ฌาน (ความเพ่ง)


🌷 ฌาน (ความเพ่ง)

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันปวารณาออกพรรษา

เจริญสุขสวัสดี สาธุชนผู้ใส่ใจในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

เมื่อพูดถึงวันออกพรรษา ทำให้ระลึกนึกไปถึงการตักบาตรเทโวเสียเป็นส่วนมาก ที่มีสาธุชนชนทั่วสารทิศ ละแวกวัด หรือมาจากต่างถิ่นไกลๆ ที่ศรัทธาในวัดนั้นๆ มาร่วมกันตักบาตรเทโวข้าวสารอาหารแห้ง เสร็จพอในช่วงเวลาสายลงมา ก็จะมีสาธุชนที่ศรัทธาในการสละให้ ก็จะมาออกโรงทานกัน เพื่อเลี้ยงดูบุคคลผู้ที่มาทำบุญในวันนั้นกัน จนกลายเป็นประเพณีนิยมของเราชาวพุทธ 

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของช่วงเวลาเข้าพรรษาจนกระทั่งถึงออกพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสามเณรในวัดนั้นๆ ได้พากันตั้งใจที่จะปรารภความเพียรด้วยการหมั่นประกอบฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค เพื่อปรารถนาให้จิตของตนนั้นได้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย

สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุส่วนมากนั้นเที่ยวจาริกด้วยเท้าไปในสถานที่ต่างๆ หรือจาริกไปเพื่อแสวงหาที่ปลีกวิเวกในการปฏิบัติธรรม เมื่อเจอที่ที่เป็นสัปปายะดีแล้ว ก็จะอยู่พักปฏิบัติธรรมชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วก็จาริกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ติดที่อยู่ในสถานที่นั้นๆ 

เมื่อต้องจาริกบ่อยๆ พอถึงช่วงเวลาฤดูฝนซึ่งเป็นเวลาที่ชาวบ้านร้านถิ่นมีการทำนาทำไร่ทำสวนกันที่สุด ภิกษุที่จารึกไปที่ต่างๆ นั้นได้มีการเหยียบย่ำพืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายต้องอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ในช่วงเวลานั้นห้ามจาริกออกไปค้างอ้างแรมที่ใดๆ ทั้งสิ้น จะได้มีเวลาเพื่อปรารภความเพียรได้อย่างเต็มที่ตามสติกำลังของตน เพื่อพัฒนาจิตให้ก้าวหน้า หลุดพ้นจากอาสวะ โดยการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค มีพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทรที่เขาผูกด้วยหวายแช่อยู่ในน้ำนั้น ๓ เดือนบ้าง ๖ เดือนบ้าง ในฤดูหนาวพอลากขึ้นมาบนบก หวายที่ถูกลมพัด ถูกแดดแผดเผา ถูกฝนพร่างพรม ก็จะเปื่อยผุไปโดยไม่ยาก ฉันใด ภิกษุผู้หมั่นประกอบความเพียรในการอบรมจิตด้วยภาวนานุโยค ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังโยชน์ (กิเลสผูกมัดจิต) ก็จะเสื่อมไปโดยไม่ยากเลย"

เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือภาวนานุโยคแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไปส่วนมาก ยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จากการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค (คำว่า ภาวนา แปลว่า การเจริญ การทำให้เป็น ให้มีขึ้น การพัฒนาจิต) พอได้เห็นความหมายของคำว่าภาวนา ทำให้ระลึกนึกถึงอริยสัจในข้อที่ ๔ คือ มรรค ซึ่งเป็นภาเวตัพพะธรรม เป็นธรรมที่ควรเจริญให้เกิดขึ้นเจริญให้มากขึ้น ให้มีขึ้น โดยเฉพาะหมวดสมาธิ อันมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นหมวดที่พัฒนาจิตของตนให้มีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

