บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
1 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 
หลักปฏิบัติ(5)…องค์แห่งการตรัสรู้






เรื่องของสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ พวกเราจะต้องเข้าใจ เรื่องมรรคองค์ ๘ การปฏิบัติธรรม ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ดีจริงๆนะ การปฏิบัติธรรม จะต้องมีสติปัฏฐาน ๔ จะต้องมี สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ หรือมีโพชฌงค์ สำคัญ ต้องมีสติเป็นตัวที่จะต้อง ระลึกรู้ตัว ทั่วพร้อม ระลึกตัวอยู่ อาตมาเคยเน้นสติสัมโพชฌงค์ กับสติธรรมดา ของมนุษย์ นี่มันไม่เหมือนกัน สติสัมโพชฌงค์ คือสติที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ โพชฌงค์นี่หมายความว่า องค์แห่งการตรัสรู้ คือ สติที่จะต้องรู้ตัว ของเราอยู่เสมอ รู้ตัว ไม่ใช่รู้ว่า รู้ตัวอย่างเป็นคนมีจิตใจธรรมดา มีความรู้สึกนึกคิด มีความอยากอะไร ทำอะไร ก็มีตัวจิตเป็นตัวบงการ สั่งให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ มันอยากทำอะไรก็ทำ ที่คิดว่า มีตัวคัดเลือกเหมือนกัน คัดเลือกตามธรรมดาของคนโลกๆนะ

ปุถุชนคนโลกๆ นะ มีตัวตัดสินว่า ทำอย่างนี้เถอะดี ทำอย่างนี้ไม่ดี มันมีตัวตัดสินอยู่เหมือนกัน ยังงี้ควรทำให้ตัวเองนี่นะ อร่อยดี สนุกดี เพลิดเพลินดี ทำเพราะว่ายังงี้ ฆ่ามันเถอะ มันควรจะฆ่า ยังงี้จะเอามาให้แก่ตัวเอง ก็เอามาเถอะ เพื่อจะสมใจอยาก สมใจการโกรธ การโลภ ตามประสา ของคนธรรมดา ที่มีจิตอันประกอบไปด้วยกิเลส เป็นเจ้าเรือนบงการ นั่นเป็นธรรมดาของ ปุถุชน คนโลกๆ ทุกคนเคยเป็นมาทั้งนั้น มีสติแล้วก็ระลึก ตั้งสติอยู่ ก็ระลึกรู้ตัวอยู่ ก็มี สามัญสำนึกๆ มีความรู้สึกธรรมดา มีสติแล้วก็รู้ตัวอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ก็ตัดสินไปตามอำนาจของกิเลส

ส่วนสติสัมโพชฌงค์นั้น เป็นสติที่รู้ตัวแล้ว ก็ยังคำนึงถึงศีล คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของชีวิต ของตัวเอง ที่ได้สมาทานว่า เราสมาทานศีล สมาทานหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้แก่ชีวิตไว้ว่า เราจะปฏิบัติ อยู่ในขอบเขต คุณงามความดี อย่างนี้ ละเว้นอันนี้ ไม่ทำอันนี้ หรืออันนี้ต้องทำให้ยิ่งๆ โดยเฉพาะ รู้ถึงจิต รู้ถึงจิตใจ อารมณ์ ว่าอันนี้เป็นอำนาจของความโกรธ อันนี้เป็นอำนาจของความโลภ อันนี้เป็น อำนาจของราคะ จะต้องพยายาม วิจัยให้ได้ เป็นโมหะ ไม่ให้หลงผิด ไม่ให้เป็นไปตามอำนาจ ของปุถุชนธรรมดาๆ เราจะเข้าใจเลยว่า อ๋อ ถ้าเป็นปุถุชน หรือว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ เราไม่ได้สังวรศีล เราไม่ได้มาตั้งใจปฏิบัติ ประพฤติธรรม สติของเราก็จะมีอย่างโลกๆ แล้วเราก็จะตัดสินไปเลย และก็จะทำตามใจ อย่างนั้นนะ แต่เมื่อเราปฏิบัติธรรมแล้ว สติของเรารู้ตัวแล้ว ไม่ทำตามใจอย่างนั้น เราจะระลึกถึง องค์ประกอบของศีล ที่สมาทานว่าเราเอง ในฐานนี้สมาทานศีล ๕ เป็นต้น

ความหมายของศีล ๕ เราก็พยายามเข้าใจอย่างจริงๆว่า ศีล ๕ มีความหมายขนาดนี้ เราจะต้อง ระมัดระวัง เว้นขาดขนาดนี้ คนไหนมีศีล ๕ ที่สูงขึ้นกว่านี้ มีความหมายที่อธิศีล สูงขึ้นกว่า ที่เราได้สมาทานเหมือนกัน เราก็จะทำตามที่เรากำหนดสมาทาน ถือศีลขนาดไหนๆ จนกระทั่ง ถึงอธิศีล ถึงศีล ๘ ไล่ขึ้นไปถึงศีล ๘ หรือจะขยายศีล ๕ ไปสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่พูดถึงคำว่าศีล ๘ ก็ได้ และความหมาย ของศีล ๕ ที่เป็นอธิศีล สูงขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะมีลักษณะที่สูง ลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ตัวเรา ปฏิบัติตามศีลนั้นได้ แล้วขัดเกลากาย วาจา โดยเฉพาะขัดเกลาจิต จิตเราอันนี้ เป็นกิเลสธรรมดาของคน แต่ก่อนนี้ถ้าเป็นธรรมดา ไม่ได้ถือศีลนี่ เราไม่ขัดใจเราหรอก เราไม่ขัดเกลากิเลส ไม่ขัดเกลาจิตใจหรอก เราจะทำตามใจเราเลยแหละ

