บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
8 เมษายน 2554
 
All Blogs
 
หลักปฏิบัติ(17)…คั้นออกมาจากศีล บทสิบ







ถ้าผู้ใดยังเข้าใจว่า "ศีล" มีคุณค่าเท่านี้ๆ อยู่จริงๆ ผู้นั้นก็ยังคือ ผู้ที่ยังเข้าใจ ยังหยั่งถึงความเป็น "ศีล" เข้าถึงความเป็น "ศีล" ยังไม่ได้อยู่นั่นเอง ยังเป็นผู้รู้จัก "ศีล" ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เป็นผู้ทรง "ศีล" ทรง "ธรรม" อันอเสขะ และ ยังไม่เป็นผู้ทรง "ศีล" ทรง "ธรรม" อย่างมั่นคง "นิยต" (ซึ่งแน่นอน, ซึ่งเที่ยง) เนื่องจาก ยังไม่มี "ปัญญาวิมุติ" และ ยังไม่มี "เจโตวิมุติ อันไม่กลับกำเริบ" (อกุปปาเจโตวิมุติ) ใน "ศีล" เพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ยังศึกษา "ศีล" ไม่เคยถึงขั้น จนรู้แจ้ง แทงทะลุ "ศีลอเสขะ" ในตน
เพราะ คนในสังคมขาด "ศีลธรรม" ตัวแท้ นั่นเอง สังคมจึงอยู่กันไม่เป็นสุข ไม่เป็นอิสระจริง ไม่เป็นภราดรจริง ไม่สันติจริง ความทุกข์ร้อนทั้งหลาย จึงครอบคลุมอยู่ทั่วไป
แม้จะมี "กฎหมาย" ให้ดียิ่งอย่างไรๆ ก็อยู่กัน ไม่เป็นสุขสันติจริง เพราะ คนในสังคม จะมีแต่การละเมิด "กฎหมาย" ด้วยเล่ห์ ด้วยอำนาจ ไม่เคร่งครัด ในกฎหมายกัน นั่นก็ ไม่ใช่เพราะอะไร ก็เพราะ จิตวิญญาณของคน ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" แท้ๆ จริงๆ
หรือ ต่อให้คนในสังคมนั้น เคร่งครัดใน "กฎหมาย" ก็เถอะ แต่ถ้าคนไม่มี "ศีลธรรม" ด้วยละก้อ สังคมนั้น ก็ไม่เป็นสุขอยู่นั่นแหละ อิสรภาพ ก็จอมปลอม ภราดรภาพ ยิ่งหายาก สันติภาพนั้น ก็เพียงตกแต่ง ประดิษฐ์ไว้เท่านั้น ดูจากบางประเทศ ที่เขาทำ "กฎหมาย" ให้คนเคร่งครัดกันได้ ก็ได้

เรื่อง "ศีลธรรม" จึงเป็นเรื่องแก่น แกนของสังคม ของมนุษย์ อย่างลึกซึ้ง และเป็นเรื่องจริง ของมีจริง เป็นจริงที่สำคัญเอกอุ ไม่เช่นนั้น แม้แต่ "วินัย" หรือ "กฎหมาย" ที่จะทำกันได้ง่ายๆ หยาบๆ ตื้นๆ ก็ไม่มีผล ก็จะคอยละเมิดกันอยู่ นั่นเอง มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ รู้กันอยู่ดาษดื่น เกลื่อนกล่น
คนที่มี "ศีล" มี "ธรรม" แท้ๆ จริงๆ ย่อมเคารพ "กฎหมาย" เชื่อถือ ประพฤติตาม กฎระเบียบวินัย เพราะ "ศีลธรรม" นั้นคือ สภาพมีความซื่อสัตย์ที่แท้ สภาพมีความจริงใจแท้ สภาพมีปัญญา (ไม่ใช่ "เฉโก) จริง ไม่มีสังคมคนในโลกไหน ที่จะสามารถทำคน ให้ซื่อสัตย์แท้ มีความจริงใจแท้ มีปัญญา (ไม่ใช่ "เฉโก") จริงได้สมบูรณ์ที่สุด ด้วยอำนาจ "กฎหมาย" หรือ เพียงด้วยหลักระเบียบวินัย ที่เป็นแค่ข้อบังคับ แล้วก็ทำให้คน จำนนได้แค่ "กาย-วาจา" [ตามที่เชื่อๆ และสอนๆ กันว่า "ศีล" นั้น ชำระได้แค่ "กาย-วาจา"] ไม่จริงใจ
ดังนั้น คนที่ตื้นๆ แค่ "วินัย" แค่ "กฎหมาย" ก็ละเมิด ก็ไม่เคารพ ไม่เคร่งครัดนั้น ก็คือ คนจิตวิญญาณหยาบ ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" ที่แท้จริง ไม่มี "ปัญญา" ที่เป็น "ญาณทัสสนะ" แท้ จะมีก็แต่ ความเฉลียวฉลาด ที่คือ "เฉโก"
สังคมที่มีแต่ "กฎหมาย" มีแต่ "วินัย" ทว่า ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" นั้น พ้นทุกข์กันไม่ได้ แต่ว่าสังคม ที่มีแต่ "ศีล" แท้ "ธรรม" แท้ เข้าถึงความเป็นจริง แม้จะ ไม่มี "กฎหมาย" ไม่มี "วินัย" ก็พ้นทุกข์ สงบสุขได้แน่นอน

