bloggang.com mainmenu search

เมื่อจะคลอด คุณแม่ท้องทุกคนล้วนปรารถนาให้การคลอดลูกของตนราบรื่น ผ่านไปโดยง่ายและปลอดภัย แต่ใช่ว่าความต้องการนั้นจะเป็นจริงได้ทุกราย เพราะมีคุณแม่หลายคนที่ต้องเจอกับภาวะ "คลอดยาก" ขอพาว่าที่คุณแม่คนใหม่ทั้งหลายทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง "คลอดยาก" จากสูติแพทย์ คือคุณหมอเยาวลักษณ์ รพีพัฒนา

แค่ไหนล่ะที่ว่า "คลอดยาก"

คุณหมอเยาวลักษณ์เริ่มต้นอธิบายว่า "การคลอดยากก็คือการคลอดที่ยาวนานกว่าปกติ ทำให้คลอดทางธรรมชาติไม่ได้ หรือจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือช่วย ระยะเวลาจะนับจากการเจ็บครรภ์จริง 20 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก และ 12 ชั่วโมงสำหรับท้องหลัง ภายในระยะเวลาดังกล่าวนี้ ถ้ายังไม่คลอดก็ถือว่าเป็นการคลอดช้าค่ะ"

การเจ็บครรภ์จริงที่ว่านี้เราจะดูได้จากการที่มดลูกหดรัดตัวแรงขึ้น สม่ำเสมอขึ้น มีระยะเจ็บที่นานขึ้นและถี่กว่าเดิม ถุงน้ำคร่ำแตก เริ่มมีการเปิดของปากมดลูก ซึ่งต่างจากการเจ็บครรภ์เตือนที่จะเป็นแบบเจ็บๆ หายๆ ไม่สม่ำเสมอ แล้วเมื่อตรวจดูปากมดลูกก็ยังไม่เปิด

"องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้นิยามของคำ"คลอดยาก"ว่า เมื่อแม่เข้าสู่ระยะการคลอดที่เรียกว่าเจ็บครรภ์จริง หรือระยะ active จะต้องมีการเปิดของปากมดลูกอย่างน้อย 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง ถ้าปากมดลูกไม่เปิด 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมงหลังจากที่รอแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรผ่าตัดคลอด หรือถึงแม้ว่าปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมงแล้ว แต่ศีรษะของเด็กยังลอยอยู่ ไม่ลงต่ำลงมาเกินกว่า 3 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก และ 1.5 ชั่วโมงสำหรับท้องหลังก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์คลอดยากแล้วค่ะ"

นอกจากนั้น การคลอดยากยังมีสัญญาณที่เด่นชัดคือ การคลอดไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งคำว่า "ความก้าวหน้า" ในที่นี้หมายถึงสภาพปากมดลูกที่เปิดกว้างขึ้น และการเคลื่อนต่ำของส่วนนำ (ศีรษะ) ของเด็ก โดยดูได้จากความแรงของการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกที่จะเป็นส่วนทำให้ปากมดลูกเปิดได้ดีขึ้น ทารกในครรภ์สามารถเคลื่อนผ่านอุ้งเชิงกรานได้ และอุ้งเชิงกรานมีขนาดกว้างเพียงพอให้ทารกเคลื่อนผ่านได้สะดวกนั่นเอง

อะไรทำให้ "คลอดยาก"

ทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุด้วยกันค่ะ คือ

1. แรงบีบรัดตัวของมดลูกไม่ดีพอ
ปกติระยะที่เข้าสู่การคลอด มดลูกจะต้องมีการบีบรัดตัวทุกๆ 2-3 นาที มีความแรงอย่างน้อย 40-50 มิลลิเมตรปรอท ที่เรียกว่าน้อยไปก็คือน้อยกว่าทุก 3 นาที และมีความแรงน้อยกว่า 40-50 มิลลิเมตรปรอท หรือบางทีมดลูกก็บีบรัดตัวดีมาตลอดแล้วมาล้าเอาทีหลังในกรณีที่การคลอดยาวนาน แต่หากจะถามว่าทำไมการบีบรัดตัวจึงไม่ดีพอนั้นส่วนใหญ่เราไม่ทราบสาเหตุ บางทีอาจเกิดจากสุขภาพของคุณแม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรง พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย หรือว่ามดลูกมีความผิดปกติค่ะ

