กรรมของ " ทักษิณ " คือ // ท่านอธิฐานบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ ท่านมาจาก พุทธภูมิ // ท่านเลยต้องเที่ยวตะเวณช่วยเหลือ คนนับแสนนับล้าน
 
เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
23 เมษายน 2551

๓. มหาภารตะ ภาคสาม “มหาสงคราม" อย่างย่อ

มหาภารตะ ภาคสาม “มหาสงคราม

หนังสือเล่มที่ 5-10 เล่าถึงสงคราม 18 วัน ระหว่างฝ่ายปาณฑพกับฝ่ายเการพ

ฝ่ายเการพมีทหารสิบเอ็ดเหล่าทัพประจันหน้ากับฝ่ายปาณฑพเจ็ดเหล่าทัพ มหากาพย์บรรยายถึงกองทัพของทั้งสองฝ่ายโถมประทะเข้าบดขยี้กันว่า เสมือนหนึ่งมหาสมุทรสองมหาสมุทรประทะกัน แต่เพียงชั่วระยะสั้นๆ กลับบรรยายว่าเป็น “ทัศนียภาพอันงดงามยิ่ง” กุณตี บอกวยาสผู้เล่าเรื่องมหากาพย์ว่า (ในละคร) “พระองค์ทรงเห็นความงดงามในความตายของมวลมนุษย์ บทกวีของพระองค์แต้มแต่งด้วยโลหิต และเสียงร่ำให้ของคนกำลังตายคือคีตสังคีตของพระองค์”
ฝูงแร้งรุมทึ้งเนื้อเน่า “ส่งเสียงร้องปรีเปรม” เป็นลางร้ายปรากฏขึ้นก่อนยุทธนาการจะเริ่มขึ้น กรรณะพยากรณ์ว่า ฝ่ายตนจะปราชัย สงครามไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น แต่ “เป็นการสังเวยคมอาวุธที่ยิ่งใหญ่” โดยมีกฤษณะเป็นเสมือนหนึ่งนักบวชชั้นสูงรับการบูชายัญ

ทั้งสองฝ่ายตกลงอดทนรอกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนของสงคราม กล่าวคือ ไม่ใช้อาวุธสวรรค์รบกับมนุษย์ ไม่รบเมื่อตะวันตกดิน ไม่โจมตีใครก็ตามที่ถอยหนี ไร้อาวุธ หงายหลัง หรือล้มลง แต่ในที่สุด กลับละเมิดกฎทุกข้อที่ได้ตั้งไว้

ภควัทคีตา (“บทเพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า”)

ไม่นานนักก่อนการประจัญบานเริ่มขึ้น อรชุนเกิดความลังเลไม่แน่ใจเมื่อเห็นคณาญาติและครู ซึ่งตอนนี้กลายเป็นศัตรูตามคำสาปแช่ง อรชุนสลดใจเกินกว่าจักข่มใจเข้าสู้รบได้ “การเข่นฆ่าญาติตนเองจะดีไปได้อย่างไร ชัยชำนะจักมีค่าอะไร ถ้าเพื่อนและบุคคลที่รักของเราทั้งหมดถูกฆ่า … เราจักพ่ายแพ้ต่อบาป หากว่าเราสังหารโหดฝ่ายรุกราน ภาระที่สมบูรณ์ของเราแน่นอนว่าต้องอภัยให้พวกเขา แม้กระทั่งว่า ถ้าพวกเขามืดบอดต่อธรรมะ อันเนื่องมาจากความละโมบ ในทำนองเดียวกันเราเองไม่ควรลืมธรรมะเสีย”

กฤษณะ สารถีรถม้าศึกของอรชุน จึงยกโอวาทแก่อรชุน ขณะหยุดอยู่ในแดนกันชนระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่าย เนื้อความตอนนี้คือ ภควัทคีตาที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นเครื่องนำทางสู่การกระทำที่เด็ดเดี่ยวและเฉียบขาด

• ตรงจุดนี้ ไม่เหมือนวีรบุรุษในมหากาพย์ทั้งหลาย อรชุน คิดก่อนลงมือกระทำ อรชุนลังเลก่อนลงมือเข่นฆ่า เพราะต้องการถอนตัวออกจากการมีชีวิตอยู่ และหน้าที่ความรับผิดชอบ (เป็นความตรึงเครียดระหว่างธรรมะและโมกษะ (ความหลุดพ้น) แต่กฤษณะตรัสแก่อรชุนว่า ในฐานะนักรบ การสู้รบคือธรรมะของอรชุน ความขัดแย้งที่แท้จริงทุกวันนี้เกิดจากอัตตาที่มีอยู่ใน “สมรภูมิแห่งจิตวิญญาณ”

• อย่ากังวลกับความตาย ซึ่งเป็นเพียงก้าวเดียวเล็กๆ สู่วัฏจักรที่ไร้จุดจบและยิ่งใหญ่แห่งชีวิต มนุษย์ทั้งไม่ฆ่าและไม่ถูกฆ่า เพียงแต่จิตวิญญาณละร่างเดิมและเข้าร่างใหม่เท่านั้นเอง เฉกเช่นบุคคลหนึ่งเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ความตายเป็นเพียงภาพมายา

• นักรบจักปฏิบัติหน้าที่ของตนเยี่ยงไร โดยไม่กระทำผิด ร่างกายแปดเปื้อนด้วยโลหิตศัตรู ความลับคือต้องแยกให้ออก กล่าวคือ กระทำหน้าที่ของพระองค์โดยไม่ต้องกังวลกับผลลัพท์ส่วนบุคคล “ชัยชำนะและความพ่ายแพ้ ความปีติยินดีและความปวดร้าว ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ลงมือเถิด แต่อย่าสะท้อนให้เห็นถึงผลของการลงมือกระทำนั้น จงละความปรารถณาเสีย จงแสวงหาทางแยกแยะ” (ละคร)

