดินกลับ...
เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเล็ดพันธุ์เหล่านั้น
เป็นเวลา 2 ปี ที่ข้าสามารถที่จะเก็บดอกไม้สวย ๆ เหล่านั้น
กลับมาแต่งโต๊ะกินข้าว
ถ้าหากปราศจากเจ้าที่เป็นเจ้าแบบนี้แล้ว..
เราก็คงไม่อาจได้รับความสวยงามแบบนี้ได้ '

คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง...

แต่รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เราแต่ละคนมีนั้น

อาจช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันของเราน่าสนใจ

และกลายเป็นบำเหน็จรางวัลของชีวิตได้....

สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ยอมรับคนแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น..

และมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้นเอง




 

Create Date : 01 มกราคม 2553    
Last Update : 1 มกราคม 2553 11:05:35 น.
Counter : 690 Pageviews.  

จุดหมายของชีวิต



ดำเนินชีวิตให้บรรลุ อัตถะ คือประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต ๓ ขั้นดังนี้

ขั้นที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถุ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค งามสง่า อายุยืน
ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ
ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

ทั้งหมดนี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้หรือปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขโดยชอบ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถุ จุดหมายขั้นเลยตายเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า

ก) ความอบอุ่นซาบซึ้งสุดใจ ด้วยศรัทธา มีหลักใจ
ข) ความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การสุจริต
ค) ความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้เสียสละทำประโยชน์
ง) ความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่มีปัญญาแก้ปัญหานำชีวิตได้
จ) ความโล่งจิตมั่นใจ ว่าได้ทำกรรมดี มีทุนประกันภพใหม่

ขั้นที่ ๓ ปรมัตถุ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง

ก) ไม่หวั่นไหวไปตามความผันผวนปรวนแปรต่างๆ
ข) ไม่ผิดหวังเศร้าบีบคั้นจิตเพราะความยึดติดถือมั่น
ค) ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส สดชื่น เบิกบานใจตลอดเวลา
ง) เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาซึ่งมองที่เหตุปัจจัย

ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่า "บัณฑิต"

"คัดจากหนังสือ ธรรมนูญชีวิต โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)"





 

Create Date : 31 ธันวาคม 2552    
Last Update : 31 ธันวาคม 2552 13:24:12 น.
Counter : 408 Pageviews.  

คิด ให้รู้จักพอ




ความคิดอย่างหนึ่งที่สมควรฝึกให้เกิดขึ้นเป็นประจำ คือความคิดว่าพอ คิดให้รู้จักพอ ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ ส่วนผู้ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้ร้อนเร่าแสวงหาไม่หยุดยั้ง ความไม่รู้จักพอมีอยู่ได้แม้ในผู้เป็นใหญ่เป็นโต มั่งมีมหาศาล และความรู้จักพอก็มีได้แม้ในผู้ยากจน ต่ำต้อย ทั้งนี้ก็เพราะความพอเป็นเรื่องของใจที่ไม่เกี่ยวกับฐานะภายนอก คนรวยที่ไม่รู้จักพอก็เป็นคนจนอยู่ตลอดเวลา คนจนที่รู้จักพอก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลา

การยกฐานะจากยากจนให้มั่งมีนั้นทำได้ไม่ง่าย บางคนตลอดชาตินี้อาจทำไม่สำเร็จ แต่การยกระดับใจให้มั่งมีนั้นทำได้ทุกคนแม้มีความมุ่งมั่นจะทำจริง

คนรู้จักพอไม่ใช่คนเกียจคร้าน และคนเกียจคร้านก็ไม่ใช่คนรู้จักพอ ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แล้วอบรมตนเองให้ไม่เป็นคนเกียจคร้าน แต่ให้เป็นคนรู้จักพอ

เมื่อรู้สึกไม่สบายใจให้รีบระงับเสียทันที อย่าชักช้า ตั้งสติให้ได้ในทันที รวมใจไม่ให้ความคิดวุ่นวายไปสู่เรื่อง อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความไม่สบายใจ อย่าอ้อยอิ่งลังเลว่าควรจะต้องคิดอย่างนั้นก่อน ควรจะต้องคิดอย่างนี้ก่อน ทั้งๆ ที่ความไม่สบายใจหรือความร้อนเริ่มกรุ่นขึ้นในใจแล้ว ถ้าต้องการความสบายใจก็ต้องเชื่อว่าไม่มีความคิดใดทั้งสิ้นที่จำเป็นต้องคิดก่อน ทำใจให้รวมอยู่ ไม่ให้วุ่นวายไปในความคิดใดๆทั้งนั้น ต้องเชื่อว่าต้องรวม ใจไว้ให้ได้ในจุดที่ไม่มีเรื่องอันเป็นเหตุแห่งความร้อนเกี่ยวข้อง