ขั้นแรกนั้น เพียรเจริญสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นอารมณ์อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ การกำหนดเช่นนี้เป็นการกำหนดสติให้คอยยับยั้งอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นที่จิตไม่ให้เกิดขึ้น ใช้สติสลัดอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป และเจริญกุศลธรรม (สมาธิ) ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ยังกุศลธรรม (สมาธิ) ที่เกิดขึ้นแล้วให้สงบปราณีตยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการทำงานร่วมกันของสัมมาวายามะ สัมมาสติ จิตของผู้เจริญอยู่ ย่อมรวมลงเป็นสมาธิ (สัมมาสมาธิ) เป็นการทำให้เจริญ ให้มีขึ้น ย่อมพัฒนาจิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน 

โดยตอนเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ นั้น ความที่จิตคุ้นเคยกับการทะยานอยาก แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ที่ชอบที่ใช่ และจิตก็จะพยายามยึดถือเอาสิ่งที่ออกไปรับรู้มานั้นว่าเป็นตนเป็นของๆ ตน เพราะฉันทราคะที่มีผูกจิตติดใจในอารมณ์  เราต้องอาศัยสติที่เกิดจากความเพียรเพ่ง ในการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค 

เมื่อจิตเกิดไปกระทบอารมณ์เข้า มีความยินดีเกิดขึ้น จิตก็จะกระเพื่อมฟูฟ่องขึ้นไปๆ เมื่อยินร้ายจิตก็จะกระเพื่อมเช่นกัน แต่ฟุ้งซ่านซัดส่ายขัดข้องกระจายออกไป ให้เราใช้สติที่เคยสร้างมานั้น พร้อมทั้งพลังแห่งสมาธิ หรือขณะแห่งสมาธิ (ขณิกสมาธิ) พรากจิต เปลื้องจิตออกจากอาการกระเพื่อม มารู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ อาการกระเพื่อมที่ปรากฏอยู่ก็จะสงบราบคาบลงได้สำเร็จ นั่นแหละปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว 

แต่ให้สบายใจได้ว่า บุคคลผู้หมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยคนั้น ผลจะได้รับย่อมได้มนุษย์สมบัติเป็นขั้นต่ำ ย่อมได้พรหมสมบัติเป็นขั้นกลาง และขั้นสูงสุดย่อมบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน

อีกเรื่องที่จะปล่อยให้ผ่านพ้นไปโดยให้มีความเข้าใจแบบผิดๆ ของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง ที่เราสามารถติตรองตามได้ เรื่องนั้นก็คือ อนัตตธรรม ซึ่งเป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ

เนื่องจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านย่อมรู้จักตนที่ถูกต้องแท้จริง อันมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งที่อาศัย (สรณะ)  ทำให้พระอริยเจ้าทั้งหลายมารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ไปด้วยเช่นกัน มีพระพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร ความว่า "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปนาม หรือ ขันธ์ ๕) นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)"

แต่สืบเนื่องจากอาตมาภาพได้ฟังพระธรรมเทศนาของอาจารย์ท่านหนึ่ง  ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางพอสมควรเลยทีเดียว ท่านได้ให้ความหมายหรือพูดง่ายๆ ว่า ท่านได้ตีความตามมติของตนเองว่า สิ่งใดเป็นอนัตตา นั่นหมายถึง สิ่งนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาได้ คือ รูปนามหรือขันธ์ ๕ บังคับบัญชาไม่ได้ 

ท่านได้เทศนาเรื่องนี้บ่อยครั้งเอามากๆ เป็นเพราะท่านไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง จึงได้ให้ความหมายไว้เช่นนั้น อะไรที่เป็นอนัตตา ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ โดยท่านไม่เคยนำมาพินิจพิจารณาสอบสวน เทียบเคียงกับหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย 

การบังคับบัญชาไม่ได้ของรูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่เป็นอนัตตธรรม ก็เฉพาะปกิณกะทุกข์เท่านั้น เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ชราคร่ำคร่า ความตาย เย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นไปตามสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น 

ลองติตรองตามให้ดี ถ้ารูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่เราคือจิต ได้อาศัยอยู่ เกิดอยากได้รถหรูสักคันมาเป็นของตน เมื่ออยากได้จนเป็นทุกขเวทนาเกิดขึ้น ถ้ามีทรัพย์พอซื้อได้ก็คงซื้อทันที นั่นย่อมไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดมีทรัพย์ไม่พอล่ะ และยังไม่สามารถบังคับบัญชาได้ด้วย คงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของๆ ตน เมื่อเป็นแบบนี้ ต่อให้มีคุกตารางเท่าไหร่ ก็ไม่พอขังสำหรับบุคคลที่คิดชั่วทำอกุศลได้