• เราต้องกระทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ปรารถนาความสำเร็จ หรือกลัวความพ่ายแพ้ “จงลงมือกระทำโดยไม่ปรารถนาผลลัพท์ และโดยไม่เอาตัวเองไปพัวพันกับบ่วงกรรม” (KD 550) กฤษณะตรัสแก่อรชุนว่า การกระทำความดีจักไม่ทำให้ใครขึ้นสวรรค์ไปได้ ถ้าหากว่าความปรารถนาสวรรค์นั้น เป็นแรงจูงใจเพียงประการเดียวให้กระทำความดี ความปรารถนาทำให้มีการเกิดใหม่ หากยังมีความปรารถนาใดคงอยู่เมื่อเราตายไปแล้ว เราก็จักกลับไปสู่ชีวิตในอีกชาติภพหนึ่ง

• ยิ่งกว่านั้น ยุธิษฐิระ ตรัสแก่เทราปทีระหว่างการเนรเทศว่า พระองค์ปฏิบัติธรรมะ โดยไม่หวังรางวัล หากแต่เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนดีต้องกระทำ หลังยุทธนาการ ยุธิษฐิระ มีช่วงวิกฤตที่คล้ายคลึงกันนี้ เมื่อท้าวเธอปฏิเสธการปกครองบ้านเมืองเสียชั่วคราว ด้วยความรู้สึกสิ้นหวังถึงการเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายที่ทรงเป็นต้นเหตุ

• “การกระทำเกิดขึ้นจากการบัญชาโดยตรงของเทพสูงสุด หรือตัวแทน เราเรียกว่า อกรรมะ การกระทำเยี่ยงนี้ไม่ก่อให้เกิดการสนองตอบทั้งดี และไม่ดีตามมา เช่นเดียวกับทหารอาจลงมือสังหาร เพราะคำสั่งบังคับบัญชาจากเบื้องบน และไม่ต้องรับผิดชอบต่อการอาชญากรรม แต่ถ้าทหารนายนั้นสังหาร เพื่อนร่วมรบ เขาจักต้องรับโทษตามกฎหมาย ทำนองเดียวกัน บุคคลที่รู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับกฤษณะ ล้วนกระทำไปตามบัญชา แห่งพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายของตนเอง” (ภควัทคีตา ตามที่ปรากฏในอินเตอร์เนต)

• “บุคคลเยี่ยงนั้นจักมีความปีติยินดีในปรารถนาราคะก็หามิได้ หากแต่พึงพอใจอยู่ในตัวเอง ความทุกข์ใดก็รบกวนเขาไม่ได้ ไม่แม้กระทั่งความสุขทางวัตถุใดๆ ก็ตาม เขาปราศจาก ซึ่งการแยกแยะ ความกลัวและความโกรธ และมักดำรงตนอยู่ห่างไกล จากการครองคู่ทั่วไปในโลกีย์วิสัย … จิตใจของเขาแนบแน่น อยู่กับเทพเจ้าสูงสุด ปกติธรรมดาเขาจึงสงบ”

• หนทางไปสู่เสรีภาพมีอยู่สองสาย นั่นคือการหลุดพ้น (โมกษะ) และกระทำหน้าที่ของตนโดยไม่ปรารถนาสิ่งใด เพราะว่าไม่มีใครสามารถสละการกระทำทุกอย่างในชีวิตเสียได้ (นี่คือพฤฒิกรรมเสแสร้งในการบำเพ็ญตบะ) ดังนั้นการทำงานโดยไม่ยึดติดเป็นอารมณ์จึงดีกว่า นักปราชญ์บางท่านคิดว่า การประพันธ์ภควัทคีตานี้ เป็นไปเพื่อประชันกับความท้าทายทางศานา จากเชนและพุทธ ซึ่งอุบัติขึ้นในศตวรรษที่หกก่อนคริสศตวรรษ ศาสนาทั้งสองนี้ สอนให้หลุดพ้นบาปด้วยการสละโลกีย์ โดยการบำเพ็ญตนอย่างเคร่งครัดในศาสนาเชน และการอุทิศชีวิตเป็นพระในศาสนาพุทธ (Kinsley 31)
• กฤษณะ ยกอรรถกถาว่า ความรู้ที่ท้าวเธอยกมาสอนนั้น มีมาแต่โบราณกาล เคยตรัสไว้หลายล้านปี ล่วงมาแล้ว อรชุนตรัสถามว่า “หม่อมฉันจักยอมรับได้อย่างไร เท่าที่เห็น พระองค์ประสูติมาในโลกนี้เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น” กฤษณะ อธิบายว่า การกำเนิดก็เป็นภาพมายาเช่นกัน เนื่องจากมนุษย์เกิดนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในกรณีของกฤษณะ ท้าวเธอเสด็จมาทุกยุค “โอ อรชุนเอ๋ย เมื่อใดก็ตาม ความชอบธรรม (ธรรมะ) หย่อนยาน และความอยุติธรรม (อธรรมะ) บังเกิดขึ้นแล้ว เราจักส่งตัวเองมาเพื่อพิทักษ์คนดี และนำคนทำชั่วไปทำลายเสีย เพื่อสถาปนาธรรมะให้มั่นคง เราจุติลงมาเกิดยุคแล้วยุคเล่า … เกิดมาเพื่อทำลายผู้ทำลายล้าง”

• กฤษณะเปิดเผยธรรมชาติ อันเป็นสากลเกี่ยวกับสวรรค์ ของท้าวเธอให้อรชุนเห็น เป็นนิมิตภาพ อันงดงามแห่งทวยเทพ มากมายมหาศาล แผ่ขยายออกไปเอนกอนันต์ บัดนี้เมื่อตัดสินใจกระทำหน้าที่ของตนได้แล้ว อรชุนจึงนำกองทหารเข้าสู่ยุทธนาการ

• สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลของภควัทคีตา ละเอียดกว่านี้ กรุณาหาอ่านได้ในอินเตอร์เนต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาต่างประเทศ

