

สารพัดเทคนิคที่จะช่วยให้การเริ่มอาหารใหม่ให้ลูกวัยเบบี๋สัมฤทธิ์ผล แบบที่ลูกหม่ำได้ และยังได้สตาร์ทนิสัยการกินที่ดีไปด้วยในตัวมาฝากค่ะ
1. วัย 4-6 เดือน เป็นช่วงที่คุณหมอส่วนใหญ่แนะนำให้อาหารเสริมได้ นอกเหนือจากนี้คุณแม่สามารถสังเกตความพร้อมของลุกได้จากท่าทีเหล่านี้ค่ะ
- ร้องกวนแม้จะเพิ่งหม่ำนมไป
- จดจ้องสนใจเวลาเห็นคุณกินอาหาร และขยับปากเหมือนเคี้ยวจั๊บๆ
- ถ้าลูกเข้าวัย 6 เดือน แล้วยังไม่มีอาการเหล่านี้ให้เห็นเลย ก็ต้องเริ่มให้อาหารเสริมแล้ว เพราะนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอกับการเติบโตของลูกแล้วล่ะ
2. บรรยากาศต้องดี เลือกช่วงเวลาที่คุณเองไม่เครียดหรือรีบร้อน และลูกดูผ่อนคลาย เพราะถ้าเป็นบรรยากาศเครียดอาจทำให้ลูกไม่กินอาหาร และไม่เกิดการเรียนรู้การกิน
3. เลือกที่ที่คนไม่พลุกพล่าน เพื่อดึงความสนใจในการกินของลูก เพราะหนูวัยตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
4. เวลาในการเริ่มอาหารเสริมทำได้หลายวิธี แล้วแต่ความชอบของหนูๆ แต่ละคนค่ะ
- ให้ก่อนมื้อนมทันที จะตรงกับช่วงที่ลูกเริ่มหิวพอดี
- ให้หลังจากหม่ำนมไปบ้างเพื่อระงับความหิว และให้หนูอารมณ์ดีขึ้นพร้อมรับอาหารใหม่ เพราะหนูบางคนถ้าหิวมากอาจไม่ยอมกินอาหารอื่น หรือ
- ให้สลับกับนมอาจดูวุ่นๆ งงๆ เลอะเทอะไปบ้างแต่ก็ใช้ได้ผลกับหนูบางคนค่ะ
เมื่อลูกยอมรับอาหารแล้วค่อยปรับเวลาให้อาหารเสริมมาเป็นช่วงก่อนให้นม คือหลังกินอาหารเสริมแล้วก็ปิดท้ายด้วยนมจนลูกอิ่ม
5. การให้อาหาร 1 มื้อแรก แนะนำให้เป็นมื้อเช้าค่ะ เผื่อฉุกเฉินว่าลูกมีอาการผิดปกติอะไร จะได้เกิดในช่วงกลางวัน ซึ่งสะดวกในการดูแลแก้ไขมากกว่ากลางคืน
6. ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องเริ่มอาหารชนิดใดก่อน เพียงแต่ถ้าเป็นข้าวหรือธัญพืช โอกาสที่ลูกแพ้ก็มีน้อยกว่าอาหารชนิดอื่น
7. การป้อนอาหาร แม่ควรนั่งในท่าสบาย อุ้มลูกให้อยู่ในลักษณะกึ่งนั่งศีรษะสูง ใช้ช้อนปลายมน ตื้นและขนาดเล็กพอเหมาะกับปากลูก
8. เริ่มให้ทีละน้อย แค่ติดปลายช้อนหรือ 1-2 ช้อนเล็ก ก็เหลือเฟือสำหรับขั้นเริ่มต้น แต่ถ้าลูกดูจะรับอาหารใหม่ได้ดีจะเพิ่มไปมากกว่านี้บ้างก็ไม่ผิดค่ะ
9. เริ่มให้ธัญพืชชนิดใหม่ ทุก 5-7 วัน และทิ้งช่วงไว้ 2-3 วัน ระหว่างนี้อย่าเพิ่งให้ธัญพืชหลายชนิดรวมกัน จนกว่าจะแน่ใจว่าลูกไม่มีอาการแพ้