รูปร่างกายอันมีจิตครอง ที่เรียกว่า รูปนามหรือขันธ์ ๕ เราย่อมสามารถควบคุมนำพาให้ไปบำเพ็ญบุญกุศล ไปสร้างความดีต่างๆ นานาตามที่ต้องการได้ สามารถชักนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายอันเป็นอกุศลได้เช่นกัน เพราะรู้จักจิต เข้าถึงจิตตัวในหรืออธิจิต โดยหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยคนั่นเอง

ยังมีตัวอย่างจากพุทธพจน์ใน "มหาปุณณมสูตร" ที่มีภิกษุรูปหนึ่ง ไม่รู้จักจิตตามความเป็นจริง โดยเข้าใจผิดในเรื่องอนัตตธรรมเช่นกัน เพราะไปเข้าใจว่าจิตคือวิญญาณ ดังนี้

"ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตน) กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ)

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่ พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร"

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

จากนี้ เรามาต่อเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา จากวันพระที่แล้วกัน (๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔)

🌷 องค์ของฌาน (ความเพ่ง) 

คำว่า "ฌาน" นี้ หมายถึงการใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งในอารมณ์สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา  จิต  ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่งโดยติดต่อกันไม่ขาดสาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า การปฏิบัติสมาธิหรือที่พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า วิปัสสนา นั้น ย่อมต้องใช้ความเพ่ง (ฌาน) โดยตลอด ดังพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า 

"นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ ส เว นิพฺพาน สนฺติเก แปลว่า ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน"

การใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งกาย เวทนา จิต ธรรม ติดต่อกัน โดยไม่ขาดสายนี้ เรียกว่า สัมมาสติ เพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามความเป็นจริง และจะได้เกิดปัญญาปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ ให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุดตามลําดับ พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งออกเป็น ๔ ฌาน ตามความสามารถที่จิตปล่อยวางได้ ดังต่อไปนี้คือ 

๑. ปฐมฌาน ยกจิตขึ้นเพ่ง (วิตก) และประคองจิตให้อยู่กับอารมณ์สติปัฏฐาน (วิจาร) จนกระทั่งจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้ว ก็ย่อมเกิดความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขจากความสงบเบื้องต้น (สุข)

๒. ทุติยฌาน เมื่อจิตผ่องใสเป็นสมาธิแล้ว วิตกกับวิจารก็ย่อมดับไป จึงมีแต่ความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขในสมาธิที่เกิดขึ้น (สุข) 

๓. ตติยฌาน ปล่อยวางปีติเพราะวางเฉยเสียได้ เสวยสุขที่มีอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง 

๔. จตุตถฌาน ปล่อยวางสุข ทุกข์ ความดีใจเสียใจที่มีอยู่ ด้วยการวางเฉย ด้วยสติอันบริสุทธิ์ ซึ่งนับเป็นความสงบขั้นสูงสุดเพราะได้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ หมดสิ้น หมายความว่า ในขณะนี้จิตได้พ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่ง นับว่าเป็น วิโมกข์ คือ 

๑. อนิมิตตวิโมกข์ พ้นจากนิมิตหมายที่เห็นว่า อารมณ์เที่ยง
๒. อัปปณิตหิตวิโมกข์ พ้นจากการเข้าไปมีที่ตั้งว่า อารมณ์เป็นสุข 
๓. สุญญตวิโมกข์ พ้นจากการเห็นว่า อารมณ์เป็นอัตตา

จิตได้แยกตัวออกจากอารมณ์ด้วยอํานาจสัมมาสมาธิ จัดเป็นเจโตวิมุติ คือเข้าสู่เขตติดต่อระหว่างโลกียะกับโลกุตระ ซึ่งฝ่ายพระอภิธรรมเรียกว่า โคตรภู  ถ้าหากปฏิบัติต่อไปอีกด้วยความพากเพียรและเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว สัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นมรรคองค์สุดท้าย ก็ย่อมทําหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์เฉพาะหน้าตามลําดับ จัดเป็นปัญญาวิมุติในพระศาสนานี้