แต่เมื่อเราถือศีลแล้ว เราปฏิบัติธรรม เป็นโลกุตระแล้ว เราจะอ่านอาการของจิตออก เรียกว่า รู้รูปนาม อาการของจิต เครื่องหมายของจิต ว่าอย่างนี้เป็นกิเลสนะ ยังงี้นี่ มันกำลังบังคับเรา มันกำลัง จะเอาตามใจ มันจะเอาตามความอยาก ตามความโกรธ แต่เมื่อเราปฏิบัติแล้ว ชนะความอยาก ชนะความโกรธ ที่จะมาบำเรอตน ตามใจตน ขัดเกลาจิตอย่างนี้เรียกว่า กำลังทำอธิศีล อธิจิต ทำให้ศีล เกิดความขัดเกลา และจิตก็เกิดการขัดเกลา กาย วาจา นี่มันก็เกิดตามจิตที่เป็นประธาน เพราะจิตวิญญาณ เป็นประธานต่อสิ่งทั้งปวง มันจะสั่ง เราก็จะลดมันได้ ตามวิธีที่เราได้มี สมถภาวนา กับวิปัสสนาภาวนา มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีองค์แห่งการตรัสรู้ ที่จะธัมมวิจัย และจะต้องมี ความเพียรพยายามด้วย มีวิริยะสัมโพชฌงค์ เพียรที่จะกระทำให้ได้ ตามที่เราปฏิบัติ ตามที่เรารู้ทฤษฎีการปฏิบัติ ควบคุมความคิด ควบคุมวาจา ควบคุมการกระทำ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ ควบคุมการงาน การงานที่ทำประจำชีวิต มันจะสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับผู้คน ต้องสัมผัส แตะต้อง ต้องได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัสทางรูป รส กลิ่น เสียง เกิดมันเป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดอารมณ์ ทางจิต เกิดอารมณ์โกรธ เกิดอารมณ์โลภ อารมณ์ราคะ และเราก็จะต้องมี ธัมมวิจัยว่า ต้องให้ถูกต้อง ตามสัจจะ ไม่โมหะ ไม่หลงผิด เห็น ให้ถูกจริงๆ วิจัยลงไปจริงๆเลย จึงจะเรียกว่า มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ และมีสติที่ทำงานสติสัมโพชฌงค์

มีสติที่ทำงานวิจัยธรรมะ อันไหน เป็นสัมมา อันไหนเป็นมิจฉา หรืออันไหนเป็นบาป เป็นบุญ หรืออันไหนเป็นไปเพื่อ ตามใจกิเลส อันไหนเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้ตามใจกิเลส รู้อาการของกิเลส กิเลสสายราคะ หรือ โลภ มีกิเลสสายโทสะ ราคะก็รู้ว่าราคะ อราคะก็คือลดมันลงมา โทสะก็รู้ว่านี่ กำลังเกิด อาการโทสะ เป็นอาการนิมิต เราจับอาการของมันได้ เครื่องหมายที่เราจับ รู้เกิดในจิตของเรา เราจะจับจิตเราได้ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ ผู้อ่านจิตได้ จับจิตได้ นี่แหละเป็นผู้ตาทิพย์ รู้จิตในจิต จิตในจิต มีองค์เจโตปริยญาณ ๑๖ รู้ ราคะ โทสะ โมหะ รู้ว่าตอนนี้เรากำลังประพฤติ เรากำลัง ลดราคะ ลดโทสะ ลดโมหะได้อยู่ กำลังลดได้ทีเดียว เราก็รู้ว่า นี่กำลังเป็นไปเพื่ออราคะ หรือ อโทสะ อโมหะ เราจะเข้าใจทิศทางของความเพิ่มความโลภ โกรธ หลง หรือเพิ่มราคะ โทสะ โมหะ หรือว่าไม่เพิ่ม หรือว่าเรากำลังทำให้ลด