บนเนินเขามองลงมายังสมรภูมิ ธฤษตราษฎร์ สดับดำรัสแห่งกฤษณะ ผ่านการช่วยเหลือของสัญชัย ซึ่งได้รับพรประทาน ความสามารถในการเห็น ทุกสรรพสิ่ง และได้ยินทุกสรรพสำเนียง ที่บังเกิดขึ้นในสมรภูมิ ถ่ายทอดต่อให้กษัตริย์บอด ได้รับทราบ ธฤษตราษฎร์ วรกายสั่นระริกด้วยความหวาดหวั่น เมื่อได้สดับถึงการปรากฏองค์ ในร่างมนุษย์ของ กฤษณะ ตื่นตระหนกว่า คงไม่มีอะไรหยุดยั้ง ฝ่ายปาณฑพได้ ด้วยมีบุคคลผู้มีฤทธิ์ เยี่ยงกฤษณะร่วมอยู่ด้วย แต่ธฤษตราษฎร์ ยังค่อยคลายใจลงอยู่เมื่อทราบว่า กฤษณะเอง ก็ไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จได้ ดังมโนรถปราถนา เช่น ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยสันติวิธี

ก่อนยุทธนาการ ยุธิษฐิระ เสด็จเยี่ยมครู ทั้งสองของพระองค์ ภีษมะ และ โทรณาจารย์ “โอ บุรุษผู้ไม่มีใครพิชิตได้ หม่อมฉันขอคารวะ เราจักสู้รบกัน กรุณาประทานราชานุญาต และอวยชัยให้พวกหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า” จากอาการแห่งความเคารพเยี่ยงนี้ บุรุษทั้งสองอธิษฐาน ให้ฝ่ายปาณฑพได้ชัยชำนะ ถึงแม้ว่าต้องสู้รบอยู่ใน ฝ่ายเการพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ยุทธนาการเริ่มขึ้น

ภีษมะ เปรียบเทียบอรชุน ผู้ไม่มีใครเอาชนะได้ กับ “ผู้ทำลายตัวเอง ณ จุดสิ้นยุค” (CN 126) ในการเผชิญหน้ากันครั้งหนึ่ง อรชุนผ่าคันศรของ ภีษมะออกด้วยศรสี่ดอก ภีษมะสรรเสิญอรชุนว่า “โอ โอรสแห่งปาณฑุ ประเสริฐยิ่งนัก! หม่อมฉันยินดีกับพระองค์ ในความสำเร็จที่น่าจดจำ เยี่ยงนี้ จงรบกับหม่อมฉัน ให้สุดความสามารถของพระองค์เถิด” (KD 581) อย่างไรก็ตาม อรชุนไม่อาจเอาชัย ภีษมะ ได้ หลังการสู้รบเก้าวัน เหล่าปาณฑุเสด็จเยี่ยม ภีษมะ กลางราตรี และตรัสแก่ภีษมะว่า นอกจาก ภีษมะ ถึงมรณกรรมในสนามรบ การเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ จักดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นโลก

เมื่อเหล่าปาณฑพตรัสถามว่าจะเอาชัยต่อ ภีษมะ ได้อย่างไร ภีษมะแนะนำให้จัดสิขันติไว้ในแนวหน้า ตรงจุดที่สิขันติจะสามารถยิง ภีษมะ ได้โดยไม่มีอะไรขวางกั้น สิขันตินี้ที่จริงเป็นสตรี คือ อำภา ผู้ซึ่ง ภีษมะ ปฏิเสธการแต่งงานด้วย และสาบานว่าจะฆ่าภีษมะ อำภา บำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัด โดยยืนบนปลายหัวแม่เท้าข้างเดียว ในหิมะเป็นเวลาสิบสองปี เพื่อเรียนรู้ความลับ แห่งมรณกรรมของภีษมะ อำภากระโดดตายในกองไฟ แล้วเกิดใหม่จากเปลวไฟ เป็นราชบุตรีองค์ที่สอง ของทรุปาทะ ต่อมาแลกเปลี่ยนเพศกับปิศาจอสูรตนหนึ่ง จึงกลายเพศเป็นบุรุษ

วันต่อมา เมื่อเผชิญหน้ากับสิขันติ ภีษมะปฏิเสธการสู้รบกับสตรี จึงทิ้งอาวุธเสีย คลื่นห่าลูกศรเป็นพัน ๆ ดอกโจมตีภีษมะเป็นระรอก ปักเข้าไปในร่างของ ภีษมะ จนไม่มีที่ว่างตรงไหนหนาเกินกว่านิ้วมือสองนิ้วให้แทรกผ่านไปได้ ภีษมะ หล่นลงจากรถม้าศึก และนอนอยุ่บนลูกศรที่เสียบตรึงร่างไว้นั้น โดยไม่มีร่างกายส่วนใดสัมผัสพื้นดินเลย ภีษมะยังไม่ถึงแก่กรรมทันที ยังมีชีวิตต่อไปอีกตามความประสงค์ของตน และยังนอนอยู่บนเตียงลูกศรอย่างนั้น จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง

โทรณาจารย์รับบัญชาการ

โทรณาจารย์ จัดทัพในรูปกลพยุหะ “จานเหล็กแห่งสงคราม” ซึ่งเป็นความลับเฉพาะตนเท่านั้น กลพยุหะนี้ไม่มีใครรู้วิธีตีให้แตกหรือทำลายได้ นอกจากอรชุน ถ้าเพียงแต่ขับอรชุนออกไปจากใจกลางสนามรบได้ โทรณาจารย์ให้คำมั่นว่าจะได้ชัยชนะเป็นแน่แท้ อรชุนมีโอรสอายุสิบห้าพรรษาองค์หนึ่งนาม อภิมันยุ ผู้ซึ่ง ได้ยินเสียงของบิดาตั้งแต่อยู่ในคัพภะของมารดา จึงได้เรียนรู้วิธีโจมตีทะลวงกลพยุหะของ โทรณาจารย์ ในขณะที่อรชุน รบห่างออกไปจากการประจัญบาน เพราะต้องกลยุทธวิธีของฝ่ายเการพ ยุธิษฐิระ จึงมอบภารกิจความรับผิดชอบ ให้แก่อภิมันยุตีกล พยุหะจานเหล็ก ของโทรณาจารย์ให้แตกจงได้ อภิมันยุทำได้สำเร็จ แต่เมื่อ ภีมะ และ ยุธิษฐิระตามเข้าไปในช่องกลพยุหะที่แตกนั้น ชยทรัถ น้องเขย ของเหล่าเการพ เข้ามาขวางไว้ ช่องกลพยุหะที่แตกนั้น จึงปิดตามหลัง อภิมันยุ ผู้เยาว์วัยประสานกันเข้าเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่กล้าหาญ อภิมันยุ ก็ถึงแก่มรณกรรมในสนามรบ

