bloggang.com mainmenu search
ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) หากนิยามแบบกว้าง ๆ ซอฟต์ พาวเวอร์ก็คืออำนาจโดยปราศจากกำลังทางทหาร (Non-military power) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางวัฒนธรรม ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซอฟต์ พาวเวอร์คืออิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความนิยมชมชอบ มุมมอง แนวคิดของผู้คน

ซอฟต์พาวเวอร์ มีลักษณะสำคัญคือการที่ทำให้คนอื่นชื่นชอบ ด้วยการเชิญชวน ไม่ใช่ด้วยการบังคับให้ต้องชอบ หรือยัดเยียดให้คนอื่นต้องเห็นคล้อยตาม แต่ต้องทำให้มีความน่าสนใจ น่าตื่นตาตื่นใจ จนคนหลงใหลไปกับมัน

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ได้ค่อนข้างเก่ง โดยเฉพาะในการ์ตูนอนิเมชั่น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการส่งออกไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ทางตะวันตกอย่างในยุโรป อเมริกา ซึ่งมันก็ได้ผล ทำให้คนที่ได้รับชมเห็นแล้วรู้สึกอยากไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ อยากทาน หรืออยากทำอะไรก็ตามแบบในการ์ตูน เพื่อตามรอยการ์ตูนเรื่องที่ตนเองชอบ ดังจะเห็นได้จากโตเกียวโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งนักกีฬาหลายๆ คนแสดงออกอย่างชัดเจน




"แผนที่ท่องเที่ยวตามรอยการ์ตูนอนิเมะ"




คุณคิดว่าคนญี่ปุ่นจริงจังกับเรื่องที่ดูเหมือนเรื่องเล่นๆ แบบนี้มากแค่ไหน? เขามีเป็น เว็ปไซด์ หรือจะโหลดเป็น App ไปใช้เพื่อตามรอยการ์ตูนเลยก็สามารถทำได้

จุดที่น่าสนใจคือ สถานที่ท่องเที่ยว เราจะเห็นได้ว่าการ์ตูนแต่ละเรื่อง เนื้อเรื่องตั้งอยู่บนภูมิภาคที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลดีในการเซตตำแหน่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทัศนศึกษา การท่องเที่ยว ถ้าเป็นทางฝั่งคันโตที่พานักเรียนไปเที่ยว เกียวโต โอซาก้า นารา ไปชมวัดทองคำ คิโยมิสึ ดูกวาง หรือทางคันไซพาไปเที่ยว ฮอกไกโด หรือโอกินาว่าซะเลย เรามักจะเจอฉากเหล่านี้ในการ์ตูนหลายเรื่อง

ที่กล่าวมาข้างต้นการนำตัวละครไปเที่ยวในสถานที่ยอดนิยมที่มีอยู่ แต่ความยอดเยี่ยมในการเที่ยวตามรอย คือการไปในสถานที่ซึ่งแต่เดิมเป็นสถานที่ที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีชื่อเสียง หรือเป็นแค่ฉากหนึ่งที่ตัวละครในการ์ตูนเดินผ่านเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นพื้นที่ผู้คนมากมายเดินทางไปชมไปสัมผัสด้วยตัวเองต่างหาก หลายคนเที่ยวตามรอยการ์ตูน โดยไม่สนแหล่งท่องเที่ยวหลักทั่วไปก็มี ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นและไม่ใช่แค่ผู้ชมในประเทศ แม้แต่คนต่างชาติก็ตามรอยกันไม่น้อยเลย คนไทยก็มีนะ ที่ไปเที่ยวตามรอย


ตัวอย่างจากกระทู้ในพันทิป แค่เข้าไปดูก็สนุกตามแล้วครับ
ความทรงจำของเคียวอนิ อนิเมเปื้อนยิ้ม และความอบอุ่น Lucky Star, Maid Dragon
อนิเมชั่นของญี่ปุ่นที่ใช้สถานที่จริงเป็นต้นแบบภาพในเรื่อง
ฉลองอนิเมภาคสองของ Yuru Camp



หรือแม้แต่ เส้นทางแสวงบุญที่ย่านอากิบะในโตเกียว ที่ปกติมีคนไปเที่ยวมากอยู่แล้วก็ยิ่งตอกย้ำให้กลายเป็นสถานที่ที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง แต่หากจะกล่าวถึงงานที่เป็นอีเว้นต์การ์ตูนซึ่งเป็นงานที่เฉพาะทางมากๆ อย่างงาน คอมิเกะ ก็มีคนต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ตามรอย คนไทยไปลุยด้วยตัวเองก็ยังมีเลย

