กรกฏาคม 2548
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
20 กรกฏาคม 2548
 

Hero - ความจริง ความลวง หรือโฆษณาชวนเชื่อ

คาดว่า ช่วงนี้ คงไม่มีเวลาดูหนังใหม่ๆ
เลยเอาการบ้านมาโพสต์แก้ขัดแทน (ฮา)

หมายเหตุ:
1. หากอ่านแล้วพบว่า บทความนี้ไร้ซึ่งแก่นสาร ก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะเรื่องนี้ เขียนตอนเช้า แล้วส่งตอนบ่าย (กรี๊ดดด) ตอนส่งยังรู้สึกหวั่นๆ เลยว่า อาจารย์จะด่าตูไหมนี่? (เพราะนอกจากจะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ยังเขียนนอกประเด็นไปไกลอีก เวรกรรมจริงๆ)
2. บทความนี้ เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของหนังนะครับ



จวบจนถึงปัจจุบันนี้ คาดว่าหลายๆ ท่านคงรู้จักชื่อผู้กำกับ “จางอี้โหมว” เป็นอย่างดี บ้างก็รู้จักเขาในฐานะของผู้กำกับรุ่นที่ห้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในระดับนานาชาติ

บ้างก็รู้จักเขาในฐานะของผู้กำกับหนังพีเรียด ย้อนยุค โศกเศร้า เคล้าน้ำตา สะเทือนอารมณ์ อย่าง Not One Less

หรือบ้าง ก็รู้จักเขาในฐานะของผู้กำกับหนัง “คูลๆ” อย่าง Keep Cool ที่สะท้อนและเสียดสีภาวะบริโภคนิยมอย่างถึงแก่น (จนรัฐบาลจีนสั่งแบนไม่ให้เข้าประกวดที่คานส์ !) อย่างไรก็ดี สำหรับคนรุ่นใหม่ ในยุคสหัสวรรษ ก็น่าจะรู้จักเขาจากผลงานชิ้นนี้มากกว่า กับภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘Hero’

Hero คือผลงานการกำกับชิ้นที่ 13 ของจางอี้โหมว ...กว่า 20 ปี ที่เขาอยู่ในแวดวงของภาพเซลลูลอยด์ เราอาจกล่าวได้ว่า นี่คือ ผลงานชิ้นที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด - มันทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, พร้อมกันนี้ มันยังเป็นหนังที่ทำเงินมากที่สุดของจางอี้โหมวอีกด้วย (เฉพาะที่อเมริกา หนังกวาดรายรับไปกว่า 54 ล้านเหรียญ หรือราว 2500 ล้านบาท)

ซึ่งเมื่อลองๆ พินิจพิจารณาดู ก็ไม่แปลกใจกับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้นที่หนังเรื่องนี้ได้รับเลย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก Hero มีความโดดเด่นในทุกๆ ด้าน ทั้งโครงเรื่อง, กลวิธีนำเสนอ และเทคนิคพิเศษต่างๆ นั่นเอง

การวางโครงเรื่อง
เราจะเห็นว่าหนังได้ ‘รื้อสร้าง’(Reconstruct) ทุกขนบของหนังแบบเดิมๆ อย่างเห็นได้ชัด จากแต่เก่าก่อน หนัง (ยุคโมเดิร์น) โดยมากมักมุ่งเน้นที่จะเสนอภาพแห่งความจริงอันเป็นสากล แต่ Hero กลับปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ ...ขณะนี้ ผู้กำกับจางอี้โหมว ‘เลือก’ ที่จะถ่ายทอดให้เราเชื่อว่า โลกปัจจุบัน (ซึ่งในที่นี้ หากจะเรียกว่าเป็นแบบ Post - Modern ก็ไม่น่าจะผิดนัก) จะมิได้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คล้ายๆ กับธีม Appearance and Reality ที่มีมาตั้งแต่สมัยของเพลโตนั่นแหละครับ ที่เขาบอกว่าสิ่งที่ปรากฏด้วยสายตา และสิ่งที่ดำรงอยู่ในความเป็นจริงนั้น หาได้เหมือนกันไม่ ...ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่ถูกปรุงแต่งด้วยเรื่องของ ‘ความจริง - ความลวง’ ทั้งสิ้น!

สังเกตได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง กับการเปิดตัวด้วยประโยคเกริ่นนำสั้นๆ - “ไม่ว่าจะเป็นสงครามใด ในแต่ละฝ่ายย่อมมีวีรบุรุษของตน” (In any war, there are heroes on both sides) เพียงแค่ถ้อยแรกที่หนังเอื้อนเอ่ยเท่านี้ ก็หลอกล่อเราให้ตกอยู่ในหลุมแห่งความจริง - ความลวงเสียแล้วครับ ...แท้จริงแล้ว จะมีวีรบุรุษอยู่สองฝ่ายจริงหรือ? หรือนี่เป็นเพียงวาทกรรมของจางอี้โหมวเท่านั้น?

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงหรือลวง แต่นี่ก็เป็นเพียงปฐมบทเกริ่นนำเท่านั้น พ้นจากนี้ หนังได้พาเหรดนำเอาเรื่องจริง - เรื่องโกหก (ที่ยากจะคาดเดา) มาใส่ไว้ในหนังอีกมากมายเต็มไปหมด เปิดตัวด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐฉิน (Qin) ขณะนี้ ได้มีเหตุการณ์น่ายินดีบางอย่างเกิดขึ้น นั่นคือ มีผู้กล้านามว่า “นิรนาม” (Nameless) สามารถพิชิตหิมะเหิร (Flying Snow) , กระบี่หัก (Broken Sword) , และ เวหา (Sky) ศัตรูตัวฉกาจของอ๋องฉิน (King of Qin) ได้สำเร็จ ...โดยจากการไต่ถามของอ๋องฉิน ก็ได้ความว่า แท้จริงแล้ว นายอำเภอนิรนามท่านนี้ หาได้มีวรยุทธ์ที่เหนือกว่าทั้งสามไม่ แต่เหตุที่ทำให้เขามีชัยเหนือจอมยุทธ์เหล่านี้ ก็เนื่องด้วยเขาล่วงรู้จุดอ่อนอะไรบางอย่างของทั้งสาม

‘จริงๆ แล้ว การที่คู่รักอย่างจอมยุทธ์หิมะเหิร และกระบี่หักมีเหตุต้องหมางเมิน และผิดใจกัน ก็ด้วยสาเหตุที่ว่าหิมะเหิรเคยไปมีสัมพันธ์กับเวหามาก่อน’

และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาคิดแผนการที่จะใช้กำจัดคนทั้งสามได้ นั่นคือ การใช้ ‘ความรักและอารมณ์หึงหวง’ เป็นตัวจุดชนวนนั่นเอง โดยก่อนอื่น ก็ต้องเริ่มต้นจากการกำจัดเวหาให้ได้ก่อน แล้วจึงนำกระบี่ของเวหาไปล่อให้กระบี่หักและหิมะเหิรเกิดความแตกแยกมากกว่าเดิม ...ซึ่งผลสุดท้าย ทุกๆ สิ่งก็ลงเอยอย่างที่เราเห็นๆ กันครับ ...เวหาพ่ายให้กับนิรนาม, กระบี่หักถูกหิมะเหิรฆ่า, และหิมะเหิร ผู้ไร้สติ ก็ปราชัยต่อนิรนามในที่สุด