• ก่อนหน้านั้น ระหว่างการเนรเทศ ชยทรัถ พยายามลักพาเทราปทีไป นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ภราดา ปาณฑพ เกลียดชัง ชยทรัถ

เมื่ออรชุนกลับมาถึงค่าย ท้าวเธอเดือดดาลคลั่งแค้นด้วยความเสียใจ ยิ่งเมื่อเห็นร่างของอภิมันยุโอรสน้อย จึงสาบานว่าต้องสังหาร ชยทรัถ ให้ได้ก่อนตะวันตกดินในวันรุ่งขึ้น ท้าวเธอสาบานอย่างเคร่งเครียดว่า จะกระโดดสังเวยกองไฟตายเสีย หากทำไม่สำเร็จ แม้แต่กฤษณะ ก็ยังตื่นตระหนกต่อคำสาบานที่น่ากลัวของอรชุนนี้ วันต่อมา ชยทรัถ ออกรบพร้อมทหารแวดล้อมอารักขาอย่างหนาแน่น อรชุนจึงไม่อาจเข้าถึง องค์ชยทรัถ ได้ จนเกือบสิ้นแสงตะวันรอมร่อ กฤษณะจึงเนรมิตสุริยคราสชั่วขณะขึ้น ฝ่ายข้าศึกนั้นเข้าใจว่าสิ้นทิวาแล้ว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อรชุนต้องประกอบ อัตวินิบาตกรรมอย่างแน่นอน ตามคำสาบานของตน ต่างก็วางอาวุธเสียสิ้น ปล่อยให้ ชยทรัถ ตกเป็นเป้าลูกธนูของอรชุน พร้อมกับลำแสงสุดท้าย แห่งตะวันที่สาดมาหลังสุริยคราส ชั่วขณะจากการเนรมิตของกฤษณะ

บิดาของ ชัยทรัถ สาปแช่งบุคคลที่สังหารบุตรของตน ว่าใครก็ตามที่เป็นเหตุ ให้ศีรษะบุตรชายของตนหล่นลงพื้นดินแล้ว จะต้องตาย ด้วยอำนาจมนตรา อรชุนเนรมิต ให้ลูกธนูที่แผลงไปนั้นตัดศีรษะของ ชยทรัถ และลอยเลยไปไกล พาศีรษะของชยทรัถ ไปตกลงบนตัก ของบิดาขณะสวดมนต์อยู่ บิดาของ ชยทรัถ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงลุกโผงผางขึ้นมา ทำให้ศีรษะของ ชยทรัถ หล่นลงพื้น ดังนั้นจึงตายตามคำสาปของตน

วันต่อมา กรรณะ พุ่งเข้าสู่สนามรบ กุณตี พยายามชักจูง กรรณะให้มาอยู่กับ ฝ่ายปาณฑพ แต่กรรณะ ก็ไม่ยอมผ่อนปรนเอาเสียเลย อย่างไรก็ตาม กรรณะ สัญญากับกุณตีว่าจะสังหารอรชุนองค์ เดียวเท่านั้น เพราะว่าปาณฑพองค์ใดองค์หนึ่งต้องตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หลังสงครามกุณตีจะยังมีโอรสอยู่ห้าองค์เหมือนเดิม

กรรณะ มีหลาวอาคม เป็นของขวัญจากอินทรา ใช้สังหารได้ทุกชีวิต แต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และกรรณะเก็บหลาวเล่มนั้น ไว้ใช้กับอรชุนเป็นการเฉพาะ แต่เพื่อจัดการสยบฤทธิ์หลาวเล่มนั้น กฤษณะจึงเรียก ฆโตกัตต์ บุตรภีมะและนางรากษ เข้าสู่สนามรบแห่ง มหากาพย์ ท่ามกลางราตรี ฆโตกัตต์สู้รบกับกรรณะ ผู้ซึ่งสามารถสังหารปิศาจอสูรได้โดยอาศัยหลาวอาคมเท่านั้น ฆโตกัตต ์ตายในสนามรบ แต่กฤษณะกระโดดโลดเต้นดีใจ เพราะหลาวอาคมได้ใช้ไปแล้ว กรรณะ สิ้นฤทธิ์ อรชุนจึงสังหารกรรณะได้

โทรณาจารย์ ท้าทายกองทัพปาณฑพต่อไป โดยการสังหารโหด ทหารฝ่ายปาณฑพเป็นพัน ๆ แต่ปาณฑพทราบจุดอ่อนของโทรณาจารย์ดี นั่นคือ โทรณาจารย์ รักอัศวัตฐามะบุตรชายคนเดียวสุดวาทขาดใจ ภีมะ สังหารช้างเชือกหนึ่ง ชื่อว่าอัศวถามา เช่นกัน แล้วหลอกโทรณาจารย์ ให้เข้าใจว่าเป็น มรณะกรรมแห่งบุตรชายของ โทรณาจารย์ โทรณาจารย์ สงสัยว่าเป็นการโกหก จึงถามเอาความจริงกับ ยุธิษฐิระ ว่าบุตรของตนถึงแก ่มรณกรรมแล้วจริงหรือไม่ โทรณาจารย์ จักวางอาวุธเสียในวันที่ บุรุษผู้ซื่อสัตย์ กล่าวคำโกหก กฤษณะบอก ยุธิษฐิระว่า “ในเหตุการณ์แวดล้อมเยี่ยงนี้ ความเท็จเป็นที่น่าปรารถนากว่าความจริง การโกหกเพื่อเอาชีวิตรอด ไม่ผิดบาปแต่อย่างใด” ยุธิษฐิระจึงอ้อมแอ้มบอกกึ่งโกหกว่า “อัศวถามา—(แล้วทำเสียงอู้อี้งึมงำอยู่ในลำคอ) ช้าง—ตายแล้ว” ก่อนโกหก รถม้าศึกของ ยุธิษฐิระ กระดอนขึ้นจากพื้นสี่นิ้ว แต่พอตรัสเสร็จจมกลับลงไปในดิน โทรณาจารย์จึงวางอาวุธของตน ธฤษตทยุมนะ โอรสแห่งทรุปาทะจึงตัดศีรษะของโทรณาจารย์ได้ ตามคำสาบานแก้แค้นที่ทำให้บิดาของตนอับอายขายหน้า

