bloggang.com mainmenu search

เวลาสำคัญสำหรับคุณแม่และคุณลูก ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อใกล้คลอดนี้ หากคุณแม่คนใหม่รู้ขั้นตอนต่างๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรกับตัวเองและลูกน้อยในครรภ์บ้าง เพื่อที่คุณพ่อและคุณแม่จะได้รับมือกับอาการและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่าง 12 ชั่วโมงก่อนคลอดในครั้งนี้ นำเสนอภายใต้คอนเซปต์การคลอดแบบ Natural Birth และ Active Birth ซึ่งเป็นการคลอดธรรมชาติที่คุณแม่เป็นจุดศูนย์กลางของกระบวนการ แพทย์หรือพยาบาลแทบจะไม่เข้าไปแทรกแซงและให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด 12 ชั่วโมง (โดยประมาณ) ของการคลอดธรรมชาติแบบ Natural Birth และ Active Birth แบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ๆ คือ


- 8 ชั่วโมงแรก ปากมดลูกบางขึ้นและเริ่มเปิดจนเปิดหมด
ระยะนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ระยะเฉื่อย ระยะเร่ง และระยะปรับเปลี่ยน

ระยะเฉื่อย ส่วนใหญ่จะเจ็บท้องประมาณ 8 -12 ชั่วโมงในท้องครั้งแรก และ 6 – 8 ชั่วโมงในท้องสอง ช่วงนี้ปากมดลูกเปิดประมาณ 3 เซนติเมตร คุณแม่จะไม่ค่อยปวดมาก แต่ปวดแบบห่างๆ เป็นพักๆ ในลักษณะที่พอทนได้และยังสามารถทำงานได้อยู่ อาจจะเริ่มมีมูกเลือดบ้างเพราะปากมดลูกเริ่มเปิด แต่ส่วนมากจะยังไม่มีน้ำเดิน คุณแม่จะสังเกตตัวเองได้จากความถี่ในการเจ็บ

ระยะเร่ง ปากมดลูกเปิดประมาณ 4 – 8 เซนติเมตร เริ่มปวดมากขึ้น เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูกจะแรงขึ้นและถี่ขึ้นประมาณ 4-5 ครั้งต่อชั่วโมง คุณแม่จะเจ็บท้องอยู่ 4- 6 ชั่วโมงในท้องแรกและ 2-4 ชั่วโมงในท้องที่สอง ระยะนี้คุณแม่บางคนอาจจะเริ่มมีน้ำเดิน คุณแม่จะจดจ่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะนั้นและการคลอดจนอาจลืมเรื่องเวลา

Care Tips

1. คุณพ่อควรประคับประคองรับน้ำหนักคุณแม่ อาจใช้หมอน เก้าอี้ เพื่อพยุงรับน้ำหนักเพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนบ้าง
2. หาท่าที่ทำให้รู้สึกสบายขึ้น คุณแม่สามารถอยู่ในท่านั้นได้นานจนเริ่มรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนท่าใหม่ หากอยู่ในท่ายืนควรงอเข่าเล็กน้อย ป้องกันอาการตึงและล้าที่ขา ควรยืนแยกเท้าให้ห่างพอสมควร เพื่อการทรงตัวและช่วยให้กระดูกเชิงกรานผายออก
3. ดัดแปลงเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ในบ้านหรือในห้องคลอดมาใช้ก็ได้ คุณแม่บางคนอาจชอบวางขาต่างระดับกัน ท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
4. อาจใช้การนวด ประคบน้ำร้อนบริเวณที่ปวด แช่น้ำอุ่นในอ่าง ใช้ฝักบัว(ถ้าน้ำอุ่นจะช่วยมากขึ้น) เปิดเพลง Light Music หรือเพลงคลาสสิค ใช้กลิ่นหอมบำบัดช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น การปลอบโยน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการบรรเทาปวดที่แทบไม่มีผลข้างเคียงเลยค่ะ

ระยะปรับเปลี่ยน เป็นระยะที่ซับซ้อนที่สุดของการคลอด เพราะปากมดลูกจะเปิด 8 – 10 เซนติเมตร และเข้าสู่การเบ่งคลอด มดลูกจะหดรัดตัวนานมาก ถุงน้ำคร่ำแตก ช่วยลดอาการตึงถ่วงที่ช่องคลอด ช่วงนี้คุณแม่อาจอยากเบ่ง หากเบ่งแล้วรู้สึกเจ็บแสดงว่าปากมดลูกยังเปิดไม่เต็มที่ ควรหยุดเบ่งและเปลี่ยนเป็นท่าเข่าชิดหน้าอก นอกจากนี้ยังเป็นระยะที่มีการปรับเปลี่ยนของอารมณ์ด้วย อารมณ์ของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ บางครั้งควบคุมตัวเองไม่ได้

