บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
14 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
หลักปฏิบัติ(12)…คั้นออกมาจากศีล บทห้า







ขั้นต่ำขั้นง่ายที่สุด เราก็ยึด "ศีล ๕" มาประพฤติ การประพฤตินั้น ต้องจริง อย่าเหลาะแหละ พยายามมี "สติ" รู้ตัวเองให้ได้เสมอ ทุกวินาทีว่า เราเป็นผู้มี "ศีล" เราเป็นผู้ "ถือศีล" จะต้องไม่ให้ตนด่างพร้อย หรือ ทำให้ศีลขาด ศีลทะลุไป โดยประการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ไกวตัว เอื้อมมือ ยกขา อ้าปากพูด เคี้ยว อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ หรือทำการ ทำงาน สัมผัส สัมพันธ์กับอะไร อยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม

ศีลข้อ ๑ นั้น ในลำดับแรกง่ายๆ เราก็รู้เนื้อหาสาระแล้วว่า "อย่าฆ่าสัตว์" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมา ก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัวให้รุนแรง จนต้องฆ่าชีวิตผู้อื่น" ให้ถามตัวเองเสมอๆ ว่า "เราเห็นแก่ตัว" ใช่ไหมๆๆ? จึงต้องทำให้เขาตาย ทุกครั้งที่ทำร้ายสัตว์ หรือได้เผลอฆ่าสัตว์ใดๆ ตาย รู้เห็น "ความเห็นแก่ตัวของเรา" ให้ได้ จะเป็น "ปัญญา" (วิปัสสนา) และอย่าทำการฆ่า ให้ได้ทุกเวลาจะเป็น "สมาธิ" ทั้งเป็นการสร้าง "วิมุติ" (สมถะ) ให้ตั้งมั่นขึ้นแก่ตนเรื่อยๆ
สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องสร้าง "ปัญญา" หรือ สร้างความฉลาด ในการเลี่ยง ที่จะไม่ฆ่าสัตว์ใดๆ ให้ได้ ไม่ว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์มีพิษ หรือไม่มีพิษก็ตาม โดยเฉพาะ สัตว์ที่มีพิษ ก็จะต้องพยายามไม่ฆ่ามันได้ ด้วยปัญญาของเราเสมอ จึงจะบริบูรณ์แท้สูงจริง

ศีลข้อ ๒ เนื้อหาสาระของมัน ก็คือ "อย่าขโมยของ" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมา ก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัวรุนแรง จนต้องเอาของ ที่ไม่ใช่สิทธิของตน" ทุกคราที่จะหยิบ ของที่ไม่ใช่ของของตน จะต้องถามตัวเองจริงๆ ว่า เราเห็นแก่ตัวใช่ไหม? เราจะไม่หยิบได้ไหม? มีความบริสุทธิ์ หรือถูกต้องแค่ใด ที่เราจะหยิบของนี้ การรู้เห็น "ความเห็นแก่ตัวของเรา" ทุกครา นั่นเป็น "ปัญญา" (วิปัสสนา) ทุกที แล้วละเสียให้ไ่ด้ เลิกเสียให้พ้น จะเป็น "วิมุติ" ให้แก่ตน และจะเจริญ "สมาธิ" (สมถะ) ให้มั่นคงแข็งแรง หรือดียิ่งขึ้นเรื่อยไป
สำคัญมากก็คือ จะต้องรู้ตัวให้ได้ว่า เราจะหยิบ จะสัมผัส หรือจะเอาอะไรมาให้ตนนั้น มันคือ "ความโลภ" โดยแท้ ทุกครั้ง ถ้ารู้ได้ทีใด ก็เป็น "ปัญญา" แท้ทีนั้น แต่ว่าแต่ละครั้งนั้น ต้องถามตนเองว่า จะไม่เอา ไม่หยิบ ไม่สัมผัสของนั่นเลย จะได้ไหม? และถ้าจำเป็นที่สุด ต้องเลือกทางเอาให้น้อยลงๆๆ หรือ "ไม่เอา" ให้ได้มากที่สุด

