Group Blog
 
All blogs
 

เราเป็นยอดเป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี



ลุมพินีเป็นตำบลหนึ่งของราชอาณาจักรเนปาล ข้ามชายแดนอินเดียเพื่อมายังเนปาลจะพบเมืองชายแดนเล็กๆแห่งหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสิทธัตถนคร ไม่ไกลจากที่นี่ก็เป็นที่ตั้งของสวนลุมพินีวัน ตามพุทธประวัตินั้นเป็นสวนหลวงที่สร้างขึ้นสำหรับชาวกบิลพัสดุ์และชาวเทวทหะเพื่อเป็นที่แวะพักผ่อนกลางทาง เพราะระยะทางระหว่างสองเมืองนั้นไกลเกินกว่าที่จะเดินทางถึงกันภายในวันเดียวได้ครับ

ภาพสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางสิริมหามายา พระธิดาของพระเจ้าอัญชนะกษัตริย์ กษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ แห่งกรุงเทวทหะ

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าสุทโทนะ (พระสวามี) ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเกิดของพระนาง เพื่อให้ประสูติในตระกูลของ พระมารดา ซึ่งเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น แต่ในขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน (ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหทะ) พระนางก็ได้ให้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

ปัจจุบันเมื่อมาถึงสวนลุมพินีวัน ก็จะเห็นวิหารมายาเทวีที่อยู่ตรงกลาง บริเวณโดยรอบนี้เป็นพุทธสถานเก่าแก่ทับซ้อนกันอยู่หลายยุค หลายสมัย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างกันต่อเนื่องมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18


จากบันทึกของพระถังซัมจั๋ง พระภิกษุจีนซึ่งเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านได้เขียนถึงลุมพินีวันที่มาเห็นในครั้งนั้นว่า ....ที่นั่นมีบ่อน้ำสำหรับสระสนานของชาวศากยวงศ์ น้ำในบ่อใสสะอาดดุจกระจก จากนี้ไปทางเหนือประมาณ 40-50 ก้าว มีต้นอโศกซึ่งปัจจุบันแห้งเหี่ยวไปแล้ว เป็นที่ประสูติของศากยมุนีโพธิสัตว์...

หากเรากะระยะจากแผ่นศิลาไปสระน้ำก็อยู่ในระยะทางที่ใกล้เคียงกันคือราว 35-40 เมตรครับ


ปี พศ. 2436 นายทหารอินเดียคนหนึ่งชื่อ จัสคาราน ซิงค์ เดินล่าสัตว์มาถึงเขตเนปาลและพบเสาพระเจ้าอโศกเข้าโดยบังเอิญ พระเจ้าอโศกเสด็จมาที่นี่เมื่อครองราชย์ได้ 20 ปี ทรงนำเสาหินหนัก 37 ตันมาที่สวนลุมพินี เสาหินทั้งหมดที่นำมาที่นี่ 3 ต้น รวมกันแล้วก็หนักถึง 120 ตัน สมัยนั้นไม่มีระบบขนส่ง ต้องลำเลียงมาทางบกหรือทางน้ำเท่านั้น น่าสนใจมากครับ


zoom...เสาพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี จารึกอักษรพราหมีระบุว่าพระพุทธเจ้าศากยมุนีประสูติที่นี่


ในขณะที่ให้ประสูติ พระมารดาเสด็จประทับยืน ไม่นั่งเหมือนสตรีอื่น เมื่อทรงประสูติแล้วพระกายของ พระโอรสบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อน ด้วยคราบใด ๆ จากนั้นจึงมีเทวดามาคอยรับพระกาย ของพระโอรส และมีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาจากอากาศสนาน (อาบ) พระองค์

ภาพแกะสลักหินทรายรูปพระประสูติกาล


และเมื่อประสูติแล้ว ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาทไปได้ 7 ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า

อาสภิวาจา

" ในโลกนี้ เราเป็นยอดเป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี"



หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่เพิ่งขุดพบเมื่อปี 2535 นี่เอง เป็นแผ่นศิลาประทับเครื่องหมายคล้ายรอยพระบาท นักโบราณคดีให้ความเห็นว่านี่ไม่ใช่รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าจริงๆนะครับ มีการพิสูจน์ทางโบราณคดี พบว่าน่าจะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างไว้เมื่อ 200 ปี หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

ภาพแผ่นศิลาประทับเครื่องหมายคล้ายรอยพระบาท (Stone mark)

สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง


ภาพประกอบได้รับอนุญาตจากคุณ scuba734 ข้อมูลเรียบเรียงมาจาก หนังสือตามรอยพระพุทธเจ้า หนังสือดีดีของแพรวสำนักพิมพ์ และพระไตรปิฎก ขออนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 26 สิงหาคม 2551 8:01:50 น.
Counter : 612 Pageviews.  