ซึ่งในเรื่องเล่าเรื่องแรกนี้ เมื่อพิศดูอย่างผิวเผิน ก็ดูเหมือนว่า จริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกะค่อนข้างมาก ต้องยอมรับว่าผมหลงเชื่อ ‘เรื่องเล่า’ นี้ไปเต็มๆ เพราะจะว่าไปแล้ว เรื่องความอาฆาตแค้น หึงหวง เหล่านี้ ก็น่าจะก่อให้สถานการณ์ประมาณนี้เกิดขึ้นได้ แต่กระนั้น หนังกลับหักหลังและเฉลยเราว่า ถ้อยเหล่านี้ เป็นเพียงเรื่องโกหกคำโตเท่านั้น

อ๋องฉินรู้ทัน และสวนกลับคำกล่าวของนิรนาม ...ในสายตาของผู้กุมอำนาจอันแหลมคมทำให้เขาล่วงรู้ได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องแต่ง เพื่อให้นิรนามได้เข้าใกล้อ๋องฉินในระยะ 10 ก้าวเท่านั้น - จริงๆ เวหา ไม่เคยรู้จักกับหิมะเหิรและกระบี่หักมาก่อน ในทางกลับกัน นิรนามนั่นแหละที่รู้จักกับเวหา และร้องขอให้เขาสละชีวิต เพื่อช่วยให้นิรนามปฏิบัติงานนี้ได้ลุล่วงตามแผน

...ถึงตรงจุดนี้ คาดว่า หลายท่านคงมึนงงกับเรื่องเล่า จะจริงหรือลวง, เพียงจินตนาการ หรือฝันไป? อย่างไรก็ดี ขณะกำลังพินิจพิเคราะห์อยู่นั้น จางอี้โหมวก็เพิ่มเรื่องเล่าให้เรา ‘เลือกเชื่อ’ อีกหนึ่งเรื่อง - นิรนาม เล่าเรื่องที่เขาบอกว่า ‘เป็นจริง’ เรื่องสุดท้าย เขาเล่าว่าแท้จริงแล้ว ทุกอย่างเป็นเพียงการจัดฉาก ...การแทงของเขา เป็นการแทงลึกแต่ไม่ได้ทะลุทะลวงอวัยวะภายใน นั่นจึงหมายความว่า ในข้อเท็จจริง ตอนนี้ทั้งเวหา และหิมะเหิรยังไม่ตาย แต่เหตุที่ทุกฝ่าย ‘ยอม’ ทำตามคำกล่าวของนิรนามก็เพื่อ “โค่นล้ม” อ๋องฉินนั่นเอง !

....เรื่องเล่าเดิมๆ สามแบบ สามเวอร์ชัน ผ่านมุมมองของผู้อยู่ใต้อำนาจ (ซึ่งมีความเคียดแค้นเต็มปรี่) , ผู้กุมอำนาจ (ที่ไม่เห็นแก่ประชาราษฎร์) ที่ไล่เรียงมานี้ คงเป็นจุดยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า หนังเล่นกับความจริง - ความลวงของเรื่องราวทั้งสิ้น

จริงๆ แล้ว เรื่องเล่าแรกที่หนังบอกว่า ‘โกหก’ อาจจะเป็นเรื่องจริง และเรื่องสุดท้ายที่นิรนามเล่าว่า ‘จริง’ ก็อาจเป็นเพียงความลวงก็ได้ ใครจะรู้!

ทั้งนี้ก็เพราะหากมองตามหลักตรรกวิทยา คนที่เคยโกหก มักไม่โกหกเพียงครั้งเดียว! นี่จึงเท่ากับว่า หากเรื่องแรกที่นิรนามเล่าเป็นเท็จแล้ว เรื่องสุดท้ายที่เขาเล่าก็ไม่น่าจะพ้นความเท็จเช่นกัน !

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่พิจารณามานี้ ไม่น่าจะมีใครผิด ใครถูก , ความจริง - ความลวง เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของเรา อีกทั้ง ตัวหนังเอง ก็ยังมิได้มีสารัตถะสำคัญเพื่อบอกเล่าให้เราค้นหาความจริงอีกด้วย ในทางกลับกัน สิ่งที่หนังต้องการ ‘สื่อ’ น่าจะเป็นการบอกเราให้มีสิทธิคิด และเลือกที่จะเชื่อตามความคิดของตนมากกว่า เพราะอย่างที่บอกไป ตอนนี้ (ตามแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่) โลกของเราจะมีความจริงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับคุณจะคิดแบบใด ก็เท่านั้นเอง!

กลวิธีนำเสนอ
อย่างไรก็ดี ถ้าหากกล่าวกันตามจริง โครงเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ จริงๆ ก็ค่อนข้างซ้ำซากและเชยพอสมควร ยกตัวอย่างง่ายๆ แม้กระทั่งหนังเอเชียอันลือลั่นของผู้กำกับอากิระ คุโรซาว่าอย่าง Rashomon เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ก็เคยเล่าเรื่องในรูปแบบนี้มาแล้ว - คำให้การของสี่คน สี่ฝ่ายใน Rashomon ก็คงเทียบได้กับ เรื่องเล่าสามเรื่องของนายอำเภอนิรนาม, ฉินอ๋องและจอมยุทธ์กระบี่หัก

แต่เอาเถอะ สิ่งเหล่านี้มิใช่ประเด็นที่สำคัญแต่อย่างใด เพราะในยุคสมัยที่หลายๆ สิ่งล้วนแล้วแต่มีคนคิดมาก่อน ผู้สร้าง (ในยุคหลังสมัยใหม่) ก็คงไม่ได้สนใจวิธีการเล่าเรื่อง (ที่ไปซ้ำกับหนังเก่าๆ) มากไปกว่า ‘กลวิธีนำเสนอแบบใหม่ๆ’ หรอกครับ

ในขณะที่ Rashomon นำเสนออย่างสมจริงกับภาพสีขาว ดำ (หากเรียกว่าเป็นแนวสัจจนิยมหรือ Realism ก็ไม่น่าจะผิดนัก) Hero กลับเลือกที่จะนำเสนอในแนวกึ่ง Surrealism กับสีสันบาดตาแทน

สีสันจัดจ้านหลากสี เปื้อนเปรอะให้เห็นอย่างเด่นชัดตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสีแดงในเรื่องเล่าเรื่องแรกของนายอำเภอนิรนาม, สีน้ำเงิน / ฟ้าในเรื่องเล่าของฉินอ๋อง หรือจะเป็นสีขาว และเขียวในช่วงท้ายเรื่อง ทั้งหมดทั้งปวง ล้วนแล้วแต่ ‘คิดใหม่ - ทำใหม่’ และใส่เข้ามาอย่างมีนัยยะแอบแฝงทั้งสิ้น