ศีลข้อ ๓ เนื้อหาสาระมีว่า "อย่าประพฤติผิด ในเมถุนธรรม ที่ไม่ใช่คู่อันถูกต้องแท้ๆ ของตน" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมาก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัว ให้มันรุนแรง จนต้องเป็นทาสกามคุณ ให้มันมากนัก" ถ้าเป็น "ไท" แก่ตัวได้ (คือไม่เป็นขี้ข้ากามคุณ) ก็ให้เร่งทำทีเดียว ต้องใช้ "สติ" ควบคุมตนเสมอๆ (ให้หนักยิ่งขึ้น)
เพราะในศีลข้อนี้ มันเป็นการเสพรสแล้ว หมายให้ผ่อนคลาย ในการเสพรสลงเสียบ้าง การเสพใดๆ ล้วนเป็น "ความเห็นแก่ตัว" ทุกครั้ง
ถ้าอดทนฝืนข่มได้ (สมถะ) หรือ ถ้าลดได้ด้วยปัญญา (วิปัสสนา) ไม่เสพ ไม่แตะต้องได้ครั้งใด ก็คือ สร้างพลัง "สมาธิ" ให้แก่ตนครั้งนั้น และ เป็นการก่อกำแพง "วิมุติ" ให้กับตนหนาแน่นขึ้นด้วย
สำคัญมากที่สุด คือ จะต้องให้มี "สติ" รู้ทันที่จะเสพทุกครั้ง แล้วเข้าใจตนเอง ให้ถูกให้ได้ว่า ตนกำลังจะทำอะไร? กำลังสัมผัสอะไร? อยู่ในทุกขณะจิต เรากำลัง "เสพ" ใช่ไหม? ถ้ารู้ก็เป็น "ปัญญา" ทุกที และจะต้องอย่าลืมว่า เราจะต้องเป็นผู้ "เสพ" น้อยลงๆ ให้ได้ ถ้า "ไม่" เสียเลย ยิ่งนั่นแหละ คือ "สัมมาสมาธิ" คือละ ลด คือ "วิมุติ" คือสภาวะหลุดพ้น ที่ได้สั่งสม

ศีลข้อ ๔ เนื้อหาสาระเบื้องต้นมีว่า "อย่าพูดปด" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมาก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัว ให้รุนแรงมาก จนต้องพูดทุจริต เพื่ออะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอันขาด" เราจะต้องมี "สติ" ให้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้คำพูดของเราก่อนพูด ต้องพยายามรู้ตัวให้ได้เสมอๆ
มันไม่ใช่ของง่าย แต่ต้องทำ การฝึก คือ หัดพูดให้ช้าลง และ บังคับตน อย่าให้พูดออกมา ก่อนไตร่ตรองให้ได้เสมอๆ หากเราพูดมากอยู่ และ พูดไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกต้องไม่มีคุณค่าด้วย ก็ต้องลดการพูดลงทุกทีๆ
ถ้าคราใดเรารู้ตัวว่า เราจะพูดอะไรออกไปแล้ว เราได้กลั่นกรองคำพูดก่อน เมื่อนั้นคือ "ปัญญา" (วิปัสสนา) และ เมื่อเราได้พูดออกไปได้อย่างดี เป็นสัมมาได้ครั้งใด นั่นคือ เราบำเพ็ญ "สัมมาสมาธิ" ที่แท้จริง ด้วยองค์มรรค "สัมมาวาจา" เป็นการเสริม "วิมุติ" ให้แก่ตนทุกครั้ง (สมถะ)
ข้อสำคัญคือ บอกตนเองว่า "อย่าพูดๆๆๆ" ไว้ก่อนเสมอดีที่สุด โดยเฉพาะสำหรับคนปากพล่อย พูดมาก ถ้าไม่จำเป็นที่สุด ก็อย่าพูดอะไร ต้องฝึกหัดให้ดี ไตร่ตรอง กลั่นกรองคำพูด แล้วค่อยพูดเสมอ จนกว่า "สติ" จะตามทันคำพูด ก็จะพูดเร็วได้ในที่สุด และ จะเป็นการพูดที่สุจริต เป็น "อริยมรรค" เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญญภาคิยา) ให้ผลแก่ขันธ์ (อุปธิเวปักกา) สั่งสม "สัมมาอริยะ" ขึ้นสู่ความเป็น โลกุตตระ จนกว่าจะเป็น "อนาสวะ" สมบูรณ์

