Group Blog
 
All blogs
 

นกแต้วแล้วอกเขียว

นกแต้วแล้วอกเขียว Pitta Sordida (Hooded Pitta) ที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดย่อยCucullataซึ่งมีหน้าผาก กระหม่อม ท้ายทอยเป็นสีน้ำตาลแดง หน้าจนถึงคอเป็นสีดำ ปากหนาแข็งแรงสีดำ ลำตัวด้านบนและด้านล่างเป็นสีเขียวกลมกลืนกับสภาพป่าที่อาศัยอยู่ ขนคลุมท้องด้านล่างจนถึงโคนหางเป็นสีแดง ขนคลุมโคนหางด้านบนและตะโพกสีฟ้าสดใสเป็นมัน ขนหางสั้นมากจนดูกุดๆเหมือนไม่มีหาง ขาและนิ้วเท้ายาวแข็งแรง ความยาวกจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 20 เซ็นติเมตร ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







เนื่องจากนกแต้วแล้วเป็นนกที่พบได้เฉพาะในเขตร้อนของทวีปอาฟริกา ทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย ไม่มีการกระจายพันธุ์ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทำให้ในช่วงแรกเมื่อชาวตะวันตกเข้ามาพบนกแต้วแล้วซึ่งชอบกระโดดหากินตามพื้นดินเหมือนกับนกเดินดง เข้าใจว่านกแต้วแล้วเป็นนกเดินดงชนิดหนึ่ง สำหรับแต้วแล้วอกเขียวนี้ แม้แต่ผู้ที่วิเคราะห์นกชนิดนี้เป็นคนแรกคือ PLS Muller เมื่อปี2319ยังให้ชื่อชนิดว่าเป็น Turdus sordidus ซึ่ง Turdusเป็นชื่อสกุลของนกเดินดง เพิ่งเปลี่ยนเป็น Pitta ในปี 2359 ในสมัยแรกๆนกชนิดนี้ได้ชื่อสามัญว่า Green-Breasted Pitta จึงได้ชื่อสามัญภาษาไทยดังที่เป็นอยู่







ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม นกแต้วแล้วอกเขียวจะหากินอยู่ทางใต้ของไทย มลายู สุมาตรา ชวา พอถึงเดือนเมษายน นกแต้วแล้วที่หากินอยู่ในมลายู สุมาตรา ชวาจะอพยพย้ายถิ่นไปพร้อมกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปทำรังวางไข่ในไทย พม่า อินโดจีน ยูนนาน อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังคลาเทศ และแถบเชิงเขาหิมาลัยของอินเดีย เนปาล สิกขิม และภูฐาน ตั้งแต่ที่ราบต่ำถึง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ในไทยพบสูงสุดเพียง 750 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น (Bird-Home)







สำหรับประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายนจะเป็นช่วงที่นกชนิดนี้เดินทางมาทำรังวางไข่ เราจะพบพวกเค้าในป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าชั้นสองในภาคตะวันตก เช่น อช.แก่งกระจานจ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี อช.เขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาสอยดาว จ.จันทบุรี

ในช่วงต้นฤดูอพยพอย่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เราสามารถพบนกแต้วแล้วอกเขียวซึ่งกำลังเดินทางได้ที่บริเวณอ่าวไทย ทั้งป่าชายเลน ป่าชั้นสองในภาคกลางตอนล่าง และในปีนี้มีรายงานการพบที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม







สำหรับป่าดิบชื้น ป่าชั้นสอง สวนยางพารา ในภาคใต้นั้น สามารถพบได้ตลอดทั้งปีเพราะนกแต้วแล้วอกเขียวชอบอยู่ในป่าที่มีความชื้นสูง ใบไม้เขียวชอุ่ม มีใบไม้แห้งกองทับถมอยู่ด้านล่าง นกจะกระโดดหากินตามพื้น จิกกินไส้เดือน แมลง หนอน ไข่ ตัวอ่อนของแมลง ตะขาบ หอยทากอย่างเพลิดเพลิน ในแต่ละวัน นกแต้วแล้วอกเขียวจะจิกกินเหยื่อมากจนน้ำหนักอาหารพอๆกับน้ำหนักตัวของตัวเองทีเดียว สถานที่ที่พบได้ทั้งปีเช่น อช.เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ และ อช.ทะเลบัน จ.สตูล

