Group Blog
 
All blogs
 

นกเดินดงลายเสือ

นกเดินดงลายเสือ Zoothera dauma (Scaly Thrush) เป็นนกเดินดงที่มีลายพร้อยไปทั้งตัวสมชื่อดูสวยแปลกตา







นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 28 เซนติเมตร ขนคลุมลำตัวด้านบนมองดูคล้ายเกล็ดสีเขียวอมทองมีขอบเกล็ดสีดำ ขณะที่ลำตัวด้านล่างคล้ายเป็นเกล็ดสีขาวขอบเกล็ดรูปพระจันทร์เสี้ยวสีดำ หางสีน้ำตาล นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน แต่นกตัวเมียจะมีปากสีเหลืองอมน้ำตาลเข้มกว่าตัวผู้







นกเดินดงเป็นนกที่มักพบหากินแมลงหรือหนอนตามพื้นดิน หรืออาจพบหากินผลไม้สุกเล็กๆบนยอดไม้ หรือกินน้ำหวาน นกเดินดงลายเสือก็เช่นกัน เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ที่มีต้นไม้ใหญ่ พื้นป่ามีความชื้นสูง มีมอสและเฟิร์นขึ้น สำหรับชนิดที่เป็นนกอพยพในช่วงอพยพอาจพบตามสวนสาธารณะใกล้เมือง แต่ชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นจะพบในป่าอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่เชิงเขาจนถึงความสูง 2565 เมตรจากระดับน้ำทะเล

เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงฤดูทำรังวางไข่ของนกเดินดงลายเสือ นกจะทำรังด้วยมอส รากฝอย ใบไม้ใบหญ้า รองรังด้วยวัสดุนุ่ม รังเป็นรูปถ้วยอยู่ตามง่ามของไม้พุ่ม หรือต้นไม้ขนาดกลางสูงจากพื้นดินราว1-6เมตร บางรังอยู่ตามซอกโพรงหิน ริมผนังดิน ข้างทางเดินในป่าหรือซอกของรากไม้ใหญ่ วางไข่ครั้งละ3-4ฟอง นกตัวเมียเป็นฝ่ายทำรังและฟักไข่ นกทั้งสองเพศช่วยกันเลี้ยงลูก







นกเดินดงลายเสือทั่วโลกมีทั้งหมด 16 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 4 ชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยก็แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดย่อยของนกชนิดนี้สามารถอ่านได้ที่ //www.bird-home.com

นกเดินดงลายเสือที่นำมาประกอบในบล็อกนี้ถ่ายมาจากดอยอ่างขาง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 28 มีนาคม 2550    
Last Update : 28 มีนาคม 2550 21:19:50 น.
Counter : 3784 Pageviews.  

นกเดินดงอกเทา

นกเดินดงอกเทา Turdus Feae (Grey-sided Thrush) เป็นนกที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของทวีปเอเชีย เนื่องจากมีประชากรน้อยและลดลงเรื่อยๆเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งในพื้นที่ที่ทำรังวางไข่และพื้นที่ที่อพยพไปในฤดูหนาว







นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 22-23.5 เซนติเมตร มีขนคลุมลำตัวด้านบน ปีก และหางสีเขียวอมน้ำตาล มีขีดสีขาวคล้ายคิ้วลากจากโคนปากบนไปเหนือตาและลงมาถึงบริเวณขนคลุมหู มีเส้นสีขาวลากลงมาใต้ตาและมีแต้มสีดำลากจากโคนปากพาดนัยน์ตา ขนคลุมตัวด้านล่างสีเทา ขาและเท้าสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียและตัวผู้สีสันแตกต่างกันเล็กน้อย เช่นนกตัวเมียมีขีดสีขาวประปรายบริเวณขนคลุมหูและด้านข้างของคาง







นกเดินดงอกเทาหากินในป่าดิบชื้นบนพื้นที่สูง ในฤดูร้อนพบที่ระดับความสูง 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในฤดูหนาวจะลงมาที่ระดับ1000-1100 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยอพยพไปในหลายที่ที่มีสภาพป่าแบบเดียวกัน อาหารคือแมงมุม ผลไม้ป่าสุกลูกเล็กๆและน้ำหวานจากดอกไม้ป่าบางชนิด

เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้จะอพยพกลับไปยังแหล่งสืบพันธุ์ก่อนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมเพื่อสร้างเขตแดน เมื่อตัวเมียกลับไปนกตัวผู้จะแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีอยู่ระยะหนึ่งจากนั้นก็จะช่วยกันทำรังรูปถ้วย ทำจากต้นหญ้าแห้ง รากและเยื่อไม้ยึดติดกับกิ่งไม้ด้วยโคลนที่นำมาจากลำธาร ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันกกไข่ราว14วัน เมื่อลูกนกออกจากไข่แล้วจะอยู่ในรังต่ออีกราว 12-14 วัน







นกชนิดนี้มีแหล่งทำรังวางไข่ที่สำคัญอยู่ที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน เมื่อเข้าฤดูหนาวก็จะอพยพไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ภาคกลางของลาว และเมียนม่าร์

สำหรับประเทศไทยเป็นนกที่หาพบได้ไม่บ่อย มักพบหากินร่วมกับนกเดินดงสีคล้ำตามดอยต่างๆ และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ภาพนกที่ถ่ายมากนี้ นกหากินร่วมกับนกเดินดงอีก 3 ชนิดที่ดอยอ่างขางเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา





ข้อมูลจาก :

//birdbase.hokkaido-ies.go.jp/rdb/rdb_en/turdfeae.pdf

//www.bird-home.com




 

Create Date : 22 มีนาคม 2550    
Last Update : 22 มีนาคม 2550 13:00:05 น.
Counter : 3340 Pageviews.  

นกเดินดงอกดำ

นกเดินดงอกดำ Turdus dissimilis (Black-breasted Thrush) เป็นนกเดินดงหนึ่งในหลายชนิดที่พบบนดอยอ่างขางในช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา

นกเดินดงอกดำมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 22-23.5 เซนติเมตร นกตัวผู้สวมหมวกเพชฌฆาตสีดำจนถึงท้ายทอยและอกตอนบน วงรอบตาสีเหลืองสด ปากสีเหลือง ขนคลุมลำตัวด้านบน ปีก ขนคลุมตะโพกและขนคลุมโคนหางเป็นสีเทา ขนคลุมสีข้างและท้องเป็นสีส้ม







นกตัวเมียมีขนคลุมลำตัวด้านบนและหัวสีน้ำตาล มีลายขีดสีค่อนข้างดำเรียงลงมาด้านข้างคอและใต้คอจนถึงอกตอนบน ขนคลุมท้องและสีข้างสีส้มเหมือนกัน







นกชนิดนี้มีแหล่งทำรังวางไข่ที่ภาคเหนือด้านตะวันออกของอินเดีย ในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฏาคม นกเดินดงอกดำที่จับคู่แล้วจะทำรังเป็นรูปถ้วยอย่างประณีตด้วยมอสที่ยังเขียวอยู่ หญ้าแห้ง ราก และใบไม้แห้ง เชื่อมวัสดุทำรังให้ติดกันด้วยโคลน หญ้าเส้นยาวเล็กๆและรากของพืชบางชนิดตามง่ามไม้ภายในพุ่มใบทึบสูงจากพื้นราว1-6เมตร บางครั้งก็พบทำรังบนพื้นดินที่มีพืชคลุมดินแน่นทึบ วางไข่ครอกละ3-4ฟอง เปลือกไข่สีขาวอมเหลืองอ่อนหรือฟ้าอ่อน หรือเขียวอ่อน มีจุดประสีออกแดงหรือม่วงอมน้ำตาล