ศีลข้อ ๕ เนื้อหาสาระพื้นฐานมีว่า "อย่าเสพย์ติดสุรา" หรือชัดๆ เจนๆ ก็คือ "อย่าหลงใหล มัวเมา ติดของเสพย์ติดใดๆ เลย"
ที่จริงมันไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ของแทบทุกอย่างมันคือ สิ่งที่คนก่อสร้าง ประดิษฐ์ตกแต่งขึ้นมา เพื่อหลอกให้หลงเสพย์ เมามาย หลงติด ทั้งนั้น ถ้าใครโง่ ก็จะหลงติดมัน
ถ้าอย่างร้ายแรง ถึงขนาดเขาประดิษฐ์ สิ่งที่เสพย์เข้าไปแล้ว มันก็ไปทำปฏิกิริยา กับระบบประสาทของคน อ่อนบ้าง แรงบ้าง จนทำให้จิตของคน ไปยึดเอา อย่างหลงใหล (โมหะ) ใฝ่เสพย์ โดยเฉพาะ "อบายมุข" ต่างๆ นี่แหละ คือ "สุรา"
สุรา แปลว่า "หยาบกล้า" หรือ "แรงกล้า" จงอย่าไปเสพย์ติดมัวเมา เช่น การพนันต่างๆ เช่น เหล้า เช่น น้ำเมาต่างๆ หรือเช่น ยาฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ หมากพลู ยานัตถุ์ ยากล่อมต่างๆ หรือ แม้ทินเน่อร์ ที่ดม ที่ฉีด นานา หรือทั้งมหรสพ การละเล่น (ไม่ใช่ "งานจริง-การจริง"="กีฬา" ซึ่งเฟ้อ) เที่ยวกลางคืน คบมิตรชั่ว และ การเกียจคร้าน เราก็อย่าไปฝึก ไปหลงหัด หลงเสพ หลงติดเป็นอันขาด

จะต้องหัดพราก หัดเลิก เมื่อพรากมาแล้ว ก็จะต้องใช้ "สติ" เพ่งพิจารณาให้ถ่องแท้ ให้เห็น "ทุกข์" แห่งตัณหา คือ อารมณ์ที่มันยังทรมาน เพราะไม่ได้เสพสม เพราะ "ความอยาก" ให้รู้แจ้ง แล้วเทียบกับคนอื่นๆ ที่เขาไม่ติด ไม่ทุกข์ให้ได้ เห็น "ความโง่ ความไม่แข็งแรง" ของเราให้ชัด เห็นความขี้แพ้ ของคนอย่างเราให้ออก ถ้ารู้ว่าเราขี้แพ้เมื่อใด นั่นแหละคือ "ปัญญา" ยิ่งรู้ "อาการ" ในจิตที่เป็นตัณหา ชัดตัว ชัดสภาพ ยิ่งคือ "อธิปัญญา"
และ จงฝึกหัด ตัดฆ่ากิเลสตัณหานั้นๆ ตามแต่จะมีความรู้ ความสามารถ แม้เพียงจะอดทนก็ตาม จะข่มก็ตาม ฝืนก็ตาม ให้ได้ การไม่ยอมแตะ ไม่ไปเกี่ยว หรือ ต้องเกี่ยว ต้องสัมผัส แต่ก็ไม่ให้จิตเสพย์ จนได้ นั่นคือ "สมาธิ" ที่ดีขึ้น และเป็นการตั้งกำแพง "วิมุติ" ขึ้นตามทุกทีไป อินทรีย์ และ พละจะแข็งกล้าขึ้น เป็นระดับๆ ขึ้นทุกคราว

