bloggang.com mainmenu search



มีคนถาม เรื่อง เจ็บสันหน้าแข้ง ผมก็ไปถามอากู๋ มาให้ ...

ไปพบ บทความที่ อ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ เขียน แล้วมีผลนำมาลงไว้ที่เวบ ... เห็นว่าน่าสนใจ อ่านง่าย เข้าใจง่าย ... ก็เลยนำมาฝากกัน ...

ตอนที่ ๓ บาดเจ็บบริเวณขา

//www.patrunning.info/show.php?Category=board&No=10270//www.patrunning.info/show.php?Category=board&No=10270




บาดเจ็บบริเวณขา


"หนูไม่อยากวิ่งแล้ว เพราะน่องหนูโต" เป็นคำกล่าวของนักวิ่งผู้หญิงผู้หนึ่ง กับข้าพเจ้า

ก็ทำไมจะไม่โตละครับ เพราะเธอเป็นนักวิ่ง ที่วิ่งขึ้นเขาลงเนิน ที่ต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ ทำให้เอ็นร้อยหวายอักเสบเรื้อรัง บวมอยู่ตลอดเวลา จึงดูเหมือนน่องโต เมื่อตรวจดูลักษณะโครงสร้าง ของร่างกาย เท้า ก็ดูปกติ แต่เมื่อถามถึงรองเท้าที่สวมใส่ขณะวิ่ง ก็พบว่าไม่ถูกต้อง พื้นรองเท้าแข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น จึงได้ทำการแนะนำ และรักษาจนอาการดีขึ้น หายเป็นปกติ

บาดเจ็บบริเวณขา (ตั้งแต่ใต้เข่าลงมาจนถึงข้อเท้า) ยังมีแบบอื่นๆ อีกมาก ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้


1. สันหน้าแข้งอักเสบ (Shin splint syndrome)

มีความเจ็บปวดบริเวณหน้าแข้งด้านในตอนล่าง เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป จนบริเวณนั้นทนไม่ได้ เช่น ไม่นึกถึงสังขาร ซึ่งฟิตไม่พอสำหรับการวิ่งนั้นๆ

มักพบในพวก ที่เริ่มหัดวิ่งใหม่ๆ นักวิ่งที่วิ่งบนพื้นแข็ง หรือใส่รองเท้าที่พื้นรองรับเท้าแข็ง และพบในนักวิ่ง ที่โครงสร้างของเท้า เป็นแบบคว่ำบิดออกนอก จะทำให้เกิดแรงกระแทก หรือบิดที่บริเวณหน้าแข้ง มีผลต่อกล้ามเนื้อ และเยื่อหุ้มกระดูกบริเวณนั้น ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น

ถ้ายังฝืนวิ่งต่อไปอีก ทั้งที่มีอาการแล้ว จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะมีอาการรุนแรง ถึงกับมีการร้าวแตกของกระดูกบริเวณนั้นได้

อาการที่เกิดขึ้นนี้ จะค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเกิดภายหลังการหยุดพักวิ่งแล้วก็ได้

ฉะนั้นเมื่อทราบอาการเช่นนี้แล้ว จึงควรพักรักษาตัว อย่าฝืนวิ่ง หรือฝึกต่อไปอีก


การปฐมพยาบาล และการรักษา

ในเบื้องต้น ก็เหมือนทั่วๆ ไป คือ พัก ประคบน้ำแข็ง ให้ยาต้านการอักเสบชนิดกิน การให้การรักษาทางกายภาพบำบัด ในแง่ความร้อน หรือใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น คลื่นเหนือเสียง สามารถช่วยให้การหายเร็วขึ้น

จากนั้นเมื่อกลับมาวิ่ง หรือฝึกซ้อมอีก ก็ต้องค่อยๆ เพิ่มความเร็ว หรือระยะทางทีละน้อย พร้อมกับบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บนั้น


การป้องกัน

- ดูโครงสร้างของเท้า เพื่อปรับปรุงเสริมแต่งให้ปกติก่อนวิ่ง

- เรียนรู้เทคนิคการวิ่งที่ถูกต้อง

- หลีกเลี่ยงพื้นวิ่งที่แข็งมากจนเกินไป

- พื้นรองเท้าวิ่ง จะต้องนิ่มพอสมควร ไม่ให้แข็ง

- รู้จักพอ อย่าฝืนวิ่งเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว มิฉะนั้น จะต้องพักไปอีกนาน




