"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
เมษายน 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 เมษายน 2557
 
All Blogs
 
เปิดมุมมองบิ๊ก ขรก.- นักวิชาการ ต่อ "พระยาสัจจาฯ" วงเสวนา "ข้าราชการยุคใกล้อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์"









วงการประวัติศาสตร์ศึกษาข้อมูลจากหลายแห่ง หนึ่งในนั้นเป็นข้อมูลการบันทึกของบุคคลสำคัญในอดีต โดยหนังสือ "เล่าให้ลูกฟัง: ชีวิตข้าราชการมหาดไทยยุคใกล้อวสานระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" หนังสืออัตชีวประวัติของพระยาสัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ)

ซึ่งท่านเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่มีความน่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะเกร็ดเรื่องการปกครอง สไตล์ "ลูกไม้มหาดไทย"

หนังสือ "เล่าให้ลูกฟัง" เป็นการบันทึกข้อมูลจากการเขียนของพระยาสัจจาภิรมย์เอง ใช้ภาษาเข้าใจง่ายตามแบบฉบับการบันทึกการเดินทางของคนรุ่นหนึ่งเพื่อมาเล่าต่อให้กับคนรุ่นต่อไป หนังสือเล่มนี้พิมพ์มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2498 และ 2502

ล่าสุดสำนักพิมพ์มติชนเป็นผู้จัดพิมพ์ครั้งล่าสุดวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 42 และในวันที่4เมษายนสำนักพิมพ์มติชนได้จัดเสวนาหัวข้อ "ชีวิตข้าราชการมหาดไทยยุคใกล้อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่ห้องบอร์ดรูม 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยมีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผอ.วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และ อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรในงานเสวนา

โดยมีนายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ นักสะสมหนังสือเก่า เจ้าของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ มีข้าราชการและอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งอดีตนักการเมือง มาร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง อาทิ นายอนุชา โมกขะเวส อดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมการปกครอง,

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสิริกร มณีรินทร์ อดีตรมช.ศึกษาธิการและสาธารณสุข


ชีวิตที่มีทั้งโชคดีและโชคร้าย
คุณมนุชญ์ แสดงความคิดเห็นว่า "เล่าให้ลูกฟัง" เป็นหนังสือกึ่งชีวประวัติที่เขียนโดยเจ้าของประวัติเอง มีเนื้อหาและเกร็ดต่างๆในหลายแง่มุม

สำหรับส่วนแรกของหนังสือจะเล่าถึงตระกูลของเจ้าคุณสัจจาฯ ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยจากที่อ่านประวัติแล้ว พระยาสัจจาฯ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา มีช่วงชีวิตหลายช่วงทั้งเจริญ-เสื่อม และยังมาเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายลาออกจากราชการ

คุณมนุชญ์ ยังมองว่า ชีวิตของพระยาสัจจาฯ มักมีความโชคดีและโชคร้ายตามมาเสมอ ความโชคดี เช่น ตอนที่เป็นผู้รั้งพระนครศรีอยุธยา ท่านได้เฝ้าฯ ร.7 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

ชีวิตท่านน่าสนใจ กำพร้าตั้งแต่เด็ก โดยแม่เสียชีวิตก่อน ส่วนพ่อมีภรรยาใหม่ มาอยู่กับลุงที่เป็นเจ้าเมืองนครนายก เริ่มรับราชการที่นครนายกตั้งแต่เป็นเสมียนในตอนอายุ 15 จนเป็นจ่าเมือง มาสู่ "อักษรเลข"

ช่วงนั้นกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ย้ายมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลปราจีนบุรี สร้างโรงเรียนประโยคมณฑล ฝึกคน และให้มีการสอนอยู่ 2 ปี ก่อนสอบไล่ ผู้สมัคร 2,000 คน มีผู้สอบได้ 5 คน พระยาสัจจาฯ ก็เป็น 1 ใน 5 นั้นด้วย

ช่วงหนึ่งของชีวิตท่านมีปัญหาในการวินิจฉัยเรื่องโรงเหล้า กระทั่งนายอากรชาวจีนเจ้าของโรงเหล้าที่เสียประโยชน์นำเรื่องไปเพ็ดทูลฯ กรุมขุนมรุพงศ์ฯ จนพระยาสัจจาฯ ถูกลดชั้นจากนายอำเภอบางคล้าที่เป็นชุมชนใหญ่ไปเป็นนายอำเภอบ้านนาซึ่งมีแต่ท้องนา