ขณะนั้น ภีมะ เห็นทุหศาสันใกล้เข้ามาเกือบถึงตน ภีมะ เคยสาบานดื่มเลือดของอริองค์นี้ เพื่อแก้แค้นสิ่งที่ทำไว้กับ เทราปที ภีมะ ฟาด ทูศาสนะ ลงบนพื้นด้วยคทา แหวะอกทูศาสนะออกมา แล้วดื่มเลือดของทูศาสนะ พร้อมกับบอกว่า รสชาติดีกว่าน้ำนมมารดา ภีมะ ผู้ซึ่ง สังหารรากษส เสียหลายตน (แถมมีบุตรชายตนหนึ่ง กับนางรากษสด้วย) มักสำแดงพฤฒิกรรม เหมือนยักษ์กินคนเสียเอง ดูจากมรณกรรมเลือดของ กิจาคะและทุหศาสัน ซึ่ง ภีมะ แก้แค้นให้ เทราปที ทั้งสองกรณี ภีมะ คือผู้อารักขาที่ใช้ความรุนแรงที่สุดของ เทราปที ภีมะ สังหารเจ้าชายฝ่ายเการพเกือบหนึ่งร้อยองค์ ซึ่งที่จริง คือปิศาจอสูรในร่างมนุษย์

มรณกรรมแห่ง กรรณะ

ทุรโยธน์ ขอร้องให้ กรรณะ แก้แค้นแทนทูศาสนะน้องชาย ในที่สุดกรรณะ พบกับอรชุน ในการเผชิญหน้ากัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได ้อรชุนและกรรณะ ทั้งคู่ต่างก็มีอาวุธสวรรค์ (เช่น คนหนึ่งแผลงศรเป็นไฟ อีกคนแผลงศรเป็นน้ำ ไปดับไฟ) กรรณะมีศรดอกหนึ่ง ที่มีวิญญาณของ นาคา(นาค) ซึ่งไม่พอใจอรชุนสิงอยู่ (ครอบครัวของ นาคา ตายสิ้นในป่า ซึ่งอัคนีเผาผลาญทำลาย) เมื่อกรรณะยิงศรไปยังอรชุน สารถีรถม้าศึกของกรรณะ เตือนว่ากรรณะเล็งเป้าสูงเกินไป แต่กรรณะไม่ฟังเสียง ศรดอกนั้นจึงยิงไปถูกมงกุฏเล็ก ๆ ที่อรชุนสรวมอยู่ เท่านั้น เมื่อศรวิญญาณสิงย้อนกลับมาหากรรณะ และบอกกรรณะให้พยายามใหม่ ครั้งนี้จะไม่ผิดเป้าหมาย กรรณะ ไม่ยอมรับความล้มเหลว จึงยิงศรดอกเดิมซ้ำสองครั้ง ถ้าแม้นว่ามีอรชุนถึงหนึ่งร้อยองค์ ก็สังหารได้สิ้น
ในขณะที่การสู้รบดำเนินอยู่นั้น เกิดแผ่นดินแยก และรถม้าศึกของกรรณะ หล่นลงไปในรอยแยก และติดอยู่ในหล่มนั้น เพื่อให้เป็นไปตามคำสาบแช่ง ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง กรรณะ พยายามวิงวอนให้สุดยอดอาวุธของตน ให้มีฤทธิ์ขึ้นมาอีก แต่มนตราที่มีอยู่นั้นเสื่อมเสียแล้ว กรรณะจำคำของปรศุรามได้ดีว่า “เมื่อชีวิตท่านขึ้นอยู่กับอาวุธ ที่ทรงพลานุภาพที่สุด ของท่านแล้ว ท่านไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้อีก” ในวาระสุดท้ายของชีวิต กรรณะ สงสัยความเชื่อของตนว่า “ผู้รู้ธรรมะ มักกล่าวกันเสมอว่า ‘ธรรมะย่อมคุ้มครอง ผู้ประพฤติธรรม’ แต่เนื่องจากล้อรถ ของเราติดหล่มวันนี้ เราคิดว่าธรรมะ ไม่ช่วยคุ้มครองเสมอไปดอก”

ขณะดิ้นรน พยายามเข็นรถม้าศึก ขึ้นจากหล่ม กรรณะร้องเสียง ดังแก่อรชุนว่า “อย่าโจมตีผู้ไร้อาวุธ ขอให้รอจนกระทั่งข้าฯ เข็นรถม้าศึกขึ้นจากหล่มได้ เธอเป็นนักรบที่ไร้ผู้ต่อกร อย่าลืมจรรยาบรรณสงครามเสีย” แต่กฤษณะตรัส เสียดสีกรรณะว่า “มนุษย์ที่มีปัญหาเศร้าโศก กังวลใจ มักเรียกหาความมีศีลธรรม โดยลืมการกระทำชั่วร้ายของตนเองเสียสิ้น โอ กรรณะเอ๋ย ความมีศีลธรรม ของท่านอยู่ที่ใด เมื่อพวกเขาจิกหัว เทราปที ลากดึงร้องให้อยู่ในที่ประชุมมุขมนตรี ศีลของท่านอยู่ไหนเล่า เมื่อพวกเขาปล้นราชอาณาจักรของ ยุธิษฐิระไป” กรรณะ คอตก พูดอะไรไม่ออก พร้อมกับพยายามเข็นรถม้าศึกขึ้นจากหล่มอยู่ กฤษณะบัญชาให้ อรชุนยิง และกรรณะ ก็ถึงแก่มรณกรรม รัศมีแสงสดใสวาวโรจน์ พุ่งวาบออกจากกายของกรรณะ เข้าสู่ตะวัน

