bloggang.com mainmenu search



สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


lozocatlozocatlozocat

ศรีสวรินทิราบรมราชสดุดี


ดั่งมณีหยาดฟ้าประภาภาส
อนงค์นาถราชนารีจักรีหล้า
คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แห่งชาวไทย


เพ็ญพระเกียรติสมวงศ์พระทรงจักร
เพ็ญพระยศยิ่งลักษณ์นิรัติศัย
เพ็ญจรรยาวราวัตร จรัสประไพ
เพ็ญพระบารมีเกริกไกรในสากล


ทรงเป็นปราชญ์ปรีชาญาณสารภาษา
พระปัญญาล้ำเลิศประเสริฐผล
ทรงสืบสานบรรพ์คดีไทยให้อนุชน
ก่อกมลศรัทธาเทิดพิทูรธรรม์


ทรงส่งเสริมการศึกษาประชาราษฎร์
ธำรงรักษ์สรรพศาสตร์อย่างสร้างสรรค์
ทรงสานทุนสร้างชนผลอนันต์
เป็นมิ่งขวัญปัญญรัฐวัฒนา


ธ ดับเข็ญเย็นยุคเสกสุขศานต์
อภิบาลการแพทย์ไทยให้สง่า
ทรงสืบสานงานผ้าไหมเพื่อไพร่ฟ้า
พระเมตตาการุญรักจำหลักจาร


ธ ทรงธรรมบำรุงเมืองรุ่งเรืองศรี
บำเพ็ญพระบารมีแผ่ไพศาล
สว่างศาสน์จรรยาวัตรจำรัสกาล
สัจญาณประพาฬฟ้านรากร


คือบรมราชเทวีคือศรีฉัตร
อัครนารีรัตน์ประภัสสร
คือพระอัยยิกาเจ้าจอมภูธร
พระเกียรติเกริกกำจรประจักษ์ไกร


ห้าสิบปีเสวยสวรรค์พระพันวัสสา
พระกอปรกิจเกื้อประชามหาสมัย
ราษฎร์รำลึกสำนึกภักดิ์เป็นหลักชัย
พระปณิธานเทิดไว้ให้นิรันดร์


บทร้อยกรองจากหนังสือ "ศรีสวรินทิรานุสรณีย์"

lozocatlozocat


สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า




อัพบล็อกชวนเพื่อน ๆ ไปชมพิพธภัณฑ์พระพันวัสสาฯ และนิทรรศการอันทรงคุณค่ายิ่งต่อปวงชนชาวไทย ที่ขอแนะนำเลยว่า "ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง" ที่จริงได้ไปชมตั้งแต่ตอนตรุษจีนแล้ว มัวแต่เอ้อระเหยลอยชายจนเวลาผ่านมาเป็นเดือน ตั้งใจจะอัพตั้งแต่ต้นเดือนก็เหลวอีก กว่าจะเขียนเสร็จก็เลยเถิดมาหลายวัน แต่ก็ไม่ช้าเกินไป ยังมีเวลาให้ชมถึงปลายเดือนนี้ค่ะ

เขียนบล็อกนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าไปชมสถานที่ ๆ สำคัญทั้งในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน เวลาไปแถวสยามหรือมาบุญครอง นั่งรถผ่านวังสระปทุมก็ได้แต่มอง ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีโอกาสได้เข้าไปชมแบบใกล้จนชิด ได้เห็นสถานที่ ๆ เคยแต่ได้ดูจากภาพถ่ายเท่านั้น ได้ขึ้นไปบนพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาฯ พูดแล้วยังขนลุกอยู่เลย ตอนที่ได้เห็นเฉลียงที่ประกอบระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เรียกว่ายืนอยู่ห่างแค่มือเอื้อมก็ถึงแล้ว ได้เดินสำรวจหลายห้อง การตกแต่งเรียบง่ายแต่งดงาม สมพระเกียรติ เห็นฝีมืองานไม้และเฟอร์นิเจอร์งาม ๆ แล้วตื่นตาตื่นใจ แล้วทางเดินระหว่างหอนิทรรศการกับพระตำหนักใหญ่ จะเป็นถนนที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเดินออกกำลังกายเป็นประจำ อากาศบริสุทธิ์มากเพราะมีต้นไม้น้อยใหญ่เต็มไปหมด ไปชมแล้วประทับใจสุด ๆ บล็อกนี้เลยจัดเต็ม ร่ายยาวโลดเลย

