Group Blog
 
All blogs
 

นกระวังไพรปากเหลือง

นกระวังไพรปากเหลือง Pomatorhinus schisticeps (White-browed Scimitar-Babbler)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 21-23 เซ็นติเมตร ปากโค้งค่อนข้างยาวสีเหลือง คิ้วขาว มีแถบคาดตาสีดำ ใต้คอ อก และท้องสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว ลำตัวด้านข้างสีน้ำตาลแกมเหลืองหรือสีส้มอมแดง นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน ทั่วโลกมี 13 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 6 ชนิดย่อย ซึ่งจะมีสีสันแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย และกระจายพันธุ์แยกท้องที่กันออกไป

นกชนิดนี้มักอยู่เป็นฝูงประมาณ 4-10ตัว อาจอยู่รวมกับนกกะราง หากินด้วยการบินและกระโดดไปตามพื้นดินและกิ่งไม้พุ่มเตี้ย ไม้พื้นล่างและต้นไม้สูง เสียงร้องดังสลับกันไปมา ทั้งเพื่อประกาศอาณาเขต เรียกร้องความสนใจจากนกตัวเมียและร้องเตือนภัยแก่สัตว์ชนิดอื่นๆ ในช่วงฤดูผสมพันธุ์มักพบอยู่เป็นคู่ อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ หนอน แมลง และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นตามพื้น







ช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมเป็นช่วงจับคู่ทำรังวางไข่ของนกระวังไพรปากเหลือง รังทำจากใบไผ่ ใบหญ้าต้นยาว รองรังด้วยรากฝอยของไผ่หรือใบหญ้าฉีกละเอียด รังเป็นทรงกลมสานแบบหลวมๆค่อนข้างรกมีทางเข้าออกด้านข้าง มักอยู่ตามโพรงระหว่างรากไม้ใหญ่ใกล้พื้นดิน กอไผ่ กอหญ้า ในเถาวัลย์ที่ปกคลุมต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น สูงจากพื้นดินไม่เกิน 1 เมตร วางไข่คราวละ 3-4ฟอง เปลือกไช่สีขาวไม่มีลาย ขนาด19.2*26.6มม. พ่อแม่นกช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน

เรามักพบนกชนิดนี้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าชั้นรอง ป่าไผ่ ทุ่งหญ้า บริเวณที่มีไม้พุ่มเตี้ยขึ้นอย่างหนาแน่น ตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงที่สูง 2135เมตรจากระดับน้ำทะเล นกระวังไพรปากเหลืองเป็นนกประจำถิ่นของภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้แทบทุกภาค







ภาพนกในบล็อกนี้ถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นกมาหากินและเล่นน้ำบริเวณหลังร้านอาหารบนพะเนินทุ่ง


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 7 กรกฎาคม 2551 20:34:33 น.
Counter : 5247 Pageviews.  

นกกะเต็นลาย

นกกะเต็นลาย Lacedo pulchella (Banded Kingfisher)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 20 เซ็นติเมตร นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ นกตัวผู้มีขนคลุมหน้าและหน้าผากสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมหัวและท้ายทอยเป็นน้ำเงินหรือสีฟ้าสดใสมีลายเล็กน้อย มีขนคลุมหลังและหางเป็นลายสลับสีระหว่างสีฟ้าสลับดำและสีขาวสลับดำ ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนปนส้มและเป็นสีขาวบริเวณท้อง ส่วนนกตัวเมียขนคลุมลำตัวด้านบนรวมไปถึงหัวเป็นลายสลับสีน้ำตาลและดำ ขนคลุมลำตัวด้านล่างด้านข้างคอและข้างลำตัวเป็นลายๆสีดำ ส่วนที่เหลือเป็นสีขาว นกทั้งสองเพศมีปากสีแดง