ยิ่งเล่าเรียนวิชาการว่าด้วย "วินัย" ว่าด้วย "กฎหมาย" มาก แต่ไม่ประพฤติ "ศีล" ประพฤติ "ธรรม" กันจริงๆ ละก้อ ผู้รู้ "วินัย" มาก หรือ รู้ "กฎหมาย" มาก ก็ยิ่งเฉโกได้มาก เอาเปรียบผู้ไม่รู้ ตะพึดไปได้ ก็เห็นๆ กันอยู่ทั่วไป ยิ่งผู้นั้นมีกิเลส โลภะ โทสะ พยาบาท มากอีกด้วย ก็ยิ่งจะรู้ชัด เห็นง่าย
หรือ ผู้ใด เห็นยิ่ง เชื่อจริงว่า "ศีล" ก็คือ "วินัยของสังคม" คือ "กฎหมาย" ของสังคมเท่านั้น ดังแจกแจงมาแล้ว ผู้นั้น ก็จะหมิ่นหยาม "ศีล" อยู่ในใจจริงๆ และย่อมจะละเมิด "ศีล" ได้ทันที ที่ตัวผู้นั้นเกิดความโลภ หรือความโกรธขึ้นถึงขนาด
"วินัย" และ "ศีล" มีนัยะ ลึกซึ้ง ซับซ้อน กันอยู่ ด้วยประการอย่างนี้ เป็นต้น
ถ้าเข้าใจ ความลึกซึ้งนี้ได้ ก็จะเห็นได้ว่า "ศีล" ก็ดี "ธรรม" ก็ดีนั้น สำคัญ ลึกล้ำ นักหนา กว่า "วินัย" กว่า "กฎหมาย" เพราะ แม้จะมี "กฎหมาย" มี "วินัย" แต่ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" นั้น มันช่วยสังคมไม่ได้ดีเด่น สมบูรณ์สุดดอก ส่วน สังคมใดที่มี "ศีล" มี "ผลธรรม" ที่เป็นปรมัตถสัจจะ กันจริงๆ ถึงจิต ถึงเจตสิก ถึงวิญญาณนั้น จะมี "วินัย" หรือมีกฎหมาย มีระเบียบใดๆ ก็ได้ ก็เรียบร้อย ศักดิ์สิทธิ์ ดีพร้อม
ทำความเข้าใจในแง่ต่างๆ เหล่านี้กันให้ดีๆ เถิด แล้วเราจะไม่สับสน ในการปรับปรุงชีวิต ทั้งของเรา และ ของสังคม
ดังนั้น ผู้ที่ยังเข้าใจว่า "ศีลธรรม" เป็นเรื่องตื้นเขิน เป็นเรื่องของกฎหลัก ที่ต้องใช้สำหรับ คนที่ยังไม่ฉลาด โดยเข้าใจว่า "ศีลธรรม" หรือ "ศีล" ทั้งหลายนั้น มีนัยะแค่ "วินัย" แค่กฎ แค่หลักของสังคมเท่านั้น ไม่ใช่สภาพลึกซึ้ง หยั่งถึง "ปรมัตถสัจจะ" นั่นคือ ผู้เข้าใจเช่นนั้นเอง นั่นแหละ เป็นผู้ที่ยังไม่ถึง "ศีล" ยังไม่ถึง "ธรรม" แท้จริง ยังปฏิบัติเจาะแทง (ปฏิเวธ) หยั่งถึงความลึกซึ้งของ "ศีลธรรม" ของ "ธรรม" ยังไม่พอ ผู้นั้นยังไม่มี อเสขศีล หรือ ยังมีความเฉลียวฉลาด ที่เรียกว่า เฉโก จึงตีค่า "ศีลธรรม" ว่า เป็นแค่ "สมมุติสัจจะ"

แท้จริง "ศีลธรรม" นั้นคือ เรื่องทั้ง "กาย" ทั้ง "วาจา" และถึงขั้น "จิตวิญญาณ" ขั้นปรมัตถสัจจะ ทีเดียว
ผู้ไม่ศึกษา "ศีลธรรม" อย่างถ่องแท้ ก็จะไม่ปฏิบัติ "ศีล" จนเป็น "สัมมาสมาธิ" เพราะไม่เข้าใจ "อธิศีลสิกขา" เพราะฉะนั้น ผู้นี้จึงจะ ไม่มีโอกาสเข้าถึงขั้น "อธิปัญญาสิกขา" ซึ่งมันลึกไกลไปถึง "วิมุติญาณทัสสนะ" นั่นเทียว และเป็น ความฉลาดเฉลียว หรือความรู้ คนละทิศทางกับ "เฉโก"
"ความรู้-ความฉลาด" ของผู้ศึกษา "ศีล" ไม่ถ่องแท้ และ ไม่ปฏิบัติ "ศีล" จนเข้าขั้น "สัมมาสมาธิ" (อธิจิตสิกขา) นั้น ส่วนมาก จะมี "ความรู้-ความฉลาด" แค่ตรรกะ ก็เป็นเรื่องแท้ เรื่องจริง ตามปกติธรรมดา มีให้เห็นกันอยู่เยอะแยะ และ คนเหล่านี้ ส่วนมากจะดูหมิ่น "ศีล" อยู่ครามครัน หยามหยัน คนผู้ที่ปฏิบัติ "ศีล" เพราะ ในใจลึกๆ ของเขานั้น เขามีความเห็น อยู่อย่างหนึ่ง คือ เขาเข้าใจว่า ผู้ยังต้องปฏิบัติ "ศีล" อยู่ คือ ผู้ไม่มีความอิสระ ซ้ำหาว่า ผู้ปฏิบัติ "ศีล" เคร่งครัดนี้ เป็นคน "หลงยึดมั่นถือมั่น" เอาเสียอีกด้วย
มันไม่มีปัญหาเลย สำหรับผู้ที่มี "วิมุติญาณทัสสนะ" หรือ มี "อธิปัญญา" แท้ เมื่อผู้นั้นมี "ศีล" ถึงขั้น "ปาริสุทธิศีล ๔" จริง มี "อเสขศีล" จริง เขาย่อมถึงความ "มั่นคง" จริง และ เขาย่อมรู้แจ้ง เข้าใจเพียงพอใน กรรมกิริยา ของความ "ยึดมั่นถือมั่น" เพราะ เขาย่อมรู้แจ้ง ในสมมุติสัจจะ เพื่อตน เพื่อผู้อื่น และ ย่อมรู้แจ้ง ในปรมัตถสัจจะ ของตนแน่แท้ เป็นจริง

