ทะเลทุกข์...กว้างไกล กลับใจ......คือฟากฝั่ง

เหตุคือการเกิด



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ บ้านเยาวภาวนา กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓




ความตาย กับความเกิดเป็นของคู่กัน ถ้าไม่มีความเกิด ความตายก็ไม่มี ถ้าไม่มีความเกิด ความแก่ก็ไม่มี ถ้าไม่มีความเกิด ความเจ็บก็ไม่มี เพราะความเกิดนั้นแหละเป็นต้นเหตุของความตาย ความตายนั้นเป็นทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ความแก่ชราเป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ได้พยาธิเป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความทุกข์ที่มีมาเป็นเพราะความเกิด ก่อนที่เราจะได้มาปฏิบัติ ก็เพราะความเกิด ก่อนที่เราจะได้ทำมาหากินเป็นผู้เป็นคนที่มีชีวิตอยู่ ก็เพราะความเกิด ความเกิดนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ทีนี้เราจะพิจารณาหาความเป็นจริงด้วยตนเองในเรื่องของความเกิดเป็นทุกข์ว่าจะเป็นจริงเหมือนอย่างพระพุทธเจ้ากล่าวหรือไม่ ความเกิดนั้นเป็นสาเหตุที่จะให้นำมาซึ่งความทุกข์ แล้วความเกิดมาจากไหน ใครเป็นผู้มาเกิดและมาอย่างไร อันนี้ก็ให้เราหาตนของตนเองว่าเรามาจากไหน อะไรพาให้เรามาเกิด ที่ให้เกิดมาแล้วเรียกว่าคน ได้มาเกิดเป็นคน สาเหตุที่จะให้มาเกิดคืออะไร และใครเป็นผู้นำมาเกิด เรื่องนี้เป็นของละเอียดอ่อน เป็นของที่มองเห็นได้ยาก เป็นเรื่องของตัวเองไม่ใช่เรื่องของสัตว์ คนอื่นสัตว์อื่นเขาก็เกิดเหมือนเรา เราก็เหมือนกับเขา ความเกิดอันเดียวกัน แต่เราจะมองเฉพาะความเกิดของเรา เพื่อให้รู้ว่าเราเกิดโดยวิธีไหน ความเกิดของสัตว์โลก เขาก็มาลักษณะเดียวกันกับอาการที่เรามาเกิด

ไม่ว่าสาเหตุมาจากไหน เมื่อได้เกิดมาแล้วเราก็ว่าดี คนทั้งหลายเขาก็ว่าดีกันทั้งโลก แต่ความดีที่เราเกิดมาเป็นความดีไม่ถาวร เป็นความดีชั่วขณะ ความดีที่เราอาศัยอยู่กับความเกิดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นภัย เราต้องคอยระมัดระวังภัยอยู่ตลอดในเมื่อเราเกิดมา ก็เพราะความเกิดนั้นไม่ถาวร เมื่อเกิดมาแล้วเราก็อยู่กันไป ความเป็นอยู่ของความเกิดมาไม่ถาวร มันชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เกิดมายังไม่เท่าไรความแก่ก็มาแล้ว ความแก่ก็มาตั้งแต่แรกเกิด ความเจ็บก็แทรกซ้อนเข้ามาอีก ผลสุดท้าย

ก็คือความตายเป็นที่สุด นี่ มันไม่ได้ถาวร ถ้าความดีของความเกิดมันดีแบบถาวรก็ไม่เป็นไร แต่นี่มันก็ไม่ได้ถาวรอะไรเลย แม้แต่ชั่วขณะที่เราอยู่เพียง ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง ความดีก็ยังหาความแน่นอนไม่ได้อีก มันก็ยังเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งที่เคยร่ำรวยและมีความสุขมา ก็ยังเปลี่ยนแปลงไปเป็นทุกข์ได้ กลายเป็นคนทุกข์ยากลำบากไปได้ ก็ด้วยความไม่ถาวรในการเกิด ถึงเราจะเกิดมาแล้วเราว่าดีก็ตาม แต่ความถาวรในความเกิดนั้นไม่มี ทีนี้เราจะเอาดีในความเกิด ก็ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นหลักฐาน ก็ได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

พระพุทธเจ้าก็มามองเห็นอันนี้ คือมองเห็นความเป็นอยู่ในความดีของความเกิดเป็นความไม่ถาวร เป็นของชั่วครั้งชั่วคราว แม้แต่พระองค์เสวยพระชาติเกิดมาในอดีตที่พระองค์ได้เข้าสมาธิและได้เกิดญาณปัญญาขึ้นเรียกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นญาณระลึกชาติได้ รู้ว่าชาติของพระองค์เองที่เกิดมาแต่ละชาติๆ ผลสุดท้ายก็มีแต่ความตายเป็นที่สุด จนกระทั่งภพชาติของพระองค์มาเกิดใหม่เป็นพระสิทธัตถะราชกุมาร ด้วยบุญญาบารมีของพระองค์ที่สร้างบารมีมา ได้ดลบันดาลให้พระองค์ได้คิดในทางนี้ คิดในเรื่องทุกข์ ทุกข์ในการเกิด เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาก็เพื่อตาย พระองค์จึงได้หาหนทางออก ที่เรียกว่าทรงออกผนวช หนีจากพระราชวัง สละราชสมบัติ ก็เพราะอะไร ก็เพราะต้องการหนีจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่ถาวรแห่งชีวิต

นี้แหละที่พระองค์หนี แต่ถ้าจะหนีโดยเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ไม่มีทางที่หนีได้ พระองค์ก็มาเห็นหนทางเดียว พระองค์มาพิจารณาหาว่า ใครเป็นผู้ตาย ส่วนที่ตายได้แก่ร่างกาย ส่วนที่มาเกิดจริงๆไม่ได้ตาย ท่านก็กลัวว่าจะไปเกิดอีกข้างหน้า ท่านจึงได้หาหนทางออก ก็ทรงออกผนวชนี่แหละ เมื่อทรงผนวชพระองค์ก็ไม่ได้ทำอะไรอื่น มีแต่แสวงหาดวงวิญญาณของตัวเองอันที่นำพาให้มาเกิด จนพระองค์ได้พบด้วยสมาธิ พระองค์ไปนั่งอยู่ใต้ต้นมหาโพธิ์ จิตของพระองค์สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วก็เกิดปัญญาญาณขึ้นมา ญาณแรกรู้เรื่องชาติภพของพระองค์เอง ญาณที่สองก็รู้จุติของสัตว์ที่ไปเกิดและมาเกิด ญาณที่สามก็รู้ต้นเหตุที่นำให้มาเกิดเรียกว่า อาสวักขยญาณ พระองค์ก็ไปตัดต้นเหตุได้แก่กิเลส ตัดความเกิด ต่อเมื่อตัดความเกิดได้แล้ว หนีจากความเกิดได้แล้ว นั้นแหละพระองค์จึงได้ประกาศ

ตนว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ คือผู้ที่ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระองค์หนีจากภพนี้ได้แล้ว พระองค์จึงได้ประกาศอย่างนั้น ความเกิดที่จะมีอีกข้างหน้าพระองค์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอีกแล้ว ถือว่าสิ้นชาติสิ้นภพ แล้วก็ไม่มีภพมีชาติอีก พระองค์ก็ถือว่านั่นเป็นยอดแห่งความสุข ความสุขของพระพุทธเจ้า คือหนีความเกิดได้ หนีความเกิดได้ก็หนีแก่ หนีเจ็บ หนีตายได้ แต่ถ้ายังหนีความเกิดไม่ได้ก็ยังต้องเป็นอยู่ จะไปชาติใดก็ตาม ภพใดก็ตาม มันก็ต้องมีแก่มีเจ็บมีตายอยู่ดี

ดังนั้นที่พวกเราพากันมาภาวนา ก็ให้พิจารณาให้ลึกซึ้งในเรื่องความเป็นมาของตัวเองแต่ละคนๆ ว่าเป็นมาอย่างไร มากันแบบไหน เมื่อก่อนอยู่ที่ไหนและได้ทำอะไรมาบ้าง การมาของตัวเองและความเป็นอยู่ของตัวเองซึ่งตัวเองอยู่มาและกระทำอะไรที่ทำให้เราได้มาเกิดอย่างนี้ เราก็หาได้รู้ไม่ จึงให้เราค้นหา ให้เราพิจารณาหา ในเมื่อจิตของเราได้รับสัมผัสกับความสงบแล้วและได้รับสัมผัสกับความเป็นสมาธิแล้ว ว่าตามหลักสมาธิ แม้แต่ได้เพียงขณิกะสมาธิ ก็ยังถือว่าเป็นบาทของวิปัสสนา คือ ยกเอาพระไตรลักษณ์มาพิจารณาเพื่อจะยังปัญญา คือ ความรู้จริงเห็นแจ้งให้เกิดขึ้นได้ ความรู้จริงความรู้แจ้ง คือรู้อะไร ก็รู้เรื่องของตัวเองที่เป็นมาและรู้สิ่งที่สนับสนุนให้เรามาเกิด สิ่งที่นำให้เรามาเกิดคืออะไรกันแน่ จะได้ไปรู้ตรงนั้น จะรู้จริงก็รู้ตรงนั้น จะไปรู้แจ้งก็แจ้งตรงนั้น จะได้ไปแก้ไขในส่วนที่มาสนับสนุนให้เรามาเกิด

สิ่งที่นำให้เรามาเกิด ก็ได้แก่กิเลส เรื่องของกิเลสนี้แหละเป็นของที่ลึกซึ้ง ใครก็ได้แต่ว่าเอาเท่านั้น แต่ตัวจริงๆอันที่เราจะละ ตัวจริงๆอันที่เราจะตัด ตัวจริงๆอันที่เราจะเลิก ตัวจริงๆอันที่เราจะถอน จะชำระไม่รู้อยู่ตรงไหน ก็มีแต่พากันว่า แล้วไม่ได้พากันค้นหาที่มันนำมา เรามาเอากันแต่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุไม่มีใครเข้าไปค้นหาว่ามาจากไหน กิเลสคืออะไร เราก็ได้แต่แปลตามศัพท์ของพระบาลีเท่านั้นว่า กิเลส คือความเศร้าหมองของจิต ก็ได้แต่เพียงแปลเท่านั้น แม้แต่จิตเราก็ยังไม่เห็นว่า ความเศร้าหมองเป็นอย่างไร ความเศร้าหมองที่เข้าไปทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอย่างไร เราก็ยังหาได้รู้ไม่

ทีนี้เราจะละกิเลส เราจะหนีทุกข์ด้วยการภาวนา จะหนีด้วยศรัทธาของเรา เรามีศรัทธาเพื่ออะไร ศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็เพื่อประสงค์ว่าจะ

หนี แต่จะหนีได้หรือไม่ได้ ศรัทธาก็ยังมีอยู่ ในเมื่อที่เรามีศรัทธาอย่างนั้นเราจึงได้พากันมาพากันนั่งภาวนา นั้นแหละในเบื้องต้น ต่อเมื่อเรามีความสงบบ้าง เราก็ควรที่จะค้นหาต้นเหตุ คือต้นเหตุที่เป็นมาในอดีต ต้นเหตุที่สนับสนุนมา ว่าอะไรส่งมา ที่ว่ากิเลสคือความเศร้าหมองของใจ ใจมันเศร้าหมองเพราะกิเลสอย่างไร กิเลสเป็นเหตุให้ใจเราเศร้าหมองอย่างไร เราก็ควรที่จะเข้าไปค้น เข้าไปพิจารณาที่ต้นเหตุ คือ ต้นเหตุของผู้มาเกิด แล้วจึงจะได้เกิดเป็นวิปัสสนา คือ ความรู้แจ้งและความเห็นจริง มันจะได้ชำระตัวเอง เมื่อได้เห็นเองแล้วก็จะได้ชำระตัวเอง ให้พากันเข้าไปค้นหา ส่วนที่เราได้รู้ได้เห็นในสรรพสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับดวงวิญญาณที่ได้พลัดพรากจากไป ตายไปก่อนเราแล้ว แต่วิญญาณอันนั้นไปตกค้างได้อย่างไร และไปอยู่อย่างไร ทั้งที่หาตัวตนไม่ได้แต่ก็ยังได้ประสานกันกับจิตเราได้ ในเมื่อจิตของเรามีความสงบก็ยังได้พอปรากฏ แต่มันก็แสดงเหตุให้เราทราบสิ่งที่มันตกค้างอยู่นั้นเพราะอะไร ก็เพราะกิเลสของเขา ในเมื่อเขายังมีกิเลสอยู่ เขาก็ต้องเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องพิจารณาอย่างนั้น เพราะกิเลสนั้นแหละเป็นเหตุให้เขาได้ทำกรรมชั่ว และความชั่วนั้นแหละจึงตามสนองเขา เขาอยู่ด้วยความชั่วที่เขาได้กระทำมานั้น สมบัติเก่าของเขาคือความชั่ว แล้วมันก็อยู่อย่างนั้นตลอดไป แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปไหน แล้วเขาจะไปทำอะไรที่ไหนก็หาได้ทราบไม่ ความเป็นอยู่ของวิญญาณเขานั้น เขาอยู่ด้วยความสุขหรือความทุกข์ เราก็ควรจะทราบ

ที่เราเห็นว่าวิญญาณที่เขาพลัดพรากจากไปก่อนเรา ยังไปตกค้างอยู่ เขาอยู่ด้วยความทุกข์ อยู่ด้วยกรรม อยู่ด้วยเวร ก็อยู่ด้วยกิเลสนั้นแหละ เราก็จะได้เข้าใจว่าเขาอยู่ด้วยกิเลส กิเลสเป็นเหตุให้เขาทำกรรม กรรมนั้นก็เป็นวิบาก เป็นที่เสวยของเขาอยู่อย่างนั้น เมื่อไรจะเสร็จสิ้นกัน เขาก็หาได้รู้ไม่อีก เมื่อเราได้ทราบว่าวิญญาณของเขาผู้ที่ได้พลัดพรากจากไปก่อนเรา เขายังอยู่อย่างนั้น ทราบด้วยจิตวิญญาณของตัวเอง ทราบด้วยปัญญาญาณของตัวเอง เราก็โอปนยิโกน้อมเข้ามาพิจารณาถึงจิตวิญญาณของตัวเอง กลัวว่าจะเป็นเหมือนอย่างเขา ในเมื่อยังมีกิเลสอยู่ มันก็ต้องเป็นจนได้ ถ้าชาตินี้ภพนี้เป็นไม่ได้ แต่ยังมีชาติต่อๆไปอีก เครื่องที่จะสนับสนุนและส่งให้วิญญาณเรามาเกิดมันยังมีอยู่ สิ่งเหล่านั้นก็ส่งไปอีก ส่งต่อไปเป็นทอดๆ เราก็ต้องเสวยไปเป็นทอดๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง เราจะได้ค้นหา

สาเหตุสิ่งที่เป็นมา อย่างที่เขาเป็นมาก่อนเราก็เพราะกิเลส ที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะกิเลส ในเมื่อเราพลัดพรากจากความเป็นอยู่ของเราอันที่ไม่ถาวรนี้ มันก็จะเป็นไปเช่นเดียวกันกับเขา เพราะเครื่องสนับสนุนและเครื่องส่งยังมีอยู่ เราก็ควรพิจารณาเครื่องส่งของเราเอง ก็คือ กิเลสนั้นแหละ

กิเลสชื่อก็มีอยู่แล้ว กิเลสกามอันหนึ่ง วัตถุกามอีกอันหนึ่ง พูดย่อๆเข้ามา คือ กิเลสกาม กับวัตถุกาม ถ้าขยายออกไปอีกก็ คือความโลภ คือความโกรธ คือความหลง นี่คือชื่อของกิเลส และ อาสวะ เครื่องหมักดอง อนุสัย นอนเนื่อง ก็เป็นชื่อของกิเลส แต่ต้นของมันมีอยู่คือ กิเลสกาม กิเลสกาม คือของภายใน ส่วนวัตถุกาม คือ ของภายนอกที่เราอยู่อาศัย ข้าวของเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณ ที่อยู่อาศัยอะไรต่างๆ อันนี้เรียกว่า วัตถุกาม แต่กิเลสกามมีกันทั่วโลก ก็ตัวนั้นแหละที่ส่งผลให้มาเกิดบนโลกแล้วก็มาหลงกันอยู่นี้

นั้นแหละพระพุทธเจ้าค้นหาอันนั้น แล้วพระองค์ก็ดับอันนั้น จึงได้เรียกว่า ดับตัณหา ได้แก่กามตัณหา ที่พาให้มาเกิด เรียกว่าสมุทัย ให้เราค้นเข้าไปถึงนั้น ค้นหาความละเอียดของจิต สิ่งที่มาปรากฏเป็นเรื่องนิมิตต่างๆ ก็เนื่องมาจากญาณของเราที่เกิดขึ้นมาจากความสงบนั้น แต่เป็นญาณในเบื้องต้น ยังไม่เป็นญาณที่จะให้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลอะไร เป็นญาณสำหรับที่จะให้เรามองหาหนทางที่จะหาความเป็นจริงได้ นี่เรียกว่าญาณขั้นต้น เราก็ใช้ญาณอันนั้นค้นเข้าไปพิจารณาเข้าไป เมื่อได้แล้วก็อย่ามาอยู่เฉยๆ ให้พิจารณาหาต้นเหตุบ้าง เพื่อจะได้เกิดปัญญาขึ้นด้วยตัวเอง ให้ได้รู้เหตุรู้ผลรู้ทางไปทางมาของเขา พอที่จะดับภพดับชาติได้ก็ดับไปเลย ถ้าดับไม่ได้ก็ให้มีอุปนิสัยอันแก่กล้าบ้าง คือ บารมีอันแก่กล้า ถ้าหากว่าปัญญาบารมีของเราพร้อม ก็สามารถแก่กล้าในตัวของตัวเองได้

ที่พระพุทธเจ้าเบื่อก็เบื่อความไม่ถาวรในความเป็นอยู่นี้ ถ้าความเป็นอยู่ถาวร พระองค์คงไม่หนี จะหนีไปทำไมก็มันยังถาวรดีอยู่ อันนี้มันไม่ได้ถาวรอะไรกับความเป็นอยู่ นั้นแหละพระองค์เบื่อ ทุกสิ่งก็ได้แต่ว่า ของเราๆ ประเทศก็ประเทศของเรา พื้นแผ่นดินก็แผ่นดินของเรา ราชสมบัติก็เป็นของของเรา แต่ผลสุดท้ายหาได้มีอะไรเป็นของเราไม่ พระเจ้าปู่ พระเจ้าตา พระเจ้ายาย ท่านก็สวรรคตหมด อะไรก็จะอยู่ไม่ได้ แล้วจะเป็นของของเราได้อย่างไร พระองค์ก็มาพิจารณา

อย่างนี้แล้วจึงหนี หนีไปเพื่อค้นหาเหตุ ที่ไปอยู่กับฤาษีอาฬารดาบส อุททกดาบสก็ตาม แล้วไปอยู่ลำพังด้วยพระองค์เองก็ตาม แล้วไปยอมสละชีวิตพระองค์เองก็ตาม ไปตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก็ตาม ก็เพื่อค้นหาสิ่งนี้ สิ่งที่พาให้พระองค์เป็นมา พระองค์ได้เห็นชาติของพระองค์เอง ตั้งแต่มหาเวสสันดรชาดก ลงไป จนถึงเตมีย์ใบ้ แล้วอะไรพาให้เป็นอย่างนั้น พาให้เกิดอย่างนั้น ก็เนื่องมาจากกิเลส จากโทษของกิเลส พระองค์ก็ไปพิจารณาโทษของกิเลส มันเป็นเหตุให้เรามาอย่างนี้ แล้วพระองค์ก็พร้อมไปด้วยญาณ ด้วยปัญญา

แล้วญาณนั้นมาจากไหน ก็นอกจากหัวใจของพระองค์แล้ว จะมีญาณมาจากไหน ญาณก็เกิดจากหัวใจ ฌานก็เกิดจากหัวใจ ปัญญาก็เกิดจากหัวใจ วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นก็เกิดจากหัวใจ โสดามรรคโสดาผลก็ดี อรหัตมรรคอรหัตผลก็ดี ก็เกิดจากใจทั้งนั้น เวลาหลุดพ้นก็หลุดที่ใจท่านนั้น เวลาตรัสรู้ก็ใจท่านนั้นเป็นผู้ตรัสรู้ ก็อยู่ในนั้น พระองค์ไม่ได้ไปเอาญาณมาจากที่อื่น ไม่ได้ไปเอาฌานมาจากที่อื่น ไม่ได้ไปเอาสมาธิมาจากที่อื่น ไม่ได้ไปเอาปัญญามาจากที่อื่น แต่พระองค์ทำเอาในนั้น คือ ทำอยู่ในใจ