ความจริงอันยิ่งใหญ่ที่พุทธคยา



ในคืนวันหนึ่งของวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

คืนนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติขึ้น พระพุทธเจ้าทรงพบกฎความจริงของธรรมชาติ ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมยุคนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่ออย่างใหญ่หลวงที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

วันนี้ขอเริ่มตอนแรกของซีรี่ย์ ด้วยการเชิญชาวห้องศาสนาเดินทางจากสุวรรณภูมิไปชมความจริงอันยิ่งใหญ่ที่พุทธคยานะครับ ชมภาพล่าสุด และค้นความจริงร่วมกันครับ


พุทธคยาเป็นชุมชมเมืองเล็กๆริมแม่น้ำเนรัญชราที่นี่คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของผู้แสวงบุญชาวพุทธจากทั่วโลกที่จะต้องเดินทางมาสักการะพระศรีมหาโพธิที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ภายในบริเวณของมหาโพธิวิหาร

มหาโพธิวิหารสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ราว 200 ปีหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน


มหาโพธิวิหารได้รับการทำนุบำรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมาจากพระมหากษัตริย์หลายราชวงศ์ ตลอดระยะเวลากว่า 1700 ปี จนกระทั่งศาสนาพุทธในอินเดียอ่อนแอลง และหลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 อินเดียก็ได้ถูกข้าศึกยกทัพเข้ารุกราน นับจากนั้นพุทธคยาก็ถูกละทิ้งจนรกร้างจมดิน ปล่อยให้ต้นไม้ปกคลุมนานกว่า 200 ปีครับ ต่อมาก็ตกอยู่ในความครอบครองของพวกนักบวชฮินดูนิกายหนึ่งที่เรียกตัวเองว่ามหันต์ ก็ยังถูกทิ้งให้รกร้างต่อมาเกือบ 300 ปี จนกระทั่งเซอร์อะเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ มาขุดเจอครับ

บริเวณทางที่จะเดินไปที่พระเจดีย์


จุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เชื่อว่าเป็นบริเวณใต้ต้นโพธิ์หลังมหาโพธิวิหาร นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นต้นที่สืบหน่อมาจากต้นเดิม แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 2500 ปีแล้ว แต่ยังมีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวยืนยันถึงการมีอยู่ของต้นพระศรีมหาโพธิเสมอ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมาครับ


เปิดให้เข้านมัสการพระแท่นวัชรอาสน์ภายในได้


บริเวณที่สันนิฐานว่าเป็นบ้านนางสุชาดา ธิดาของเสนิยกุฏุมพี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อน ผู้ถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดทองคำครับ


บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรามีกอหญ้าขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ตลอดแนว ชื่อว่าหญ้าสุกะ ซึ่งเป็นหญ้าชนิดเดียวกับที่คนหาบหญ้านำมาถวายพระพุทธเจ้าระหว่างทางก่อนถึงต้นมหาโพธิ และเมื่อเสด็จมาถึงก็ใช้หญ้าสุกะนั้นปูลาดลงเป็นที่ประทับ

โสตถิยะพราหมณ์ ผู้ถวายหญ้าสุกะ

และในคืนนั้นเองที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก่อนแต่ตรัสรู้เรียกว่า พระโพธิสัตว์ แปลว่า ผู้ข้องอยู่ในความรู้ หมายความว่า ไม่ทรงข้องอยู่ในสิ่งอื่น ข้องอยู่แต่ในความรู้ จึงทรงแสวงหาความรู้จนได้ตรัสรู้ จึงเรียกว่า พุทธะ ที่แปลว่า ผู้รู้ หรือ ตรัสรู้

พระพุทธรูปปางมารวิชัยในมหาโพธิวิหารองค์นี้ คือตัวแทนของพระพุทธเจ้าขณะประทับตรัสรู้ เพราะด้านหลังคือต้นพระศรีมหาโพธิซึ่งอยู่ทางทิศตะวันคก เท่ากับว่าพระพุทธรูปหันหลังให้ต้นโพธิ และหันหน้าไปทิศตะวันออก มองไปทางแม่น้ำเนรัญชรา


เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขในที่ต่าง ๆ ใกล้กับต้นโพธิพฤกษ์นั้นอยู่หลายสัปดาห์ ได้ทรงดำริถึงพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นของที่ลุ่มลึก ในชั้นแรกก็ทรงมีความขวนขวายดูหมู่สัตว์เห็นว่า หมู่สัตว์นั้นมีต่าง ๆ กัน ผู้ที่จะตรัสรู้ได้ก็มีอยู่ เทียบด้วยดอกบัวสามเหล่าที่จะบานได้ ได้เกิดพระกรุณาขึ้นแก่สัตวโลก พระกรุณานั้นเองทำให้ทรงตกลงพระหฤทัยว่า จะทรงแสดงธรรมสอนครับ

