ทะเลทุกข์...กว้างไกล กลับใจ......คือฟากฝั่ง
มรณานุสติ



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ วัดอโศการาม จังหวัด สมุทรปราการ
วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๘ เวลา ๒๐.๓๐ น.




มรณานุสติ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

มรณะ ธัมโม หิ มรณัง อนัตติโต ติ อิมัสสะ ธัมมะ ปริยา ยัสสะ ตโข สาธายา สมา ตัน เตหิ สัจขจัง โส ตัปโพ หิ

อันดับต่อนี้ไป จงพากันตั้งใจฟังธรรม และ ตั้งใจภาวนาตามที่เราเคยพากันประพฤติและปฏิบัติมา เพราะการฟังธรรมเป็นของจำเป็นที่เราจะต้องมารวมกันฟังเพื่อเป็นการศึกษาหาความรู้ในเรื่องธรรมะอันเป็นข้อปฏิบัติของพวกเราชาวนักปฏิบัติ คือ เราทุกคนก็ล้วนแต่มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมกันทั้งนั้น

การปฏิบัติธรรมถ้าเราไม่มีความรู้ และเข้าใจ เราก็ไม่เข้าใจว่าจะปฏิบัติกันอย่างไร และจะมีอะไรเป็นเครื่องตอบแทนของการปฏิบัติ ดังนั้น เราจึงอาศัยการฟังเพื่อเป็นการศึกษา เราต้องตั้งใจและเคารพในการปฏิบัติและเคารพในธรรม เมื่อเราตั้งใจ และพอใจในการปฏิบัติแล้ว ก็ให้ประคับประคองจิตของตัวเองให้อยู่ในศีล ในธรรม และอยู่ในท่าอันสงบ เมื่อเรามีความสงบภายนอกได้แล้ว ส่วนภายในเมื่อยังไม่สงบ เราก็ต้องประคับประคองจิตให้อยู่ในความสงบ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องพยายามผูกมัดในเรื่องจิตของตัวเอง
ในเรื่องของการพิจารณาธรรม เราก็ต้องพิจารณาได้ ถ้าหากสิ่งไหนที่จะทำให้ใจของเราเกิดความสังเวส สิ่งนั้นเราก็ควรกำหนดให้มาก อย่างมรณานุสติเรื่องของความตายอันเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความสังเวส ให้เกิดความทิฐิมานะ ให้ยอมรับในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่กำหนดถึงเรื่อง มรณานุสติ เรื่องทิฐิมานะก็กำเริบเสิบสานขึ้นในตัวเองว่าจะไม่เป็นอะไร คิดว่าตัวเองจะไม่ตาย เราจะมาบำเพ็ญจิตให้เป็นไปในทางศีลธรรมก็เป็นไปได้ยาก จึงอยากให้กำหนดมรณานุสติ

เรื่องของความตาย มันเกิดขึ้นแน่นอน จะตายแบบปกปิด หรือตายแบบเปิดเผยก็มีด้วยกันสองอย่าง ตายแบบปกปิดมันเกิดขึ้นทุกวัน นับตั้งแต่เราเกิดมาจนบัดนี้ วันเวลาที่มันล่วงไปนั้นแหละ ชีวิตเราก็หมดไปด้วยกับวันเวลาที่มันล่วงไป เรียกว่า ตายปกปิด ส่วนที่ตายเปิดเผย เรียกว่า เราทิ้งลมหายใจ เหมือนอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ หมดลมหายใจเข้า-ออก หมดความเป็นอยู่ที่จะอยู่ต่อไปได้ อันนี้เรียกว่า ตายเปิดเผย ชีวิตจิตใจของพวกเราทั้งหลายก็ตกอยู่ในความตายทั้งนั้น เรียกว่าหนีความตายไปไม่ได้ แต่ต้องตายแน่นอน เพราะฉะนั้น ให้เรากำหนดให้มาก และพิจารณาให้มาก เมื่อเราพิจารณาเรื่องความตายให้มากแล้ว เราก็จะได้เสาะแสวงหาที่พึ่ง ถ้าหากเราตายไปแล้ว เราก็หมดสิทธิ์จากความเป็นมนุษย์ เราก็หลุดไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองของวิญญาณ ซึ่งเราจะพึ่งอะไรก็หารู้ไม่ แต่เมื่อเราอยู่ในเมืองมนุษย์ เราก็พึ่งกันได้ พึ่งดินฟ้าอากาศ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ ตลอดถึงอาหารและการบริโภค เครื่องใช้ไม้สอย ที่อยู่อาศัย เราก็พึ่งกันได้ แต่เมื่อเราหลุดพ้นเมืองมนุษย์ไปสู่โลกวิญญาณ ก็ไม่รู้จะไปพึ่งเพื่ออะไร ก็หาใครได้ทราบสถานที่อยู่ของตัวเองไม่ จะไปอย่างไร จะไปอยู่กับใคร โดยลักษณะนี้ไม่มีใครรู้ทั้งนั้น เมื่อไม่รู้ความเป็นอยู่และการไป เราก็กลัวว่าจะลำบากและมีทุกข์ ใครๆก็กลัวกันทั้งนั้น แต่จะไปอย่างสุขหรือทุกข์ เราก็หารู้ไม่