ส่วนการปฏิบัติสมาธิในศาสนาอื่นนั้น มุ่งผลในทางให้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จิตยึดถืออารมณ์อย่างแนบแน่น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น จึงเป็นเอกัคคตาอยู่ มีการนําพาผู้ปฏิบัติให้ไปดูนรก ดูสวรรค์ ดูเทวดา เห็นเทวดาแต่งตัวมีชฎา เห็นพระเจดีย์จุฬามณีคล้ายๆ กับพระปฐมเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ เสด็จลงมาโปรด เห็นตัวเลขหวยเบอร์ เห็นจิตเป็นสีเหลือบใสๆ คล้ายสีปีกแมลงทับ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างมโนภาพเข้ามายึดถือ แทนที่จะปัดอารมณ์ดังกล่าวเหล่านี้ออกไปให้หมด ทําให้ยึดติดอยู่กับอารมณ์หนักยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

ดังนั้น สมาธิในศาสนาอื่นจึงไม่ใช่บาทฐานที่ทําให้เกิดปัญญาเลย ผู้ที่หวังความพ้นทุกข์จึงต้องเพิก (เลิก) การเพ่งอารมณ์ภายนอกเสีย แล้วเปลี่ยนมาเพ่งอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ แทนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าสมาธิแล้ว ย่อมเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่จะต้องให้ผลก่อนกรรมอย่างอื่นในภาคโลกียะนี้ ถึงแม้จะเป็นสมาธินอกพระศาสนาก็ตาม เพียงแต่ยังไม่พ้นทุกข์เท่านั้น

🌷 อัญญาวิโมกข์ (ความหลุดพ้นเพราะรู้ตามความเป็นจริง)

เมื่อปฏิบัติสมาธิ มาจนกระทั่งจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องจําทางไว้ให้แม่นยําที่สุด พร้อมที่จะเข้าถึงได้อีก ทุกขณะที่ต้องการ เมื่อมีอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์เกิดขึ้นเมื่อใด ก็ใช้พลังสติ คอยตัดความยินดียินร้ายออกไป พร้อมกับเข้าสมาธิสงบถึงขีดสุดทันที จึงจะไม่ถูกอารมณ์พาไปเศร้าหมองได้ ไม่ใช่ว่าพอเลิกปฏิบัติสมาธิก็เลิกกันอย่างสิ้นเชิง พอจะปฏิบัติใหม่ก็ต้องเริ่มต้นกันอีกทุกครั้ง ดังที่เป็นกันอยู่ส่วนมากในปัจจุบันนี้ การปฏิบัติธรรมจึงไม่ก้าวหน้าดังที่ตั้งใจ 

มีพทธพจน์ที่มาในจูฬนิเทศ ข้อ ๔๔๕ ขุททกนิกายแห่งพระสูตรเล่ม ๓๐ ตรัสไว้ดังนี้ คือ  "อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ อญฺญาวิโมกฺขํ สํ พฺรูมิ อวิชฺชายปฺปเภทนํ แปลว่า เมื่อมีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ดีแล้ว จงตรึกถึงธรรม (อารมณ์) ที่จะมีมาข้างหน้า เรากล่าวว่านั่นเป็นเครื่องทําลายอวิชชา"

หมายความว่า นับตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไปเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ซึ่งได้รับการอบรมให้มีขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิ เพื่อปล่อยวางความยินดียินร้ายอันเนื่องด้วยอารมณ์ให้ได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาทางอายตนะทางใดก็ตาม เพียงแต่รู้แล้วก็วางเฉยเป็นอุเบกขาด้วยอำนาจสมาธิ (จิตตั้งมั่น) ตลอดไป เมื่อทําเช่นนี้แล้ว อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ก็ย่อมดับไปเองเป็นธรรมดาตามลําดับ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมาธิกับปัญญานี้จะเป็นอัญญะมัญญะปัจจัยซึ่งกันและกัน เมื่อได้ฝึกสมาธิมาดีแล้วเสมอ เราเรียกจิตที่ไม่ซัดส่ายหวั่นไหวไปตามอารมณ์ว่ามีสมาธิ และเรียกจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เสียได้ว่ามีปัญญา จะมีมากหรือน้อยย่อมแล้วแต่พลังสมาธิที่มี