แม้แต่พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าได้เป็นสาวก หรือว่าเป็นพระขีณาสพ ผู้สิ้นอาสวะ สิ้นกิเลส คือหมายความว่าตัดต้นเหตุ จึงได้เรียกว่าขีณาสพ คือตัดต้นเหตุได้ คือละกิเลสได้ แล้วอะไรที่ละ ร่างกายท่านละหรือ ก็ไม่ใช่ ร่างกายท่านก็เหมือนกับเราธรรมดา แต่ใจของท่านนั้นแหละที่ละได้ ตัดขาดกิเลสได้ จึงได้เรียกว่าพระขีณาสพคือ ผู้สิ้นอาสวะกิเลส เพราะกิเลสเป็นเหตุที่ส่งให้ท่านมาเกิด ทนทุกข์ทรมาน และเสาะแสวงหากันไปตั้งหลายรุ่น ที่ตายไปก็มากโดยไม่ได้ประสบพบความเป็นจริง ต่อมาก็มีพระพุทธเจ้า องค์สิทธัตถะราชกุมารเสด็จจากชั้นดุสิตลงมาสู่มนุษยโลกมาปฏิสนธิ เกิดในกรุงกบิลพัสดุ์ ในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เป็นลูกของพระเจ้าสุทโธทนะ จนอายุ ๒๙ ปี สิ่งเหล่านี้แหละจึงสนับสนุนท่านให้ท่านได้ออก แล้วอายุ ๓๕ ปี จึงได้พบความเป็นจริง คือสละกิเลสได้ แล้วพระองค์จึงได้ไปโปรดพวกสาวกทั้งหลายให้ได้รู้ตามเห็นตาม พวกที่ไม่รู้ตามเห็นตามที่ตายไปก่อนก็มาก ผู้ที่ได้สิ้นกิเลสจากพระองค์ก็มาก คือหนีจากความไม่ถาวรแห่งความเป็นอยู่แห่งชีวิต

สาวกเจ้าที่ได้สำเร็จมรรคสำเร็จผลก็ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ที่อุดมสมบูรณ์ร่ำรวย คนที่ยากจนที่สุดก็ยังได้สำเร็จ คนที่ร่ำรวยก็หากมี เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มี ที่เป็นเศรษฐีก็มีบ้างแต่ไม่มาก อย่างภัททวัคคีย์สามสิบติดตามหญิงแพศยาที่ได้สำเร็จที่ไร่ฝ้าย ก็ไม่ใช่คนร่ำรวย พระองค์แสดงพระธรรมเทศนา ก็ยังสำเร็จ สำเร็จในทางจิต

ครั้งแรกก็ต้องหลงก่อน เหมือนอย่างเราๆท่านๆทั้งหลาย กิเลสท่านก็เหมือนกันกับเรา แต่ท่านทำไมจึงไปได้ เราก็เอาแต่เพียงบุญ เอาแต่แค่บุญ คอยแต่พระพุทธเจ้าองค์หน้าจะมาตรัสรู้แล้วก็จะสำเร็จกับท่าน คอยกันเพียงแค่นั้น แต่จะมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบ ถ้ามีก็คงจะนาน ทั้งที่เราก็จะเกิดจะแก่จะเจ็บจะตาย ทั้งที่ความไม่ถาวรก็ยังอยู่กับเรา ครองเราไป ก็ไม่รู้อีกกี่ภพกี่ชาติ มันไม่แน่นอน

ทีนี้เรามาค้นหาสาเหตุของความที่ไม่แน่นอน ก็คือกิเลส ได้แก่ความเศร้าหมอง เมื่อเกิดอะไรขึ้นมาแล้ว ปรากฏอะไรขึ้นมาแล้ว ก็ให้พิจารณาถึงตัวเองบ้าง รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นนั้นก็เป็นมาก่อนแล้ว น่าจะเกิดความสลดสังเวชตัวเอง กลัวจะเป็นเหมือนอย่างเขา ไม่ใช่ว่าเราเห็นเรารู้ รู้แล้วจะคิดว่าเราเป็นผู้วิเศษ ก็ไม่ใช่ จะเป็นเหตุที่ให้เราหลงลืมตัวเองโดยไม่รู้ตัวอีก แล้วเราจึงค้นต่อไปอีก ค้นหาความเป็นจริงว่า ตัวของเราเป็นก้อนของกิเลสทั้งนั้น มันมาจากกิเลส ก็ก้อนกิเลสนี้แหละเป็นก้อนศีลก้อนธรรม ก้อนศีลก้อนธรรมก็มาจากกิเลส

เราต้องพิจารณาให้ดีสำหรับนักปฏิบัติ เราจะมาเอาแต่เพียงแค่นั้น ก็จะได้แต่เพียงแค่นั้น แล้วที่เลยไปกว่านั้นอีก และที่ยังมีอยู่ ความละเอียดลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพของจิตผู้ที่จะนำมา แล้วเขาก็มากระจายให้เป็นหลายความคิด คือ หลายจิต แล้วก็มาแยกเป็น โลภะจิต โทสะจิต โมหะจิต ก็มาแยกออกไปอีก แล้วก็มาแยกจิตของพระอริยะออกไปอีก แท้ที่จริงก็เป็นจิตตัวเดียวกันนั้นแหละ แยกออกมาเพื่อเป็นความรู้เฉยๆ ความเป็นจริงก็มีตัวเดียวนั้นแหละ ละได้ก็ละตัวเดียวนี้แหละ พวกเราพากันพิจารณาให้ดี เรื่องความเป็นอยู่ของโลก ร่างกายของเราก็เป็นโลกอันหนึ่ง โลกคือที่อยู่อาศัย ดินก็อยู่นั้น น้ำก็อยู่นั้น ลมก็อยู่นั้น ไฟก็อยู่นั้น ก็โลกอันหนึ่ง เรียกว่า โลกในตัว โลกคือร่างกายของเรา ร่างกายของเราก็มาอาศัยโลก โลกข้างนอกก็คือดินฟ้าอากาศ ในเมื่อเราได้อาศัยโลกนี้อยู่ เราคอยปรนนิบัติมัน รักษามันเท่าไร มันก็ไม่ใช่เป็นของเราอีก แม้แต่โลกข้างนอกก็ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงที่อาศัย แม้แต่โลกภายใน คือ ร่างกายของเรา ก็เป็นเพียงที่อาศัย ไม่ได้ถาวรอะไร เมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นมาก็ดูสิ สงครามโลกภายในตัวเอง มันทะเลาะกัน มันถกเถียงกัน มันยกพวกใส่กันอยู่ภายใน มันร้อนขนาดไหน ห้ามมันก็ไม่ฟัง บอกว่าอย่าคิด อย่าปรุงแต่ง อย่าอิจฉา อย่าพยาบาท อย่าโกรธ อย่าโลภ อย่าหลง มันก็ไม่ได้ฟัง ใครไปห้ามให้มันฟังได้ สงครามโลกใครเป็นนายก ใครเป็นนายที่จะเป็นผู้สั่งการรบในสงครามโลก มันวุ่นวายกันจะตาย มันไม่มีใครห้าม นอกจากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นที่จะห้ามสงครามโลกเราได้ ปราบความคิดของเราได้ ปราบกิเลสของเราได้ ปราบสงครามโลกของเราได้ พระพุทธเจ้าคือใคร ก็คือหัวใจเรา ได้แก่ท่านผู้รู้ พุทธะแปลว่าผู้รู้ นั้นแหละผู้ปราบสงครามโลก เดี๋ยวโลกก็จะแตก ถ้าโลกนี้แตกแล้วเราจะอยู่ได้หรือ ผู้ที่เกิดสงครามภายใน จะไปสร้างโลกใหม่แล้วก็ไปเกิดสงครามใหม่อีก นี่แหละสงครามโลกครั้งหนึ่งๆ เราก็พิจารณาเอา โลกที่เราอาศัยอยู่ คือเนื้อ คือหนัง คือกระดูก คือเส้นเอ็น คือตับ คือไต คือไส้พุง ไม่ใช่เป็นของถาวร ถึงจะแข็งแรงอยู่ ก็เป็นแต่เพียงว่าชั่วอายุ ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ถ้า ๕๐ ปี ไปแล้ว โลกของเราที่อาศัยมีแต่ชำรุดเท่านั้น

นี้แหละให้พวกเราพิจารณากันบ้าง เรียกว่าพิจารณาธรรม มันก็อยู่ในความเป็นอนิจจังนั้นแหละ เมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นเรื่องของทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็ได้แก่ความแก่ความเจ็บความตายนี้แหละ วกเข้ามานี่ โลกของเราที่อาศัยนี้ก็อยู่ในความแก่ความเจ็บความตาย ให้มันได้เห็นชัดแจ้ง พอจะละได้ก็ละ พอจะตัดได้ก็ตัด พอจะเลิกได้ก็เลิก เราจะได้เลิกลาพาจากโลกนี้กันเสียที เราก็มางมอยู่ในโลก ทำมาหาอยู่หากิน หาแล้วก็แล้วไม่เป็น จะไปสิ้นสุดกันตรงไหน นอกจากตายเท่านั้น นั้นแหละก็ไปสิ้นสุดกันตรงนั้น ตายแล้วก็ไปสร้างใหม่อีกแล้วก็ไปตายอีก สาเหตุที่จะให้ไปตายก็ให้พากันค้นบ้าง ค้นเข้าไปลึกๆ เพราะเป็นของละเอียด

ที่เรารู้เราเห็นก็ยังเป็นของหยาบอยู่ ของที่ละเอียดยังมีอีกที่จะเกิดขึ้นด้วยญาณปัญญา ก่อนที่จะให้จิตของเราเกิดญาณปัญญาขึ้นได้ เราต้องอาศัยสมาธิก่อน อาศัยความสงบก่อน เมื่อสมาธิความตั้งมั่นตั้งตัวได้แล้ว พวกญาณก็เกิด พวกฌานก็เกิด พวกอภิญญาก็เกิด ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว ทีนี้เราจะค้นคิดค้นพิจารณาอะไรก็ได้ หาสาเหตุได้ นั้นแหละความละเอียด

เราจะไปขอสิ่งเหล่านี้จากใคร ขอใครไม่ได้ เขาจะให้ก็ให้ไม่ได้ ขอได้แต่ให้ไม่ได้ ให้แล้วก็รับไม่ได้ ให้แล้วจะรับโดยวิธีไหนก็ไม่ทราบ ขอก็ขอตะพึดตะพือ ผู้ที่ให้ก็ให้ไปตะพึดตะพือ ก็ให้ได้ แต่ผู้นั้นจะรับได้หรือเปล่าก็หาทราบไม่ อันนี้ไม่ใช่ของที่เราจะไปขอ แต่เป็นของที่เราทำเอาเอง แล้วมันก็เกิดขึ้นเอง ก็เกิดในนั้นแหละ เป็นญาณก็ดี เป็นฌานก็ดี เป็นปัญญาก็ดี เป็นอภิญญาก็ดี ก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไหนหรอก ในหนังสือก็เป็นเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า นักปราชญ์บัณฑิตได้จารึกเป็นตัวอักษรมา ความเป็นจริงอยู่กับเรา ความเป็นจริงของคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นอยู่กับเรา นั้นแหละท่านจึงให้เราค้นคิดพิจารณา ถ้าได้สมาธิ จิตสงบแล้ว เราก็พิจารณาของเราได้ คือ พิจารณาหาต้นเหตุได้แก่กิเลสของจิต ความเศร้าหมองของจิต ความขุ่นมัวของจิต ต้นเหตุแท้ๆ ก็คือ กิเลสกาม และวัตถุกาม สิ่งที่เราอาศัยนั้นเป็นเครื่องอุปกรณ์ของเขา เป็นเครื่องอาศัยของกิเลสกาม เหมือนอย่างเราเกิดมา ร่างกายของเราก็เป็นวัตถุกาม ส่วนกิเลสกามนั้นเป็นนามที่ฝังอยู่กับใจ ในเมื่อมีร่างกายมาแล้ว ร่างกายก็จะต้องหาอุปกรณ์ความเป็นอยู่ของตัวเองอีก ทีนี้ก็แล้วไม่เป็น แต่ก็จำเป็น เพราะเราได้เกิดมาแล้วก็จำเป็น

ทีนี้ก็ให้เราพิจารณาเอาบ้าง จะได้แก้ไขปัญหาตัวเอง จะได้ลดทิฐิมานะของตัวเองลงสู่สภาพความเป็นศีลเป็นธรรม แล้วมรรคผลจึงจะเกิด เมื่อมรรคเมื่อผลเกิดแล้วจะเป็นอย่างไร ค่อยรู้เอาเถอะ มรรคผลที่เกิดขึ้นจากจิตตัวเองเป็นยังไงก็รู้เอาเอง ดูในตำราก็ได้แค่ตำราเท่านั้น ก็อธิบายเอาตามเหตุตามผล อธิบายไปแล้วแทนที่จะเข้ามาอยู่ในใจของเราก็ไม่ใช่ ได้แค่รู้เฉยๆ แทนที่จะเกิดมรรคเกิดผลขึ้นก็ไม่เกิด นอกจากว่าเราจะทำเอาอย่างนี้แหละ พิจารณาเอาในตัวเองอย่างนี้แหละ ความเป็นมรรคเป็นผลก็จะเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็จะรู้ของเขาเอง ถ้าตัวเองไม่รู้ตัวเองแล้วก็ไม่รู้ว่าใครจะมารู้ให้ เพราะเป็นของของตัวเอง ไม่รู้ตัวเองแล้วใครจะรู้ให้พิจารณากันให้ดี ถ้าพอจะหนีได้ก็หนี ถ้ายังหนีไม่ได้ก็จำเป็น อันนี้บอกหนทางให้หนีเพื่อผู้ที่จะหนีได้ ผู้ที่ยังหนีไม่ได้ก็พอรับทราบ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติต่อไป แล้วเราจะได้เข้าใจในหลักของการปฏิบัติ และความหมายของการกระทำ ทำเพื่ออะไร จะได้เข้าใจบ้าง ก็มีแต่พากันไปทำ ก็ไม่รู้ทำเพื่ออะไร ใครก็ว่าแต่จะได้บุญๆ แต่ที่จะว่าได้ใจกลับไม่มีใครว่า ได้เห็นหัวใจไม่มีใครว่า ว่าแต่ได้บุญอย่างเดียว ทีนี้เราก็ต้องทำให้เห็นหัวใจตัวเองบ้าง รู้ความหมายของการปฏิบัติของตัวเองบ้าง คือเราปฏิบัติเพื่อหาใจ เพื่อจะได้รู้ใจ เพื่อจะได้เห็นใจ แล้วเพื่อจะได้เอาใจออกจากกิเลส เอากิเลสออกจากใจ เพื่อจะได้ดับเหตุ ความดับเหตุเรียกว่า นิโรธแปลว่าความดับทุกข์ ที่เรามากระทำก็เพื่อจะดับเท่านั้น จะดับได้หรือไม่ได้ก็เป็นหน้าที่ของเรา แต่ธรรมะก็บัญญัติไว้อย่างนั้น เราจะมาอ้างแต่ว่าดับไม่ได้ๆ มันก็ดับไม่ได้ ก็เราไม่ดับ

นี่เรียกว่าหลักของการพิจารณาธรรม เพราะธรรมะอยู่กับตัวเอง เราจะต้องพิจารณาตัวเองให้มาก เห็นดวงวิญญาณของสัตว์ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว แต่ยังตกค้างอยู่ข้างหน้า ก็ให้เอามาพิจารณากลัวว่าเราจะไปเป็นอย่างนั้น เพื่อเราจะได้แก้กิเลสเราเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นอย่างเขา เดี๋ยวเห็นเขาเป็นอย่างนั้นแล้วก็จะไปเป็นอย่างเขาอีก ก็เพราะกิเลสเรามี ไม่รู้จักต้นเหตุ อันนี้ก็ยังชื่อว่าความหลง ก็ยังหลงอยู่ ยังไม่ใช่เป็นผู้รู้ เป็นแต่เพียงผู้เห็นเฉยๆ เราจะต้องทำความเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพในทางจิตตัวเอง ให้มันชัดเจนขึ้นมา ไม่อย่างนั้นก็จะต้องมาเป็นเหมือนอย่างเขา แล้วก็จะมาเกิดอย่างนี้อีก ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ ไม่รู้ว่าใครเป็นแม่ บางทีเราก็เป็นแม่เขา บางทีเขาก็เป็นพ่อเรา สลับสับเปลี่ยนกันอยู่นี่ ตอบบุญแทนคุณกันอยู่ตลอด แล้วก็หาที่สิ้นสุดไม่ได้

เรื่องบุญคุณมันก็ต้องมีอย่างนี้แหละ จะไม่มีบุญคุณก็ไม่ได้ ก็อยู่กันในโลกไม่ได้อีก แต่เรื่องบุญคุณก็ต้องเปลี่ยนกัน ตอนนี้เขามีบุญคุณจากเรา ต่อไปเราก็จะมีบุญคุณจากเขาอีก เขาก็มาเกิดจากเราอีก เราก็จะไปเกิดจากเขาอีก แล้วบุญคุณจะไปสิ้นสุดตรงไหน บุญคุณก็ต้องมีกันอยู่เป็นประจำโลก เรื่องบุญเรื่องคุณ ขาดจากโลกไม่ได้ โลกขาดจากความเป็นบุญเป็นคุณไม่ได้ นอกจากว่าจะสิ้นอาสวะกิเลสเท่านั้น สิ้นอาสวะกิเลสแล้วก็ไปเลย ก็ได้เสวยแต่ความสุขเท่านั้น นั่นแหละก็ให้พากันทำความเข้าใจเอาไว้ อย่าได้พากันประมาท

ต่อไปก็ให้นั่งกันไปสักพักหนึ่ง ได้เวลาพอสมควรแล้วจึงเลิก.........





 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 18:03:41 น.
Counter : 394 Pageviews.  

สมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ วัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น
วันที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓




ตอนที่ ๑ สมถะกรรมฐาน

อันดับต่อไปนี้ ขอเชิญท่านนักปฏิบัติ นักภาวนาทั้งหลาย จงพากันตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาให้พร้อมไปด้วยกับการภาวนา คือการกำหนดจิตไปด้วย เพื่อเป็นการไม่เสียเวลากับการที่เรามานั่งฟัง ฟังเราก็ฟังเฉย ๆ ก็ได้แต่เฉพาะความรู้ในการฟังแต่ความสงบ ซึ่งนับเป็นผลลัพธ์ของการที่เราฟังไปด้วยดี และผลลัพธ์ของการที่เรากำหนดจิต ประคองจิตและรักษาจิตของเราไปด้วยก็หากมีอยู่ แต่เราก็ไม่ได้มีความสำนึกถึงผลของการฟังด้วยวิธีการแห่งความสงบ เราจะเข้าใจว่าเพียงแต่ฟังเอาสำนวน หรือเหตุผล ในการที่ท่านได้แสดงมา เราก็จะได้ความรู้และความพึงพอใจในการฟัง การฟังที่เราได้เกิดความรู้และมีเหตุผลที่จะนำศรัทธาของเราให้เกิด ตามสมควรแก่ฐานะที่เราได้ฟังเท่านั้น

แต่เราจะได้ยินได้ฟังก็ดี หรือไม่ได้ยินได้ฟังก็ดี ศรัทธาคือความเชื่อของเรานั้นมีพร้อมอยู่แต่ดั้งเดิมแล้ว แต่เราต้องการสิ่งที่มาสนองศรัทธาของเรา เมื่อเรามีศรัทธาแล้ว เราก็พร้อมกันมาฟังไปตามหน้าที่ที่ท่านได้แสดงออกมา แต่ว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นสนองตอบกับการที่เราจะฟังพร้อมไปด้วยศรัทธานั้นจะมีหรือไม่ ถ้ามีนั้นคืออะไร สิ่งที่จะสนองตอบเราก็ได้แก่ความสงบ เมื่อสงบแล้วก็เกิดขึ้นซึ่งความสุข เป็นการสนองตอบในเมื่อเรามีศรัทธาและพร้อมที่จะมากระทำ เมื่อเราทราบว่าผลที่รองรับศรัทธาและการกระทำของเราซึ่งพร้อมไปด้วยศรัทธานั้นได้แก่ความสงบ ทำอย่างไรจิตของเราจึงจะบังเกิดขึ้นซึ่งความสงบและความสุขอันเป็นผลรองรับสำหรับการที่เราได้มาฟังด้วยศรัทธา

อันที่จริงศรัทธาของพวกเรานั้นมีพร้อมหมดทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตจิตใจของพวกเราก็ยังยอมเสียสละตามความเชื่อในพระศาสนา หรือเชื่อในบุญในบาปเชื่อในศีลในธรรม ความเชื่อของเรานั้นสมบูรณ์ และเพียบพร้อมแล้ว สิ่งที่จะสนองตอบความเชื่อของเราและการที่เรามากระทำด้วยความเชื่อก็ได้แก่ความสงบ

ความสงบนั้นอยู่ตรงไหน อะไรเป็นที่สงบ และสงบนั้นคืออะไร ใครเป็นผู้สงบ ที่เรามีศรัทธาคือความเชื่อ ใครเป็นผู้มีศรัทธา ศรัทธาอยู่ตรงไหน ความสงบเกิดขึ้นด้วยศรัทธา และสงบกับท่านผู้มีศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ไม่มีความมั่นใจของตัวเอง เราจะมีจิตใจที่จะมาประพฤติปฏิบัติและมากระทำได้อย่างไร ที่เรามาประพฤติและปฏิบัติ และมากระทำนี้เราก็มาด้วยศรัทธา และมาด้วยความเชื่อของตนเอง เชื่อว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อปฏิบัติแล้วจะได้รับผล และผลของการปฏิบัติต้องเป็นไปในทางที่เป็นสารประโยชน์ ทางที่เป็นสารประโยชน์นั้นก็คือความสงบ ความสงบจะเป็นทุนเบื้องต้น เป็นฐานที่ตั้งแห่งการรองรับเอาซึ่งความดีในเบื้องต้น เราจึงต้องทำความสงบของจิตนั้นเอาไว้สำหรับที่จะรองรับ

จิตมันอยู่ตรงไหน ใครรู้ว่าจิตมันอยู่ตรงไหน อย่าไปเอาจิตคนอื่น อย่าไปรู้จิตคนอื่น ให้รู้ว่าจิตของตัวเองมันอยู่ตรงไหน และมันเป็นตัวอย่างไร เราจะต้องรู้จิตของตนเองก่อน จิตของตนเองมันมีพร้อมอยู่แล้ว ก็ได้แก่ความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่ในตัวของเรา แต่มันหาได้เป็นตนเป็นตัวเหมือนกับร่างกายของเราไม่ มันไม่มีวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่งที่จะให้ปรากฏต่อสายตาเรา มันมีแต่ตัวรู้ ตัวรู้นี้จะรับภาระทั้งหมด อะไรทั้งหมดก็อยู่กับเขา ดีก็อยู่กับเขา ชั่วก็อยู่กับเขา ทุกข์ก็อยู่กับเขา ร้อนก็อยู่กับเขา เย็นก็อยู่กับเขา มืดก็อยู่กับเขา สว่างก็อยู่กับเขา สติก็อยู่กับเขา สัมปชัญญะก็อยู่กับเขา โลภก็อยู่กับเขา โกรธก็อยู่กับเขา หลงก็อยู่กับเขา มันอยู่กับเขาคนเดียว จิตมันมีลักษณะอย่างนั้น คือมันบอกแค่ว่าลักษณะแต่มันหาตัวตนไม่ได้ แต่ถ้าจะให้มันสงบเป็นปกติอยู่โดยลำพังก็ไม่ได้ เราต้องฝึกเพื่อให้เกิดความสงบ

การที่เราจะฝึกที่จะทำให้จิตสงบ โดยที่เราไม่รู้จักตัวเขา และเราก็ไม่เห็นตัวเขา ที่นี้เราจะทำความสงบให้เขาได้อย่างไร และความสงบมันจะมีหรือไม่ในเมื่อเขาไม่มีตัว ไม่มีตน ก็แล้วความสงบนั้นมันจะอยู่อย่างไรในเมื่อเขาหาตัวตนไม่ได้ และจะมีทางที่จะทำให้สงบได้ไหม ที่เราต้องการให้เกิดความสงบในการปฏิบัติพร้อมไปด้วยการฟังมันจะเป็นได้ไหม ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านก็ว่ามีทางที่จะทำให้สงบ พระพุทธเจ้าตรัสหนทางแห่งความสงบไว้ ก็คือ สมถะกรรมฐานในเบื้องต้น และวิปัสสนากรรมฐานในเบื้องปลาย

เราก็มาเดินสมถะกรรมฐานก่อน สมถะกรรมฐานเป็นอุบายที่จะทำให้ใจของเรามีความสงบ ใจที่ไม่มีตัวตนนั้น ท่านจะให้มีความสงบด้วยหลักของสมถะกรรมฐาน ที่นี้มันจะสงบได้อย่างไร หลักของสมถะกรรมฐานก็ไม่มีตัวตน เป็นเพียงสมมติและบัญญัติขึ้นให้เราทำตาม สมถะแปลว่าอารมณ์ที่ยังจิตให้เกิดความสงบ เป็นอุบายที่จะให้เกิดความสงบ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ท่านให้กำหนดตามอารมณ์ของสมถะ พระองค์บัญญัติอารมณ์ของสมถะไว้ใช้กันทุกวันนี้คือ อนุสติ 10 คือระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าได้แก่ พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม ได้แก่ ธรรมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ ได้แก่ สังฆานุสติ ฯลฯ อันดับแรกก็มี 3 พระองค์ ที่ควรกำหนด แต่ถึงจะมี 3 พระองค์ แต่เมื่อเราบริกรรมเราก็บริกรรมองค์เดียว หรือกำหนดองค์เดียว คือพระนามของพระพุทธเจ้าก็คือพุทโธ ถ้าเอาจิตของเราอันที่ไม่มีตัวตนและก็เอาพระนามของพระพุทธเจ้าที่ไม่มีตัวตน แม้แต่ลมหายใจเข้าหายใจออกซึ่งเป็นของประจำชีวิตของเราก็ไม่มีตัวตน คือไม่เป็นวัตถุ ให้จับกลุ่มประสานกันอยู่ด้วยความรู้ คือบริกรรมด้วยความรู้ เวลาหายใจเข้า พุธ หายใจออก โธ เรารวม 3 พระองค์เข้ามาแล้ว แล้วให้มาอยู่ตรงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์เดียว เราก็เลยมากำหนดองค์เดียว ซึ่งก็เหมือนกับว่าเรากำหนดทั้ง 3 พระองค์ ถ้าได้องค์เดียวก็เหมือนกับว่าเราได้ทั้ง 3 พระองค์ เพราะท่านอยู่ด้วยกัน ผิดกันก็แต่ชื่อ แต่ว่าอรรถรสอันเดียวกัน และคุณสมบัติอันเดียวกัน พอได้พุทโธ ก็คือได้ความสงบ ความสงบนั้นคืออะไร ก็คือพระธรรม ก็คือธรรมะ เมื่อมีความสงบแล้วก็มีความสุข ความสุขคืออะไร ก็คือพระธรรม บุญก็คือพระธรรม บุญก็คือธรรมะ ความสุขก็คือบุญนั้นแหละ บุญก็เลยเกิดขึ้นจากธรรมะ ก็เกิดจากความสงบ มารวมอยู่อันเดียวกัน และก็ถ้าได้อย่างหนึ่งแล้ว ก็เหมือนกับว่าเราได้หมด ก็ไม่จำเป็นที่เราจะว่าพุทโธ แล้วก็ยังเหลือ ธัมโม ก็จะมาว่า ธัมโม เสียก่อน ครบกำหนดแล้วก็จะไปว่า สังโฆ จนสังโฆครบกำหนดแล้ว จิตมันจึงจะสงบและจึงจะครบสูตร หรือว่าครบกำหนด ที่นี้เราจะว่าพุทโธกี่คำจึงจะครบกำหนด ตามที่เรากำหนดเอาไว้ จะว่าธัมโมกี่คำจึงจะครบกำหนด จะว่าสังโฆไปกี่คำจึงจะครบกำหนด ก็ไม่มีกฎเกณทฑ์อีก เพราะไม่มีกำหนดเอาไว้ว่าให้ว่าเท่านั้น เท่านี้ครั้ง ไม่ได้กำหนดไว้ว่าให้ว่าทั้ง 3 พระองค์ แต่ท่านบอกว่าให้กำหนดองค์ใดองค์หนึ่ง ถ้าจะใช้พุทโธ เราก็กำหนด พุทโธ จนจิตมีความสงบขึ้นก็เรียกว่าพระธรรมหรือว่าธรรมมันเกิดขึ้นอย่างนั้น ก็เกิดขึ้นองค์เดียว เกิดขึ้นจากท่านผู้เดียว คือจากหัวใจ มิใช่เกิดขึ้นว่าอันนี้พระพุทธ อันนี้พระธรรม อันนี้พระสงฆ์

ดังนั้นจึงให้กำหนดเฉพาะลมเข้า และลมออก แล้วก็กำกับพระนามของพระพุทธเจ้าไปด้วย ก็คือ พุทโธ และก็ให้ตามลมเข้าว่า พุท ตามลมออกว่า โธ เรียกว่าอยู่เฉพาะจำกัด อยู่เฉพาะอันเดียวก็คือพุทโธ พุทโธ อย่างอื่นเราก็ไม่ต้องไปสนใจอะไรให้มากนัก เพราะเราเคยได้ทำมาแล้ว ความคิดเราก็คิดมากอยู่แล้ว คราวนี้เราจะคิดเฉพาะจำกัด เราจะรวมความคิดเอาไว้เฉพาะจำกัด ให้จำกัดอยู่ในวงพุทโธ ที่เราจำกัดอย่างนี้ก็เพื่ออะไร ก็เพื่อความสงบ ถ้าไปกำหนดหลายอย่างก่อนจิตจะรวมตัวของเขาได้ ก่อนจิตจะปล่อยวางมาให้มารวมอยู่จุดเดียวได้มันก็ยาก มันก็แตกแขนง และมันกระจายกันไปทั่วโลก ก่อนที่เราจะเอามันมาได้ มันก็เลยหมดเวลาก่อน เพราะมันหลายอย่าง ถ้าเราเอาอย่างเดียวเอาจำกัด เอาเฉพาะพุทโธ หรือว่ากำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก เราก็กำหนดอยู่เพียงแค่นี้ นี้เรียกว่าวิธีการเจริญสมถะกรรมฐานหรือที่เราเรียกกันว่า ภาวนา การภาวนาก็ยังสมถะให้เจริญขึ้น คือให้ความสงบมันเจริญขึ้น ให้ใจมันมีความสงบ เจริญยิ่งขึ้น ที่มันยังไม่สงบก็ให้สงบ ที่มันสงบไปแล้ว ก็จะให้มันเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยการเจริญภาวนา

เมื่อมันมีความสงบในตัวของเขาแล้ว ด้วยการที่เรามากำหนดสมถะกรรมฐาน หรือภาวนา สิ่งที่จะเป็นผลลัพธ์แห่งความสงบนั้นมันก็คือความสุข ความสุขเป็นรสชาติของพระธรรมที่เราได้ปฏิบัติแล้วมิใช่หรือ รสของพระธรรมก็ต้องเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นด้วยความสุข ต่างจากจิตธรรมดาเราที่ยังไม่เคยมีมา รสของพระธรรม เป็นรสทางใจ อันที่เราได้ฝึกอบรมให้ธรรมเกิดขึ้นแล้ว ซึงมันเป็นรสที่เอร็ดอร่อย เป็นรสที่จะให้เราปราศจากซึ่งความทุกข์โศกอันเป็นของประจำโลก โลกนี้มันมีความทุกข์ ความโศก ความเศร้า ถ้าเรามีความสงบสุข มันก็ปราศจากความทุกข์โศกในทางจิต จิตของเราก็จะปราศจากความเศร้าหมอง เมื่อปราศจากความเศร้าหมอง จิตก็สดใส เมื่อจิตสดใสมันก็มีความสะอาด เมื่อความสะอาดมีในตัว สิ่งที่มัวหมองซึ่งทำให้เร่าร้อน ทำให้ระทมทุกข์ และทำให้เกิดความหนักก็จะปราศจากจิตไป เมื่อจิตมันปราศจากความหนัก มันก็เกิดความเบาตัว เบาตน เบากาย เบาใจ ก็แสดงว่ามันมีความสงบและมีความสุข สุขนี้ก็มารับรอง เมื่อสุขมารับรองในตัวเอง มีความดีในตัวเอง มีสมบัติคือความสุขในตัวเอง ที่นี้ศรัทธาที่เราเคยมีมามันจะไม่สมบูรณ์หรือ มันจะไม่อิ่มหรือ ก็จะต้องเอิบอิ่มกับความสงบสุขอันที่เขาได้มาเป็นสมบัติของเขา

ต่อเมื่อใจมีความเอิบอิ่มในความสุขและความสงบเป็นสมบัติของเขา ก็ไม่ใช่ปีติหรือ ก็นั่นแหละปีติ ??????? ปีติทำให้เกิดความอิ่ม ปีติคือความอิ่มใจ อิ่มด้วยอะไร ก็อิ่มด้วยความสงบ และก็อิ่มไปด้วยความสุข อิ่มความสงบและความสุข ทีนี้เขาก็ไม่ได้ดิ้นรนหาสิ่งที่มันบกพร่อง ก็เพราะมันอิ่มแล้ว มันก็ไม่ได้ดิ้นรนไปหาอะไรอีก ที่มันไปหาอยู่ก็คือมันยังไม่อิ่ม ที่มันยังไม่อิ่มก็เพราะมันยังไม่ปีติ ต่อเมื่อมีปีติเพราะการปฏิบัติ คือการเจริญภาวนา ยังความสงบใจให้บังเกิดขึ้นแก่จิตที่มันมีอยู่ภายในตัวเองแล้ว แล้วมันก็เกิดปีติขึ้น มันก็เกิดความอิ่มขึ้น ก็เมื่อมันเกิดความอิ่มสมบูรณ์ในตัวของเขา ทีนี้ความพึงพอใจในผลของการปฏิบัติของตัวเอง หรือผลงานของตัวเองที่ได้กระทำมามันก็พอใจ ความพอใจก็ยังให้ศรัทธาเกิด ศรัทธาของเราก็พร้อมสมบูรณ์ ถือว่าความเชื่อที่เราเชื่อมานี้เป็นความเชื่อที่จะให้ผลแน่นอนและให้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์ และให้ผลประโยชน์ตามความประสงค์ของเราโดยแท้ ไม่ใช่ศรัทธาโดยไร้ความหมาย เรียกว่าเป็นการที่ไม่เสียหายด้วยที่เรามีศรัทธามา

ที่เรามากระทำให้มันเกิดขึ้นและให้มันมีขึ้น มันมีอะไร ก็มีแต่ความสุข มันก็มีแต่ปีติ แต่ความสุขนั้นจะมีเพียงแค่นี้ก็หาไม่ มันจะเกิดอุตสาหะวิริยะในด้านการกระทำต่อไป เพราะมันเห็นสุขมีแล้ว ซึ่งอยู่ภายในไม่ใช่สุขภายนอก สุขโดยปราศจากของภายนอก มันเป็นสุขของเขาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเขาได้ทำขึ้นมา มันก็เป็นที่พึงพอใจตามที่เราได้มีศรัทธา และได้กระทำขึ้นมาด้วยกำลังของตัวเอง ต่อไปเราก็จะได้ดำเนินกิจของเราไปโดยลำดับ คือรักษาความสงบนั้นไปโดยลำดับ และก็ทำความสงบนั้นไปโดยลำดับ ให้มันมากขึ้น เมื่อความสงบมันมากขึ้นและแน่นอนด้วยความมั่นคงของความสงบที่เรียกว่าสมาธิ คือจิตมีความมั่นคงไม่มีการหวั่นไหวกับสิ่งที่จะมาทำให้วุ่นวาย กับสิ่งที่จะมาทำให้ฟุ้งซ่านอีก มันก็พอใจในความสงบ ความสงบเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความสุข มันก็เห็นความสุขในตัวเองอันเนื่องมาจากความสงบ ความสงบก็เกิดเนื่องมาจากการภาวนา วิริยะก็คือความพากเพียรก็จะเกิดขึ้นทำให้เราจะต้องภาวนาต่อไป ก็ไม่ได้ทำอะไรอีกแล้ว มีแต่ภาวนาจนจิตมีความแน่นอน จนจิตมีความมั่นคงในความสงบ และก็ไม่มีอะไรที่จะมารบกวน และก็ไม่หวั่นไหวไปตามอะไร

เมื่อจิตเรามีความสงบตั้งมั่นด้วยความเป็นสมาธิ และก็มีโอชารส คือรสของพระธรรมเกิดขึ้น เมื่อจิตได้รับรสของพระธรรม เมื่อธรรมยังความสุขมาให้แก่เขา ก็จะต่างจากแต่ก่อนซึ่งมีแต่พวกที่จะมาคุมให้เป็นไปตามอำนาจของเขา ด้วยกลมารยาต่าง ๆ และก็หลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา หาความสงบไม่ได้ จนเกิดความฟุ้งซ่าน และเกิดความรำคาญขึ้นในตัว เป็นเหตุให้เขามีความวุ่นวายในตัวเขา รสชาติแห่งความทุกข์ยากลำบากนั้นเขาเคยได้รับมาแล้ว เขารู้มาแล้ว ต่อเมื่อเขามารับความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วเกิดรสชาติแห่งพระธรรม คือความสงบสุขขึ้น รสนี้ก็สามารถที่จะชนะรสทั้งปวง เป็นรสชาติที่เอร็ดอร่อย เมื่อมันมีรสชาติในตัวอย่างนี้ และเห็นความสุขในตัวอย่างนี้ จำเป็นหรือที่เขาจะไปดิ้นหาความสุขในทางอื่น เมื่อรู้ว่าสุขมีในตัวของเขา เขาก็เจริญความสุขอันนี้ให้มาก ความสุขนี้มาจากไหน มันก็มาจากความสงบ เขาก็จะเจริญความสงบให้มาก เจริญความสงบให้แน่นอน ด้วยหลักการภาวนา เขาก็ยึดหลักของการภาวนาเป็นฐานแห่งการปฏิบัติของเขา แล้วเขาก็จะได้รักษารากฐานการปฏิบัติของเขาที่ยังความสงบให้เกิดขึ้น เมื่อมันแน่นอนและมั่นคงแล้ว ที่นี้เราก็จะได้พิจารณาไปตามอาการของจิต ที่เรียกว่าปัญญา ปัญญามันจะต้องเกิดเมื่อจิตเรามีความสงบแล้ว มันก็เกิดความคิดในทางที่ดี ความดีที่เกิดขึ้นจากความคิดอันที่มันมีความสงบนั้น เป็นความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นความคิดอันที่ประกอบไปด้วยความเยือกเย็น เป็นความคิดอันประกอบไปด้วยความสงบ เป็นความคิดอันประกอบไปด้วยความสดใส ที่เรียกว่าปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนาที่เรียกว่าภาวนาปัญญา

เมื่อปัญญาเกิด มันก็มีการพิจารณาในฐานแห่งความสงบ เมื่อจิตมีความสงบจิตมันมีหน้าที่ที่จะต้องหยุดนิ่ง และมีรากฐานมั่นคง ไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายไปไหน ปัญญามันก็เกิด เมื่อมันเกิดมันก็จะต้องพิจารณาไป ในฐานแห่งความมั่นคงของจิต อันที่เรียกว่าสมาธิ แต่ก่อนมันพิจารณาไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่อยู่ เพราะมันเที่ยวไปตามอารมณ์ของโลก อารมณ์ของโลกมันไม่ใช่น้อย มันไปได้ทุกอารมณ์ เมื่อมันไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ทีนี้เราจะไปพิจารณากับการไปของเขา มันก็เลยพิจารณาอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่เฉพาะว่าไปเท่านั้น เราจะเอาการไปของเขามาพิจารณาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเขามันก็หาเป็นไปอย่างนั้นไม่ มันก็เป็นความหลง คือจิตมันหลงไปตามอารมณ์ แต่เมื่อเรามาสงบยับยั้งตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วมันก็เกิดปัญญาญาน มันก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วเขาจะเอาปัญญาไปใช้ที่ไหน เขาก็เอาไปตรวจตัวของเขา ซึ่งเขามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่ก่อนเขาดิ้นรนวุ่นวาย หาความสุขในตัวเองไม่ได้ บัดนี้เขามีความสุขในตัวเองแล้ว ความสุขอันนี้มาจากไหน และมีอะไรผสมผสานในความสุขนี้ เขาก็จะได้ค้นหา ความสุขอันนี้มันเป็นของจริงหรือยัง พอที่เราจะอาศัยได้หรือยัง และเราจะเชื่อความสุขอันนี้ได้หรือยัง