ตอนเรามีชีวิตอยู่ เราก็จำเป็นจะต้องแสวงหาสิ่งที่เป็นที่พึ่ง สำหรับโลกวิญญาณต่อไปข้างหน้า นอกจากความเป็นบุญเป็นกุศล อันนี้จะเป็นที่พึ่งที่จะทำให้ไปสู่สุคติ หรือสวรรค์ได้ เมื่อเราต้องการความสุข เราก็มาแสวงหาความเป็นบุญ อย่างเรามาฟังธรรมมันก็เป็นบุญ

ที่เรามานั่งภาวนาทำจิตของเราก็เป็นบุญ การเสียสละในการให้ทานก็เป็นบุญ อันนี้เป็นการสร้างทานกันไว้สำหรับวันข้างหน้า ถ้าหากเราไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เราก็ตกทุกข์ได้ยาก ก็มีความลำบาก ความวิตกกังวลนั้นก็มีกันทุกคน กลัวตัวเองต้องไปทุกข์ไปยากไปลำบากตรากตรำ กลัวความลำบากมาถึงตัวเอง

เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จึงพากันออกมาบำเพ็ญ และออกมาแสวงหา หาที่พึ่งที่อาศัย ทีนี้ที่พึ่งของเราจะเกิดขึ้นได้ เกิดจากทางไหน มาจากไหน เมื่อเรามาเป็นชาวพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ท่านเป็นพระบรมครู เป็นศาสดาจารย์เอกของโลก คือท่านเป็นผู้ได้กระทำ ได้รู้ได้เห็นมาก่อนในเรื่องความเป็นบุญเป็นกุศล เป็นมรรคเป็นผลตลอดจนเรื่องวิญญาณ อันปราศจากร่างแล้วไปสู่โลกหน้า ท่านทรงรู้หมด และพระองค์เป็นผู้รู้เห็นมาก่อน และเป็นผู้ที่ได้มีความประพฤติและปฏิบัติ และได้กระทำมาในเรื่องแสวงหาที่พึ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำมาก่อน จนถึงที่สุด คือ พระนิพพาน พระองค์ทรงรู้ทรงเข้าใจและเห็นอะไรทั้งหมด พระองค์จึงได้เป็นห่วงแก่ดวงวิญาณของสัตว์ที่ยังตกค้างอยู่ในโลก กลัวว่าจะมีความทุกข์และเดือดร้อน ด้วยอำนาจของกิเลส และอำนาจของความหลง ก็จะมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ก็มีความเมตตาและสงสาร ซึ่งพระองค์ได้มีชัยชนะแล้วและพ้นแล้ว พระองค์ก็ได้ประกาศสัจธรรม คือความเป็นจริงในความเห็นของพระพุทธองค์ ก็ได้แก่คำสอนของพระองค์ทั้งหมด จึงได้ทรงชี้แจงแสดงบอกตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลนั้น ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็ได้ไปสอนแก่บุคคลผู้มีอุปนิสัย เมื่อพระองค์ได้ทรงสอนจบคำเทศนาเท่านั้น ก็เรียกว่า ได้สำเร็จตามคำสอนของพระองค์ และได้พ้นทุกข์ไปได้ชัยชนะเหมือนอย่างพระองค์