ที่ท่านสอนให้ท่องพุทโธก็ตาม ให้ดูลมหายใจเข้าออกก็ตาม นั่นคือการสอนเพื่อให้ใจไม่วุ่นวายซัดส่ายไปหาเรื่องร้อน เป็นวิธีที่จะให้ผลแท้จริงแน่นอน

ไม่ว่าจะเผชิญกับความยากลำบากกายใจอย่างใดทั้งสิ้น ให้มั่นใจว่า การจะทำให้ความยากลำบากนั่นคลี่คลาย ก็ต้องกระทำเมื่อมีจิตใจสงบเยือกเย็นแล้วเท่านั้น ใจที่เร่าร้อนขุ่นมัวไม่อาจคิดนึกตรึกตรองให้เห็นความปลอดโปร่งได้ ไม่อาจช่วยให้ร้ายกลายเป็นดีได้

อย่าคิดว่าเป็นความงมงาย เป็นการเสียเวลาที่จะปฏิบัติสิ่งที่เรียกกันว่าธรรมในขณะที่กำลังมีปัญหาประจำวันวุ่นวาย ให้เชื่อว่ายิ่งมีปัญหาชีวิตมากมายหนักหนาเพียงไรยิ่งจำเป็นต้องทำจิตใจให้สงบเยือกเย็นเพียงนั้น พยายามฝืนใจไม่นึกถึงปัญหายุ่งยากทั้งหลายเสียชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เพื่อเตรียมกำลังไว้ต่อสู้แก้ไข กำลังนั้นคืออำนาจที่เข้มแข็งบริบูรณ์ด้วย ปัญญาของใจที่สงบ

ใจที่สงบมีพลังเข้มแข็ง และเข้มแข็งทั้งสติปัญญา ใจที่สงบจะทำให้มีสติปัญญามากและแจ่มใสไม่ขุ่นมัว ความแจ่มใสนี้เปรียบเหมือนแสงสว่างที่สามารถส่องให้เห็นความควรไม่ควร คือควรปฏิบัติอย่างไร ไม่ควรปฏิบัติอย่างไร ใจที่สงบก็จะรู้ชัดถูกต้อง ตรงกันข้ามกับใจที่วุ่นวายไม่แจ่มใส ซึ่งเปรียบเหมือนความมืด ย่อมไม่สามารถ ช่วยให้เห็นความถูกต้องความควรไม่ควรได้ มีแต่จะพาให้ผิดพลาดเท่านั้น

ความโลภไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นได้เลย วัตถุสิ่งของเงินทองทั้งหลายที่ได้จากความโลภนั้น ดูเผินๆ เหมือนเป็นการยกฐานะเพิ่มความมั่นคง แต่ลึกลงไปจะเป็นการทำลายมากกว่า สิ่งที่ได้จากความโลภมักจะเป็นสิ่งไม่สมควร มักจะเป็นการได้จากความต้องเสียของผู้อื่น ผู้อื่นทั้งหลายที่ต้องเสียนั้นแหละจะเป็นเหตุทำลาย ความไม่ไว้วางใจของคนทั้งหลายจะเป็นเครื่องทำลายอย่างยิ่ง จะเป็นเหตุให้อะไรร้ายๆ ตามมา เมื่อถึงเวลา อะไรร้ายๆนั้นก็จะทำลายผู้มีความโลภจนเกินการ เมื่อเวลานั้นมาถึงก็จะสายเกินไป จนไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ ฉะนั้น ก็ควรหมั่นพิจารณาให้เห็นโทษของกิเลสคือความโลภเสีย ตั้งแต่ยังไม่สายเกินไป

ถ้าความโลภเป็นความดี พระพุทธเจ้าก็จักไม่ทรงสอน ให้ละความโลภ และพระองค์เองก็จะไม่ทรงพากเพียร ปฏิบัติละความโลภ จนเป็นที่ปรากฏประจักษ์ว่า ทรงละความโลภได้อย่างหมดจดสิ้นเชิง เป็นแบบอย่างที่บริสุทธิ์สูงส่งยั่งยืนอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้ แม้ว่าจะได้ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้วกว่าสองพันห้าร้อยปี

เราเป็นพุทธศาสนิก นับถือพระพุทธเจ้า อย่าให้สักแต่ว่านับถือเพียงที่ปาก ต้องนับถือให้ถึงใจ การนับถือให้ถึงใจนั้นต้องหมายความว่า ทรงสอนให้ปฏิบัติอย่างไรต้องตั้งใจทำตามให้เต็มสติปัญญาความสามารถ