ในองค์แรก กับเรื่องจริง - ลวง? ของนิรนาม หนังเปรอะไปด้วยสีแดง ...หลายคนคงทราบดีว่าหนังของจางอี้โหมวส่วนใหญ่มักใช้สีแดงเป็นรหัสสัญลักษณ์สำหรับชีวิตและความตาย แต่กระนั้น ในเรื่อง Hero ผมกลับไม่คิดว่าสีแดงในเรื่องจะมีความหมายที่ลึกลับ (และเอามาใช้ซ้ำซาก) มากถึงขนาดนั้น หนังน่าจะใช้สีแดงซึ่งเป็นสีที่มีพลัง เพื่อลำดับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านและค่อยๆ ลดทอนลงในองค์ต่อๆ มามากกว่า (เช่น ใช้สีแดงเพื่อแสดงให้เห็นอารมณ์สุดโต่ง รุนแรง อย่างความเคียดแค้นของ Moon ที่มีต่อหิมะเหิร หรือจะเป็นความหึงหวงที่หิมะเหิรและกระบี่หักมีต่อกันและกัน เป็นต้น)

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในองค์ถัดไป กับเรื่องเล่าของอ๋องฉิน หนังใช้โทนสีน้ำเงิน / ฟ้าเป็นหลัก ทั้งนี้ ก็เพื่อลดทอนอารมณ์จากองค์แรก ให้คนดูรู้สึกถึงเรื่องราวที่อ่อนละมุนมากกว่าเดิมนั่นเอง (กับเรื่องราวที่มีความรักและการเสียสละมาเกี่ยวข้องมากขึ้น) จนถึงองค์สุดท้าย อารมณ์ความเคียดแค้นของหนังค่อยๆ ลดระดับลงมามาก (จนถึงระดับที่เรียกได้ว่าน่าจะมีสติ) นั่นจึงเป็นเหตุให้จางอี้โหมวเลือกใช้ สีขาว และ สีเขียว ซึ่งต่างเป็นสีที่ดูอ่อนเย็น และใกล้เคียงธรรมชาติมาสื่อภาพในช่วงนี้แทน

หากลองจินตนาการเป็นเส้นโค้งอารมณ์ง่ายๆ ก็น่าจะได้เป็นดังรูป


ซึ่งหากอธิบายคร่าวๆ ก็คือ สีเหล่านี้ คือตัวแบ่งและเป็นกลวิธีลดทอนอารมณ์ของเราให้ค่อยๆ เย็นลงๆ จนเกิดการพินิจพิจารณา พิเคราะห์หาสิ่งที่เห็น และโยงใยนำไปสู่สิ่งที่เป็น “แก่นเรื่อง” นั่นเอง

(นอกจากนี้ หนังยังใช้การนำเสนอแบบสมจริง และเหนือจริงเป็นตัวแบ่งคั่นอารมณ์อีกด้วย โดยให้ภาพเหนือจริง ประณีต ประดิษฐ์ และจงใจ เป็นตัวแทนของอารมณ์ที่สุดโต่งในเรื่องเล่าเรื่องแรก และจากนั้น จึงใช้ภาพที่ดูสมจริงมากขึ้น เป็นตัวแทนของอารมณ์ที่ค่อนข้างเย็นลง ในเรื่องเล่าถัดๆมา)

การยั่วล้อหนังในตระกูล (Genre)เดียวกัน
นอกจากจะ ‘รื้อสร้าง’ ขนบเดิมๆ ของหนังแบบเดิมๆ แล้ว คงจะไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า หนังของจางอี้โหมวเรื่องนี้ ยังก้าวพ้นความเป็นหนังจีนกำลังภายในแบบเดิมๆ อีกด้วย จากในอดีต หนังจีนยุคชอว์ บราเดอร์สมักมุ่งเน้นที่การต่อสู้วิทยายุทธ์อันดุดัน กับพลัง 18 อรหันต์ มีฉากต่อสู้อันโลดโผน แต่ Hero กลับฉีกตัวออกไป ....หนังหันไปให้ความสนใจกับท่วงท่าพลิ้วไหว ดุจดั่งการต่อสู้ทางอารมณ์แทน ..แถมหลายต่อหลายครั้งยังเป็นการต่อสู้ทางจิตใจอีกด้วย (เช่น ฉากที่นิรนาม สู้กับ กระบี่หักกลางทะเลสาบ) ซึ่งเมื่อพิศๆ ดูแล้ว จึงทำให้การต่อสู้ทางเหตุผลและอารมณ์เหล่านี้ มีท่วงท่าที่งดงามยิ่ง มันอ่อนช้อยมาก ...มากถึงขั้นเคยมีคนเปรียบเปรยว่า ท่วงท่าเหล่านี้ ช่างดูคล้ายกับผีเสื้อบินจีบกันเสียเหลือเกิน

พ้นจากนี้ หนังยังมีทีท่าว่าจะ ‘ยั่วล้อ’ ลักษณะหลายๆ อย่างของหนังจีน - ฮ่องกงชื่อดัง ที่ตัดหน้าคว้าออสการ์ในปี 2001 อย่าง Crouching Tiger Hidden Dragon อีกด้วย เราจะเห็นว่า ฉากที่ Moon (จางจื่ออี้) ต่อสู้กับหิมะเหิร (จางมั่นอวี้) ท่ามกลางป่าสีเหลืองนั้น ดูมีนัยยั่วล้อกับฉากการต่อสู้ของหลี่มู่ไบ๋ กับ เจ็น (ซึ่งรับบทโดยจางจื่ออี้) ในดงไผ่อยู่ไม่น้อย

ในฉากดงไผ่ อั้งลี่ให้จางจื่ออี้ในเรื่อง มีอารมณ์ค่อนข้างปรวนแปร จิตไม่อยู่นิ่ง (จนยืนบนกิ่งไผ่ได้โคลงเคลง ทั้งๆ ที่หลี่มู่ไบ๋ยืนอย่างสง่างาม) คล้ายๆ กัน ใน Hero จางอี้โหมวให้ Moon มีอารมณ์เคียดแค้นและขาดสติแบบเดียวกับบทของเจ็น! (ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทั้งเจ็นและ Moon ต่างก็พ่ายให้กับฝ่ายตรงข้ามทั้งคู่)

ยังไม่พอ ในฉากจบของ Crouching Tiger Hidden Dragon หนังให้เจ็นมาช่วยหลี่มู่ไบ๋ไม่ทัน ในเรื่อง Hero นี้ ก็ยั่วล้อลักษณะแบบนี้ซ้ำสอง เพราะจางอี้โหมวผูกเรื่องให้กว่าที่ Moon จะเดินทางมาถึง ทั้งหิมะเหิรและกระบี่หักก็ได้ตายไปเสียแล้ว...

ช่างเป็นโศกนาฏกรรม ‘ล้อ’ โศกนาฏกรรม ที่น่าเศร้าเหลือเกิน


อย่างไรก็ดี การรื้อสร้าง รื้อถอนขนบเดิมๆ / การยั่วล้อหนังจีนกำลังภายในแบบเก่าๆ เหล่านี้ ใช่ว่าจะกระทำ แต่งเติม เสริมต่อเพื่อเอาใจผู้กำกับแต่เพียงอย่างเดียว เพราะโดยทัศนะส่วนตัว คิดว่า สิ่งเหล่านี้ คือ ประเด็นที่หลอมรวมเราเข้าสู่ “แก่น” ใจกลางเรื่องครับ

มันคือการใช้วิธีการเล่าความสัมพันธ์ของคนหลายๆ คน ผ่านหลากหลายมุมมอง ด้วยเทคนิคหลายๆ แบบ เพื่อชี้บ่งให้เราเห็นถึง ‘ความเป็นหนึ่งเดียว!’