ดื้อดึงแต่ซื่อสัตย์ และในฐานะเชษฐาองค์ใหญ่ของปาณฑพ กรรณะ มีสิทธิ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ แต่ก็ยังคงอยู่กับ ฝ่ายเการพ กรรณะสู้รบอย่าง ยุติธรรม และรักษาสัจจะสัญญาที่ให้ไว้กับ กุณตี ว่าจะไม่สังหารอนุชาองค์อื่นใดเลย นอกจากอรชุน การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของทั้งคู่ สะท้อนให้เห็นถึง ความขัดแย้งใน เทพนิยายโบราณนี้ ระหว่างอินทรา และ สูรยา เทพบิดร

มรณกรรมแห่งทุรโยธน์

ตลอดสงครามสิบแปดวัน ทุรโยธน์ เห็นนายพลและกองทัพ ฝ่ายเการพล้มลงต่อ ฝ่ายปาณฑพ แต่ถึงที่สุดแล้ว ทุรโยธน์ ปฏิเสธการยอมจำนน หลบซ่อนตัวอยู่ ในน่านน้ำของทะเลสาบแห่งหนึ่ง ซึ่งผนึกแข็งตัวจาก อำนาจมนตราของ ทุรโยธน์ ยุธิษฐิระ นักการพนันตลอดกาล ตรัสแก่ทุรโยธน์ว่า ให้เลือกต่อสู้กับ ปาณฑพองค์ใดองค์หนึ่ง ก็ได้ และหากชนะ ทุรโยธน์ จะได้ราชอาณาจักรกลับไปครองอีกครั้ง ในเรื่องบอกเป็นนัยแก่ทุรโยธน์ ให้ต่อสู้กับ ภีมะ แทนต่อสู้กับปาณฑพองค์ใด องค์หนึ่ง ซึ่งอ่อนแอกว่า ภีมะ ในการต่อสู้กันครั้งสุดท้ายตัวต่อตัวเสมอภาคกัน ภีมะ ชนะอย่างน่าเคลือบแคลง เพียงเพราะตีที่ขาของทุรโยธน์ ซึ่งเป็นกฎต้องห้ามในสงคราม กัณธาร ีร่ายมนตร์คุ้มครองทุรโยธน์ทั่วร่างกาย แต่เนื่องจาก ทุรโยธน์ มีผ้าพันเนื้อตะโพกแต่น้อยอยู่ก่อน โคนขาทั้งสองข้างของ ทุรโยธน์ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากอำนาจมนตรา

ทุรโยธน์ กล่าวหากฤษณะ ที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่าง ไม่ยุติธรรม และยุให้ ภีมะทรยศ (ไม่เคารพกฎสงคราม) กฤษณะตอบโต้ว่า “การใช้กลลวง ในสงคราม เพื่อต่อสู้กับอริที่มีกลลวงนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แม้กระทั่งอินทรา ก็ยังใช้กลลวง เพื่อพิชิตวิโรจน์ และวริตราอสูรที่ทรงฤทธิ์” ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า “ภีมะ ได้สังเวยอธรรมะ เพื่อจุดมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งวัตถุ นี่ไม่สามารถ นำไปสู่ความสำเร็จและความสุขได้เลย” กฤษณะตอบว่า ภีมะ เพียงแต่รักษาคำที่สาบานไว้เท่านั้นเอง เพราะนั่นเป็นหน้าที่ ซึ่งอุทิศให้แก่พระผู้เป็นเจ้า “ไม่มีความไม่ยุติธรรมใดเลย ในองค์ภีมะ ภีมะ ทำตามสัญญาของ เขาให้ลุล่วง และทดแทนหนี้แค้น ศัตรูของเขา ขอให้ทราบไว้ด้วยว่ายุคกาลี ที่น่าสะพรึงกลัวใกล้เข้าถึงมาแล้ว สัญญาณการกระทำที่อำมหิต และการสูญเสียแห่งธรรมะ” (KD 811-13)

ทุรโยธน์ โต้ตอบอย่างกล้าหาญว่า “บัดนี้ ข้าฯ กำลังตายด้วยความตายที่รุ่งโรจน์ จุดจบ ซึ่งนักรบที่เที่ยงธรรม แสวงหาอยู่เสมอเป็นของข้าฯ ใครจักโชคดีเยี่ยงข้าฯ ข้าฯ จักขึ้นสู่สรวงสวรรค์ พร้อมน้องของข้า ทั้งหมด ในขณะที่พวกเจ้า ปาณฑพ จักดำรงอยู่ที่นี่ จมอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจ และทนทุกข์ทรมานต่อไป”

ในขณะที่ทุรโยธน ์กำลังถึงแก่มรณกรรมอยู่นั้น อัศวัตฐามะ บุตรโทรณาจารย์ บอกทุรโยธน์ว่า ในตอนกลางคืน ได้ลอบเข้าไปในค่ายของปาณฑพ ซึ่งได้ชัยชนะ เพื่อก่อบาปฆาตกรรมหมู่ อย่างน่าขยะแขยง โดยสังหารนักรบที่รอดชีวิตอยู่ และเด็กทั้งหมดขณะหลับ เหลือไว้แต่ ภราดาปาณฑพที่ไร้ผู้สืบสกุล ในทางตรงข้ามกับความยินดีที่ได้ยินข่าวนั้น ทุรโยธน์ถึงแก่มรณกรรมด้วยหัวใจร้าวรานแหลกสลาย เพราะเหตุว่า เผ่าพันธุ์แห่งกุร ุไม่มีอนาคตต่อไปอีกแล้ว
ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายตายทั้งหมด ในสงคราม ยกเว้นภราดาปาณฑพทั้งห้า