เขาจะ "ยึดมั่นถือมั่น" หรือ เขาจะ "มั่นคง" ในศีล ในธรรม เป็นหลัก เป็นแก่น แกนให้แก่สังคม แต่จิตวิญญาณเขา ไม่ได้ติด ไม่ได้หลงอะไร เขาย่อมรู้ "ความจริง" ที่เป็นจริงสูงสุด ของเขาได้ เขาจะยึด "ศีล" เป็นผู้ทรง "ศีล" มั่นคงแน่วแน่ แม้จะต้องเสียชีวิต ก็เป็นเรื่อง ที่ย่อมเป็นไปได้ โดยจะไปตู่ หรือ ดูหมิ่นว่า พระสาวกผู้ "มั่นคง" ในศีลในธรรม นี้ นั้นคือ คนมีกิเลส "ยึดมั่นถือมั่น" เป็นการไม่ควรอย่างยิ่ง ยังกล่าวง่ายๆ ด้วยความไม่ถูกต้อง ก็ขนาดพระพุทธเจ้า ผู้เป็นปราชญ์แท้ ยังไม่กระทำ ยังไม่กล้าตรัสอย่างนั้น แต่ผู้ฉลาดไม่แท้ จะกล้าพูด กล้าตู่ เพราะคิดไม่ถึง นั่นก็เป็นเรื่องจริง ได้แน่นอน
พระพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ "อุโปสถสูตร" ขุททก. อุทาน ข้อ ๑๑๘ และ เล่ม ๒๓ "ปหาราทสูตร" อังคุต. อัฏฐก. ข้อ ๑๐๙ ว่า … เป็นความมหัศจรรย์ ไม่น่าจะมีได้ ที่สาวกทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ แม้จะต้องเสียชีวิต ย่อมไม่ก้าวล่วงสิกขาบท ที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ… ดังนี้
ผู้ไม่เสีย "ศีล" แม้จะเสียชีพ นั้น เป็นเรื่องมหัศจรรย์ปานนี้จริงๆ อย่าเพิ่งเข้าใจ "ศีล" ว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นของตื้นต้น ตามความคาดคะเนเฉโก ด้นเดาเอาง่ายๆ เป็นอันขาด

เดี๋ยวนี้ "พระ" หลงผิดในเรื่อง "ศีล" ก็มายึดถือกันอยู่แค่ "วินัย" พากันละเลย "ศีล" จน "ศีล ๕" ก็ปฏิบัติให้ถึง "ธรรม" กันไม่ได้ ไม่ลึกซึ้ง
ศีล ข้อ ๑ ก็ไม่เกิด เมตตาธรรม สมบูรณ์จริง เช่น "พระ" บางรูป ก็ยังขืนเลี้ยงสัตว์ นี่ก็เพราะไม่ศึกษา "ศีล" ให้เพียงพอ ไม่ปฏิบัติตาม "จุลศีล" ที่พระพุทธองค์ ทรงห้ามปรามไว้แล้ว [การที่คนแสวงหาสัตว์ เอามาเลี้ยงนั้น ไม่ถูกต้อง ตามธรรมชาติสมบูรณ์ และ ไม่ใช่ความเมตตาแท้ โดยนัยะ แห่งปรมัตถธรรม ขั้นลึก] และ ก็เพราะเฉยเมย หรือไม่ ก็เป็นภิกษุ ที่หมิ่นหยาม "ศีล" เหล่านี้ แม้ภิกษุนั้น จะเคยศึกษา จะเคยอ่าน และถึงขนาด พระบรมศาสดา ตรัสกำกับ "ศีล" เหล่านี้ ไว้ชัดแจ้งทุกข้อแท้ๆ ว่า "ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น "ศีล" ของเธอ ประการหนึ่ง" ก็ไม่เข้าใจ ไม่นำพาคำสอน แล้วจะเอาไป ให้ "ใคร" ปฏิบัติ "ศีล" เหล่านี้
"ภิกษุ" มากหลาย จึงเลี้ยง หมู หมา กา ไก่ ฯลฯ ไปจนกระทั่ง ปู ปลา ต้องเป็นภาระ หาอาหารมาเลี้ยงมัน หนักเข้า ก็เลยต้องไป หาหลอดไฟฟ้ามาจุด ไว้เหนือบ่อปลา เพื่อให้แมลงมาตอมไฟฟ้า แล้วแมลงก็จะได้ร่วง ตกตาย ลงไปในบ่อปลา เป็นอาหารปลา ดังนี้
พฤติกรรมนี้ ย่อมส่อเจตนาแท้ๆ และเจตนานั่นแหละ เป็นกรรม กรรมเช่นนี้ เป็น "อกุศลกรรม" ชัดๆ ใครทำ คนนั้น ก็เป็นอันทำ บาปทุจริต ก็เป็นจริง มีจริงแล้ว และ เห็นอยู่โต้งๆ ว่า ไม่เมตตาสรรพสัตว์ (เพียงแต่ไม่ ตื้นๆ เท่านั้นเอง) เจตนาฆ่าสัตว์อื่น เพื่อ "ปลาของกู" ด้วยกรรมวิธีหนึ่ง ด้วยความฉลาด เฉโก แท้ๆ ดังนี้ เป็นต้น
เห็น "อิทัปปัจจยตา" ที่ก่อให้เกิด อกุศลกรรม อันเนื่องมาแต่ "ตัวกูของกู" ไหม? และ เห็นความเป็นเหตุเป็นผล ต่อกันและกัน ส่อให้เห็นความไม่มี "ธรรม" ไม่ยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม ไม่มี "เมตตาธรรม" ที่แท้ ซึ่งเนื่องมาแต่ การศึกษา "ศีล" การปฏิบัติ "ศีล" ไม่สมบูรณ์ นั่นเอง
นี่แค่ ความหมายพื้นฐาน เป็นความหมาย หยาบๆ ตื้นๆ ของ "ศีลข้อ ๑" คือ เจตนาเว้นขาด การฆ่าสัตว์ เท่านั้นนะนี่! ยังไม่ใช่ ความหมายเขยิบขึ้น เป็น "อธิศีล" ในศีลข้อ ๑ นี้ สักนิด แต่อย่างใดเลย ก็เห็นน้ำจิตน้ำใจของ "พระ" ผู้มีพฤติกรรม ส่อเจตนานี้ ได้ปานนี้ ว่า "เฉโก" อยู่จริง ดั่งนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในอีกหลายๆ กรรมที่ยังผิดๆ พลาดๆ กันอยู่ เป็นต้น