ส่วนที่เหลือและยังไม่สามารถกระทำได้อย่างพวกเรานี้ พระองค์ก็ทรงวางแนวทางเอาไว้ให้เราได้กระทำ ตามคำสอนของพระองค์ไว้ ก็เป็นเหตุให้เกิดขึ้นซึ่งความเป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งทรงบัญญัติ และชี้แนวทางเอาไว้ มีอยู่สามประการ ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นซึ่งความเป็นบุญและเป็นกุศล มีทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา พระองค์ทรงวางแนวทางไว้อย่างนี้

เมื่อพระองค์ได้วางแนวทางไว้นั้น เราก็นำมาประพฤติและปฏิบัติตาม อย่างการให้ทาน เราก็เสียสละและให้ทานอยู่เป็นประจำ การรักษาศีลเราก็รักษาศีลอยู่เป็นประจำ การภาวนาเราก็ได้ภาวนาอยู่เป็นประจำ

อย่างนี้ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดเป็นบุญและเป็นกุศล บุญกุศลอันนี้จะเป็นปัจจัย เป็นอุปนิสัย เป็นยานพาหนะ สำหรับที่จะทำให้เราไปสู่สุคติ คือ โลกสวรรค์ได้ คือทำให้เราไปสู่ความสุขได้ อันนี้เป็นส่วนเบื้องต้นที่เราได้แสวงหา สำหรับประพฤติปฏิบัติเป็นประจำ และทำอยู่เป็นอาจิณ พอเราทำเป็นพื้นฐานแห่งความเป็นบุญเอาไว้แล้ว นอกจากนั้นเราก็มาดำเนินจิต คือเราจะมาทำจิตของเราให้เป็นไปในทางสงบ เราก็มาฝึกด้วยการภาวนา อันนี้เป็นการแสวงหาบุญ เป็นการแสวงหาที่พึ่งเช่นเดียวกัน เมื่อเราต้องการที่จะได้ประสบพบเห็น เห็นด้วยความเป็นจริงในขณะปัจจุบันชาติที่เรามีชีวิตอยู่ และต้องการความสุขของจิตเช่นนั้น ก็ให้เราทุกท่านตั้งจิตอธิษฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ แล้วให้รวมลงมาบรรจุเอาไว้ที่หัวใจของเรา แล้วก็ขอให้อำนาจคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์นั้น จงมาช่วยประคับประคองจิตของข้าพเจ้า ให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ให้เกิดความรู้แจ้งและแสงสว่าง และเกิดปัญญาขึ้นมาในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อความพ้นทุกข์

อันนี้เป็นการอธิษฐานจิต เราก็ตั้งสติและสัมปชัญญะ และก็จดจ้องอาการของจิตตัวเอง แล้วก็น้อมนำคำบริกรรมที่เราบริกรรมกัน เมื่อเราบริกรรมอันไหนที่ถูกกับจริตตัวเอง จะว่าพุทโธ หรือ ธัมโม สังโฆ ก็แล้วแต่ อันใดอันหนึ่ง ถ้ามันถูกกับจริต เราก็ควรเอาสิ่งนั้นมาบริกรรม เราบริกรรมอย่างไหนก็ให้บริกรรมอย่างนั้น คือให้เอาเฉพาะอย่าง เอกหลายอย่าง จิตจะมุ่งหาความสงบไม่ได้ เพราะมันหลายเรื่อง ทำให้สับสน เราจึงไม่เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะว่าพุทโธ พุทโธ ถ้าเรากำหนดตามลมไม่ได้ เราก็กำหนดพุทโธข้างในไปเลย กำหนดตั้งไว้ที่ใจไปเลย เรียกว่า พุทโธ พุทโธ ไม่เกี่ยวกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะว่า ธัมโม ธัมโม ไม่เกี่ยวกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะว่า สังโฆ สังโฆ ไม่เกี่ยวกับลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าเราบริกรรมคำเดียวให้เราบริกรรมคำเดียวเท่านั้น ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น จะว่าพุทโธอยู่อย่างนั้น จนจิตของเรามันชินต่อคำบริกรรม

