จากเดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 9 แม้ว่าร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ก็คงไม่มีช่วงไหนที่จะตื่นเต้นและได้ลุ้นเหมือนช่วง 3 เดือนสุดท้ายหรอกค่ะ โดยเฉพาะเป็นช่วงที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสู่ภาวะ "คลอด" แล้วด้วย ยิ่งต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันพอสมควร
7 เดือน (28 สัปดาห์ นับจากวันปฏิสนธิ) มีหัวน้ำนม คุณแม่บางคนจะมีน้ำสีเหลืองใสออกมาจากหัวนมนั่นแหละค่ะ คือหัวน้ำนมที่แสดงถึง การเริ่มสร้างน้ำนมในช่วงเดือนที่ 7 นี้ ว่าไปแล้วก็เหมือนกับเป็นการเตรียมพร้อมหากบังเอิญว่า เจ้าตัวเล็กคลอดก่อนกำหนด
ปัสสาวะบ่อย เพราะช่วงนี้ขนาดตัวของลูกขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเริ่มดิ้นได้แล้วของลูกในเดือนนี้ ล้วนมีส่วนไปกดโดนบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ต้องลุกเข้าห้องน้ำกันวันละหลายรอบหน่อยล่ะ
นอนท่าไหนก็ลำบาก ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยคุณแม่ที่ขนาดท้องใหญ่ขึ้น ในช่วงเดือนนี้มักจะเริ่มนอนลำบากแล้วล่ะค่ะ จะหงายก็อึดอัด จะคว่ำก็ยิ่งแย่ใหญ่ ลองนอนตะแคงคล้ายท่ากอดหมอนข้างดูซิคะ อาจจะช่วยให้หลับสบายขึ้นได้
ปวดหลัง ช่วงที่น้ำหนักครรภ์เพิ่ม รวมทั้งกระดูกเชิงกรานที่ขยายตัวเพื่อคลอด มีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้หลังของคุณแม่ต้องรับน้ำหนักครรภ์เต็มที่ อาการปวดหลังก็จะตามมา เวลาใกล้คลอดแบบนี้การยืน นั่ง ยกของ ฯลฯ ในท่าที่ถูกต้อง รวมทั้งการเลือกใช้รองเท้าส้นเตี้ยจะช่วยลดอาการปวดหลังได้ค่ะ
8 เดือน (32 สัปดาห์ นับจากวันปฏิสนธิ) เจ็บเตือนแล้วจ๊ะ ตอนนี้มดลูกต้องมีการซ้อมการหดรัดตัวกันหน่อย เพื่อเตรียมไว้วันคลอดจริง ช่วงนี้มดลูกก็จะนูนแข็งขึ้นมาเป็นครั้งคราวไป แต่จะแข็งไม่เกิน 30วินาทีหรอกค่ะ ที่สำคัญจะไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บอะไร
ปวดหน่วงๆ เพราะช่องเชิงกรานมีการขยายตัวออก (ข้อต่อกระดูกเชิงกรานหย่อนตัวลง) ทำให้รู้สึกปวดหน่วงๆ บริเวณเชิงกรานเวลาเปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกขึ้นเดิน นั่ง นอน ฯลฯ
จุกเสียดบ่อยๆ ถึงเดือนนี้มดลูกจะขยายตัวขนาดตัวลูก ยอดมดลูกก็จะไปดันบริเวณยอดอกและชายโครง ทำให้บางทีคุณแม่รู้สึกจุกเสียดและเจ็บชายโครงขึ้นมาอย่างไม่รู้สาเหตุ
9 เดือน (38 สัปดาห์ นับจากวันปฏิสนธิ) ท้องลดต่ำลง ส่วนมากจะเป็นในคุณแม่ท้องแรก ซึ่งเกิดจากหัวกลมๆ ของลูกโผล่ลงไปในช่องเชิงกราน ช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกสบาย หายใจสะดวกเพราะยอดมดลูกไม่ขึ้นมาดันยอดอกเหมือนช่วงก่อนๆ (แต่อาการท้องลดไม่เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนนะคะ บางคนจะมีอาการนี้ในช่วงเจ็บครรภ์คลอด)
บุคลิกภาพเปลี่ยนไป จากที่มีท่วงท่าสง่างาม หลังตรง คุณแม่ก็อาจกลายเป็นคนหลังแอ่น และศีรษะเอนไปด้านหลังเล็กน้อย แต่เมื่อคลอดเจ้าตัวเล็กแล้ว บุคลิกที่สง่างามก็จะกลับมาเหมือนเดิมค่ะ แต่ช่วงนี้อาจต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเมื่อศีรษะเอนไปด้านหลัง ระดับสายตาก็จะเปลี่ยนไป การกะระยะก็อาจผิดพลาดได้
นอนได้น้อย เพราะอึดอัดกับท่าทางการนอนมากขึ้น ดังนั้นถ้ามีโอกาสคุณแม่ควรหาเวลางีบหลับ ให้บ่อยขึ้นแม้เป็นช่วงสั้นๆ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายได้แล้ว ก็อย่าลืมวางแผนล่วงหน้าด้วยนะคะว่า หลังคลอดจะจัดที่หลับที่นอนยังไง เตรียมห้องพักแบบไหน ของจำเป็นมีอะไรบ้าง เรื่องแบบนี้ค่อยๆ เตรียมไว้ก่อนเป็นดีแน่ค่ะ
[ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 5 ฉบับที่ 59 กันยายน 2543]