2. ทางคลอดแคบผิดปกติ
อย่างเช่นมีกระดูกส่วนก้นกบแหลมยื่นออกมา หรือว่าส่วนกระดูกเชิงกราน 2 ข้าง แหลมสอบเข้าไป แล้วก็แคบผิดปกติ กลุ่มนี้จะสามารถรู้ได้ตั้งแต่เมื่อแรกที่ตรวจภายในเลยค่ะว่าอุ้งเชิงกรานแคบมาก คือมีส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางด้านหน้า และหลังน้อยกว่า 10.5 เซนติเมตร ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่ต้องผ่าคลอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ใช้เครื่องมือช่วยพาลูกออกมาไม่ได้เลย จะอันตรายมาก เนื่องจากเวลาเราใส่เครื่องมือเข้าไปแล้ว ถ้าเรา ดึงและกระชากลากถู ข้างใต้กระโหลกของลูกคือสมองก็จะเกิดอันตรายได้ ดังนั้น หากประเมินได้ตั้งแต่แรกแล้วก็ควรจะตัดสินใจผ่าตัดเลย ไม่ต้องเสี่ยงให้เกิดอันตรายกับลูกค่ะ

3. ตัวลูกเอง
มีตั้งแต่ ตัวลูกโตเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของคุณแม่ ท่าของลูกไม่ถูกต้อง เช่น ลูกอยู่ในท่าขวาง (เด็กนอนขวางท้อง) ท่าก้น หรือเป็นท่าศีรษะแต่ว่าลูกไม่ยอมก้ม แหงนหน้าออกมา หรือว่าเอียง ก็จะทำให้คลอดยากค่ะ การที่ลูกอยู่ในท่าที่ผิดปกตินี้เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนเช่นเดียวกัน แต่มักจะพบได้ในกรณีที่คุณแม่มีมดลูกที่ ผิดปกติ เช่น มีรูปร่างผิดปกติ มีแผ่นพังผืดหรือมีเนื้องอกอยู่ข้างในมดลูก เป็นต้น


อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการคลอดยาก

เมื่อเกิดการคลอดยากขึ้นตามปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา หากเรายืนยันที่จะยังคงคลอดธรรมชาติต่อไป โดยไม่ยอมให้ใช้เครื่องมือช่วยหรือผ่าตัดคลอด สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ มดลูกจะล้า จะเกิดการตกเลือดหลังคลอด หรือหากเด็กไม่สามารถคลอดลงด้านล่างตามปกติได้ ก็จะพยายามดันขึ้นข้างบน ผลก็คือเกิดมดลูกแตก

หรืออีกอย่างหนึ่งคือถ้าเราพยายามให้แม่คลอดออกมาได้ก็จริง แต่ระหว่างที่คลอดนั้นอวัยวะของลูกอาจเกิดการติดขัด ไม่สามารถออกจากช่องคลอดได้อย่างราบรื่นก็จะเป็นอันตรายมาก เช่น ถ้าเป็นศีรษะก็จะทำให้ตกเลือดในสมอง หรือเกิดกระดูกไหล่ ไหปลาร้าหัก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากเด็กถูกมดลูกบีบรัดตัวก็เป็นได้ค่ะ

มีสิทธิ์รู้ตัวก่อนไหม?

การที่จะรู้ว่าท้องไหนคลอดยากหรือไม่นั้นสามารถจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในบางกรณีเท่านั้น อย่างกรณีคุณแม่ตัวเล็ก ส่วนสูงน้อยกว่า 150 เซนติเมตร หรือสูงกว่านั้นนิดหน่อย และลูกมีขนาดตัวโตมาก ทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ โดยสามารถคาดการณ์ได้จากการอัลตราซาวนด์หรือดูจากหน้าท้องหากมีความชำนาญ และรู้ได้จากการตรวจภายในว่ากระดูกเชิงกรานแคบ ท่าคลอดของลูกบางท่าก็สามารถรู้ได้ก่อนคือ ท่าก้น และท่าขวาง ส่วนกรณีอื่นไม่สามารถรู้ได้ก่อน ต้องไปรอลุ้นกันตอนคลอดเลยละค่ะ

ช่วยอย่างไรดีเมื่อคลอดยาก

ในปัจจุบันคุณแม่แทบไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องการคลอดยากแล้ว เพราะแนวทางการช่วยเหลือมีมากขึ้น แต่ในท่ามกลางโอกาสที่ลดลงอย่างมากนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์คนหนึ่งต้องเจอกับเหตุการณ์คลอดยาก คุณหมอก็จะมีวิธีช่วยคุณแม่อย่างนี้ค่ะ...