การปฏิบัติธรรม ที่รู้ยิ่งเห็นจริงด้วยญาณ ด้วยปัญญา ที่มองเห็น อ่านเห็น มีญาณ หรือมีตาทิพย์ เห็นจริงๆว่า เรากำลังลด นั่นแหละเรากำลังเกิดทางสู่มรรคผล การลดกิเลส คือทางเดิน สู่มรรคผล นิพพาน สู่ผลเป็นนิพพาน รูปคือสิ่งที่ถูกรู้ รู้ปรมัตถ์นี่คือเรารู้ รู้จิต เจตสิก รูป นิพพาน จิต เจตสิก อาการของจิต ลักษณะของจิตทั้งหมดนั่นแหละ และมันมีอาการอย่างไร เราก็รู้ นั่นแหละสิ่งที่ถูกรู้ นั่นเรียกว่ารูป เราลดมันได้ ก็รู้มันเลยว่า เรารู้มรรครู้ผลไปเรื่อยๆ ว่าเราทำได้หรือไม่ได้ ต้องมีความเพียรพยายาม มีวิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียรที่ตัดกิเลส เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์ เพียรประพฤติ ทางกาย วาจา ใจ ประพฤติทางสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะนี่แหละ ทางความคิด ก็คิดมาในทางที่เจริญเป็นอริยะ ต่อสู้กับกิเลส ปรับปรุงให้เป็นสัมมา อย่าให้เป็นมิจฉา เป็นทางที่ถูกต้อง การพูดก็พูดให้เป็นสัมมา ไม่ใช่พูดเพื่อโลภ พูดเพื่อโกรธ พูดเพื่อสมใจในโลภ โกรธ หลง ไม่ใช่ แต่พูดเพื่อที่จะไม่เป็นโลภ ไม่เป็นโกรธ ไม่เป็นหลง อโลภะ อโทสะ อโมหะ เราทำให้ได้

จนจิตเราเก่งขึ้น ดีขั้น แม้มันจะได้บ้าง แต่มันยังไม่เก่ง มันยังเป็นสังขิตตะ หรือเป็นวิขิตตะ มันยังเป็นก้อน เป็นแท่ง มันยังหด มันหู่ เป็นสังขิตะ เป็นลักษณะได้เรารู้ว่า เราลดได้ แต่ว่ามันยังตื้อๆ มันยังหนักๆ มันยังหู่ ยังหด ยังแข็ง ยังกระด้าง ยังมึน ยังซึมอยู่ มันยังไม่โปร่ง ยังไม่โล่ง ยังไม่เบา ยังไม่ว่าง หรือมันยังกระเด็นกระดอน กระเซ็นกระสาย ฟุ้งๆ ขจรขจายอยู่แล้ว เรียกว่า วิขิตตัง จิตตัง เป็นจิตที่ยังกระเซ็น เขาแปลเอาง่ายๆว่า สังขิตตะ แปลว่าจิตหดหู่ วิกขิตตะ แปลว่า จิตฟุ้งซ่าน ก็ถูก แต่ลักษณะของมัน ต้องรู้จักสภาวะของมัน มันกระเซ็น มันยังซ่านอยู่ ยังฟุ้งอยู่ ยังไม่เป็นสภาพที่ไม่ลงตัว ที่โปร่ง ที่ว่าง ที่ชัด มองมีญาณอะไรเห็นอ่านรู้ มันยังปนๆ เปๆ อะไรก็แล้วแต่ ม้นยังจับไม่ติดก็ได้ วิกขิตตะ มันยังไม่แน่ไม่ชัด สังขิตตะ ก็เป็นก้อน ตีไม่แตกมั่ง แยกไม่ออกมั่ง มึนๆ ซึมๆ หนาๆ ทึบๆ มันไม่โปร่ง อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นลักษณะของจิต ที่เราเอง เรายังไม่ดี มันซึม มันมึน มันตื้อ มันไปในลักษณะที่ทึบ ที่ไม่ค่อยรู้

ส่วนวิกขิตตะ วิขิตตัง จิตตัง ก็เป็นจิตมันกระจาย มันกระเซ็น มันจางๆ มันยังไม่ชัด มันยังลางๆ เลือนๆ มันยังวุ่นวาย มันยังสับสน มันยังฟุ้ง ยังซ่าน อย่างนี้เป็นต้น เราลดกิเลสได้ แต่มันก็ยังไม่ชัด ไม่เจน ยังไม่ดี ต้องทำให้ดียิ่งขึ้น จึงเรียกว่า ให้เจริญขึ้น ไปสู่ทางสูง ทางเจริญ เรียกว่า มหรคตะ ในการพิจารณาจิตในจิต ๑๖ ระดับ สติปัฏฐาน ๔ นี่ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จิตในจิต นี่ก็คือ ลักษณะ เจโตปริยญาณ ๑๖ นี่อาตมาไล่ไป ๘ แล้ว ราคะ โทสะ โมหะ อราคะ อโทสะ อโมหะ สังขิตตะ วิกขิตตะ จะต้องทำให้ดี ให้มันเจริญขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า มหัคคตะ ให้มันได้ผล เรียกว่า มหัคคตะ หรือเราทำไม่ได้ ก็เรียกว่า อมหัคคตะ เรียกว่าจิตมันไม่เป็นไปในทางเจริญ มันไม่ดีขึ้น มันยังอยู่เท่าเก่า หรือแย่ลง เรียก อมหัคคตะ เราก็รู้จิตของเราว่า จิตของเรา นี่ทำได้อยู่หรือไม่ ตรวจตรา อ่านอย่างนี้ เรียกว่าสัมโพชฌงค์ เรียกว่า ผู้อยู่ในองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นผู้ที่อยู่ใน ภาคปฏิบัติเสมอ

