bloggang.com mainmenu search


















กะละแม

........

ขนมหวานวันปีใหม่ไทย ขนมพื้นเมือง

ที่ทำขึ้นแล้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน

คือข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และ กะละแม

 ต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์

การกวนกะละแม ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

ใช่ว่าชาวบ้านจะนิยมกวนกันทุกปี

ส่วนใหญ่มักจะทำข้าวเหนียวแก้วบ้าง

ข้าวเหนียวแดงบ้างสลับกันไป เพราะสองอย่างนี้ทำได้ง่ายกว่า

 หรือถ้าบ้านไหนตั้งใจจะกวนกะละแม

และเป็นครอบครัวใหญ่มีญาติพี่น้องมาก

 บรรยากาศช่วงกวนกะละแม จะคึกคักเป็นพิเศษ

 ทุกคนจะช่วยกัน เตรียมการประมาณ ๒ วัน

โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลาน จะถือเป็นเรื่องสนุกสนาน

เพราะไม่เพียงแต่ได้กิน กะละแมก้นกะทะ เท่านั้น

ยังอาจจะได้กินมะพร้าวเผา อ้อยเผาอีกด้วย

 การกวนกะละแม สิ่งที่ต้องใช้ได้แก่

น้ำตาลหม้อ หรือน้ำตาลปีบ มะพร้าวและข้าวเหนียว

ก่อนวันกวน ๑ วัน ชาวบ้านจะคัดเลือกมะพร้าวห้าว

 ประมาณ ๑๐–๑๕ ลูก มาไว้เพื่อใช้คั้นน้ำกะทิ

อาศัยความชำนาญว่าข้าวเหนียว กี่ทะนานต่อมะพร้าวกี่ลูก

 และใช้น้ำตาลในปริมาณเท่าใด


ขั้นตอนแรก ต้องนำข้าวเหนียว ไปแช่น้ำเพื่อตักหยอดใส่โม่หิน

 ต้องใช้คนที่มีร่างกายแข็งแรงช่วยกันโม่

ตั้งแต่ตอนบ่าย กว่าจะเสร็จก็ตกประมาณ ๓-๔ ทุ่ม

จากนั้นก็จะทับถุงน้ำแป้ง ไว้ด้วยลูกโม่

ให้น้ำไหลออกจนเหลือเพียงเนื้อแป้งหมาด ๆ

ในวันรุ่งขึ้นประมาณตีสามตีสี่

บรรดาผู้ใหญ่ จะตื่นขึ้นมาช่วยกันทำขนม

แสงไฟจากตะเกียงลาน และตะเกียงรั้ว จะถูกจุดให้สว่าง

 เด็กบางคน อาสาช่วยขูดมะพร้าว

จากนั้นก็จะคั้นมะพร้าวขูดด้วยน้ำลอยดอกมะลิ

ใช้กรองแยกออกมาเป็นหัวกะทิ และหางกะทิ

ส่วนที่เป็นหัวกะทิ ให้เทลงกะทะใบใหญ่ เคี่ยวด้วยไฟจนแตกมัน

 แล้วตักใส่อ่างเก็บไว้

ขั้นต่อไป คือนำแป้งที่เตรียมไว้ ใส่กะละมัง

เทหางกะทิ และใส่น้ำตาลหม้อ มาผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน

เสร็จแล้วก็เทลงกะทะใบบัว คือกะทะเหล็กขนาดใหญ่

ที่วางอยู่บนเตา ใส่ฟืนให้ลุกโชน

แล้วจึงเริ่มลงมือกวนกะละแมกันตั้งแต่เช้า

 ช่วงแรกแป้งก็ยังเหลวอยู่ใช้พายด้ามเดียวก็กวนได้ง่าย

 ช่วงนี้เด็ก ๆ ที่นึกสนุก มักจะมาขอผู้ใหญ่กวน

 ต้องคอยขูดก้นกะทะเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งไหม้ติดก้นกะทะ

 และพอแป้งงวดข้นเหนียวเดือดเป็นฟองแล้ว

เด็กต้องระวังไม่ให้ฟองแตกถูกตัว

เพราะจะทำให้ผิวหนังพอง และแสบมาก

 เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ผู้ใหญ่มักจะลงมือกวนเอง

 มีการราไฟและเร่งไฟ บ้างเป็นจังหวะ

จนกระทั่งแป้งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ

แล้วค่อย ๆ เป็นสีน้ำตาลแก่

ช่วงนี้แป้งและน้ำตาลจะเหนียวหนุบหนึบขึ้นเรื่อย ๆ

จึงต้องออกแรงกวนมาก เป็นพิเศษ

ราว ๖ โมงเย็นของวันนั้น กะละแมก็จะกลายเป็นสีดำ

 และเหนียวมากจนแทบจะกวนไม่ไหว

ต้องใช้พายอันที่สอง เข้าช่วยเพราะก้นกะทะจะไหม้ได้

 ฟ้าเริ่มมืด กะละแมที่กวน ก็เหนียวได้ที่ดีแล้ว

จึงค่อย ๆ ราไฟในเตาให้อ่อนลง เพื่อป้องกันไม่ให้ก้นกะทะไหม้

จากนั้นจึงใช้พายทั้ง ๒ ด้ามตักกะละแมใส่กระด้ง

ที่ปูด้วยเปลือกกาบหมาก

เพราะกาบหมากจะช่วยให้กาละแมมีกลิ่นหอมกว่าใบตอง

 เป็นอันเสร็จขั้นตอน ในการกวนกะละแม

 เพื่อเก็บไว้กินในวันรุ่งขึ้น

เด็ก ๆ มักจะ จะคอยขูดกะละแมที่ก้นกะทะ

กินกันก่อนอย่างเอร็ดอร่อย

บางคนก็จะนำมะพร้าวอ่อนบ้าง อ้อยบ้าง มาหมกไฟ

ที่ยังพอมีเชื้ออยู่เพื่อให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น

ปัจจุบัน ประเพณีการให้ขนมปีใหม่เป็นกะละแม

ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว เริ่มไม่เป็นที่นิยมแล้ว

 เพราะคนไทยส่วนใหญ่ มักจะซื้อของขวัญอย่างอื่น

 มอบให้กันในวันปีใหม่



























ขอบคุณที่มา fb. Siriwanna Jill
ขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพค่ะ

Create Date :13 เมษายน 2558 Last Update :13 เมษายน 2558 12:49:30 น. Counter : 1991 Pageviews. Comments :0