bloggang.com mainmenu search

ตั้งใจไว้ว่ายังไงซะก็จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ แล้วแบบนี้เราจะต้องเตรียมหัวนมอย่างไรบ้างนะก่อนคลอด เพื่อเวลาที่เจ้าตัวเล็กออกมาจะได้กินนมแม่แบบสบายๆ

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่รู้หรือว่ายังไม่แน่ใจว่าตอนที่กำลังตั้งครรภ์ เราจะต้องดูแลหัวนมเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า เพื่อว่าพอลูกน้อยออกมาปั๊บก็ได้อิ่มอร่อยกับนมแม่ปุ๊บเลย คุณมีนะ สพสมัยมีคำแนะนำดีๆ สำหรับการเตรียมดูแลหัวนมก่อนจะคลอดมาฝากค่ะ

การเตรียมดูแลเต้านมก่อนคลอดไม่มีอะไรยุ่งยากค่ะ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ดูแลตามปกติเพราะหัวนมถูกเตรียมมาโดยธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์อยู่แล้ว คือตรงบริเวณเต้านมจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะ มีความนุ่มนวลที่เกิดจากต่อมไขมันที่เกิดขึ้นบริเวณหัวนม ทำให้ตรงบริเวณนั้นนุ่มขึ้น แล้วก็มีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบๆ หัวนม อันเนื่องมาจากการทำงานของฮอร์โมน เพราะฉะนั้นหัวนมของแม่ถูกธรรมชาติสร้างและเตรียมมาให้อยู่แล้ว เราไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษมากมาย

แต่สิ่งที่สำคัญที่คุณแม่ควรจะทำในช่วงก่อนคลอดก็คือ การสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองค่ะ คนที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้น สิ่งสำคัญมาจากความมั่นใจว่าตัวเองอยากให้ และสามารถที่จะให้นมลูกได้ หรือถ้ามีเวลาก็หาข้อมูลให้เยอะๆ อาจจะลองฝึกอุ้มลูกในท่าต่างๆ หรือคุยกับคุณแม่ที่มีประสบการณ์ในการให้นมลูก ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกได้ค่ะ


ปัญหาเรื่องหัวนม

หลายคนจะคิดว่า ตัวเองมีปัญหาเรื่องหัวนม เช่น หัวนมบอด หัวนมยาว แบบนี้จะให้นมลูกได้หรือเปล่า ก็ขอบอกตรงนี้เลยนะคะว่าไม่ว่าจะหัวนมแบบไหนก็ไม่เป็นปัญหาทั้งนั้น เพราะเวลาที่ลูกดูดนมการดูดที่ถูกต้องคือ เด็กจะดูดตรงลานนมเข้าไปด้วย ไม่ใช่แค่ที่หัวนมอย่างเดียว แล้วเวลาที่เขาดูดก็จะช่วยยืดกล้ามเนื้อตรงหัวนม จนกระทั่งมันยืดยาวพอที่เขาจะอมเข้าไปได้

อีกอย่างเขาก็ใช้สัญชาตญาณในการอยู่รอดหาวิธีที่จะงับลงบนลานนมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ความมั่นใจของคุณแม่ และการให้ลูกได้กินนมแม่เร็วที่สุดใน 2 ชั่วโมงแรก เพื่อกระตุ้นให้ลูกเกิดการเรียนรู้ที่ดูดนมจากอกแม่ และหลังจากนั้นเขาก็จะสามารถดูดนมแม่ได้เองค่ะ

แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่แน่ใจว่าหัวนมตัวเองนั้นใช้ได้หรือไม่ สั้นไปหรือเปล่า หรือหัวนมบอด ลองใช้วิธีนี้ตรวจสอบดูค่ะ คุณแม่ลองใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางบนลานนมให้ช่องว่างระหว่างนิ้วอยู่ที่หัวนมเหมือนกับคีบบุหรี่ และให้ดูว่าคุณแม่สามารถคีบหัวนมได้หรือไม่ ถ้าสามารถคีบได้นั่นแสดงว่าหัวนมปกติค่ะ เพราะมีคุณแม่บางคนที่คิดว่าตัวเองหัวนมบอดหรือหัวนมสั้นเนื่องจากเวลาใส่เสื้อชั้นใน แล้วเสื้อชั้นในกดทับหัวนม ทำให้เข้าใจว่าตัวเองหัวนมสั้นหรือหัวนมบอด ซึ่งถ้าเกิดหัวนมคุณแม่บอดจริงๆ จะสังเกตได้จากเวลาที่คีบแล้วหัวนมจะไม่โผล่ขึ้นมาเลย

วิธีแก้ไขคือ ก่อนคลอดคุณแม่พยายามนวดหรือดึงให้หัวนมขึ้นมาก็จะพอช่วยได้ค่ะ หรือจะลองวิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้านดูก็คือ เวลาที่คุณแม่ให้นมลูกก็กดเต้านมให้แบนลงไป เพื่อที่หัวนมจะได้โผล่มาได้มากขึ้น

สำหรับคุณแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองหัวนมยาว คำตอบก็คือ ถ้าลูกดูดนมแม่หัวนมจะไม่ยาวเพิ่มค่ะ เวลาที่ลูกดูดเสร็จหัวนมก็จะหดกลับ การที่คุณแม่มีหัวนมยาวก็เหมือนลูกต้องกินอาหารชิ้นโตๆ นั่นล่ะค่ะ คือเขาจะสามารถกินได้ เพียงแต่ว่าต้องอ้าปากให้กว้างหน่อยเท่านั้นเอง