และยังถูกลดไปเป็นจ่าเมืองในเวลาต่อมา พระยาสัจจาฯชอกช้ำใจแต่ว่าท่านเป็นคนใฝ่เรียนจึงไปสอบกฎหมายจนได้เป็นเนติบัณฑิต ก่อนจะได้เป็นยกกระบัตรหรืออัยการ ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรีในระหว่างที่อายุ 28 - 2 9ปี

ช่วงนั้นพระยาสัจจาฯเกิดปัญหากับกรมขุนมรุพงศ์ฯอีกครั้ง จึงตัดสินใจขอย้ายออกจากมณฑลปราจีนบุรีด้วยการทำหนังสือถึงปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย โดยบอกว่า ถ้ามหาดไทยเห็นว่าตัวเองมีประโยชน์ ก็ขอให้ย้ายออกจากมณฑลปราจีนบุรี

มิฉะนั้น จะไม่ได้ใช้ตนอีก กระทรวงมหาดไทยจึงได้ย้ายพระยาสัจจาฯ ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี

จึงเห็นได้ว่าประสบอุปสรรคแล้ว ชีวิตของพระยาสัจจาฯ ก็มักเจริญขึ้น จากเมืองราชบุรี ท่านย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ อุทัยธานี มีบทบาทเป็นมือปราบโจร ปราบผู้มีอิทธิพลอย่างไม่เกรงกลัว เมื่อมาเป็นผู้ว่าฯ เมืองชล กินระยะเวลาร่วม 10 ปี

ท่านก็เริ่มมีบทบาทด้านการพัฒนา เริ่มถมชายฝั่งเพื่อสร้างอาคารราชการเป็นคนแรก เป็นสโมสรต่างๆ จนมีการถมต่อเรื่อยๆ หลังจากนั้น พระยาสัจจาฯ มีปัญหาขัดแย้งทางการทำงานกับกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคมขณะนั้น

ท่านจึงโดนย้ายไปอยู่เมืองเล็กๆ อย่างชุมพร ที่มีเพียงสองอำเภอ และต้องขู่จะทำหนังสือลาออกอีกครั้ง กระทั่งมาลาออกจริงๆ เมื่อท่านในฐานะเจ้ากรมปกครอง ถูกข้าราชการรุ่นหลัง ซึ่งมาจากสกุลบุนนาค แซงหน้าขึ้นเป็นอธิบดีกรมพลำภัง

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านจะเสื่อมยศบ้างแต่ก็ถือว่าไม่ต่ำกว่าเดิม จนต่อมาหลัง 2475 ท่านลงสมัคร ส.ส.นครนายก ก็ได้รับเลือกตั้ง ช่วงที่ยุบสภาก็ไปพักที่นครนายก จนได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก จากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐประหารตัวเองในปี พ.ศ.2494 ท่านจึงเกษียณไปอยู่บ้านในที่สุด

"ถ้ามองแง่ชีวประวัติถือว่าน่าติดตาม แต่เชิงประวัติศาสตร์ ความคิดเห็นในหนังสือถือเป็นความเห็นส่วนตัวที่ต้องใช้วิจารณญาณในหลายเรื่องๆ ส่วนตัวแล้วหนังสือเล่มนี้ถือเป็นบันเทิงคดี ให้ความรู้และความบันเทิง"

คุณมนุชญ์ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าอ่านเรื่องราวของพระยาสัจจาฯ จะพบว่า ท่านมักทำให้ประชาชนรัก อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ท่านจะต้องไปดูแล ไปปราบ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ช่วงพ.ศ. 2440 เป็นต้นมาจะมีแนวคิดตามกรมพระยาดำรงฯ สั่งสอนว่า

"เจ้าคุณที่จะไปรับตำแหน่ง อำนาจไม่ได้อยู่ที่พระแสงราชศาสตรา แต่อยู่ที่ประชาชนเชื่อถือไว้ใจ ถ้าไว้ใจก็ไม่มีใครมาทำอะไรได้" ดังนั้น คำว่า "อยู่เย็นเป็นสุข" จึงนำมาสู่การ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ทิศทางข้าราชการสมัยนั้นจึงอยู่ที่ประชาชน