ศีลข้อ ๒ ก็หละหลวม กันมากมาย แม้เป็น "พระ" แล้ว ยังประมาท เอานั่น-เอานี่ กันหนักหนาอยู่ จนบางราย ก็ได้เผลอไผล ไปเอา ของที่เจ้าของ เขาไม่ได้ให้ หรือ เอาของเขา โดย ทุจริตแฝงปน ไม่บริสุทธิ์ เมื่อของนั้นๆ ตีราคาได้ว่า เกินกว่า ๕ มาสก ก็เลยเข้าข่าย "ปาราชิก" โดยตนก็ไม่รู้ตัวรู้ตน ก็มีกันอยู่ มิใช่น้อย ในบรรดา "พระ" ทุกวันนี้ ผิด "ศีล" กันได้ปานนี้

ศีลข้อ ๓ นั้น ขนาดเป็น "พระ" ก็ประมาท พลาดพลั้งกัน เนื่องจาก ความไม่จริงจังใน "ศีล" ไม่สำรวม กาย-วาจา เพราะไม่ศึกษา "ศีล" ให้ลึกซึ้ง ไม่สังวร "ศีล" ให้จริงจัง สูงยิ่งๆ ขึ้น จึงพานพาให้ "ศีล" ข้อ ๓ ถึงขั้น สังฆาทิเสสกัน ก็ออกถม ปกปิดกันไป หรือไม่ก็ ไม่นำพา ไม่ศึกษากัน และที่สุด เป็น "พระ" ก็เลยปาราชิกกัน เพราะศีลข้อ ๓ ก็ยังทำๆ กันอยู่ บ้างก็ช่วยกันปกปิด ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่ละอายบาป ไม่เกรงกลัวกรรม นี้คือ สภาพพระ ผิดศีล จากต้น เลยถึงเลวร้าย

ศีลข้อ ๔ นั้น เป็น "พระ" แล้ว ก็พูดโกหกกัน ก็ยังไม่เห็นว่า ตนชั่ว เนื่องจากถือเสียว่า "วินัย" เอาโทษเพียง ปาจิตตีย์ ก็ปลงอาบัติ ท่องคำสวดแก้เอา ก็ประมาทกัน อยู่อย่างนี้ ไม่เกิดจิตวิญญาณ เป็นยิ่งเป็นจริงไปได้ เพราะรักษา "ศีล" ข้อนี้ ตามนัยะ แห่งความเข้าใจ เป็นเชิงของ "วินัย" เป็นเชิง "กฎหมาย" ก็เป็นดังนี้
แต่ถ้า เข้าใจ "ศีล" และปฏิบัติ เพื่อรักษา "ศีล" เพื่อก่อเกิด "ธรรม" เพื่อการสร้าง ความประเสริฐ แก่ชีวิต แก่วิญญาณ ทั้งของตน ทั้งของศาสนา และทั้งของมนุษยชาติ สังคมแล้ว จะไม่เป็นเช่นนี้

ศีลข้อ ๕ "พระ" มากมาย ก็ยังเสพติด กินหมาก ดูดบุหรี่ ก็ไม่มีปัญญารู้ว่า นั่นคือ ของเสพติดมอมเมา อันมาจาก รากเหง้าจิต ที่คิดที่อยาก ทั้ง จิตก็ไม่เข้มแข็งพอ ที่จะละ จะเลิก หรือ แม้แต่เสพติด เมามาย ในอบายมุขอื่นๆ เช่น ดูมหรสพ กีฬา การละเล่น โทรทัศน์ ยังมีการท่องเที่ยว บันเทิง มีเรื่องเริงรมย์ ก็ไม่รู้ตัวรู้ตน โดยเฉพาะ มัวเมาใน "ความเกียจคร้าน" เลี่ยงหลบการงาน ที่มันซ่อนแฝง กินลึก อยู่ในจิตวิญญาณ ชนิดที่รู้มันได้ ไม่ใช่ง่ายเลย ก็ไม่เข้าใจ ไม่ละ ไม่เลิก หรือ เลิกไม่ได้ ละไม่ได้ เพราะไม่ศึกษา "ศีล" ให้ดี ให้ถ่องแท้ และ ไม่ฝึกฝนปฏิบัติละ เลิก กันให้จริงจัง ดังนี้ เป็นต้น