ประสบการณ์เที่ยวComiket


"อันนี้เจ๋งดีครับ ทำเป็นคลิปตามรอย Love Live! Sunshine!! เลย มี 4 ตอน"






สิ่งหนึ่งที่ผมเสียดายแทนคนไทย คือ โรงภาพยนตร์สกาล่าของไทย ที่ไปโผล่ในอนิเมะนิจิกะซากิ! ครับ ญี่ปุ่นช่วยสร้างจุดขายเพิ่มให้โดยโยงกับอนิเมะ แต่เรากลับทำลายทิ้งเสียได้ โดยในอนิเมะเรื่อง Love Live! Nijigasaki High School Idol Club ซีซั่น 2 ตอนที่ 13 ชื่อตอนว่า "ความตื่นเต้นเร้าใจ จงก้องกังวาน" ได้มีการนำโรงภาพยนตร์ของประเทศต่างๆ ที่เคยฉายคอนเสิร์ต「First Live "with You"」มาไว้ในตอนนี้ด้วย แน่นอนว่าที่ประเทศไทยฉายที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ก็มีโรงภาพยนตร์สกาล่าปรากฎให้เห็น โดยคอนเสิร์ตคนแสดงจริงชื่อ「First Live "with You"」ฉายที่โรงภาพยนตร์สกาล่าในวันที่ 5 มกราคม 2563 ส่วนคอนเสิร์ตเวอร์ชั่นอนิเมะก็ใช้ชื่อ「First Live "with You"」เช่นกัน



"โรงภาพยนตร์สกาล่าในอนิเม แต่เปลี่ยนชื่อเพื่อไม่ให้โดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์"



"โรงภาพยนตร์สกาล่า ที่เป็นสถานที่จริง ปัจจุบันทุบทิ้งไปแล้ว"




อาหาร ก็จัดเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในการ์ตูนญี่ปุ่นก็มีให้เห็นมากมาย ความจริงแล้วมันก็เป็นแค่อาหารที่คนทั่วไปกิน และหาซื้อได้ทั่วไปนี่แหละ อาหารบางอย่างพอเราเห็นแล้วเรานึกถึงตัวละครบางตัวขึ้นมาเลยก็มี



"อาหารบางอย่างก็ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น แต่ก็สามารถใส่เข้าไปได้"


จากตัวอย่างที่เห็น ผมเห็นอิสุมิผมนึกถึงช็อกโกโคโรเน็ตทันที ภาพมันลักษณ์มันติดตา เมื่อผ่านร้านขายขนมปังยามาซากิผมซื้อทานเลยครับ ช่วงนั้นยังไม่มีแบบ ช็อกโกโคโรเน็ต มีแต่โคโรเน็ตครีม ก็ซื้อแบบครีมนี่แหละ คือมันอยากรู้ว่าความรู้สึกที่อิสุมิมันกิน มันรู้สึกอย่างไร



"ค่อนข้างหลากหลายเลยนะ ทั้งที่มันก็เป็นแค่อาหารทั่วไป"


ภาพในส่วนนี้เห็นได้ค่อนข้างชัดจากขนม โดรายากิ ที่หลายๆ คนเรียก ขนมโดราเอมอน มันเป็นที่รู้กันไปแล้วว่าพูดถึงขนมชนิดนี้จะนึกถึงโดราเอมอนขึ้นมาก่อนเลย



"บางครั้งก็มีความร่วมมือระหว่างแบรนด์ แบบกรณี PIZZA HUT หรือจะเรียกมีฮาร์ดเซลล์ก็ไม่ทราบ"


พูดถึงซีทู ก็ยากที่จะไม่นึกถึง PIZZA HUT ในการ์ตูนอาจดูฮาร์ดเซลล์ไปหน่อย หรือจะมองว่าเป็นความร่วมมือกัน ก็อาจมองแบบนั้นได้เหมือนกัน มีช่วงหนึ่งที่ญี่ปุ่น แข่งกัน 2 เจ้าแบบรุนแรงมาก แน่นอนว่าพี่ไทยก็รับในส่วนนี้มาด้วย โปรโมชั่น นารายณ์พิซเซอเรีย