ตอนที่ ๒ สมถะกรรมฐาน

การพิจารณาธรรมะคือการพิจารณาจิต จิตที่ได้ธรรมะ ด้วยหลักของการที่เราปฏิบัติจนมีความสงบมั่นคงดีแล้ว หาความหวั่นไหวในตัวเองไม่ได้ มีแต่ความตั้งมั่น ต่อสู้กับเหตุการณ์ปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับจิต ให้มันหายจืดจางไปในขณะนั้น เราต้องพิจารณาถึงต้นเหตุ คือเหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เหตุที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน มันเนื่องมาจากอะไร และมีอะไรเป็นสาเหตุ เราก็ใช้ปัญญาของเราที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นสมาธิ ซึ่งมีความสงบเป็นอาหารสำหรับที่จะเลี้ยงตัวของตัวเองให้ประกอบไปด้วยความสุข เมื่อมีอาหารอันสมบูรณ์ คือมีรสชาติอันสมบูรณ์ มีความสุขอันเต็มที่ จิตก็ไม่ได้ไปเอาอย่างอื่นเข้ามาเป็นเรื่องราวที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ เมื่อมีความสงบ มีความมั่นคงแล้ว เราต้องใช้ปัญญาของเราที่มันเกิดขึ้นในความสงบนั้น ค้นหาเหตุอันที่มันเป็นต้นเหตุมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ต้นเหตุของจิตที่มันยังความฟุ้งซ่านให้เกิดขึ้นในตัวของเขาเองมาแต่เก่าก่อนว่าเนื่องมาจากอะไร ก็เนื่องมาจากกิเลสนั้นแหละ กิเลสมันมีชื่ออะไร ชื่อของกิเลสก็มีที่ท่านกล่าวเอาไว้ในตำราของนักปราชญ์บัณฑิตสมัยก่อน ได้ศึกษาต่อกันมาก็ได้แก่ อวิชชา อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง ต้นเหตุของอวิชชามันอยู่ตรงไหน อวิชชามันคืออะไร และมันอยู่ที่ไหนที่ว่าเป็นอวิชชา อวิชชาอยู่นอกเหนือไป จากจิตของตัวเองหรือมันอยู่ในตัวของจิต หรือว่าจิตเป็นอวิชชา ตามตำราท่านก็ว่าจิตนั้นอยู่ในความเป็นอวิชชา คือความมืด ถ้ามันมีความมืดในตัวก็มีความหลง ถ้ามีความหลงมันก็เป็นไปตามลักษณะอาการแห่งความหลง เพราะจิตมันชอบล่ำสรรพรรณนาอะไรต่าง ๆ นา ๆ ประการในตัวของเขาอยู่แล้ว ต่อเมื่อมีตัวหลงเข้ามาครอบ มันก็ล่ำพรรณนาไปตามอำนาจของความหลง แต่ความหลงอันนั้น จิตเข้าใจว่าเป็นความรู้หรือว่าตัวเองเป็นผู้มีความรู้ แล้วมันก็สาวหาเรื่อง หาเหตุต่าง ๆ เข้าพรรณนา ทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์ร้อนขึ้นมา นี้มันเป็นไปตามอำนาจของความหลง แต่ความหลงมันก็เนื่องมาจากความมืด ความมืดคืออวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ของจิต ก็คือความมืดของจิต แต่มันมืดโดยลักษณะอย่างไรในจิตที่ว่าอวิชชาคือความมืด มืดเหมือนกับภายนอกหรือเปล่า อย่างกลางคืนมาถ้าไม่มีแสงฟืน แสงไฟแล้ว มันก็มีความมืด ตาเราก็มองไม่เห็นที่ความมืดภายนอก มันลักษณะเดียวกันหรือไม่ เข้าใจว่ามันลักษณะเดียวกัน

แต่ความมืดภายนอกนั้นมันก็ยังแก้ไขได้ง่าย พอรุ่งสางสว่างมา แสงอรุณเกิดขึ้น ความมืดก็หายไป หรือเราแก้ไขด้วยสติปัญญาที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ได้แก่ความสว่างที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ได้ทำขึ้นมา ได้แก่ไฟ ไฟก็มีหลายชนิด ไฟธรรมชาติ อันดับแรกก็ต้องอาศัยเชื้อภายนอกมาเผาให้ลุกโพลงขึ้นมา แล้วก็เกิดความสว่างขึ้นมากำจัดความมืดภายนอกได้ ไฟตามสติปัญญาของนักวิทยาศาสตร์ เขาก็สามารถสร้างสรรค์ไฟขึ้นมาซึ่งเรียกว่าไฟฟ้า กำจัดความมืดไปได้ แต่ความสว่างของฟืนไฟนี้ก็ไม่สามารถที่จะยังความสว่างและก็กำจัดพวกอวิชชาคือความมืดภายในได้ ความมืดภายในนั้น ทั้งที่เรารู้ก็ยังมืด ก็เมื่อมันมีความมืด ก็ต้องมีความหลง หลงด้วยอะไร หลงด้วยฐานะความเป็นอยู่ของตัวเองนั้น หลงในตัวของตัวเอง หลงในความสำคัญของตัวเอง คือหลงในกิเลส กิเลสเหล่านี้มันออกมาจากไหน ก็ออกมาจากดวงจิตดวงใจอันเดียวนั้น มืดมันก็อยู่ตรงนั้น หลงมันก็อยู่ตรงนั้น โลภมันก็อยู่ตรงนั้น โกรธมันก็อยู่ตรงนั้น ความยึดมั่นถือมั่นอะไรมันก็อยู่ตรงนั้น ความกำหนัด รักใคร่ ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส มันก็อยู่ตรงนั้น คือมันอยู่กับคน ๆ เดียว

เมื่อรู้ว่ามันอยู่กับคน ๆ เดียว มันรับภาระหมด และมันมีพร้อมหมด ทีนี้เมื่อเราจะกำจัดความมืดหรือความหลงก็ดี เราจะไปกำจัดตรงไหน ปัญญามันเกิดขึ้นจากไหน ต่อเมื่อจิตของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว และมันมีความมั่นคงอยู่ในตัวเอง มันก็ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของความหลง เพราะอะไรก็เพราะความดี อันที่มันเกิดขึ้นในตัวของจิตอันที่มันตั้งมั่นเป็นสมาธินั้น มันมีอานุภาพในตัวของเขา มีความแจ้ง มีความสว่าง ส่วนที่มันแจ้งมันเป็นรัศมีออกจากจิตหรือออกจากอำนาจของจิต แต่วิญญาณคือความรู้ มันก็รู้ว่ามันแจ้ง วิญญาณมันก็เกิดขึ้นซึ่งปัญญา เมื่อเกิดขึ้นซึ่งปัญญา ก็เรียกว่า ปัญญาญาน

ปัญญาญานนั้นมันสามารถที่จะนำพาไปพิจารณาหาเหตุและผลอันที่มันเกิดขึ้นในเบื้องต้นของเขา ซึ่งเขาจมอยู่ในอำนาจกิเลส ซึ่งมันกักเขามาเป็นเวลานมนานกาเล เหมือนกับนักโทษคนหนึ่งซึ่งเขากักขังเอาไว้ แต่ว่าเขาเป็นนักโทษโดยที่หาได้รู้ตัวเองว่าเป็นนักโทษ ไม่ใช่เป็นนักโทษที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองตามธรรมดาของชาวโลก แต่เป็นนักโทษที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสที่เขาเป็นผู้คุม เป็นผู้บังคับที่จะใส่โซ่ตรวน ใส่กุญแจมือ อะไรก็อยู่กับเขาหมด ก็เหมือนกับเราเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่ง ซึ่งกิเลสเขามีอำนาจเหนือจิตของเราอันประกอบด้วยความหลง

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็บอกเราว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิและมีความตั้งมั่นแล้ว ก็ย่อมสามารถรู้การปรากฏในจิต ตามความเป็นจริง รู้อะไรเป็นจริง ก็รู้เรื่องกิเลสที่มันเป็นสาเหตุให้เราได้รับทุกข์ทรมานมาหลายภพหลายชาติ และกักขังเราให้อยู่ในอำนาจของเขา เราก็อยู่ใต้อำนาจของเขา ก็จะต้องเอาปัญญาไปพิจารณาในตัวของตัวเองซึงอยู่ในอำนาจของเขา เมื่อเราไปพิจารณาหาต้นเหตุ แต่เหตุนั้นมันไม่ได้อยู่ไกล ไม่ได้เอาเหตุภายนอกมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับที่จะมาเปรียบเทียบเพื่อที่จะทำความเข้าใจเท่านั้นก็หาไม่ แต่เป็นการค้นหาเหตุมันจริง ๆ ค้นหาตัวมันจริง ๆ ปัญญาก็ค้นในจิตที่เรียกว่าวิปัสสนา วิปัสสนาญาน ก็คือญานอันรู้แจ้ง คือปัญญาอันรู้แจ้ง ก็ค้นหาเหตุที่มันเป็นมาโดยวิธีไหนที่ทำให้เราเกิดความหลงใหลมาจนบัดนี้ ทั้งที่มันหลงใหลมาก็นับไม่ถ้วน หลงใหลในอะไร ก็หลงใหลในชาติในภพ ในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็หลงใหลมาอย่างนี้ ถ้ามันยังมีอยู่อย่างนี้มันก็ยังต้องหลงต่อไปหาที่สิ้นสุดไม่ได้เขาก็จะต้องเป็นเจ้าใหญ่นายโต ที่จะต้องจับกุมคุมขังเราอีก เราก็ต้องเป็นผู้ต้องขังอีกต่อไป แล้วก็ไปตามภพตามชาติ เรื่องภพเรื่องชาติจะไปสิ้นสุดกันตรงไหนก็หามีไม่

ชาติภพมันไปจากไหน ใครเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น และใครเป็นผู้นำเราไปในสถานที่ที่เราจะต้องไปอยู่ในความเป็นภพหรือความเป็นชาติ ใครเป็นผู้นำพาที่จะให้เป็นอย่างนั้น ก็นอกเหนือจากกิเลสแล้วก็ไม่มีใครเป็นผู้นำพา กิเลสก็อยู่กับจิต จิตกับกิเลสก็อยู่ด้วยกัน มันยังแยกกันไม่ออก เมื่อแยกกันไม่ออกมันก็ต้องไปตามอำนาจของกิเลสนั้น พระพุทธเจ้าให้พิจารณาถึงเรื่องกิเลสที่มันผสมผสานกันอยู่ ที่ติดพันกันมาไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ กี่กัป กี่กัลป์ ส่วนจิตนั้นมันเป็นอย่างไร ส่วนกิเลสมันเป็นอย่างไร ในเมื่อที่เขาอยู่ด้วยกันมันมีส่วนแบ่งกันได้หรือไม่ และมันแยกกันได้หรือไม่ หรือมันจะต่อกันไปอย่างนี้ตลอด เราก็รู้ว่ากิเลสมันมี ก็ว่ามันอยู่ในจิต เราก็รู้ว่าเรามีจิตที่ประกอบไปด้วยกิเลส กิเลสที่มันผสมผสานกันอยู่กับจิต แล้วมันปะปนกันอยู่อย่างไร เราจะคัดลอก เราจะชำรอก ออกมาได้อย่างไร อันนี้จะต้องอาศัยปัญญาอันที่มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติที่เราได้ปฏิบัติมาแล้ว คือมีการภาวนา ยังสมาธิให้เกิดแล้วก็มีปัญญาขึ้น เราก็นำเอาปัญญาไปพินิจพิจารณาหาความเป็นจริง สิ่งที่มันอยู่อาศัย ที่มันยังมีความยึดมั่น ถือมั่นว่าเป็นตน เป็นตัว เป็นเรา เป็นเขา เป็นของของเรา

ทีนี้ตัวยึดมั่นอยู่ตรงไหน อะไรเป็นสาเหตุ แล้วมันยึดเพื่ออะไร มันยึดเอาอะไร แม้แต่ธาตุขันธ์ของเราคือรูป นาม ก็ยังยึดมั่นว่าเป็นตน เป็นตัว เป็นเรา เป็นเขา เมื่อเรามายึดมั่น ถือมั่น ในตัว ในตน ในเรา ในเขา ว่าเป็นของของเรา ว่าเป็นตัวของเรา ก็ความยึดมั่นชนิดนี้ที่ยังผูกพันเราอยู่ มันเป็นสาเหตุที่จะทำให้เราติดอยู่ในภพในชาติก็เพราะความยึดมั่น แต่ต้นตอความยึดมั่นมันอยู่ตรงไหน ต้นตอก็อยู่ในอำนาจของกิเลส อยู่ในฐานของกิเลส กิเลสเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราจะมาละความยึดมั่น ถือมั่นโดยปราศจากการค้นคิดในภายใน เราจะมาละเอาข้างนอก เห็นจะเป็นไปได้ยาก

ถ้าเราเข้าไปพิจารณาต้นตอของมันซึ่งอยู่ในจิตด้วยอำนาจปัญญาญานที่เราได้ปฏิบัติมา ด้วยหลักของสมถะกรรมฐาน ซึ่งยังจิตของเราให้เข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งความสงบ แล้วเกิดปัญญาญานขึ้นมา เราก็เอาปัญญานั้นเข้าไปค้นหา เข้าไปสำรวจ และเข้าไปตรวจดู อวิชชามันอยู่ตรงไหน อะไรมันเป็นอวิชชา ความมืดของจิตเป็นอย่างไร ที่เรียกว่าอวิชชา และอวิชชามันแตกแขนงออกมา และมันกระจายออกมาในตัวของเขา ตามสรรพางค์ร่างกายของเรา ทำให้มืดไปหมด ทำให้หลงไปหมด และทำให้ยึดมั่นถือมั่นไปหมด มันก็เลยลืมความเป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงแท้ ๆ มันก็ไม่มีอะไรเหมือนที่มันยึด แม้แต่ตัวของเขาเอง เขาก็ยังหารู้ตัวของเขาไม่ ทั้งที่เขามีความยึดมั่นถือมั่น เราต้องเข้าไปพิจารณาต้นเหตุของความเป็นอวิชชา ได้แก่ความมืดแล้วนำความรู้แจ้งเข้าไป

เมื่อจิตของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ยังความรู้แจ้งให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เกิดปัญญาญานขึ้นมา จะเป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณก็ดี พอให้มันเกิดขึ้นได้ก็ให้มันเกิดขึ้นบ้างตามสมควรแก่ฐานะแห่งอำนาจคุณธรรมของเรา ที่เราปฏิบัติได้ แม้กระทั่งจูตุปปาตญาณ รู้จักกรรมเวรของสัตว์ที่มันได้กระทำไปแล้ว มันทำให้เกิดตรงไหน และไปทรมานมันอย่างไร พอที่จะให้มันรู้ได้บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะเป็นสาเหตุที่จะให้เราเข้าใจความหมายในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง

ชาติภพในอดีตที่มันเป็นมา และที่ซึ่งมันจะไปเกิดต่อไปข้างหน้าด้วยอำนาจของกรรมเวรเป็นเพราะอะไร มันก็เนื่องมาจากอาสาวะ ก็คือพวกกิเลสทั้งหลาย จะเป็นกามาสวะก็ดี เป็นอวิชชาสวะก็ดี ที่มันหมักดองอยู่ในจิต มันเป็นเหตุให้เราไปก่อภพ ก่อชาติก็เพราะกิเลสที่มันเป็นมา เมื่อรู้ว่ากิเลสเป็นสาเหตุให้เป็นมาอย่างนี้ ทีนี้เราจะมาตัดชาติภพของตนเอง โดยที่เราได้นิมิตไปรู้ ไปเห็นว่าชาตินั้นเราเป็นอย่างนั้น ชาตินี้เราเป็นอย่างนี้ หรือนิมิตอันที่มันเกิดขึ้นในเรื่องการที่สัตว์ทั้งหลายมันตายจากนี้ไปเกิดตรงนั้น ตายจากนั้นไปเกิดตรงนั้น อยู่ในสังสารวัฎฎ์ กลับกันไปกลับกันมา เราจะมาดับตรงนี้ โดยที่เรารู้แล้วว่า ถ้ากิเลสมันยังอยู่ส่วนนี้มันก็หาได้ดับไม่ และมันก็จะต้องเป็นมาและเป็นไปเหมือนอย่างที่เคยเป็นมานั่นเอง เช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นเข้าไป พิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้พระองค์ไปเป็นนั้น ไปเป็นนี้ ตลอดทั้งสัตว์อื่นที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พระองค์ก็ค้นหาต้นเหตุของพระองค์ที่มีอยู่ในพระองค์นั้นด้วยปัญญาญาน ของพระองค์ แล้วก็ต่อสู้กันอย่างหนัก ก่อนที่พระองค์จะได้ชัยชนะ ก่อนที่จะไปดับเหตุ ก่อนที่จะไปชำระเหตุ ก่อนที่จะไปถอนรากถอนโคนกิเลส พระองค์ก็ได้ต่อสู้อย่างหนักจนถึงกับว่าจิตของพระองค์แทบจะหวั่นไหวในขณะนั้น ถ้าจิตของพระองค์ขาดความมั่นคง ความเป็นสมาธิ ก็อาจจะหวั่นไหวตามกิเลสในส่วนที่เป็นเหตุนั้นได้ แต่พระองค์ไม่ได้เป็นไปตาม แล้วพระองค์ได้ตั่งข้อสังเกตและพิจารณาไปตามอาการที่แสดงออกซึ่งมันมาหลอกให้หลง

แต่มันจะแสดงโดยวิธีไหนก็ตาม พระองค์ก็ไม่ได้หลงไปตามสิ่งที่มันจะมาหลอกลวงนั้น ก็ด้วยความมั่นคงของพระองค์ จิตของพระองค์มีความตั้งมั่นเหมือนกับพื้นแผ่นพสุธา คือแผ่นดิน แผ่นดินนั้นก็ไม่มีการหวั่นไหว เมื่อมันไม่หวั่นไหวไปตามกิเลสแล้วจิตของพระองค์ก็เป็นเหมือนกับนางธรณี ธรณีก็คือแผ่นดิน ซึ่งไม่ได้ไปหวั่นไหวอะไรเลย ถ้าพูดถึงนามธรรมคือจิตของพระองค์นั้นมีความตั้งมั่น หรือว่า รูปธรรมคือจิตของพระองค์นั้นที่บุคคลาธิษฐานสมมติว่าเป็นบุคคล ก็คือเป็นนางธรณี แต่ธรรมาธิษฐานนั้นก็คือจิตของพระองค์นั้นมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ น้ำจิตน้ำใจอันประกอบไปด้วยคุณธรรม คือน้ำศีลน้ำธรรมนั้นได้บังเกิดขึ้นแก่ดวงหฤทัยใจของพระองค์ เหมือนกับนางธรณีบีบมวยผมมาทับถมพวกเสนามารทั้งหลายให้ย่อยยับไป นี้เป็นบุคคลาธิษฐาน แต่ส่วนธรรมาธิษฐานไม่มีอะไร ไม่มีสมมติอะไร มีแต่คุณธรรมเกิดขึ้นด้วยน้ำจิต น้ำใจของพระองค์ จิตใจของพระองค์ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม กิเลสทั้งหลายที่มันเคยเป็นเจ้านายมาแต่ก่อนก็ถอดถอนตัวเองออกไป พระองค์ก็พิจารณาเห็นโทษของกิเลสแล้ว กิเลสนั้นมันก็ย่อยยับไป รู้ว่าพระองค์รู้ทันแล้ว มันก็อันตรธานไป จิตของพระองค์ก็ถอนออกจากอำนาจกิเลส เมื่อถอนออกจากอำนาจกิเลสแล้ว จิตของพระองค์ก็อยู่เหนืออำนาจกิเลส กิเลสจะมาทำลายและจะจับกุมคุมขังอีกเหมือนแต่เก่าก่อนนั้นมันเป็นไปไม่ได้แล้ว เหมือนกับจิตของพระองค์นั้นออกจากอำนาจผู้ที่จับกุมคุมขังแล้ว ผู้ที่จับกุมคุมขังก็ไม่ได้จับกุมคุมขังอีกแล้ว เพราะพระองค์ถอนตัวออกจากผู้ที่จะมาเป็นเจ้าเป็นนายและผู้ที่จับกุมคุมขัง และจะไปขังพระองค์อีกไม่ได้ นั้นละพระองค์ก็ถอนตัวออกมาเป็นอิสระ