ซึ่งหากลองสังเกตดู ก็จะพบว่า มีหลายสิ่งที่รองรับสมมุติฐานดังกล่าวอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าหนังจะสมจริง เกินจริง หรือจะมีตัวละครล้นกรอบเพียงใด ผู้กำกับภาพอย่างคริสโตเฟอร์ ดอยล์ ก็จะพยายามกำกับให้ทุกๆ สิ่งหลอมรวมเข้าสู่ตรงกลางจอให้ได้ (โดยในบางครั้ง แม้ตัวละครไม่อยู่กลาง แต่องค์ประกอบอื่นๆ ก็ทำให้ภาพดูสมดุลทั้งสองข้างอยู่ดี ; แม้กระทั่งฉากเทียนในตอนท้ายๆ ไฟยังพัดเข้าหาศูนย์กลางเลย)

พร้อมกันนั้น ในคำพูดโต้ตอบระหว่างนิรนามกับอ๋องฉิน หรือคำพูดที่กระบี่หักกล่าวทิ้งไว้ หลายถ้อย ก็เป็นนัยสื่อถึงประเด็นดังกล่าวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นถ้อยที่กระบี่หักเอ่ยไว้ในตอนท้ายอย่าง

“เป็นปีๆ ที่สงครามเกิด ผู้คนล้มตาย มีแต่ฝ่าบาทเท่านั้นที่มีอำนาจ นำสันติสุขกลับมาโดยรวมดินแดนเป็นหนึ่งเดียว”
หรืออักษร “ใต้หล้า” (All Under Heaven) ที่เขาเขียนเพื่อเตือนสตินิรนาม

เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่สามารถตีความได้ว่าสารที่จางอี้โหมวต้องการสื่อ คือ ‘ความเป็นหนึ่งเดียว’ ทั้งสิ้น

‘...จริงๆ แล้ว การที่อ๋องฉิน สู้รบมากมาย ก็เพียงเพื่อรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว !’

อย่างไรก็ดี นัยยะตรงนี้ หากนำไปแตกประเด็นต่อ ก็ชวนให้สงสัยว่า ฤานี่จะเป็นโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) อีกบทของรัฐบาลจีน

กับการใช้หนังเป็นเอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ แก้ต่างให้กับความจริงอันชั่วร้ายในอดีต ว่าอ๋องฉิน หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ไม่ผิด (ในการสู้รบ ประหัตถ์ ประหารชีวิตผู้อื่น) ว่าจริงๆ เผด็จการของจีนในปัจจุบัน หรือจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในอดีต มิได้เป็นสิ่งเลวร้าย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้ มีอะไรมากกว่าที่หลายคนเห็น

แต่เอาเถอะครับ ไม่ว่านัยหนึ่ง มันจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลจีนจริงหรือไม่? เหล่านี้ ดูจะไม่สำคัญนัก เพราะพ้นจากประเด็นนี้แล้ว (ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมยังค่อนข้างติดข้องอยู่มาก) สัญญะอื่นๆ ที่หนังนำเสนอก็ยังคงมีอะไรดีๆ อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพนิรนาม / กระบี่หัก / หิมะเหิร สละชีพ เพื่อเน้นย้ำให้เราตระหนักว่าสันติภาพที่แท้จริงจะมิอาจเกิดขึ้นได้เลย หากเรายังคงยึดติดกับความเคียดแค้นและความเชื่อ

หรือจะเป็นฉากใหญ่โต ทั้งทะเลทราย ป่า ทะเลสาบ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนัยให้เราตระหนักถึงคุณค่าของคำว่า “มนุษย์ และ ธรรมชาติ” ทั้งสิ้น เพราะอันที่จริง มนุษย์ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวกระผีกริ้นของธรรมชาติเท่านั้น

ถึงจะสู้รบ ฆ่าฟัน ล้มตายไปอย่างไร สิ่งเดียวที่คงไว้ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” นั่นเอง

แต่เอาเถอะครับ ทั้งหมดที่กล่าวและตีความมาอย่างยืดยาวนี้ ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะ ว่าจะเชื่อนัยยะ ความจริง - ความลวงเหล่านี้หรือไม่?

แต่โดยส่วนตัว ตอนนี้ ผมได้ข้อสรุปแล้วครับ
...ว่าค้นหาความจริงต่อไป ก็คงไม่มีผลอะไร
เพราะในท้ายที่สุด ทุกๆ อย่างมันก็คงคล้ายๆ กับโมทิฟ (Motif) ที่หนังได้ใช้บอกเรานั่นแหละ

‘กับภาพการล้อมวงการต่อสู้เป็นวงกลม, โล่ห์กลมๆ และห้องสมุดกลมๆ ที่ปรากฏให้เห็นซ้ำๆ ตลอดทั้งเรื่อง’
(รวมถึงผ่านชื่อนิรนาม ที่ไร้ชื่อ คือ ความว่างเปล่า)

คงเป็นนัยสรุปถึงทุกสิ่งที่เห็นและเป็นไป (ทั้งตัวภาพยนตร์เอง หรือจะเป็นการวิจักษ์วิจารณ์ของผม) ได้เป็นอย่างดีว่า แท้จริงแล้วทุกสิ่ง ก็น่าจะมีรูปทรงคล้ายๆ ‘หัวหอม’ .....กลมๆ
ที่มีเปลือกหนาหุ้มซ้อนกันหลายชั้น (เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เล่าซ้ำๆ ซ้อนๆ วนไปมา)
คล้ายๆ กับว่ามีแก่นอยู่มากมาย
แต่กระนั้น เมื่อลอกเปลือกออก กลับพบว่า
ทุกสิ่งว่างเปล่า
กลวงๆ
ไม่มีอะไร
หรือเป็น ‘สุญตา’ อยู่ใจกลางภาพยนตร์และกลางใจเรานั่นเอง!


Create Date : 20 กรกฎาคม 2548
Last Update : 20 กรกฎาคม 2548 15:09:27 น. 7 comments
Counter : 1685 Pageviews.  
 
 
 
 
Comment No. 1
โอว ยาวจริงๆ อ่านไม่จบ
หยุดลงตรง Post -Modernt
ขอคำนิยามหน่อยค่ะ

และจริงหรือที่ Modernt เสนอภาพแห่งความเป็นจริงอันเป็นสากล
Reconstruct กับ Deconstruct ต่างกันอย่างไร
( Deconstruct เป็น element หนึ่งของโพสโมเดิร์น )
ที่จริงมีคำถามอีกมากมาย
(คาดว่าถ้าอ่านจบต้องมีคำถามมากว่านี้แน่ ๆ)

โดย: grappa 8 กรกฎาคม 2548 17:39:32 น.