10. ถ้าลูกชอบหรือคุ้นกับข้าวแล้ว ควรเริ่มให้อาหารบดหรือต้มเปื่อยชนิดอื่น ควรเริ่มที่ผักก่อนผลไม้ เพื่อสอนให้ลูกพอใจในผักที่มีรสชาติอ่อนกว่าผลไม้
11. การให้อาหารชนิดใหม่ทุกครั้งไม่ควรผสมกับอาหารชนิดอื่น เพื่อง่ายต่อการสังเกตอาการแพ้หรืออาการผิดปกติของลูก
12. จำไว้ว่าไม่มีอาหารชนิดไหนที่จะไม่มีอาหารอื่นทดแทน ยิ่งอุดมสมบูรณ์อย่างบ้านเราด้วยแล้ว ยิ่งมีตัวช่วยให้เลือกแทนชนิดที่ลูกขอบายได้ตั้งหลายชนิด
13. เว้นระยะถ้าลูกปฏิเสธไปสัก 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ค่อยเริ่มใหม่ การฝืนใจให้ลูกกินเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สวยเท่าไหร่ เพราะคุณกำลังสร้างความรู้สึกไม่ดีต่ออาหารและการกินให้ลูก อีกอย่างการปฏิเสธนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกไม่ชอบ แต่อาจเป็นเพราะไม่คุ้นเคยกับอาหารนั้น
14. อย่าถอดใจไปเสียก่อน ถ้าเห็นลูกกินน้อยหรือไม่ยอมกิน นั่นเพราะเขาต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อที่จะจัดการกับอาหารแปลกใหม่ ตั้งแต่วิธีการรับอาหารเข้าปาก รับรสชาติใหม่ไปจนถึงกลืนอาหาร
15. เรียนรู้การแสดงออกของลูกต่ออาหาร เช่น ถ้าป้อนอาหารแล้วลูกดุนอาหารออกมากกว่ากินเข้าไปแสดงว่าลูกยังไม่พร้อมรับอาหารใหม่ ถ้าหิวหนูๆ มักจะแสดงอาการกระตือรือร้นโดยเคลื่อนไหวมือไปมา เตะเท้าเมื่อเห็นอาหารจะอ้าปาก และเอนตัวเข้าหา แต่ถ้าไม่หิวจะปิดปาก และขยับศีรษะออก
ไม่มีข้อห้ามถ้าคุณคิดจะใช้ช้อนกาแฟป้อนอาหารลูก แต่ถ้าคุณเป็นคุณแม่ช่างเลือก พิถีพิถัน และไม่มายด์ว่าจะเสียเงินเพิ่มขึ้นล่ะก็สามารถเลือกซื้อช้อนป้อนอาหารสำหรับเบบี๋มาใช้ได้ เดี๋ยวนี้เขามีขายเป็นเซ็ต ตั้งแต่เริ่มหัดหม่ำไปจนเป็นนักหม่ำตัวยง คือไล่ขนาดและความลึกของช้อน ตั้งแต่น้อยไปหามาก หรือแบบที่ทำด้วยยางชนิดพิเศษเพื่อความนุ่มนวลต่อเหงือกลูก
ดูสิคะ แค่เรื่องกินยังต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ขนาดนี้ อย่างเนี้ยจะไม่ให้บอกว่าคนเป็นแม่เก่งได้หรือค่ะ
สารพัดวิธีที่ข้าวปุ้นไปเฟ้นหามานี้ เป็นหลักการกว้างๆ ที่สามารถยึดเป็นแนวทางในการเริ่มต้นของคุณแม่และลูกได้ แต่อาจต้องมีการปรับให้เหมาะกับหนูๆ แต่ละคนบ้าง ก็เด็กแต่ละคนไม่ได้เหมือนกันหมดนี่นา จริงม้า
(update 8 มีนาคม 2002)
[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 95 มิถุนายน 2546 ]


Create Date :10 กรกฎาคม 2552
Last Update :23 กรกฎาคม 2552 22:14:12 น.
Counter : Pageviews.
Comments :0