นกชนิดนี้จับคู่ทำรังในราวเดือนพฤษภาคม ถึงเดือน กรกฎาคม เมื่อนกจับคู่จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ราว 1 สัปดาห์หลังจากนั้น นกก็จะสร้างรัง นกทั้งสองตัวจะช่วยกันหาวัสดุทำรังอย่างรวดเร็ว จนเสร็จในเวลาประมาณ 3 วัน วัสดุที่สร้างรังได้แก่ กิ่งไม้แห้ง ใบไม้แห้ง รากพืชเล็กๆ เส้นใยของพืช ใบไผ่ นำมาขัดสานกันหลวมๆ รองรังด้วยเส้นใยพืช รังของนกชนิดนี้จึงผุง่าย แต่ก็กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม สถานที่ทำรังอาจเป็นดงพืชรกๆ กอไผ่ บนตอไม้ กองใบไม้แห้ง ก้อนหินใหญ่ที่ขวางลำห้วย หรืออื่นๆ







แต้วแล้วอกเขียววางไข่ครั้งละ3-5ฟอง เปลือกไข่สีขาว มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำตาล อาจมีลายเส้นสีดำอมม่วง ขนาดของไข่ 23.0-28.0x19.6-22.5 มม. วางไข่วันละ 1 ฟอง เมื่อวางหมดทั้งพ่อและแม่นกจะผลัดกันกกไข่ทันที ใช้เวลา 15-16 วันลูกนกก็จะออกจากไข่พ่อแม่นกจะนำอาหารจำพวกไส้เดือนมาเลี้ยงลูกนกจนอายุราว 12 วัน ลูกนกก็จะโตพอจะออกจากรังได้ และหากินร่วมกับพ่อแม่ระยะหนึ่งจึงแยกตัวออกหากินเอง

ลูกนกที่ยังตัวไม่เต็มวัยมีคอ คางสีขาว หลัง ไหล่ะ ตะโพก ขนคลุมโคนหางบนสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หน้าอก ท้อง ขนคลุมโคนหางด้านล่างเป็นสีน้ำตาลจางๆปนสีเนื้อ ปีกสีคล้ำเกือบดำ ขนคลุมปีกมีแถบสีขาวขวางอยู่







นกชนิดนี้เป็นนกที่หวงอาณาเขตมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือไม่ ดังนั้น นอกฤดูผสมพันธุ์ เราจะพบนกแต้วแล้วอกเขียวหากินอยู่ตัวเดียว

ภาพนกแต้วแล้วอกเขียวถ่ายจากอช.แก่งกระจานเมื่อปีที่แล้ว และพุทธมณฑล จ.นครปฐม ต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นนกอพยพผ่านช่วงต้นฤดูกาล นกค่อนข้างเชื่องคนมาก สามารถเข้าใกล้ได้พอสมควร แต่ถ้ามีคนมากก็จะตื่นบินขึ้นไปหลบบนต้นไม้ได้ ดังนั้นถ้าใครยังต้องการไปดูตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าหานกด้วย จึงจะได้เจอสมใจ

ข้อมูลเกี่ยวกับนกทั้งหมด จาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2549 7:33:36 น.
Counter : 4130 Pageviews.  

นกศิวะหางสีตาล

นกศิวะหางสีตาล Minla strigula ( chestnut-tailed minla)เป็นนกกินแมลงที่มีสีสันสวยงาม มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ16-18.5 เซ็นติเมตร มีหัวสีน้ำตาลอมส้มซึ่งค่อยๆจางลงจนกลมกลืนกับสีของหลัง ไหล่ สะโพกซึ่งเป็นสีเขียวอ่อนแกมเทา คางสีเหลืองเข้ม ใต้คอสีขาวมีลายบั้งสีดำขวางอยู่หลายๆบั้ง ทำให้ดูเหมือนเป็นนกที่มีคอลายๆ ปากสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมส่วนล่างของลำตัวเป็นสีเหลืองออกเขียวอ่อนนิดๆ ขนปีกมีสีเป็นชุดเดียวกับขนหางคือสีน้ำตาลแกมแดง ดำ และ ขาว มีจุดเด่นซึ่งเป็นที่มาของชื่อคือขนหางคู่บนสุดมีสีน้ำตาลแกมแดง ปลายหางเป็นสีขาวอมเหลือง ขอบขนและขนหางคู่อื่นเป็นสีดำ ตัวผู้และตัวเมียหน้าตาคล้ายคลึงกัน







นกศิวะหางสีตาลเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยมากที่ดอยอินทนนท์ โดยชนิดย่อยที่พบในเมืองไทยคือชนิดย่อย M.s.castanicaudaซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศพม่าเมื่อปี2420 และพบในเมืองไทยที่ดอยอินทนนท์เมื่อปี2477 ในประเทศไทย นอกจากดอยอินทนนท์แล้วยังสามารถพบนกศิวะหางสีตาลได้ที่ดอยผ้าห่มปก เชิงยอดเขาโมโกจู จ.กำแพงเพชร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล







สำหรับการกระจายพันธุ์ในต่างประเทศ นกศิวะหางสีตาลอาศัยในป่าดิบเขา สูง1500-3700เมตร แถบเชิงเขาหิมาลัยด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน ภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต บังคลาเทศ พม่า มณฑลเสฉวนและยูนนานของจีน สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นนกประจำถิ่นพบได้ในประเทศพม่า ลาว ตะวันตกของอ่าวตังเกี๋ย ไทย เวียตนาม และคาบสมุทรมลายู

อาหารของนกศิวะหางสีตาลคือแมลงและหนอนที่พบตามกิ่งก้านและใบไม้ วิธีการกินหากเป็นเหยื่อขนาดเล็กจะจิกกินทันที แต่ถ้าเป็นเหยื่อที่มีขนาดใหญ่จะใช้เท้าเหยียบและค่อยๆจิกกินทีละนิดจนกว่าจะหมดตัว ในฤดูหนาวที่แห้งแล้งก็จะอาศัยกินผลไม้เล็กๆอย่างมันปู เมล็ดพืชและน้ำหวานจากดอกไม้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบพันปีซึ่งเกิดและเติบโตในบริเวณที่อาศัยอยู่ นกจะหากินตั้งแต่ระดับพื้นล่างไปจนถึงระดับกลางของต้นไม้ นกศิวะหางสีตาลจะออกหากินแต่เช้าตรู่ เมื่อหากินอิ่มจะเกาะพักผ่อนโดยเกาะเบียดชิดติดๆกันในพุ่มไม้ใบทึบ ไม่ชอบเกาะกิ่งโล่งๆ มักถูกพบเป็นฝูงตั้งแต่ 6-20 ตัว กระโดดหากินห่างๆกัน แต่จะตามกันไปเรื่อยๆจากพุ่มไม้หนึ่งไปอีกพุ่มไม้หนึ่ง ไม่ค่อยพบบินเท่าไหร่ จะบินเพียงทางระยะสั้นจากกิ่งสู่กิ่ง หรือบินข้ามถนน กินไปก็ส่งเสียงร้องไปเรื่อยๆ บางทีก็เข้าไปรวมฝูงหากินกับนกมุ่นรก นกกะรางหัวแดง ใน “คลื่นนก” หรือ bird wave








ในประเทศไทย นกศิวะหางสีตาลทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์นกในฝูงจะแยกย้ายกันไปอยู่เป็นคู่ แต่ยังอยู่บนต้นเดียวกันและเกาะไม่ห่างกันนัก ในการเกี้ยวพาราสีนกแต่ละคู่จะเบียดกันแนบชิดตลอดเวลาแต่จะหันหัวไปคนละข้างเสมอ นกจะก้มหัวลงและยืดคอออกไป ทำหัวบริเวณหัวและคอให้ฟู และร้องเพลงไพเราะออกมา โดยอาจร้องนานถึงหนึ่งนาทีหรือมากกว่าแล้วหยุดและร้องใหม่

นกศิวะหางสีตาลจะทำรังเป็นรูปถ้วยสูงจากพื้นดิน1-3เมตร ทำด้วยหญ้า ใบไผ่ มอส เปลือกต้นก่อที่นำมาขัดสานเป็นรูปถ้วยแล้วรัดภายนอกด้วยไลเคนส์ทำให้รังดูแข็งแรงและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม รองก้นรังด้วยขนสัตว์ รากไม้เล็กๆ ฝอยลม ใบสน วางไข่ครอกละ 2-4 ฟอง เปลือกไข่สีเขียวอมฟ้าหรือน้ำเงินเข้ม หรือน้ำเงินแกมเขียว ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันเลี้ยงลูกอ่อน







ภาพนกศิวะหางสีตาลถ่ายมาจากอช.ดอยอินททนนท์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548

ข้อมูลจาก:
//www.bird-home.com




 

Create Date : 10 มกราคม 2549    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2551 7:48:00 น.
Counter : 3983 Pageviews.  