ถ้าใครได้ไปแล้ว อย่าลืมชมห้องด้านล่างที่จัดแสดงเอกสาร และพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนี ที่น่าสนใจมากคือพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระราชบิดา ที่ทรงเขียนมาถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงทรงเลือกแต่งงานกับ น.ส.นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ อ่านแล้วน่ารักเป็นที่สุดเลยค่ะ

พอพูดว่าไปชมวัง คงมีคนคิดว่าอาจจะยุ่งยาก จริง ๆ แล้วไม่ยากเลย ตอนที่เราไปชมก็แค่โทรไปจองเวลาก่อน แล้วไปตามที่นัด จะมีเจ้าหน้าที่บอกขั้นตอนให้ทราบ ขนาดรอบสองที่เราไปช่วงบ่าย โทรไปจองตอนเช้าก็เข้าชมได้เรียบร้อย จะมีที่ติดขัดอยู่อย่างเดียวคือ ตอนแรกหาประตูเข้าไม่เจอ ต้องเบิ้ดกะโหลกตัวเองเพราะไม่อ่านข้อมูลให้ดีก่อน นึกว่าเข้าทางประตูด้านตรงข้ามกับหอศิลป์กรุงเทพฯ แต่ไม่ใช่ ต้องเข้าทางถนนที่ติดกับพารากอน เดี๋ยวตอนท้ายบล็อกจะบอกให้ทราบค่ะ ปีหนึ่งวังสระปทุมเปิดให้ชมแค่สามเดือนเท่านั้น การเดินทางสะดวก ค่าเข้าชมไม่แพง โอกาสดีแบบนี้ไม่คว้าไว้ละก็ น่าเสียดายจริง ๆ ค่ะ อ้อ เกือบลืมไป ไม่ต้องนำกล้องไปเน้อ เขาให้เก็บภาพด้วยตา ห้ามถ่ายภาพจ๊ะ


อ่านข้อมูลวังสระปทุมโดยละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
wikipedia/วังสระปทุม












ท่ามกลางย่านเศรษฐกิจที่คึกคัก มากด้วยศูนย์การค้าและโรงแรมในเขตปทุมวัน มีสถานที่แห่งหนึ่งที่สงบเงียบ ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่นานาชนิด สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “วังสระปทุม” วังในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์






โดยวังสระปทุมนั้น เริ่มมาจากที่ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันหรือถนนพระรามที่ ๑ ให้เป็นสถานที่สร้างวังของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์) พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ ๖ จึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของพระบรมราชชนกในเวลาต่อมา





สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงฉายพระรูปที่วังปารุสกวัน
กับสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาที่ยังทรงพระชนม์ชีพสองพระองค์
คือ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าฯกรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ในคราวพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕



หลังจากการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จออกมาประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดฯ ที่ดินบริเวณนี้มาก ถึงแม้ว่าในขณะนั้น บริเวณปทุมวันถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ รวมทั้งการคมนาคมก็ลำบากมาก พระองค์ทรงเตรียมการปลูกพระตำหนักที่เรียกว่า “พระตำหนักใหญ่” เพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร โดยพระองค์ทรงคิดผังพระตำหนักเอง เนื่องจากทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี





แบบจำลองพระตำหนักใหญ่ในงานนิทรรศการ



ในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่นั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวบ่อย ๆ เมื่อพระตำหนักใหญ่สร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเข้าประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เป็นการถาวร ตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘









สำหรับ “พระตำหนักใหญ่” ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น เป็นตำหนัก ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีห้องใต้ดินอีก ๑ ชั้น รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงพื้นคอนกรีตยื่นออกมาโดยรอบพระตำหนัก มีขนาดกว้างประมาณ ๒๒ ม. ยาว ๔o ม. มีความสูงจากพื้นระเบียงรอบพระตำหนักถึงยอดหลังคาประมาณ ๑๓.๕o ม. องค์พระตำหนักยกพื้นสูงกว่าระเบียงโดยรอบ หันหน้าออกไปทางทิศเหนือ (คลองแสนแสบ) มีมุขเฉลียงยื่นออกนอกองค์พระตำหนัก ๔ ทิศ โดยมีบันไดหลักขึ้นสู่ตัวอาคาร ขึ้นจากทางทิศเหนือและมีบันไดขึ้นได้อีก ๒ ทิศ บริเวณมุขด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก





พระตำหนักใหญ่ ที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาฯ



ต่อมา หลังจากที่พระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลัง เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยพระบรมราชชนกได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒






อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมา จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจนถึงปัจจุบัน






และเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า วังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และแห่งชาติ ด้วยเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และได้เป็นที่ประทับของสมเด็จย่าในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจอันเป็นแบบอย่างอันดีงามแห่งการดำรงชีวิต ที่อำนวยประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก สมเด็จพระเทพฯ จึงทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นสนองพระราชดำริ





สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดงานนิทรรศการ "บรมกษัตริย์วัฒนสถาน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อันเกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุม ที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๘ ธ.ค.๒๕๕๔






คุณชวลี อมาตยกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม กล่าวว่า นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์อย่างไรให้เป็นที่ประจักษ์






"และจากกรณีที่องค์การยูเนสโกยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุข) วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะมีมติรับรองการประ กาศร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ ๑๕o ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่ ๑o ก.ย. ๒๕๕๕"








บรรยากาศนิทรรศการบรมกษัตริย์วัฒนสถาน ณ หอนิทรรศการ




รถเข็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อทรงพระเยาว์



สำหรับการจัดแสดงแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ นิทรรศการ "บรมกษัตริย์วัฒนสถาน" ณ หอนิทรรศการ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชจริยาวัตรอันเกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุม แบ่งเป็น ๔ ส่วน ได้แก่






"ยุววารราชปวัตติ์" ในส่วนแรกกล่าวถึงพระราชประวัติ และจัดแสดงเอกสารสำคัญ เครื่องเล่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่นตอนทรงพระเยาว์ อาทิ รถลากไม้ เครื่องบินจำลอง กล้องถ่ายภาพ ปั๊มน้ำมันและอู่ซ่อมรถจำลองและเจ๊กตู้ พร้อมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์อันแสดงถึงพระอิริยาบถต่าง ๆ ในวังสระปทุม











เจ็กตู้ หรือ พารากอนเคลื่อนที่




อ่างสรงของในหลวงเมื่อทรงพระเยาว์



ส่วนที่สอง "ราชประดิพัทธภิษิต" เป็นรายละเอียดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ









ส่วนที่สาม "ราชกฤตย์กตัญญุตา" แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ผู้กตัญญูที่ทรงมีต่อพระราชมารดา นอกจากนี้ยังแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมา และการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม และยังฉายภาพยนตร์สารคดีสั้นให้ได้ชมกันอีกด้วย









ส่วนที่สี่ "พันวัสสาราชกรณียานุวัตร" จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกรในทุกด้าน ภายในนิทรรศการแสดงลาย พระหัตถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงกราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗o ว่า "เมืองไทยต้องการคนที่เป็นคนสำหรับจะได้ช่วยทำให้เจริญขึ้นอย่างคนอื่นบ้าง หม่อมฉันจะรู้สึกว่าได้รับรางวัลอย่างวิเศษ ถ้าลูกทุก ๆ คนได้ช่วยทำประโยชน์ให้แก่เมืองไทยได้"
