ที่สวดกันว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า ที่เป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หมายถึงจะปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อย่างจริงจัง

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้สวดมนต์เพื่อขอร้องวิงวอนให้ทรงบันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี โดยเจ้าตัวเองไม่ปฏิบัติดี ความหมายในบทสวดมีอยู่บริบูรณ์ ที่ผู้สวดจะได้รับผล เป็นความสุขความเจริญรุ่งเรืองสวัสดีถ้าปฏิบัติตาม แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามความหมายของบทสวดมนต์ หรือเช่นไม่ปฏิบัติตามที่สวดว่าข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ก็จะไม่ได้รับผลอันเลิศที่ควรได้รับเลย

ฉะนั้น จึงควรปฏิบัติให้ได้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ ปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน และปฏิบัติตามพระสงฆ์สาวกที่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้เถิด จะได้รับความสุขสวัสดีอย่างยิ่งตลอดไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

น่าจะไม่มีผู้ใดเลยที่เห็นว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความดี ทุกคนเห็นว่าไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น นับว่าเป็นความเห็นถูก แต่เพราะเห็นถูกไม่ตลอดจึงเกิดปัญหาในเรื่องกิเลสสามกองนี้ขึ้น ที่ว่าเห็นถูกไม่ตลอดก็คือแทบทุกคนไปเห็นว่าคนอื่นโลภโกรธหลงไม่ดี แต่ไม่เห็นด้วยว่าตนเองโลภโกรธหลงก็ไม่ดีเช่นกัน กลับเห็นผิดไปเสียว่าความโลภโกรธหลง ที่เกิดขึ้นในใจตนนั้น ไม่มีอะไรไม่ดี นี่คือความเห็นถูกไม่ตลอด ไปยกเว้นที่ว่าดีที่ตนเอง

เมื่อเห็นผู้อื่นที่โลภโกรธหลงน่ารังเกียจเพียงใด ให้เห็นว่าตนเองที่มีความโลภโกรธหลงนั้นน่ารังเกียจยิ่งกว่า แล้วพยายามทำตนให้พ้นจากความน่ารังเกียจนั้นให้เต็ม สติปัญญา ความสามารถ จะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีปัญญา ไม่ปล่อยตนให้ตกอยู่ใต้ความสกปรกของความโลภโกรธหลง

โอกาสที่จะได้เห็นคนโลภ คนโกรธ คนหลง มีอยู่ทุกเวลานาที เรียกได้ว่าโอกาสที่จะดูแลตนเองให้เห็นโทษเห็นผิดของตนเองนั้นมีอยู่มากมายทุกเวลานาทีเช่นเดียว กัน สำคัญที่ว่าจะต้องไม่ละเลยปล่อยโอกาสอันงามนั้นให้พ้นไป อย่าลืมนึกถึงตนเองด้วยทุกครั้งไปที่พบเห็นคนโลภ คนโกรธ คนหลง

การแก้ความวุ่นวายทั้งหลายนั้น ที่ถูกแท้จะให้ผลจริง ต้องต่างคนต่างพร้อมใจกันแก้ที่ตัวเองเท่านั้น พร้อมใจกันและแก้ที่ตัวเองเท่านั้นที่จะให้ผลสำเร็จได้จริง

ไม่มีอำนาจของบุคคลอื่นใดที่จะสามารถบังคับบัญชา ให้ใครหันเข้าแก้ไขตนเองได้ นอกจากอำนาจใจของตัวเองเท่านั้นที่จะบังคับตัวเอง ทั้งยังจะต้องเป็นอำนาจใจที่เกิดจากปัญญาความเห็นถูกด้วย จึงจะสามารถนำให้หันเข้าแก้ไขตนเอง

ควรพยายามทำความเชื่อให้แน่นอนมั่นคงเสียก่อนว่า การแก้ที่ตนเองนั้นสำคัญที่สุด ต้องกระทำกันทุกคน ผลดีของส่วนรวม ของชาติ ของโลกจึงจะเกิดขึ้นได้

ทุกคนขอให้เริ่มแก้ตัวเองก่อน แก้ให้ใจวุ่นวายเร่าร้อน ด้วยอำนาจของกิเลสมีโลภ โกรธ หลง ให้กลับเป็นใจที่สงบเย็น บางเบาจากกิเลสคือ โลภ โกรธ หลง ที่เคยโลภมากก็ให้ลดลงเสียบ้าง ที่เคยโกรธแรงก็ให้โกรธเบาลง ที่เคยหลงจัดก็ให้พยายามใช้สติปัญญาให้ถูกต้องตามความจริงให้มากกว่าเดิม ตนเองจะเป็นผู้สงบเย็นก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบเย็น กว้างขวางออกไปได้อย่างไม่ต้องลังเลสงสัย