2. การเจ็บปวดกล้ามเนื้อหน้าแข้งด้านหน้าติดหน้าแข็ง (Anterior compartment syndrome)

เกิดจากการที่กล้ามเนื้อกลุ่มด้านหน้านี้ ขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้กล้ามเนื้อ มีแรงดันในช่องว่างที่จำกัด เกิดการเจ็บปวดขึ้น เมื่อยังไม่ยอมหยุดวิ่ง จะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การบวม ของกล้ามเนื้อนั้น กดทับเส้นประสาท เกิดเป็นอัมพาตขึ้นได้

ผู้เขียนพบคนไข้ 2 ราย ที่เป็นอัมพาตของข้อเท้าจากการวิ่ง คือ กระดกข้อเท้าไม่ขึ้น ชา ที่เกิดขึ้นนี้ เพราะการที่ต้องการที่จะ เอาชนะตัวเอง ในการวิ่ง โดยลืมนึกถึงสังขาร ทั้งๆ ที่มีอาการถึงขั้นนี้แล้ว ยังไม่หยุดวิ่งอีกอาจทำให้ถึงกับเสียขาไปเลย หมดโอกาสวิ่งอีกต่อไป เพราะไม่มีเท้าจะวิ่ง (ในต่างประเทศ ถึงถูกตัดขาดไปเลยก็มี)

อาการเจ็บปวดดังกล่าวนี้จะค่อยๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อยๆ ถ้าเราทราบเมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรก ได้หยุดพักอาการจะหายไป

แต่ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นจนถึงกับกล้ามเนื้อบวมเต็มที่แล้ว อาการเจ็บปวดจะมีลักษณะเฉพาะตัว ดังนี้คือ ปวดอยู่ตลอดเวลา กินยาแก้ปวดก็ไม่หาย หรือบรรเทาลงเลย แต่กลับปวดมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญ ถ้าลองจับนิ้วเท้าเหยียด หรืองอไปมา จะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงมาก ถึงกับร้อง หรือแสดงสีหน้าเจ็บปวดมาก

เมื่อมีอาการถึงขั้นนี้แล้ว ต้องรีบพบแพทย์ทันทีทันใด ไม่มีการรีรออีกต่อไป เพราะอันตรายมาก

โรคนี้จะพบในนักวิ่งที่จิก หรือเขย่งส้นเท้าแทนที่จะวิ่งลงให้เต็มฝ่าเท้า ในการวิ่งระยะไกลหรือพบในนักวิ่งขึ้นเนิน ขึ้นเขา หรือที่สูง


การปฐมพยาบาล และการรักษา

เมื่อมีอาการเกิดขึ้นให้หยุดวิ่งทันที แล้วประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ยกเท้าสูง หลังจากอาการดีขึ้นแล้วเมื่อต้องการวิ่งอีก ให้บริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้แข็งแรงก่อน เพื่อให้ทนการเกิดการบาดเจ็บชนิดนี้ได้และเป็นการป้องกันการเกิดเป็นซ้ำอีก

เมื่อเริ่มวิ่ง ต้องค่อยๆ เพิ่มระยะทางทีละน้อยๆ และคอยสังเกตดูอาการของโรคนี้ อย่าให้มีอาการอีก ถ้าเริ่มผิดปกติ ให้หยุดวิ่งทันที ระหว่างที่ค่อยเพิ่มระยะทางนี้ จะต้องบริหารควบคู่กันไปด้วย

ในรายที่อาการเป็นมากๆ ดังกล่าวแล้ว เมื่อพบแพทย์ จะต้องรีบทำการผ่าตัด ทันที โดยเปิดช่องว่างของพังผืด ที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อออก เพื่อกล้ามเนื้อจะได้ขยายตัวได้เต็มที่ และไม่ให้กล้ามเนื้อตาย หรือไปกดทับเส้นประสาท และเส้นเลือด ถ้าช้า หรือทำไม่ถูกต้องอาจเสียขาได้ หมดโอกาสวิ่งอีกต่อไป