Comment No. 2

[นอกเรื่อง]
ใครเคยดู 'นางแห่งเนินทราย' ว่างๆ มาช่วยวิเคราะห์หน่อยสิครับ แหะๆ ดูจบแล้วมึนๆ

คือจริงๆ คิดว่า ถ้าหนังเป็นซับไทย และห้องมืดกว่านี้ (ห้องที่ดู ขนาดปิดมู่ลี่แล้วยังสว่างอยู่เลยครับ) ดูจบ ก็คงไม่น่าจะออกมาสภาพนี้ เพราะศัพท์บางคำก็งงๆ ว่ามันคืออะไร (ข้ออ้างชัดๆ :D) อย่างไรก็ดี จากการดูแบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ยังรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ค่อนข้างสนุกและน่าติดตามมากกกก (พูดจริงๆ ไม่ได้ประชดนะครับ)

ในแรกเริ่ม เราอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจกับการกระทำที่ชายหญิงไปอยู่ในหลุมสักเท่าไหร่ แต่เมื่อดูๆ ไป หลายๆ อย่างก็คลี่คลาย และชวนให้เราลุ้นได้ตลอดว่า สรุปแล้วตอนจบ มันจะจบลงด้วยเรื่องราวอย่างไร

โดยเหตุที่บอกหนังสนุก และน่าติดตามก็เพราะ สารหลายๆ สิ่งที่หนังพยายามสื่อ มีปรัชญาที่น่าสนใจมากครับ

ในเรื่อง หนังเปรียบทรายกับอารมณ์ของมนุษย์ - ขนาดที่หยาบ / ละเอียดของมัน ก็เหมือนกับอารมณ์ที่ผ่านการไตร่ตรอง หรือ ไร้การไตร่ตรองของคนนั่นแหละครับ

อีกทั้งการที่หนังยกให้หนึ่งหญิง และ หนึ่งชายติดอยู่ในหลุม ก็อดคิดถึงเรื่องอิสรภาพไม่ได้ ในห้อง อ. อธิบายว่า (ถ้าจำไม่ผิด เพราะมัวแต่ฟัง จนลืมจด) หนังเอาแนวคิดมาจาก Sarte ที่เขาพูดถึงเรื่องปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลิสม์ -- ในโลกนี้ อิสรภาพที่แท้จริง หาใช่การทำทุกสิ่งทุกอย่างตามใจตนไม่ เพราะจริงๆ มันคือ การที่เรารู้จักปฏิเสธต่างหาก (เหมือนนางแห่งเนินทรายที่ไม่ยอมร่วมรักกับชายผู้เป็นแขกต่อหน้าธารกำนัล) แล้วยังมีอะไรอีกหว่า?

ลืมๆ แล้ว
แหะๆ
สงสัย เดี๋ยวต้องกลับไปขบคิดต่ออีกที

โดย: it ซียู 8 กรกฎาคม 2548 17:47:53 น.


Comment No. 3

เป็นหนังจีนที่ชอบมากที่สุด ชอบโทนสี
ชอบแก่นเรื่อง ชอบนางเอก หุหุ
ว่าแต่เขียนดีนะครับ ถ้าเทียบกับเวลาที่มี
ส่วนเรื่องศัพท์แสง อ่านข้ามไป เพราะงงกว่าเดิม 55


โดย: Mint@da{-"-} 8 กรกฎาคม 2548 18:12:12 น.
 
 

โดย: it ซียู วันที่: 20 กรกฎาคม 2548 เวลา:15:16:24 น.  

 
 
 
Comment No. 4

ตอบคุณ grappa
ขออนุญาตนิยามคำศัพท์ไว้ตรงนี้นะครับ
- Modern, Modernity
คือ โลกสมัยใหม่, ความเป็นสมัยใหม่ หรืออะไรก็ตามที่เป็น 'สมัยใหม่' กลุ่มคำนี้ (ขออนุญาตเรียกเป็นกลุ่มคำนะครับ เพราะมีทั้ง Modern, Modernity, Modernism,...) เกิดมาจากการที่โลกของเรามีอุตสาหกรรม , มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้คนในยุคสมัยใหม่นี้เชื่อว่าศิลปะ ความงาม และความจริงมีเพียงชุดเดียว

ซึ่งก็คือ ความจริงอันเป็นสากลนั่นเอง โดยเราจะเห็นว่าศิลปะที่สะท้อนออกมาในสมัยโมเดิร์นนี้ ก็จะสะท้อนความจริงเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากเป็นภาพยนตร์ก็จะเป็นแนวสมจริง (Realism) สัจจนิยม หรือ อัตถนิยมนั่นเอง

- Post - Modern
คือ ความเป็นหลังสมัยใหม่ / โลกหลังสมัยใหม่ ที่คนไม่เชื่อในความจริงอันเป็นหนึ่งเดียวอีกแล้ว ในยุคความเป็นหลังสมัยใหม่นี้ อนุญาตให้เรามีความคิดที่หลากหลายและแตกต่าง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการสร้าง Landscape ที่กว้างทางความคิดนั่นเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น ความเพราะ (หรือความงาม) ทางดนตรีของคนแต่ละ ต่างก็แตกต่างและหลากหลาย ...ผู้สูงอายุ อาจจะเห็นว่าเพลงสุนทราภรณ์เป็นความงาม แต่สำหรับ วัยรุ่น ความงามหรือสุนทรียะทางดนตรีของพวกเขาอาจเป็นเพลงฮิป - ฮอป เป็นต้น

รูปแบบศิลปะที่นิยม (ซึ่งแปลว่าโดยมาก มิได้หมายถึงโพสต์ โมเดิร์นทำหนังธรรมดาๆ ไม่ได้) ของสมัยนี้ มักเป็นแนวเหนือจริง (Surrealism) และเสนอสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น

- Deconstruction Vs Reconstruction
Deconstruct มักเป็นการรื้อสร้างโครงสร้างทางภาษามากกว่า ต่างจาก Reconstruct ที่เป็นการรื้อสร้างทั้งกระบวน

โดย: it ซียู 8 กรกฎาคม 2548 18:38:45 น.




Comment No. 5

ยาวจังครับ กว่าจะอ่านจบ
ดีมากครับ กับคำวิจารณ์หนัง

โดย: เ ม ฆ ค รึ่ ง ฟ้ า 8 กรกฎาคม 2548 18:57:01 น.




Comment No. 6

นางแห่งเนินทราย
เคยอ่านตอนเป็นหนังสือ นานแล้วจำไม่ได้แล้ว

อย่าบอกนะว่าเพลงประกอบเป็นเพลงไทย
น่าจะมาจากบล๊อกอื่น

ดูฮีโร่ สองรอบ
เข้าใจกระบี่หักเลย

นึกถึงภาคใต้ของไทยตอนนี้
ไม่มีใครนึกประชาชน เหมือนกระบี่หักสักคน

โดย: สุภาฯ IP: 202.57.140.245 8 กรกฎาคม 2548 18:58:46 น.