เมื่อยุธิษฐิระทราบถึงการฆาตกรรมหมู่ ก็ทรงโศกเศร้าเสียใจว่า “เราผู้พิชิต กลับถูกพิชิตเสียแล้ว”
เมื่อฝ่ายปาณฑพหา ทางแก้แค้น อัศวัตฐามะ ปล่อยอาวุธสวรรค์ ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด ในคลังแสงสรรพวุธของตน อรชุนตอบโต้ด้วยอาวุธของตน ซึ่งโทรณาจารย์ ได้ฝึกอบรมสั่งสอนทั้งคู่ไว้ อาวุธนี้ของอรชุนมีไว้ เพื่อใช้ต่อต้านบุคคลที่มาจากสวรรค์เท่านั้น หรือมิฉะนั้น มันจะทำลายล้างโลกให้สิ้นสลายไป อัศวัตฐามะ หันอาวุธของตนเข้า ใส่ครรภ์ของเหล่าสตรี ปาณฑพที่รอดชีวิตมาจากสงคราม ทำให้ตั้งครรภ ์โดยไม่ต้องอาศัยเชื้อ แต่กฤษณะสัญญาว่า ไม่ว่าอย่างไรอรชุนจะมีผู้สืบสกุล เพื่อเป็นการลงโทษ อัศวัตฐามะถูกสาปให้เนรเทศ โดยเร่ร่อนไปทั่วโลกเป็นเวลาสามพันปี

เหตุการณ์หลังสงคราม

หนังสือเล่มที่ 11-18 บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสงคราม และคำสอนของภีษมะ
หลังสงคราม เมื่อกฤษณะลงจากรถม้าศึก รถนั้นระเบิดไฟลุกท่วมสิ้น ร่างแฝงของกฤษณะ เท่านั้นที่รักษาอาวุธสวรรค์ไว้จากการทำลาย ตั้งแต่ต้น กฤษณะเปิดเผยว่า ทวยเทพเห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้ เพื่อผ่อนคลายภาระอันยิ่งใหญ่ของโลก (เหมือนกับ ทรอย) ทุรโยธน์ คือร่างทรงของกาลี จ้าวแห่งยุคที่สี่

ยูธิษฐิระ รายงานยอดความสูญเสียได้หกล้านศพ ท้าวเธอตื่นตระหนกกับความสูญเสีย มโหฬารเช่นนั้น จึงมีช่วงวิกฤติ ส่วนตนคล้ายกับอรชุน ก่อนยุทธนาการ ท้าวเธอไม่ประสงค์ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้อำนาจ และความรุนแรงมากขึ้น ทรงเห็นว่าชีวิตเป็นความเจ็บปวดทรมานเสียเอง เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ มักแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งทางวัตถุ แต่ไม่เคยพึงพอใจเลย บุคคลผู้ ซึ่งได้รับรางวัลทองคำ และรางวัลดินโคลน ต่างก็มีความสุขที่สุดเท่าเทียมกัน ส่วนคนอื่นกลับโน้มน้าวท้าวเธอว่าต้องครองราชย์ และทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์

ยูธิษฐิระ เห็นยุคต่อไปที่กำลังมาถึง “ข้าฯ เห็นยุคหนึ่งที่กำลังมาถึง ในยุคนั้น กษัตริย์ป่าเถื่อน ปกครองโลกที่แตกสลายเสื่อมทราม ในโลกนั้น มนุษย์มีแต่ความยากลำบาก เต็มไปด้วยความหวาดกลัว และอ่อนแอ อายุขัยสั้น ผมหงอกตั้งแต่ อายุสิบหก สมสู่กับสัตว์ หญิงกลายเป็นโสเภณี ไปหมดทำรักด้วยปาก อันตะกละหิวกระหาย แม่วัวผอมแห้ง ต้นไม้แคระแกร็น ไม่มีดอกอีกต่อไป ไม่มีความบริสุทธิ์ ใดหลงเหลืออยู่อีกต่อไป ผู้คนเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มักใหญ่ไฝ่สูง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ยุคกาลี ยุคแห่งความมืดมนอนธกาล” ละคร

ภีมะ ถามว่า ทำไมยุธิษฐิระ ถึงได้คิดและมาละได้เอาป่านฉะนี้เล่า เฉกเช่น บุรุษผู้ป่ายปีนต้นไม้ขึ้นไปตีรังผึ้ง แต่ปฏิเสธการลิ้มรสน้ำผึ้งรวงนั้น หรือบุรุษผู้อยู่บนเตียงกับสตรี แต่ปฏิเสธการร่วมรัก เทราปที สงสัยความเป็น ลูกผู้ชายของ ยุธิษฐิระ ว่าเป็นแต่เพียง บัณเฑาะก์ ผู้มุ่งแสวงหาความสงบ และหลีกเลี่ยงความรุนแรงเท่านั้น อรชุนตรัสว่า การปฏิเสธขึ้นครองราชย์ จะเป็นแต่เพียงสาเหตุให้เกิดความโกลาหลอลหม่าน และก่อกรรมมากมายมหาศาล อันเลวยิ่งให้ ยุธิษฐิระ ไปชดใช้ในชาติหน้าที่เกิดมาในวรรณะต่ำต้อยเท่านั้นเอง เราควรยอมรับบทบาทของเรา ขึ้นอยู่กับว่า ในชีวิตนี้เราอยู่ที่ไหน กล่าวคือ บิดามีภาระหน้าที่ ผูกพันอยู่กับครอบครัวของตน เมื่อบุตรยังเยาว์ เฉกเช่นเดียวกับ กษัตริย์ต้องครองราชย์เสียก่อน แล้วบั้นปลายของชีวิตจึงอาจสละโลกไป แต่การกระทำเยี่ยงนั้น เสียแต่เนิ่นเป็นพฤฒิการณ์ของความเห็นแก่ตัว