เมื่อจิตของเรามันชินต่อคำบริกรรม จิตก็จะไม่ไปไหนจะอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว จึงเป็นเอกคตารมณ์ เรียกว่า เอกคตาจิต ตอนนี้แหละมันจะหาความสงบไม่ได้ เพราะมันคิดหลายเรื่อง ถ้าเรากำหนดอยู่โดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตของเราก็จะมีความสงบ เมื่อจิตมีความสงบแล้ว เราก็จะเห็นความเป็นบุญเป็นกุศลขึ้นทันที คือความสุขและความสบายมันจะปรากฎขึ้นทันที ความเบากาย เบาใจ โล่งอกโล่งใจ มันจะปลอดโปร่งไปทั้งหมด สมองเราก็ปลอดโปร่ง จะนึกคิดอะไรมันก็สบาย มันเป็นผลของความสงบ

ถ้ามีความสงบแล้ว จะเห็นอำนาจบุญทันที ความเป็นบุญเมื่อเข้าถึงจิต เราก็จะเห็นทันทีที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า มันเป็นบุญ ก็จะได้รู้ว่า บุญเป็นอย่างไร อันนี้เรารู้ได้ด้วยตนเอง ได้เห็นความสงบของจิตของเราเอง ที่จิตของเราสงบได้ก็เพราะเราได้เจริญกรรมฐาน คือ มาเจริญภาวนาเพื่อเป็นฐานที่ตั้งของจิต เมื่อเราพยายามตั้งจิตลงสู่ฐานของกรรมฐาน เมื่อได้ฐานที่ตั้ง จิตจะยังอยู่ในตัวของกรรมฐาน แล้วเราก็จะมีความสงบ สงบในอารมณ์ของกรรมฐาน อย่างพุทธานุสตินี้ก็เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน เมื่อสงบก็สงบในอารมณ์ของกรรมฐาน เรียกว่า เป็นฐานที่ตั้งของจิต เราก็กำหนดจิตของเราสู่สภาพของอารมณ์แห่งกรรมฐาน เมื่อมันสงบลงไปไม่ใช่ว่าจะไปนิ่งอยู่โดยไม่รู้อะไร ถ้าจิตมันสงบแล้ว ลักษณะความรู้มันก็มีอยู่ในอารมณ์ของมัน แต่ข้อสำคัญให้มันสงบเสียก่อน อย่างไรมันถึงสงบได้ ให้เราพยายามประคับประคองจิต พยายามต้อนจิตของตัวมา แล้วมาระลึกตั้งไว้ที่ตรงหน้า แล้วกำหนดจิตของตัวเองไป ถ้ามันดื้อดึงมันคิดมาก และโอหังมาก ก็ให้ย้อนพิจารณาถึงความตาย ความตายเราก็ย้อนเข้ามาพิจารณาอยู่เสมอ

ถ้าได้พิจารณาถึงความตายแล้ว จิตของเราจะได้เกิดความสังเวส

ถ้าได้พิจารณาถึงความตายแล้ว จิตของเราจะได้เกิดความสังเวส และเมื่อเกิดความสังเวสขึ้น ทำให้เรายอมรับเอาศีลธรรม เมื่อพิจารณาตามก็จะภาวนาได้ง่าย ถ้าจิตเราไม่ยอมรับ มันมีทิฐิมานะ อันนี้จะทำยาก เพราะฉะนั้น ให้ประคองจิตให้ดี ให้ใช้สติและปัญญา ให้เพียบพร้อมให้ดูลักษณะความง่วงเหงา ความซบเซา ความเศร้าหมองของจิต

