bloggang.com mainmenu search




ตามรอยพระบาทสู่ "วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว" (๑)
ตามรอยพระบาทสู่ "วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว" (๒)







แสงส่องไทย




เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม ขอถวายพระพรชัยมงคล ถวายเป็นราชสักการะ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช เทวาภินิหารทั้งปวง ได้โปรดอภิบาล ดลบันดาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ปราศจากโรคาพยาธิภัยพิบัติ ขอจงทรงพระเจริญ ถึงพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัยทุกประการเทอญ



ฑีฆายุโก โหตุ มหาราชา
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ข้าพพระพุทธเจ้า บล็อกเกอร์ไฮกุ





ช่วงนี้เป็นวันเฉลิมฯ มีทั้งงานที่จัดเฉลิมฉลองและงานิทรรศการอยู่หลายงาน คลิกเข้าไปตามข่าวได้ที่นี่ค่ะ

เสพงานศิลป์ ๖๙
เสพงานศิลป์ ๗o
เสพงานศิลป์ ๗๑



บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด

เสพงานศิลป์ ๗๒



บล็อกผ่านตามาตรึงใจของคุณปอนล่าสุด

อ้อมกอดแม่กลาง











พระบรมฉายาลักษณ์จาก กระทู้ "ในหลวงของเรา"



เยือนสวิส ย้อนวันวาน
ตามรอยพระบาทสู่ "วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว"
(ตอนจบ)
เขียนโดย พิชามญชุ์



โรงเรียนประถม Ecole Nouvelle dela Suisse Remande ในช่วงปิดเทอมค่อนข้างจะเงียบเหงาเพราะไม่มีนักเรียน และบรรยากาศการเรียนการสอนเหมือนตอนเปิดเทอม นอกจากนี้ทางโรงเรียนก็กำลังซ่อมแซมอาคารบางส่วน โดยเฉพาะตึกนอนซึ่งเป็นตึกเก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนแห่งนี้...


ด้านหน้าอาคารมีร่องรอยการซ่อมแซม ทาสีใหม่ และตกแต่งอาคารใหม่ ถ้าดูจากสายตาของคนยุคนี้ การตกแต่งอาคารให้ดูทันสมัยขึ้น ทำให้ที่นี่ดูเป็นโรงเรียนสมัยใหม่ที่พร้อมจะก้าวทันโลก






โรงเรียนประถมเอกอล นูแวล โรงเรียนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษานาน ๑o ปี



แต่น่าเสียดายอยู่นิดเดียวสำหรับคนไทยที่เดินทางไปที่โรงเรียนแห่งนี้ ที่ไม่อาจสัมผัสกับบรรยากาศเก่า ๆ ของตึกนอนซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทย ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในฐานะ "นักเรียนกินนอน" ของเอกอล นูแวล เมื่อยังทรงพระเยาว์และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘


ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระชนมายุ ๑o ปี และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงเป็นพระราชอนุชา) ทรงมีพระชนมายุ ๘ ปี โดยทรงย้ายจากโรงเรียนประถมเมียร์มองท์มาเข้าเรียนที่เอกอล นูแวล ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ตั้งอยู่ชานเมืองโลซานน์ ซึ่งเงียบสงบไม่พลุกพล่าน และอากาศดี





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พร้อมด้วยพระสหายร่วมโรงเรียน



สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ทรงบันทึกถึงช่วงที่ทั้งสองพระองค์เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์" ไว้ว่า


"…พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าชั้น ๒ และพระอนุชาชั้นอนุบาล เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือกสาย ทั้งสองพระองค์ทรงเลือกสายศิลป์ภาษาละตินและอังกฤษ...วิชาที่พิเศษของโรงเรียนในสมัยนั้นมีวิชาการทำสวนและวิชาช่างไม้ โรงเรียนนี้ส่วนมากจะมีนักเรียนชาวสวิสฝรั่งเศส แต่ก็รับนักเรียนต่างชาติจำนวนหนึ่ง นักเรียนไป-มา รับทั้งชายและหญิง ส่วนนักเรียนประจำรับแต่ชาย ใน ๑-๒ ปีสุดท้ายของแต่ละพระองค์ แม่ได้ส่งเข้าไปเป็นนักเรียนประจำเพื่อจะได้ช่วยตัวเองเป็น..."






ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แบ่งการศึกษาเป็น ๕ ระดับ ได้แก่ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา เด็กทุกคนในสวิตเซอร์แลนด์จะต้องเข้าศึกษาในระดับประถมเมื่ออายุ ๖ ปี แต่บางเขตกำหนดให้เรียน ๔ หรือ ๕ ปี ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะต่างกันไปตามแต่ละมณฑลเช่นกัน โดยการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมจบมัธยมศึกษาตอนต้น ถือเป็นการศึกษาภาคบังคับ รวมเวลาทั้งสิ้น ๙ ปี





อาคารเรียนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง



ระบบการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์เน้นสายวิชาชีพ หรือความสามารถเพื่อประกอบอาชีพจริง โดยประมาณสองในสามของผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับจะศึกษาต่อในสายอาชีพ สาขาวิชาซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดของชาวสวิส ได้แก่ การพาณิชย์ บริการด้านสุขภาพ พ่อครัว ช่างไฟฟ้า วิศวกรรรมเครื่องกล ทำผม ช่างยนต์ ฯลฯ ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงศึกษาหลักสูตรเดียวกันกับนักเรียนสวิสทั่วไป ซึ่งต้องศึกษาทั้งวิชาการและวิชาชีพ เช่น ช่างไม้ ทำสวน เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองคืสามารถประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ได้ด้วยพระองค์เอง





เมื่อมองจากห้องพักของนักเรียนจะเห็นทะเลสาบ



เอกอล นูแวล ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบสมัยใหม่ แต่ละห้องเรียนจะมีเด็กนักเรียนเพียง ๑๑-๑๒ คน ทำให้สนิทสนมกันได้ง่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้เป็นเวลา ๑o ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๘๘ ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ทรงปฏิบัติพระองค์เหมือนเช่นนักเรียนทั่วไป อาจจะมีที่พิเศษกว่าคนอื่น ๆ ก็คือ ทรงมีรถยนต์พระที่นั่งส่งทั้งขาไปและกลับจากโรงเรียน ซึ่งแตกต่างจากเด็กสวิสทั่วไปที่มักจะเดินไปโรงเรียน ส่วนเวลาที่อยู่ในห้องเรียน ทรงเป็นกันเองกับเพื่อน ๆ ไม่โปรดการทำผิดกฎของโรงเรียน และทรงทำคะแนนได้ดีในวิชาเลขและวรรณคดี





พระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และพระสหายร่วมชั้นเรียนในหนังสือของโรงเรียนประถมเอกอล นูแวล



เรื่องการศึกษานี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ทรงถ่ายทอดไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์" ไว้อย่างน่าสนใจในประเด็นที่ว่า "การศึกษาในโรงเรียนไม่เป็นสิ่งที่เพียงพอให้เด็กโตขึ้นเห็นคนดี" แต่ครอบครัว พ่อแม่และพี่น้องก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน


"…เราสามคนเป็นกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เล็ก ๆ ภาระของแม่จึงหนักมาก ต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ ซึ่งแม่ก็ทำหน้าที่นี้มาอย่างเข้มแข็ง เมื่อมาถึงโลซานน์ใหม่ ๆ แม่ได้เขียนถึงสมเด็จย่าว่า


ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันก็มีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดี สำหรับจะได้ประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติ และบ้านเมือง ตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูก ๆ ให้ได้รับความอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน


…หม่อมฉันรู้สึกว่าตัวเคราะห์ดีมากที่มีลูกที่ฉลาด แต่เด็กฉลาดเลี้ยงยากมากกว่าเด็กโง่ เพราะต้องพูดกันมากและต้องอธิบายให้เห็นจริงทุกอย่างถึงจะเชื่อ"







การเลือกสถานที่ศึกษาให้ทั้งสองพระองค์เข้าเรียนที่เอกอล นูแวล เป็นพระประสงค์ของ สมเด็จพระบรมราชชนนีฯ ด้วยทรงเห็นว่าโรงเรียนแห่งนี้มีระบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เด็กได้รับความรู้ทางวิชาการไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้นอกห้องเรียน อีกประการหนึ่ง สภาพแวดล้อมก็เป็นจุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้ ในสมัยนั้นโรงเรียนมีความสงบเงียบ เอื้อต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผลก็คือนักเรียนที่จบออกไปมีคุณภาพอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านวิชาการ โดยเรื่องภาษาและประวัติศาสตร์ โดยศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มากมาย