แต่สำหรับปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่า เจ้าเมืองต้องเอาใจใส่ประชาชนหรือเจ้านายมากกว่ากัน

สำหรับคำถามว่า ทำไมพระยาสัจจาฯ ไม่ร่วมคณะราษฎร ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 คุณมนุชญ์ แสดงความคิดเห็นว่า "ท่านมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของร.7 อย่างการได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นจุลจอมเกล้า

ซึ่งให้กับผู้ซื่อสัตย์ภักดี มีผลงานตามที่ตอบสนองนโยบาย ท่านผูกพันกับพระเจ้าอยู่หัว โดยเนื้อแท้แล้วพระยาสัจจาฯ จงรักภักดี เพียงแต่ท่านมองว่า พระบรมวงศานุวงศ์บางคนอาจทำตัวไม่เหมาะสม แต่ตัวสถาบันแล้ว

พระยาท่านเทิดทูน ประกอบกับเหตุผลที่คณะราษฎรอาจหวั่นว่าหากชักชวนท่านร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วข่าวอาจรั่วด้วย"

ความสามารถของพระยาสัจจาภิรมย์กับบริบทในยุคเปลี่ยนผ่าน

ด้าน อ.ธเนศ ผู้เขียนคำนำในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงภาพรวมของหนังสือว่า นักประวัติศาสตร์มักอ่านเรื่องง่ายให้ยาก เพราะต้องหาเรื่องให้ได้ เช่นเดียวกับเรื่องนี้ เมื่ออ่านจบแล้วจึงตั้งคำถามว่าอะไรที่หายไป โดยสิ่งที่หายไป เช่น ช่วงรัชกาลที่ 5, 6 และ 7 เป็นช่วงที่สยามผ่านมรสุมเยอะ

ร.5 ก็เจอมหาอำนาจหลายประเทศ เป็นยุคขยายตัวของอาณานิคมตะวันตก เพื่อนบ้านทั้งจีน ญี่ปุ่นตกเป็นเมืองขึ้น หลายประเทศต่างกระทบกระเทือน แต่บันทึกของคนในยุคนั้นหลายคนกลับไม่มีใครพูดถึง นอกจากกรณีที่จำเป็นต้องพูดจริงๆ

เหมือนกับว่าบริบทเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ซึ่งอาจสะท้อนว่า เป็นเพราะสยามผ่านคลื่นอาณานิคมมาได้ง่ายดายหรือราบรื่นกว่าประเทศอื่น

"สิ่งที่น่าสนใจนอกจากนี้จะพบว่าบทบาทขุนนางช่วงเปลี่ยนผ่านมีสีสัน ทั้งขัดแย้งและคลี่คลาย ขึ้นและลง ไปทั้งซ้ายและขวา รู้สึกว่าประวัติศาสตร์ไทยน่ารักไม่เหมือนฝรั่งเศสหรืออังกฤษ ที่เวลาจะโค่นล้ม เขาโค่นล้มกันจริงๆ แต่ความขัดแย้งของชนชั้นนำไทยเหมือนขัดแย้งเพื่อประนีประนอม เพื่อไปสู่อะไรบางอย่างมากกว่า"

อย่างไรก็ตาม อ.ธเนศ ยังระบุว่า ข้าราชการในยุคพระยาสัจจาฯ เกิดขึ้นพร้อมกับนโยบายรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางของสยาม และนโยบายการเก็บภาษีท้องถิ่นผ่านการใช้ "เงินตรา" พอมีเรื่องเงินภาษีเข้ามา ตนคิดว่าการชักผลประโยชน์จากเงินคือที่มาของการที่ขุนนางไปใช้สร้างผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น

เป็นการคอร์รัปชั่นแบบที่ถูกต้องตามจารีต คนที่มีอำนาจปกครองเมืองจะเรียกอะไรได้หมดก่อน เป็นการ "กินเมือง" เช่น พวกเจ้าเมืองที่สยามส่งขึ้นไปปกครองที่พายัพก็ได้ประโยชน์ได้เปอร์เซ็นต์จากชนชั้นนำท้องถิ่น