สิ่งเหล่านี้แหละ เราควรจะต้องรับรู้ เราต้องรีบแก้ไข เรื่องปัญหาของจิตนี้แหละเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะเรามันมีกิเลสเป็นเจ้าของอยู่ในตัว และเป็นผู้ครองบ้านครองเมือง เราจะมาแก้ไขปัญหาของกิเลสนั้นมันยากนัก แต่ถึงจะยากก็ตาม คำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ยังมีหนทางที่จะต้องแก้ไขได้ เหมือนอย่างพระองค์หรือครูบาอาจารย์ ถ้าท่านได้ไปแสวงหาที่วิเวก ท่านก็มีความสามารถทำจิตของท่านให้เกิดสมาธิ และเกิดความรู้แจ้ง พบแสงสว่าง และได้เกิดปัญญาขึ้นมา ก็สามารถจะกำจัดอาสวะกิเลสของเราได้เป็นบางส่วน และท่านก็ได้รับและประสบซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ด้วยการปฏิบัติของท่านและการเสียสละของท่าน มันก็มีช่องทางอยู่ แต่เมื่อเราไม่มีโอกาสที่จะไปเช่นนั้นเราก็ไม่จำเป็น ให้เราถือเอาวิเวก วิเวกในความเป็นอยู่ตัวเอง ให้ถือเอาจิตวิเวก เอาความสงบของจิตเป็นรากฐาน
ในกรณีที่เราหาสถานที่วิเวกไม่ได้ คือเมื่อเราอยู่ที่ไหนก็ให้สงบที่นั่น จะอยู่ในบ้านก็ให้มันสงบ จะอยู่ในเมืองก็ให้มันสงบ ให้ทำความสงบให้อยู่ในจิต ให้เป็นจิตวิเวก เมื่อจิตของเราวิเวกแล้ว เราจะอยู่ที่ไหนมันก็วิเวกที่นั่น คือเราไม่ได้คิดว่าที่ป่านั้นวิเวก ที่ถ้ำนั้นสงบวิเวกดี คือใจเราไม่ได้คิดสถานที่อื่นเป็นที่วิเวก แต่ให้เอาความสงบในจิต เรียกว่าจิตวิเวก คือเราไม่เกี่ยวสถานที่ ถ้าเรายังแสวงหาสถานที่ว่าอยู่ตรงไหนมันจะวิเวก แต่เมื่อจิตเรามันไม่วิเวก มันก็ลำบาก ถ้าจิตของเรามันวิเวกแล้ว เราจะอยู่ในวัดวาอารามของเรา หรือที่ไหนๆมันก็วิเวก ข้อสำคัญขอให้ใจเรามันมีวิเวกเท่านั้นแหละ นั้นแหละ เรียกว่าวิเวก แล้วให้เราทำความวิเวกมากขึ้นในจิต และมีความสงบมากขึ้นในจิต เมื่อจิตของเรามีความสงบครั้งหนึ่งแล้ว และเราได้มาเพิ่มเติมครั้งที่สอง มันก็มากขึ้นโดยลำดับ ถ้าครั้งที่สามถ้ามีความสงบได้อีก มันก็เพิ่มเป็นทวีคูณมากขึ้น มันจะดีขึ้นทุกครั้ง ถ้าจิตของเรามีความสงบมากขึ้นโดยลำดับ ความละเอียดสุขุมของจิตมันก็ละเอียด ความเย็นความสบายของจิตมันละเอียดไปตามลักษณะของจิตที่มีความสงบนั้น

อันนี้มันเป็นของที่แปลกถ้าเราทำได้ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะรู้รสของจิตที่มีความสงบและวิเวกนั้น ถ้าเรามีความสงบและมีความวิเวกในตัวแล้ว เราก็รู้รสของความสงบของจิตนั้น จะมีรสเอร็ดอร่อยและจะมีความสุและหาอะไรเปรียบเทียบมิได้ แม้แต่เราสงบธรรมดาก็ทำให้มีความสุข เราจะเดินไปไหน จะรู้สึกเบาเหมือนไม่มีตัว จะนั่งก็เบาเหมือนไม่มีตัว จะยืนจะนอนก็เบาเหมือนไม่มีตัว มันจะเบาไปทุกอิริยาบท เป็นความสุขที่แปลกไม่มีอะไรที่จะเปรียบเทียบ ถึงแม้เราจะแตกดับหรือตายในขณะนั้น เราก็ไม่วิตก เพราะมันมีสุขในตัวเอง มันเป็นผลของความสงบ ส่วนเรื่องสติปัญญา มันจะเกิดขึ้นตามมาจากความเป็นสมาธิของจิตนั้นแล้วแต่ดวงจิตใคร เราจะบอกไม่ได้ มันจะเป็นปัญญาที่รู้แจ้งและรู้ชัด ไม่เหมือนกับความคิดที่เราปรุงเราแต่ง มันเป็นความชัดแจ้งขึ้นมาในจิต ซึ่งเป็นการรู้เฉพาะตน คนอื่นจะมารู้เห็นด้วยนั้นมันยาก เป็นความสุขขึ้นในจิตที่มันมีวิเวกในตัวเอง มันเป็นของหาได้ยาก ซึ่งเราทุกคนก็ต้องการความสุขแบบนี้ จึงได้อุตส่าห์พยายามกระทำกันมานั่งอดตาหลับขับตานอน แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เราก็อดทน เพื่อหวังในความสงบอันนี้