เมื่อมาเป็นอิสระแล้ว ความจริงทั้ง 4 ประการก็เกิดขึ้นจากที่พระองค์ได้ถอดถอนออกมาเป็นอิสระ คือ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ตรัสรู้มา เมื่อพระองค์ได้ปรากฏธรรม 4 ประการนี้แล้ว บรรดามวลกิเลสทั้งหลายที่จะมายุยงส่งเสริมแต่ก่อนนั้นก็หมดไป สิ้นไป พระองค์ก็จึงได้ประกาศขนานพระนามของตนเองว่าสัมมาสัมพุทธะ คือเป็นผู้ที่ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง การที่พระองค์รู้ได้อย่างนี้เกิดจากการที่พระองค์พิจารณาตามลำพังของพระองค์ แต่การพิจารณาตามหลักของพระพุทธเจ้าตามที่กล่าวมานี้ก็ไม่ใช่ว่าจะจำกัดเฉพาะพระองค์ก็หาไม่ พระองค์ไม่ได้บอกว่าจะพิจารณาได้แต่เฉพาะเรา คนอื่นพิจารณาแล้วหาเป็นประโยชน์อันใดไม่ พระองค์ก็ไม่ได้จำกันอย่างนั้น หากแต่พระองค์ก็บอกเอาไว้ว่าให้ทำตามเหมือนกับที่เราทำมา ก็คือให้พิจารณาเหมือนอย่างพระองค์ที่พิจารณามานั้น

ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความแก่กล้าสามารถเหมือนอย่างพระองค์ก็ตาม แต่พระองค์ก็ให้พิจารณาไปตามกำลังสภาพจิตของตัวเองที่เป็นมาตามวิสัยของสาวกภูมิ สาวกภูมินั้นก็จะต้องพิจารณาไปตามวิธีการของพระพุทธเจ้าที่ได้พิจารณามาแล้ว แต่การทำความเพียรนั้นก็คงไม่ได้หนักหนาเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าได้ทำความเพียรมากแสนสาหัส แต่สาวกภูมินั้นไม่ได้ทำความเพียรแก่กล้า เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงว่าได้ปัญญาญานขึ้นมา ก็พิจารณาไปตามกระแสธรรม อันนี้มันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตนเองนั้น ที่เราได้ปฏิบัติดีและปฏิบัติชอบแล้ว

ธรรมะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่เรียกว่าสันทิฎฐิโก ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมรู้เองเห็นเอง เราก็พิจารณาไปตามที่เรารู้เอง เห็นเอง ในตัวเอง และมันเป็นขึ้นมาในตัวเอง มันรู้เห็นอะไรขึ้นมาในตัวเอง เราก็พิจารณาไปตามนั้น พิจารณาหาต้นเหตุ ว่าต้นมันมาจากไหน สิ่งที่มันเป็นมานี้ สิ่งที่มันทำให้เรารู้ขึ้นมานี้ ต้นเหตุมนมาจากไหน และอะไรเป็นผู้ที่ทำให้เราได้รู้ ได้เห็นขึ้นมา ต้นเหตุมันเกิดอยู่ตรงไหน เราก็จะได้ค้นเข้าไปหาต้นเหตุ พิจารณาด้วยปัญญาญาน แล้วก็จะได้ประสบพบเห็นด้วยตนเอง เมื่อประสบพบเห็นด้วยตนเอง รู้ว่ามันมาจากกิเลส มาจากอวิชชา อวิชชาเป็นต้นเหตุ เมื่อเข้าไปกำจัดอวิชชาได้แล้ว ตัณหาทั้งหลายที่มันพาให้ก่อภพ ก่อชาติ ก็มันได้เห็นแล้ว ก็มันได้รู้แล้ว รู้แล้วก็กำจัดมันด้วยปัญญาญานที่มันเกิดขึ้นและก็ไม่ได้หลงตาม และก็ไม่ได้ทำตาม และก็กำจัดออกจากจิตของตัวเอง กิเลสมันก็หลุดไป มันก็เหลือแต่ใจ ตัวสมมติที่มันจะมาปรุงแต่งอีก ที่จะนำจิตของเขาให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสอีก ก็เป็นไปไม่ได้ ก็เพราะเรากำจัดแล้ว

เมื่อกำจัดมันออกแล้วด้วยองค์มรรค ก็เกิดนิโรธขึ้นมา นิโรธะก็คือความดับ หรือความแจ้ง ก็จะดับอวิชชา ดับตัณหาเรียกว่านิโรธ จิตมันก็เป็นไปในทางละกิเลสสามารถเอาชนะกิเลสของตนเองได้เช่นเดียวกัน

พระพุทธเจ้าก็จึงได้สอน และได้วางหลักเอาไว้ ก็เพื่อว่าจะให้ได้ละกิเลสได้เช่นเดียวกัน ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะพระองค์ แม้แต่สาวกของพระองค์ ก็ชำระกิเลสได้ การชำระกิเลส การละกิเลส ด้วยปัญญาญานก็ไม่ใช่จะมีเฉพาะแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีอยู่ ที่ต่อ ๆ มาก็สำเร็จกันมาก ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วก็ยังได้สำเร็จเป็นส่วนมาก ความสำเร็จอันนั้นมันก็ต้องติดต่อกันมาโดยลำดับ ตามอำนาจคุณธรรมของผู้ที่จะปฏิบัติและเสียสละได้ เหมือนกับครั้งก่อนที่เป็นมา พระองค์ไม่ได้จำกัดกาลเวลาว่า เวลานี้มันหมดไปแล้ว หรือตั้งแต่เวลานี้ไปใครที่จะทำดีขนาดไหน ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดได้ พระองค์ก็ไม่ได้ว่า แต่ว่าบุคคลผู้ที่จะมาเชื่อและเสียสละในการปฏิบัตินั้นมีน้อย คือไม่กล้า อันนี้มันเป็นความจริงอยู่ เพราะคนก็คงจะไม่สามารถที่จะเสียสละโดยเด็ดขาดได้ อันนี้ก็ถือว่า ไม่สามารถที่จะสำเร็จตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้าได้ เลยถือว่าหมดยุค หมดสมัย แต่คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่มียุค ไม่มีสมัย ถ้าใครทำได้ เสียสละได้ และชำระกิเลสของตัวเองได้ ด้วยหลักคุณธรรมอันที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ มีการเจริญสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน มาโดยลำดับ แล้วก็สามารถที่จะกำจัดอาสวะกิเลสของตนเองได้ พระองค์ก็บอกว่าเป็นไปได้เช่นเดียวกัน แต่ขอให้ทำ

แต่ถ้าไม่ทำ แม้แต่พระพุทธองค์เองยังอยู่ แม้แต่ยังอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า มันก็ไม่ได้ แม้แต่จะปฏิบัติดูแลพระพุทธเจ้าอยู่ก็ไม่ได้ ก็เหมือนอย่างชีวกโกมารภัจจ์ ผู้เป็นหมอรักษาพระองค์ เมื่อพระองค์เป็นอะไรมาก็ไปเยียวยารักษาดูแล ถึงจะอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าในสมัยนั้น ก็ยังไม่มีความสำเร็จ เพราะผู้ที่ไม่สำเร็จถึงจะอยู่ใกล้ก็ไม่สำเร็จ ผู้ที่จะสำเร็จถึงจะอยู่ห่างไกลเป็นเวลานานเท่าไรก็ตาม แต่บุญญาบารมีของบุคคลผู้นั้นที่จะได้สำเร็จในระยะนั้น ความสำเร็จอันนั้นก็ย่อมมาถึง ท่านผู้นั้นจะเป็นยุคไหนก็ตาม ยุคใดก็ตาม ก็ย่อมเกิดความสำเร็จได้ หากมีการกระทำหรือการปฏิบัติ การเจริญสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานดังที่ได้ชี้แจงแสดงมาแล้วนั้น




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 18:01:54 น.
Counter : 226 Pageviews.  

ตั้งต้นปฏิบัติ



พระธรรมเทศนาของ พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
อบรมอุบาสก อุบาสิกา ในงานทำบุญคล้ายวันเกิดครบ ๗๑ ปี
ณ วิหารวัดป่ากู่ทอง ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒


การนั่งปฏิบัติ คือ นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือเบื้องขวาทับมือเบื้องซ้าย ตั้งกายให้ตรง แล้วก็หลับตาแต่ให้หายใจ หูก็ต้องฟัง ใจก็ให้ตั้ง อย่าไปกังวลกับเรื่องอะไรต่างๆ เรามุ่งเฉพาะใจให้ตั้งใจมั่นเป็นสมาธิ อย่างอื่นเราก็อย่าไป ยุ่งเกี่ยว อย่าส่งเสียงรบกวนกัน คือให้อยู่ในอาการแห่งความสงบ
ครั้งแรกให้สงบภายนอกก่อน กายเราก็สงบ วาจาเราก็ต้องให้สงบ ต่อไปเราจะสงบภายใน คือ ใจ ใจมันท่องเที่ยว คิดหน้าคิดหลัง คิดซ้าย คิดขวา คิดบน คิดล่าง คิดสารพัดต่าง ๆ นานาประการ เมื่อจิตยังไม่สงบอาการก็ต้องเป็นไปในทำนองนั้น

ต้นของความคิดมันเกิดจากที่ไหนและมันอยู่ที่ไหน ต้นของความฟุ้งซ่านมันอยู่ที่ไหน ต้นของความวุ่นวายมันอยู่ที่ไหน เราก็เข้าไปดูบ้าง ส่วนปลายนั้นก็คือ ความวุ่นวาย คือ ความฟุ้งซ่าน ความคิดมาก ทีนี้เราจะเขาไปดูต้นมัน ต้นมันออกจากไหน อยู่ที่ไหน เราก็จะได้หาวิธีเข้าไประงับ คือเราจะต้องระงับตรงที่มันวุ่นวาย ตัววุ่นวายนั้นคือตัวทุกข์


เราอย่าปล่อยไปตามกระแสของโลก กระแสโลกมันไม่มีที่สิ้นสุด ให้เราทวนกระแสโลกเข้ามาที่ท่ามกลางหน้าอกเรานี้ เรียกว่า โอปนยิโก น้อมมาหาธรรมะ ธรรมะมันอยู่ตรงนี้ เราอย่าไหลไปตามโลก คือส่งจิตไปตามโลก ไปตามทุ่งไร่ ทุ่งนา ไปตามรั้ว ตามสวน ไปตามบ้าน ตามช่อง ไปตามผู้ ตามคน สารพัดแต่มันจะไป เขาเรียกว่าไหลไปตามกระแสของโลก ให้เราทวนกระแสของโลก ครั้งแรก ทวนเข้ามาที่ปลายจมูกก่อน เวลาหายใจเข้า เราก็ตามรู้เข้าไป เวลาหายใจออก เราก็ตามรู้ออกมา รู้ทางเข้าทางออกของลม เรียกว่า อานาปานสติ อย่าไปเอาเรื่องอื่นมา ให้น้อมเข้าไปในทรวงอก น้อมเข้าไปที่ปอด ที่ลมหายใจเข้าไป เราอย่าปล่อยไปตามกระแสของโลก กระแสโลกมันไม่มีที่สิ้นสุด ให้เราทวนกระแสโลกเข้ามาที่ท่ามกลางหน้าอกเรานี้ เรียกว่า โอปนยิโก



เมื่อเรากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก ชำนิชำนาญพอเข้าใจแล้ว เราก็กำกับคำบริกรรมไปด้วย คือหายใจเข้าเราก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดเข้าไปที่ทรวงอก ตามรู้เข้าไป สำหรับคนใหม่ยังไม่เคยทำก็ให้กำหนดอย่างนี้อย่างเดียว อย่าเพิ่งไปอยากรู้อะไรให้มันมากนัก อย่าให้ความอยากของเราเป็นเครื่องก่อกวนความสงบของจิต กำหนดเข้าไปในทรวงอกไม่ต้องส่งไปที่อื่นให้มาดูบ้าน ที่กำลังจะนั่งอยู่นี้บ้าง มันเคลื่อนย้ายได้ มันเจ็บมันปวดได้ ความเจ็บความแก่ความตายมันก็อยู่กับบ้านหลังนี้ ให้มาดูบ้านหลังนี้ที่มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาเราได้อาศัยมาตั้งแต่แรกเกิด

เราเกิดวันไหนเราก็ไม่รู้ว่าเราเกิดวันนั้น ๆ ตายเราก็ไม่รู้วันที่เราจะตาย ถ้าคนอื่นไม่บอกเราก็ไม่รู้วันที่เราเกิด ที่เราว่า เราเกิดมาวันนั้น ๆ เพราะคนอื่นบอก แม่บอก พ่อบอก ไม่ใช่ว่าเรารู้ ส่วนที่เราจะตายเราก็ไม่รู้ว่าเราจะตายวันไหน เดือนไหน พ.ศ.ไหน ปีไหน แต่คนที่เขารู้ว่าเราตายนั้น คือ คนที่ยังไม่ตาย แต่รู้ก็ตายไม่รู้ก็ตาย ตายแน่ ที่มันตาย คือ ลมหายใจเข้า หายใจออกมันหมด เราก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้า

ทีนี้ให้เราทวนกระแสกลับเข้ามาดูบ้านที่เราว่าเราตาย บ้านมันแตกสลักหักพัง ถ้าเราเอามาทำดี มันเจ็บมันปวด แต่ถ้าเอาไปสนุกสนานมันไม่เป็นไร มันทำได้ตลอดวันตลอดคืน มานั่งภาวนามันก็เจ็บขาเป็นเหน็บ พอเจ็บขาแล้วเกิดกระวนกระวายใจ ไม่เอาแล้ว ใจไม่สู้ หาว่ามันเจ็บ หาว่ามันปวด เราก็เลยสู้ไม่ได้ ทำงานอย่างอื่นทำได้ แต่จะมานั่งภาวนาหาความสงบใจของตัวเองเพื่อให้เกิดความสุขสบายขึ้นเพื่อยังบุญกุศลให้เกิดขึ้น โดยมากมันไม่ค่อยจะสู้ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปสนใจ ส่วนร่างกาย ให้เสก พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือให้เอาที่ใจ เพ่งเข้าไปในทรวงอก กำหนดเข้าไป ในทรวงอก นำเอาพระพุทธเจ้าเข้าไปสู่วงใน

พระพุทธเจ้า พระธัมมะเจ้า พระสังฆเจ้า ที่อยู่ในถ้ำกลางหน้าอกของเรา ไม่ค่อยแสวงหา มักจะไปหาแต่ พระพุทธเจ้าข้างนอก ไปเท่าไรก็ไม่เจอ พระพุทธเจ้า พระธัมมะเจ้า พระสังฆเจ้า ที่อยู่ในถ้ำกลางหน้าอกของเรา ไม่ค่อยแสวงหา มักจะไปหาแต่ พระพุทธเจ้าข้างนอก ไปเท่าไรก็ไม่เจอ ถึงเราจะไปหาในถ้ำ ในป่าลึกดงหนาก็ตาม แต่เมื่อเวลาเรา เจอพระพุทธ เจอ พระธรรม เจอพระสงฆ์ ก็ที่ท่ามกลางหน้าอกเรานี้ ไม่ได้ไปเจอที่อื่น ก็เพราะท่านอยู่ตรงนี้

วิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ทำกันอยู่นั้น ก็เพื่อหาพระพุทธเจ้า พระธัมมะเจ้า พระสังฆเจ้า แต่ว่าจะเจอหรือไม่เจอก็ไม่รู้ ก็หากันอยู่อย่างนั้น แต่ที่จะเจอท่าน จริง ๆ นั้นมันเจออยู่ที่ ถ้ำกลางหน้าอกเรานี้ จะไปถ้ำสั้น ถ้ำยาวที่ไหนก็ตาม ถ้ำเวสสันดรก็ตาม ถ้ำปราบเซียนก็ตาม ถ้ำที่ไหนที่ไหนก็ตามก็มีแต่ถ้ำ ไม่มีพระพุทธเจ้าที่จะไปนั่งคอยเราอยู่ ไม่มีพระธรรมที่จะไปคอยเราอยู่ไม่มีพระอริยสงฆ์จะไปคอยเราอยู่ ก็ท่านอยู่ในหัวใจเรา อยู่ที่ถ้ำกลางหน้าอกเรานี่ เสกพุทโธลงไปกำหนดพุทโธ เข้าไป ไม่ให้ทำอย่างอื่นก ไม่ให้ไปยกหนักยกเบาไปแบกไปหามอะไร แค่นั่งพุทโธเท่านั้น ไม่ต้องไปทำอะไรให้มันลำบาก

เมื่อเวลาเราทำดี ก็ต้องทนเอาหน่อย ทำใจของเราไป กำหนดไป อย่าไปยุ่งกับสิ่งอื่น ตั้งใจให้ดี ๆ เพื่ออะไร ก็เพื่อความสงบของจิต สันติ คือ ความสงบ สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น แล้วมันไปสงบตั้งมั่นตรงไหน ก็ในถ้ำกลางหน้าอกของเรานี้ อย่าไปกังวลกับอย่างอื่น ดูหัวใจตัวเอง ว่ามันคิดมันปรุงมันแต่ง มันนึกอะไร ก็ให้ระวังด้วยสติและปัญญาของตัวเอง ก็ตัวเองไม่ทำเพื่อตัวเองแล้วใครจะมาทำให้ ถ้าตัวเองไม่สงบใครจะมาทำความสงบให้ ถ้าตัวเองไม่ทำดีใครจะมาทำดีให้

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของเราทั้งนั้น อย่าไปหวังคอยคนอื่น อย่าไปยึดคนอื่นว่ามาเป็นที่พึ่งของเราและเราจะไปพึ่งคนอื่น มีแต่องค์สมเด็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของเราจึงอยากจะให้พวกเราเสกพุทโธ คำเดียวเท่านั้น เพ่งเข้าไปข้างในอย่าส่งออกไปข้างนอก โอปนยิโกน้อมเข้าไป ทวนกระแสโลก อย่าไหลไปตามโลก อย่าไหลไปตามกาย ตามหู ตามจมูก ให้รวมเข้าไปจุดเดียวคือจุดข้างใน
เมื่อเรารวมเข้าไปจุดตรงนั้น เราตั้งไว้ตรงนั้นแล้ว ความวุ่นวายก็ค่อยจะสงบลง ค่อยระงับไป จางไป อะไรทั้งหลายก็เลยเบาไป แต่พอนั่งครั้งแรกอารมณ์ต่าง ๆ มันก็รุมก่อน พอนานไป นานไปอารมณ์ทั้งหลายมันก็ค่อยหมดไป ค่อยจางไป จางไป ทีนี้มันก็เบา กายก็เบา ใจเราก็เบา อารมณ์มันก็เบา นั้นหละผลลัพธ์ของมัน แต่อย่าไปคิดว่าจะเอาทีเดียวให้มันได้เลย ถ้าไม่ได้ก็จะเบื่อและก็จะหนี

อย่าไปคิดว่าจะให้จิตของเรานี่สงบก่อนแล้ว จึงจะไปปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำมันไม่มีทางที่จะสงบได้ เราจะไปคิดว่าให้จิตสงบเสียก่อน ให้มันสบายเสียก่อน ให้มันหมดภาระเสียก่อน แล้วจึงจะไปทำ จิตมันจึงจะสงบ นั้นแหละ พอไปทำเข้าแล้วมันยิ่งฟุ้งซ่าน มันไม่ได้เป็นเหมือนอย่างเราคิด คิดว่าไม่มีอะไรแล้ว จิตมันจึงจะสงบ คิดว่าจิตมันจะสงบด้วยตนเอง มันเป็นไปไม่ได้ หากเราไม่ฝึก ไม่ตั้งข้อสังเกต และไม่ได้ฝึกหัด มันเป็นไปไม่ได้ มันสงบไม่ได้ เราจะต้องเป็นผู้แก้ไข เราจะต้องเป็นผู้รู้ เราจะต้องเป็นผู้ กำจัดในเรื่องอารมณ์ ก็คือเอาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปก่อน