* ใช้ยา Oxytocin (หรือยาเร่งคลอด)

ในกรณีที่คุณแม่มีแรงบีบรัดของมดลูกไม่ดีพอ คุณหมอจะให้ยาผ่านน้ำเกลือ แล้วคอยปรับอัตราเร่งของหยดน้ำเกลือว่าจะให้มดลูกบีบรัดมากหรือน้อย สำหรับการใช้ยาเพิ่มแรงบีบรัดตัวของมดลูกนี้ถ้าถามว่ามีอันตรายไหม หากควบคุมอย่างดี อันตรายก็ไม่เกิด แต่หากให้ยามากเกินไปทำให้มดลูกหดตัวมากอาจมีอันตรายต่อแม่คือ มดลูกแตก ส่วนอันตรายต่อตัวลูกคือ เกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยแรงบีบรัดที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ในอัตราความถี่ไม่เกิน 1 นาที กับ 30 วินาทีต่อครั้ง และความนานของการบีบรัดตัวแต่ละครั้งไม่ควรนานเกินกว่า 60 วินาที ทั้งนี้ เมื่อมดลูกมีแรงบีบรัดที่มากพอในอัตราที่เหมาะสมแล้วคุณแม่ก็จะสามารถคลอด ลูกได้ตามปกติค่ะ

* ใช้คีมช่วยคลอด หรือ ใช้เครื่องดูดสูญญากาศ

เครื่องมือช่วยคลอดทั้ง 2 อย่างนี้จะถูกใช้ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่งเพียงพอ หัวใจของลูกเต้นช้าลง ท่าของลูกผิดจากที่ควรจะเป็น (ซึ่งท่าที่ดีที่สุดที่จะทำให้ลูกคลอดออกมาได้ คือลูกต้องกลับตัวลง ศีรษะตั้งตรงแล้วก้ม) แต่เด็กบางคนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา หรือเงยหน้า แม้ว่าตัวเด็กจะขยับลงมาได้เรื่อยๆ ผ่านกระบวนการมาจนจะคลอดอยู่แล้ว แต่หัวยังตะแคงหรือเงยอยู่นิดหน่อยก็จะทำให้คลอดไม่ได้ ตอนนี้เองที่คุณหมอจะใช้เครื่องมือช่วยดึงออกมาค่ะ เพราะถ้าปล่อยให้ลูกคาอยู่อย่างนั้นนานเกิน 2 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก และ 1 ชั่วโมงสำหรับท้องหลัง ลูกอาจเกิดภาวะขาดออกซิเจน ทำให้เป็นอันตรายต่อสมองได้

ส่วนเครื่องมือแต่ละชนิดที่กล่าวมานั้น คุณหมอบอกว่ามีกฎของการเลือกใช้อยู่ค่ะ

- ถ้าเป็น คีมช่วยคลอด จะใช้ในกรณีที่ปากมดลูกเปิดหมดเท่านั้น และศีรษะของเด็กจะต้องลงมาในระดับต่ำเกินกระดูกเชิงกรานส่วนกลางมาแล้ว ถ้าศีรษะยังอยู่สูงคุณหมอจะไม่ใช้เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสมองของลูกได้ และอาจทำให้กระดูกเชิงกรานของแม่แยก หรือมดลูกแตกได้ และการใช้คีมช่วยคลอดนี้ศีรษะของเด็กต้องเอียงไม่เกิน 45 องศา

- ส่วนเครื่องดูดสูญญากาศจะใช้เมื่อต้องการดูดให้เด็กคลอดภายในไม่เกิน 40 นาที เพราะถ้าใช้เวลาเนิ่นนานกว่านี้จะเป็นอันตรายกับลูกได้ นอกจากนั้น ในการใช้เครื่องดูดสูญญากาศต้องใช้ถ้วยครอบศีรษะเด็กเพื่อที่จะดูดออกมาด้วย ซึ่งมีข้อจำกัดว่าในขณะที่ดึงต้องระวังไม่ให้ถ้วยครอบหลุดจากศีรษะเกิน 2 ครั้ง ถ้าหากหลุดเป็นครั้งที่ 3 ก็ต้องผ่าคลอดแล้วละค่ะ