ความทุกข์จะต้องมีอยู่ตราบที่กิเลสทั้งสามกองคือ โลภ โกรธ หลง ยังมีอยู่ กิเลสมีมากเพียงใดทุกข์มีมากเพียงนั้น เมื่อใดกิเลสสามกองหมดจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงแล้วนั่นแหละ ความทุกข์จึงจะหมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ จึงควรพยายามทำกิเลสให้หมดสิ้นให้จงได้ มีมานะพากเพียรใช้ปัญญาให้รอบคอบเต็มความสามารถให้ทุกเวลานาทีที่ทำได้ แล้วจะเป็นผู้ชนะได้มีความสุขอย่างยิ่ง

เราทุกคนต้องการเป็นสุข ต้องการพ้นทุกข์ แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อความเป็นสุข เพื่อความสิ้นทุกข์ แล้วผลจะเกิดได้อย่างไร ความคิดเร่าร้อนต่างๆ อันเป็นเหตุให้เป็นทุกข์กันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากกิเลสในใจเป็นเหตุสำคัญทั้งสิ้น กิเลสนั่นแหละเป็นเครื่องบัญชาให้ความคิดเป็นไปในทางก่อทุกข์ทุกประการ ถ้าไม่มีกิเลสพาให้เป็นไปแล้ว ความคิดจะไม่เป็นไปในทางก่อทุกข์เลย ความคิดจะเป็นไปเพื่อความสงบสุขของตนเอง ของส่วนรวม ตลอดจนถึงของชาติ ของโลก

ความสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า ต้องพยายามทำความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นสียก่อน ว่ากิเลสทำให้เกิดทุกข์จริง คือกิเลสนี้แหละทำให้คิดไปในทางเป็นทุกข์ต่างๆ เมื่อยังกำจัดกิเลสไม่ได้จริงๆ ก็ต้องฝืนใจหยุดความคิดอันเต็มไปด้วยกิเลสเร่าร้อนเสียก่อน การหยุดความคิดที่เป็นโทษเป็นความร้อนนั้นทำได้ง่ายกว่าตัดรากถอนโคนกิเลส ฉะนั้น ในขั้นแรกก่อนที่จะสามารถทำกิเลสให้สิ้นไปได้ ก็ให้ฝืนใจไม่คิดไปในทางเป็นทุกข์เป็นโทษให้ได้เป็นครั้งคราวก่อนก็ยังดี

อย่าเข้าข้างตัวเองผิดๆ ดูตัวเองให้เข้าใจ เมื่อโลภเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิดโลภแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย เมื่อโกรธเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิดโกรธแล้วและหยุดความคิดนั้นเสีย เมื่อหลงให้รู้ว่ากำลังคิดหลงแล้วและหยุดความคิดนั้นเสีย หัดหยุดความคิดที่เป็นกิเลสเสียก่อนตั้งแต่บัดนี้เถิด จะเป็นการเริ่มฐานต่อต้านกำราบปราบทุกข์ให้สิ้นไป ที่จะให้ผลจริงแท้แน่นอน

ความคิดของคนทุกคนแยกออกได้เป็นสอง อย่างหนึ่งคือ ความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลส มีโลภโกรธ หลง อีกอย่างหนึ่งคือความคิดที่พ้นจากอำนาจของความโลภโกรธหลง ความคิดอย่างแรกเป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อนความคิดอย่างหลังไม่เป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน

จะถือผู้ใดสิ่งใดเป็นครูได้ ก็ต่อเมื่อผู้นั้นสอนความถูกต้องดีงามให้เท่านั้น ต้องไม่ถือผู้ที่สอนความไม่ถูกไม่งามเป็นครูโดยเด็ดขาด และที่ว่าต้องไม่ถือเป็นครูก็หมายความว่า ต้องปฏิบัติตามที่ว่าให้ถือเป็นครู ก็คือให้ ปฏิบัติตาม

ทุกคนมีหน้าที่เป็นศิษย์ หน้าที่ของศิษย์ก็คือปฏิบัติตามครู อย่างให้ความเคารพ กล่าวได้ว่าให้เคารพและปฏิบัติตามคนดี แบบอย่างที่ดี รำลึกถึงคนดีและแบบอย่างที่ดีไว้เสมอ อย่างมีกตัญญูกตเวที คือรู้พระคุณท่าน และตอบแทนพระคุณท่าน การตอบแทนก็คือทำตนเองให้ได้เหมือนครู นั่นเป็นสิ่งถูกต้องสมควรที่สุด จะได้รับความสุขสวัสดีตลอดไป