นกเขนหัวขาวท้ายแดง

นกเขนหัวขาวท้ายแดง Chaimarrornis leucocephalus (white-capped water redstart / riverchat) เป็นนกในเหล่าเดียวกับนกกางเขนแต่สวยแปลกตาด้วยสีดำ ขาว และ แดงที่ตัดกันอย่างสวยงาม







มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 19 เซ็นติเมตร นกตัวผู้และตัวเมียมีรูปร่างและสีสันเหมือนกัน คือ บนหัวและท้ายทอยเป็นสีขาว ส่วนอื่นๆของหัว หน้าอก หลัง และ ปีก มีสีดำจึงช่วยให้สีขาวบนหัวและท้ายทอยดูเด่นชัดขึ้นมาก บริเวณท้อง สีข้าง ขนคลุมใต้โคนหาง รวมทั้งตะโพก และขนคลุมบนโคนหางเป็นสีแดงเจือน้ำตาลนิดๆ แต่ถ้านกยืนอยู่กลางแสงแดดจ้าจะเห็นเป็นสีแดงสดใส ขนหางก็เป็นสีแดงอมน้ำตาลแต่ดูแดงสว่างกว่าส่วนท้องเล็กน้อย ยกเว้นส่วนปลายของหาง ราว 1 ใน 3 ของหางเป็นสีดำสนิท เวลายืนนิ่งๆชอบกระดกหางขึ้นลงเหมือนนกกางเขนบ้าน หรือแผ่ขนหางออก







นกเขนหัวขาวท้ายแดงเป็นนกที่หากินที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1800 เมตร ขึ้นไปจนถึง 4900เมตร ชอบเกาะอยู่ตาม ก้อนหิน หรือโขดหินตามลำธารที่มีน้ำไหลแรง เป็นนกที่หวงถิ่น ถ้าพบหากินอยู่ที่ไหนก็มักจะอยู่ที่นั่น และจัดเป็นนกที่ค่อนข้างเชื่องคน กล่าวคือ ถ้ามีคนเข้ามาใกล้บริเวณที่เค้าหากินอยู่ ถ้าหากว่าไม่ได้รบกวนการหากินของเค้า ก็มักจะหากินไปเรื่อยๆได้โดยไม่ได้หนีไปไกล ในการหากิน นกเขนหัวขาวท้ายแดงหาอาหารซึ่งอาจลอยมาตามน้ำหรืออยู่ใต้น้ำตื้นๆ ตามโพรงหิน โพรงไม้ หรือตามพื้น หากเหยื่อบินอยู่ในอากาศใกล้ๆก็จะโฉบไปจิกแล้วกลับลงมากินที่พื้นอย่างรวดเร็ว อาหารได้แก่ แมลงเล็กๆ ไข่ ตัวอ่อนของแมลงซึ่งอาจเกาะอยู่ตามโขดหินหรือขอนไม้







นกเขนหัวขาวท้ายแดงทำรังวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม แหล่งทำรังวางไข่อยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูง 1,800 - 4,900 เมตร ในทาจิสถาน ( Tajikistan ) อาฟกานิสถานด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แคชเมียร์ ปากีสถานตอนเหนือ , อินเดียตอนเหนือ เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่าด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทิเบตตอนใต้ จีนตอนกลางและตอนใต้ ลาวตอนเหนือ และแคว้นตังเกี๋ยตอนเหนือ โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรังซึ่งเป็นรูปถ้วยก้นลึกซุกอยู่ในโพรงไม้ ตอไม้ เพิงหินทำด้วยมอส ใบไม้ ใบหญ้า วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ตัวเมียกกไข่ผู้เดียว และหากมีอาหารอุดมสมบูรณ์จะจับคู่ทำรังวางไข่มากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปี







สำหรับประเทศไทย นกชนิดนี้เป็นนกอพยพที่เข้ามาในช่วงฤดูหนาวนอกฤดูผสมพันธุ์ มักพบตามน้ำตก ลำธารที่มีน้ำไหลแรงบนดอยต่างๆเช่นน้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิบนดอยอินทนนท์ วนอุทยานน้ำตกขุนกรณ์ จ. เชียงราย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ. เลย เป็นต้น







นกเขนหัวขาวท้ายแดงตัวนี้พบหากินอยู่ในบริเวณเดียวกันกับนกเขนเทาหางแดง (plumbeous redstart)ตัวเมียที่บริเวณน้ำตกสิริภูมิ อช.ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3-5 ธันวาคม 2548



ข้อมูลจาก และอ่านเพิ่ม : //www.bird-home.com




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 16:15:24 น.
Counter : 5080 Pageviews.  

นกกินปลีหางยาวเขียว

นกกินปลีหางยาวเขียว Aethopyga nipalensis (green-tailed sunbird)เป็นนกกินน้ำหวานสีสวยที่ประจำอยู่ที่ดอยอินทนนท์ มักพบหม่ำน้ำหวานจากดอกโคมญี่ปุ่น ไม่ก็ดอกกุหลาบพันปีสีสวยในม่านหมอก







นกกินปลีหางยาวเขียวที่พบบนยอดดอยอินทนนท์ป็นชนิดย่อย angkanensis ที่พบภาคเหนือทางตะวันตกของไทย โดยพบมากบนดอย ที่ความสูง2000เมตรขึ้นไป ชนิดย่อยนี้ตัวผู้จะมีหน้าผาก หัว ท้ายทอย ส่วนบนสีเขียวเข้มเป็นมัน คาง ใต้คอสีเขียวเข้ม แต่บริเวณขนคลุมหูจะมีสีคล้ำออกดำ ด้านข้างของคอ หลังส่วนบน และ ส่วนกลาง สีแดงอมน้ำตาล ขนคลุมปีก ไหล่ และหลังส่วนล่าง สีเขียวแกมเทาหม่นๆ ปีกสีคล้ำๆ มีตะโพกสีเหลืองสด ขนคลุมบนโคนหางและส่วนของโคนขนหางคู่กลางซึ่งเป็นขนคู่บนสุดมีสีเขียวเข้มเป็นมันแบบสีของขนนกยูง ขนหางคู่กลางส่วนปลาย และ ขนหางคู่อื่นๆ เป็นน้ำเงินเข้มเกือบดำ หน้าอกตอนบนเป็นสีเหลืองเข้มแล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มที่หน้าอกตอนล่างและท้องตอนบน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มอีกครั้งที่ท้องตอนล่างและขนคลุมใต้โคนหาง แต่บริเวณสีข้างจะออกสีเขียวอ่อนเล็กน้อย ปาก ขา และ นิ้วเท้ามีสีคล้ำ








นกกินปลีหางยาวเขียวตัวเมียจะมีสีสันที่ไม่สวยสดใสเท่าตัวผู้ คือมีส่วนบนของลำตัวเป็นสีเขียวอ่อนปนเทา แต่ เหลือบสีบรอนซ์เล็กน้อย ส่วนล่างของลำตัวเป็นสีเขียวอ่อนออกเหลือง โดยเฉพาะบริเวณท้องและขนคลุมใต้โคนหางจะเหลืองกว่าส่วนอื่น ขนปีกและขนหางสีน้ำตาล แต่ปลายขนหางแต่ละเส้นมีแต้มสีขาวแกมเหลืองอ่อนๆเห็นได้ชัดเจน ปาก ขา และ นิ้วเท้า มีสีคล้ำเช่นเดียวกับนกตัวผู้








นกทั้ง 2 เพศมีขนาดจากปลายปากจรดปลายหาง 11 เซ็นติเมตร โดยนกตัวผู้จะมีหางยื่นยาวออกไปอีก 3 เซ็นติเมตร จากการที่มีสีสันสดใสดึงดูดสายตามมากกว่า นกตัวผู้จึงต้องว่องไวปราดเปรียวกว่านกตัวเมียซึ่งมีสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมากกว่า