การเลือกว่าจะใช้เครื่องมือชนิดใดนั้นคุณหมอเยาวลักษณ์บอกว่าเป็นความชอบ ความถนัดส่วนตัวของสูติแพทย์แต่ละท่านด้วย ซึ่งแพทย์ทุกท่านจะรู้ตัวเอง ถ้าทำในสิ่งที่ถนัด นั่นคือสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

--------------------------------------------------------

ผ่าตัดคลอด...ทางออกสุดท้าย

ถึงแม้จะมีเครื่องมือช่วยคลอดแล้วก็ตาม แต่ยังมีบางกรณีที่จำเป็นจะต้องผ่าตัดคลอดค่ะคือ กรณีที่เด็กตัวโตมากเมื่อเทียบกับสรีระของคุณแม่ เมื่อตรวจภายในแล้วพบว่ากระดูกเชิงกรานแคบ หรือกระดูกเชิงกรานมีความผิดปกติ ท่าของเด็กผิดปกติคือ ท่าขวาง ท่าก้น หรือท่าศีรษะแต่ว่าเด็กแหงนหน้ามาก ก็ต้องผ่าตัดคลอดค่ะ

แต่ไม่ว่าเราจะคลอดยากหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์อย่างเราจะทำได้ดีที่สุดก็คือ การเตรียมตัวให้พร้อมทั้งกาย ใจ และความรู้เท่าทันต่อสภาพครรภ์ของเราเอง และการพยายามพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณหมอสูติฯ ประจำตัวของเราอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่าคุณหมอสูติฯ ที่ดูแลเราอยู่จะมีวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือให้การคลอดเป็นไปอย่าง ปลอดภัยทั้งแม่และลูกค่ะ

------------------------------------------------------------------

เคล็ดลับช่วยป้องกัน "คลอดยาก"

สำหรับคุณแม่คนไหนที่ไม่อยากคลอดยากละก็ คุณหมอเยาวลักษณ์มีคำแนะนำแถมท้ายที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการคลอดยากลงไปได้บางส่วนมาฝากกันค่ะ


* คุมน้ำหนักกันหน่อย

"ถ้าไม่อยากให้คลอดยากก็ควรพยายามควบคุมน้ำหนักให้ขึ้นไม่เกิน 11-15 กิโลกรัม ถ้าเกินนั้นแล้ว โอกาสที่ลูกจะตัวโต และส่วนของเชิงกรานคุณแม่ที่เป็นส่วนของไขมันที่เป็นทางผ่านของช่องคลอดจะถูกพอกด้วยไขมันหนาขึ้น ทำให้การคลอดยากขึ้น เหมือนกับว่าประตูแคบลง เพราะฉะนั้นก็ต้องควบคุมน้ำหนักให้ได้

การควบคุมน้ำหนักไม่ได้หมายความว่าต้องอดทุกอย่าง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นเนื้อ นม ไข่ อย่ารับประทานอาหารหวานมาก จำกัดอาหารจำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรตให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ที่ทำให้ทั้งคุณแม่และลูกอ้วนไปเปล่าๆ

แต่ว่าเรื่องนี้พูดยาก ตามทฤษฎีก็บอกคุณแม่ได้ แต่ถ้าเป็นคนท้องจริงๆ จะรู้ว่าห้ามปากยากมาก จะหิวอยู่ตลอดเวลา ก็ยากเหมือนกัน"

* ออกกำลังบ้างก็ดีนะ

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ควรออกกำลังกายบ้างโดยเฉพาะช่วงท้องแก่ พยายามเดินหน่อย ใช้พลังงาน ก็จะช่วยการคลอดได้ เพราะว่าแรงโน้มถ่วงของลูก (Gravity) จะ ทำให้ศีรษะของลูกลง และการออกกำลังกายจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อส่วนเชิงกรานมีความกระชับ แข็งแรง สามารถที่จะยืดหยุ่นและก็เบ่งคลอดได้ในตอนคลอดค่ะ

.............................................................................................

จาก: รักลูก

Create Date :08 มิถุนายน 2552 Last Update :23 กรกฎาคม 2552 20:45:04 น. Counter : Pageviews. Comments :0