แม้ "ศีล ๘" ก็ไม่ได้มีผล บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่มีประโยชน์ อานิสงส์ ส่งเสริมให้ "พระ" สูงจริง สูงยิ่งขึ้น อะไรนักหนาเลย
ศีลข้อ ๖ บ้างก็ปล่อยปละละเลย กินกันเรื่อยเจื้อยไป เลี่ยงบาลี ตีความ "ตามวินัย" ไปกัน ให้หย่อนยาน ประสาคนรู้มาก เรียนมาก คนฉลาดเฉลียวในเชิง "วินัย" ในเชิง "กฎหมาย" ไม่ได้เข้าใจ ข้อปราม ข้อห้ามเหล่านี้ ในเชิง "ศีล" ในเชิง "ธรรม" จึงไม่มี "เจตนางดเว้น" อย่างพากเพียร หรือซาบซึ้งอันใด ก็ย่อมไม่พยายามลด ละ สังวร มักน้อย สันโดษ เพื่อเป็น "ตบะ" ให้รู้หน้าตากิเลส จะได้หาวิธี ลด ละ กิเลส จริงจังกันแท้ จะได้บริสุทธิ์ ศีล เป็น ผู้ทรงศีล-ทรงธรรม บ้าง

ศีลข้อ ๗ ก็ทั้ง ทำคำไพเราะ ทำสำเนียง เสียงขับเสียเอง กันให้ขรม โดยไม่ไหวรู้ ไม่สำเหนียก ไม่สังวร ดอกไม้ดอกไร่ ของหอม มีประดับประดากัน ตกแต่งกัน ให้พร้อมไปหมด มิได้เห็น เป็นเรื่องที่ผิด ที่เพี้ยน ที่ต้องศึกษา ปรับปรุง แก้ไข ให้เกิดคุณ เกิดค่า แต่อย่างใด

ศีลข้อ ๘ ข้อ ๙ ก็ครบครัน โต๊ะใหญ่ ตั่งใหญ่ ที่นั่ง ที่นอนใหญ่ ประดับประดาหรูหรา ประคบประหงมกันพรั่งพร้อม ไปจนกระทั่ง กุฏิใหญ่ โรงเรือนใหญ่ วิหารใหญ่ ก่อสร้างไอ้โน่น ไอ้นั่นกันให้ใหญ่ๆ ยิ่งๆ ก็หลงใหล ชื่นชอบไปเสียแล้ว เป็นวรรคเป็นเวร ไม่รู้ตนรู้ตัว ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เกิด "อธิปัญญา" ก็ไม่สามารถจะถึง "ธรรม" ข้อที่ว่า ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อ ความมักใหญ่ ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราตถาคต

ศีลข้อ ๑๐ นั้น ไม่ต้องพูดก็ได้ "พระ" ส่วนใหญ่ ก็ยังสะสมเงินทอง แม้ "วินัย" จะกำหนดว่า ถ้าไม่สละเงินทอง ออกจากตัว ออกจากการเป็นของตัว เสียก่อน ก็ปลงอาบัติไม่ตก (นิสสัคคียปาจิตตีย์) ยังคงเป็น "พระ" ไม่บริสุทธิ์ กันอยู่นั่นแหละ และ คงสะสม อมไว้ ไม่คาย อยู่นั่นเอง ก็ปลงอาบัติ ท่องสวดเป็น "ศีลพตปรามาส" กันไปเล่นๆ หัวๆ อยู่เท่านั้น ส่วนใหญ่จึงคือ "พระ" ไม่บริสุทธิ์ เพราะปลงอาบัติไม่ตกตาม "ศีล" ตาม "วินัย" ข้อนี้ ตั้งแต่เริ่มบวช จนเป็นอุปัชฌาย์ ตายคาผ้าเหลือง ก็เกลื่อนกล่น แล้ว "อาบัติ" เช่นนี้ มันพา "วิบัติ" ตามธรรม ตามวินัยใดๆ ต่อไป กันแค่ไหน? ผู้รู้ก็คิดๆ กันดูก็แล้วกัน
เรื่องเหล่านี้ เมื่อพูดออกมา ก็หาว่า ส่อเสียดพระ ถ้าไม่พูด ก็ไม่รู้ตัว รู้ตน ไม่รู้เรื่องถูก เรื่องผิดกัน ก็ต้องพูดกัน ให้เกิดประโยชน์บ้าง ใครจะกล่าวหา ข้าพเจ้าก็ยอมรับ แต่ ข้าพเจ้าย่อมรู้ดี ในเจตนาที่จริงใจ ของข้าพเจ้า ว่า ข้าพเจ้า ย่อมไม่ได้มุ่งร้าย ต่อพระสงฆ์ ต่อพระศาสนา แต่อย่างใด นอกจากประสงค์ดี ปรารถนาดี ต่อทุกผู้ เพราะ ศาสนานั้น ไม่ใช่ของเล่น ของจะประมาท หมิ่นแคลน จะเอาแต่หละๆ หลวมๆ ละเลย ไม่นำพานั้น ไม่สมควรอย่างยิ่ง ใครจะหาว่า ข้าพเจ้าเคร่งเครียดไปนั้น ดีกว่า ข้าพเจ้าถูกหาว่า ย่อหย่อน กระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้ดี ว่า แม้แต่ ในคณะของข้าพเจ้า ก็ยังจะ "เคร่ง" ขึ้นได้อีก กว่านี้นักหนา เท่านี้นั้น ยังน้อยไป การเคร่งไว้หน่อย ย่อมดีกว่า การปล่อย ให้หย่อนยานแน่ๆ ไม่รู้กันเลยจริงๆ หนะหรือ ว่า ศาสนาพุทธ เสื่อมโทรมกัน จนจะกู้ไม่ขึ้นแล้ว!!?

