Group Blog
 
All blogs
 
เราเป็นยอดเป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี



ลุมพินีเป็นตำบลหนึ่งของราชอาณาจักรเนปาล ข้ามชายแดนอินเดียเพื่อมายังเนปาลจะพบเมืองชายแดนเล็กๆแห่งหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสิทธัตถนคร ไม่ไกลจากที่นี่ก็เป็นที่ตั้งของสวนลุมพินีวัน ตามพุทธประวัตินั้นเป็นสวนหลวงที่สร้างขึ้นสำหรับชาวกบิลพัสดุ์และชาวเทวทหะเพื่อเป็นที่แวะพักผ่อนกลางทาง เพราะระยะทางระหว่างสองเมืองนั้นไกลเกินกว่าที่จะเดินทางถึงกันภายในวันเดียวได้ครับ

ภาพสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางสิริมหามายา พระธิดาของพระเจ้าอัญชนะกษัตริย์ กษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ แห่งกรุงเทวทหะ

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าสุทโทนะ (พระสวามี) ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเกิดของพระนาง เพื่อให้ประสูติในตระกูลของ พระมารดา ซึ่งเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น แต่ในขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน (ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหทะ) พระนางก็ได้ให้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

ปัจจุบันเมื่อมาถึงสวนลุมพินีวัน ก็จะเห็นวิหารมายาเทวีที่อยู่ตรงกลาง บริเวณโดยรอบนี้เป็นพุทธสถานเก่าแก่ทับซ้อนกันอยู่หลายยุค หลายสมัย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างกันต่อเนื่องมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18


จากบันทึกของพระถังซัมจั๋ง พระภิกษุจีนซึ่งเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านได้เขียนถึงลุมพินีวันที่มาเห็นในครั้งนั้นว่า ....ที่นั่นมีบ่อน้ำสำหรับสระสนานของชาวศากยวงศ์ น้ำในบ่อใสสะอาดดุจกระจก จากนี้ไปทางเหนือประมาณ 40-50 ก้าว มีต้นอโศกซึ่งปัจจุบันแห้งเหี่ยวไปแล้ว เป็นที่ประสูติของศากยมุนีโพธิสัตว์...

หากเรากะระยะจากแผ่นศิลาไปสระน้ำก็อยู่ในระยะทางที่ใกล้เคียงกันคือราว 35-40 เมตรครับ


ปี พศ. 2436 นายทหารอินเดียคนหนึ่งชื่อ จัสคาราน ซิงค์ เดินล่าสัตว์มาถึงเขตเนปาลและพบเสาพระเจ้าอโศกเข้าโดยบังเอิญ พระเจ้าอโศกเสด็จมาที่นี่เมื่อครองราชย์ได้ 20 ปี ทรงนำเสาหินหนัก 37 ตันมาที่สวนลุมพินี เสาหินทั้งหมดที่นำมาที่นี่ 3 ต้น รวมกันแล้วก็หนักถึง 120 ตัน สมัยนั้นไม่มีระบบขนส่ง ต้องลำเลียงมาทางบกหรือทางน้ำเท่านั้น น่าสนใจมากครับ


zoom...เสาพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี จารึกอักษรพราหมีระบุว่าพระพุทธเจ้าศากยมุนีประสูติที่นี่


ในขณะที่ให้ประสูติ พระมารดาเสด็จประทับยืน ไม่นั่งเหมือนสตรีอื่น เมื่อทรงประสูติแล้วพระกายของ พระโอรสบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อน ด้วยคราบใด ๆ จากนั้นจึงมีเทวดามาคอยรับพระกาย ของพระโอรส และมีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาจากอากาศสนาน (อาบ) พระองค์

ภาพแกะสลักหินทรายรูปพระประสูติกาล


และเมื่อประสูติแล้ว ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาทไปได้ 7 ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า

อาสภิวาจา

" ในโลกนี้ เราเป็นยอดเป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี"



หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่เพิ่งขุดพบเมื่อปี 2535 นี่เอง เป็นแผ่นศิลาประทับเครื่องหมายคล้ายรอยพระบาท นักโบราณคดีให้ความเห็นว่านี่ไม่ใช่รอยพระบาทของพระพุทธเจ้าจริงๆนะครับ มีการพิสูจน์ทางโบราณคดี พบว่าน่าจะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างไว้เมื่อ 200 ปี หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

ภาพแผ่นศิลาประทับเครื่องหมายคล้ายรอยพระบาท (Stone mark)

สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง


ภาพประกอบได้รับอนุญาตจากคุณ scuba734 ข้อมูลเรียบเรียงมาจาก หนังสือตามรอยพระพุทธเจ้า หนังสือดีดีของแพรวสำนักพิมพ์ และพระไตรปิฎก ขออนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ




Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 26 สิงหาคม 2551 8:01:50 น. 0 comments
Counter : 610 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.