Group Blog
 
All blogs
 

นกเค้าป่าสีน้ำตาล

นกเค้าป่าสีน้ำตาล Strix leptogrammica ( Brown Wood Owl ) เป็นนกเค้าหัวกลมๆอีกชนิดหนึ่ง มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 47-53 เซนติเมตร สีโดยรวมเป็นสีออกน้ำตาลๆ วงหน้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง สีอ่อนกว่าบริเวณหัวและหน้าผากซึ่งเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนสีเกือบขาวลากจากโคนปากด้านบนขึ้นไปทางหัวตาดูคล้ายคิ้ว นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้เป็นนกหากินกลางคืน กลางวันจะนอนหลับตามกิ่งไม้ที่มีใบรกทึบหรือในโพรงไม้ อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ แมลงที่หากินกลางคืนขนาดใหญ่ เช่น ผีเสื้อกลางคืน ด้วง กว่าง นกที่เกาะหลับตามกิ่งไม้ และสัตว์อื่นๆ นกจะจับกิ่งไม้สูงจ้องหาเหยื่อตามพื้นดิน เมื่อพบก็จะโฉบลงมาจับ แล้วนำไปกินบนกิ่งไม้ทั้งตัว ถ้าเหยื่อตัวใหญ่ก็จะใช้ปากฉีกกิน







เราจะพบนกเค้าป่าสีน้ำตาลอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่งไม้ค่อนข้างสูงในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขาตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 2590 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกชนิดนี้จะวางไข่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยจะอาศัยโพรงธรรมชาติหรือโพรงที่สัตว์อื่นขุดไว้ หรือซอกหินบริเวณที่ลาดชันเป็นรัง ไข่จะมีลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกไข่สีขาว ขนาด 51*46 มม. วางไข่ครอกละ1-2ฟอง เริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน







นกเค้าป่าสีน้ำตาลเป็นนกประจำถิ่นของทวีปเอเชีย โดยจะพบได้ในตอนเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เนปาล ภูฐาน บังคลาเทศ ศรีลังกา ทางใต้ของจีน พม่า ไทย มาเลเซียและหมู่เกาะซุนดาใหญ่ สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบไม่บ่อยนัก โดยจะพบทางภาคเหนือ ตะวันตก ภาคตะวันออกในบางพื้นที่และภาคใต้ แต่สถานที่ที่มีผู้พบบ่อยที่สุดคือบริเวณด่านสองของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ที่ถ่ายภาพนกในบล็อกนี้มาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก :

www.bird-home.com




 

Create Date : 30 ตุลาคม 2550    
Last Update : 30 ตุลาคม 2550 21:02:55 น.
Counter : 4226 Pageviews.  

นกจับแมลงอกสีฟ้า

นกจับแมลงอกสีฟ้า Cyornis hainana (Hainan Blue Flycatcher) เป็นนกจับแมลงขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 13.5-14 เซนติเมตร นกตัวผู้มีลำตัวด้านบน ใต้คอ และอกสีน้ำเงินเข้ม กลางท้องและสีข้างสีฟ้าอมเทา และค่อยๆจางลงจนเป็นสีขาวที่ขนคลุมโคนหางด้านล่าง มีแถบสีฟ้าสะท้อนแสงบริเวณโคนปากด้านบนลากไปข้างหลังสองแถบคล้ายคิ้ว และมีสีฟ้านี้อีกที่หัวปีกทั้งสองข้าง นกตัวเมียมีขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาล คอและอกสีน้ำตาลแดง วงเนื้อรอบตาเป็นสีเนื้อ นกตัวเมียที่มีอายุหลายปีจะมีแต้มสีฟ้าอมเทาที่บริเวณหลัง หาง และขนคลุมหางด้านบน







นกชนิดนี้มักถูกพบหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ อาจหากินร่วมกับนกจับแมลงชนิดอื่นๆ โดยบินโฉบจับอาหารกลางอากาศ บางครั้งลงมาจับแมลงที่พื้นดิน ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน นกจับแมลงอกสีฟ้าจะจับคู่ทำรังเป็นรูปถ้วยหยาบๆจากมอสสีเขียว รองรังด้วยไลเคนส์ หญ้า รากฝอยของพืช ทำเลของรังมักเป็นซอกหิน โพรงของตอไม้ตายหรือซอกหินริมลำห้วย วางไข่ครอกละ 4 ฟอง เปลือกไข่สีเขียวน้ำทะเลอ่อนมีลายทั่วฟอง ขนาด 15.5*20.2มม. นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรังฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน

นกจับแมลงอกสีฟ้าเป็นนกประจำถิ่นและย้ายถิ่นหากินตามแหล่งอาหารในประเทศ พบทางภาคใต้ประเทศจีน พม่า ไทย และอินโดจีน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1020 เมตรจากระดับน้ำทะเล







สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อยทางภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือในบางท้องที่ ภาคตะวันออก และเป็นนกอพยพตามแหล่งอาหารโดยพบเป็นระยะเวลาสั้นๆในช่วงต้นฤดูอพยพในเขตใกล้เคียงหรือชานเมืองกรุงเทพมหานคร ภาพในบล็อกถ่ายมาจากพุทธมณฑลเมื่อปลายเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา พบเพียง 2 วันแล้วก็จากไป


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2550    
Last Update : 22 ตุลาคม 2550 23:34:02 น.
Counter : 3985 Pageviews.  