นกกะเต็นลายเป็นนกกะเต็นป่าที่มีแหล่งอาศัยอยู่ไกลแหล่งน้ำกว่านกกะเต็นอื่นๆ กินอาหารจำพวก แมลง ตั๊กแตน ด้วง จักจั่น จิ้งหรีด ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆจำพวกกิ้งก่า กิ้งก่าบิน งู เป็นต้น ชอบหากินตามลำพังหรือเป็นคู่ โดยนกมักเกาะนิ่งๆตามใต้พุ่มไม้หรือที่ร่มครึ้มในป่าที่ชุ่มชื้น และกระดกขนบนหัวและหน้าผากขึ้นๆลงๆแทบจะตลอดเวลา เมื่อพบเหยื่อก็จะโฉบลงมาจับและขึ้นไปเกาะกิ่งเดิมหรือกิ่งใกล้เคียง







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางโดยเป็นนกประจำถิ่นของสุมาตรา ชวาและบอร์เนียว เป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อยทางภาคใต้และตะวันออกของพม่า เขตเทนเนอซาลิม ทุกภาคของไทยยกเว้นภาคกลาง เขมร ลาว ภาคกลางและภาคใต้ของแคว้นอันนัมในเวียตนาม โคชินไชน่า และคาบสมุทรมลายา ฤดูทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ สำหรับประเทศไทย นกจะทำรังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม สุมาตราเดือนพฤษภาคม ชวาเดือนมีนาคมและบอร์เนียวทำรังในเดือนมกราคม เป็นต้น







รังของนกชนิดนี้ทำโดยเจาะโพรงเข้าไปในลำต้นไม้ในส่วนที่ผุพัง สูงจากพื้นดินราว 3 เมตร เคยมีรายงานว่านกชนิดนี้เจาะโพรงเข้าไปในรังมดที่ทำรังบนต้นไม้และวางไข่ด้วย นกวางไข่ครอกละ2-5ฟอง เปลือกไข่สีขาว ขนาด24.6*20.8มม.
นกกะเต็นลายแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย และพบได้ในประเทศไทยทั้ง 3 ชนิดย่อย ดังนี้
1.ชนิดย่อย L.p.pulchella พบทางภาคใต้ตอนใต้ที่จังหวัดสงขลาและนราธิวาส
2. ชนิดย่อย L.p.amabilis พบทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางในบางแห่ง
3.ชนิดย่อย L.p.melanops พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไปจนถึงจ.ตรัง







ภาพนกในบล็อกถ่ายที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


อ่านเพิ่มที่และข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 03 มีนาคม 2551    
Last Update : 19 มีนาคม 2551 14:06:36 น.
Counter : 2919 Pageviews.  

นกปลีกล้วยลาย

นกปลีกล้วยลาย Arachnothera magna (Streaked Spiderhunter)เป็นหนึ่งในนกปลีกล้วย 7 ชนิดที่พบในประเทศไทยและมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับนกกินปลีเพียงแต่ตัวโตกว่า ปากยาวกว่า และสีสันไม่ “เจ็บ” เท่า

นกปลีกล้วยลายมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 19 เซ็นติเมตร มีขนคลุมตัวด้านบนสีเหลืองอมเขียวและด้านล่างสีขาวครีม มีขีดสีดำลายๆไปทั้งตัว ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีขีดสีดำที่กึ่งกลางขนนั่นเอง มีปากยาวโค้งสีดำ คอสั้น หางสั้น มีขาและเท้าสีเหลืองอมส้ม







อาหารของนกปลีกล้วยคือน้ำหวานจากดอกไม้ ที่โปรดที่สุดเห็นจะเป็นน้ำหวานจากปลีกล้วยซึ่งนกจะเกาะปลีกล้วยแบบสบายๆและยื่นปากยาวๆโค้งๆของตัวเองเข้าไปตามกรวยดอกเพื่อดูดซับน้ำหวานด้วยลิ้นที่ม้วนเป็นหลอดและปลายลิ้นที่เป็นแฉกอย่างทั่วถึง นอกจากน้ำหวานแล้วนกปลีกล้วยก็กินอาหารจำพวกโปรตีนอย่างแมลงต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมงมุม ซึ่งนกสามารถบินกระพือปีกอยู่กับที่หน้าใยที่แมงมุมชักและจิกเอาเจ้าของใยไปได้อย่างง่ายดาย มีผู้พบนกชนิดนี้กระพือปีกอยู่กับที่และดูดน้ำหวานจากดอกไม้บ่อยๆเช่นกัน