ซึ่งถ้าเป็นพระยาสัจจาฯ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือ พระยาสัจจาฯ จะไม่ยอมรับประโยชน์เหล่านี้ จนเป็นเหตุให้ถูกย้ายตำแหน่ง

อ.ธเนศจึงเห็นว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะพบว่าการคอร์รัปชั่นก็มีรากมาจากช่วงเปลี่ยนผ่านในการให้ส่วนกลางมีอำนาจควบคุมท้องถิ่นส่วนกลางมีรายได้ก็สร้างกำลังปราบปรามทำให้หัวเมืองอยู่ในระบบการควบคุม

ความสำเร็จช่วงนั้นส่งผลต่อมาในช่วงระยะยาวทำให้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

"ประเด็นที่นำมาเปรียบเทียบเพื่อทำความเข้าใจปลายช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือพยายามเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกันยุโรปตะวันออกก็มีปัญหาคล้ายเรา ส่วนใหญ่รูปแบบโครงสร้างของรัฐจะเปลี่ยน

แต่การเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมไม่เปลี่ยน กลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่จะมารับช่วงความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เกิด ขณะที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมไม่เปลี่ยน แล้วระบบอื่นๆ จะตอบสนองได้แค่ไหน"

อย่างไรก็ตามชนชั้นนำสยามก็มีความสามารถอันน่าทึ่งในการปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

"ความสามารถของพระยาสัจจาฯสะท้อนถึงความคล่องตัวยืดหยุ่นของระบบผู้นำไทยช่วงนั้นระบบขุนนางประเทศอื่นอยู่ไม่ได้แต่ของสยามอยู่ได้ตรงนี้คิดว่าน่าทึ่ง"อ.ธเนศกล่าว

หนังสือเล่มนี้ยังมีประโยคทองๆเรื่องการสอนลูกอีกหลายจุดซึ่งอ.ธเนศแสดงความคิดเห็นว่าแนวคิดบางอย่างของพระยาสัจจาฯ เป็นแนวคิดสมัยใหม่ มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่รอรับการมีสัมพันธ์กับโลกตะวันตก

ขุนนางและชนชั้นนำสยาม นั้นรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก และก็มีการต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาตลอด โดยรวมแล้วชนชั้นนำสยามทำสิ่งที่ชนชั้นนำประเทศอื่นทำไม่ได้ อย่างตอนนี้ ทั่วโลกจะเลือกตั้งกันหมดแล้ว

แต่เรายังมาทะเลาะกันว่าจะเลือกดีหรือไม่ดี เพราะคนข้างในของเรามีอีกชุดของคำถามที่แตกต่างจากโลกภายนอก เช่น วาทกรรมเรื่อง "ความดี" เป็นต้น

อย่างกรณีของตะวันตกจะมุ่งสร้างปัจเจกชน แต่ความคิดของไทย รวมทั้งที่ปรากฏในบันทึกของพระยาสัจจาฯ จะเน้นเรื่องวงศ์ตระกูล เพราะพัฒนาการเศรษฐกิจ สังคม ความสำเร็จของชนชั้นนำสยามที่มาจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จะปิดกั้นคนกลุ่มอื่น ทำให้ความรู้สึกรับผิดชอบของชนชั้นอื่นไม่มีความหมาย อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องชาวบ้านขายเสียง เป็นต้น

ด้านประเด็นคำถามเรื่องพระยาสัจจาฯ กับคณะราษฎร อ.ธเนศ กล่าวว่า ด้วยอายุของท่านในช่วงปี 2475 ที่เกือบจะ 50 แล้ว ขณะที่บรรดามันสมองของคณะราษฎรมีอายุ 30 ต้นๆ และแนวทางทางการเมืองของคณะราษฎร

คงยากที่ท่านจะได้รับคำชวน แต่คิดว่ายังดีที่หลัง 2475 ท่านได้รับเชิญเป็นข้าหลวงใหญ่ของสำนักนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าคณะราษฎรเห็นความสามารถของท่าน ซึ่งถือเป็นสิ่งดี อย่างไรก็ตาม