จะทำงานทำการ จะคิดจะพูด จะทำอาชีพอะไรอยู่ มีสัมผัสแตะต้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักกายกรรม รู้จักวจีกรรม รู้จักมโนกรรมของเรา รู้จักอิริยาบถของเรา รู้จักกรรมกิริยาของเรา กรรมกิริยาของกาย กรรมกิริยาของวาจา กรรมกิริยาของจิต ต้องอ่าน ต้องมี จิตตัวนี้ เข้าไปอ่านจริงๆ มีตัวแววไว มีตัวมุทุภูตธาตุ มีธาตุแห่งการรู้อย่างไว อย่างอ่อน อย่างแววไว อย่างฉลาด แล้วก็สามารถปรับได้ จึงจะครบคุณภาพ ของมุทุภูตธาตุ แล้วต้องรู้ด้วย เรียกว่า ปัญญา และต้องสามารถทำได้ด้วย เรียกว่า เจโต สามารถดัด สามารถปรับ เรียกว่าหัวอ่อน จิตหัวอ่อน จิตที่มีจิตไว อ่อน เร็ว แล้วก็ปรับมันได้ด้วย ปรับมันก็คือ พัฒนาให้มันเป็นภาวนามัย เป็นภาวนา จะเป็นสมถภาวนา หรือเป็นวิปัสสนาภาวนา สามารถลดกิเลสได้จริงอย่างไร เมื่อไร นั่นแหละ มันยิ่งถูกต้อง ตามหลักการ ในการปฏิบัติธรรมนั้น

และเราจะทำอะไรก็ดี มุทุภูตธาตุ และก็มุทุภูเต กัมมนิเย และเราจะทำอะไรอยู่ กรรมนี่คือ การกระทำทุกอย่าง เป็นการงานทุกอย่าง การงานทางคิด การงานทางพูด การงานทางกระทำ การงานทางอาชีพอะไรอยู่ ก็แล้วแต่ มันก็จะเหมาะควร ท่านเรียกว่า กัมมนิเย การงานอันเหมาะควร มันจะเหมาะ มันจะดี มันจะลงตัว เป็นไปได้อย่างถูกต้องอย่างดีงามทั้งข้างนอก ข้างใน เป็นไปได้ ทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี จึงเป็นการเดินทางไปสู่มรรคผล เดินทางไปสู่นิพพาน โดยการเป็นชีวิต ธรรมดาๆ ทั้งคิดทั้งพูด ทั้งทำงานทำการ ทั้งทำอาชีพ มีชีวิตสัมผัสแตะต้อง ลืมตาธรรมดา มีชีวิตปกติ ธรรมชาติๆ นี่แหละ และเราได้มีการปฏิบัติธรรมที่เรียนรู้ มีสติปัฏฐาน ๔ รู้องค์ประชุม รู้ข้างนอกด้วย ข้างในด้วย กายะ กาโยนี่แปลว่าองค์ประชุม ประชุมมันมีสิ่งแวดล้อม มีวัตถุ มีดิน น้ำ ไฟ ลม มีต้นหมากรากไม้ มีดิน มีเขา มีน้ำ มีวัตถุธาตุ มีเครื่องใช้ไม้สอย มีบุคคล มีการกระทำ มีกิริยาของบุคคล เขาพูดก็ได้ยินเสียง เห็นก็ได้เห็นรูป ได้กลิ่น ได้ลิ้ม ได้รส มีทุกอย่าง ที่ประกอบเป็น เครื่องอุปโภค บริโภคใดๆ ด้วยประชุมอยู่กับเรานี่ ใกล้หรือไกล ประชุมอยู่

จนกระทั่ง แม้การประชุม อยู่ใน เรียกว่า กายในกาย องค์ประชุมของจิตวิญญาณ มีกรรมกิริยาของ จิตวิญญาณ อ่านจิตในจิต ออก กายในกาย หรือ จิตในจิตนั่นแหละ อันเดียวกัน กายในกาย ก็คือ สภาพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มันอยู่ข้างใน เรียกว่า อายตนะ ๖ และเราก็รู้อาการของอายตนะ รูปมันเป็น อย่างไร ข้างในรูป แล้วมันก็มีอาการเวทนา มีรูปอย่างนั้น และมีเวทนา และมีความรู้สึก สุขทุกข์อย่างไร สุขทุกข์อย่างโลกียสุข หรือว่าทุกข์เพราะยังเป็นกิเลส ยังไม่สมใจในกิเลส เราจะอ่านออก สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ เราก็พยายามปรับไม่ให้เป็นไปตามกิเลสอยาก ลดกิเลสได้ หรือจะบำเรอกิเลสเรา ก็จะรู้ว่า จะเป็นสุขบำเรอกิเลส เรียกว่าโลกียสุข ถ้าเราไม่บำเรอละ แต่เราจะ ลดความต้องการกิเลส ลดโลภะ โทสะ ในจิตลงได้ เรียกว่า ลดทุกข์สมุทัย ลดตัวการใหญ่ ได้ด้วยสมถะภาวนาก็ดี ด้วยวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ลดลงได้จริงๆ นั่นแหละลดละ หรือ เว้นขาดออกมาได้ จะมากจะน้อย จะชั่วคราว เป็นตทังคปหาน หรือจะเป็น วิกขัมภนปหาน ทำได้อย่างกดอย่างข่ม ทำได้เก่งได้เร็วขึ้น เป็นปฏิปัสสัทธิปหาน หรือจะเป็นเก่งถึงนิสสรณปหาน ได้อย่างสลัดออกเลย