ให้กำหนดพุทเข้าไป โธออกมาเท่านั้น ส่วนอย่างอื่นไม่ต้องไปวิพากษ์ วิจารณ์ วัดนี่มันจะเป็นยังไง ก็อย่าไปวิพากษ์ วิจารณ์ มันจะสวย จะงาม อะไรก็อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ อันนี้มันของภายนอก แล้วเราก็ไม่จำเป็นที่จะมาปรับปรุงตกแต่ง สร้างอะไรมันหรอก คนที่เขาสร้างมันมี ไม่ จำเป็นที่เราจะไปนั่งคิด นั่งปรับปรุงตกแต่ง เราเอาเฉพาะ พุทโธ คือเราเอาพระพุทธเจ้าองค์เดียว พุทธัง สรณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าเป็นสรณะและก็เป็นที่พึ่งของเรา เราจะพึ่ง พระพุทธเจ้า ไม่ได้พึ่งวิหาร ไม่ได้พึ่งวัด ไม่ได้พึ่งต้นไม้ ไม่ได้พึ่งอะไรทั้งสิ้น เราจะพึ่งแต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ใจเราอยู่ที่ไหนพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่นั้น พระธรรมก็อยู่ที่นั้น พระอริยสงฆ์สาวกก็อยู่ตรงนั้น ไปอยู่ที่ใจอันเดียว แต่ว่าคนละชื่อ อันหนึ่งชื่อพระพุทธ อันหนึ่งชื่อพระธรรม อันหนึ่งชื่อพระสงฆ์ แต่อยู่ที่ใจของเราอันเดียว ถ้าใจของเราตั้งอยู่ในองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระธรรมก็พร้อมที่จะมีมา ณ ที่นั้น พระอริยสงฆ์สาวกก็พร้อมที่จะต้องมีมา ณ ที่นั้นอย่าไปสงสัย ให้ปลงจิตปลงใจของเราให้ลงสู่สภาพความสงบอย่างเดียว

ถ้าใจของเรามีความสงบตั้งมั่น เป็นสมาธิแล้ว ท่านทั้งสามนั้นพร้อมที่จะอยู่กับเรา และเราก็พร้อมที่จะอยู่กับท่าน ธรรม 84,000 พระธรรมขันต์ ก็อยู่ตรงนี้แล้ว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปเสาะแสวงหาอะไรให้ลำบาก พุทธ ธรรม สงฆ์ ก็เป็นสรณะที่พึ่ง ต่อเมื่อท่านทั้งสาม อยู่กับเราและเราก็อยู่กับท่านแล้ว ก็แสดงว่าเราได้ที่พึ่งแล้วมิใช่หรือก็พากันคิดกันเสียบ้าง

ไม่รู้ว่าพากันไปกี่ถ้ำ แล้วได้อะไรมา ไม่เห็นได้อะไร ป่าก็ไม่รู้ว่าไปทะลุมากี่ป่า แล้วไม่เห็นได้อะไร ก็อยู่เท่าเดิม ไปมาแล้วก็เท่าเดิม แล้วไปปฏิบัติสำนักไหน ก็ไปจนพอแล้ว ก็ไม่เห็นได้อะไรมา ก็ยังอยู่เท่าเดิมไม่เห็นใครได้อะไร เพราะเรามันไปหาข้างนอก แท้ที่จริงท่านอยู่ข้างในนี้ แต่เราไม่มีใครเลยที่จะทวนกระแสโลกเข้ามาสู่พระธรรม

พระพุทธเจ้ามายังความสงบให้เกิดขึ้น ที่เราเสกพุทโธ พุทเข้าไป โธออกมา ก็เพื่อพระพุทธเจ้ามายังความสงบให้เกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดแล้ว พระธรรมก็เกิดตรงนี้ เมื่อมีพระธรรม ใครเป็นผู้ปฏิบัติตามธรรม ก็ใจเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตามความรู้ที่ตัวได้รู้ได้เห็นมา ที่ปฏิบัติตามธรรมคือใคร นั้นหละพระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ตรงนั้น เมื่อเรารู้ธรรมเห็นธรรมปฏิบัติตามธรรมนั้นเรียกว่า พระสงฆ์

เราคิดว่าจะไปอยู่แต่กับพระหรือ พระจึงจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเป็นฆราวาส ท่านไม่อยู่ด้วยหรือ การพวกทำบุญสุนทานก็มีแต่ชาวบ้านไม่ใช่หรือมาทำ และชาวบ้านโดยมากก็มีแต่ผู้หญิง ไม่ว่าที่ไหน ผู้หญิงออกหน้าและก็มามาก ก็เมื่อเรามาทำอย่างนี้ ถ้าหากว่าท่านทั้งสาม จะให้พึ่งไม่ได้ พวกเราจะพากันมาทำไม แล้วจะพากันมารักษาทำไม รักษาเอาไว้ทำไมถ้าพระศาสนาถ้าเป็นที่พึ่งไม่ได้

ที่เราพากันมารักษา และมากระทำ ก็เพื่อว่าท่าน ทั้งสาม เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เฉพาะแต่เพศชายที่จะมาบวชเป็นพระเท่านั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านไม่ได้เลือกบุคคล ไม่เลือกเพศ เพราะใจนั้นจะเป็นเพศหญิงก็ไม่ใช่ จะเป็นเพศชายก็ไม่ใช่ จะเป็นเพศอะไรก็ไม่ใช่ทั้งนั้น เพราะมีแต่ตัวรู้เฉย ๆ แต่ว่ามาอาศัยร่าง พอมาอาศัยร่าง ถ้าเป็นร่างผู้ชายเราก็สมมติเป็นผู้ชาย ถ้ามาอาศัยร่างผู้หญิง เราก็สมมติว่าผู้หญิง ส่วนใจผู้ที่อยู่ข้างใน ไม่ใช่หญิงและก็ไม่ใช่ชาย ในธรรมท่านก็กล่าวไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ใจก็สักว่าใจ จิตก็สักว่าจิต ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มีแต่ตัวรู้เฉย ๆ ดังนั้น ทำไมทั้งสามพระองค์จะอยู่กับเราไม่ได้ และเราจะอยู่กับท่านไม่ได้ ก็เราไม่ได้เอาร่างกายไป แต่เราเอาใจไปฝากไว้กับท่าน ให้ท่านทั้งสามรักษา ให้ท่านรับรอง จะเป็นใจใครก็ตาม ถ้าหากว่ามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ท่านทั้งสามนั้นก็สามารถที่จะเข้าไปอยู่ตรงนั้นหมด และสามารถที่จะเป็นที่พึ่งได้หมด

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ท่านไม่เลือกใคร ไม่เลือกเด็ก เลือกหนุ่มเลือกสาว เลือกเฒ่าเลือกแก่ เลือกหญิง เลือกชาย ท่านยอมรับเป็นที่พึ่งของหัวใจแห่งสัตว์โลกทั้งหลายได้ทั้งนั้น ขอให้หัวใจนั้นมีความสงบเท่านั้น ถ้าใจนั้นยังหาความสงบไม่ได้ คิดว่าการรับรองคงจะน้อย แต่ก็อาศัยกิริยาอันที่กระทำนั้นเป็นบุญ พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ท่านไม่ได้อยู่ด้วยความวุ่นวาย ท่านอยู่ด้วยความสงบ ท่านไม่ได้อยู่ด้วยความเอิกเกริกเฮฮา

วิสัยของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีแต่ความสงบ ถ้าจิตเรามีความสงบ ไม่ต้องเรียกร้องและไม่ต้องไปขอพรว่าให้ท่านมาเป็นที่พึ่ง เมื่อท่านอยู่แล้ว และเราก็อยู่กับท่านแล้ว จะไปขอร้องอะไรที่ไหน เมื่อท่านมาอยู่กับเรา เราก็มีความสุข ใจเราอยู่ตรงไหน ความสุขก็อยู่ตรงนั้น ใจเราอยู่ที่ไหนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ที่นั้น

ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ท่านก็อยู่กับเราด้วย และไม่มีการเคลื่อนย้ายหนีอยู่กับเราตลอด เมื่อเราแตกตายทำลายขันธ์ ใจเราไปอยู่ที่ไหน ท่านก็ตามไป บุญก็ไปด้วยกัน คุณของพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ก็ไป ด้วยกัน แล้วไปที่ไหน ก็บุญพาไป พระพุทธพาไป พระธรรมพาไป พระสงฆ์พาไป ก็เพราะท่านอยู่กับใจเรานะ ไม่ใช่ว่าท่านไปนั่งคอยเราอยู่ เราตายไปแล้วเราจึงจะไป ไม่ใช่ว่า พอเรากราบไหว้เสร็จ สวดมนต์เสร็จแล้วท่านจะไปนั่งคอยอยู่ พอตายก็คิดว่าจะไปหาท่าน มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็ในเมื่อจิตของเรามันรวนเรอยู่ จะไปสู่สุขคติ สวรรค์ ก็คิดถึงบ้าน คิดถึงไร่ ถึงนา ถึงรั้ว ถึงสวนก็วกกลับมาอีก คิดถึงทรัพย์สมบัติของตัวเอง ซึ่งได้หาเอาไว้มาก แล้วตัวเองเอาไปไม่ได้ก็วกกลับลงมา เสียดายก็ไปสุขคติไม่ได้ ผลสุดท้ายก็เลยมานั่งเฝ้า นอนเฝ้า ยืนเฝ้ากระดูกของตัวเองที่บรรจุเอาไว้ในธาตุ เอาไว้ในกำแพงวัด เอาไว้ในธาตุที่เราไปก่อสร้างที่วัด ไม่ไปไหนเพราะตัวเองก็ไม่มีอะไรที่จะพาไป จะไปสู่สุขคติมันก็ไม่ไป เพราะมันคิดถึงตัวเองก็วกมาอีก มาเฝ้าอยู่คอยลูกเต้าเขาไปบังสุกุลให้ นำอาหารไปให้ ก็พอได้อยู่ได้กินกับเขาเท่านั้น

ถ้าจิตมันรวนเร แม้สุขคติมันก็ยังไปยาก จะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็ไม่เอา ไม่รู้ไปเอาอะไร ก็รู้อยู่ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ที่พึ่ง เราก็ยังไม่เอา แล้วพากันไปเอาอย่างอื่น ไม่รู้ไปเอาอะไรมา สิ่งเหล่านั้นจะเป็นที่พึ่งของตัวเองได้หรือไม่ ก็หาได้พากันคิดไม่ คิดเอาตามใจของตัวเองตามอำนาจของกิเลส
ก็ความรวนเรนี่แหละ ที่ทำให้ขาดพระรัตนตรัย ที่ว่าเราจะถึงไตรสรณคมน์ ไม่ใช่ง่าย พูดเอาพูดได้ แต่จะไปถึงจริง ๆ ไม่ได้ถึงง่าย ๆ อย่าไปคิดเอาง่าย ๆ ก่อนจะถึงพระพุทธ ก่อนจะถึงพระธรรม ก่อนจะถึงพระสงฆ์ เราเพียงไปทำพิธีขอกันเท่านั้น เหมือนกับเราที่กล่าว ขอบวชเนกธัมมะ และขานนาคกัน ขานคำขอบวชกัน นี้มันเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ว่าจะให้เข้าไปถึงจริง ๆ นั้น มันยังไกลอยู่ ไม่ใช่ใกล้ ถ้าได้เข้าถึงท่านทั้งสามแล้ว ท่านทั้งสามก็จะเป็นที่พึ่งของเรา เรียกว่าถึงไตรสรณคมน์
การถึงไตรสรณคมน์ ก็คือเข้าถึงพระพุทธ เข้าถึง พระธรรม เข้าถึงพระสงฆ์ ถ้าเข้าถึงในจิตของเราได้แล้ว ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านไม่ได้ใช้ ในเมื่อเราถึงท่านทั้งสาม กิเลสอะไรที่จะมาสู้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ กิเลสมันก็หมดเท่านั้น

แต่ว่าการเข้าถึงโดยพิธีกรรม แบบที่เรากระทำนั้น สมมติกันไปเพื่อเป็นการดึงศรัทธา แต่จะให้เข้าถึงจริง ๆ เพื่อจะได้เป็นสรณะและจะคุ้มกันเราไม่ให้ไปสู่อบายภูมินั้นยังไม่รับรอง เพราะใจเรายังขาดความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็เพราะอยากให้ใจเราทั้งหลายสงบตั้งมั่นเป็นสมาธินี้แหละ จึงให้เสกพุทโธ ให้ภาวนาพุทโธ ให้เจริญพุทโธ ภาวนาก็แปลว่าเจริญ เจริญในพุทโธ เจริญในธัมโม เจริญในสังโฆ เจริญในความสงบ เราปรับปรุงจิตของเราให้มีความเจริญหรือไม่ มีแต่เอาความเศร้าหมองมาให้จิต มีแต่เอาความวุ่นวายมาให้จิต มีแต่เอาความทุกข์มาให้จิตตัวเอง ไม่เห็นใครที่จะนำความสงบสุขเข้าไปให้จิตตัวเองเลย แล้วเราจะไปนำท่านทั้งสามมาเป็นสรณะที่พึ่งของเราได้อย่างไร

ถ้าจิตของเราขาดจากความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ อำนาจของกิเลสมันมาผลักดันคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตของเราหายหมด ไม่มีอะไรเลย มีแต่เพียงกิริยาที่เราเคยกระทำมา ถ้าจิตของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ถึงแม้มันจะกำเริบก็ตาม แต่ก็ยังมีส่วนที่จะระงับยับยั้งได้ทันควัน คือยังมีการแก้ปัญหาตัวเองได้ เพราะหลักของความสงบ ยังสามารถที่จะเข้าไประงับความวุ่นวายได้ และสิ่งเหล่านั้นมันก็จะจางไป แล้วก็หายไป ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเข้าไประงับเลย เมื่อเกิดโมโห และโทโสขึ้น

ที่พวกเราทั้งหลายได้มีโอกาส มาทำอย่างนี้ ไม่ใช่ของง่าย เรามีโอกาสเพียงเล็กน้อยก็ให้ทำเอาบ้าง อย่าพากันมาแต่แค่ฟังเฉย ๆ ฟังแล้วก็พากันหนีไป ไปทำเองก็เลยไม่รู้จักว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ทำเอาอะไรก็ไม่รู้เรื่อง พวกเราทั้งหลายฟังเทศน์มาแล้วไม่รู้ว่ากี่ครั้ง ไม่รู้ว่ากี่กัณฑ์ แต่เวลาเขานั่งสมาธิภาวนานั้น ยังไม่รู้เรื่อง แล้วไปฟังทำไมมากมายเกินไป ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ฟังแล้ว จะมาปฏิบัติด้วยตัวเองก็ยังไม่เป็น เพราะการฟัง มีแต่ฟังเฉยๆ แต่เมื่อเวลาที่จะมาปฏิบัติ เลยทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้ว่าทำได้อะไร ก็ได้แต่คำยอเท่านั้น ก็เมื่อท่านยอให้ ก็ดีใจเท่านั้น พอท่านยอให้ว่า ได้บุญอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะได้จริง ๆ จัง ๆ เหมือนท่านยอนั้นหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะเราสำรวจตัวเองไม่เป็น และไม่รู้จักว่าเราได้หรือเราเสีย

เรื่องของความสงบคืออะไร ก็ไม่รู้ โดนยอเท่านั้นก็พอใจแล้ว จะได้หรือไม่ได้ไม่รู้ ขอให้ยออย่างเดียว ถ้าเราจะมาพูดกันจริง ๆ จัง ๆ ไม่ชอบ ชอบยอ นี่เขาเรียกว่าธรรมมะยอ ที่จะเอาความจริง ซึ่งมันจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเองนั้นมันไม่มี ทีนี้เราจะไปได้ธรรมมะที่ไหน ที่จะมาเป็นสรณะที่พึ่งของตัวเอง

ธัมโมหะเว รักขติ ธัมมจาริง ธรรมย่อมรักษา ผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าเราปฏิบัติดีแล้วท่านก็คุ้มกันไม่ให้ไปตกอบายภูมิ อบายภูมิ หมายถึงภูมิที่หาความเจริญไม่ได้ ได้แก่ นรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน อสูร เมื่อไม่ได้ไปตกอบายภูมิ ก็ไปสุขคติสวรรค์เท่านั้น นั้นคือธรรมย่อมรักษา ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว ก็คือให้ไปสู่สุขคติ อันดับแรกก็คือสวรรค์ ต่อไปจะมีอะไรก็ทำเอาเอง จะไปสู่พรหมโลกไปก็เอาเอง เพราะการปฏิบัติของเรามันเข้มเข็ง และคุณสมบัติของธรรมมันเกิดมาก ธัมโมหะเว รักขติ ธัมมจาริง ธรรมย่อมรักษา ผู้ปฏิบัติธรรม

ด้วยผลงานของการปฏิบัติ มันก็ส่งผลไปเอง ผลงานไม่มีอะไรเลยก็จะวิ่งไปแล้ว เป็นแต่เพียงว่ามารักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล ๘ อพรหมจารีย์ ปราศจากเรือนชานบ้านช่อง ถือว่าเป็นพรหมแล้ว จะได้ไปพรหมโลก ไม่ใช่เป็นง่าย ๆ ขนาดนั้นหรอก ถ้าเราไม่ทำเอามันไม่ได้หรอก ทำอย่างไรก็เหมือนที่เรากำลังทำอยู่คือนั่งเสกพุทโธ เสกเข้าไปตรงไหน เสกเข้าไปตรงถ้ำกลางหน้าอกนี้

นี่แหละเรียกว่ามัชฌิมา คือ ความเป็นกลาง และตั้งอยู่ในความเป็นอัตตะ สัมมา ปณิธิ ก็คือตั้งตนเอาไว้ชอบ ตั้งไว้ที่ไหน ก็ตั้งไว้ในถ้ำนี่ ถ้ำอันนี้มันเคลื่อนย้ายได้ กลับไปบ้านเราก็เอาไปได้ ไปทุ่งไร่ ทุ่งนา ก็เอาไปได้ ไปป่าไปดง ก็เอาไปได้ ขึ้นรถลงเรือไปเหนือไปใต้ก็เอาไปได้ขอให้เราท่านทั้งหลาย ตั้งสำนักเอาไว้ในถ้ำกลางหน้าอกของตัวเอง จะเป็นสำนักสมถกรรมฐานก็ดี สำนักวิปัสสนากรรมฐานก็ดี ให้ตั้งเอาไว้ที่ถ้ำกลางหน้าอกของ ตัวเอง เมื่อตั้งแล้วเราเอา ไปไหนไปได้ สมมติว่าเรามาตั้งตรงวัดนี้เป็นสำนักสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเราออกจากวัดนี้ไป สมถะกรรมฐานก็ไม่มีอีก วิปัสสนา ก็ไม่มีอีก ก็เลยทิ้งเอาไว้ที่วัด ตัวเองก็เลยไม่ได้อะไร

ถ้าเรามาเอาตัวของเรา เอาที่ถ้ำกลางหน้าอกเรา เป็นสำนักสมถกรรมฐาน และสำนักวิปัสสนากรรมฐาน อันนี้เคลื่อนย้ายไปไหนเอาไปได้ ไปอยู่ที่ไหนไปได้สำนักนี้ต้องติดตามไปตลอด แต่ส่วนใหญ่เราก็มักปล่อยจิต ปล่อยใจไปภายนอก ที่อยู่ในตัวเองเลยไม่มีเลย สำนักสมถะไม่มีเลย ความรู้ซึ่งเกิดขึ้นจากสำนักสมถะ คือ ปัญญา ก็ปัญญาที่เรียกว่าวิปัสสนา ก็เลยไม่มี ก็เพราะเราไม่รู้ว่ามันอยู่กับตัวเอง ตกลงเราก็เลยงมกันอยู่นี่ เรียกว่างมเข็มในทะเล ยิ่งกว้างกว่าทะเลอีก

ทะเลมันก็ยังมีขอบเขต แต่จิตของเรามันไม่มีขอบเขต ทีนี้เราจะมาหาจิตตัวเอง จะหาตรงไหน ไม่รู้ว่าจะไปถามใครว่าเห็นจิตของดิฉันไหม เห็นจิตของข้าพเจ้ามานี่ไหมแล้วใครเขาจะรู้ แม้แต่ตัวเองผู้ที่ไป ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเอง เอาไปเอามาก็เลยหลงโลก หลงสงสาร หลงโวหาร หลงสมมติ มันหลงอยู่นี่ รู้ว่าตัวเองหลงไหมนี้ หรือเข้าใจว่าตัวเองดี มันหลงทั้งนั้น