พระอนิมิสเจดีย์ สถานที่เสวยวิมุตติสุข สัปดาห์ที่ 2 สูงราว 20 เมตร

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ

"การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น เทียบได้กับความสำเร็จของนักคิดค้น ซึ่งเมื่อได้พยายามศึกษาเล่าเรียนหรือค้นคว้ามามากมาย ลงท้ายได้พบ 'อะไรอย่างหนึ่ง' ซึ่งเป็นกุญแจเปิดคลังวิทยาการ เห็นทางสว่าง ให้ความคิดเรื่องอื่นงอกงามออกไป แต่อาจเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่านักคิดอื่นๆมาก เพราะเรื่องที่ค้นพบนั้นครอบคลุมทั้งกายและจิดใจด้วย"



มีเพลงบรรเลง ฟังสบาย ชื่อเพลงริมฝั่งน้ำเนรัญชรา มาฝากให้ชาวห้องศาสนาฟังครับ
//thai.greenmusic.org/index.php?mode=frontweb&lang=eng&popup=genPopupMP3&id=83

กระทู้นี้คุณ scuba734 ก็อนุญาตให้ใช้รูปสวยๆที่ถ่ายมาครับ จึงมีรูปประกอบเยอะมากๆ นึกถึงหนังสือ Eyewitness ที่รูปเยอะมากๆ :)
ข้อมูลในกระทู้บางส่วนจากหนังสือตามรอยพระพุทธเจ้า แพรวสำนักพิมพ์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
พระนิพนธ์เรื่อง 45 พรรษา ขออนุโมทนาครับ

ภาพแม่น้ำเนรัญชรา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาด อธิฐานในคืนก่อนบรรลุอนุตรสัมมาโพธิญาณ ถ่ายจากฝั่งบ้านนางสุชาดาครับ


เก็บตก....เรื่องดงคสิริ

รูปในความคิดเห็นที่ 9 มองไปก็จะเห็นทิวเขาทอดยาวไปไกล ข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปทางทิศเหนือราว 25 กม.ครับ ที่นั่นคือดงคสิริ ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญตบะเพื่อให้หลุดพ้นด้วยการทรมานร่างกาย ที่จริงแล้วทราบไหมครับว่าอะไรเป็นเหตุ? ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินใกล้สระอโนดาต ได้ตรัสเปิดเผยความจริงให้พระภิกษุผู้สนใจศึกษากรรมของพระองค์เองได้ฟังว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว ก็ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ ได้กล่าวกะพระกัสสปสุคตเจ้าว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ไหน การตรัสรู้เป็นของได้ยากยิ่ง เพราะวิบากของกรรมนั้น เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมายอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง ๖ ปี จากนั้น จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดโดยหนทางนั้น เราถูกกรรมเก่าห้ามไว้ จึงได้แสวงหาโดยทางผิด

เก็บตก...เรื่องข้าวมธุปายาสครับ

นักโบราณคดีได้ขุดพบเจดีย์โบราณและพระพุทธรูปอายุกว่า 1000 ปี ที่หมู่บ้านบักกาเรา ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นหมู่บ้านของนางสุชาดา ที่มีชื่อเดิมว่าบ้านเสนานี หรือเสนานิคม โดยนางสุชาดาบุตรสาวกฎุมพี เป็นผู้มั่งคั่ง ด้วยโภคทรัพย์ มีทั้งโค กระบือนับอนันต์ ครั้งหนึ่งเธอตั้งความปรารถนาต่อรุกขเทวดา ผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้แห่งหนึ่งว่า หากข้าพเจ้าได้บุตรสุดสวาท ที่จะมาเกิดในครรภ์ เป็นผู้ชายแล้วไซร็ จะกระทำด้วยมธุปายาสอันโอชะ ครั้นความปรารถนาของเธอสำเร็จสมประสงค์แล้ว จึงจัดแจงกวนข้าวมธุปายาสด้วยตนเอง

วิธีทำข้าวมธุปายาส เริ่มแรกเธอรีดเอานมจากแม่โคนมพันตัวก่อน แล้วนำไปให้แม่โคนมห้าร้อยตัวกินเป็นภักษาหาร จึงรีดเอานมจากแม่โคนม ห้าร้อยตัว นำไปให้แม่โคจำนวนสองร้อยห้าสิบ กินเป็นภักษาหารอีก และรีดเอานมจากแม่โคสองร้อยห้าสิบ ให้แก่โคฝูงอื่นโดยลดส่วนลงไปตามลำดับ จนเหลือแม่โคจำนวนแปดตัว โคแปดตัวนี้ นับว่าเป็นแม่โคที่มีน้ำนมอันบริสุทธิ์ มีโอชะเป็นอันมาก ครั้นแล้วเธอก็รีดเอานม จากแม่โคนมทั้งแปดตัวนี้ ใส่ในกระทะทองอันบริสุทธิ์ นำไปหุงกวนเข้ากับธัญญาชาติอันอื่น ๆ อีกจนพอดี ขณะกำลังหุงอยู่นั้น สุคนธชาติก็ฟุ้งกระจรหอมหวลไปถึงสรวงสวรรค์ พระอมรินทราธิราช ได้ทรางทราบเหตุการณ์ ดังนั้นจึงเอาทิพยาหารอันโอชะ มาให้ข้าวมธุปายาสมีรสโอชะยิ่งขึ้น เมื่อเสร็จแล้วเธอก็จัดนำไปถวายพระสิทธัตถะ ซึ่งประทับอยู่ ณ ควงแห่งต้นไม้ครั้งนั้น