เราก็จะรู้ความเก่ง ของเรา ความสามารถของเราว่า มีน้อยแค่ไหน มีปหานปธาน นั่นแหละ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน นิสสรณปหาน หรือ สมุจเฉทปหาน ประหารอย่างเด็ดขาด เรียกว่า ขาดสูญอย่างต่อเนื่อง สมุจเฉทปหานได้อย่างดี จริงๆ เราก็ต้องรู้ว่า เรามี สังวรปธาน ปหานปธาน มีสัมมัปปธาน ๔ ภาวนาปธาน ก็คือ ได้ผลทำให้เกิดภาวนามัย ทำให้เกิดภาวนาปธาน เกิดได้ผล ภาวนาแปลว่า การเกิด ปฏิบัติธรรมมีมรรคมีผลมา สั่งสมผลขึ้นมาเรื่อยๆ และ อนุรักขนาปธาน มารักษาผลนั่นได้ ด้วยอิทธิบาท ๔ ด้วยความยินดี ด้วยความเพียร อิทธิบาท ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ด้วยความเพียร ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยการรู้เลยกำลังพิจารณาวิเคราะห์ วิจัย ตัดสิน พิพากษา อะไรอยู่ทีเดียว พิพากษาตัวเราเอง พิพากษาสิ่งที่ได้ สิ่งที่ดีอะไรนี่ มีองค์ประกอบในการ ปฏิบัติธรรม จริงๆนะ

ถ้าเรามีความรู้ทั้งกาย เวทนา จิต อธิบายไปแล้วเมื่อกี้นี้ แม้จะยังไม่ทะลุถึงวิมุติ อวิมุติ ก็ตาม อธิบายทั้ง สังขิตตะ วิกขิตตะ มหัคคตะ อมหัคคตะ สอุตตระ อนุตตระ อีกคู่หนึ่งเป็น ๑๐ เมื่อกี้นี้ ๖ ราคะ โทสะ โมหะ อราคะ อโทสะ อโมหะ ๖ แล้ว สังขิตตะ วิกขิตตะ ๘ มหัคคตะ อมหัคคตะ๑๐ สอุตตระ จิตตัง กับ อนุตตระ จิตตัง อีกคู่หนึ่ง จิตสอุตตระ จิตตัง คือ จิตที่ดียิ่งกว่านี้ยังมีอีก จิตดีขึ้น มหัคคตะนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเจริญขึ้น แต่มันยังรู้ เราจะมีญาณรู้ว่า ดีกว่านี้ยังมีอีก จิตที่ยังดี ยังไม่ถึงที่สุดหรอก ยังไม่จบ ยังดีกว่านี้ได้อีก เราจะมีญาณรู้ จริงๆ จึงเรียกว่า สอุตตรจิต แต่สูงขึ้นมาเรื่อยๆ เจริญอยู่เรื่อยๆ จนถึงขั้นอนุตตรจิต เป็นจิตที่ยิ่ง ไม่มีจิตใดเหนือกว่าอีก อนุตตรจิต แต่จิตอนุตตรจิตนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นสมาหิตะ และเป็นวิมุติ มีเงื่อนไขอีก ๒ อย่าง ต้องเป็นสมาหิตจิต และมีทั้งสมาหิตจิต มีทั้งวิมุติจิตด้วย จึงเรียกว่าอนุตตรจิต จึงเรียกว่า จิตที่ยิ่ง จิตที่เหนือกว่าจิตใดๆ ไม่มีจิตใดยิ่งกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น ในการพากเพียร ในการจะปฏิบัติให้เกิด อนุตตรจิต จะต้องเรียนรู้สมาหิตะ เรียนรู้ วิมุติด้วย เพราะฉะนั้น สมาหิตะ คือจิตประโยชน์ที่แข็งแรง ตั้งมั่น เป็นจิตที่อยู่เหนือโลกจริงๆ

เป็นจิตที่อยู่กับโลก มีการทำงาน มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ มีธาตุรู้ มีตัวรู้ๆ ในอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทวารกระทบสัมผัส และก็เข้าไปรู้ๆ อยู่ข้างในจิตตัวเอง เป็นอายตนะ แล้วเราก็สามารถรู้อายตนะเหล่านั้นว่า รูปก็ดี รสก็ดี กลิ่นก็ดี เสียงก็ดี สัมผัสก็ดี ไม่มีกิเลสร่วม ทำงานอย่างแข็งแรง มีประโยชน์ต่อมนุษยโลก อย่างแข็งแรง ตั้งมั่น เรียกว่าสมาหิตะ เป็นสมาธิ