ถ้าแม้นว่า เป็นธรรมขั้นละเอียด ขั้นสูง ฐานอธิศีล-อธิจิต-อธิปัญญายิ่งๆ ขึ้นแล้วละก้อ จะต้องรู้มันให้ได้ ด้วย "ปัญญา" อันยิ่งๆ ขึ้น พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สภาพที่เรา "เมา" ในสิ่งเหล่าใดนั้น แท้ๆ นั้นคือ สภาพที่เรามีอารมณ์ยังชอบ ยังชื่น จนฝืนใจให้ ไม่อยาก ไม่อร่อย หรือ ไม่เสพย์สิ่งนั้นๆ "ได้ยาก" นั่นแหละคือ "เมา" ถ้าหากหนักไปถึงขั้นสภาพเกิด "การติด" นี้แหละ มันเป็นความชั่ว ความเลวแล้ว เป็นตัวต้นเหตุ แห่งการทำให้เราเป็นทาส ซึ่งจะต้องลงมือ พราก-ห่าง-ล้าง-ลดกิเลส ออกมาให้ได้
จะต้องฝึกหัด อบรมตน จนมีอุบายเครื่องทำออกจากกิเลส จากสิ่งที่เรามี "อาการ" อยาก (ตัณหา) มี "อาการ" เป็นรสอร่อย (อัสสาทะ) มี "อาการ" เสพ (มีอารมณ์ร่วม กับรสนั้นๆ อยู่) หรือมี "อาการ" ติด (สังสัตต, สังคณิก, สังสัคค, สังสัฏฐ หรือ อภินิวิสฺสติ, อภินิเวสายะ) ในสิ่งนั้นๆ ออกมาให้ได้ แม้แต่ในสภาวะนามธรรมนั้นๆ จะละเอียดน้อยนิดปานใดๆ ก็ตาม หากยังมีส่วนเศษธุลีที่เหลือ เพราะว่ายัง "หลง" เหลือ หรือ แม้จะรู้แล้วจับ "ตัวธุลี" นั้นๆ ได้แล้ว แต่ยังเหลือ เพราะยังไม่อาจดับได้สนิทจริง ก็ล้วนยังนับว่า เป็น "อุปธิ" (เหตุแห่งการเวียนเกิด) หรือ เป็น "อุปาทาน" (ความนึกคิดและเห็นไปเอง, เชื้อ, สภาวะที่ยังเหลือหลง ยึดมั่นถือมั่น)

จะต้องทำ "ปัญญา" ให้แจ้ง ชนิดถ่องแท้ แยบคาย ทั้งละเอียดลออ และทั้งมีสภาวะ "ของจริง" รองรับ ที่เรียกว่า "โยนิโส" คือ รู้ยิ่งเห็นจริง ตั้งแต่ต้น จับตัวนามธรรมได้ ชนิดละเอียดลึกซึ้ง (เริ่มมี เริ่มเกิด) คือต้องมี "โยนิ" ต้องมีสภาพ "เกิด" จริงให้เรารู้ ไปจนรู้แจ้ง รู้จริง ในสภาพที่เป็นไป โดยตลอดจบนั่นเทียว
และ จะต้อง "ทำใจให้ออกจากกิเลส" หรือ "ทำกิเลสให้ออกจากใจ" (มนสิการ) ให้ได้ ให้จริง เป็นการทำได้จริงที่ใจ
จึงเรียกว่า "มนสิการ" ตามที่ชอบพูดลัดๆ แปลกันสั้นๆ ว่า "ทำในใจ" หรือ "การกระทำไว้ในใจ" หรือ "การกำหนดในใจ" ซึ่งที่จริง คือ "สภาวะงานของใจ" (มนัส+การ) ที่มีผล ที่มีเรื่อง มีสิ่งที่ทำนั้นเกิดเป็นผล นั่นเอง
สรุป "โยนิโสมนสิการ" นั้น คือ ทั้งรู้ในนามธรรมนั้น ที่มีกิเลส "อาการ" ต่างๆ [มิใช่รู้เพียงคิดแยบคายเท่านั้น รู้เพียงความเข้าใจลึกซึ้ง ด้วยเหตุผลเท่านั้น] และ รู้สภาวะจิต-เจตสิก ของเรา ว่า เราทำให้กิเลส "อาการ" ต่างๆ ดับไปได้ เล็กน้อย-มากขึ้น จนตายสนิท ไม่มีเกิดต่อไปอีก ได้ตลอดไป โน่นทีเดียว อย่าง "รู้แจ้งชัด-รู้ของจริง" ในความเป็น ความมี "ของจริง" ถูกธรรมสูงสุดจริงๆ