ป้ายพระปรมาภิไธยหน้าตึกเรียนใหม่



จากโรงเรียนในแถบชานเมืองที่อยู่กลางทุ่งนาอันเงียบสงบของเมืองโลซานน์ในอดีต ปัจจุบันเอกอล นูแวลได้กลายเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองไปแล้วเนื่องจากการขยายตัวของเมือง จากเดิมที่มีตึกเก่าเพียง ๒ ตึก ก็ได้มีการสร้างตึกเรียนใหม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาอาคารเก่าเอาไว้ โดยเฉพาะอาคารตึกนอนซึ่งภายนอกยังคงเหมือนเดิม แต่ได้มีการปรับปรุงตกแต่งภายในใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น เช่น ระบบไฟฟ้า ห้องน้ำ ห้องนอน






ชั้นล่างของอาคารมีจุดที่น่าสนใจคือ โรงอาหารสำหรับเด็กประจำและไปกลับ ซึ่งในสมัยก่อน ระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักเรียนประจำที่นี่ ได้ให้เด็กนักเรียนนั่งแล้วมีผู้เสิร์ฟอาหาร แต่ปัจจุบันให้นักเรียนบริการตนเอง นอกจากนั้นในห้องนี้ยังมีกระดิ่งโบราณที่ใช้เรียกเด็กนักเรียนเข้าห้องเรียนในอดีต และยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจบัน






บนชั้นสองและชั้นสามของอาคารเป็นห้องนอนของเด็กประจำ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าห้องใดเคยเป็นห้องบรรทมของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่คาดว่าน่าจะเป็นห้องพักที่สามารถมองเห็นทะเลสาบและทุ่งหญ้าได้จากหน้าต่าง ห้องพักนักเรียนประจำนี้เป็นห้องเล็ก ๆ ที่มีเตียงนอนและโต๊ะเขียนหนังสือ นอกจากนั้น ห้องนั่งเล่นรวมมีเตาผิงซึ่งคาดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องเคยมาประทับอยู่ในห้องนี้กับพระสหายร่วมโรงเรียนในช่วงฤดูหนาว






จากเดิมที่โรงเรียนมีนักเรียนเพียง ๑oo คน ในช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าศึกษาที่นี่ ปัจจุบันเอกอล นูแวลมีนักเรียน ๖oo คน เป็นโรงเรียนที่ค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกทนายความ แพทย์ และคหบดี ในจำนวนนี้นักเรียนไทยอยู่ ๑ คนด้วย


นอกจากตึกนอนแล้ว เอกอล นูแวล ยังมีตึกสร้างใหม่อีกหนึ่งตึกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้าง ด้านหน้าตึกมีพระปรมาภิไธยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ด้านหน้าตึก มีเนื้อความว่า "อาคารหลังนี้สร้างถวายเพื่อเป็นที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พระเชษฐาของพระองค์ ผู้เคยทรงศึกษา ณ สถาบันแห่งนี้ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๓๕ - ๑๙๔๕"


ปัจจุบันที่เอกอล นูแวลยังคงเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อยังทรงพระเยาว์ในหนังสือโรงเรียน และครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนเก่าแห่งนี้พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และได้ทรงพบปะกับเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันในโอกาสนี้ด้วย






หลังจบการศึกษาจากเอกอล นูแวลแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นวิชากฎหมาย รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ในภายหลัง ส่วน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ก็ทรงศึกษาในสาขาวิชาเคมีในมหาวิทยาลัยโลซานน์เช่นเดียวกัน


วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระราชชนนีและพระอนุชาได้เสด็จนิวัติประเทศไทย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น หลังจากประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา ๗ เดือนเต็ม เพียง ๔ วัน ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ด้วยทรงต้องพระแสงปืน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งพระบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อมารัฐสภาได้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลมหิดลอดุลยเดช พระอนุชาขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะที่ทรงศึกษาที่เกอล นูแวล



หลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบันทึกไว้ในบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างเดินทางจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ไว้ว่า


"ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อสามวันที่แล้ว เรายังอยู่เมืองไทย และวันนี้เราจะถึง...สวิตเซอร์แลนด์แล้ว ระยะทางตั้ง ๑o,ooo กิโลเมตรกว่า...เวลากว่า ๑๕.oo นาฬิกา เราต้องบินฝ่ากระแสลมอันแรงทำให้เครื่องบินต้องช้าลง และช้าไปกว่ากำหนด ๑๕ นาที เมื่อเวลา ๑๖ นาฬิกา ช้ามากขึ้นอีกเป็น ๔๕ นาที เรากำลังบินอยู่เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บางเวลาก็แลเห็นเกาะต่าง ๆ เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะซาร์ดิเนียและคาร์ซิกา กว่าจะแลเห็นฝั่งก็ ๑๖.๔o นาฬิกา เป็นชายฝั่งของฝรั่งเศส อีกชั่วโมงเดียวเท่านั้น เราก็จะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว...จากขอบฟ้าสลัว ๆ ที่บดบังด้วยเมฆหมอก แลเห็นเมือง ๆ หนึ่งอยู่ริมทะเลสาบใหญ่ เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เมืองนั้น ๆ คือ เมืองเจนีวา อันเป็นที่หมายปลายทางที่เรามาด้วยเครื่องบิน และเราจะต้องจากพวกประจำเรือไป คนประจำเครื่องบินเหล่านี้เป็นคนที่ดีต่อเรามาก ได้ให้เครื่องถมเป็นที่ระลึก บินอยู่รอบเมืองรอบหนึ่งแล้วก็ร่อนลงสู่พื้นดินเมื่อเวลา ๑๗.๕๕ นาฬิกา


…อธิบดีกรมพิธีการและอัครราชทูตไทยนั่งรถไปกับข้าพเจ้าด้วย อธิบดีกรมพิธีการได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสวิสมีความยินดีนักที่ข้าพเจ้าเลือกมาอยู่และมาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ บอกเขาว่าชอบประเทศนี้มาก เขาได้ชี้ชวนให้ชมสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยคิดว่าข้าพเจ้าไม่รู้จัก และรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบว่า ข้าพเจ้ารู้จักสถานที่เหล่านี้เป็นอย่างดีเพราะอยู่ที่นี่มาถึง ๑๔ ปีเศษแล้ว เขารับสารภาพว่าเขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ และเพิ่งมาจากอเมริกาใต้...





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ สมเด็จพระราชชนนี ที่ชองเป้ (Champex)
ที่พักบนภูเขาของโรงเรียน Ecole Nouvelle



พอถึง "วิลล่าวัฒนา" เขาก็ลากลับ อำนวยพรให้เรามีความสุขความเจริญ ข้าพเจ้าจึงขอให้เขานำคำขอบใจของข้าพเจ้าไปแจ้งต่อท่านประธานาธิบดี พร้อมทั้งคำอวยพรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นด้วย


เรากลับถึงโลซานน์แล้ว …ไม่ช้าข้าพเจ้าจะต้องเข้าเรียนต่อไป..."


(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช



หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนกรุงปารีส ในครั้งนั้นได้ทรงพบกับ หม่อมราชวงศ์สิิริกิติ์ กิติยากร ต่อมาได้ทรงหมั้น และทรงอภิเษกสมรส หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ประทับที่เมืองโลซานน์ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระสูติกาล พระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ สถานพยาบาลมองชัวซีศ์ โลซานน์​ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับเมืองไทยเป็นการถาวร ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยือนสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี ๒๕o๓





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ขณะทรงประทับที่เมืองโลซานน์



จากวันนั้นถึงวันนี้ อาจจะเป็นเวลาที่ยาวนานที่มิได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงเยือนสวิตเซอร์แลนด์อีกเลย แต่ถึงกระนั้น "รอยพระบาท" ในสวิตเซอร์แลนด์ก็ดูเหมือนจะยังคงแจ่มชัดอยู่ในสถาที่ทุกแห่งที่เคยเสด็จฯ ไป และเหนือสิ่งอื่นใดคือการตามรอยพระบาทในครั้งนี้ทำให้ได้มองเห็นวันเวลาในวัยเยาว์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นจุดเริ่มต้นของพระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆ และพระมหากรุณาธิคุณนานัปการที่ได้พระราชทานแก่คนไทยทั้งมวลนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน



พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์
และข้อมูลจาก สกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๓o๘o



บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

TextEditor


Create Date :12 ธันวาคม 2556 Last Update :13 สิงหาคม 2559 23:16:21 น. Counter : 8042 Pageviews. Comments :23