Group Blog
 
All blogs
 

นกพญาปากกว้างลายเหลือง

นกพญาปากกว้างลายเหลือง Eurylaimus javanicus (Banded Broadbill)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 21.5-23.5 เซ็นติเมตร เป็น 1 ในจำนวนนกปากกว้าง 7 ชนิดที่พบในประเทศไทย และเป็นนกที่สังเกตพบได้ยากเพราะว่ามีสีสันกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมมากโดยเฉพาะเมื่อหันหน้า ชื่อภาษาไทยของนกชนิดนี้มักทำให้คนสับสนในการเรียกชื่อภาษาอังกฤษกับนกพญาปากกว้างเล็ก ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Black-and-Yellow Broadbill







นกพญาปากกว้างลายเหลืองมีสีแดงเหมือนเหล้าองุ่น(แดง) หรือเหมือนเปลือกมังคุดชั้นใน คือเป็นสีแดงเข้มทึมๆ ปีกสีดำอมน้ำตาล ปากและตาสีฟ้าอมเขียว บริเวณปีกและลำตัวด้านหลังมีแถบสีเหลืองเข้มหลายๆแถบชัดเจน ขนคลุมโคนหางด้านบนสีเหลือง หางสีดำ นกตัวผู้แตกต่างกับนกตัวเมียตรงที่ตัวผู้จะมีแถบสีดำคาดผ่านอกส่วนบน ขณะที่ตัวเมียไม่มี ซึ่งลักษณะนี้ตรงกันข้ามกับนกพญาปากกว้างอกสีเงินที่ตัวเมียจะมีแถบคาดสีเงินที่อกส่วนบน ขณะที่ตัวผู้ไม่มี







อาหารของนกพญาปากกว้างคือแมลงและผลไม้สุกบางชนิด

นกพญาปากกว้างลายเหลืองจับคู่ทำรังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม มักทำรังในระดับสูงเกือบยอดไม้บนต้นไม้ใหญ่ใกล้แหล่งน้ำ วางไข่ครอกละ2-3ฟอง ไข่สีขาวครีมมีจุดประสีม่วงเข้มและน้ำตาลแดงหรือแดงอมม่วงจางๆ ขนาด 26.1*17.1มม. ระยะเวลาในการกกไข่ และอื่นๆยังไม่มีรายงาน







นกพญาปากกว้างลายเหลืองเป็นนกประจำถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคลื่อนย้ายแหล่งหากินภายในประเทศ พบทางตอนใต้ของพม่า เทนเนอซาลิม ทุกภาคยกเว้นภาคกลางของประเทศไทย คาบสมุทรมลายา กัมพูชา ลาว ตอนใต้ของแคว้นอันนัมในเวียตนาม มีรายงานการพบในสิงคโปร์







สำหรับประเทศไทย จะพบตามป่าดงดิบเขา ทั่วประเทศ ยกเว้นภาคกลาง เป็นนกที่หาดูค่อนข้างยาก อาจเพราะมีปริมาณน้อย หรือ สีสันกลมกลืนจนมองไม่เห็น







ภาพนกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อปลายเดือน พฤษภาคม 2549 นกกำลังทำรังใกล้เสร็จ เป็นรังที่ค่อนข้างต่ำและอยู่กลางถนนเลยทีเดียว เวลาที่นกนำวัสดุ(ที่เริ่มเป็นวัสดุอ่อนนุ่ม คิดว่านำมารองรัง ตกแต่งด้านใน)เข้ามาเพื่อตกแต่งรัง นกจะเข้ามาอย่างเงียบๆ และไม่ส่งเสียงร้อง ทำให้มองเห็นได้ยาก ต้องจ้องมองไว้ตลอดไม่ให้คลาดสายตา เพราะนกมีสีสันเข้ากับสภาพแวดล้อมมาก อย่างไรก็ตาม นกมักเกาะที่กิ่งเดิมๆ ท่าเดิมๆเป็นเวลานานๆ แล้วจึงมุดเข้าไปตกแต่งรัง และออกมา


ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มิถุนายน 2549 11:26:41 น.
Counter : 2727 Pageviews.  