พวกที่นั่งฟังอยู่นี้ก็หลงทั้งนั้น ผู้ที่เทศน์อยู่นี้ก็หลง หลงต่อหลง มาเจอกัน ถ้ารู้มันไม่ได้มาอย่างนี้ ไปแล้วนิพพาน อันนี้เขาเรียกว่าหลงต่อหลงเจอกัน ไม่ใช่ว่ารู้ ยังงมหาเข็มอยู่ ยังไม่เจอว่าเข็มมันอยู่ตรงไหน ก็คือว่าใจเรานะ มันอยู่ตรงไหน มันยังหาไม่เห็น มันหลบตรงไหน เอาตรงนี้มันก็วิ่งไปโน้น เอาตรงโน้นมันก็วิ่งมานี้ ดักหน้าดักหลัง ตามมันไม่ทันเลย เมื่อตามไม่ทันอย่างนี้นะ หลงไหม คิดเอาเองนะ ว่าตัวเองหลงไหม

ทางที่จะไปหาความสิ้นสุดของตัวเองเลยไม่เจอ แต่ทางวนเวียนนั้นเจอตลอด คือเรียกว่าเวียนว่ายตายเกิด เผลอตลอด แต่จะเข้าไปถึงหนทางอันสิ้นสุดนั้น ยังไม่เจอ งมกันอยู่หากันอยู่ เดี๋ยวก็ทำบุญตรงนั้น เดี๋ยวก็ทำบุญตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะทำไปถึงไหน จัดงานก็จัดกันอยู่อย่างนี้ ที่สิ้นสุดมันอยู่ตรงไหน ไม่มีอีก ก็เพราะมันหลง ต่างคนต่างหลง มาเจอกันอย่าเข้าใจว่าตัวเองรู้ และก็มาวุ่นวายกันอยู่นี้ มาทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่นี้ กูดีมึงดีอยู่นี้แหละ

นั่นเพราะยังงมเข็มไม่เจอ คือยังหาจิตของตัวเองยัง ไม่เจอ มันจึงหลงไหลเวียนว่ายตายเกิดอยู่หาที่สิ้นสุดไม่ได้ จำเป็นก็จะต้องอยู่อย่างนี้ โดยธรรมชาติ ก็ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ใครจะมาทำลายธรรมชาติได้ ไม่มีใครทำลายได้ นอกจากตัวของตัวเองเท่านั้น ทำโดยวิธีไหน ทำโดยวิธีตั้งสำนักสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เอาไว้ในถ้ำตัวเอง คือ ถ้ำกลางหน้าอก สมถะ คือ ความสงบจิต ทำจิตใจของตัวเองให้สงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วยังปัญญาให้เกิดขึ้น นั่นแหละเรียกว่าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน สมถะมันเป็นเหตุ วิปัสสนามันเป็นผล

เมื่อใจเรามีความสงบในตัวเองแล้วคือ มีสำนักสมถกรรมฐาน และวิปัสสนาในตัวเอง แล้วจะไปถามอะไรกับใคร มันก็ไม่จำเป็นก็เรามันมีพร้อม แต่ทำบุญตามประเพณี เรา ก็ทำ เรื่องประเพณีนี่มันเป็นเรื่องภายนอก ประเพณีในคือ ประเพณีศีล ประเพณีสมาธิ ประเพณีปัญญาไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้ พวกเราเสียหายไหม ให้ตัดสินด้วยตนเองนะความเสียหายหรือความบกพร่องของจิตเราเป็นมากันแล้วกี่ภพกี่ชาติ แทนที่มันจะไปแต่ก่อนมันก็ไม่ไป ตอนที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ท่านมารื้อขนสัตว์ ถอนขนสัตว์ตอนนั้น มันทิฏฐิมานะกล้ามันไม่ยอมรับมันดื้อและมันก็จึงได้ตกมาถึงปัจจุบันนี้

ใช่ว่าเราจะพบแต่พระเจ้าโคตมะเท่านี้ มันหลายพระ-พุทธเจ้ามาแล้ว แต่มันยังดื้อ รู้ว่าตัวเองดื้อไหมละ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมาบังคับให้เราทั้งหลายไปนิพพานกันให้หมด แต่จะ พูดให้เราทั้งหลายฟัง ในเรื่องดื้อของตัวเอง ความดื้อมันเท่ากันผู้ฟังกับผู้เทศน์มันก็เท่ากัน มันดื้อเท่ากัน ถ้ามันไม่ดื้อมันจะมาอย่างนี้หรือ ดื้อเหมือนกัน มันจึงมาเจอกัน ดื้อต่อดื้อมาเจอกัน นี่กิเลสเห็นไหม ก็เพราะมันดื้อนี่แหละ มันจึงได้มาเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ ทำมาหาอยู่หากินลำบาก ค่ำไม่ได้ยืน คืนไม่ได้อยู่ ทำไร่ ทำนา ทำสวน ทำมาค้าขาย จะว่าเป็นสุขก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นทุกข์ก็ไม่ใช่ มันพออยู่ไปได้ ถึงเวลาแล้วก็ตายกันไป ตายไปแล้วก็บอกให้ไปสู่สุขคติซะ อ่านประวัติกันแล้วขั้นสุดท้ายก็ขอให้วิญญาณไปสู่สุขคติเถิด มันง่ายถึงขนาดนั้นหรือ ถ้ามันง่ายจะมานั่งภาวนาเจ็บแข็งเจ็บขาทำไม เวลาตายไปแล้วก็ให้เขาไปอ่านประวัติตัวเองแล้วก็บอกให้ไปซะเลยสุขคติ ถ้ามันง่ายถึงขนาดนั้น

อันนี้มันเป็นไปไม่ได้ให้พากันคิดเสียบ้าง เราก็เฒ่าชะแรแก่ชรามาแล้ว ไม่ใช่ว่าเด็กว่าเล็กอะไร พอที่จะไปสอนยากที่จะไม่เข้าใจ เหลืออีกไม่กี่วันข้างหน้านะ เรื่องตายเราจะมามัวเมาอะไร ให้รีบเสาะแสวงหาคุณธรรมที่มันมีในตัวของตัวเอง คือ ความสงบตั้งมั่น เป็นสมาธิ แล้วนำความสุขเข้าไปสู่ดวงจิต ดวงใจของตัวเอง เมื่อมีความสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีความสุขในดวงจิตดวงใจของตัวเองแล้ว ก็ถือว่าเราได้เข้าถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะได้ส่งเราไปสู่สุขคติ ก็ให้พากันคิดเสียบ้างอย่ามัวแต่จะเอาประเพณีอยู่แค่นี้

ส่วนด้านจิตใจตัวเอง จะมาฝึกหัดดัดแปลง นั่งบำเพ็ญภาวนา ทำจิตใจตัวเองให้มีความสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิบ้าง ก็ไม่อยากจะทำ ดีแต่ให้เขาหลอกว่า เขาว่ามีปาฏิหารย์นะ เขาเหาะได้ หรือเขาหายตัว อะไรบ้างก็ไป ถ้าเขาหลอกก็ไปเพราะอะไร ก็เพราะตัวเองมันไม่รู้ นี้โดนเขาหลอกทั้งนั้น ถ้าเขาเหาะได้จริง ๆ แล้วเราเหาะกับเขาได้ไหม ก็ไม่ได้อีก สู้เราจะมาทำตัวเองให้เหาะได้เหมือนเขาไม่ดีหรือ พวกเราก็โดนแต่เขาหลอกเท่านั้น เดี๋ยวก็สำนักนั้นเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็สำนักนี้เป็นอย่างนี้ ก็ไปกัน นี้หละทำให้เราพากันเสียหายอยู่เดี๋ยวนี้ เรียกว่าลืมตนลืมตัวไป

พระพุทธเจ้าบอกว่า ศีลก็อยู่กับตัวเอง ธรรมก็อยู่กับตัวเอง บาปก็อยู่กับตัวเอง บุญก็อยู่กับตัวเอง สวรรค์ก็อยู่กับตัวเอง พรหมโลกก็อยู่กับตัวเอง พระนิพพานก็อยู่กับ ตัวเอง พระพุทธเจ้าก็บอกอยู่อย่างนี้ แล้วก็ยังไม่ฟังพระพุทธเจ้า ดันทุรังไปทางอื่น เราจะไปหาที่ไหนคิดให้ดีนะ นี่ให้ข้อคิดนะแล้วเราก็จะได้รีบเร่ง บำเพ็ญจิตของตัวเอง ให้มีความสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ด้วยการภาวนา

ในถิ่นของเรานั้น มันไม่ค่อยมี ที่จะมาสอนกันเรื่องภาวนา สอนในเรื่องปฏิบัติ แต่เรื่องประเพณีนั้นมีมาก ต่อไปจะได้จัดปีละครั้ง ๆ จะยากจะง่ายก็ตาม เพื่ออะไร ก็เพื่อคนท้องถิ่นให้รู้จักหลักของการปฏิบัติบ้าง ถ้าบางคนมีบารมีก็อาจเป็นไปได้ ไม่คนใดก็คนหนึ่ง เราจะไปรู้หรือว่าใครมีหรือไม่มี ไม่มีใครรู้ แต่ว่าเรายังปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่เข้าเส้นทาง ไม่รู้จังหวะ ตัวเองมีหรือไม่มีแล้วก็ปฏิเสธตัวเองว่าไม่มีบารมี แท้ที่จริงก็มีอยู่แต่เราก็หาได้เข้าใจไม่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ มีแต่ปฏิบัติในเรื่องประเพณี จารีตต่าง ๆ ที่โบราณของเราได้ทำเอาไว้ ก็ยึดเอาอันนั้นตลอด แต่หลักของการปฏิบัติอย่างนี้ มันไม่มี

เพราะฉะนั้นในวันนี้ ก็ได้ให้อุบายหลักการปฏิบัติ แก่พวกเราชาวพุทธที่ได้พากันมาร่วมจัดงานในวันนี้ แล้วก็มาเริ่มวันนี้เป็นเบื้องต้น จึงได้มาประกาศการกระทำของตัวเองที่ได้ปลูกฝังสถานที่นี้ เป็นที่ปฏิบัติขึ้นมา ขอให้พวกเราเข้าใจเอาไว้อย่างนี้ ปีต่อไปจึงค่อยมากระทำใหม่ มาบวชใหม่อีกที และก็พากันมาปฏิบัติอีกที

ดังที่ได้แสดงมาเห็นจะสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.





 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 18:00:05 น.
Counter : 241 Pageviews.  

ความสงบยังความรู้ให้เกิดได้



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ กุฏิวัดป่าวิเวกธรรมฯ จังหวัดขอนแก่น
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐




ตั้งใจกันให้ดี ธรรมะปฏิบัติย่อมเป็นเรื่องส่วนบุคคลของแต่ละคน เราจะรวมกันมาทั่วประเทศก็ตาม แต่เมื่อปฏิบัติแล้วก็เป็นส่วนบุคคลแต่ละคนที่จะต้องได้ ส่วนที่ได้ก็ได้เป็นบุคคล ส่วนการรักษาส่วนรวมและเมื่อรักษาส่วนรวมมาแล้ว ก็จะมีแต่ส่วนตัวที่เราต้องปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แต่ตัวเอง เพราะมันเป็นของจำกัด
เฉพาะเรื่องของจิต มันเป็นเรื่องจำกัดเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่ละคนมีจิตดวงเดียวกันไม่ใช่จะแบ่งปันให้กันได้ การรักษาจิตเป็นเรื่องเฉพาะ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นที่จะมารักษาให้ แม้แต่เราเองจะรักษาให้คนอื่นก็รักษาให้ไม่ได้ มันเป็นเรื่องจำกัดอยู่ในตัว แล้วเมื่อเราจะทำให้วงจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะตน เราก็จะต้องปฏิบัติตนของตนเองเพื่อให้เกิดความสงบทำอย่างไรมันจึงจะสงบได้ เราต้องเอาความสงบให้มันได้ ให้มันมั่นคง ให้มันแน่นอน เพื่อประโยชน์ของตน

ทุกสิ่งทุกอย่างมีจะประเสริฐยิ่งกว่าความสงบนั้นหาได้ยาก เพราะความสงบมันเป็นของประเสริฐ คือมันยังความสุขในปัจจุบันให้เกิดขึ้น และเราก็ได้ความสุขในปัจจุบัน สุขจากความสงบ มันก็พร้อมด้วยความรู้ ปัญญาก็เกิดขึ้นมาในความสงบนั้น และความรู้ที่เกิดขึ้นในความสงบนั้น เป็นความรู้ในขั้นวิเศษ เป็นความรู้ที่หาได้ยาก เพราะมันไม่เคยมีมากับบุคคลใดใครคนหนึ่ง นอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหัตอรหันต์และผู้ใดที่จะมาประพฤติตาม สามารถยังความสงบให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองได้ ก็จะมีเฉพาะบุคคลผู้ที่ทำได้ และสำหรับความรู้ที่มันจะเกิดขึ้น เราก็ค่อยสังเกต ซึ่งมันเป็นคำสอนของจริงที่เกิดขึ้นในตัวเอง เป็นคำสอนที่ได้ประโยชน์มาก เป็นคำสอนที่หาได้ยากและบุคคลก็กระทำได้ยาก คำสอนที่เกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นแล้ว ก็จะไปสอนใคร ก็สอนตัวเองความรู้ชนิดนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าเป็นความรู้ขั้นพิเศษ เป็นความรู้อันประเสริฐ

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความสงบในตัวเองแล้ว เราต้องพยายามรักษาความสงบนั้นให้มันมั่นคงและมันมีอะไรในความสงบนั้น เราก็พิจารณาด้วยตนเอง ว่าอะไรเป็นอะไร และมีอะไรที่จะมาเกี่ยวข้อง ที่จะมาประสานกับความรู้ของเรา ที่จะทำให้เราเกิดความรู้ขึ้นมา มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องสาเหตุแห่งทุกข์ที่จะเกิดความรู้ขึ้นเพื่อให้เราดับทุกข์ เราจะทำอย่างไรให้มันดับทุกข์ได้ และทำอย่างไรเหตุมันจะเกิดขึ้นมาได้ ปรากฏได้เราก็ทำเอา ยิ่งทำมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดความรู้เท่านั้น ก็ยิ่งปรากฏในตัวของเราเท่านั้น ซึ่งมันเป็นความรู้ที่แปลก มันเป็นความรู้ของมันในตัวเองไม่ใช่ว่าเอาความรู้ที่อื่นมามันเกิดขึ้นในตัวเองและก็รู้ในตัวเอง แล้วมันก็ให้ความดีในตัวเอง และความดีก็เกิดขึ้นในตัวเอง ความรู้อันนี้จึงเป็นความรู้อันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าปัญญา ก็เป็นญาณด้วย เป็นณานด้วย ก็เป็นในตัวมันสารพัดสารเพ เราจะรู้จะเห็นอะไรสิ่งไหนที่พอจะพิจารณาได้ เราก็พิจารณาด้วยตัวเอง สิ่งไหนที่เราจะถามได้เราก็ถามด้วยตนเอง เพื่อจะได้นำเอาความรู้อันนั้นขึ้นมาพิจารณาอีก เพื่อจะได้แก้ไขตัวเอง

ความรู้ก็เอามาจากสิ่งที่เป็นมาก่อน หมายถึงทั้งโทษและคุณ ถ้ามันไม่มีมาก่อน ก็จะเอาตัวอย่างมาจากไหน จะเอาคำสอนมาจากไหนว่ามันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น ส่วนผู้ที่มีคุณก็จะต้องมีปรากฏเคยมีมาก่อน เราจึงรู้ว่าคุณนั้นมีคุณประโยชน์อย่างไร มันก็จะต้องมีมาก่อนเราเรียกว่าตัวอย่าง ถ้ามันไม่มีตัวอย่าง เราจะเอาอะไรเป็นอุทธาหรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีตัวอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏขึ้น อันไหนควรที่จะถามได้ เราก็ถาม ถามก็ถามด้วยปัญญา เมื่อตอบก็ตอบด้วยปัญญา และเราก็จงนำมาพิจารณาด้วย ในสิ่งที่เขาตอบมา มันจะจริงหรือไม่จริง มันก็อยู่ในตัวของมัน ก็มันมีมันจึงได้ปรากฏ ถ้ามันไม่มีมันจะปรากฏหรือ จะปรากฏอะไร เมื่อมันปรากฏจึงแสดงว่ามันมี เราต้องเข้าใจอย่างนั้น เราจึงจะมีความมั่นใจในความรู้ของเรา มันก็ไม่เพื่ออะไรหรอก ก็เพื่อกำจัดมลทินของตัวเอง เราจะนำความรู้นั้นมาพิจารณาหาสาเหตุต้นเหตุจะได้นำมาแก้ไขปัญหาตัวเอง และกำจัดมลทินที่สนองเรามาไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ กีกัปป์ กี่กัลป์ เราก็พยายามที่จะต้องนำเอามา ความรู้มันใช้ได้ทั้งนั้นจะผิดหรือถูก จะจริงหรือไม่จริง ขอให้มันมีขึ้นมาเถอะ

ต่อไปนี้ก็ให้นั่งไปอีกสักพักหนึ่ง...........




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:56:17 น.
Counter : 225 Pageviews.  

