|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
ปราสาทตาเมือนธม ในวันที่ขาดนางอัปสรา
ปราสาทตาเมือนธม ในวันที่ขาดนางอัปสรา ครั้งหนึ่งเมื่อคราวที่ได้เดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกตกตะลึงพรึงเพริด นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทนครวัด ความงดงามอ่อนช้อยของลวดลายที่สลักเสลาลงบนท่อนศิลา และความเกรียงไกรสุดขอบหล้าของอาณาจักรเขมรเมื่อราว 800 ปีก่อนที่ต้องน้อมคารวะให้แล้ว รูปสลักของเหล่าสตรีบนแดนสรวงนามว่า"นางอัปสรา"หรือ"นางอัปสร"ที่ประดับอยู่ทั่วกำแพงและกรอบประตูองค์ปราสาท ก็ยังทำให้หัวใจของใครหลายคนสั่นไหวในรูปโฉมที่งดงามเลิศเลอไปตามๆกัน เพราะแม้แต่เทวดากับยักษ์ยังเปิดศึกชิงนางเป็นที่ปั่นป่วนโกลาหล
เรื่องราวของนางอัปสราปรากฏในมหากาพย์มหาภาระอินเดียว่า นางเป็นชาวสวรรค์ บังเกิดขึ้นเมื่อครั้งกวนเกษียรสมุทรเพื่อเอาน้ำอมฤตระหว่างเทวดากับยักษ์ ทุกครั้งที่เขาพระสุเมรุเสียดสีกับเกษียรสมุทรจะเกิดนางอัปสรา เปรียบเสมือนปุยเมฆที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าสรวงสวรรค์ของเทพเจ้า ตามตำนานของศาสนาฮินดู กล่าวว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างและเป็นนางบำเรออยู่ในราชสำนักของพระอินทร์ ทั้งยังมีความสามารถในการขับร้องและเต้นรำเป็นอย่างยิ่ง โดยทั่วไปเชื่อว่านางอัปสราเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญงอกงาม
ปราสาทนครวัดมีการแกะสลักภาพนางอัปสราไว้มากกว่าพันองค์ โดยที่แต่ละนางมีใบหน้า รูปร่าง ทรวดทรง กริยาท่าทางและเครื่องแต่งกาย รวมถึงขนาดของทรวงอก จึงไม่แปลกที่จะเห็นนางอัปสราเปลือยอกอันแวววาว เพราะมีผู้คนมากมายเข้ามาสัมผัสลูบคลำจนขึ้นเงา ยิ่งถ้าหากนั่งสงบนิ่งและเปิดใจให้กลิ่นอายของสวรรค์เป็นผู้อธิบาย เราก็จะเห็นภาพนางอัปสราที่เลอโฉมออกมาขับกล่อมเสียงเพลงบรรเลงดนตรีและร่ายรำไปตามจังหวะอันแสนไพเราะ เป็นเสน่ห์ตรึงใจใครต่อใครให้หลงใหล อย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พรรณาว่าเทพอัปสรนั้น "ยิ้มหวานอย่างเมฆยามอรุณ"
แม้ในเมืองไทยมีปราสาทหินที่ก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมเขมรอยู่นับไม่ถ้วน แต่สำหรับปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินพิมาย ที่กำลังอาบน้ำแต่งตัวรอวันเป็นมรดกโลกอยู่นั้น กลับไม่มีภาพนางอัปสราประดับไว้เลย หากแต่เราสามารถพบนางได้ที่ปราสาทเล็กๆในท้องถิ่นอย่าง ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
นางอัปสราที่ประดับอยู่ที่ปราสาทศรีขรภูมินั้นยังคงสภาพสมบูรณ์ นักโบราณคดีบอกว่าเป็นศิลปะแบบนครวัด สังเกตได้จากการวางเท้า และการแต่งองค์ทรงเครื่อง รวมทั้งองค์เอวที่คอดกิ่ว ตะโพกผายและทรวงอกอวบอิ่ม และที่โดดเด่นของนางอัปสราศรีขรภูมิคือ นกแก้วและกระรอกที่อยู่บนบ่าทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นจินตนาการสร้างสรรค์ของศิลปิน ควรค่าแก่การยลโฉมยิ่งนัก
แต่สำหรับนางอัปสราในปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ในตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก ซึ่งประชิดติดชายแดนไทย-กัมพูชา กลับไม่หลงเหลือเค้าความงามให้เห็น เพราะเป็นจุดที่เคยเป็นสมรภูมิรบมาก่อน ภาพนางอัปสราจึงชำรุดเสียหายไปเกือบหมดอย่างน่าเสียดาย เหลือเพียงส่วนขาเท่านั้น อีกทั้งยังถูกขบวนการลักลอบวัตถุโบราณ ใช้ระเบิดทำลายล้างเพื่อหวังกระเทาะเอารูปสลักนางอัปสราและชิ้นส่วนอื่นๆของปราสาทเช่น หัวนาคปลายหน้าบันออกไปจำนวนมาก
ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในราวสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 16 หันหน้าลงไปทางทิศใต้คือ หันไปทางเมืองพระนครหลวงที่นครวัด ภายในปรางค์ประธานประดิษฐานศิวลึงค์ สัญลักษณ์แทนพระศิวะตามคติความเชื่อในลัทธิไศวนิกาย ทุกวันนี้ปราสาทตาเมือนธม มีหน่วยตชด.ตั้งฐานอยู่ดูแลความปลอดภัย เนื่องจากตัวองค์ปราสาทอยู่ติดกับแนวป่าพรมแดนไทย-กัมพูชา ต้องคอยเฝ้าระวังตลอดเวลาเพราะไม่ใช่จุดผ่อนปรนและเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยดงระเบิดที่ยังไม่ฝ่อของเขมรแดงฝังซ่อนอยู่มากมาย อย่างไรก็ดีทุกวันที่ 12 เมษายนของทุกปี จะมีชาวเขมรนับหมื่นคนเดินทางเข้ามาเที่ยวงาน"เยี่ยมเยือนปราสาทตาเมือน" นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลประจำปีที่เราจะได้เห็นชาวเขมรเข้ามาเที่ยวหาซื้ออาหารและของใช้กลับไปในหมู่บ้านฝั่งตรงข้ามคือ จังหวัดอุดรมีชัย ซึ่งเป็นภาพที่หาชมไม่ได้ง่ายในสถานการณ์ความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีเรื่องปราสาทเขาพระวิหารให้ขุ่นข้องหมองใจต่อกัน ปราสาทตาเมือนธมในวันนี้ ไม่มีนางอัปสราคอยยักย้ายส่ายเอวร่ายรำไปตามจังหวะเสียงเพลงแล้ว เสน่ห์ความงดงามปราสาทหินก็คงจะไม่ทำให้จิตใจหวั่นไหวได้อีกต่อไป
Create Date : 29 เมษายน 2551 |
Last Update : 5 พฤษภาคม 2551 18:23:59 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1480 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: big-lor วันที่: 29 เมษายน 2551 เวลา:11:54:31 น. |
|
|
|
โดย: offita วันที่: 29 เมษายน 2551 เวลา:12:06:38 น. |
|
|
|
โดย: Zantha วันที่: 29 เมษายน 2551 เวลา:12:52:29 น. |
|
|
|
|
|
|
|
ด้วยความไม่เห็นคุณค่า อยากได้แค่เงินตราเลี้ยงตัว