ความดีหรือบุญกุศลเปรียบเหมือนแสงไฟ ผู้ทำบุญทำกุศลอยู่สม่ำเสมอเพียงพอ แม้จะเหมือนไม่ได้รับผลของความดี และบางครั้งก็เหมือนทำดีไม่ได้ดี ทำดีได้ชั่วเสียด้วยซ้ำ เช่นนี้ก็เหมือนจุดไฟในท่ามกลางแสงสว่างยามกลางวัน ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากแสงสว่างนั้น แต่ถ้าตกค่ำมีความมืดมาบดบัง แสงสว่างนั้นย่อมปรากฏขจัดความมืดให้สิ้นไป สามารถแลเห็นอะไรๆได้ เห็นอันตรายที่อาจมีอยู่ได้ จึงย่อมสามารถหลีกพ้นอันตรายเสียได้ ส่วนผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตน เช่นไม่มีเทียนจุดอยู่ เมื่อถึงยามกลางคืนมีความมืดมิด ย่อมไม่อาจขจัดความมืด ได้ ไม่อาจเห็นอันตรายได้ ไม่อาจหลีกพ้นอันตรายได้

ผู้ทำความดีเหมือนผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว ไปถึงที่มืดคือที่คับขัน ย่อมสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดีพอสมควรกับความดีที่ทำอยู่ ตรงกันข้ามกับผู้ไม่ได้ทำความดี ซึ่งเหมือนกับผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตัว ขณะยังอยู่ในที่สว่างอยู่ในความสว่างก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่เมื่อใดตกไปอยู่ในที่มืดคือที่คับขัน ย่อมไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างสวัสดี ภัยอันตรายมาถึงก็ไม่รู้ไม่เห็นไม่อาจหลีกพ้น คนทำดีไว้เสมอกับคนไม่ทำดีแตกต่างกันเช่นนี้ประการหนึ่ง


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2552    
Last Update : 31 ธันวาคม 2552 7:10:40 น.
Counter : 527 Pageviews.  

5 วิธี บอกลานิสัยผัดวันประกันพรุ่ง



คุณเป็นคนหนึ่งใช่มั้ย ที่ชอบคิดว่า มีเวลาเหลือเฟือในการทำสิ่งต่างๆให้เสร็จ คือแทนที่จะทำซะเดี๋ยวนี้เลย ก็ขอเลื่อนออกไปก่อน และท้ายที่สุดก็ต้องมานั่งทำงานภายใต้แรงกดดัน เพื่อให้เสร็จทันภายในเวลาที่เหลือน้อยนิด หรือใช้เวลาคิดเรื่องงานที่ต้องแก้ปัญหา แต่ก็ผลัดไปเรื่อยๆ บอกตัวเองว่าไม่รู้จะเริ่มเมื่อไหร่ดี ถ้ามีอาการเช่นนี้ คุณก็คือคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง

จริงๆแล้วการผัดวันประกันพรุ่ง เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่น่ารังเกียจที่สุดของมนุษย์ เพราะเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ที่น่าประหลาดที่สุดคือ คนเรามีแนวโน้มสูงที่จะผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับตัวเอง และมีบ่อยครั้งซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวเองอยากทำมาก เพราะรู้ว่ามันจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายหลักในชีวิตได้ แต่ก็ยังเลื่อน จนกระทั่งเลือน และลืมไปในที่สุด

หลายคนอาจผัดวันประกันพรุ่ง จนกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี และมักบอกตัวเองว่า วันนี้ ไม่อยากทำงานอย่างนี้ เอาไว้วันหลังค่อยทำก็ได้ นั่นเท่ากับกำลังหลอกตัวเอง เพราะมันไม่ได้ช่วยให้หลุดพ้นจากความจริงที่ว่า ต้องทำงานนั้นให้เสร็จ แต่มันยิ่งจะทำให้เครียดหนักกว่าเดิม เพราะบางครั้งมีงานรออยู่อีกเพียบที่ต้องทำให้เสร็จ และบางทีก็ไม่อาจ คาดเดาได้ว่า จะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นบ้างที่ทำให้งานไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด

จากการศึกษาพบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้คนชอบผัดวันประกันพรุ่ง บางคนทำเมื่ออยู่ในสถานการณ์บางอย่าง แต่อีกหลายๆคนทำจนเป็นนิสัยเลยก็ว่าได้ มาดูกันว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคชอบผลัด

1. ไม่มีวินัยในการทำงาน คนพวกนี้ผัดวันประกันพรุ่งในทุกๆเรื่อง ชอบทำอะไรแบบไฟลนก้น เมื่อพูดถึงเรื่องความเครียด เขาหรือหล่อนจะมีคำตอบว่า “ฉันทำงานได้ดีที่สุดเมื่อถูกกดดัน” ความจริงแล้ว พวกนี้เป็นคนไม่มีระเบียบวินัย ไม่รู้วิธีจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำก่อนหลัง จะรอจนนาทีสุดท้าย จึงเริ่มต้นทำ

2. กลัวทำไม่สำเร็จ เมื่อไม่รู้วิธีทำงาน จึงไม่ทำเสียเลย หรือรู้สึกว่าการจะทำงานนั้นให้สำเร็จได้ ต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ จึงเลื่อนออกไปก่อน

3. ทุกอย่างต้องเนี้ยบไร้ที่ติ คนที่ทำอะไรต้องเพอร์เฟ็คทุกอย่าง พวกนี้ต้องการทำทุกอย่างให้ออกมาดีเลิศ ไร้ที่ติ ซึ่งมิใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่ยากที่จะทำให้สำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด คนประเภทนี้เมื่อเริ่มต้นทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็จะเลื่อนไปเรื่อยๆไม่ทำให้เสร็จ โดยอ้างว่าเพื่อให้งานได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของคนพวกนี้มักไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ ทำให้พวกเนี้ยบทั้งหลาย เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น

4. ต้องทำงานที่ไม่ชอบ งานบางอย่างที่ไม่ชอบ แต่ก็ต้องทำ เช่น จัดแฟ้มเอกสาร เขียนรายงาน ดังนั้น จึงผลัดไปเรื่อยๆ โดยหวังว่ามันจะหายไปเอง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อไม่เริ่มต้นทำเสียที งานที่คุณไม่ชอบเหล่านี้ ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน ถึงจุดหนึ่งที่ต้องลงมือทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงตอนนั้นก็อาจทำให้ยิ่งหงุดหงิดมากขึ้น

ดังนั้น ถ้าคุณต้องการรู้วิธีเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งแล้วละก็ สิ่งสำคัญคือ ต้องตอบต้วเองให้ได้ก่อนว่า ทำไมถึงทำเช่นนั้น ทำไมถึงชอบผลัด เป็นเพราะขาดแรงจูงใจ หรือเป็นเพราะเบื่อที่จะทำ หรือว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำ หรือขาดสมาธิในการทำงาน เมื่อคุณได้คำตอบที่แท้จริงว่าอะไรทำให้คุณชอบผัดผ่อน คุณต้องจัดการแก้ที่สาเหตุเสียก่อน

เอาล่ะ..คราวนี้ลองนึกดูซิว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณชอบผัดวันประกันพรุ่งมากที่สุด

• 5 วิธีบอกลานิสัยผัดวันประกันพรุ่ง •

ต่อไปนี้เป็นวิธีที่อาจจะช่วยให้คุณเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

1. วางแผนการทำงาน ถ้าคุณผัดวันประกันพรุ่งเพราะไม่มีเวลาทำทุกสิ่งทุกอย่าง ลองจัดตารางเวลาของงานที่ต้องทำ ลิสต์งานที่ต้องทำทุกชิ้นลงกระดาษ เขียนตัวโตๆ และใส่เครื่องหมายตกใจกำกับไว้ด้วย เพื่อกระตุ้นว่าต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด การจัดตารางเวลาจะช่วยให้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และเมื่อทำงานชิ้นใดเสร็จ ให้ใส่เครื่องหมาย x ไว้ วิธีนี้จะทำให้มีกำลังใจที่จะกา x บนงานที่เหลือให้หมด ภายในเส้นตายด้วย

2. แบ่งงานชิ้นใหญ่เป็นชิ้นย่อยๆ เหตุผลหนึ่งที่คุณขอผัดไว้ก่อน ก็คือ แค่คิดว่ามีงานชิ้นใหญ่ที่ต้องทำ ก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แต่หากซอยงานนั้นให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก็จะทำเสร็จได้ง่ายขึ้น และนั่นคือวิธีเริ่มต้นหยุดการผัดวันประกันพรุ่งที่ดี

3. ให้รางวัลตัวเอง จงให้รางวัลตัวเองทุกครั้งที่ทำงานเสร็จในเวลาที่กำหนด เช่น ไปเดินดูของกับเพื่อนๆ เมื่อทำงานเสร็จ วิธีนี้จะช่วยให้มีแรงจูงใจที่จะทำงานทั้งหมดให้เสร็จตามกำหนด