นี่แหละ คือ เรื่องของการปล่อยปละ ละเลย "อธิศีลสิกขา" แล้วเลยหละหลวมมา จนเหลือยึดเอาได้แค่ "วินัย" กระทั่งไม่แยบคาย ถ่องแท้ใน "ศีล" กลายเป็นพระก็ไม่มี "ศีล" แม้ ๕ แม้ ๘ ก็เป็นกันได้ ปานฉะนี้แล น่าอนาถไหม??
เมื่อหลักของศาสนา มีว่า ให้ศึกษา "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" แล้วถ้า "ศีล" อันเป็น "แกน" ศาสนา มีเหลือท่อนเล็กนิดเดียว ผลงาน หรือ พลังที่เกิดจากแกนเล็กๆ นี้ มันจะมีความเก่ง มีฤทธิ์ มีเรี่ยวแรงอะไรกัน? การเข้าใจ "ศีล" ผิดไป หรือการบั่นทอน "ศีล" ลงให้เหลือน้อยลงๆๆ และ เห็นความสำคัญด้อยลงๆๆ ด้วยนั้น มันเป็นผลดี หรือผลเสีย ก็จงคิดดูกันเอาเองเถิด
ยิ่งไปกว่านั้นอีก ที่ "งอก" ออกมาเป็น "หลักสิกขา" (หลักสูตรการศึกษา) แข่งกับ "อนุศาสนี" (คำสอน) ของพระบรมศาสดาอีก ก็มากหลายเหลือล้น เช่น มีพิธีการ แบบแผน รูปแบบ อันยืดยาวต่างๆ ต่อเติมเพิ่มพ่วง ซึ่ง "พระ" เดี๋ยวนี้ พอบวชเข้า ก็มักจะต้องเรียนรู้ และ ทำตามๆ กันให้ได้ [อย่างนี้ เกิดผลทาง ลาภ-ยศ-สรรเสริญ เป็นเรื่องฝ่ายใน ของวงการ "พระ" สมัยปัจจุบัน]
จารีตประเพณี อันคือ แบบแผน หรือ รูปแบบที่ได้วางรูป ก่อแบบ สร้างแผนผนึกลง เป็นที่ยอมรับของหมู่ชนแล้ว เป็น "เนื้องอก" ที่เกิดขึ้น มาเป็นภารกิจ แก่ผู้ปฏิบัติธรรม เพิ่มขึ้น เป็นผลแก่โลกเหมือนกัน แต่เป็นไปเพื่อโลกียธรรม (ถ้านับเป็นทางนิพพาน นับเป็นทางหลง) และ มันเป็นดังกาฝาก ที่ผลิแผ่ ขยายกลุ่ม ขยายกอ เข้าคลุมต้น เป็นผลทำลายต้น ในที่สุด จารีต ประเพณี บานปลายเหล่านี้ ก็คือ ศัตรูที่เกิดขึ้น มาทำลายศาสนา เช่นกัน ซึ่งเป็นไปในแบบต่างๆ ซึมซาบ ฝังลง ปนเข้า ในหลักสิกขา ของพุทธ [และอย่างนี้ พระผู้ไม่ใฝ่ ทางนิพพานชอบ เพราะเป็นผลเกิด ทางลาภ ได้เป็นอย่างมาก และ แถมจะมีผล ส่งย้อน ซ้อนกลับเข้าไป ให้ตนได้ยศ ได้สรรเสริญขึ้นมา ก็ได้อีก]

ยังไม่เท่านั้น "สิกขา" ของพระทุกวันนี้ ยังถูกตราขึ้นเป็น "หลักสูตร" ในรูปร่างหลายแบบ หลายแผนด้วย บางแบบเรียน แล้วจัดตั้งกันว่า ได้เปรียญ ๙ ประโยค บางแบบ เรียนแล้ว ได้พุทธศาสนบัณฑิต และได้ข่าวว่า จะมีเพิ่มขึ้นมาอีก จบแล้วเรียกกันว่า ได้ "มหาอภิธรรมบัณฑิต" เลยทีเดียว
"หลักสูตร" เหล่านี้ นำออกไปใช้หากินทางโลก ก็ได้ด้วย มีการปรับอัตรา รับฐานะกันเป็นอันดี ดังนั้น ผู้เป็นคนฉลาด (แกมโกง) จึงมักเข้ามาบวช แล้วเร่งพากเพียรศึกษา เพราะการเป็นพระ เหมือนเข้ามาเรียน โรงเรียนกินนอนชั้นเลิศ มีรายได้ เพื่อเอาไปจ่าย ในการศึกษาเล่าเรียน วิชาการดังกล่าวนี้ได้ อย่างสะดวกดายที่สุด อาชีพก็ไม่ต้องประกอบ ข้าวก็มีผู้เอามาให้กิน พอได้ประกาศนียบัตร หรือ ปริญญาเท่าที่ ในเมืองไทยจะให้ได้ ยังเก่งกาจขนาดไปเรียนนอก ไปเรียนแถมเอาดีกรี จากเมืองนอกมาก็ได้อีก ทั้งที่ปึกแผ่น ศาสนาพุทธเมืองอื่นนั้น หาได้สู้เมืองไทยได้ไม่ แต่ก็เห่อ ก็รับสมอ้างกันเป็นอันดี ยกย่อง เชิดชูกันไป
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ให้ศึกษาเรียนรู้ ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้ ให้จบ เรียกว่า เป็นผู้ "เรียนจบทั้งโลก" (และ มันรู้จบสิ้นโลกจริงๆ)