เขาแปลทับศัพท์ว่า สมาธิ สมาหิตะ นี่ สมาธิ ก็ภาษาบาลี สมาหิตะ ก็ภาษาบาลี เขาแปลทับศัพท์ สมาหิตะว่าสมาธิ และก็ไปแปลกันว่า ตั้งมั่นเฉยๆ จริง ตั้งมั่นก็ถูก แต่ตั้งมั่นอย่างไหนละ ตั้งมั่น อย่างที่เรียกว่า อยู่เหนือมัน เป็นจิตที่วิเศษ เป็นอนุตตรจิต เป็นสมาหิตะ เป็นสมาธิอย่างอนุตตรจิต สมาหิตะ คืออย่างที่มีคุณค่าประโยชน์ต่อโลก ต่อมนุษย์ เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตน คือกิเลสหมด อนุตตรจิตคือ จิตที่ไม่มีกิเลสแล้ว กิเลสไม่มี และพร้อมกันนั้น ก็มีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ มีบทบาทการงานอยู่ อย่างมีคุณค่า ประโยชน์ต่อโลก ต่อเป็นหิตประโยชน์ในมนุษยโลก เป็นหิตประโยชน์ โดยเฉพาะเป็น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ และก็เป็นสัมปรายิกกัตถประโยชน์ด้วย

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คืออะไร ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือมีความขยัน อุฏฐานสัมปทา และก็มา อารักขสัมปทา เข้าถึงเป็นความถึง ถึงความขยัน และก็ถึงการรักษา รักษาทุกอย่าง รักษาตนเอง รักษาผู้อื่น ช่วยรักษา รักษาไม่ใช่สะสม เขาไปแปลว่าสะสมเงินทอง สะสมทรัพย์ศฤงคาร แปลอย่าง ตื้นๆ เขินๆ แล้วก็เลย กลายเป็นขี้โลภ แล้วค้านแย้งกับอปจยะของพระพุทธเจ้าด้วยว่า ไม่สะสม นะ อารักขสัมปทา แปลว่าการรักษา ไม่ใช่สะสม ถ้าเรามีแผล เราจะรักษาแผล เราทำให้แผล นั่นน่ะ อยู่กับเรา สะสมแผลให้โตๆขึ้นใช่ไหม ไม่ใช่ ไม่เอานะ เรารักษาแผล เราก็เลย สะสมแผลไว้ ไม่ให้แผล หายจากเรา และให้แผลมันโตขึ้นด้วย สะสมใช่ไหม ให้แผลมันเยอะๆ ใช่ไหม รักษาแผล ไปแปลรักษาว่าสะสม ไปแปลรักษาว่า มีอยู่ ไม่ใช่ รักษาแปลว่าทำให้เจริญ ทำให้ดีงาม รักษานี่ ทำให้อยู่อย่าง สมเหมาะสมควร รักษานี่แปลว่า ทำให้ดี ดูแลให้ดีรักษา อันใดควรปราบ ก็ปราบ ผู้รักษานี่ อันใดปราบ ก็ปราบ อะไรทำให้ดียิ่งก็ดียิ่ง

รักษานี่ ไม่ได้หมายความว่า สะสม มันละเอียดนะ มันลึกซึ้ง แปลว่าสะสม มันก็ค้านแย้ง พระพุทธเจ้า ไม่ได้สอน ให้คนสะสม มาแปลกัน มานานแล้ว มาแปลกันมาก แปลมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แล้วจะต้องร่ำรวย ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ปัจจุบัน เป็นหัวใจเศรษฐี ต้องร่ำรวย แปล ทิฏฐธัม เอาเล็กๆ น้อยๆ แปลเอาความหมาย เออ อย่าหัดสุรุ่ย สุร่าย หัดประหยัด จะต้องรักษาดูแล สะสมทรัพย์ ศฤงคาร อย่าไปฟุ่มเฟือย สุรุ่ย สุร่าย ฟุ้งเฟ้อ อะไรก็ถูกในความหมายง่ายๆ แต่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้น นะ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์ของปรมัตถ์ด้วย สัมปรายิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ของปรมัตถ์ด้วย แต่เขาอธิบายไม่ออก เขาอธิบาย ได้แต่ง่ายๆ แล้วก็ตีความเอาง่ายๆ เลยกลายไปเป็นโลภโมโทสัน

จะมีมิตรดี มีกัลยาณมิตโต กัลยาณสหาโย กัลยาณสัมปวังโก มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เรียกว่า เกิดเข้าถึงกัลยาณมิตโต กัลยาณสหาโย กัลยาณสัมปวังโก มีมิตรดี สหายดี มีสังคม สิ่งแวดล้อมดี มีจริงๆ กัลยาณมิตรนี่มี กัลยาณมิตร คือมิตรที่ปฏิบัติไปทางเดียวกัน มีทิฏฐิเดียวกัน มีศีลสามัญญตา มีความเข้าใจในศีล มีความเข้าใจในความเห็น ความเข้าใจในที่เรารู้ว่า ไปอย่างนี้ เป็นความเจริญของมนุษย์ มนุษย์ไม่สะสม เป็นมนุษย์เจริญกว่ามนุษย์สะสม มนุษย์กอบโกย เอาเปรียบ เอารัด มนุษย์มักน้อยนี่ เจริญกว่ามนุษย์มักมาก มีความโลภ มีความมาก สะสมมากๆ เป็นมนุษย์ไม่เจริญ เท่ามักน้อยหรอก แต่มันยาก มันทวนกระแสธรรมะของพระพุทธเจ้า