เราจึงพยายามทำความสงบนี้ให้มาก พยายามตั้งสติและปัญญาให้มาก ในเมื่อเวลาเรานั่งก็ให้ระวังจิต ให้ระวังความคิดด้วยสติปัญญาของตัวเอง ให้ยึดคำบริกรรมพุทโธเอาไว้ เราต้องพยายามเร่งให้ทันกับความคิด เมื่อจิตจับคำบริกรรมให้มั่นโดยเป็นเอกัตคตารมณ์ จิตก็สงบทันที

เมื่อความสงบลงไปถึงฐานที่ตั้ง จิตก็เกิดความสว่างขึ้นทันที เราจึงตามรักษาความสงบอันนี้ไว้ จะสว่างน้อยมากหรือนานเท่าใดก็แล้วแต่ ถ้ารักษาความสว่างไว้ได้ 30 นาทีขึ้นไป แสดงว่าจิตมีกำลังใช้ได้ ทีหลังนั่งใหม่จะกำหนดได้ทันที คือ ใจมันพร้อมที่จะเป็นพุทโธอยู่ข้างใน บางท่านเกิดความสว่างทะลุปรุโปร่งครอบไปหมด จะกำหนดเพ่งแผ่นดินมันก็ทะลุปรุโปร่งไป เหมือนไม่มีอะไรมาบังเลย อำนาจจิตของคนจะผิดกัน บางคนได้แต่รู้เฉยๆ จะมีความสงบและสว่างเฉยๆ จะมีนิมิตก็มีนิมิตธรรมดา จิตไม่โลดโผนและน่ากลัว ถ้าจิตเริ่มสว่างตั้งแต่วันแรก และได้มาปฏิบัติต่อเนื่องสัก 7 วัน จะทำให้จิตโลดโผน เพราะจิตกำลังห้าวหาญ ก็ให้รักษาจิตและประคับประคองจิตไว้ จิตจะนิ่งไม่โลดโผน จิตจะละเอียดและเย็นสบาย จนเข้าไปถึงซึ่งฐานที่ตั้งด้วยความเรียบร้อย แล้วก็พักอยู่อย่างสบาย เมื่อจิตมันสงบแล้วมันจะทำงานด้วยความละเอียด และเป็นสุขด้วยความเป็นราชา สติมันตื่นรู้ เราต้องทำความสงบให้เต็มอิ่ม แล้วเราจะทำเวลาไหนก็ได้ จะไปนั่งอยู่ตรงไหนก็ได้ ถ้าเราทำความสงบได้ไม่เต็มที่ เราก็ต่อไม่ติด มันต่อยาก ถ้ามันสงบได้เต็มที่ คิดว่าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ครั้งที่สอง และที่สามมาก็ไม่ยาก อย่างกรณีที่เป็นความสงบเบื้องต้น ยังสงบได้ไม่เต็มที่ คือ ยังไม่ดับ ก็ยังหาความสว่างไม่ได้ แต่ก็ได้ความสบาย ถ้าจิตมันดับ มันจะดับสัญญาอารมณ์ภายนอก จิตจะรวมอยู่ที่ฐานที่ตั้งอยู่ภายใน จิตก็มีความสว่างในตัว จิตจึงมีคุณค่า หรือสมาธิจึงมีคุณค่า ความสงบจึงมีคุณค่า จิตจะรับรู้ได้ถึงความสบาย แต่ไม่ใช่ความสำเร็จ เป็นเพียงแค่ผลของการภาวนา เมื่อเป็นอย่างนี้ ความขยันหมั่นเพียรก็มีมา จะเดินจงกรมก็ไม่รู้จักเหนื่อย นั่งภาวนาก็ไม่รู้จักเจ็บปวดและไม้รู้จักเหนื่อย ความขยันหมั่นเพียรทำให้วันเวลารู้สึกไปไว เพราะมันเห็นผลในตัวเหมือนเราเมื่อได้ของ ใครจะบอกให้เอาคงจะไม่มี มีแต่เราเก็บเกี่ยวเอาเอง
บางท่านบางองค์จะเดินจงกรม หรือนั่งภาวนาก็กระทำได้ตลอดทั้งคืน บางคนทำง่ายรู้ง่ายก็มี บางคนทำยากรู้ยากก็มี ก็แล้วแต่จิต ถึงเราจะหาความสงบไม่ได้ก็ตาม ก็ขอให้รับทราบเอาไว้ เผื่อวันข้างหน้าและโอกาสที่มีมา เมื่อเราทำไปและเกิดประสบการณ์ขึ้นมา เราก็จะได้นึกขึ้นได้ และจะได้ประคับประคองจิตของเราได้ เราก็จะได้แก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวลและไม่ต้องกลัว หรือกรณีจิตของเรามีความสงบมาแล้วมันจะได้เพิ่มเติมให้แน่นหนาเข้ามาอีก จะได้เกิดปัญญา คุณธรรมก็จะปรากฎและเกิดขึ้นกับเรา ความสุขและความสบายมันก็จะเพิ่มทวีคูณขึ้นมา ก็เป็นเหตุให้เราเกิดความพอใจในการปฏิบัติต่อไป ทำให้จิตไม่เกียจคร้าน