Care Tips

1. อาบน้ำด้วยฝักบัวในท่ายืนหรือนั่งจะช่วยบรรเทาความปวดได้อย่างมาก โดยเฉพาะตอนใกล้คลอด
2. ทำท่าหัวเข่าชิดหน้าอก เริ่มด้วยการคุกเข่า โน้มตัวมาข้างหน้า ยกก้นให้สูงที่สุดแล้วแนบศรีษะกับหน้าอกลงที่พื้น ช่วยป้องกันไม่ให้คุณแม่เบ่งก่อนเวลา
3. พักผ่อนร่างกาย โดยใช้หมอนหรือหมอนบรรจุถั่ว (Bean Bag) ช่วยประคองร่างกาย
4. ให้คุณพ่อใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนบิดหมาด แล้ววางประคบบริเวณที่ปวด เช่น ก้นกบ หรือหลังส่วนล่างเพื่อบรรเทาความปวดและทำให้รู้สึกสบายมากขึ้น
5. การแช่น้ำอุ่นจะช่วยลดความเจ็บปวดได้ดีทีเดียว

- 2 ชั่วโมงต่อมาเบ่งคลอด
ช่วงนี้คุณแม่จะเจ็บท้องไม่เกิน 2 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก และไม่เกิน 1 ชั่วโมงในท้องหลัง ซึ่งปากมดลูกจะเปิดหมดแล้ว แต่ศรีษะเด็กยังอยู่สูง ยังไม่ลงมากดบริเวณอุ้งเชิงกราน ข้อดีคือ คุณแม่ซึ่งเจ็บท้องคลอดมาหลายชั่วโมงจะได้พักในช่วงนี้ประมาณ 10 – 20 นาที พอศรีษะเด็กลงมาต่ำ คุณแม่จะรู้สึกอยากเบ่งออกเอง

ช่วงนี้จะเริ่มปวดบริเวณปากช่องคลอดบริเวณก้นกบ เพราะศรีษะเด็กเริ่มลงมาต่ำตรงอุ้งเชิงกราน ถ้าจะประคบน้ำร้อนหรือนวดก็ต้องทำบริเวณนั้น ประคบน้ำร้อนบริเวณช่วงล่างของปากช่องคลอด ใกล้ๆทวารหนักจะช่วยลดความปวด หรือถ้อนวดต้องนวดหลังตรงก้นกบ แตะระยะที่ 2 จะเร็วไม่ค่อยเสียเวลา

พยายามให้คุณแม่มีความเป็นส่วนตัวและให้เคลื่อนไหวอยู่ในท่าตั้งตรง เพราะจะทำให้เจ็บน้อยลง บุคคลที่เป็นเพ่อนระหว่างคลอดจะคอยช่วยดูแลคุณแม่ระหว่างนี้ ส่วนพยาบาลจะคอยดูคอยวัดสัญญาณชีพเท่านั้น

Care Tips

1. ควรหาสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มาให้คุณแม่ยึดเพื่อจะเบ่งได้อย่างเต็มที่ โดยคุณแม่ควรอยูในท่าลำตัวตั้งตรง เท้าทั้งสองอยู่บนผ้ายางและมีคุณพ่อหรือคนใกล้ชิดมาช่วยประคองอย่างดี
2. การโน้มตัวไปด้านหน้ามากๆ จะช่วยลดผลของแรงโน้มถ่วงของโลก ท่านี้มีประโยนช์ในกรณีที่การเจ็บครรภ์คลอดคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว
3. การนั่งบนโถส้วมจะช่วยให้คุณแม่สามารถควบคุมแรงเบ่งได้ดี

- 2 ชั่วโมงสุดท้าย...คลอด
เป็นระยะที่เด็กเคลื่อนผ่านช่องคลอดออกมาแล้ว ซึ่งหลังจากทารกคลอดแล้วมดลูกจะเริ่มหดตัวเพื่อลดขนาด และจะหดตัวต่อไปเรื่อยๆ กระบวนการนี้จะได้รับการช่วยเมื่อทารกดูดนมแม่

จากนั้นรกจะค่อยๆ ลอกออกจากผนังมดลูกและเคลื่อนลงสู่ช่องคลอด ซึ่งโดยปกติแล้วรกจะคลอดหลังจากการคลอดทารกประมาณ 20 นาที จากนั้นแพทย์จะตรวจสอบว่าไม่มีส่วนใดติดค้างอยู่ในโพรงมดลูกอีก

Care Tips

คุณแม่ควรอยู่ในท่านั่งระหว่างรอให้รกคลอด จะได้โอบอุ้มและมองเห็นหน้าลูกได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายขึ้น การที่คุณแม่และลูกได้สัมผัสผิวของกันและกัน ทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นผ่านสัมผัสของแม่ ซึ่งช่วยในการปรับอุณหภูมิของลูก และช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย

เมื่อคุณแม่เข้าใจแล้วว่า 12 ชั่วโมงก่อนคลอดกระทั่งลูกคนใหม่ออกมา แต่ละขั้นตอนจะมีการเปลี่ยนแปลงและมีการดูและตัวเองอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยให้คุณแม่คนใหม่รับมือกับช่วงเวลาอย่างนี้มีสติและไม่ตื่นกลัวอีกต่อไปค่ะ


จาก Modern mom ฉบับที่ 154 สิงหาคม 2008

Create Date :24 พฤษภาคม 2552 Last Update :23 กรกฎาคม 2552 20:39:53 น. Counter : Pageviews. Comments :0