นกตบยุงหางยาว

นกตบยุงหางยาวCaprimulgus macrurus (Large-tailed Nightjar) อยู่ในสกุลนกตบยุงเล็ก( Genus caprimulgus)เช่นเดียวกับนกตบยุงป่าโคก ซึ่งนกในสกุลนี้กำเนิดมาเป็นเวลาประมาณ 1 ล้านปีมาแล้ว มีการกระจายพันธุ์เกือบทั่วโลก ยกเว้นนิวซีแลนด์และฮาวาย รากศัพท์ของสกุลนกตบยุงเล็กนี้มาจากคำว่า capr หรือ capra ซึ่งแปลว่าแพะ และ mulg หรือ mulgere แปลว่านม หรือการดูดนม เนื่องจากชาวยุโรปมีความเชื่อว่านกชนิดนี้ดื่มนมแพะเป็นอาหาร ทั้งที่ความจริงแล้ว นกตบยุงกินแมลงต่างๆเป็นอาหาร







นกตบยุงหางยาวมีตาโตสีน้ำตาลเข้ม ปากเล็กดูบอบบาง โคนปากกว้างและมีเส้นคล้ายหนวดเรียงเป็นแถบบริเวณโคนปาก จมูกมีลักษณะเป็นหลอดสั้นๆเห็นได้ชัดเจน มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 25-30 เซ็นติเมตร เฉพาะหางยาวไม่น้อยกว่า 14.6 เซ็นติเมตรในตัวเต็มวัย นกตัวเมียและนกตัวผู้คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือ นกตัวผู้จะมีสีน้ำตาลแกมเทา ปลายหางมีแถบใหญ่สีขาวสองแถบด้านนอก รอบคอด้านบนมีลายน้ำตาลแดง ใต้คอสีขาว ท้อง ขนคลุมหางด้านล่างสีเนื้อมีลายแถบเล็กๆสีเข้ม นกตัวเมียจะมีลายแถบที่ขนปลายปีกเล็กกว่าและเป็นสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง ในขณะที่ตัวผู้จะเป็นลายแถบสีขาวเด่นชัด







จุดเด่นที่สามารถใช้แยกนกตบยุงชนิดนี้ออกจากนกตบยุงชนิดอื่นๆที่พบในประเทศไทยคือ นกตบยุงหางยาวจะมีเส้นสีขาวเล็กๆคล้ายหนวดลากจากมุมปากไปยังข้างแก้ม ซึ่งเส้นสีขาวนี้จะกว้างกว่านกตบยุงชนิดอื่นๆ และบริเวณใต้คอจะมีแถบสีขาวค่อนข้างกว้าง เวลาที่นกบิน ตัวผู้จะเห็นจุดสีขาวกว้างบริเวณเกือบปลายปีก สีขาวที่คอและแถบคล้ายหนวดสีขาวและสีขาวที่ปลายหางกินระยะประมาณ 1ใน 4 ของปลายหางคู่นอกชัดเจน ขณะที่ถ้าเป็นนกตัวเมียจุดที่ปลายปีกจะเห็นเป็นสีเนื้อและแถบสีขาวที่ปลายหางจะเล็กกว่าของตัวผู้







ช่วงเดือนมีนาคม ถึง เดือน พฤษภาคม เป็นช่วงที่นกตบยุงหางยาวทำรัง ซึ่งรังที่ว่านี้ก็เพียงแต่ขุดดินให้เป็นแอ่งเล็กน้อยหรือไม่ขุดเลย แล้ววางไข่ซึ่งมักจะมีเพียงครอกละ1-2ฟอง เปลือกไข่สีขาวเป็นมัน หรือสีครีมแกมเหลือง ม่วงปนน้ำตาล หรือสีเนื้อแกมชมพู มีจุด หรือดอกดวงสีเทา หรือเทาแกมแดง ขนาดเฉลี่ย 22.6ม.ม.x31.3 ม.ม. นกทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน โดยใช้เวลาฟักไข่ราว16-22วัน ลูกนกมีขนปกคลุมลำตัวเพียงบางๆทำให้มองเห็นหนังหุ้มกระดูกของลูกนกได้ลางๆ เมื่อลูกนกออกจากไข่ได้2วันพ่อแม่ก็จะพาเคลื่อนที่ออกจากรังเดิมประมาณ 3 เมตร โดยใช้วิธีเกาะห่างๆแล้วส่งเสียงเรียกลูกนกไปกิน
อาหาร