น่าเสียดาย ที่พระยาสัจจาฯ ไม่ได้เข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัวนัก เพราะจากที่อ่านเห็นในบันทึกเล่มนี้ พระยาสัจจาภิรมย์ถือเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีคุณภาพ ไม่ใช่มีแต่การโหนเจ้าเท่านั้น

ชีวิตที่มีสีสันในพื้นที่ต่างๆ

ด้านอ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือคือ อัตชีวประวัติกำลังแสดงให้เห็นสำนึกของกลุ่มคนที่กำลังเกิดใหม่ จากที่แต่เดิมจารีตการเขียนเรื่องราวตระกูลตัวเองนั้นมักข้องเกี่ยวกับกษัตริย์ แต่สำหรับกรณีพระยาสัจจาฯ ทำให้เห็นสำนึกของปัจเจก เหมือนอธิบายความสามารถของตัวตน

นอกจากนี้ เห็นได้ว่าคนในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5 มีความคิดเรื่องความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ คือคนต้องการสืบประวัติของตนเองให้ย้อนไปเก่าแก่ที่สุด เพื่อยืนยันความเป็นผู้ดีเก่า

พร้อมพยายามอธิบายว่า ถ้าลูกอ่านแล้วจะได้รู้ว่าสามารถไปพึ่งพากับใครได้บ้าง ซึ่งในช่วงขาลงของชีวิตหรือพบเจอปัญหา พระยาสัจจาฯ ก็เขียนเล่าว่าไปขอความช่วยเหลือกับเครือญาติคนไหนบ้าง

"เชื่อว่า คนที่อ่านเล่มนี้ต้องซื้อหนังสืออื่นเพื่ออ่านบริบทของเรื่องราวที่ถูกเล่าถึง เล่มหนึ่งที่ต้องอ่านคือ ′ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย′ ของศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิต และคริส เบเคอร์ เพื่อเข้าใจภาพกว้าง และ ′การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี′ ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพื่อเข้าใจว่าทำไมพระยาสัจจาฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องราวพระเจ้าตาก"

อ.พิพัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือเรื่องระบบคิดของพระยาสัจจาฯ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพมนุษย์หรืออะไรก็แล้วแต่ ระบบคิดท่านจะแตกต่างกับเจ้านาย พระยาสัจจาฯ จะพูดถึงเรื่องความเชื่อต่างๆ

อย่างเช่น ผีป่า ว่าคือไข้ป่า หรือเรื่องเชื้อสาย ว่าไม่สำคัญเท่าศักยภาพของตัวเอง ถือเป็นจิตวิญญาณที่เปลี่ยนไปของคนในยุคดังกล่าว

สำหรับในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สิ่งที่น่าสนใจคือ การอ่านงานชีวประวัตินี้จะช่วยขยายภาพหรือเติมเต็มเรื่องราวพื้นที่ท้องถิ่นหลายแห่ง โดยเห็นได้ว่า ชีวิตของพระยาที่เดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ จังหวัดที่มีสีสันมากที่สุดคือชลบุรีเพราะบทบาทของท่านไม่ใช่แค่เรื่องการปกครอง

แต่เป็นการปกครองเพื่อให้เกิดความสงบในเมือง คือท่านจะทำอย่างไรเพื่อประสานประโยชน์ อาทิ ให้อั้งยี่มาอยู่ในอาณัติ ทำให้เข้าใจว่า การเป็นข้าราชการไม่ควรใช้สิ่งที่เป็นอำนาจรุนแรงแต่ต้องใช้พอเหมาะประนีประนอมให้มากที่สุด

ขณะที่ในอีกมิติคือ หนังสือเล่มนี้อาจถือเป็นงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณนาได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น การเดินทางไปตามหัวเมืองแล้วเห็นความเป็นอยู่ของคนต่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงมีการวิจารณ์แรงๆ ด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลในหนังสือมีการวิจารณ์เจ้านายชั้นสูงหลายคน แต่เชื่อว่า เป็นเพราะท่านเหล่านั้นเสียชีวิตหมดแล้ว และหนังสือถูกเขียนขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้บันทึกจึงกล้าวิจารณ์เจ้านายเหล่านั้น