กองทัพธรรมภายในใจ



พระธรรมเทศนาโดย พระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อบุญเพ็ง กัปปโก)
วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ณ ศาลาวัดป่าวิเวกธรรมฯ
วันธรรมสวนะที่ 26 สิงหาคม 2540




กองทัพธรรมภายในใจ

เอานั่งทีนี้ ได้เวลาแล้ว นั่งไม่ต้องให้เสียเวลา เวลาเป็นของมีค่าเราอย่าปล่อยของที่มีค่าทิ้งไป ให้พากันสร้างพลังกองทัพธรรม พลังธรรมะให้มีกำลังมากมหาศาล เพื่อเข้าไปจู่โจมกองทัพกิเลสเพราะกองทัพกิเลสมันยึดที่มั่นและตั้งฐานมานานแล้วเราจะต้องมีคลังอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อจะเข้าไปจู่โจมกองทัพกิเลส กองทัพที่หนึ่งคือ จ้าวโลภ กองทัพที่สอง คือจ้าวโกรธ หรือ จ้าวโทโส กองทัพที่สามก็คือ จ้าวโมโห นี่กองทัพใหญ่ มันทำลายฐานที่ตั้งของเราพินาศ เราจึงสร้างพลังธรรมะให้มันพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ คือทหารรบของเราให้พร้อม ให้รู้จักทางหนีทีไล่ และให้รู้จักเข้าจู่โจม

ฐานที่ตั้งอยู่ตรงไหน เราจะต้องส่งไปเคลียร์พื้นที่ของเขาเสียก่อน การไปเคลียร์พื้นที่ จะไปด้วยความอึกทึกครึกโครมไม่ได้ ต้องไปด้วยความเงียบ ไปด้วยความสงบ ไม่ให้ได้ยินเสียงอะไร พอถึงศัตรูเราค่อยแสดงตัว ถ้าเราจะมาแสดงเอะอะโวยวาย ใช้เสียงอึกทึกครึกโครม ข้าศึกศัตรูเขาก็จะรู้ พอเขารู้เข้าก็จะต้องดัก ตกลงเราก็จะต้องโดนศาสตราอาวุธของเขา เพราะเขารู้ว่าเราจะไปจู่โจมเขา ถ้าเราไปเงียบเราไม่มีเสียง เขาก็ไม่รู้ว่าเราไป เขาก็เลยนอนใจอยู่ เราก็จะได้ใกล้ชิดฐานที่มั่นของเขาได้ พอเข้าไปใกล้ชิดฐานที่มั่นของเขา ก็จะได้รู้อะไรอยู่ตรงไหน ปืนกลหนัก ปืนกลเบา ปืนใหญ่ ปืนเล็ก กำลังพลทหาร อยู่ตรงไหน มันก็จะได้รู้ เราก็จะได้ยิงศัตรูก่อน ศัตรูก็จะต้องพ่ายแพ้ นี้ไปด้วยความเงียบ เหมือนกับเรากำลังจะไปทำลายฐานที่ตั้งของศัตรูข้าศึก เราก็ต้องไปด้วยความเงียบไปด้วยความสงบ ไม่ให้เขารู้ตัว เราจึงจะไปยึดที่ตั้งของเขาได้ พอเรายึดที่ตั้งฐานที่มั่นของเขาได้ เขาก็จะต้องยอมสารภาพ เราก็จะได้จับมาเป็นลูกน้อง จับมาเป็นผู้สอดแนม

เมื่อเรายึดฐานที่มั่นของเขาได้แล้ว เราก็ต้องมาสร้างฐานที่มั่นของเราให้ดี เราต้องเสริมเหล็กเสริมคอนกรีต ปูน หิน ทราย มันก็จะได้เพียบพร้อม ฐานที่มั่นที่ตั้งของเราจะได้มั่นคง มันก็จะมาทำอะไรไม่ได้ เพราะเราไปยึดความสงบ และเราไปตั้งอยู่ในความสงบ และเราก็มั่นอยู่ในความสงบและเมื่อความสงบเพียบพร้อม ตั้งมั่นอยู่ด้วยความพร้อมเพียง ใครจะมาทำอะไรได้ กองทัพที่หนึ่งก็จะต้องถอย กองทัพที่สองก็จะต้องร่น เราก็จะปลดอาวุธยึดอาวุธมันได้ กองทัพที่สามก็จะแตกกระจาย เราก็จะรวมกันได้แล้วมันก็จะหมดกำลัง ทหารก็อยู่ในกำมือเรา อยู่ในอำนาจ ของเรามันก็แสดงอะไรไม่ได้ เมื่อแสดงไม่ได้เราก็จะเข้าไป แล้วมันจะมาทำอะไร เมื่อเราปลดอาวุธมันแล้ว กำลังของเราก็พร้อมแล้ว สิ่งที่เป็นศัตรูก็ยอมแพ้คือเราชนะด้วยความสงบ ชนะด้วยความดี

เราจะสร้างสรรค์ความดีของเราให้มันดีพอ ให้ดีพร้อม พวกกองโจรเหล่าร้ายทั้งหลายจะได้ถอยร่นไป การสร้างเสริมความดี ก็โดยการปฏิบัติภาวนา เพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น และก็เข้าไปยึดฐานที่ตั้งของเขาคือ กองทัพกิเลส สนามรบอยู่ตรงไหน ก็อยู่ที่ใจกลางหน้าทรวงอก มันอยู่ตรงนั้น เราก็เข้าไปยึดตรงนั้น ซึ่งเป็นอาณาเขตของมัน ฐานที่ตั้งของมันอยู่ที่ท่ามกลางทรวงอกทุกคน

ในเมื่อเราจะสู้รบสงครามข้าศึกนี้ เราก็อย่าส่งออกไปข้างนอก ต้องส่งตรงไปข้างใน แอบ แอบ เข้าไปให้สงบ ให้เงียบ อย่าไปด้วยความร้อน ให้ไปด้วยความเย็น การทำลายของร้อน เราจะใจร้อนไม่ได้ การที่เราจะดับไฟเราต้องใช้น้ำเย็นอย่าไปร้อน ไฟก็จะได้เย็น แล้วเราก็ตามเข้าไปดูว่าฐานที่ตั้งของเจ้าโลโภ โทโส โมโห อยู่ตรงไหน มันก็อยู่ภายใน ถอนพวกนี้ได้ ยึดพวกนี้ได้ อะไรมันจะเกิด ที่เรียกว่า มรรค ผล ฌาน ญาณ อภิญญา ก็จะเกิด เกิดขึ้นแล้วก็ไล่พวกนี้ออกไป มันสงบ เย็น สบาย ทีนี้เราต้องการอะไรก็จะได้

ของร้ายที่มีในใจเราจะเอาอย่างอื่นไปทำลายไม่ได้นอกจากความสงบ จะเอาไฟไปเผาเพื่อทำลายมันก็ไม่ได้ ทำลายโลภ ทำลายโกรธ ทำลายหลงก็ไม่ได้ จะทำลายมันได้ก็ด้วยความเย็น คือด้วยคุณธรรม ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือสมาธิคือตัวที่จะสามารถเข้าไปทำลายของร้ายในใจได้ เราก็จะถึงสุโขวิเวโก ถึงความวิเวกก็ถึงความสุข

เวลาไปถึงมันถึงตรงไหน มันอยู่ไกลขนาดไหน มันก็อยู่ท่ามกลางหน้าอกของเรานั่นเอง จะว่าไกลก็ไม่ใช่ จะว่าใกล้ก็ไม่ใช่ ก็มันอยู่ตรงนี้ ทีนี้ก็จงตามไปดู เอหิปัสสิโก จงตามเข้าไปดู ไปเรียกมันมา อย่าปล่อยให้มันไปเที่ยว ควรไปดึงเข้ามาที่ฐานของมันซึ่งตั้งอยู่ตรงนั้น มันมีอะไรบ้าง ปรมาณู นิวเคลียร์ของเขามันมีกี่ลูก ก็ตามเข้าไปดูสิ เราก็มัวแต่พากันไปทำเสียอย่างอื่นเป็นส่วนมาก มัวแต่สวดอ้อนวอน แต่ความสุขอันแท้จริงมัวอ้อนวอนอย่างนั้นก็ไม่ได้ คามสุขอันแท้จริงจะไปอ้อนวอนกับใคร เราต้องเข้าไปดูเอง ไปเห็นเอง เข้าไปยึดฐานที่ตั้งของเราเอง พวกกองโจรทั้งหลาย กองทัพทั้งหลายเหล่านั้น มีอาวุธมากน้อยอย่างไร มีกำลังอย่างไร เราก็จะได้รู้เห็นต่อเมื่อเราเข้าไปดู แต่นี่เราไม่ได้เข้าไปดูมัวแต่ไปทำอย่างอื่นไปดูให้มันชัดๆ อย่าไปกังวล อย่าไปเอาเรื่องอื่นเข้ามาปะปน ก่อกวน ทำลายความสงบ เราทำสบาย สบาย เรามุ่งประเด็นเดียวคือ ประเด็นของความสงบที่เราจะได้รับผลอยู่แล้ว แต่เราทำไมไม่เข้าไป จะคิดไปทำไมอยู่ข้างนอก จะเอาเรื่องข้างนอกมารบกวนตัวเองอยู่ทำไม ก็ตามเข้าไปดูสิ เรานำเอาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตามเข้าไปด้วย ก็คือ พุทโธ นั่นเอง

พระพุทธเจ้าก็จะพร้อมไปด้วยศาสตราวุธ ศาสตราวุธของพระพุทธเจ้ามีอะไร ก็ควรก็อัญเชิญกราบทูลเสด็จไปประทับที่พลับพลาท่ามกลางหน้าอกของเรา ธรรมะต่าง ๆ ก็ตามไปรวมตรงนั้นหมด เราจะรู้อะไรได้ขนาดไหนก็เกิดอยู่ตรงนั้น เราจะแพ้จะชนะก็อยู่ตรงนั้น ท่ามกลางหน้าอกนั้นเป็นเหมือนสนามรบ รบความชั่วโดยเอาความดีเข้าไปรบ เอาบุญเอากุศลเข้าไป

นี่เราไม่มีการขับไล่ มีแต่เปิดประตูให้มันเข้ามา เปิดทางตาย เปิดทางมรณะ ให้ความชั่วทางกาย ความชั่วทางวาจา ความชั่วทางใจเข้ามา ก็ว่ามีกรรมมีเวร ก็ปิดประตูเสียสิ นำพระพุทธเจ้าเข้ามาอยู่ตรงนั้น พระพุทธเจ้าก็จะมาพร้อมกับความสว่างไสวคือพุทโธ ความสว่างไสวมีในตัวเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไป เรายังไม่ได้เห็นคุณค่าของพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมา เราก็เห็นแต่ท่านดำเนินเหาะเหินไปทางอื่น ที่ท่านจะเสด็จเข้าไปประทับยังพลับพลาท่ามกลางหน้าอกเรา เราไม่เคยทูลเชิญเสด็จ ทีนี้ก็ว่าต้องการธรรมะ ต้องการความสุข ต้องการความดี ก็ไปหาคนนั้นไปหาคนนี้ อาจารย์คนนั้น อาจารย์คนนี้ก็ไปกัน ไปทางพลับพลาภายนอก พลับพลาที่มันตั้งอยู่ตรงนี้ทำไมไม่ทูลอัญเชิญเสด็จเข้าไป ทูลอัญเชิญเสด็จเข้าไปประทับกลางอยู่ตรงนั้นดูว่าท่านจะวิจิตรพิศดารอย่างไร เราก็จะได้ทราบ มิฉะนั้น เราก็จะไม่ทราบว่ากิเลสเป็นอย่างไร มันทำให้เราหลงชาติ หลงภพ หลงเกิด หลงแก่ หลงตาย ก็จะได้รู้ฤทธิ์ของมันรู้กันแต่ชื่อ จำกัดแต่ชื่อ มันเป็นของอย่างไร น่าปรารถนาหรือไม่ เราก็ไม่ทราบ เพราะเรามัวแต่เดินอยู่รอบ ๆ ห้อง เราไม่เคยเข้าไปที่พลับพลาหน้าอกของเรา ให้พระองค์เสด็จไปที่พลับพลาตรงนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องไปหาใครทั้งสิ้น ไม่ต้องไปตามคนนั้น คนนี้ มันพร้อมหมด ความสุข ความดี ขนาดไหน ก็พร้อมหมด จะเอาระดับใดก็ได้ อย่าไปคิดอะไรให้มาก มันเสียเวลา แก่ไปก็รู้ เจ็บไปก็รู้ ปรารถนาที่พึ่งอย่างไรเราจึงจะได้ที่พึ่งก่อนตาย แก่มันก็แก่แต่ก็พอทำได้ เจ็บมันก็เจ็บแต่ก็พอทำได้ ให้ความแก่มาเอาไปเราก็ไม่ให้ ให้ความเจ็บมาเอาไปเราก็ไม่ให้ ให้ความตายมาเอาไปเราก็ไม่ให้ ไม่มีอะไรจะมาเอาไปได้ มีอย่างเดียวคือเราจะต้องหาที่พึ่งให้ได้ ถ้าเราได้ที่พึ่งแล้วจะถึงเมืองมรณังก็ถึงไปซิ ก็มันมีที่พึ่งแล้ว ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรจะให้พึ่งให้อาศัย เราก็จะต้องเข้าใจอย่างนี้ ใครจะเอาอะไรก็ให้เขาไปซิเรื่องภายนอกขอให้เอาเรื่องภายในกันเสียบ้าง มันก็จะได้เป็นประโยชน์และเป็นกำไรชีวิต ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ตายฟรี ๆ ความทุกข์ยากทรมานก็จะมาสนองความตายฟรีนั้น อย่านึกว่ามันไม่มีตัวมีตน แต่เวลาตายนรกมันก็ตามมาจนได้ ทั้งที่มันหาตัวตนไม่ได้ ทั้งที่มันไม่มีวัตถุอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อไปทำอะไรที่เป็นโทษ แล้วทำไมโทษนั้นก็จะมาทรมานสิ่งที่ไม่มีตัวตนขึ้นมาได้ อันนี้มันน่าคิด

เรามัวแต่ไปคิดตามตำราเพียงอย่างเดียว เราไม่ได้คิดถึงความจริงเหมือนอย่างที่เปรียบเทียบให้ฟังว่า ตายไปเป็นเปรต บางที่ก็มาปรากฎให้เห็นเป็นตัวตน ผมยาว ขาใหญ่ สูงบ้าง แม้ไม่มีตัวตน เหตุใดจึงแสดงให้คนเห็นได้ในบางขณะ แล้วบาปกรรมที่ได้ทำไว้ทำไมจึงไปสนองให้เป็นเช่นนั้นได้ เหมือนกับเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเป็นเปรตมากี่ภพกี่ชาติ กี่กัปป์กี่กัลป์ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อพระเจ้าพิมพิสารไปถวายอาหารแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรตตนนั้นก็ยังมาแสร้งนิมิตให้พระองค์เห็นว่าหาผ้านุ่งไม่ได้ เพราะไม่ได้ถวายผ้า พอพระเจ้าพิมพิสารได้ทราบจึงได้ถวายผ้าแด่พระสงฆ์ เปรตเหล่านั้นจึงได้นิมิตเป็นผู้ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยร่างกายและผ้านุ่งให้พระเจ้าพิมพิสารได้เห็นในทางจิต ทางนิมิต บางครั้งเราก็เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มันไม่มีตัวตนทำไมจึงมาแสดงให้เห็นได้ ก็จิตเรานี่แหละไปติดเขา ถ้ามีความชั่วมา ก็ไปแสดงได้เช่นกัน นี่มันน่าคิดพิจารณาธรรมเพื่อแก้ไขตัวเอง คิดตรงนี้ แก้ไขตรงนี้ ก็จะดีขึ้นตรงนี้ นี่จึงเรียกว่าศึกษาธรรมศึกษาในตัวเอง

ตัวเราอยู่บ้านอื่น เมืองอื่น ทำไมจึงมาอยู่ที่นี่ได้ อะไรพามา เราก็ไม่ได้คิดไม่ได้นึก ไม่ได้วาดภาพจับจองล่วงหน้าไว้ก่อน แต่ก็เป็นไปได้ มันดึงมาได้อย่างไร มันลากมาได้อย่างไร และมันจะให้ผลดีผลร้ายเกิดขึ้นอย่างไรที่มันจะสนองตัวเอง มันน่าคิดนะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ เป็นของละเอียดในหัวใจเรา มันแบก มันหาม มันหอบ มันหิ้วมาอย่างไร คิดตรงนั้น ให้คิดเอาเอง

นี่มันเรื่องของตัวเองเชื่อเลยทีเดียวก็ไม่ได้ จะปฏิเสธเลยทีเดียวก็ไม่ได้ มันมาจากกองทัพทั้งสามกองทัพมันพาให้เป็นมา โดยที่เราไม่รู้ตัวทั้งนั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมันไม่ผิด ถ้าเราจะพิจารณาหรืออ่านเฉยๆ ก็ไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความเป็นมาของเขา ความเป็นมาของเราทั้งที่เป็นคนเหมือนกันมันมีอะไรที่ทำให้ผิดแผกกันไป ก็ให้ศึกษาเอาจากท่านที่ตั้งอยู่ที่พลับพลากลางหน้าอก ก็ให้ถามเอาจากตรงนั้น มาจากไหน มาทำอย่างไร อะไรมันพาให้ทำ ก็ถามดูเอา ทั้งความสุขที่เคยผ่านมา และความทุกข์ยากที่เคยผ่านมา อย่างเราเคยไปเกิดประเทศอินเดีย เกิดเป็นพวกจัณฑาล เกิดเป็นพวกสูทร แล้วก็ไปนั่งขอทานตามถนนหนทาง ตายจากนั้นก็ไปเมืองพม่า จากเมืองพม่าก็มาแม่น้ำสกุดิน เข้าเมืองแม่สอดเข้ามาถึงนี่ เราก็มารู้มาเห็น แต่ใครจะไปรับรอง ก็ไม่มีใครรับรอง มันเห็นแต่ไม่มีใครรับรอง แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็เป็นเรื่องที่มันอ้าง เราก็จะได้รู้ต้นสายปลายเหตุที่ให้เป็นอย่างนี้ ก็จะเข้าไปหาต้นเหตุ เข้าไปหารากเหง้า

เมื่อรู้ต้นเหตุ รู้รากเหง้า เราก็จะได้ถอนรากถอนโคน เมื่อถอนรากถอนโคนแล้ว มันก็จะได้ไม่งอกขึ้นอีก ถ้าเราไม่ค้นหาสาเหตุ เราจะไปเอาปัญญามาจากที่ไหน มันต้องใช้ให้เป็น ได้แล้วต้องใช้ให้เป็น จึงจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ถ้าได้แล้วก็แล้วไป เห็นแล้วก็แล้วไปและมันจะเป็นอย่างไรได้ คนเรามันเคยเกิดมาหมด เคยเป็นมาหมด เจ้าของเองเท่านั้นที่จะรับรองตัวเองได้ พระพุทธเจ้าหรือพระอริยสงฆ์ที่สำเร็จพระอรหันต์ก็เป็นมาอย่างนี้ทั้งนั้น ผ่านภพผ่านชาติมาจากนรกหมกไหม้มาแล้วทั้งนั้น กว่าจะได้มาเป็นพระอรหัตอรหันต์

ดังนั้นจึงต้องหาต้นสายปลายเหตุให้ได้จึงจะเรียกว่านักภาวนา จะเอาแต่นั่งภาวนาเฉยๆ แต่ก็จะไม่สนุก ไม่เกิดปัญญา จะไม่รู้จักต้นสายปลายเหตุของตัวเองที่เป็นมาอย่างไร เป็นไก่ เป็นแมว เป็นหมามากี่ชาติ เกิดเป็นคน เป็นกษัตริย์ เป็นเศรษฐี เป็นชาวนาที่ไหนบ้าง ก็ต้องถามตัวเอง ศึกษาในตัวเอง เห็นแล้วก็จะได้สังเวชความเป็นมาของตัวเอง แล้วยังจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปอีกหรือ สิ่งใดที่ทำให้มันเป็นเช่นนี้อีกก็เลิกมันเสียที นี่แหละที่เรียกว่า นิพพานัง ปะระมัง สุขัง

พระนิพพานเป็นป่าช้าของจิต เป็นที่สิ้นสุดของจิต เป็นป่าช้าของกิเลส ถ้าไม่ถึงพระนิพพานก็ยังไม่หมดกิเลส พอถึงพระนิพพาน กิเลสก็ดับลง คล้ายกับพระนิพพานเป็นป่าช้าของกิเลส คือสิ้นสุดลงไปตรงนั้นไม่ได้มาเกิดอีก เทวทัตก็ดี อะไรก็ดี อย่าไปคิดว่าตกนรกอเวจีแล้วจะไหม้เกรียมอยู่ตรงนั้น มันจะต้องมาเกิดอีก แล้วเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วจึงจะได้นิพพาน แล้วจิตจึงจะหมด

นี่คือธรรมะภายใน ใครอยากได้ก็ไปดูเอาในตัวเอง สุขเฉพาะในตัวเอง ไม่ได้สุขที่อื่น มันจึงได้เป็น “สุโข วิเวโก” สุขในความเป็นวิเวก ดับเหตุแห่งทุกข์ คือความพ้นทุกข์ นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนธรรมดา ธรรมดาอย่างนี้ โลกียมันก็มี โลกุตรก็มี คำสอนของพระพุทธเจ้ามีหลายขั้น จึงให้พากันทำความเข้าใจให้ได้ข้ออรรถข้อธรรม ซึ่งธรรมนี้มีอรรถรส มีรสชาติในตัวเอง นั้นจึงเรียกว่าปฏิบัติธรรม เราจะทำไปตามธรรมดาก็ได้อยู่หรอก ไหว้พระสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยก็พากันหนีก็ได้ไม่ยากอะไร ทำพิธีต่างๆ ก็ได้ไม่ยาก คิดว่าจะมีเพียงแค่นั้น ก็เลยไม่รู้อะไร ว่าความทุกข์ยากที่ผ่านมาและที่จะไปพบข้างหน้ามันจะมากไปกว่านี้หรือไม่ของที่พากันทำดี จึงได้พากันทำ พวกเราแก่แล้ว หมดทางไปแล้ว ก่อนที่จะไปก็ทำให้สมบูรณ์ ให้เต็มมีถุงมีไถ้ ก็ยัดเข้าไปในทางธรรมให้เต็มก่อนจะไป

จึงให้พากันรับทราบ พากันเข้าใจ และนำไปเป็นข้อคิดพิจารณาแล้วก็จะได้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เราท่านทั้งหลายที่มีอายุผ่านวัยมาแล้วก็จะเต็มในวันข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว ถึงจะไกลก็ยังมีส่วนเข้าใกล้ ชาติภพก็จะได้หมดไป เมื่อเข้าใจเช่นนี้ต่อไปก็จะได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ภาวนารักษาศีล ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อดำรงทรงไว้ในหัวใจของตัวเองตลอดชั่วกาลนาน

ที่ได้อธิบายมาก็สมควรแก่เวลา ถ้าเมื่อยก็พักผ่อน ถ้าสบายก็นั่งไป.....




 

Create Date : 06 มีนาคม 2553    
Last Update : 6 มีนาคม 2553 17:54:13 น.
Counter : 203 Pageviews.  

1  2  3  4  

Jingjoknoi
Location :
Fl United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Jingjoknoi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.