ยิ่งเราพินิจ พิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ดูเหตุดูผลที่เกิด ที่เป็น ที่ช่วยให้ลด ละ จาง คลายทุกข์ และตัณหานั้นๆ ได้อีก ก็นั่นแหละคือ การทำวิปัสสนา เกิด "ปัญญา" อีก
และ "ปัญญา" ที่เห็น "ความมีจริงเป็นจริง" ในการปฏิบัติแท้ๆ ได้อีก
คือเห็น "ความทนได้ยาก-ความทรมาน-ความไม่สบาย ที่จิตวิญญาณฯลฯ" (ทุกข์) ทั้งหลายนั้น ด้วยความรู้รสทุกข์นั้นๆ จริง รู้สึก ทนได้ยาก นั้นๆ จริงๆ แล้วลดได้ ด้วยความพยายามทำตามทฤษฎี ที่ได้ศึกษามา ตามวิธีที่เราใช้ เราลงมือจริง
เห็น "ความไม่เที่ยงแท้-ไม่มากอยู่เท่าเดิม" (อนิจจัง) ของกิเลสตัณหา เราสามารถตีแตกได้ ทำลาย ลดมันลงได้ ฆ่ามันได้ มันเสื่อมลงไปได้ ด้วยความสามารถของเรา (มิใช่มันเกิดเอง-ดับเอง)

เห็นการตัด การลดวัฏสงสาร ของกิเลส ซึ่งเป็นนามธรรม ที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อย่างมีของจริง ตามความเป็นไปได้จริง ด้วยความอยู่เหนือไตรลักษณ์ ของกิเลส
ส่วนไตรลักษณ์ของธรรมชาติ หรือ ไตรลักษณ์ของสามัญลักษณ์นั้น มันก็ "เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป" เป็นอิทัปปัจจยตา อยู่ตามธรรมดา นิรันดร์ ไม่มีสิ้นสุด ไม่ใช่ตัวตนเที่ยงแท้ ไม่ใช่ของใคร ยึดเอามาเป็น "ของเรา" ถาวรไม่ได้นี่.. เราก็ต้องรู้ ก็ต้องเห็นให้ได้ก่อน เพราะไตรลักษณ์แบบนี้ เป็น "สามัญลักษณ์" เป็นไตรลักษณ์ ของธรรมชาติ ธรรมดา เป็นเบื้องต้น แล้วปล่อยวางจิต วางใจให้เป็น

ซึ่งวัฏสงสาร ของไตรลักษณ์ ธรรมดาสามัญนี้ ไม่มีที่สุด ณ ที่ไหน หาที่สุดมิได้ เห็นที่สุดมิได้ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ "โรหิตัสสสูตร ๑-๒" อังคุต. จตุก. ข้อ ๔๕-๔๖) และ ตั้งอยู่ไม่ได้ ดับไม่เหลือ ณ ที่ไหน เพราะทำให้ดับ ณ ที่ไหน ก็ยืนยันไม่ได้ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ "เกวัฏฏสูตร" ทีฆ. สีล. ข้อ ๓๔๓-๓๕๐)
แต่ไตรลักษณ์ของปรมัตถธรรม (วิสามัญ) นี้ มีที่สุด หาที่สุดได้ เห็นที่สุดได้ และเห็นความตั้งอยู่ไม่ได้ เห็นความดับไม่เหลือได้ เพราะทำความดับไม่เหลือ ณ ที่ที่เรียกว่า "จิตวิญญาณ" ได้ อย่างแท้จริง มีสภาพรองรับ
ผู้ปฏิบัติ ศีล->สมาธิ->ปัญญา ถูกทาง ก็จะรู้แจ้งชัด จะเห็น "ของจริง" จะเห็นวัฏสงสาร หรือ ไตรลักษณ์ของกิเลส มันจางลงๆ หรือ ถึงที่สุดก็หมดวัฏสงสารได้ เป็นสภาวะที่เป็นจริง มีจริง มิใช่เพียงรู้ เพียงคิดเห็นได้เท่านั้น และมีที่สุดได้จริง ณ ที่กิเลสดับได้สนิทนั้นๆ อย่างเป็น "ของจริง" เห็นได้จริง เห็นสูญ เห็นไตรลักษณ์ดับ