นกเดินดงอกดำหากินในป่าเมฆ และป่าดิบชื้นบนภูสูง ชอบหลบซ่อนตัวในดงไม้ พุ่มไม้พื้นล่าง พลิกใบไม้ที่ร่วงอยู่บนพื้นเพื่อหาแมลงกิน หรืออาจพบหากินบนเรือนยอดของต้นไม้สูงที่มีผลไม้สุก อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ แมลง ทาก หอยทาก ผลไม้ป่าสุกลูกเล็กๆ จิกกินทั้งจากบนต้นและที่ร่วง เมื่ออพยพไปหากินที่อื่นนอกฤดูผสมพันธุ์จะพบในป่าที่ต้นไม้มีมอสปกคลุมลำต้น อาจพบในสวนผลไม้เมืองหนาวบนพื้นที่สูง แหล่งที่นกอพยพไปมักมีสภาพใกล้เคียงกับที่ที่ทำรังวางไข่แต่ละติจูดต่ำกว่าและความสูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า







นกชนิดนี้จะอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว โดยมีรายงานการพบในหลายที่เช่นทางตอนใต้ของจีน ภาคตะวันออกและตะวันตกเฉียงใต้ของบังคลาเทศ เวียตนาม สำหรับประเทศไทยเป็นนกอพยพที่พบได้ทุกปีที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตกที่ดอยอินทนนท์และดอยอ่างขาง

ภาพนกเดินดงอกดำชุดนี้ถ่ายมาจากดอยอ่างขางเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากินร่วมกับนกเดินดงอีกหลายชนิดได้แก่ นกเดินดงลายเสือ นกเดินดงอกเทา และนกเดินดงสีคล้ำ






ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 21 มีนาคม 2550    
Last Update : 21 มีนาคม 2550 20:51:32 น.
Counter : 2930 Pageviews.  

“นกกระติ๊ดเขียว”กับ “ดอกไผ่บาน”

นกกระติ๊ดเขียว หรือนกไผ่ Erythrura prasina (Pin-tailed Parrotfinch) เป็นนกตัวเล็กสีสวยที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องชอบใจในรูปร่างเล็กน่ารักและสีสันสดใส ที่สำคัญ ไม่ใช่นกที่หาพบได้ง่ายๆ

คำว่ากระติ๊ดเขียวบอกเราว่านกชนิดนี้เป็นญาติกับนกกระติ๊ดอื่นๆที่เรารู้จัก และเป็นนกที่มีสีสันบนตัวส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ขณะที่ชื่อ นกไผ่ บอกว่า เรามักพบนกชนิดนี้ที่ต้นไผ่ โดยเฉพาะในวันที่ “ดอกไผ่บาน”







ต้นไผ่เป็นต้นหญ้าที่อายุยืนที่สุด มีขนาดใหญ่โตที่สุด มีการขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อทุกๆปี และการแตกหน่อแตกกอนี่เองที่ทำให้ต้นไผ่มีสภาพกลายเป็นกอไผ่ ต้นไผ่ยืนต้นทั่วโลกมีประมาณ 77 สกุล 1030 ชนิด พบในประเทศไทยราว 15 สกุล 82 ชนิด นอกจากการแตกหน่อแล้ว ไผ่ทุกชนิดยังคงมีการขยายพันธุ์แบบเดียวกับหญ้าอื่นๆคือ ออกดอก ผลิตเมล็ด และต้นแม่ก็ตายไป เมื่อเมล็ดไผ่ร่วงลงดินก็จะเติบโตเป็นต้นไผ่ต่อไป ซึ่งอายุขัยของไผ่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด บางชนิดใช้เวลา30-50ปีจึงจะออกดอก ขณะที่บางชนิดก็ใช้เวลาเป็นร้อยปี

(ข้อมูลจาก //www.dnp.go.th)



นกกระติ๊ดเขียว เป็นนกกระติ๊ดที่มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียงราว 13 เซนติเมตร นกตัวผู้ขนคลุมลำตัวด้านบนเป็นสีเขียว หน้าและคอสีน้ำเงิน ท้องสีน้ำตาลอมเหลือง ท้อง ตะโพก หาง สีแดงสด ขนหางคู่กลางยาวยื่นออกมาราว2.5-3เซ็นติเมตร นกตัวเมียสีอ่อนกว่าตัวผู้ ขนหางคู่กลางไม่ยาวยื่นออกมา