🌷 ปัญญา กับ สัญญา 

การเรียนวิทยาการทางโลกจนกระทั่งได้รับปริญญายาวเหยียด และการเรียนวิชาศีลธรรมภาคปริยัติด้วยนั้น ต้องอาศัยการท่องจําเป็นใหญ่ เรียกว่า สัญญา (ความจําได้หมายรู้) คือเป็นเพียงเพิ่มความจําได้หมายรู้ให้มากขึ้น และยึดติดในวิทยาการนั้นเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มปัญญาในการปล่อยวางความยึดถือในอารมณ์ต่างๆ ให้มากขึ้นตามไปด้วยแต่ประการใด

🌷 🌷 🌷 

ในตอนต้นแห่งพระธรรมเทศนา อาตมาภาพเห็นว่าได้กล่าวถึงเรื่องอนัตตธรรม มามากพอสมควรแล้ว น่าจะยุติลงได้ แต่สืบเนื่องจากเมื่อเช้าได้ฟังธรรมเทศนาของอาจารย์ท่านเดิม แต่คราวนี้เตลิดไปไกลสุดสงสารกว่าที่คิด เพราะอนัตตธรรมที่ท่านให้ความหมายไว้ว่า บังคับบัญชาไม่ได้นั้น ก็นับว่าถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เที่ยวนี้ท่านไปไกลกว่านั้น เกินขอบเขต โดยนำเอาพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระสัพพัญญู เป็นผู้เห็นโลกอย่างแจ่มแจ้ง กลับทึกทักเอาเองว่า พระพุทธองค์เองก็ยังไม่อาจพ้นจากอนัตตธรรมได้เช่นกัน ที่ให้ความหมาย อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ว่า แม้พระองค์ก็หนีไม่พ้นเรื่องความตาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ชราคร่ำคร่า เพราะพระองค์บังคับบัญชารูปร่างกายที่จิตของพระองค์อาศัยอยู่ไม่ได้ 

นี่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อาจารย์ท่านนั้น เอารูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่สมมุติขึ้นมานั้นเป็นตัวตนของพระพุทธเจ้า ทั้งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนในอนัตตลักขณสูตรว่าด้วย "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปร่างกายของพระองค์นั้น) นั่นไม่ใช่เรา ไม่เป็นไร ไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา)" แม้พระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนานี้ยังเข้าใจได้เลย โดยเฉพาะในครั้งกระนั้นได้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกพร้อมกันทีเดียว ๖ รูป รวมทั้งพระพุทธองค์

เนื่องจากอนัตตธรรมนั้น เป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ เพราะท่านได้เข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปนามหรือขันธ์ ๕ ส่วนที่เป็นตนคือจิตที่วิมุติหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดในเรื่องโลกว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นย่อมมีอันดับไปเป็นธรรมดา เช่นกัน" เป็นโลกียะสัจ (ความจริงในโลก) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 

ส่วนพระอรหันต์ท่านย่อมเข้าถึงแล้วซึ่งโลกุตระสัจ (ความจริงที่เหนือโลก พ้นโลก ไม่ติดอยู่ในโลกอีกแล้ว) เพราะมารู้จักตนด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุขและทุกข์ จึงได้ปฏิเสธรูปร่างกายที่มีจิตครองนี้ว่า  นั่นไม่ใช่เรา (จิต) นั่นไม่เป็นเรา (จิต) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต) พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้จักอนัตตธรรมเป็นอย่างดี รู้จักกายที่แท้จริง ดังที่พระองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า จิตคือเรา 