แต่ภาพของอาหารบางอย่างก็ไม่ชัดเจนเหมือนกัน เนื่องจากตัวละครที่กินอาหารประเภทนั้นๆ มีเยอะ อย่างเช่น กรณีของราเมนที่หลายๆ คนอาจนึกถึง นารูโตะมากกว่า



"เต้าหู้ อูด้ง ก็ยังใส่มาได้ ของพื้นๆ นี่แหละ"


จากภาพที่เห็นอาหารก็เป็นอาหารทั่วๆ ไปที่สามารถหาซื้อได้สะดวก ใครจะไปบ้ากินซูชิกันทุกวัน มันแพงนะ คนญี่ปุ่นยังไม่ทำเลย ก็ไม่ต่างจากของไทยหรอกใครจะบ้ากินต้มยำกุ้งทุกวัน แม้จะมีก็เถอะ แต่มันไม่ใช่วิถีปกติที่วิญญูชนจะทำหรอก






"เมดคาเฟ่ @home ที่ญี่ปุ่น"


วัฒนธรรมที่ยืมมา ของหลายอย่างที่หยิบมาขายไม่จำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่จะหยิบมาใช้เสียมากกว่า เช่น วัฒนธรรมเมด การเปิดร้านเมดคาเฟ่ ซึ่งไม่ใช่ของญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นกลับหยิบมาใช้จนกลายเป็นว่า ถ้าพูดถึงเมด ผู้คนไม่น้อยก็จะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น

สาวใช้ในการ์ตูน
[รีวิว] Maid café maidreamin


สิ่งที่จะเอามาขายมันไม่จำเป็นต้องเป็นของไทย 100% หรอก มันอยู่ที่ว่าเราจะหยิบอะไรมาขาย อย่างเช่น เสื่อโยคะ ที่ผลิตที่อเมริกา ทั้งที่โยคะเป็นของอินเดีย อีกอันที่ผมมองว่าเหลือเชื่อคือ โรตีราดนมโรยน้ำตาล ที่ขายในจีน คนจีนติดป้ายเลยว่าของไทย คุณอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกแต่รู้หรือไม่ว่า เหล้าชื่อดังอย่างเหล้า อะวาโมริ ของจังหวัดโอกินาวา กลั่นจากข้าวเจ้าไทย น่าขำจริงๆ สำหรับเรื่องนี้







กล่าวถึงมุมมองการ์ตูนญี่ปุ่นไปแล้ว มาดูที่การ์ตูนหรือภาพยนตร์ของไทยบ้าง หลายเรื่อง มันไม่มีมิติเลย มีแต่จะยัดความเป็นไทยเข้าไปจนมากล้น ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว แบบนั้นมันไม่ใช่ซอฟต์ พาวเวอร์แล้ว

ถ้าดูการ์ตูนแนว Slice of Life (เยียวยาจิตใจ) เยอะ จะเห็นเลยว่าเขาไม่ได้พยายามใส่วัฒนธรรมเข้าไปเท่าไหร่เลย ก็แค่การใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป โดยที่ยังดูมีมิติของเรื่องราวไม่ใช่ยัดห่า ในขณะที่ของบ้านเราเรื่องราวเกิดที่พื้นไหน (ก็ไม่ทราบ) อยู่บ้านทรงไทย (แสดงว่ามีฐานะ ไม้สักทั้งหลัง แต่ทำไมดูจน) ใส่ชุดไทย (แต่เดินตามท้องถนนไม่ค่อยเจอนะ) คือมันขัดแย้งไปหมด มันดูไม่มีมิติของความเป็นเรื่องราวจนทำให้ดูเฟค



สำหรับการ์ตูนแนว Slice of Life เราจะตัดประเด็น "Cute Girls Doing Cute Things" (ต่อไปนี้จะเรียก CGDCT) เพราะถือเป็นจุดร่วมในแต่ละเรื่อง โดยเราจะเข้าไปดูเรื่องราวว่าในเรื่องนั้น ตัวละครในเรื่องทำอะไรกันบ้าง หลายคนอาจไม่ค่อยชอบแนว CGDCT แต่ผมมองว่า ดูของสวยๆ งามๆ หรืออะไรที่มันน่ารักดีกว่าดูอะไรที่น่าเกลียดนะครับ




"เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในเรื่อง มีอยู่จริงนะ"