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 26 สิงหาคม 2551 8:04:14 น.
Counter : 484 Pageviews.  

วัดพระเชตวัน วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี สถานที่พระพุทธเจ้าประทับยาวนานที่สุด แสดงพระธรรมเทศนามากที่สุด

สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อย เหมือนในยุคหลัง วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือวัดพระเวฬุวัน พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ "วัด" ในความหมายนี้ก็คือ สวนไผ่ หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละ เข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีอาคาร ปราสาท (แปลว่าเรือนชั้น หรือตึก) ด้วย

กระทู้นี้มาชมวัดพระเชตวัน วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี สถานที่พระพุทธเจ้าประทับยาวนานที่สุด แสดงพระธรรมเทศนามากที่สุด พร้อมประวัติการสร้างครับ



จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึก และกุฏิของพระสาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง

หลังแรกจากทางเดินคือกุฏิพระราหุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา
//www.84000.org/one/1/08.html


เล่าประวัติไปด้วยนะครับ วัดพระเชตวัน คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า สุทัตตะ เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมอย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถาม ได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์ สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ น้องเขยบอกว่า พรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

ได้ยินว่าหลังนี้คือกุฏิของพระสารีบุตรเถระ (อัครสาวกฝ่ายขวา) เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญา
//www.84000.org/one/1/03.html


ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสว่า "สุทัตตะ มานี่สิ" เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงแสดง "อนุปุพพีกถา" (เทศนาอันว่าด้วย ทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกออกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ "เข้าสู่กระแสพระนิพพาน"

ได้ยินว่าหลังนี้คือกุฏิของพระพระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์
//www.84000.org/one/1/18.html


สุทัตตะได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ ตลอดชีวิต โดยเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ที่คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขยตลอด 7 วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า "คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด" เพียงแค่นี้เศรษฐีร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา และตรัสให้หาที่อันเหมาะสมให้พระพุทธองค์ประทับ ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน

ได้ยินว่าหลังนี้คือกุฏิของพระสีวลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก
//www.84000.org/one/1/16.html


กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่เหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่า ให้เอาเหรียญกระษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

โอโฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์ จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกระษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน 18 โกฏิ (มากแค่ไหน ผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)

ได้ยินว่าหลังนี้คือกุฏิของพระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย
//www.84000.org/one/1/09.html


เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า ทำไมจึงใจถึงปานนี้ จะซื้อสวนนี้ไปทำอะไรหรือ เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทันทีที่ได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าเชตก็เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที บอกเศรษฐีว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก 18 โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ ใช้เวลาสร้างนานเท่าไร ตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า "วัดพระเชตวัน" เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์

สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหน เป็นคนเดียวกับ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" อ่านออกเสียงว่า "อะนาถะบินดิกะเสดถี" นะครับ อย่าออกเสียงว่า "อะหนาด..." เป็นอันขาด แปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลเอาความว่า "เศรษฐีใจบุญ" (benefactor, benevolent)

ได้ยินว่าหลังนี้คือพระคันธกุฏิของพระพุทธเจ้า


นอกนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ ที่พระเจ้าแผ่นดิน และอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น "เจดีย์" กราบไหว้ แทนพระพุทธองค์ ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า "อานันทโพธิ" (ต้นโพธิ์พระอานนท์)


วัดพระเชตวันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ "วัดบุพพาราม" ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

ได้ยินว่านี้คือบ่อน้ำที่พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ


คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า มีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันนี้ เพราะฉะนั้น วัดพระเชตวันจึงมิเพียงเป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสถานที่พระพุทธองค์ประทับยาวนาน และทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย จึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

ภาพประกอบได้รับอนุญาตจากคุณ scuba734 ข้อมูลเรียบเรียงมาจาก หนังสือตามรอยพระพุทธเจ้า หนังสือดีดีของแพรวสำนักพิมพ์ และคุณเสฐียรพงษ์ วรรณปกขออนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 11:34:38 น.
Counter : 564 Pageviews.  

1  2  

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.