การจัดการแสดงส่วนที่ ๒ คือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระตำหนักใหญ่ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในจัดห้องต่าง ๆ ไว้เป็น ๓ ช่วงเวลา คือ

ช่วงที่ ๑ เป็นช่วงการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก) เสด็จกลับจากต่างประเทศมาประทับอยู่ ซึ่งจัดแสดงใน “ห้องพิธี” และ “ห้องรับแขก” ช่วงนี้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมงคลยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวคือ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ เมื่อวันที่ ๑o กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓





สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์
และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (พระยศขณะนั้น)





ห้องรับแขก สั่งทำเฟอร์นิเจอร์จากประเทศฝรั่งเศส




โต๊ะเสวยในห้องพิธี สามารถขยายและย่อพื้นที่ได้



ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเสกสมรสและมีพระราชธิดาแล้วหนึ่งพระองค์ ทรงพาครอบครัวเสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษ มาประทับอยู่ที่วังสระปทุมอีกวาระหนึ่ง การจัดสิ่งของเครื่องใช้ในห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ฯ ในช่วงนี้ ได้แก่ “ห้องเทา” และ “ห้องทรงพระอักษร” ในบริเวณชั้นที่ ๒





ห้องเทา




ห้องทรงพระอักษร




โต๊ะทรงงานสมเด็จฯ




ห้องสรงอ่างจากุชชี่



ช่วงที่ ๓ จัดแสดงใน “ห้องทรงพระสำราญ” “ห้องทรงนมัสการ” และ “ห้องพระบรรทม” เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์มีพระราชโอรสเพิ่มขึ้นอีก ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์ เสด็จฯ กลับจากสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัว





ห้องทรงพระสำราญ




ห้องทรงนมัสการ




ห้องพระบรรทม



นอกจากนี้บริเวณ “เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน” ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับตรงเฉลียงบนหน้าห้องพระบรรทม ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน และเสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี่ด้วย





เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน




สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ และทรงเจิมพระนลาฏ
ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม



ซึ่งบริเวณนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอันเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้าย แห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแพ และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และเจิมพระนลาฏแก่ทั้งสองพระองค์









นางกรรภิรมย์ กังสนันท์ คณะทำงานของมูลนิธิ เปิดเผยว่าในฐานะที่ค้นคว้าเอกสารต่าง ๆ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดง ทำให้เห็นว่า เหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทรงมีบุพการีที่ทรงประเสริฐ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้จากสิ่งของส่วนพระองค์ ยิ่งค้นพบ ทำให้เห็นถึงคุณงามความดีของพระองค์ท่านผ่านพระราชหัตถเลขาต่าง ๆ

นางกรรภิรมย์ เล่าให้ฟังด้วยว่า ขณะที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖o สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานข้าวในยุ้งฉางให้ประชาชนจนหมด โดยมีราษฎรพายเรือมารับที่คลองแสนแสบ









ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ลายพญานาค และพระนามา ภิไธยสิรินธร ซึ่งทางมูลนิธิเชิญนำไปปักบนเสื้อโปโล ซึ่งจัดทำเพียง หนึ่งพันตัว ราคาตัวละ ๓๕o บาท พร้อมสมุดบันทึกลายพญานาค ซึ่งมีลายพระหัตถ์พระราชทานพรปีใหม่ว่า

"กระต่ายน้อยลอยคอตามน้ำไหล ไดอารี่ไม่มีให้ดังแต่ก่อน ยามยากมีแต่สมุดคำอวยพร แสดงความอาทรเอื้ออนันต์ ปีมะโรงผ่านพ้นอุปสรรค จงประสบสิ่งดีนักสุขครบสรรพ์ ของูใหญ่ให้ลาภเราทุกวัน รื่นเริงกันเริ่มศกใหม่พร้อมชัยเอย"