ในการป้อน พ่อแม่นกจะอ้าปากให้ลูกนกมุดหัวเข้าไปกินในลำคอ พ่อแม่จะป้อนลูกทั้งกลางวันกลางคืน ระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์หลังออกจากไข่ ลูกนกก็จะผลัดขน กระพือปีก วิ่งและกระโดด จนบินได้ เมื่อบินขึ้นต้นไม้ได้ลูกนกจะอยู่กับพ่อแม่อีกราว 35 วันก็จะแยกไปหากินตามลำพัง







เราสามารถพบนกตบยุงหางยาวได้ในทุกภาคของประเทศไทยบริเวณชายป่า ป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรมจากที่ราบจนถึงความสูง 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกชนิดนิ้มักหากินโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ โดยเวลากลางวันจะนอนหลับตามพื้นดิน รากไม้ใหญ่ ขอนไม้ล้มโดยเกาะตามแนวยาวของกิ่ง นกที่เป็นคู่กันจะเกาะนอนใกล้ๆกัน พอเข้าช่วงเย็นๆ ค่ำๆก็จะเริ่มออกหากิน โดยจะบินขึ้นโฉบแมลงในอากาศ หรือบินลงโฉบแมลงบนพื้นดิน เมื่อกินอิ่มก็จะเกาะนอนพักบนกิ่งไม้ ไม่ลงนอนที่พื้นอีก เว้นแต่เป็นนกที่เลี้ยงลูกก็จะอยู่บนพื้นกับลูก

นกตบยุงหางยาวที่ถ่ายภาพมานี้เลี้ยงลูกอยู่ที่รีสอร์ตบ้านมะค่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อเดือนมีนาคม 2549


ข้อมูลจาก

//www.bird-home.com
หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย น.พ.บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2549 21:08:23 น.
Counter : 2460 Pageviews.  

นกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ

นกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ Megalaima incognita (Moustached Barbet) เป็นหนึ่งในจำนวนนกโพระดก 13 ชนิดที่พบในเมืองไทย นกในวงศ์โพระดก(Megalaimidae)นี้จะเป็นนกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางจาก16-35 เซ็นติเมตร มีหัวโต ปากหนา โคนปากกว้างปลายปากแหลม รอบโคนปากมีขนแข็งๆยาวคล้ายหนวด มีปีกสั้น หางสั้น เท้าใหญ่ นิ้วเท้ายื่นไปข้างหน้าสองนิ้ว ไปข้างหลังสองนิ้ว ขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีเขียวทำให้มองหาตัวได้ยาก บริเวณหัวและคอมักมีสีสันสดใสแตกต่างกัน และมักเป็นส่วนที่ใช้จำแนกชนิดของโพระดกต่างๆออกจากกัน ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกโพระดกสีฟ้าเคราดำมีจุดเด่นคือ มีหน้าและคอสีฟ้าอมเขียว คิ้วสีดำเป็นปื้นและมีขีดสีดำที่ข้างแก้มดูเป็นเส้นขนานไปกับคิ้ว บริเวณกระหม่อม โคนปาก และข้างคอมีจุดสีแดงสดใส ขนคลุมลำตัวด้านบนเป็นสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เท้าสีเหลืองอมเขียว ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 23 เซ็นติเมตร จัดเป็นนกโพระดกขนาดกลาง







อาหารของนกโพระดกคือผลไม้พวกไทร หว้า ผลไม้ป่าสุกขนาดเล็ก และสามารถกินแมลง ตัวหนอนในช่วงที่ผลไม้ขาดแคลน

นกโพระดกทำรังโดยอาศัยโพรงรังตามธรรมชาติ รังของสัตว์อื่น หรือเจาะโพรงทำรังด้วยตัวเอง บนต้นไม้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน เนื่องจากปากไม่ได้แข็งแรงมากอย่างของนกหัวขวาน เมื่อวางไข่ซึ่งจะมีประมาณ3-4ฟองแล้วนกทั้งสองเพศจะช่วยกันกกไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน







ในประเทศไทยเราจะพบนกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำได้ตามป่าเบญจพรรณตามเนินเขาจากความสูงระดับ600เมตรถึง1700เมตรจากระดับน้ำทะเล พบได้ทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกในบางพื้นที่ มีสถานภาพเป็นนกประจำถิ่น พบได้ค่อนข้างง่ายตามสถานที่ที่นกอาศัย







นกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำตัวนี้ถ่ายภาพมาจากเขาใหญ่ขณะกำลังกินอาหารจำพวกลูกไม้สุกทำให้ปากเลอะเทอะไปหมดอย่างที่เห็น


ข้อมูลจาก : //www.bird-home.com

หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D.Round




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 9 มิถุนายน 2552 9:52:09 น.
Counter : 3953 Pageviews.  