และการที่หัวนมยาวก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะเวลาที่ลูกดูดนมแม่ ทำให้กล้ามเนื้อค่อยๆ ยืดและยาวไปจนถึงจุดรอยต่อระหว่างเพดานอ่อนกับเพดานแข็งในปากลูก ซึ่งพอลูกดูดแล้วกลืนจะทำให้หัวนมของแม่ไปกระตุ้นตรงบริเวณด้านบน ซึ่งเป็นจุดที่สามารถกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยในเรื่องของการดูด การกลืน และช่วยป้องกันการสำลัก ถ้าเราเอาหัวนมเข้าปากลูกน้อยเกินไป ลูกมีโอกาสจะสำลักได้เยอะกว่าค่ะ

ดูแลหัวนม

จะว่าไปแล้วแค่การอาบน้ำดูแลร่างกายตามปกติก็เพียงพอแล้วค่ะ การใช้ครีมคงไม่จำเป็นเท่าไรถ้าผิวคุณแม่ไม่ได้แห้งมากเกินไป แต่เพื่อความสบายใจถ้าอยากจะใช้ครีมบำรุงก็ใช้ได้ค่ะ เช่น พวกโลชั่นหรือน้ำมันมะกอกก็ได้ แต่ควรเลือกชนิดที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีการดูดซึมดี เพราะเมื่อผิวชุ่มชื่น ก็จะช่วยลดอาการแตกลายได้ แต่ถ้าคุณแม่เลือกครีมที่มีความเหนอะหนะมากเกินไป จะทำให้ผิวบริเวณนั้นอุดตันกับไขมัน ต่อมไขมันจะไม่สามารถขับน้ำออกมาได้ ทำให้เกิดตุ่มสิวขึ้นมาได้ค่ะ

สบู่ที่ใช้ควรมีความเป็นกรดด่างที่น้อยๆ เพราะว่าผิวคุณแม่ช่วงนี้มีการขับไขมันออกมาเยอะ คุณแม่จะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว และไม่สยายใจด้วยว่าตัวเองสะอาดแล้วหรือยัง เพราะฮอร์โมนในร่างกายช่วงที่คุณแม่ตั้งท้องทำให้สีผิวเปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำขึ้น คุณแม่บางคนจึงอาจจะเข้าใจว่าตัวเองสกปรกเลยใช้สบู่หรือมีการทำความสะอาดบริเวณเต้านมมากจนเกินไป ซึ่งก็ไม่ดี เพราะจะทำให้ผิวแห้งแล้วแบคทีเรียที่ช่วยปกป้องร่างกายของเราถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงไป การปกป้องผิวบริเวณนั้นก็ลดลงด้วย

และยังมีผลต่อเนื่องตามมาอีกค่ะ คือหัวนมแตก ปกติหัวนมแตกจะพบในช่วงหลังคลอด จากการดูดไม่ถูกวิธี หรือการดูดแรงเกินไปของลูกประมาณ 99.99% ส่วนอีก 0.01% เกิดได้ก่อนคลอดนี่ล่ะค่ะ จากการที่คุณแม่ดูแลพิถีพิถันกับบริเวณหัวนมมากจนเกินไป บางคนก็ดึงเอาจุกไขมันที่อยู่ในหัวนมที่จะมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ ออก เพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งสกปรก ก็ต้องบอกให้เข้าใจเลยค่ะว่า คุณแม่อย่าไปดึงออก เพราะไขมันตรงนั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้ และไขมันตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไรกับลูก แต่ถ้าเราไปดึงออก ไปถูสบู่เยอะเกินไป บริเวณนั้นจะเกิดการแห้งและทำให้หัวนมแตกในที่สุด

สร้างความคุ้นเคย

เวลาที่คุณแม่ให้ลูกดูดนมครั้งแรกๆ จะรู้สึกเจ็บๆ ตึงๆ นั่นเป็นเพราะตรงหัวนมจะมีเส้นประสาทมาเลี้ยงเยอะ และคุณแม่ยังไม่คุ้นเคยค่ะ ซึ่งถ้าสร้างความคุ้นเคยไว้บ้างก็จะช่วยให้คุณแม่เจ็บน้อยลง ตำราฝรั่งเขาก็บอกวิธีสร้างความคุ้นเคยไว้ค่ะ คือให้คุณแม่ลองใช้ผ้าเช็ดตัวถูบริเวณหัวนมเบาๆ หลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อให้เกิดการสัมผัสที่เปลี่ยนไปจากสัมผัสธรรมดาเวลาที่เราอาบน้ำ และทำให้หัวนมคุ้นเคยกับการถูกกระตุ้นค่ะ

และสุดท้ายอย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและหมั่นสร้างความมั่นใจให้ตัวเองบ่อยๆ ค่ะ ไม่ว่าหัวนมเราจะเป็นแบบไหน เราก็จะสามารถให้นมลูกและเลี้ยงเขาจนโตได้

ที่มา.. นิตยสารรักลูก


Create Date :19 กันยายน 2552 Last Update :19 กันยายน 2552 7:48:29 น. Counter : Pageviews. Comments :0