นกจับแมลงคอขาวหน้าแดง

นกจับแมลงคอขาวหน้าแดง Ficedula solitaries ( Rufous-browed Flycatcher) เป็นนกจับแมลงตัวเล็ก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง 13 เซนติเมตร สีโดยรวมทั้งตัวเป็นสีน้ำตาล มีสีน้ำตาลอมแดงที่หน้าและคิ้ว ดวงตาสีดำกลมแป๋ว จุดเด่นอยู่ที่ใต้คอซึ่งเป็นแถบสามเหลี่ยมตั้งสีขาวสะอาด นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน นกชนิดนี้มีคู่คล้ายคือนกจับแมลงสร้อยคอขาว ซึ่งมีแถบสีขาวใต้คอเหมือนกัน แต่จับแมลงสร้อยคอขาวมีคิ้วสีขาว หน้าไม่เป็นสีน้ำตาลแดงและบริเวณขอบของแถบสีขาวมีเส้นสีดำเห็นได้ชัด







นกจับแมลงคอขาวหน้าแดงมักถูกพบหากินตัวเดียว โดยชอบอยู่ในที่ที่ชื้นแฉะมีน้ำไหลหรือซึมผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและวางไข่ของแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารของนก นกจะโฉบจับแมลงจากกิ่งใกล้พื้นดิน หรือลงไปกินบนพื้น โดยใช้วิธีโฉบจับ ไม่เดินจิกกิน

นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม โดยทำรังเป็นรูปทรงกลมด้วยวัสดุจำพวกหญ้าต้นยาว มอส รองรังด้วยหญ้าที่ฉีกเป็นเส้นเล็กๆ รังจะอยู่บนพื้นดินหรือตามซอกเล็กซอกน้อย บนผนังดินข้างทางเดินในป่า วางไข่ครอกละ2-3ฟอง ขนาดราว 14*19 มิลลิเมตร นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน







นกจับแมลงคอขาวเป็นนกประจำถิ่นของเกาะสุมาตรา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแถบแทนเนอซาลิมในพม่า ภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู ภาคใต้ด้านตะวันออกของลาว และภาคใต้ของอันนัม







ในประเทศไทย เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ในที่สูงระดับ 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป พบทางตะวันตกและภาคใต้ มักมีรายงานการพบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ที่ถ่ายภาพนกชุดนี้มานี่เอง



ข้อมูลจาก

//www.bird-home.com




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2550    
Last Update : 19 ตุลาคม 2550 20:17:03 น.
Counter : 4364 Pageviews.  

นกกะเต็นใหญ่ธรรมดา

นกกะเต็นใหญ่ธรรมดา Pelargopsis capensis / Halcyon capensis(Stork-billed Kingfisher) เป็นนกกะเต็นตัวใหญ่ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 35 เซนติเมตร หลังสีเขียว ปีกและหางสีฟ้า หัวสีเทา ปากใหญ่ตามแบบฉบับของนกกะเต็นมีสีแดงสดใสเช่นเดียวกับขาและเท้า คอและลำตัวด้านล่างมีสีน้ำตาลอมเหลือง นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน นกชนิดนี้มีทั้งหมด 15 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อยคือ H.c.burmanica ทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงรายลงไปถึงบริเวณคอคอดกระ และ H.c. malacensisตั้งแต่คอคอดกระลงไป







นกชนิดนี้มักเกาะหาเหยื่อนิ่งๆนานๆบนกิ่งไม้ใกล้น้ำ ตอไม้ สายไฟฟ้า เมื่อพบเหยื่ออันได้แก่ปลา กบ ปู สัตว์จำพวกหนู แมลงต่างๆและลูกนก ก็จะโฉบลงมาจับ และจะฟาดเหยื่อกับกิ่งไม้หรือบริเวณที่เกาะอยู่ให้ตาย แล้วจึงกินเข้าไปทั้งตัว นกชนิดนี้หวงถิ่นมาก กระทั่งนกล่าเหยื่อตัวใหญ่ๆอย่างเหยี่ยวก็ถูกนกกะเต็นชนิดนี้ขับไล่มาแล้ว







นกกะเต็นใหญ่ธรรมดาจะทำรังโดยการขุดรูบริเวณฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง เชิงเขา ต้นไม้ที่ผุพัง รังปลวก โดยใช้ปากกับเล็บขุดเป็นทางเข้าและเป็นโพรงข้างใน วางไข่ซึ่งมีมีลักษณะกลม สีขาว ขนาด 31.2x36.6 มม.ครั้งละ 2-5 ฟอง เมื่อวางไข่ครบทุกฟองแล้วก็จะเริ่มกกไข่ โดยนกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่เป็นเวลา 21-23 วัน ไข่ก็จะฟักเป็นตัว เมื่อฟักแล้วพ่อแม่นกก็จะช่วยกันหาอาหารมาป้อน 3-4 สัปดาห์ต่อมาลูกนกจะมีขนขึ้นเต็มตัว หัดบิน และทิ้งรังไป ช่วงเวลาของการทำรังวางไข่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคที่พบ