Comment No. 7
เอ้า ช่วยทำการบ้าน
ที่จริงเรื่องนางแห่งเนินทราย
นี่เคยอยู่ในความสนใจดิฉันนานมากแล้ว
เรื่องเอ็กซิสต็อง ฯ นี่ก็สนใจตั้งแต่สมัยเรียน
(ลืม ๆ เรื่องพวกนี้ไปเกือบหมดแล้ว )

คุณ it cu คงทราบแล้วว่ามีนวนิยายเรื่อง นางแห่งเนินทราย ที่เป็นวรรณกรรม เขียนโดย โกโบะ อาเบะ แปลโดย
กิติมา อมรทัต
ถ้าอาจารย์บอกว่าให้หางานของ ซาร์ท มาอ่าน
ดิฉันเสนอว่าเรื่องนี้เหมาะกับวลีของนักปรัชญาเอ็กซิสต็องหญิงที่ชื่อซีโมน เดอโบวัวร์ มากกว่าค่ะ (ไม่เชื่อถามอาจารย์ดู )
ซีโมน เป็นแฟนของซาร์ทค่ะ

ตรงคำนำหนังสือนางแห่งเนินทราย บางส่วนบอกไว้ว่า

'...ซีโมน เคยตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ผู้ชายค้นหาการดำรงอยู่ตัวฉัน (Subject ) ของเขาอยู่นั้น เขาได้เปลี่ยนผู้หญิงให้กลายเป็นอื่น (Other ) ที่ต้องพึ่งพาภายนอก และไม่สามารถมีสาระ (essence ) ได้ในตนเอง...'

ดิฉันลืม ๆ หนังและหนังสือไปบ้างแล้ว แต่ถ้าจะให้ตีความเหมือนกับว่า ในขณะที่ตัวเอกของเรื่อง นิกิ จุมเปอิ ตั้งอกตั้งใจที่จะดิ้นรนหาอิสรภาพและความหมายให้ตัวเอง
เขาได้หลงลืมไปหรือเปล่าว่า มีผู้หญิงอีกคนที่อยู่ร่วมเนินทรายกับเขา

(จำตอนจบของเรื่องไม่ได้อ่ะค่ะ ลืมไปแล้ว แต่จำได้ว่าเป็นหนังขาว-ดำที่สวยมากกกกก )

หมายเหตุ Hero ก็ไม่ชอบเอาเสียเลย

โดย: grappa 8 กรกฎาคม 2548 19:04:47 น.
 
 

โดย: it ซียู วันที่: 20 กรกฎาคม 2548 เวลา:15:19:12 น.  

 
 
 
Comment No. 8

ขอบคุณคร้าบบ

SPOILER

ตอนจบของหนังนางแห่งเนินทราย เป็นผู้หญิงถูกหามส่งโรงพยาบาล (แบบกลัวๆ เธอพูด I'm afraid ๆ ตลอดเลยครับ สงสัย ประมาณเหมือนกลัวการออกจากหลุม อะไรประมาณนั้น) แล้วผู้ชายก็หาทางออกจากหลุมได้แล้ว

แต่กระนั้น พอถึงตรงจุดนี้ ผู้ชาย กลับเลิกที่จะหนี เขาพูดว่า 'ฉันมี Open Ticket แล้ว จะออกไปตอนไหนก็ได้ , ส่วนตอนนี้ ขออยู่ตรงนี้ก่อน'

และตอนจบจริงๆ ก็คือ Caption ที่บอกว่า ชายคนนี้ (พระเอก) เป็นคนหายสาบสูญ

--- จบ ----

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัว ผมคิดว่า ผู้ชายอาจไขว่คว้าหาอิสรภาพ จนหลงลืมผู้หญิง ก็เพียงแค่ช่วงแรก (จนถึงเกือบท้าย) ของหนังเท่านั้นครับ (เอ.. จริงๆ ก็เกือบทั้งเรื่องนี่นา)

เพราะพอถึงตอนท้าย (อย่างที่ผมเล่า) ก็คงอนุมานได้ว่า หลังจากผ่านการอยู่ในหลุมทรายมาอย่างยาวนาน หลายๆ สิ่งในใจเขาก็ได้ถูกกรองให้ละเอียด มีสติ มีอารมณ์ที่อ่อนโยนขึ้นแล้วครับ

ในที่สุด เขาก็ยังรอฝ่ายหญิง
ไม่หนีไป
และใช้อิสรภาพตามวิถีของมัน


โดย: it ซียู 8 กรกฎาคม 2548 19:22:21 น.


Comment No. 9

แวะมาอ่านครับ คุณ it ซียู เขียนได้ยาวดีครับ ดูหนังเรื่องนี้ทั้งหมด 5 รอบแน่ะครับ ดู 3 รอบที่เมืองไทยตอนที่ฉายที่เมืองไทยครับ แล้วก็ไปดูอีก 2 รอบตอนฉายที่อเมริกา อีกปีนึงถัดมา ตอนช่วงที่เรียนอยู่ที่อเมริกาครับ เพราะว่ายังชอบและประทับใจ เลยต้องตามดู ขณะที่หนังเข้าที่อเมริกา เสียงตอบรับที่นั่นก็ดีมากๆครับ (จริงๆแล้วยังได้ดูเวอร์ชั่นพิเศษที่ยาวเต็มที่ director's cut ที่ยังไม่ได้ถูกตัดออก อีกจากแผ่น DVD ของ zone 3 น่ะครับ) แล้วหลังจากนั้น ก็ได้ดู House of Flying Daggers ในรอบ premiere ที่อเมริกา ที่นิวยอร์คนั่นแหละครับ ได้เจอจางอี้โหมวตัวจริง พร้อมกับจางซิยี่ที่มาโปรโมทหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเองล่ะครับ เสียดายว่าเฮียทาเคชิไม่ได้มาด้วย

หนังของจางอี้โหมวที่ได้ดูมาทั้ง 2 เรื่อง คือ Hero และ House of Flying Daggers ก็ชอบทั้ง 2 เรื่องแหละครับ ดูแล้วรู้สึกว่าหนังแนวปรัชญาตะวันออกนี่ก็คมและลึกดีนะครับ น่าสนใจมากๆครับ

รายละเอียดของ Hero จำไม่ค่อยได้แล้วครับ เพราะนานแล้วเหมือนกัน ในเรื่องของสี ก็เห็นไม่ต่างกันเท่าไหร่ครับ ก็เข้าใจว่า สีแดง ก็คงแสดงถึงความรักที่เข้มข้น ความหึงหวง ความตาย สีฟ้า คงแสดงถึงความสลบเยือกเย็น มีสติ ส่วนสีขาวก็คงแสดงถึงความจริง ความเสียสละ ความบริสุทธิ์ ส่วนสีดำที่มีให้เห็นบ่อยๆจากการแต่งกาย แสงสีของฉากก็คงแสดงถึงอำนาจ ความน่ากลัว ก็คงไม่ต่างกันครับ ส่วนสีเขียวนี่ ตอนที่ดูนี่ ดูแล้วก็นึกไม่ค่อยออกครับว่าสื่อความหมายอะไรเป็นพิเศษ ดูแล้วก็คงโทนๆคล้ายๆสีฟ้าน่ะครับ ไม่รู้เหมือนกันครับ

แวะมาอ่าน มาทักทายนะครับ เสร็จงานและหายยุ่งไวๆนะครับ

โดย: Tempting Heart 8 กรกฎาคม 2548 19:48:17 น.