การป้องกัน

บริหารกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ให้แข็งแรง โดยการบริหารทั้งการยืดกล้ามเนื้อ และการทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

การยืดทำได้โดย การเหยียดข้อเท้าให้เต็มที่ และกระดกข้อเท้าขึ้นให้เต็มที่ ทำสลับกับการทำให้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้แข็งแรง การทำให้แข็งแรง คือ การยกข้อเท้าต้านแรง โดยเอาน้ำหนักถ่วงที่เท้า แล้วกระดกข้อเท้า ขึ้นช้าๆ ให้ทำประมาณ 10 ครั้ง เช้า-เย็น หรือมากกว่านี้ ถ้าสามารถทำได้ เริ่มถ่วงน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แล้วค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักที่ถ่วงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งยกได้ประมาณ 5-6 กิโลกรัม

ใส่รองเท้าสำหรับวิ่งที่ถูกต้อง และวิ่งบนพื้นราบ วิ่งให้เต็มฝ่าเท้าในช่วงที่เริ่มกระทบพื้น

ไม่ควรวิ่งจิกปลายเท้า หรือเขย่งส้นเท้าขึ้น และหลีกเลี่ยงการวิ่งขึ้นเนินเขา หรือที่สูง

รู้จักประมาณตัวเองอย่าฝืน เมื่อมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นแล้ว ให้หยุดวิ่งทันที มิฉะนั้น จะเกิดผลเสียดังได้กล่าวมาแล้ว อย่าไปคิดว่า อดทนอีกนิดหน่อยไม่เป็นไร เพราะไม่เพียงแต่เป็นบาดเจ็บ ที่รักษายากเท่านั้น แต่บางครั้งอาจต้องเสียขา ไม่สามารถวิ่งได้อีกตลอดชีวิต




3. เอ็นร้อยหวานอักเสบ (Achiles tendonitis)

เป็นโรคที่มีอาการเจ็บปวดที่เอ็นร้อยหวาย ซึ่งอาจจะมีอาการบวมร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

มีสาเหตุ มาจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นร้อยหวาย ในระยะแรกๆ แต่ต่อมาถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือพัก ยังคงวิ่งต่อไป จะทำให้การอักเสบลุกลามไปจนถึงเอ็นร้อยหวายโดยตรง ทำให้เกิดการทำลาย การเสื่อมของเอ็น มีอาการเรื้อรัง ยากต่อการรักษายิ่งขึ้น


สาเหตุการเกิดนั้น มาจากการวิ่งขึ้น หรือลงเนินเขา หรือที่สูง และ การสวมใส่รองเท้าที่มีพื้นส้นเท้าแข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น และถ้าวิ่งลงเขา ลงจากที่สูงอย่างเร็ว หรือวิ่งขึ้นเขา ที่สูง โดยใส่รองเท้าที่พื้นแข็ง และส่วนที่หุ้มส้นเท้าแข็ง จะมีการกระแทกกระทั้นของเอ็นร้อยหวาน ที่ทำงานมากเกินไปอยู่แล้ว ทำให้เกิดการบาดเจ็บ และอักเสบตามมาได้ง่ายๆ

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นร้อยหวายได้ง่ายคือ กล้ามเนื้อต้นขา (แฮมสะตริง) และกล้ามเนื้อน่องที่เกร็งจนเกินไป เท้าที่มีอุ้งเท้าโค้งสูง ลัษณะขาที่หมุนบิดเข้าใจ เท้าปุก (เท้ากระดกลงและบิดเข้าไปใหม่) พวกที่มีส้นเท้า เท้าเอียงบิดเข้าใน

สิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ จะทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นร้อยหวาน เพราะเมื่อวิ่งมากๆ จะเกิดแรงเค้นที่เอ็น ทำให้มีการฉีกขาดภายในเอ็นเล็กๆ น้อยๆ ที่มองไม่เห็น ก่อให้เกิดการอักเสบตามมา