นกชนิดนี้อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ทุ่งโล่ง แหล่งน้ำ ป่าชายเลน ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามแหล่งน้ำจืด เกาะเล็กเกาะน้อยของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และบอร์เนียว แม้จะมีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างขวางแต่ก็ไม่หนาแน่น โดยจะพบได้บ่อยในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ภาคตะวันตกของประเทศไทย หาดโคลนในชวา ป่าโกงกางในฟิลิปปินส์เป็นต้น

นกที่ถ่ายภาพมานี้กำลังเลี้ยงลูกโดยขุดโพรงทำรังที่รังปลวกขนาดใหญ่ในบริเวณบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง ทั้งพ่อนกและแม่นกช่วยกันไปหาปลากระดี่มาเลี้ยงลูกอย่างขยันขันแข็ง ลูกนกน่าจะแข็งแรงดีเพราะมีแรงถ่ายมูลสีขาวๆพุ่งออกมานอกรังได้เป็นระยะทางถึงเกือบเมตรทีเดียว






ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/
//www.bird-home.com







 

Create Date : 15 สิงหาคม 2550    
Last Update : 15 สิงหาคม 2550 20:44:18 น.
Counter : 3090 Pageviews.  

นกกะรางหัวหงอก

นกกะรางหัวหงอก Garrulax leucolophus ( White-crested Laughingthrush )เป็นนกทีเห็นเพียงครั้งเดียวก็จำได้ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 30 เซนติเมตร มีขนบนหัวสีขาวฟู คล้ายผมหงอก คอและท้องตอนบนเป็นสีขาว มีปากสีดำและมีแถบสีดำลากจากโคนปากพาดผ่านตาถึงข้างแก้ม ท้ายทอยสีเทา หลัง ไหล่ ตะโพกสีแดงอมน้ำตาล ขนหางสีน้ำตาลคล้ำๆ ลำตัวด้านล่างเลยจากท้องตอนบนเป็นสีน้ำตาลแดงอ่อนๆ นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้ชอบอยู่เป็นฝูง อาจเป็นฝูงเล็กหรือฝูงใหญ่โดยอาจเป็นฝูงของครอบครัวเดียวกัน กระโดดหากินไปเรื่อยๆตามพื้นดินหรือบนต้นไม้พร้อมกับร้องหนวกหูแทบจะตลอดเวลา อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ผลไม้เช่น มะเม่าเขา หว้า ไทร และแมลงจำพวกตั๊กแตน จักจั่น หนอน เป็นต้น







นกกะรางหัวหงอกทำรังวางไข่ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยจะเลือกทำรังบนต้นไม้ขนาดเล็กที่มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มเพราะมักทำรังในพุ่มนั้นเอง หรืออาจทำรังในกอไผ่ รังเป็นรูปถ้วยติดบนกิ่งหรือง่ามไม้ โดยใช้วัสดุที่มีในพื้นที่ และมักอยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 6 เมตร วางไข่ครอกละ2-5ฟอง เปลือกไข่สีขาวล้วนขนาดราว28x23มม. ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากเริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ลูกนกจึงมีขนาดไม่เท่ากัน เมื่อออกจากไข่แล้วนกทั้งฝูงซึ่งบางตัวอาจเป็นลูกที่เกิดเมื่อปีก่อนและยังไม่ได้จับคู่จะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกนก โดยอาหารของลูกนกมีทั้งหนอน แมลง และอาหารที่ย่อยแล้วที่พ่อแม่นกสำรอกออกมาให้ เมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้รัง นกทั้งฝูงจะช่วยกันส่งเสียงร้องขับไล่ ถ้ายังเข้ามาอีกก็จะรุมจิกตีทันที เมื่ออายุประมาณ11-12วันลูกนกก็ออกจากรังตามพ่อแม่ไปหากินได้แล้ว แต่ก็ยังรับอาหารที่นำมาป้อนอยู่ด้วย







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียตอนใต้ตั้งแต่ตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัยจนถึงจีนด้านตะวันออก และ ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูง 2400 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่โดยมากจะอยู่ที่ระดับ600-1200เมตร ทางใต้ในเมียนมาร์ ไทยและอินโดจีนแต่ไม่พบในคาบสมุทรมลายู มาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยในป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าไผ่ จากที่ราบจนถึงความสูง 1600 เมตรจากระดับน้ำทะเลในภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่







นกกะรางหัวหงอกในภาพนี้ ถ่ายมาจากเขตห้ามล่าฯบางพระ จังหวัดชลบุรีช่วงเดือนพฤษภาคม 2550นี้เอง ลูกนกโตจนหน้าตาเหมือนพ่อแม่แล้วออกมาจากรังได้ไม่นาน ยังอ้อนขออาหารจากผู้ใหญ่ในฝูงอยู่


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com

หนังสือ คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล โดย คณะบุคคล นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล






 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 17:43:20 น.
Counter : 13442 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.