นี้คือ "ปัญญาที่เห็นสภาวะจริง ตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์" (ยถาภูตญาณทัสสนะ) ที่เป็นปฏิจจสมุปบาท "สายดับ" ซึ่งมีสภาวะรองรับ เห็นสภาพได้จริง ว่า มีความไม่เกิด-ไม่ตั้งอยู่-ดับสนิท
จะมิใช่ เห็นไตรลักษณ์เพียง เป็นเรื่องของวัตถุตัวตนหยาบๆ ที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป วนอยู่ นอกตนนอกตัว ซึ่งเห็นง่าย หรือ รู้ได้เข้าใจง่ายๆ ที่เป็นเพียงลักษณะตรรกะ
แต่นี่ เป็นการรู้แจ้งเห็นจริง ในสภาวะของ จิต-เจตสิก-รูป (กิเลสที่เราเห็นได้)-นิพพาน ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ขั้น "ปรมัตถสัจจะ" ไม่ใช่ไตรลักษณ์แค่ระดับ "สมมุติสัจจะ" เท่านั้น อันเป็นการรู้แจ้งไตรลักษณ์ คนละสภาวะ คนละสัจจะ
ยิ่งเราฝึกหัด เพียรทำได้ดี ได้เก่งสามารถสูงสุดถึงขั้น "สมุจเฉทวิมุติ" เราก็ยิ่งจะเห็น สภาวะกิเลสตัณหานั้นๆ (สมุทัย) ดับสนิท ตายสูญสิ้น และ ทุกข์ดับ เพราะเหตุ ซึ่งได้แก่กิเลสตัณหานั้นๆ ก็ดับสนิท ไม่มีอีก ไม่เกิดอีก นั่นคือ เราเห็นสภาวะ ของความไม่มีตัวตน ของทุกข์ เห็นสภาวะความดับสนิท ของเหตุแห่งทุกข์ได้จริง เห็น "สูญญตา" ทีเดียว เห็น "อนัตตา" คือ ความไม่มีตัวตนของทุกข์ เพราะความไม่มีตัวตน ของเหตุแห่งทุกข์ เนื่องจากเราปฏิบัติมา ตามมรรคอริยสัจ อันมีองค์ ๘ ถูกต้องจริง

จึงมี "นิโรธ" คือ ความดับสนิทแห่งทุกข์ และ ความไม่มีตัวตน ของ เหตุแห่งทุกข์ อย่างเห็นเนื้อ เห็นตัว (อัตตาที่เป็นสภาพ เป็น "อาการ") และที่สุด เห็นความหมดสิ้นตัว หมดสิ้นตน (อนัตตา) อย่างโทนโท่ อย่างรู้แจ้งเห็นของจริง (สัจฉิกรณะ) มีสภาวะจริง ตามที่ได้ ตามที่เป็นจริง ของผู้ปฏิบัติเองจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ; ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิ) นี่คือ "ตาทิพย์" ของพุทธศาสนา
มิใช่เพียงเห็นของหยาบ เห็นการเปลี่ยนแปลง แปรปรวน หรือ ดับไปของวัตถุธรรม สมมุติธรรมอยู่เท่านั้น แต่ เห็น "อาการ" ของนามธรรมดับ ไม่มีตัว ทว่ามีสภาพที่สัมผัส รู้ชิ้นรู้อันได้ เป็นสภาพที่มีสภาวะ ขั้นปรมัตถธรรมแท้ๆ ที่ต้องมี "ตาทิพย์" หรือ "ธรรมจักษุ" จึงจะเห็นได้จริง
ที่สุด ก็จะสิ้นอารมณ์ที่ยัง "อวิชชา" ได้ คือ สิ้นทุกข์ ทุกข์ไม่เกิดอีก เห็น "ความไม่เกิด" อยู่โทนโท่ด้วย ประการฉะนี้

ธรรมบรรยายจากครูอาจารย์






Create Date : 14 มีนาคม 2554
Last Update : 14 มีนาคม 2554 16:58:00 น. 1 comments
Counter : 785 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 14 มีนาคม 2554 เวลา:21:25:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.