จัดพิมพ์ ๒ ขนาด ปก ๔ สี จำหน่ายราคาชุดละ ๒๔o บาท พร้อมกล่องลูกฟูก ที่มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม และกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ร้านนายอินทร์ทุกสาขา รายได้สมทบทุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

นิทรรศการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ผู้ใหญ่ ๑๕o บาท นักเรียน นักศึกษา ๕o บาท ตั้งแต่วันนี้ถึง ๓๑ มี.ค. ๒๕๕๕ เวลา ๑o.oo - ๑๖.oo น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๑๕o บ. นักเรียน/นักศักษา ๕o บ. โดยการเข้าชมต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า และจะจัดเป็นรอบในการเข้าชมรอบละประมาณ ๑๕ คน ติดต่อจองเข้าชมล่วงหน้าโทร. ๐๒-๒๕๑-๓๙๙๙ ต่อ ๒๐๑ - ๒๐๒, ๐๒-๒๕๒-๙๑๓๗ ผู้เข้าชมควรแต่งกายสุภาพสตรีสวมกระโปรงหรือผ้าซิ่น งดกางเกงขาสั้นและเสื้อไม่มีแขน อ่านรายละเอียดได้ในเวบพิพิธภัณฑ์ queensavang.org








ถ้าต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะก็ทำตามนี้เลยค่ะ

๑.โทรศัพท์ไปสอบถามที่ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ ในวังสระปทุมเพื่อสอบถามรอบการเข้าชมว่า ต้องการรอบใด แล้วรอบนั้นว่างเพียงพอกับจำนวนคนที่จะไปเข้าชมหรือไม่ โดยจะมีหลายรอบ ตั้งแต่ ๑๐.๓๐ น. เป็นต้นไป ทางพิพิธภัณฑ์จำกัดรอบละไม่เกิน ๑๕ คน ขาดเกินได้นิดหน่อย เพื่อความไม่วุ่นวายและหนาแน่นในการเข้าชม

๒.โหลดเอกสารการเข้าชมจาก //www.queensavang.org/images//request_form_thai.pdf ระบุว่าต้องการเข้าชมกี่คน ฯลฯ อย่าลืมเขียนเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับของคนที่เป็นหัวหน้าทีมด้วย ทางพิพิธภัณฑ์จะได้ติดต่อกลับมายืนยันการเข้าชม

๓.ส่งโทรสารมาที่หมายเลข ๐๒-๒๕๗-๐๙๔๑ (เร็วที่สุด) หรือจะส่งเป็นจดหมายก็ได้ ที่มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม เลขที่ ๑๙๕ ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

๔. ทางพิพิธภัณฑ์จะโทรศัพท์มายืนยันการเข้าชม (ฉะนั้นอย่าลืมเขียนหมายเลขติดต่อกลับ) การแต่งกาย เป็นต้น









การเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์ได้สะดวกหลายทาง

รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงสถานีสยาม

รถประจำทางสาย ๑๕, ๒๕, ๔๐, ๕๔, ๗๙, ๒๐๔, ๕๐๑ และ ๕๐๘

รถยนต์ส่วนตัว จอดรถได้ที่อาคารจอดรถสยาม หรืออาคารจอดรถศูนย์การค้าสยามพารากอน

หากท่านจอดรถที่อาคารจอดรถสยาม กรุณาแสดงบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์พร้อมบัตรจอดรถ ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์สยามเซ็นเตอร์/สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์

หากท่านจอดรถที่อาคารจอดรถศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุณาแสดงบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์พร้อมบัตรจอดรถ ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ชั้นจี (G) ฝั่งนอร์ท เยื้องร้านอาหารโทนี่ โรม่าส์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจอดรถเป็นเวลา ๔ ชั่วโมง

ถ้าจอดรถที่พารากอน ให้เดินลงมาชั้น G ประตูตรงร้าน Le notre ถ้านึกไม่ออกก็ตรง oriental shop จากนั้นเดินตามแผนที่เลยค่ะ