เค อง
สำหรับเค องเป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่ต้องการจะก่อตั้งชมรมดนตรี K On ขึ้นมา ในเรื่องไม่ค่อยเล่นเกี่ยวกับตนดรีเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่เราจะเห็นในเรื่องนี้คือ เครื่องดนตรีทุกชิ้นในเรื่องมีของจริงครับ ไม่ใช่วาดออกมามั่วๆ เรียกได้ว่าถ้าอยากจะเล่นดนตรีตามในการ์ตูนก็สามารถทำได้ แต่ราคาต่างหากที่อาจเป็นปัญหา

เครื่องดนตรีของ Yui : กีต้าร์ Gibson 1999 Les Paul Standard SB ราคาอยู่ที่ราวๆ 250,000.- เยน
เครื่องดนตรีของ Mio : เบส Fender AMERICAN VINTAGE '64 JAZZ BASS ราคา 262,500.- เยน
เครื่องดนตรีของ Ritsu : กลองชุด Yamaha Hipgig ราคา 237,300.- เยน
เครื่องดนตรีของ Tsumugi : คีย์บอร์ด Korg Triton Extreme 76-key ราคา 160,259.- เยน
เครื่องดนตรีของ Azusa : กีต้าร์ Fender Japan Mustang MG69MH ราคา 74,760.- เยน (เหมือนจะถูกสุดแล้ว)



"ตะเกียงที่นาเดชิโกะซื้อ เทียบกับของจริง"


Yuru Camp
เป็นเรื่องราวของสาวๆ ที่ชื่นชอบการตั้งแคมป์ โดยเน้นที่ชิมะ ริน ผู้ชอบเดินทางตั้งแคมป์ค้างแรมในทะเลสาปใกล้ภูเขาไฟฟูจิเพื่อชมทิวทัศน์ที่สวยงาม เธอออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ที่สามารถมองเห็นภูเขาไฟฟูจิได้ มีครั้งหนึ่งเธอได้พบกับ นาเดชิโกะ สาวน้อยที่พึ่งย้ายมาใหม่ และสนใจการตั้งแคมป์เหมือนกัน จึงเริ่มสนิทกันภายหลัง

เรื่องนี้สิ่งที่แทรกเข้าไปคือเรื่องการตั้งแคมป์อย่างไม่ต้องสงสัยเลย พวกอุปกรณ์แคมป์ในเรื่องก็มีขายจริง ซึ่งราคาก็ไม่ใช่เล่นๆ เหมือนกัน แน่นอนว่าจุดตั้งแคมป์ในเรื่องก็เป็นของจริง รวมไปถึงทริคบางอย่างในการตั้งแคมป์ในเรื่องก็แทรกเข้ามาได้อย่างแยบยล



"ร้านขายขนมแบบสมัยก่อนของญี่ปุ่น"


สาวใสหัวใจบ้านทุ่ง
เป็นเรื่องราวของอิจิโจว โฮตารุที่ต้องย้ายบ้านจากโตเกียวเมืองหลวงที่แสนเจริญ ไปอยู่ชนบท ซึ่งสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากในเมืองอย่างสิ้นเชิง ทำให้เธอได้พบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาได้ในเมือง

เรื่องนี้ดูไม่มีอะไรขายได้เลย ขายความบ้านนอกครับ บรรยากาศบางอย่างแบบยุค 90 ที่หาไม่ได้จากในเมือง เล่นกับเพื่อน ร้านขนมที่ไม่ใช่ห้าง ที่สำคัญมีสถานที่จริงในเรื่องเช่นเดียวกับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ




เรามาดูเรื่องอื่นที่ไม่ใช่แนว Slice of Life กันบ้าง



"เสื้อคลุมที่มีเอกลักษณ์ของเรื่องดาบพิฆาตอสูร"


ดาบพิฆาตอสูร
เรื่องนี้แนวแฟนตาซีเลยครับ ปราบปีศาจ เรื่องนี้ถือว่าแยบยล และน่าสนใจในส่วนของสินค้าที่ผลิตออกมาวางจำหน่าย เช่นพวกเสื้อคลุมที่มีการตัดแปลงและใส่เอกลักษณ์ใหม่ๆ ลงไปจนเป็นเอกลักษณ์ของเรื่องซึ่งเห็นแล้ว หลายๆ คนจะนึกถึงตัวละครในเรื่องนี้ทันที ในขณะที่วัฒนธรรมของไทยเรานั้น หยิบจับดัดแปลงแทบไม่ได้ แล้วเราจะขายอะไร? แค่ทศกัณฐ์หยอดขนมครกแทบไม่ได้ดัดแปลงอะไร ยังเป็นเรื่องเลย