นกกินปลีหางยาวเขียวเป็นนกประจำถิ่นของ ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ภาคใต้ และ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และ เขานอง เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยทางใต้จะพบอีกชนิดย่อยหนึ่ง คือชนิดย่อย australis ซึ่งจะมีหน้าอกสีเหลืองทั้งหมดและมีสีแดงเป็นขีดเล็กๆเท่านั้น







นกกินปลีหางยาวเขียวในภาพ ถ่ายมาจากข้างแทงค์น้ำที่ทำให้ขรุขระเลียนแบบธรรมชาติบริเวณยอดดอยอินทนนท์ บังเอิญว่าแทงค์น้ำรั่วหลายจุดและมีน้ำพุ่งกระฉูดออกมาเป็นเส้นเล็กๆ นกกินปลีหลายตัวเลยสลับกันมาเล่นน้ำตกเทียมเล็กๆนี้อย่างสนุกสนานเป็นเวลานานพอที่จะให้เก็บภาพมาได้

ข้อมูลจากและอ่านเพิ่มที่ : //www.bird-home.com




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 22:34:44 น.
Counter : 6796 Pageviews.  

นกเขนท้องแดง

นกเขนท้องแดง Phoenicurus auroreus (daurian redstart) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 15 เซ็นติเมตร เป็นอพยพที่เข้ามาหากินในประเทศไทยทางตะวันตกของภาคเหนือในช่วงฤดูหนาว







นกเขนท้องแดงตัวผู้และตัวเมียมีสีสันต่างกัน เท่าที่มีรายงานการพบจะเป็นตัวผู้เสียมากกว่า ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากสามารถจำแนกจากนกชนิดอื่นได้ง่าย คือมีกระหม่อมและท้ายทอยสีเทา หน้า ใต้คอ ปีกและ ขนคลุมไหล่สีดำ ปีกสีดำมีแต้มสีขาวที่กลางปีก ลำตัวด้านล่าง ตะโพกและขนคลุมโคนหางด้านบนสีส้ม ขนหางสีส้มแต่ขนหางคู่กลางเป็นสีดำ ทำให้มองดูเหมือนกับว่าหางด้านล่างเป็นสีส้มด้านบนเป็นสีดำ







นกตัวเมียลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาล มีกระหม่อมและขนคลุมปีกสีน้ำตาลเข้มกว่าลำตัวด้านล่าง ตะโพกและขนหางด้านบนสีส้มอมแดงคล้ายนกตัวผู้แต่ขนหางคู่กลาง สีน้ำตาลเข้ม วงรอบตาสีเนื้อ หรือน้ำตาลอ่อน มีแถบสีขาวที่กลางปีก เช่นเดียวกับนกตัวผู้ ขนคลุมโคนหางด้านล่างสีเหลืองอมส้มหรือน้ำตาลแดง

ดูภาพนกเขนท้องแดงตัวเมีย คลิกที่นี่







นกเขนท้องแดงเป็นนกที่ทำรังวางไข่ในตอนใต้ของภาคตะวันออกของเขตพาลีอาร์ติค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต ซึ่งเป็นที่สูง เกิน 2800 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป และนอกฤดูผสมพันธุ์จะออกเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ภูฐาน ทางใต้ของจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะอพยพไปทางพม่ามากกว่าและจำนวนน้อยมาประเทศไทยซึ่งจะพบได้ทางตะวันตกของภาคเหนือตามภูเขาสูง ตามสวนท้อ หรือสวนผลไม้เมืองหนาวบนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล600เมตรขึ้นไป โดยพบประมาณครั้งละ1-3ตัว แต่ส่วนใหญ่มักพบเพียงลำพัง นกเขนท้องแดงมักจะอยู่ที่เดิมจนหมดฤดูอพยพก็กลับไปสืบต่อเผ่าพันธุ์ต่อไป








อาหารของนกเขนท้องแดงคือแมลงและตัวหนอน โดยจะกระโดดจิกกินแมลงตามกิ่งและใบของไม้พุ่มเดี้ย และ บางครั้งก็ลงมาจิกกินตัวหนอนตามพื้นดินบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก

ภาพนกเขนท้องแดงถ่ายมาจากสวนท้อนายเล่ง ดอยอินทนนท์ ธันวาคม 2548







ข้อมูลและอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : //www.bird-home.com





 

Create Date : 14 ธันวาคม 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 22:30:36 น.
Counter : 3637 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.