ฟังที่อาตมาพูดนี่จะเข้าใจ และจะรู้ว่า ตัวเรา ปฏิบัติได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง หรือว่าดีมากขึ้น ดีกว่าเก่าเยอะแยะอะไร เราจะรู้ความจริง ตามความเป็นจริง ที่เราได้ฝึกฝนอบรมตัว และใจเราก็สบายขึ้นด้วยปัญญา เราก็เห็นชัดเจน ด้วยอย่างนี้แหละ เป็นความเจริญที่เป็นไปได้ยาก ไม่ง่ายจริงๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ และ เป็นประโยชน์ต่อตนและท่าน มันเป็นวูปสโมสุข คือ สุขที่สงบระงับ ไม่ใช่ สุขัลลิกะ ไม่ใช่กามสุขัลลิกะ ไม่ใช่สุขอย่างโลกๆ ไม่ใช่โลกียสุข แต่เป็นวูปสโมสุข สุขอย่างจิตมันระงับกิเลส สุขอย่างระงับกิเลสมาจริงๆ มันเป็นความสุขอย่างไร เราจะอ่านอาการ ลิงคะ นิมิตของมันออกจริงๆ อ่านออกจริงๆ และเราจะปฏิบัติได้ถูกสอดคล้อง

เมื่อกี้นี้ มีสัมโพชฌงค์ หรือว่ามีโพชฌงค์ ๗ มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ มีวิริยะสัมโพชฌงค์จริงๆ มันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เราก็รักษาศีล รักษา กาย วาจา รักษาใจ รักษาไม่ให้เกิดโลภ โกรธ หลง นี่เรียกว่ารักษา ให้ลดโลภ โกรธ หลง นี่แหละ ให้รักษา ไม่ใช่รักษาคือ สะสมกิเลส รู้ว่ามีกิเลส ก็เอามันออกด้วยซ้ำไป ไม่ใช่สะสมมา รักษานี่ เหมือนกับ เราเป็นแผล อย่างที่ว่านี่ ให้แผลมันหายไป ให้เชื้อโรคมันออกไปด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่า จะไปสะสม มันเรื่อยไป ไปแปลรักษาว่าสะสม ก็ไปรักษาแผลให้โตใหญ่ไปเท่านั้นเอง รักษากิเลสไว้ โตใหญ่ เท่านั้นเอง ไม่ใช่รักษา นี่คือทำให้ดี อะไรควรละๆ กิเลสควรละละ สิ่งที่เป็นอกุศลใด พฤติกรรมที่เป็น อกุศลทุจริต หรือว่าไม่สัมมา เป็นมิจฉาใดๆละ รักษานี่ ทำให้ดี ทำให้เจริญ มีการรักษาอย่างนั้นจริงๆ มีการเจริญอย่างนั้นจริงๆ จึงเรียกว่า ปฏิบัติธรรมถูกแนว ถูกทาง จึงจะเกิด กัลยาณมิตตตา เป็นประโยชน์ที่แท้ เป็นปรมัตถ์ที่แท้ เกิดสมชีวิตา เกิดการมีการงาน มีกรรม มีการงานเลี้ยงชีพอยู่ ยังชีวิตอยู่ อย่างเป็นสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ขัดแย้งกัน เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพเจริญ เลี้ยงชีพพัฒนาไปสู่อริยบุคคล ไปสู่ความเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นพระโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ขึ้นไปตามลำดับจริงๆ

สัมปรายิกัตถประโยชน์ ก็ได้ด้วย ถ้าเข้าใจแล้ว เมื่อกี้ว่า อารักขสัมปทา คือรักษา ได้รักษาศีล ได้รักษาจิต ได้รักษาปัญญา ที่แท้จริงก็จะเกิดสัมปรายิกัตถประโยชน์ มีศรัทธาสัมปทา มีศีลสัมปทา มีจาคสัมปทา มีปัญญาสัมปทา เกิดประโยชน์ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ทั้งสัมปรายิกัตถประโยชน์