"สิ่งที่ดูแล้วแปลกใจคือชุมพรเป็นถิ่นปลูกกาแฟโรบัสต้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งแต่ในบันทึกของพระยาสัจจาฯที่เคยเป็นผู้ว่าฯชุมพรกลับไม่ได้พูดถึงการปลูกกาแฟเลยจึงน่าสนใจว่าเรื่องนี้หายไปไหน

ตรงนี้คิดว่าในหนังสือมีข้อมูลเชิงท้องถิ่นที่ขัดแย้งกับส่วนกลางพอควร อาจทำให้เราเห็นพลวัตในพื้นที่หลายมิติ และเป็นการให้ภาพการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจท้องถิ่นในส่วนหัวเมืองหรือภูมิภาคสำหรับเชิงท้องถิ่นซึ่งแต่เดิมคิดว่าเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 ปีหลัง

แต่พออ่านบันทึกเล่มนี้แล้วได้เห็นภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ค่อยๆก่อให้เกิดชุมชนท้องถิ่นผ่านระบบเศรษฐกิจชุมชนทำให้ท้องถิ่นมีระบบระเบียบมากขึ้น"

อ.พิพัฒน์กล่าวเสริมว่าการอ่านงานชิ้นนี้เหมือนการอ่านบันทึกเดินทางนึกถึงลักษณะของคนจากรัฐอาณานิคมที่จะเข้าไปปกครองคนท้องถิ่นซึ่งผู้เข้าปกครองเหล่านั้นก็ต้องทำความรู้จักเรียนรู้วัฒนธรรมของคนท้องถิ่นแต่เป็นการเรียนรู้เพื่อไปปกครอง

เป็นการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พื้นที่เพื่อเข้าไปปกครอง ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ปกครองปฏิบัติกับคนท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมนี่จึงเหมือนเป็นการเขียนบันทึกจากสายตานักปกครองที่จะเข้าพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ปกครองคนแต่จะเป็นบวกหรือลบก็ต้องแล้วแต่มุมมองไป

ในหนังสือยังมีเรื่องเล่าเล็กๆที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงเหตุผลเช่นพระยาสัจจาฯตัดสินใจไปตรวจราชการที่อำเภอคอกควายเมืองอุทัยธานีทุกคนรอบข้างทัดทานไม่อยากให้ท่านไปโดยบอกว่า "ผีป่า" เยอะ

ซึ่งท่านอธิบายว่ามันเป็นไข้ป่าตอนที่เดินทางไปท่านก็เล่นตามน้ำไปตามความเชื่อท้องถิ่น ด้วยการแกล้งเสกวัตถุข้างเคียงให้กลายเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนที่ไปด้วย นอกจากนั้น จุดสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่เรื่องความคิดเรื่องการแพทย์สมัยใหม่

เมื่อครั้งเริ่มอหิวาตกโรคระบาด พอไปอยู่ชลบุรี พระยาสัจจาฯ ก็สร้างโรงพยาบาลเป็นอย่างแรกจนทำให้ทะเลาะกับหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เพราะการตั้งโรงพยาบาลโดยที่ไม่ได้ใช้เงินราชการ แต่มาจากการรับบริจาค

ท่านเป็นคนตรงไปตรงมาและอยู่บนเหตุผล ซึ่งการรอดจากปัญหากับเจ้านายได้ เป็นเพราะท่านใช้การอ้างอิงยกข้อมูลบนความเป็นจริง

"พระยาท่านมีความสัมพันธ์กับผู้มีบุญคุณโดยเฉพาะร.6รวมถึงเป็นสมาชิกเสือป่าชั้นสูงกระบวนการเหล่านี้สร้างความภักดีสูง ในแนวทางปฏิบัติท่านหาความรู้เสมอ อยู่กับโลกความเป็นจริงได้ทำหน้าที่เต็มความสามารถเสมอ ซื่อสัตย์เชื่อมั่นในความถูกต้อง และไม่ถือตัวไปเยี่ยมราษฎร

จนชาวบ้านประหลาดใจ อีกทั้งยังมีการเรียนรู้ธรรมชาติคนท้องถิ่น สุดท้ายคือความสามารถประสานประโยชน์เน้นการเจรจาเป็นหลักก่อน" อ.พิพัฒน์ กล่าวถึงลักษณะเด่นของพระยาสัจจาภิรมย์