นกตบยุงป่าโคก

นกตบยุงป่าโคก Caprimulgus affinis (Savanna Nightjar)เป็น1 ใน 6 ชนิดของนกตบยุงที่พบได้ในประเทศไทย จาก 6 ชนิดนี้ มี 4 ชนิดอยู่ในสกุลนกตบยุงเล็ก นั่นก็คือ นกตบยุงหางยาว( Large-tailed Nightjar) นกตบยุงภูเขา ( Grey Nightjar) นกตบยุงเล็ก( Indian Nightjar) และนกตบยุงป่าโคก(Savanna Nightjar) ตัวนกตบยุงป่าโคกเองก็มีหลายชนิดย่อย อาศัยกระจัดกระจายในหลายท้องที่ในเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียวคือ C.A.monticolus โดยชื่อย่อยนี้มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ mont หรือ montis แปลว่าภูเขา col แปลว่าอาศัย จึงมีความหมายว่านกที่อาศัยอยู่บนภูเขา







ลักษณะร่วมของนกตบยุงคือมีปากเล็กแบน ช่องปากกว้าง รูจมูกเป็นหลอดเล็กน้อย บริเวณมุมปากมีขนยาวหลายๆเส้นเรียงกัน ไม่สร้างรัง วางไข่บนพื้นดินครอกละ 1-2 ฟอง เปลือกไข่อาจมี หรือไม่มีลวดลายใดๆ
ขนลายๆที่ปกคลุมร่างกายมีสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาล ดำ เทา ขาว เป็นหลัก นกในวงศ์นี้กำเนิดมาตั้งแต่สมัย พลิสโตซีน ในยุคควอเตอร์นารี่ หรือประมาณ 1 ล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์เกือบทั่วโลกยกเว้นนิวซีแลนด์และฮาวาย







นกตบยุงป่าโคกมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 25 เซ็นติเมตร เฉพาะความยาวหางประมาณ 11.1-11.7 เซ็นติเมตร มีจุดเด่นที่ทำให้แยกออกจากนกตบยุงชนิดอื่นๆได้อย่างชัดเจนคือ ในตัวผู้จะมีขนหางคู่นอกสุดเป็นสีขาวเกือบตลอดทั้งเส้น โดยมักเป็นสีเทาบริเวณปลาย ขณะที่นกตัวเมียไม่มีสีขาวที่ขนหางด้านนอก สีเข้มกว่านกตัวผู้ และบริเวณปีกมีลายสีน้ำตาลเหลืองถึงสีเนื้อเด่นชัดกว่า หากต้องการรายละเอียดของชุดขนของนกชนิดนี้ สามารถอ่านได้ที่ //www.bird-home.comเลือก bird photo เลือก nightjar/frogmouth และเลือก Savanna Nightjar







อาหารของนกตบยุงทุกชนิดคือผีเสื้อกลางคืน ปลวก มดที่มีปีก ตั๊กแตน และแมลงต่างๆ โดยโฉบจับกลางอากาศ หรือโฉบจับแมลงบนพื้นดิน นกชนิดนี้เวลาดื่มน้ำ จะบินโฉบเรี่ยผิวน้ำแล้วอ้าปากล่างกินแบบเดียวกับนกนางแอ่น (//www.bird-home.com) สำหรับประเทศไทยพบได้ทางภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ โดยนกจะอาศัยทั้งในป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าชั้นรอง ทุ่งโล่ง พื้นที่ชนบทไปจนถึงสวนสาธารณะในเมืองใหญ่ ตามทุ่งหญ้า เนินเขา ที่โล่งภายในป่าโกงกาง หาดทรายสองฝั่งลำน้ำ โขดหินในลำธารแห้ง จากที่ราบจนถึงความสูงระดับ 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล







ในประเทศไทย นกตบยุงป่าโคกผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมจะวางไข่บนพื้นดินโดยขุดให้เป็นแอ่งเล็กๆตื้นๆ หรือไม่ขุดเลย บางทีก็ระหว่างก้อนหินที่โผล่พ้นดิน หรือระหว่างกอพืช ซอกของรากไม้ วางไข่ครั้งละ1-2ฟอง เปลือกไข่สีชมพูหรือขาวอมเหลืองจางๆ มีลายขีด และจุดสีน้ำตาลแกมแดง หรือแดงเข้มทั่วฟอง ขนาด19-23.2มม.x25.8-33.2มม. พ่อและแม่นกช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกนก โดยเมื่อแรกเกิดลูกนกจะมีขนอุยสีน้ำตาลปกคลุม แต่ก็สามารถมองเห็นเนื้อหนังของลูกนกได้ จากนั้นขนใหม่จะค่อยๆขึ้นมาแทนที่จนคล้ายตัวเมีย และเป็นไปตามเพศของนกต่อไป







ภาพนกตบยุงป่าโคกที่เห็นนี้ถ่ายภาพมาจากพุทธมณฑลช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระหว่างรอการมาของนกแต้วแล้วธรรมดา โดยนกอาศัยอยู่บริเวณสวนเวฬุวัน ซึ่งเป็นป่าไผ่ของพุทธมณฑล นกนอนอยู่บนพื้นที่มีใบไผ่ร่วงเต็มทำให้มองหาตัวได้ยาก เวลาที่นกบินขึ้นและลงอีกจุดหนึ่งต้องมองแบบไม่ละสายตา สำหรับภาพที่เห็นนอนอยู่บนกิ่งไผ่นั้น เป็นช่วงเวลาหลังจากฝนตก นกขึ้นไปเกาะเพื่อผึ่งตัวให้แห้ง จะเห็นว่าขนนกเปียกปอนไปหมดจนสังเกตลวดลายบนลำตัวได้ค่อนข้างยาก ในช่วงเวลากลางวันที่เงียบสงบแบบนี้นกจะนอนนิ่งๆอยู่นานมากถ้าไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน เป็นการพักผ่อนก่อนจะเริ่มหากินในเวลากลางคืนต่อไป







ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 17:45:29 น.
Counter : 2500 Pageviews.  

นกแต้วแล้วธรรมดา

นกแต้วแล้วธรรมดา Pitta moluccensis (Blue-winged Pitta) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 20 เซ็นติเมตร มีสีสันสวยงามน่ามอง คือ มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดเป็นแนวยาวกลางหัว ต่อด้วยสีน้ำตาลอ่อน และ มีสีดำพาดนัยน์ตาคาดไปถึงท้ายทอย คอสีขาวตัดกับลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอมเหลือง ท้องด้านล่างไปถึงก้นมีสีแดงสดใส ปากหนาสีดำแข็งแรงสำหรับจิกกินอาหารตามพื้น ปีกด้านล่างสีดำมีสีขาวบริเวณเกือบปลายปีกเป็นพื้นที่กว้างเห็นได้ชัดเจนเวลากางปีก ขนคลุมหลังมีสีเขียว หัวปีกด้านบนและขนคลุมโคนหางด้านบนสีฟ้าสดใส ตะโพกและหางสั้นๆจนดูเหมือนไม่มีหางนั้นเป็นสีน้ำเงินเข้ม ขาและเท้าสีเนื้อ หรือน้ำตาลจางๆ ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







แต้วแล้ว แต้วแล้ว เสียงดังกังวานไปไกล คือเสียงร้องของนกชนิดนี้ ช่วงเวลาที่จะพบพวกเค้าได้ในประเทศไทยคือช่วงเดือนเมษายน – กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่นกอพยพมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซียเพื่อทำรัง วางไข่ เมื่อลูกโตพอที่จะเดินทางไกลได้ก็จะเดินทางกลับไปหากินที่เดิม ซึ่งก็เป็นช่วงเริ่มหน้าแล้งพอดี นกที่แข็งแรงมากอาจบินไปได้ถึงออสเตรเลีย แต่ตัวที่ไม่แข็งแรงก็อาจจะอยู่ที่ประเทศไทยตลอดทั้งปีก็เป็นได้