กรณีที่บางท่านทำไปแล้วไม่เกิดอะไรเป็นผลขึ้นมาในจิต จิตก็เกิดความเอือมระอา เกิดความเกียจคร้าน เพราะเราเคยเป็น จิตมันจะบอกว่า ถ้าไม่ได้อะไรแล้วจะทำไปทำไม มันเถียงขึ้นมาในจิต ทำให้จิตเกียจคร้านขึ้นมาทันที ไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ต้องทำ นี่เป็นเพราะของเรื่องคือเรื่องของตัวเอง แต่ถึงจะได้หรือไม่ได้ หน้าที่ของเราที่ควรจะกระทำ หน้าที่ของเราที่ควรจะประพฤติและปฏิบัติ จำเป็นเราก็จะต้องทำ จำเป็นเราจะต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ได้อย่างหนึ่งมันก็ได้อย่างหนึ่ง ได้ก็คือเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ หมายถึงว่า กิริยาอันนั้นเป็นบุญ อย่างที่เรามานั่งภาวนานี้ จิตมันไม่สงบ อะไรก็ไม่สงบ แต่ว่ากิริยาของเราที่เราทำไปนั้น เรียกว่าเป็นบุญแล้ว อันนี้เรียกว่าบุญกิริยา เรียกว่ากิริยาของเราเป็นบุญ เรียกว่ามันไม่ได้เสียหาย มันก็เป็นประโยชน์

ทีนี้เมื่อส่วนจิตของเราได้เข้าไปอีก มีความสงบเข้าไปอีก เรียกว่ามันเพิ่มเข้าไปอีก มีส่วนเพิ่มปริมาณมากขึ้น และความดีมันก็มากขึ้น ถ้ามันเป็น คือเราก็เห็นด้วย เราก็สุขด้วย เราก็สบายด้วย นี้เรียกว่ามันเพิ่มปริมาณ เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำไปแล้ว ถ้ามันไม่ได้ก็อย่าไปเสียใจ ถ้ามันได้ก็อย่าไปนิ่งนอนใจ คืออย่าไปสะเพร่า พยายามทำให้มันได้ พยายามทำให้มันเป็น พยายามทำให้มันได้ ดูจิตดูใจของเราเท่านั้น คือทำจิตทำใจ พิจารณาเอาอะไรต่ออะไรก็ให้พิจารณาตัวของตัวเองไปก่อน จะเป็นเรื่องอะไร เรื่องของจิตของใจอะไรก็ให้พิจารณาตัวของตัวเองไปก่อน คือเรามันพร้อมที่จะต้องมีกันทุกคน เรื่องของจิตก็ดี เรื่องใจก็ดี เรื่องวิญญาณก็ดี เรามีในตัวของเราพร้อม เราก็พิจารณาในตัวของตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร จะมีตัวมีตนอย่างไร เราก็พิจารณาเอา