"วัฒนธรรมไอดอล"


เลิฟไลฟ์
เรื่องนี้เนื้อเรื่องจะประมาณว่าโรงเรียนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากมีนักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยลง จนอาจจะต้องปิดตัวลง จึงมีนักเรียนที่เรียนอยู่ร่วมมือกับเพื่อนๆ เพื่อหาหนทางที่จะช่วยให้มีนักเรียนเข้ามาสมัครมากขึ้น หนทางนั้นก็คือ การที่พวกเธอจะต้องเป็นสคูลไอดอลที่โด่งดังให้ได้!

ซีรี่ย์เลิฟไลฟ์ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือขายวัฒนธรรมไอดอล ซึ่งดัดแปลงจากไอดอลในสมัยก่อนจนแทบไม่เหลือภาพเดิมๆ เลย จะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมที่พึ่งสร้างก็อาจจะเรียกแบบนั้นได้




จะเห็นได้ว่าการ์ตูนแต่ละเรื่อง มันมีจุดที่ดึงออกมาขายได้ โดยการใส่ความสมจริงลงไปบ้าง แต่ไม่ต้องพยายามจะขายจุดสำคัญในเรื่องให้มากนัก แค่กล่าวถึงบ้างเป็นบางครั้งก็พอ ที่สำคัญของใช้ที่ในเรื่องที่ต้องการจะขาย มันต้องเป็นของที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ของสมมติ สถานที่ส่วนมากก็ควรเป็นสถานที่จริง แต่อาจเอามาดัดแปลงก็เท่านั้น จะบอกเป็นเมืองสมมติก็ได้ แต่ต้องให้คนดูรู้ไว้หน่อยว่ามันอยู่ในพื้นที่บริเวณไหนของโลก

อีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การดัดแปลงวัฒนธรรมเดิมพวกลายเสื้อคลุมที่ดูแปลกตา การดัดแปลงลักษณะนี้มันคือความก้าวหน้า คนเห็นแล้วก็จะนึกถึงเสื้อคลุมแบบเก่า (คนไม่ลืมของเก่าหรอก) และของใหม่ก็สามารถขายได้ด้วย เรียกได้ว่า โคตรจะวินวินเลย วัฒนธรรมที่แตะต้องไม่ได้ดัดแปลงอะไรไม่ได้เลย มันก็คือวัฒนธรรมที่ตายแล้ว ขาดก็แค่รอให้คนรุ่นใหม่ลืมมันไปก็เท่านั้น

ที่กล่าวมายังไม่รวมวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่พึ่งสร้างของเรามีในส่วนนี้หรือไม่เป็นคำถามที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายควรนำไปขบคิด ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย เราพยายามเน้นความเป็นไทยเหลือเกิน จนกลายเป็นยัดเยียดสิ่งที่ต้องการขายแบบนี้ยิ่งกว่าฮาร์ดเซลล์อีก ทั้งที่คุณดูสิ มิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วง มันก็แค่ข้าวเหนียวมะม่วง ของพื้นๆ มาก มันสำคัญที่การไม่พยายามยัดเยียดเข้าไปเพื่อทำการขาย


"ฝาท่อตัวละครต่างๆ ของเรื่อง Love Live! Sunshine! ในเมือง"


แค่ฝาท่อ กับเรื่องราวในการ์ตูนก็สามารถขายได้แล้ว กับการตามหาฝาท่อ Love Live! Sunshine! แล้วคิดว่าคนที่เป็นแฟนจะพลาดหรือ? ต่อให้ไม่ใช่แฟนเห็นยังอยากตามให้ครบเลย บล็อกตามรอยฝาท่อ มีคนตามรอยจริงด้วยนะ




"จังหวัดกิฟุ ชิราคาว่า"