บริเวณที่จะพบนกได้คือตลอดคาบสมุทรมลายูขึ้นมาจนถึง ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ สำหรับภาคกลางตามบริเวณป่าโปร่ง ป่าโกงกาง สวนสาธารณะ มักเป็นนกอพยพผ่านเพื่อไปทำรังยังที่ที่เหมาะสมต่อไป


อย่างไรก็ตามเคยได้ยินมาว่านกทำรังในสวนบ้านคนในแถบภาคกลางได้เช่นกัน ซึ่งถ้านกมาทำรังในเขตบ้านใครก็ถือว่าโชคดีที่มีนกสวยๆมาให้ชื่นชมถึงบ้าน เป็นโอกาสให้ได้ศึกษาพฤติกรรมของนกซึ่งหากินเองตามธรรมชาติ และบางทีนกอาจจะกลับมาให้ดูเองทุกปีโดยไม่ต้องเลี้ยงให้เหนื่อยแรง







รังของนกแต้วแล้วธรรมดามักถูกพบตามโคนต้นไผ่ รากไม้ พุ่มไม้รกๆ มีรูปร่างรีๆคล้ายลูกรักบี้ ทำจากกิ่งไม้แห้งๆมาสุมรวมกัน มีทางออกอยู่ด้านข้าง รังของนกแต้วแล้วมักไม่คงทนนักเนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุที่ผุพังง่าย หากพ่อแม่นกเป็นมือใหม่ก็เป็นไปได้ที่รังจะพังก่อนเวลาอันควร นกชนิดนี้จึงมักรีบทำรังให้เสร็จก่อนฤดูฝนที่อาจมีน้ำมาชะรังให้เสียหายไปอย่างรวดเร็ว นกแต้วแล้วธรรมดาวางไข่ครั้งละประมาณ 4 ฟอง ไข่ค่อนข้างกลม เปลือกไข่เป็นมันวาวสีขาวหรือสีครีม มีจุดสีน้ำตาลปนแดงหรือม่วงบ้าง พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่และหาอาหารมาเลี้ยงลูกอ่อน







นกแต้วแล้วธรรมดาเป็นนกที่หากินตามพื้นดิน อาหารได้แก่หนอน แมลง แมงมุม ไส้เดือน โดยเฉพาะไส้เดือน เป็นอาหารคู่ปากที่เรามักเห็นนกชนิดนี้คุ้ยมากองรวมกันและคาบไปทีละหลายๆตัวไปป้อนลูกที่รังเสมอ







นกชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบตัวได้ที่พุทธมณฑลในช่วงต้นฤดูกาลอพยพ พื้นที่อันกว้างใหญ่ถึง 2500 ไร่ของที่นี่เป็นจุดดึงดูดใจนกหลายๆชนิดที่อพยพผ่านเสมอ สำหรับแต้วแล้วธรรมดาแล้ว เค้ามักจะเลือกลงบริเวณใกล้ๆกับป่าไผ่ และหาอาหารซึ่งก็คือแมลงหรือไส้เดือนกินอย่างจุใจ เตรียมพร้อมสำหรับที่จะเดินทางต่อไป แต่ไม่ทราบว่าดินที่นี่แห้งแข็งเกินไปหรือเปล่า ทำให้นกแต้วแล้วธรรมดาตัวนี้ต้องหากินอย่างดุเดือด กล่าวคือกระโดดใช้ปากจิกดินอย่างแรงจนกระทั่งปากมอมแมมไปด้วยคราบดินแห้งๆ







นกแต้วแล้วธรรมดามีคู่เหมือนอยู่คือนกแต้วแล้วป่าโกงกาง สีสันเหมือนกันทุกประการต่างกันที่ชนิดหลังมีปากที่ยาวกว่าและแถบสีน้ำตาลเข้มบนหัวกว้างกว่า ชัดเจนกว่า และอาศัยอยู่ตามป่าโกงกางเท่านั้น มักพบบริเวณป่าโกงกางทางภาคใต้ของไทย และ นกFairy Pitta ที่เดิมไม่ค่อยมีใครในเมืองไทยนึกถึงเพราะไม่เคยมีรายงานการพบในเมืองไทย แต่ตอนนี้มีรายงานการพบแล้วที่พุทธมณฑลในเดือนเมษายน 2552


ข้อมูลบางส่วนจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2552 19:49:07 น.
Counter : 25271 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.