4. คิดในแง่บวก หลายครั้งที่คุณไม่อยากเริ่มทำงาน เพราะมัวแต่คิดในแง่ร้ายว่างานนั้นยาก หรือทำได้ไม่ดี หรือน่าเบื่อ เมื่อไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำงานนั้นได้ ก็มักจะลงเอยที่การเลื่อนออกไป ดังนั้น แทนที่จะคิดแต่ด้านลบอย่างนี้ ก็ควรบอกกับตัวเองว่า คุณสามารถทำได้ อย่าบอกตัวเองว่า คุณเป็นคนชอบผัดผ่อน แต่จงบอกว่า คุณเป็นคนทำงานสำเร็จได้ ข้อสำคัญคือต้องเปลี่ยนวิธีมองตัวเองและงานที่อยู่ในมือ และฝึกการคิดในแง่บวกให้มากๆ

5. ลงมือทำเดี๋ยวนี้ อย่าทิ้งตารางการทำงานของคุณไว้บนโต๊ะเฉยๆ ลงมือทำทันที และต้องทำอย่างมีสมาธิ ลองให้เวลาตัวเองสัก 5-10 นาที แล้วคุณจะเชื่อว่า ตัวเองสามารถทำงานให้สำเร็จได้จริงๆ

เห็นมั้ยว่า การบอกลานิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยากเลย และเป็นสิ่งที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณคลายเครียดในการทำงานแล้ว ยังช่วยให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้นอีกด้วย



(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยประกายรุ้ง)




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2552    
Last Update : 31 ธันวาคม 2552 5:28:18 น.
Counter : 542 Pageviews.  

8 วิธีสร้างแรงจูงใจ เมื่อรู้สึกท้อแท้



การสร้างแรงจูงใจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณกำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ คุณเริ่มรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย แต่แทนที่จะหาทางเอาชนะมัน ก็กลับถอดใจ อยากหลบออกจากสถานการณ์ตรงนั้น ด้วยการหนีไปนอน หรือหาของกินเล่นไปนั่งหน้าจอทีวีแทน

นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล !!

ในความเป็นจริง การนั่งๆนอนๆไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ยิ่งไม่ได้ทำอะไร กลับจะทำให้รู้สึกแย่มากกว่าเก่าเสียอีก แถมอาจทำให้คุณอ้วนขึ้นก็เป็นได้

ฉะนั้น เราจะสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองได้อย่างไร เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่หมดอาลัยตายอยาก สิ่งสำคัญคือคุณต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ไม่ปล่อยให้มันบงการชีวิตคุณ

บางที 8 วิธีเหล่านี้อาจจะช่วยให้คุณเกิดแรงจูงใจในสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาบ้างก็ได้

1. ใช้ความกลัวเป็นตัวนำ

ความกลัวเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจได้ดีที่สุดในมนุษย์ ปฏิกิริยาโต้ตอบแบบ “สู้” เกิดจากความกลัวในสิ่งนั้นๆ ดังนั้น จงให้ความกลัวทำงานให้คุณ เช่น ถ้าคุณกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าต้องตกงานในตอนนี้ จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ดังนั้น คุณจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งานทำ มีเงินใช้จ่าย เรื่องที่เคยมองว่าเป็นอุปสรรค ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่มองข้ามไปได้

2. ขีดเส้นตายให้เห็นจะจะ

คนส่วนใหญ่ชอบมองจุดเล็กๆมากกว่าภาพรวม เทคนิคนี้ใช้ได้ผล เมื่อคุณให้ความสำคัญกับเส้นตายของสิ่งนั้น ถ้าไม่ละก็ คุณจะมัวแต่โฟกัสเรื่องเล็กน้อยๆในแต่ละวัน และท้ายที่สุด ก็จะมานั่งสงสัยว่า ทำอย่างนั้นไปได้อย่างไร สิ่งที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอก็คือ ผลลัพธ์ที่จะได้เมื่อทำสำเร็จ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นในตอนแรกๆ มิใช่หรือ

3. ทำเหมือนเล่นเกม

วิธีนี้ใช้ได้ผลดีเยี่ยมในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ ถ้าเป้าหมายคือ ให้เด็กเก็บของเล่นเข้าที่ก่อนเข้านอน ผู้ปกครองก็อาจให้เล่นเกมแข่งเก็บของเล่น ผู้ชนะคือเด็กที่เก็บของเล่นเข้าที่ได้เร็วที่สุด คุณสามารถนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับตัวคุณเองได้เช่นกัน สมมติว่า คุณกำลังฝึกวิ่งมาราธอน คุณสามารถฝึกไปเรื่อยๆ เพื่อทำเวลาให้ดีขึ้น หาวิธีวัดผลและทำเวลาให้ดีที่สุด