อีกอันหนึ่งที่ผมมองว่าน่าสนใจ และมองว่าทางญี่ปุ่นประยุกต์การท่องเที่ยวกับการ์ตูนได้ดี คือ โปรเจค Always with you จากเรื่อง "ขาดคุณนางฟ้าข้างห้องไป ผมคงมีชีวิตต่อไปไม่ได้อีกแล้ว" ซึ่งนำตัวละครอย่าง มาฮิรุ นางเอกของเรื่องไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ลองคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้เลย เขาถ่ายภาพสวยนะ แค่เข้าไปดูอย่างเดียวก็เพลินแล้ว (แต่มันดันทำให้เรารู้สึกอยากไปเที่ยวด้วยนี่สิ)

ไหนๆ ก็พูดถึงจังหวัดกิฟุ ชิราคาว่า หมู่บ้านนี้เป็นต้นแบบของหมู่บ้านแถบชนบทที่ชื่อว่าฮินามิซาวะ จากเรื่องยามเมื่อเหล่าจักจั่นกรีดร้องด้วยนะครับ





กลับมาดูที่ประเทศเราบ้าง อาหารไทยอย่าง ต้มยำกุ้ง คุณกินประจำเหรอ? เราเน้นในส่วนนี้เกินไปหรือไม่ทั้งที่ถ้าดูในชีวิตประจำวันแล้ว อาหารที่คนไทยกินประจำคืออะไร? ข้าวราดแกง ข้าวเหนียวหมู่ปิ้ง กล้วยแขกไงครับ ผลไม้รถเข็นไงครับ นี่แหละวิถีชีวิตจริงที่ไม่เฟค นวดไทย คุณนวดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? คนไทยนวดบ่อยแค่ไหน? กี่มากน้อย? มวยไทย ทุกคนรู้จักทุกคนทราบ แต่ความหมายท่ารำ ท่าต่างๆ ชื่อท่า ความสนุกในการรับชม มีคนรู้ข้อมูลนี้มากน้อยเพียงใด ในเมื่อมวยไทยแทบจะไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันเลยถ้าคุณไม่ได้เป็นคนชอบดูมวย กิจกรรม หรือวิชาพละในโรงเรียนยังไม่มีเรียนเลยด้วยซ้ำ

ละครไทย ภาพยนตร์ไทย หลายเรื่องตัวละครไร้มิติมาก แม้ว่าตอนนี้เราจะขายในเอเชียได้มากขึ้นก็ตาม (ซีรี่ย์ Y แต่รัฐก็ไม่ค่อยสนับสนุน) คำถามคือเราจะเปิดตลาดใหม่ได้อย่างไร ข้อนี้มันก็วนไปที่เรื่องที่ได้กล่าวมา ละครไทย หลายเรื่องเดินเรื่องส่วนไหนของประเทศไทย ในเรื่องไม่ได้กล่าวถึง หรือแม้แต่คนเขียนบทยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ยิ่งไม่ต้องพูดในเรื่องการตามรอยเลย





ซอฟต์ พาวเวอร์ไทย ถ้าอยากขายได้ต้องปรับปรุงอีกมาก ที่สำคัญเราดัดแปลงวัฒนธรรมที่จะเอาไปขายได้หรือไม่? ตัวอย่างพวกโขนหรือท่ารำ แค่ดัดแปลงนิดเดียวก็จะเป็นจะตายกันแล้ว ถ้าเรายังติดอยู่ในจุดนี้ก็ยากที่จะเอาไปขายได้อย่างที่ภาครัฐวาดฝันไว้ ที่ออกมาพูดในส่วนนี้ไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านหมดกำลังใจ แต่เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ และความยากลำบากในการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ไทย เรายังคิดแต่จะขายแต่ของเก่าๆ ไม่ขายของใหม่เลยอย่างนั้นหรือ? อะไรก็ตามที่ไม่มีการพัฒนา มันก็แค่การนับถอยหลังไปสู่จุดจบ ก็เหมือนคอมพิวเตอร์น่ะแหละไม่อัปเกรด นานไปมันก็ใช้ไม่ได้ก็แค่นั้น

สุดท้าย คำว่าซอฟต์ พาวเวอร์ของไทย มันจะไปได้ไกลแค่ไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากภาครัฐนี่แหละ ที่ผ่านมาภาคเอกชนทำเอง ชงเองกินเองเยอะแล้ว ถ้าทางภาคเอกชนได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐที่ไม่ทำตัวหัวโบราณ เราจะขายอะไรได้อีกเยอะ สวัสดี
Create Date :24 สิงหาคม 2566 Last Update :24 สิงหาคม 2566 0:35:04 น. Counter : 1526 Pageviews. Comments :35