พระวักกลิ เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ เข้าบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา ที่เข้าใจผิดว่ารูปร่างกายนี้คือเรา (พระพุทธเจ้า) จึงได้ตามเสด็จพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่า ได้เข้าใกล้ชิดและเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจของพระวักกลิเรื่องนี้อยู่ เมื่อได้โอกาสจึงตรัสว่า 

วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเราว่าเป็นเรา และกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอ ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แตกต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่ที่นี่ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเราห่างกันไกลกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว วักกลิ เมื่อเธอต้องการจะเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราจะบอกทางให้ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า "โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ แปลว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่าจิตคือธรรม คือเรา ส่วนรูปร่างกายไม่ใช่เรา แต่เป็นที่อาศัยของเราเท่านั้น

คติธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ในอัตภาพร่างกายของคนและสัตว์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีกายซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น คือ กายธรรม (จิต) ๑ กายทิพย์ (นามกาย) ๑ กายเนื้อ (รูปกาย) ๑

๑. กายธรรม (จิต) เป็นกายชั้นในสุดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ และดำรงไว้ซึ่งความรู้ของตนเองตลอดทุกกาลสมัย โดยมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยทำให้มีให้เป็นเลย แลเห็นด้วยตาเนื้อไม่ได้ ความรู้ของคน ก็รู้อย่างคน ความรู้ของสัตว์ ก็รู้อย่างสัตว์  ความรู้ของพระพรหม ก็รู้อย่างพระพรหม ต่างกันเป็นพวกๆ ไป

มีปรากฏในอัคคัญสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า กายธรรมก็ดี กายพรหมก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของตถาคตทั้งสิ้น ไม่เคยเกิดไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย

กายธรรม นี้เมื่อได้เข้ามาอยู่ในโลก คือเป็นคนหรือเป็นสัตว์ก็ดี ก็เป็นประธานของสังขารธรรมทั้งหลาย และมีคุณภาพปราดเปรียวว่องไวในการเคลื่อนตัวไปรับรู้อารมณ์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่มีวัตถุทึบอย่างใดขวางกั้นไว้ได้เลย และอยู่เหนือการเกิดการตายของสังขารธรรมอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ กายธรรมเป็นอมตธรรม

๒. กายทิพย์ หรือนามกาย หรือนามรูป หรือทิพยกาย หรือโอปปาติกะ หรืออทิสสมานกาย มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ เป็นกายละเอียดที่ห่อหุ้มกายธรรมไว้

กายทิพย์ เป็นกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดถึงอารมณ์ไว้ ดังนั้น จึงสามารถเคลื่อนไหวออกจากความรู้สึกนึกคิดเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง ได้อย่างปราดเปรียวเหมือนกายธรรม และเปลี่ยนคุณภาพเป็นผ่องใสบ้าง เศร้าหมองบ้างตามความคิดปรุงแต่งให้เป็นไป ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน ตลอดเวลาที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร

แต่ถ้าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จนแยกเรื่องที่นึกคิดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง จนบรรลุอรหัตตผลแล้ว กายทิพย์จึงแตกตายสนิท ดังนั้น เมื่อรูปกายเนื้อแตกตาย ก็จะไม่มีกายทิพย์ จุติ - ปฏิสนธิ ต่อไปอีกเลย

๓. กายเนื้อ หรือรูปกาย เป็นกายหยาบ ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดจากบิดามารดา เติบโตด้วยข้าวสุก ขนมสด มีทวาร ๕ แห่งสำหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส มีอายุยืนเพียงชาติเดียว สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ตาย กายเนื้อ สามารถแลเห็นได้ด้วยตา เป็นกายชั้นนอกที่สุดของคนและสัตว์ทั้งหลาย

สรุป ในอัตภาพร่างกายของทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีจิตหรือกายธรรมเป็นประธาน ซ้อนอยู่ภายในกายทิพย์ และกายทิพย์ก็ซ้อนอยู่ภายในกายเนื้อ รวมเป็น ๓ ชั้นด้วยกัน กายทั้ง ๓ ชั้นนี้ มีความเป็นอยู่เกี่ยวเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันตลอดเวลา เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันออกพรรษา ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔




Create Date : 22 ตุลาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:20 น.
Counter : 127 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์