ร้าน Le Notre



พอเดินมาถึงประตูเล็กแล้ว ให้แจ้งชื่อกับทหารว่า หัวหน้าทีมชมพิพิธภัณฑ์ (คนจองรอบ) ชื่ออะไร จากนั้นก็จะมีกรมวังพาเดินไปที่ตึกด้านหลังเพื่อชำระเงิน ถ่ายรูปทำบัตร (บัตรนี้ก็จะให้เป็นที่ระลึกเลยครับ ส่วนรูปน่าจะเก็บไว้เพื่อความปลอดภัย) จากนั้นก็ไปนั่งรอในร้านปทุมสรัส สามารถสั่งของว่าง เครื่องดื่ม มาดื่มและรับประทานได้ เมื่อถึงรอบแล้วจะมีเจ้าหน้าที่มาเรียกเข้าชม





บัตรนิทรรศการทำอย่างดีเลย ก่อนเข้าชมเจ้าหน้าที่จะให้ถ่ายภาพติดหลังบัตรนี้



เดินเข้ามาก็จะพบกับนิทรรศการ พระราชประวัติสมเด็จพระวัสสาอัยยิกาเจ้า แบบจำลองพระตำหนัก การสร้างการปรับปรุงพระตำหนัก แผนผังราชสกุลมหิดลและราชสกุลที่เกี่ยวข้อง และพระฉายาลักษณ์องค์ใหญ่ในสมเด็จฯ หลังพระฉายาลักษณ์ เป็นห้องชมวีดีทัศน์พระราชประวัติ เจ้าหน้าที่จะเปิดวิดีทัศน์ให้ชมประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นก็ให้ชมนิทรรศการตามอัธยาศัย พอจบจากนิทรรศการก็เข้าชมพระตำหนักใหญ่


พิพิธภัณฑ์พระพันวัสสาฯ - ตลาดสดสนามเป้า 26 Feb 2012 4




พระบรมฉายาลักษณ์ และ พระบรมสาทิสลักษณ์
ภาพถ่ายและข้อมูลจาก
กระทู้พันทิพ
pr.prd.go.th
artgazine.com
wikipedia.org
manager.co.th
khaosod.co.th
komchadlek.net
manager.co.th/Travel
หนังสือ "ศรีสวรินทิรานุสรณีย์"
แผ่นพับ "บรมกษัตริย์วัฒนสถาน" และ "พิพิธภัณฑสมเด็จพระพันวัสสาฯ"







ขอบคุณคุณพีชสำหรับของขวัญปีใหม่ชิ้นนี้นะคะ ได้ประเดิมใช้ตอนไปชมนิทรรศการนี้แหละค่ะ ปกติก็ไม่ค่อยจะได้ใช้กระเป๋างาม ๆ แบบนี้ ส่วนใหญ่ออกนอกบ้านจะไม่ค่อยได้ขับรถ เพราะเซ็งรถติด ไปไหนมาไหนเลยใส่กางเกง สะพายกระเป๋าแบบง่าย ๆ แต่เข้าชมนิทรรศการต้องใส่กระโปรง แถมต้องแบกกล้องไปด้วย หันซ้ายหันขวา นึกได้ว่ามีกระเป๋าที่คุณพีชส่งมาให้ ออกแบบเก๋มาก ด้านนึงเป็นหนังสาน อีกด้านเป็นแบบเรียบ ๆ แต่มี texture มีสายสะพายให้พร้อม สีขาวแบบนี้ ไม่ต้องคิดเลยว่าจะเข้ากับชุดหรือเปล่า ชุดสีไหนก็ใส่ได้โลดดด ขอบคุณในน้ำใจอันงามของคุณพีชมากนะคะ


บีจีจากคุณลัคกี้ ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ lozocat

Free TextEditor


Create Date :05 มีนาคม 2555 Last Update :11 มีนาคม 2557 0:07:16 น. Counter : Pageviews. Comments :75