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นของที่หาตัวตนไม่ได้อยู่แล้ว เราจะนำตัวตนมาให้ดูเป็นของที่ลำบาก นอกจากเราจะทำจิตของเราให้มีความสงบตั้งมั่นแล้ว เราก็จะได้รู้เห็นขึ้นมาในตัวของตัวเองว่ามันเป็นอย่างนี้ เรียกว่า ให้รู้ด้วยตนเอง และให้กระทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง เราจะได้รับรองด้วยตนเอง เราจะได้รู้ด้วยตนเอง เรียกว่าให้มีขึ้นมาในตัวของตัวเอง คือมันมีกันทุกคน เรื่องจิตวิญญาณหรือเรื่องจิตเรื่องใจ มันมีมาพร้อม เราจะทำอย่างไรจึงจะปรากฎ ขึ้นในตัวเองได้ ขอให้เราท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักปฏิบัติ ให้ค้นคิดพิจารณาด้วยตัวเอง ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ได้ทรงบัญญัติมา เมื่อพิจารณาในตัวของตัวเองได้อย่างไรแล้ว เราก็เปรียบเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ว่ามาอย่างนั้น และก็ตรงกับจิตใจของเราเป็นอย่างนี้ อันนี้ให้เราพิจารณาด้วยตัวเอง และให้กำหนดรู้ด้วยตัวเอง จะชัดกว่าและจะดีกว่า ซึ่งเราเห็นด้วยตนเอง

ดังนั้น ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ต่างก็มีศรัทธา ปสาถะและความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า และยอมเสียสละเวลา แม้กระทั่งชีวิตจิตใจของตัวเองก็ยอมเสียสละเพื่อปฏิบัติ เรียกว่ายกมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้ชีวิตของเราจะแตกดับ เราก็ยอม แม้ชีวิตของเราจะหาไม่ เราก็ยอม เรียกว่ายกให้ท่านหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลาย จงอย่าได้มีความประมาทในความเป็นอยู่ของตัวเอง และให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติและปฏิบัติ ตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงชี้ไว้แล้ว เราจะปฏิบัติได้มากหรือน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่สติกำลังของตัวเอง ถ้าสติกำลังของตัวเองหรือสติปัญญาของตัวเองมีมาก เราก็ทำให้มันมาก เรียกว่าตามสมควร

เมื่อเราทำแล้ว สิ่งที่เราได้รับก็เป็นหน้าที่ของพวกเรา เมื่อเรารับแล้ว และผลเกิดขึ้นมาแล้ว ในอนาคตกาล คือโลกหน้า ได้แก่โลกวิญญาณ ก็ขออำนาจบุญกุศล หรือคุณความดีของท่านทั้งหลายจงเป็นยานพาหนะ สำหรับที่จะรับรองท่านทั้งหลาย อย่างน้อยขอให้ไปสู่สุคติและโลกสวรรค์ ถ้ามากยิ่งกว่านั้นคือ พรหมโลก สูงที่สุด คือ พระนิพพาน เรียกว่า สิ้นทุกข์ สิ้นยาก พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร เป็นพระบรมสุข คือสุขอันยอดยิ่ง อันนี้เรียกว่า ผลของการปฏิบัติ ก็ขอให้ได้ดังความประสงค์จำนงหมาย ของบรรดาท่านทั้งหลายทุกทุกท่าน ดังที่ได้บรรยายมา สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ..




Create Date : 06 มีนาคม 2553
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:36:29 น. 0 comments
Counter : 277 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jingjoknoi
Location :
Fl United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Jingjoknoi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.