ยิ่งเราเข้าใจปรมัตถ์ ก็นั่นแหละ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ของเราได้พัฒนาสู่มรรค สู่ผล มีพร้อมกันหมด มีทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์มีพร้อมกันหมด ทั้งสัมปรายิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ เกิดโลกนี้โลกหน้า ซึ่งอาตมาอธิบายโลกนี้ โลกหน้า ให้ฟังมามากแล้ว ใครพูด หรือว่าใครอธิบาย โลกนี้ โลกหน้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ โลกหน้ามี โลกนี้มี โลกหน้ามี อยัง โลโก ปโร โลโก กรรมมีผล กัมมานัง ผลัง วิปาโก อย่างที่อธิบายมิจฉาทิฏฐิในข้อที่ ๔, ๕, ๖ และเราก็รู้เป็น สัมมาทิฏฐิว่า โลกนี้คือยังไง โลกหน้าคือยังไง เพราะฉะนั้น การรู้โลกนี้โลกหน้า สัมปรายิกัตถประโยชน์ ก็ประโยชน์ ในโลกหน้า ก็คือ โลกที่เจริญขึ้น เดี๋ยวนี้แหละ
นี่พูดถึงเนื้อหาสาระชัดๆ กันให้ฟังเสียก่อน แม้อาตมาจะไม่ได้อธิบายไปจนหมด เมื่อกี้นี้ อธิบาย เจโตปริยญาณ ๑๖ ไปถึงสมาหิตะ อสมาหิตะ สมาหิตะคือจิตมันมีประโยชน์ ตั้งมั่น แล้วก็ขยาย มาถึง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ขยายมาถึงสัมปรายิกัตถประโยชน์ หิตะแปลว่า ประโยชน์เกื้อกูล สมาหิตะ นี่เป็นภาษาบาลี ที่สนธิกันอยู่กับสมะ และเราก็มาแแปลเป็นสมาธิก็ได้ ถูกต้องตั้งมั่น แข็งแรง มีคุณลักษณะตั้งมั่นแข็งแรงด้วย สมาหิตะ นี่เป็นสมาธิตั้งมั่นแข็งแรง แต่มีคุณค่า ประโยชน์ และเป็นประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ถึงขั้นปรมัตถประโยชน์ มีทั้งทิฏฐธัมมิกัตถ ประโยชน์ มีทั้งสัมปรายิกัตถประโยชน์ อย่างที่ว่านี้ จิตใจของเราสะอาดๆขึ้น จริงๆ เป็นวิมุติ เราจะอ่านรู้เลยว่า วิมุติคืออะไร อวิมุติคืออะไร ที่ไม่ใช่วิมุติ เป็นอวิมุตินี่คือยังไง วิมุติเป็นยังไง มีคุณลักษณะยังไง ชัดเจนเลย จะอ่านชัดเจนเลยนะ

จะอ่านด้วยญาณของเรา ตาทิพย์ของเราจะเห็นแจ้ง โอ๊ อย่างนี้มันยังไม่วิมุติ ยังมีกิเลสนิดๆ หน่อยๆ จรมา ยังไม่ใช่วิมุติแท้ มันจะตรวจตราตัวสุดท้าย ตัวละเอียดลออ นี่ขั้นวิมุตินี่ไม่ใช่ขั้น ธรรมดา หรอกมนุษย์ ยิ่งเป็นวิมุติขั้นสูงสุด จะเป็นสมุจเฉทวิมุติ หรือเป็นวิมุติที่ยังจะต้อง ดูอนุสัย ดูอาสวะ ดูถึงขั้นญาณสุดท้าย อาสวักขยญาณๆ ที่จะตรวจตราส่วนเศษ ส่วนมันยังมีกิเลส ส่วนเหลือ เล็กๆ น้อยๆ อะไร ตรวจตราถึงขั้นสุดนี่ โอย มันยิ่งสำคัญหนัก เพราะฉะนั้น จะต้องมีญาณปัญญา มีเจโตปริยญาณลึกซึ้ง ตรวจวิมุติ อวิมุติ อย่างนี้ มันยังไม่วิมุติ แท้นะ ยังมีส่วนของอวิมุตินิดๆ หน่อยๆ จึงจะเรียก อนุตตรจิต จิตที่ยิ่ง จิตที่ยอด จิตที่ไม่มีจิตใด เหนือกว่านี้อีกแล้ว อนุตตรจิตนี่ เรียกว่า เหนือกว่าเหนือ มันสุด มันจบ มันสมบูรณ์ จึงจะต้องมี เงื่อนไข ของสมาหิตะ กับวิมุติ นี่เป็นตัวประกอบ เป็นตัวยืนยันชัดเจน เป็นสภาพที่ จะต้องเข้าใจ สภาวธรมพวกนี้ อย่างชัดเจน

นี่ อาตมาก็เทศน์เรื่องอภิธรรม เทศน์เรื่องธรรมะที่เราปฏิบัติกัน สู่โลกุตระให้ฟังก่อน เป็นหลักวิชา


ธรรมบรรยายจากครูอาจารย์






Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2554 17:56:04 น. 3 comments
Counter : 1835 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:21:55:21 น.  

 
ขออนุญาติเป็น กัลยาณมิตร นะครับ และอยากทราบว่า เป็นครูบาอาจารย์ท่านใดครับ ถ้าท่านไม่รังเกียจที่จะมีคนไปกราบไหว้ สาธุ สาธุ สาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:23:37:54 น.  

 
ยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับ กัลยาณมิตรคนใหม่ครับ ในส่วนของครูอาจารย์ผมจะส่งข้อความที่หลังไมค์นะครับ ด้วยเหตุผลบางประการ


โดย: ทัสนะ (atruthoflife10 ) วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:21:55:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.