แม้อาหารที่โปรดปรานจะเป็นเมล็ดไผ่ ขุยไผ่ แต่นกชนิดนี้ก็กินเมล็ดพืชแก่อื่นๆเช่นข้าว เมล็ดธัญพืช แมลง และตัวหนอนด้วย โดยอาจพบหากินบนต้นหรือลงหากินบนพื้นดิน นกจะหากินและรวมกลุ่มเป็นฝูงอาจถึงร้อยตัว ในเวลานอน นกก็จะไปหาที่นอนรวมกันในพุ่มไม้เตี้ยที่มองดูรกทึบจากภายนอก ไกลจากแหล่งอาหารพอสมควร และมักไม่นอนซ้ำที่เดิม

นกไผ่ทำรังวางไข่ในช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน ทำรังตามกอไผ่ หรือต้นไม้ขนาดเล็กเป็นทรงกลมมีรูทางออกด้านข้าง วัสดุอาจเป็นใบไผ่ ใบหญ้ามาสานกัน วางไข่ครั้งละ4-6ฟอง





เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ทั่วประเทศตามชายป่า ป่าชั้นรอง ป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง1500เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ไม่ได้พบบ่อยมากนัก และเมื่อพบที่ไหนแล้วก็มักไม่ได้เจอในที่เดิมอีกนาน ทั้งนี้เป็นเพราะนกจะย้ายที่หากินไปเรื่อยๆตามแหล่งอาหาร ที่สำคัญนักดูนกมักพบนกชนิดนี้เมื่อมากินดอกไผ่-เมล็ดไผ่ และเมื่อไผ่ออกเมล็ดและตายไปแล้วก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหลายสิบปีกว่าจะโตจนแก่และผลิตเมล็ดได้อีก

นอกจากประเทศไทยแล้ว นกกระติ๊ดเขียวยังเป็นนกประจำถิ่นของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่นๆอีกด้วย





เจ้าของบล็อกเคยพบนกไผ่มากินเมล็ดไผ่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเมล็ดไผ่ที่นั่นมีลักษณะเป็นฝักเล็กๆปลายแหลม มองดูคล้ายเมล็ดพันธุ์ดอกดาวกระจาย เมื่อลองหักออกจะมีลักษณะเป็นน้ำนม หรือเป็นแป้งๆ ขณะที่ในภาพที่เห็นนี้ นกกระติ๊ดเขียวมากินเมล็ดของต้นไผ่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีลักษณะเป็นดอกๆขุยๆ ตั้งแต่ราวปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนตอนนี้(5 กุมภาพันธ์2550) ก็ยังคงกินอยู่อย่างต่อเนื่อง สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสเห็นนกตัวเล็กสีสวยที่หาดูไม่ได้ง่ายๆนี้อย่างมากทีเดียว








ข้อมูลจาก ://www.bird-home.com




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 21 มีนาคม 2550 19:19:09 น.
Counter : 5948 Pageviews.  

นกแขกเต้า

นกแขกเต้า Psittacula alexandri (Red-beasted Parakeet) อยู่ในวงศ์นกแก้ว ซึ่งมีหัวโต ปากงุ้ม พบในประเทศไทยจำนวน 7 ชนิด 4 ชนิดมีหางยาว คือ นกแก้วโม่ง( Alexandrine Parakeet ) นกแก้วหัวแพร ( Blossom-headed Parakeet ) นกกะลิง (Grey-headed Parakeet ) และนกแขกเต้า (Red-breasted Parakeet) และอีก 3 ชนิดไม่มีหางยาวยื่นออกมา ชอบเกาะห้อยหัวลงจึงเรียกว่านกหก ได้แก่นกหกใหญ่ ( Blue-rumped Parrot ) นกหกเล็กปากแดง ( Vernal Hanging Parrot ) และนกหกเล็กปากดำ (Blue-crowned Hanging Parrot)

(สังเกตว่านกที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่าparakeet จะเป็นนกแก้ว ส่วนนกที่เรียกว่าparrot ที่เราแปลว่านกแก้ว กลายเป็นชื่อนกหก หมดเลย)