ฤดูผสมพันธุ์และทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้น่าจะอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งฤดูไปจนถึงฤดูฝน โดยนกตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีตัวเมียโดยการยกตัวขึ้น พองขนพร้อมส่งเสียงแหลมดัง บินไป แล้วบินมาใหม่ วนเวียนอยู่แบบนี้ เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วนกจะทำรังโดยนำโครงใบไม้ หญ้าและเส้นใยของพืชมาสอดประสานกัน หุ้มด้วยใยแมงมุมจนกลายเป็นรูปถ้วยแล้วเย็บขอบรังด้านหนึ่งติดกับใบไม้ขนาดใหญ่เช่นใบกล้วยเพื่อกันน้ำฝน นกจะวางไข่ครั้งละ2-3ฟอง ขนาด19*14มม. เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเขียวอ่อน มีจุดกระ นกทั้ง 2 เพศผลัดกันกกไข่ 12-13วันต่อมาลูกนกก็จะออกจากไข่ นกเบียนของนกชนิดนี้คือนกคัคคูเหยี่ยวที่ชอบแอบเข้ามาจิกไข่ของเจ้าของรังทิ้งและวางไข่ตัวเองไว้แทน

นกปลีกล้วยลายมักอาศัยตามที่ที่มีกล้วยขึ้นเป็นดงในป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา จากที่สูง900-1800เมตรจากระดับน้ำทะเล มีการกระจายพันธุ์ในแถบเชิงเขาหิมาลัย ตอนเหนือของอินเดีย ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของบังคลาเทศ พม่า จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไทย ลาว เวียตนามตอนกลางและตอนเหนือ และคาบสมุทรมลายู







นกปลีกล้วยมีทั้งหมด 6 ชนิดย่อย แต่พบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อย ได้แก่
1.ชนิดย่อย A.m.musarum พบทางภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ
2.ชนิดย่อย A.m.pagodarum พบทางภาคตะวันตกของประเทศไทย

ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นกปลีกล้วยลาย 2 ตัวผลัดกันบินมากินน้ำหวานที่ปลีกล้วย 2 ปลีอย่างเอร็ดอร่อย

ข้อมูลจาก:

//www.bird-home.com

//www.zyworld.com/NAKARIN/HTMLstreakedspiderhunterEpi2.htm




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2551 19:09:14 น.
Counter : 4469 Pageviews.  

นกศิวะปีกสีฟ้า

นกศิวะปีกสีฟ้า Minla cyanouroptera ( Blue-winged Minla )เป็นหนึ่งในสองชนิดของนกศิวะที่พบในประเทศไทย อีกชนิดคือ นกศิวะหางสีตาล ( Chestnut-tailed Minla )


นกชนิดนี้เป็นนกขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16 เซ็นติเมตร มีขนคลุมลำตัวด้านบนสีเทาแกมน้ำตาล กระหม่อมและขนปีกมีสีเข้มกว่า ขนปีกชั้นนอกสุดเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่เมื่ออยู่ในที่ทึบแสงจะดูเหมือนเป็นสีดำ มีม่านตาสีขาวกว้าง คิ้วขาว และมีแถบสีดำเหนือคิ้วขึ้นไปอีกดูเหมือนมีคิ้วสองชั้น ไหล่ ตะโพก และขนคลุมโคนหางด้านบนมีสีเทาแกมน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างมีตั้งแต่สีขาวจนถึงน้ำตาลอ่อน ท้องสีขาว เป็นนกที่มีหลายชนิดย่อยซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







ตามปรกติเรามักพบนกชนิดนี้อยู่เป็นฝูงขนาดเล็ก และอาจหากินร่วมกับนกกินแมลงขนาดเล็กอื่นๆ โดยอาศัยและหากินตามยอดไม้พุ่มและต้นไม้ขนาดกลางหรืออาจลงหากินบนพื้นดิน โดยนกชนิดนี้มักกินหนอนมากกว่ากินแมลง นกชนิดนี้อาศัยตามป่าดงดิบเขาในระดับความสูงตั้งแต่ 900-2600เมตรจากระดับน้ำทะเล







ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้ โดยนกจะทำรังเป็นรูปถ้วยทำด้วยใบไม้ ใบไผ่ รากฝอยของต้นไผ่ มอส สานกับเถาวัลย์เส้นเล็กๆหรือมือเกาะของไม้เลื้อย รองพื้นรังด้วยขนนกหรือขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รังอยู่ตามพุ่มไม้ที่ค่อนข้างรกทึบสูงจากพื้นราว1-8 เมตร หรืออาจทำรังตามโพรงดิน หรือซอกโพรงระหว่างไม้ใหญ่ วางไข่ครอกละ2-5ฟอง เปลือกไข่สีน้ำเงินเข้มถึงสีฟ้าอมขาว มีลายประเป็นจุดสีดำหรือแดง หรือน้ำตาลและม่วงเล็กน้อย ขนาดประมาณ 14.5*18.4 มิลลิเมตร พ่อและแม่นกช่วยกันทำรัง ฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน







นกศิวะหางสีฟ้าเป็นนกประจำถิ่นของอนุทวีปอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะไม่พบในบางพื้นที่ เช่นประเทศสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทย พบทุกภาค เว้นภาคกลางและตะวันออกเฉียงใต้


ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากดอยอ่างขางเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนกมาคราวหนึ่งหลายๆตัวและถล่มกินหนอนและลูกไม้แถวนั้นอย่างเอร็ดอร่อย และรวดเร็วจนถ่ายภาพแทบจะไม่ทัน


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2550 20:20:48 น.
Counter : 4444 Pageviews.  

นกจับแมลงสีน้ำตาลแดง

นกจับแมลงสีน้ำตาลแดง Muscicapa ferruginea (Ferruginous Flycatcher) เป็นนกจับแมลงขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว12.5-13 เซ็นติเมตร ขนคลุมหัวและหน้าสีเทา ขนคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือสีสนิม เป็นที่มาของชื่อนก ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน ปากค่อนข้างสั้น นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้หาอาหารโดยการเกาะกิ่งระดับล่างเฝ้ามองเหยื่อซึ่งเป็นแมลงตัวเล็กๆ พอเห็นก็บินโฉบจับแล้วนำกลับมากินที่กิ่ง แต่เมื่อเกาะพักจะเลือกบินขึ้นไปเกาะบนกิ่งสูง นกชนิดนี้มักถูกพบตามที่โล่งในป่าที่มีแสงแดดส่องถึง หรือป่าริมลำธาร ริมน้ำตก

นกจับแมลงสีน้ำตาลแดงเป็นนกที่ทำรังวางไข่ในประเทศ เนปาล อินเดีย จีนและไต้หวัน และเมื่อเข้าฤดูหนาวจะอพยพไปหากินที่หมู่เกาะซุนดาใหญ่ ฟิลิปปินส์ เป็นนกอพยพผ่านของไทย พม่า โคชินไชน่า และอินโดจีน







สำหรับประเทศไทยเป็นนกอพยพผ่านที่หายากทางภาคใต้ ภาคเหนือด้านตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริเวณที่เป็นเส้นทางอพยพ ช่วงต้นฤดูอพยพนกจะเดินทางลงไปใต้สุดถึงหมู่เกาะซุนดาใหญ่ และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และช่วงอพยพกลับ นกจะกลับเป็นสองสาย สายหนึ่งไปเกาะตังเกี๋ยและไต้หวัน อีกสายหนึ่งไปอินเดียและเนปาล โดยในช่วงที่นกอพยพนี้เราอาจพบได้ง่ายๆตามสวนสาธารณะในเมืองอย่างสวนรถไฟในกรุงเทพมหานคร พุทธมณฑล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นต้น โดยจะพบเป็นเวลาไม่กี่วันที่นกแวะพักก่อนเดินทางต่อไป







ภาพนกในบล็อกนี้ถ่ายมาจากสวนรถไฟ กรุงเทพมหานครเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นกเชื่องคน บางครั้งถึงขนาดบินมาเกาะตรงหน้า ใกล้จนถ่ายภาพไม่ได้ทีเดียว


ข้อมูลจาก:

//www.bird-home.com




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 19:06:50 น.
Counter : 3547 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.