Comment No. 10

พูดถึงเรื่อง Hero แล้วมีเรื่องขำ ๆ ประจำตัว
กิ๊กเก่า (และแก่ ) ของดิฉัน ดูเรื่องนี้อยู่ที่ฝรั่งเศส
แล้วอีเมล์มาบอกว่าชอบเรื่องนี้ มีปรัชญาลึกซึ้งมากมาย
ดิฉันอีเมล์ กลับไปว่า ดูเรื่องนี้แล้วมีหลับบ้าง รำคาญความเป็นหลวงประดิษฐ์ของเฮียจาง

จริงๆ จางอี้โหมว เป็นผู้กำกับที่ดิฉันชอบคนนึง ชอบสมัยที่แกเป็นแฟนกับกงลี่ แล้วทำหนังอย่าง Ju Dou , Raise the Red Lantern , To Live ,Shanghai Triad สมัยที่แกทำหนังแล้วถูกแบนในประเทศของตัวเอง
Keep Cool ก็เท่มาก วิพากษ์บริโภคนิยมซะถึงลูกถึงคน

หลังๆ รู้สึกว่าเฮียจางแกแปลกๆ พอดีกับรัฐบาลจีนแล้วตั้งหน้าตั้งตาทำหนังสะเทือนอารมณ์เสียเหลือเกิน The Road Home เอย Hero เอย จอมโจร (หรือจอมใจหว่า )
บ้านมีดบีน ก็อีก ไม่ต้องสงสัยกิ๊กเก่าของดิฉันชอบเรื่องนี้อีกแล้ว (มีดบิน ) วันก่อนคุยกันแล้วเขาบอกว่าเป็นหนังที่ว่าด้วยความรักอย่างลึกซึ้ง
(โอย อยากให้เขากลับฝรั่งเศสเร็ว ๆ กลัวว่าจะมากิ๊ก กันอีก อิอิ )

โดย: grappa 8 กรกฎาคม 2548 21:13:09 น.


Comment No. 11

House of Flying ชื่อไทยว่าจอมใจบ้านมีดบินครับ
อ่านเรื่องของคุณ grappa แล้วก็ขำๆ ดีนะครับ
รสนิยมของแต่ละคนนี่ไม่เหมือนกันเลยจริงๆ

(แบบตัวผม รสนิยมและความชอบก็ขึ้นๆ ลงๆ จำได้ว่า ตอนดู Hero ครั้งแรก ง่วงๆ ไม่ชอบภาพประดิษฐ์เวอร์ๆ เพราะรู้สึกว่าชอบอะไรที่ดู 'จริง' มากกว่า แต่ไปๆ มาๆ ตอนนี้ หยิบหนังมาดูอีกรอบ กลับชอบท่วงท่าสู้รบอันพลิ้วไหวของเหล่าบรรดาจอมยุทธเฉยเลย; อย่างไรก็ดี ประเด็นความเป็นหนึ่งเดียว ก็ยังคงไม่ชอบอยู่นะครับ รู้สึกเป็นโฆษณาชวนเชื่อเสียเหลือเกิน ดูแล้วหงุดหงิด)

แต่โดยส่วนตัว ชอบเฮียจางแบบ Keep Cool มากที่สุดครับ - เท่ห์ได้ใจมากกกกก ตอนจบนี่แบบว่าลุ้นจนเหงื่อตกไปเลย (เวอร์ไปนิด อิอิ)

โดย: it ซียู 8 กรกฎาคม 2548 22:05:47 น.


Comment No. 12

ตอบน้องบิว
...Hero หลังจากดูอีกรอบ ตอนนี้ ทัศนคติหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไปแล้วครับ ชอบหนังมากขึ้น ชอบภาพวิจิตรเวอร์ๆ แต่สิ่งเดียว ที่ให้ตายยังไงก็ไม่ชอบ ซึ่งข้าพเจ้าระบุเสมอมาก็คือ แก่นเรื่องที่ว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวนี่แหละ หงุดหงิดจริงๆ (ขนาดบทความนี้ อุตส่าห์เขียนแบบซุงแหล พยายามเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นที่ไม่ชอบแล้วนะ แต่พอสุดท้ายแล้ว ประเด็น Propaganda ก็โผล่มาจนได้....)

ตอบพี่สุภาฯ
...เพลงคงจากบล็อกคนอื่นน่ะครับ ช่วงนี้ตกเทรนด์ ไม่ค่อยได้ฟังเพลงตามวิทยุสักเท่าไหร่ เลยไม่รู้ว่าเพลงในอิน เพลงไหนเอาท์ หาโหลดเองมากกว่า เป็นการประหยัดตังค่าซีดี หุหุ

ตอบคุณเมฆครึ่งฟ้า
...ขอบคุณครับ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนอ่านจบ เพราะตัวเองยังขี้เกียจอ่านเลย (ฮา)

ตอบคุณ Tempting Heart
...โอ ดูหนังหลายรอบมากกกกครับ
ส่วนเรื่องยุ่งๆ ช่วงนี้ว่ายุ่งแล้วนะครับ
แต่หลังจากนี้ คงยุ่งยิ่งกว่าเดิมอีก (แป่ววว) เพราะใกล้สอบแล้ว

โดย: it ซียู 8 กรกฎาคม 2548 22:21:50 น.
 
 

โดย: it ซียู วันที่: 20 กรกฎาคม 2548 เวลา:15:20:51 น.  

 
 
 
Comment No. 13

ดูเรื่องนี้แล้วชอบค่ะ

นึกถึงราโชมอนเช่นกัน

เป็นหนังที่ต้องดูในโรงแล้วถึงจะได้รับอรรรถสในเรื่องความงามของภาพอย่างเต็มที่น่ะ

รู้สึกไม่เสียใจที่ไปดูในโรง

ขณะที่จอมใจบ้านมีดบินเนี่ย เราว่าภาพสวยนะ

แต่มันไม่โดนอะค่ะ


แก่นเรื่อง การเสนอ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงน่ะ


แต่เป็นหนังที่ 'สวย' ดีค่ะ


ตอนที่เราเรียน Post Modern นะ

เราได้ดูหนังเรื่อง The Existence น่ะ

เราว่าโคตะระโพสต์โมเดิร์นเลย


คิดถึงสมัยเรียนจัง


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 9 กรกฎาคม 2548 10:32:02 น.


Comment No. 14

แวะมาเยี่ยมครับ เดี๋ยว่อยมาอ่านนะครับ ต้องรีบพาหมาๆไปเดินก่อน เพราะวันนี้วันเกิดแม่พี่ครับ พาแกไปเลี้ยงน่ะครับ

พอดีคอมพี่ป่วยไปหลายวันครับ เลยไม่ได้แวะมาเลย น้องสบายดีนะครับ

โดย: พ่อน้องโจ 9 กรกฎาคม 2548 17:55:17 น.


Comment No. 15

-- ชอบ Hero มาก เสียดายที่ไม่ได้ดูในโรง

-- House of Flying Daggers ก็ชอบมากเช่นกัน

-- อีกเรื่องของจางอี้โหมวที่ชอบคือ Raise the Red Lantern

-- Woman in the Dunes เคยดู แต่ไม่จบ คร่าวๆว่าหนังจะพูดถึง วังวน วงเวียน อะไรสักอย่าง สุดท้ายก็กลับไปจุดเดิม

-- ดู Woman in the Dunes แล้วคิดถึงหนังเรื่อง Bad Guy ของคิมคีดุค

โดย: merveillesxx 9 กรกฎาคม 2548 22:29:23 น.