พระ (ผู้ใฝ่เรียน จะไปเมืองนอก) และ ผู้ที่คิดอ่าน สนับสนุน ส่งเสริมเขา ไปเมืองนอกพวกนี้ จะฟังภาษาพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนไว้ บทนี้ ไม่ซาบซึ้ง ถึงธรรมเลย [เพราะ ถ้าซาบซึ้ง ก็จะไม่หลง ดิ้นรน ออกไปเมืองนอก เมืองในที่ไหน เมืองนอก เมืองใน มันมีครบ พร้อมอยู่แล้วที่ "กาย-ใจ" ของเราเอง โดยแท้จริง หลักสูตรสูงสุด อยู่ที่ "กาย-ใจ" ของเราจริงๆ]
เสร็จแล้ว (ส่วนมาก) ผู้ยิ่งจบมาจากนอก นั่นแหละ ที่ลาสิกขากัน เป็นส่วนมาก สึกออกมา เสียเร็วไว ทันด่วนดีนักแล ข้าพเจ้าเคยได้ฟัง ผู้ให้เงินอุปถัมภ์ แก่มูลนิธิส่งเสริม ให้พระไปเรียนเมืองนอก โดยก็หมายใจว่า พระท่าน จะได้กลับมา ช่วยพระศาสนา แต่แล้วก็สูญหวัง ต้องบ่นออกมา อย่างร้าวรานใจ ก็สมจริงแล้ว
"โลกียชน" ผู้ฉลาด (ในร่างของพระก็ตาม) ย่อมหลอก "โลกียชน" ผู้โง่กว่าเสมอ (ไม่ว่า เป็นพระด้วยกัน หรือ ฆราวาส ก็ตาม)
ผู้ตกอยู่ในสภาพ เช่นที่ถูกว่านี้ ก็จะหาเหตุผล มาแก้ตัวได้สารพัด อ้างความไม่เจตนาบ้าง อ้างผลดี ในส่วนที่ดี นั่นแหละ มาแก้ต่างเอาไว้บ้าง ซึ่งแน่ล่ะ มันก็ย่อมมีบ้างในเชิงโลกีย์ แต่ส่วนเสีย ที่กินลึก เข้าไปกัดกร่อนพระศาสนา ให้เห็น เป็นส่วนพาเสื่อมโทรมล้มเหลว และ ไม่ดีจริง ดีจังนั้น มันลึกซึ้งหนักหนา ไตร่ตรองกันให้ชัดเจนมากๆ ให้เพียงพอเถิด จะได้ไม่ระเริงเหลิง และ ไม่ประมาท จนไม่ไหวทันอะไร กันเสียเลย

รูปแบบต่างๆ ของศาสนา จึงมากมวลไปด้วย สิ่งที่เป็น "เนื้องอก" อันเป็นเนื้อร้าย เป็นภัยโดยตรง ต่อร่างกายของเจ้าของ มากเท่าใด ก็ยิ่งร้ายเท่านั้น เหตุเพราะ "เจตนาดี" ที่ด้อยปัญญา มองแค่โลกๆ ทุกคน จะเห็นว่า "ดี" เห็นว่าถูกทั้งสิ้น แม้ที่ข้าพเจ้าเขียน "ติง" ขึ้นมานี้ ก็จะมีผู้หาว่า ข้าพเจ้า เจตนากล่าวร้ายเอาด้วย ก็ขอให้ผู้มีธรรมใช้ "สติ" ตั้งใจตรอง ธัมมวิจัยให้ดีที่สุด เอาเองเถิด สำหรับข้าพเจ้า ใครจะว่าเช่นไร ก็มิได้ถือสาหรอก เพราะข้าพเจ้าก็ย่อม "รู้" ในตัวของตนเองดีที่สุด ตราบที่ ข้าพเจ้ามิได้ตั้งลัทธิใหม่ ขึ้นมาเอง
ซึ่งก็เพราะ ข้าพเจ้า ยังขอยืนยันว่า ข้าพเจ้า เป็นศิษย์ตถาคต และ ผู้อื่นทั้งหลาย ก็ยืนยันว่า ตน เป็นศิษย์ตถาคตด้วย ก็ต้องช่วยกัน เพราะปลาข้องเดียวกัน
แม้คำ "ติง" ทั้งหลาย จะมีคนเข้าใจผิดว่า ข้าพเจ้ามี "มานทิฏฐิ" มีอีโก้อัตตา ก็ตาม ข้าพเจ้าก็เห็นใจเขา ที่เขาต้องเข้าใจเช่นนั้น ในบางคน เพราะมันต้องเป็นเช่นนั้น
หากแม้นข้าพเจ้า เป็นเจ้าลัทธิเอง ตั้งศาสนาใหม่ โดยไม่ต้องแก้ไข ความคด ความโค้งใดๆ วางแนวเอง ก็เป็นของใหม่ ประกาศหลักใหม่ คำน้อยของข้าพเจ้า ก็จะไม่ต้อง ไปกระทบกระเทือนผู้ใด
แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าทำสิ่งนี้ตาม "หน้าที่" และ หวังเกื้อกูลผู้ใฝ่ "โลกุตตรธรรม" สำหรับผู้ใฝ่ "โลกียธรรม" ก็ต้องขออภัย เป็นอย่างมากด้วย มันต้องขัดกันบ้าง เมื่อรอบแห่งโคตรภู มันคนละฝั่ง คนละทาง ดังที่พระพุทธองค์ ก็ได้ตรัสไว้ว่า "ทางที่จะมีลาภ กับทางนิพพาน เป็นคนละทางกัน"