มุมมองจากทายาทพระยาสัจจาฯ

ในงานเสวนายังมีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลานปู่ของพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ซึ่งเป็นเพื่อนกับพระยาสัจจาฯ และอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน นอกจากนี้ ยังเคยประสบปัญหาคล้ายๆ กัน

เช่น พระยาสุนทรเทพฯ เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯ เพชรบุรี เคยปะแป้งสวมหมวก ขณะพูดคุยกับข้าหลวงเทศาภิบาล กระทั่งถูกย้ายด่วนไปเป็นผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด

โดยนายธงทอง เล่าว่า พระยาสัจจาฯ ท่านมาเยี่ยมคุณปู่ที่บ้านตอนที่คุณปู่ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมปกครองและกำลังป่วยหนัก เจ้าคุณสัจจาฯ จึงไปบอกกับผู้บังคับบัญชาว่า จะขอสืบทอดตำแหน่งจากคุณปู่ โดยหลังจากคุณปู่จากไป พระยาสัจจาภิรมย์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมปกครองจริงๆ

นายธงทอง กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับปู่ของตัวเองนั้น ก็ได้รู้เพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้ด้วย สำหรับเหตุการณ์ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตนเห็นด้วยว่า พระยาสัจจาฯ นั้นมีความจงรักภักดี พร้อมกล่าวเสริมว่า

ใครที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว แล้วถูกชวนให้ไปเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตนเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะไม่ไป เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และ 7 ซึ่งพระยาสัจจาฯ เคยเข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดนั้น ท่านเป็นคนนุ่มนวล

ส่วนข้าราชการรุ่นใหม่ที่อยู่ในคณะราษฎรเป็นคนรุ่นหนุ่ม ถึงเป็นพระยาก็เป็นพระยาขั้นต้น คงไม่เคยได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง แต่มักได้ทำงานกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นถัดลงมา ซึ่งไม่ได้มีความสามารถและอัธยาศัยอันดีกันทุกคน

"จุดอ่อนของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือมีเจ้านายมากพระองค์ สยามมีเจ้านายระดับหม่อมเจ้าเป็นจำนวนมากตอนปลายร.7 หม่อมเจ้าเหล่านี้ก็ไม่ได้เก่งกาจและละมุนละม่อมหมดทุกท่าน ซึ่งมีร่องรอยข้อมูลในหนังสือเล่มนี้อยู่บ้าง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลให้ความไม่พอใจในระบอบเกิดง่ายขึ้นก่อนพ.ศ.2475"

นายธงทองยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าคนที่อยู่ในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองจำนวนไม่น้อยมีการศึกษาจากตะวันตก จึงได้ข้อมูลในมิติที่ต่างกับพระยาสัจจาฯที่ได้รับการฝึกฝนจากระบบภายในประเทศ

นอกจากนี้ในงานยังมีนายแพทย์โฆษิต ศรีเพ็ญ แพทย์เกษียณอายุราชการจากโรงพยาบาลศิริราช หลานของพระยาสัจจาฯมาร่วมงานเสวนาด้วยโดยนพ.โฆษิต กล่าวขอบคุณสำนักพิมพ์มติชน และผู้มาร่วมงาน

ก่อนกล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดที่ระบุว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้ความรู้สึกอยากอ่านหนังสือเล่มอื่นประกอบ รวมถึงเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ในช่วงท้ายงาน คุณธงชัย ผู้ดำเนินรายการทิ้งท้ายด้วยข้อความที่น่าสนใจในหนังสือ ซึ่งพระยาสัจจาฯเขียนว่า "...ทางการสั่งให้ทำโน่นทำนี่ แต่เงินไม่มีจ่ายให้ สั่งว่าทำแล้วให้เบิกเอา พอเบิกแล้วก็ไม่จ่าย จนกระผมเป็นหนี้พ่อค้าไม่ใช่น้อย..."


ขอบคุณ มติชนออนไลน์

อาทิตยวารสิริสวัสดิ์ค่ะ


Create Date : 06 เมษายน 2557
Last Update : 6 เมษายน 2557 11:44:11 น. 0 comments
Counter : 2591 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.