Comment No. 16

แก่นของเรื่องเหรอ
น่าจะเป็นเพ่จางฯ ได้ตังค์มาจากรัฐบาลจีนนั่นเอง
น่าให้แม้ว จ้างแกมาทำนะ

ชอบหลี่เหลียนเจี๋ย มาตั้งแต่พี่แกยังใสเอ๊าะ
ดูหนังบู๊ของจางอี้โหม่ว ต้องทำใจ..มั่กๆ
เพราะแอคชั่น เหมือนถูกเชือกดึงเนี่ย มันสะเทือนใจคนดูให้ปวดร้าว แต่ถ้าเป็นฉีเคอะกับเฉินเสี่ยวตง บทบู๊จะอิ่มกว่า
แต่เรื่องนี้ก็ดีกว่า เรือ่งเก่าๆ แล้วนะ หมายถึงบทบู๊อะ

กระบี่หักหุ่นหยองกรอดไปหน่อย
แต่ก็เข้ากับบทดี
ส่วนไร้นาม ตอนถูกยิงด้วยธนู ก็ตลกอยู่

hero จริงๆ แล้วก็คือ คนที่สละให้ส่วนรวม ดูจะสรรเสริญจิ๋นซีเกินเหตุ ที่ว่า กระบี่หักรู้ในสิ่งที่พระองค์ทำ แต่ไม่ว่ากัน ก็เอาตังค์รัฐบาลมาสร้าง ก็แบบนี้แหละ

แต่ปรัชญาของกระบี่หัก ทั้งเรื่องกลมกลืนกันหมดเลย

ชอบตอนที่กระบี่หัก บอกอยากลับบ้าน ...โอทำไมไปซึ้งตรงนั้นก็ไม่รู้ อาจเพราะคิดว่า ไม่ว่าเราจะช่วยประชาชนให้อยู่เป็นสุข ตามระบบโลกอย่างไรก็ตาม ใจเราเองกลับเรียกร้องหาบ้านเงียบๆ อยู่เสมอ (คงไม่ได้หมายความว่าบ้านทั่วไป แต่เป็นบ้านที่มีคนรัก ซึ่งจางอี้ใหม่ว น่าจะทำได้ดีกว่านี้นะ เพราะปกติเพ่แก คำพูดง่ายๆ มันจะซ้อนอะไรที่ลึกมากอยู่แล้ว)

เออ แล้วก็นึกถึงคาวาบาตะขึ้นมาอีก
ถึงทำให้อ่านมูราคามิไม่ได้สักที (อีกแระ)
เสน่ห์ของเอเชีย มีพุทธะซ่อนอยู่เสมอ
มันก็เลยเป็นความว่างเปล่าที่เศร้ามาก
แต่พอจะเศร้ามากๆ ก้ดันว่างเปล่า..
แล้วก็คิดคูโรซาว่า ขึ้นมาด้วย


นี่ถ้าเรือ่งนี้ นางเอกเป็นหลินชิงเสียตอนสวยๆ ล่ะก็ (สี่สิบกว่าก็ยังสวยมาก) เฟอร๋เฟคโต้สุดๆ คงจะทำให้จำเรื่องได้ทุกซีน

โดย: suparatta 10 กรกฎาคม 2548 9:46:29 น.

Comment No. 17

....แวะมาเยี่ยมครับ

....พูดถึง เอกซิสตองเชียล ล่าสุดขอแนะนำ I love huckabee ดูจบไปครึ่งแผ่นก็กดปิด แล้วหายาแก้ปวดใกล้ตัวกรอกไปครึ่งขวดค่อยหายมึน และยังไม่คิดจะหยิบมาดูต่อ ตามมาด้วย 3-iron ของ คิมคีดุค อันนี้พอไหว

โดย: "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" 10 กรกฎาคม 2548 22:08:38 น.


Comment No. 18

ใบปิดสวยมากๆๆๆๆๆๆครับ

โดย: พ่อน้องโจ IP: 203.156.70.105 13 กรกฎาคม 2548 19:26:32 น.


Comment No. 19

search มาเจอบล็อกของพี่โดยบังเอิญ เลยแวะมาทักทาย สวัสดีค่า นี่น้องวี-นิเทศ จากห้องเรียน Imaginative Media นะค้า

ยังไม่ได้ทำการบ้านนางแห่งเนินทรายเลยเนี่ย ฮี่ๆ


โดย: ::VeNuS:: IP: 161.200.255.162 17 กรกฎาคม 2548 19:20:39 น.



Comment No. 20

อ้าว... สวัสดีครับ น้องวี
โลกไซเบอร์สเปซนี่มันกลมจริงๆ เลยเนอะ
เซิร์ชไป เซิร์ชมา
มาเจอกันเฉยเลย
:D

ป.ล. ไม่ใช่แค่น้องคนเดียวครับ เพราะจริงๆ พี่ก็ยังไม่ได้ทำนางแห่งเนินทรายเหมือนกัน แป่ววววว!!!???

โดย: พี่หน่วย IP: 161.200.255.162 18 กรกฎาคม 2548 8:10:55 น.


Comment No. 21

เปลี่ยนสโลแกนบล็อกแล้ว แอบเห็น หุหุ
อ่านมิดเทอมหัวบานเหมือนกันครับ จะแย่แล้วเนี่ย
เพิ่งเรียนเรื่องตาซาร์จมา โอ้ว.. ช่างคิดแฮะ
ไว้ค่อยเม้าทแตกกันอีกนะครับ โชคดีๆ

โดย: Mint@da{-"-} 18 กรกฎาคม 2548 20:55:24 น.


Comment No. 22

หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังที่ผมชอบมากที่สุดเลยครับ
ชอบใช้ในการใช้สีได้อย่างชาญฉลาด ในการนำเสนอเนื้อหาและแง่มุมและทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจและคล้อยตาม
 
 

โดย: it ซียู วันที่: 20 กรกฎาคม 2548 เวลา:15:25:08 น.  

 
 
 
พอเอามารวมแบบนี้ ไม่กล้าคอมเม้นเลยแฮะ เอิ้กๆ
จะสอบมิดเทอมแล้ว โชคเอๆๆ ครับ
 
 

โดย: Mint@da{-"-} วันที่: 20 กรกฎาคม 2548 เวลา:21:38:52 น.  

 
 
 
เรากลับมองว่าสีแดงสะท้อนถึงความเป็นชาติ
ขณะที่สีน้ำเงินสะท้อนความเป็นกษัตริย์
และช่วงท้ายเป็นการเข้าไปให้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สด
 
 

โดย: เพิ่งเจอ IP: 58.8.181.240 วันที่: 30 ธันวาคม 2550 เวลา:13:40:08 น.  

 
 
 
เขียนได้น่าสนใจดีครับ
 
 

โดย: ธาร ยุทธชัยบดินทร์ (ลิด้า ) วันที่: 20 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:57:52 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

it ซียู
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]








Google




ท่องไปทั่วโลกหาแค่ในพันทิบก็พอ
[Add it ซียู's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com