นกแขกเต้ามีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 36 เซนติเมตร มีหัวโต คอสั้น ปากงองุ้ม ปีกยาวและแคบ หางยาว ขนหางคู่กลางยาวมากและเรียวแหลมสีเขียวอมฟ้า ขาสั้นแต่ใหญ่แข็งแรง หัวสีม่วงแกมเทา ที่หน้าผากมีเส้นสีดำลากไปจรดหัวตาทั้งสองข้าง มีแถบสีดำลากจากโคนปากลงไปสองข้างคอคล้ายเครา อกสีออกแดง ขนคลุมลำตัวส่วนที่เหลือเป็นสีเขียว นก 2 เพศแตกต่างกันตรงที่นกตัวผู้มีปากบนสีแดง อกมีสีแกมม่วง นกตัวเมียมีปากสีดำ อกมีสีชมพูอมส้ม






เช่นเดียวกับนกแก้วชนิดอื่น นกแขกเต้าทำรังในโพรงไม้ โดยเมื่อถึงฤดูหนาว นกที่จับคู่แล้วจะแยกตัวออกมาหาที่ทำรังตามโพรงไม้ธรรมชาติ หรือตามโพรงรังของสัตว์อื่น หรือโพรงรังเก่าที่เคยใช้ ทั้งสองจะช่วยกันทำความสะอาดโพรงรังจนเกลี้ยง ไม่มีการนำวัสดุมารองรัง เมื่อเรียบร้อยแล้ว นกจะวางไข่ราว3-4ฟอง เปลือกไข่ค่อนข้างกลม สีขาว ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ใช้เวลาราว 17-19 วันลูกนกก็ออกจากไข่ พ่อแม่นกจะขยอกอาหารออกมาจากกระเพาะพัก ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยแล้วบางส่วน แล้วป้อนลูกนก 3-4 สัปดาห์ต่อมาลูกนกก็จะออกจากรังโดยมีพ่อแม่ตามป้อนอีกระยะหนึ่ง ลูกนกจะอยู่รวมฝูงกับพ่อแม่ หรือรวมอยู่ในฝูงอื่น







นอกฤดูผสมพันธุ์ นกชนิดนี้จะอยู่รวมเป็นฝูง อาจเป็นหลายครอบครัวอยู่รวมกัน หากินบนต้นไม้ ห้อยตัว ใช้ปากช่วยเกาะเกี่ยว ส่งเสียงร้องสั้นๆไม่น่าฟังทั้งขณะบินและพักผ่อน นกชนิดนี้อาศัยตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง สวนผลไม้ ส่วนใหญ่มักพบในระดับพื้นราบ แต่ก็สามารถพบได้จนถึงระดับความสูง 1200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ผลไม้สุก เมล็ดธัญพืช มีวิธีกินโดยบินกระพือปีกอยู่กับที่แล้วใช้ปากเด็ดข้าว หรือเมล็ดหญ้าทั้งรวงแล้วนำไปกินบนต้นไม้ ในการกินผลไม้จะใช้เท้าปลิดแล้วใช้เท้าจับไว้ก้มลงจิกกิน

เราจะพบนกชนิดนี้ในประเทศไทยได้แทบทุกภาค เว้นภาคใต้ โดยสามารถพบได้ทั้งตามป่าเขาและแหล่งชุมชนที่มีต้นไม้สูงใหญ่ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นต้น สำหรับนกแขกเต้าคู่นี้ ปรกติอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่อยู่ที่วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่มีโพรงสำหรับทำรังอยู่หลายรัง โดยเฉพาะโพรงรังที่นกทั้ง2ตัวใช้อยู่นี้เป็นโพรงที่นกชนิดนี้ใช้ทำรังมาแล้วหลายปี


ข้อมูลจาก:

//www.bird-home.com

เครือข่ายพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน




 

Create Date : 09 มกราคม 2550    
Last Update : 9 มกราคม 2550 21:27:36 น.
Counter : 9887 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.