ขณะกำลังถึงแก่มรณกรรม ภีมะ บอก ยุธิษฐิระว่า ในยุคที่สี่ (ยุคปัจจุบันของเรา) “ธรรมะกลายเป็นอธรรมะ และอธรรมะเป็นธรรมะ” ภีมะ กล่าวต่ออย่างค่อนข้างขัดแย้งกันว่า “หากใครสู้รบกับการใช้กลโกง บุคคลก็ควรสู้รบกับเขาด้วยกลโกง แต่
หากใครสู้รบตามกฎกติกา บุคคลก็ควรตรวจสอบเขาด้วยธรรมะ… บุคคลควรเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดี ความตายพร้อมด้วยธรรมะดีกว่าชัยชำนะด้วยการกระทำเลว”

เนื่องจาก โอรสทั้งหมด พึ่งถึงแก่กรรมไป แววเนตร ของกุณตีจึงมีแต่ความเศร้าโศก เสียใจอาลัยฉายอยู่ เห็นได้จากใต้ผ้าคาดตา ความรู้สึก ของพระนางไหม้เกรียม ไปด้วยเนื้อเท้าของทุรโยชน์ พระนางสาปแช่งกฤษณะ ผู้ซึ่งพระนาง โยนความรับผิดชอบ ต่อโศกนาฏกรรม ทั้งหมดที่บังเกิดขึ้นไปไห้ ว่า ราชอาณาจักรแห่งปาณฑพ จักล่มสลายภายในสามสิบหกปี แม้กระทั่งกฤษณะเองก็จะตาย จะมีคนแปลกหน้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ผ่านทางมา สังหารกฤษณะเสีย กฤษณะยอมรับคำสาปแช่งโดยดุษณี แล้วจึงตรัสแก่พระนางว่า แสงสว่างได้รับการพิทักษ์แล้ว แม้กระทั่ง พระนาง ก็ไม่สามารถเห็นแสงสว่างนั้น ยุธิษฐิระ ยอมรับขึ้นครองราชย์

สามสิบสองปีผ่านไป และยุธิษฐิระ เดินทางไปถึงประตูสวรรค์ จูงสุนัขของพระองค์ไปด้วยตัวหนึ่ง พี่น้องและเทราปที ผู้สละโลกเดินทางไปด้วยกัน ต่างหล่น จากภูเขาลงสู่ขุมนรก ตามรายทางที่ผ่านไป ทวารบาล ประตูสวรรค์ขอให้ ยุธิษฐิระ ทิ้งสุนัข หากว่าประสงค์จะเข้าสู่สวรรค์ ท้าวเธอปฏิเสธ ไม่ประสงค์ทิ้งสัตว ์ซื่อสัตย์ ที่นำไปด้วย และขอให้อนุญาตเข้าสู่สวรรค์ เพราะนี่เป็นการทดสอบ สุนัขนั้น คือธรรมเทพจำแลงมา ในสวรรค์ ยุธิษฐิระ ยังพบความประหลาดใจรออยู่อีกต่อไป อริราชศัตรู ของพระองค์ชุมนุมกันอยู่ที่นั่น ยิ้มสรวลเบิกบานสำราญใจ และพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ อีกฟากหนึ่ง ดูเหมือนว่าพี่น้องปาณฑพ และเทราปที ตกทุกข์ได้ยาก ทรมานอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ยุธิษฐิระ ตัดสินใจอยู่กับบุคคลผู้เป็นที่รัก ในขุมนรก ดีกว่าไปเสวยสุขสำราญยินดีในสวรรค์กับศัตรู นี่ก็เป็นการทดสอบอีกเช่นกัน และเป็น “มายาภาพสุดท้าย” แล้วทั้งหมดได้รับอนุญาตให้เข้าสู่สวรรค์

ในความคิดของชาวฮินดู ทั้งสวรรค์ หรือ นรก ไม่เป็นอมตะ แต่เป็นเพียงช่วงคั่นระหว่างการเกิดใหม่ในชาติภพต่าง ๆ เท่านั้น แรกสุดทุกคนต้องเสวยสวรรค์ก่อนช่วงระยะเวลาหนึ่ง (หรือตกนรกขุมใดขุมหนึ่งก่อน เนื่องจากมีหลายขุม) เพื่อชดใช้บาปกรรมของชาติภพก่อนหน้าที่ติดกับปัจจุบันชาติ ยุธิษฐิระ ต้องผ่านนรกระยะเวลาหนึ่งก่อน เนื่องจากคำโกหกของท้าวเธอต่อโทรณาจารย์ สวรรค์ต้อนรับผู้กระทำกรรมดีแต่เพียงระยะเวลาจำกัดเท่านั้น จนกว่าคุณงามความดีที่สะสมไว้นั้นหมดสิ้นไป

ในธรรมเนียมคติของชาวอินเดีย มีโลก (การดำรงอยู่ของชีวิต) ที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ขึ้นไปอีกหกชั้น และโลก (นรก) ที่อยู่ต่ำกว่าลงไปอีกเจ็ดชั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกระทำใดเกิดขึ้นได้เลยในโลกอื่นที่กล่าวถึงนี้ เนื่องจากกรรมของบุคคลหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไป จนกว่าเขาจะกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์
“การกระทำที่ประกอบขึ้น โดยสอดคล้องกับข้อห้ามในพระคัมภีร์ … นำผู้ประกอบการกระทำนั้นไปสู่โลกที่เลอเลิศ เพื่อเพลิดเพลินในโลกีย์วิสัยที่ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อระยะเวลาแห่งความศรัทธาอันแรงกล้าสิ้นสุดลง เขาต้องกลับคืนสู่โลกมนุษย์ เช่นเดียวกันกับบุคคลเดินทางกลับจากการพักผ่อนในวันหยุด และดำเนินงานของตนต่อไป” (“ภควัทคีตาตามที่เป็นจริงในอินเตอร์เนต”)

อวสาน
------------------------------------------



Create Date : 23 เมษายน 2551
Last Update : 23 เมษายน 2551 20:11:28 น. 0 comments
Counter : 1514 Pageviews.  

VikingsX
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add VikingsX's blog to your web]