อาการที่เกิดจะมีลักษณะดังนี้ จะมีความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน บริเวณเอ็นร้อยหวาย เมื่อเริ่มวิ่ง และเมื่อวิ่งไปได้สักระยะหนึ่ง อาการเจ็บปวดจะลดลง หรือหายไป แต่เมื่อหยุดวิ่งอาการจะกลับมากขึ้น

หรือเมื่อตื่นนอน และลุกขึ้น หรือลงจากเตียงในตอนเช้า จะมีอาการเจ็บปวดที่เอ็นร้อยหวาย และเมื่อใช้ชีวิตประจำวันผ่านไป อาการจะลดน้อยลงไป หรือหายไปเลยในตอนบ่ายๆ

อาการเจ็บปวดนี้ จะเป็นที่บริเวณ 4-5 เซนติเมตร เหนือต่อส้นเท้า ที่เป็นที่เกาะของเอ็นร้อยหวาย กดเจ็บ

ในรายที่เป็นมากๆ หรือเป็นเรื้อรัง จะคลำได้ก้อนเล็กๆ หรือบรุบระ และบวมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดูเหมือน่องโต


การปฐมพยาบาล และการรักษา

เมื่อเกิดอาการขึ้นชนิดเฉียบพลัน ให้หยุดวิ่งทันที ประคบน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาที ยกเท้าให้อยู่สูง จากนั้นงอหัวเข่า และยืดเอ็นร้อยหวายสักประมาณ 5 นาที ให้ยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบ แล้วแต่อาการ ส่วนใหญ่แล้วจะให้ประมาณ 1-3 สัปดาห์

การให้การรักษาทางกายภาพบำบัด (อัลตราซาวด์)ทำให้การหายเร็วขึ้น

ห้ามฉีดยาต้านการอักเสบสเตรียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เอ็นขาดได้ ผู้เขียนได้พบคนไข้ และต้องต่อเอ็นที่ขาดจากการฉีดยาต้านการอักเสบเฉพาะที่บริเวณนี้ไม่น้อยเลย คนไข้จะรู้สึกว่า เมื่อเดิน หรือวิ่งจะมีเสียงดังเป๊าะ! บริเวณนี้ แสดงว่า เอ็นร้อยหวายขาดแล้ว

หลังจากอาการต่างๆ หายแล้ว ให้เริ่มการบริหารโดยยืดกล้ามเนื้อน่องและทำให้กล้ามเนื้อน่องแข็งแรง ซึ่งก็จะทำให้เอ็นร้อยหวานแข็งแรงตามไปด้วย


การป้องกัน

บริหารกล้ามเนื้อน่องให้แข็งแรง โดยใช้น้ำหนักถ่วงที่เท้า แล้วกระดกข้อเท้าขึ้นลงช้าๆ โดยเริ่มจากน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ประมาณ 5-6 กิโลกรัม ให้ทำประมาณ 10 ครั้ง เช้าและเย็นเป็นอย่างน้อย สลับกับการยืดกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นอยู่เสมอ

ตรวจดูลักษณะโครงสร้างของร่างกาย ถ้าไม่ปกติก็ต้องปรับให้เกือบเหมือน หรือเหมือนปกติเมื่อทำการวิ่ง

วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การปรับด้วยรองเท้า เช่น เท้าที่มีอุ้งเท้าโค้งสูง ให้ใส่รองเท้าที่มีรองอุ้งสูงทัดเทียมกับอุ้งเท้าของเรา และเสริมส้นรองเท้าให้นิ่มมากๆ เพื่อกันแรงกระเทือนที่ส้นเท้าขณะวิ่ง หรือในรายที่เท้าคว่ำบิดเข้าใน ก็ต้องเสริมรองเท้าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

รองเท้าที่ใช้วิ่ง จะต้องมีส้นเท้าที่นิ่ม และนอกจากนี้ส่วนที่เสริมหุ้มส้นเท้า ไม่ควรมี เพราะจะทำให้มีการเสียดสีกับเอ็นร้อยหวาย ถึงแม้จะทำให้นิ่มเพียงใดก็ตาม



แหล่งที่มา
บทความ :
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล




Create Date :04 กุมภาพันธ์ 2552 Last Update :4 กุมภาพันธ์ 2552 19:14:44 น. Counter : Pageviews. Comments :1