4. กำจัดทางเลือกอื่นๆ

ในคืนที่พระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเป็นที่มั่นในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า พระองค์ทรงนำจิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกอง เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกง เพื่อเข้าไปกินอาหารเช้าในเมือง ถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย วิธีนี้เป็นการขจัดความคิดยอมแพ้ออกจากใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน ไม่มีทางเลือกที่จะคิดว่า “ไม่เป็นไร เรากลับบ้านก็ได้” นี่เป็นขั้นตอนที่น่ากลัว แต่ในบางครั้ง มันกลับเป็นหนทางเดียวที่ใช้ได้ผล

สำหรับคนที่ลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพื่อมาทำธุรกิจของตัวเองนั้น ก็เปรียบเหมือนการ “ทุบหม้อข้าวหม้อแกง” พวกเขาจะถอยกลับไม่ได้ ต้องทำให้สำเร็จเท่านั้น

5. บอกเป้าหมายให้คนอื่นรับรู้

ถ้าคุณมีเป้าหมายในชีวิตที่ต้องการทำให้สำเร็จ อย่าเก็บไว้กับตัวเองคนเดียว จงบอกให้คนที่คุณเคารพนับถือรับรู้ด้วย การบอกกล่าวให้คนอื่นๆรู้ จะทำให้คุณเลิกล้มไม่ได้ง่ายๆ เพราะคุณต้องการรักษาคำพูดกับคนที่คุณแคร์ ถ้าต้องเลิกล้มความตั้งใจนั้น คุณจะรู้สึกเสียหน้า ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น จึงมักเก็บความฝันที่จะทำสิ่งต่างๆไว้กับตัวเอง ไม่บอกคนอื่น เพราะกลัวทำไม่สำเร็จ เดี๋ยวจะขายหน้า อย่างไรก็ดี ถ้าคุณต้องการทำความฝันให้สำเร็จละก็ ควรจะบอกให้คนอื่นๆรับรู้ให้มากที่สุด

6. บอกตัวเองซ้ำๆ ทุกวัน

บอกกับตัวเองทุกๆวันถึงเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีนี้ ลองทำตามนี้ ให้เขียนประโยคที่ระบุสิ่งที่คุณต้องการทำให้สำเร็จ 1-2 ประโยคลงบนกระดาษ เขียนให้สั้นกระชับ แล้วอ่านข้อความนั้นดังๆก่อนเข้านอน ทันทีที่ตื่นนอน และทำตามช่วงเวลาที่คุณกำหนดในแต่ละวัน

การทำเช่นนี้ บางคนอาจดูว่าเป็นการหลอกตัวเอง แต่มันช่วยให้ใจของคุณโฟกัสในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ไม่ให้วอกแวก แม้ว่าจะมีสิ่งอื่นเข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจ

7. ตั้งกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน

การจัดตั้งกลุ่มในลักษณะนี้ เท่ากับคุณพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เพียงแต่คุณจะกลัวเสียหน้าในหมู่เพื่อนสมาชิก เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค แต่คุณยังมีคนคอยให้คำแนะนำและระดมความคิดเพื่อเดินหน้าต่อไป คุณจะประหลาดใจในสิ่งที่บรรดาสมาชิกในกลุ่มช่วยกันทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้

8. แตกเป้าหมายเป็นชิ้นย่อยๆ

ถ้าเป้าหมายของคุณเป็นเรื่องใหญ่ ที่คุณรู้สึกกลัวและเป็นห่วงว่าจะทำไม่สำเร็จ แม้ว่าคุณจะพยายามอย่างหนัก หรือได้บอกใครต่อใครไปหลายคนแล้วก็ตาม สิ่งที่คุณควรทำก็คือ จงแตกเป้าหมายให้เป็นชิ้นเล็กๆ เป้าหมายย่อยที่คุณวางไว้ ควรเป็นสิ่งที่คุณภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ และสามารถพาไปสู่เป้าหมายใหญ่ได้ การทำงานชิ้นเล็กๆนั้น จะช่วยไม่ให้คุณท้อแท้ได้ง่าย

ลองทำตามคำแนะนำข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เมื่อคุณรู้สึกขาดแรงจูงใจที่จะทำอะไร เพราะจริงๆแล้ว มันเป็นการหลอกตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่คุณรู้ดีว่าเป็นสิ่งดีสำหรับคุณนั่นเอง


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยประกายรุ้ง)




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2552    
Last Update : 30 ธันวาคม 2552 9:38:05 น.
Counter : 519 Pageviews.  

1  2  3  4  

Jingjoknoi
Location :
Fl United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Jingjoknoi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.