ที่จริง ผู้สร้างแบบแผนใดๆ ก็มีเจตนาดีทั้งสิ้น และ แม้การมี "หลักสูตร" อะไร ขึ้นมาเล่ามาเรียน (สิกขา) กัน จนเต็มไปหมด ในวงการพุทธศาสนา ของเมืองไทยนี้ จนแม้กระทั่ง วิชาว่าด้วย "ศาสนพิธี" ก็มีเป็นหลายเล่ม ที่จะต้องเรียน (อันก็ มีผลดีเหมือนกัน ช่วยสังคม โลกียชน พอถูพอไถกันไป)
ซึ่งอ่านดู ศึกษาดู ก็ล้วนไปหยิบ ไปจับ เอารูปแบบ ของพิธีการ ของลัทธิกิจเก่าบ้าง ใหม่บ้าง จากศาสนาอื่นบ้าง ประยุกต์ขึ้นใหม่บ้าง มาให่ยึดให้ถือ ผู้ใฝ่นิพพาน ถ้าไปมัวเล่าเรียน พอกพูนวิชาการอย่างนั้น ก็จะเสียเวลาเล่าเรียนเปล่า
มันเป็นดังเนื้องอก พอกหุ้ม "ร่างกายเดิม" หรือ ถูกกาฝาก แผ่ขยายพืชพันธุ์ เข้าคลุมดิน หนักขึ้นเท่านั้นเอง จนสุดท้าย ก็จะเป็น "ดงกันดาร" เป็น "ป่าใหญ่" ที่จะบุกไม่ไหว เดินไม่ทะลุ และ เป็น "ความพินาศ" เช่นที่ พระบรมศาสดา ตรัสไว้ในหลายสูตร อย่างเช่นใน "โสณทัณฑสูตร" บ้าง "กูฏทันตสูตร" บ้าง หรือ ใน "เตวิชชสูตร" พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค ข้อ ๓๘๑
พระพุทธองค์ ตรัสว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลาย ที่หลงแบกศาสนกิจ แบกลัทธิจารีตประเพณี แบกความรู้ (ไตรเพท) แบกความหลง ยึดถือต่างๆ อันมากมาย มีทั้งหลงในศักดิ์ศรี ชาติตระกูล หลงในรูปโฉม เปลือกหุ้มนอก มีทั้งหลงยึดมั่น ในการท่องจำ เอาแต่ บทสวดมนต์ คาถา ว่า จะช่วยตนได้ เป็นต้น นั่น… มันจึงเต็มไปด้วย "ศีลพตปรามาส" แหวกบุกออกมา ให้พ้นจนเป็น "อริยะ" ไม่ได้ มันเป็น "ดงกันดาร" จริงๆ

ทำอะไรก็จงทำด้วย "ปัญญา" ให้มากเถิด อย่าพยายามแก้ไข หรือ บัญญัติเพิ่ม จากที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา ได้ทรงกำหนดไว้แล้ว ให้มากนัก มันเป็นบาป เป็นกรรม อันไม่งามเลย เพราะเจตนาดีนั้น มากเรื่องเหลือเกิน ที่มีผลเสียอยู่ด้วยทั้งนั้น สำหรับคน ผู้จะรับเอาในโลก แม้ที่ข้าพเจ้า กำลังกระทำอยู่ ในบัดเดี๋ยวนี้ เป็นต้น ก็มีทั้งดี (ได้) และเสีย (ไม่ได้) ผู้จะกระทำต้อง "วิจัยธรรม" นั้นให้ละเอียดจริงๆ เถิดว่า ดีมันจะแท้ หรือ ดีมันจะเทียม และ ดีมันจะมากกว่าเสีย หรือ เสียจะมากกว่าดี
ขอให้นึกถึงคำว่า เหยื่อล่อ กับ ผลที่จะได้ให้มาก ถ้าเหยื่อล่อมันมาก มันก็จะเสียมากกว่าดี ผู้ปฏิบัติก็กลายเป็น "อามิสบูชา" ไป จะไม่ได้ "ธรรมบูชา" เลย ขอให้ตรองกันให้มากเถิด พระพุทธเจ้า สอนเราไว้ ทุกแง่ทุกมุม
ทุกแบบ ที่เขาหลงเรียนกัน เป็น "สิกขา" อันข้าพเจ้ายกกล่าวมานั้น ข้าพเจ้าเชื่อยิ่งกว่าเชื่อว่า จะได้แม้แต่ "ศีล" ซึ่งเป็น "สิกขาบท" เบื้องต้นไป ก็ยังไม่จริง ไม่ใช่อัตถะ ไม่ใช่ธรรมะ อันพึงควรเรียกได้เลย สำหรับทางนิพพาน การเรียนอย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า เป็น "โมฆบุรุษ" ที่ได้เป็นไปแล้ว ตามคำพยากรณ์ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใน "อลคัททูปมสูตร" มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๒๗๘ คือ ยิ่งเรียน ยิ่งเพี้ยนเอียง เบี่ยงหนีไปจาก "จุดแท้จุดจริง" เพราะอำนาจแห่งกิเลส มันทำงานอยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือ ทุกลมหายใจเข้าออก นั่นเอง แรงของกิเลส จะมากกว่า "สัมมาทิฏฐิ" (ความเห็นในทางถูกแท้) เสมอ

หลักฐานอันสำคัญยิ่ง ที่มันฟ้องว่า "พระ" ในพุทธศาสนา (ส่วนมาก) ทุกวันนี้ ไม่มีภูมิรู้แม้ "ศีล" ก็คือ "พระ" ส่วนมากทุกวันนี้ รักษา "ศีล" แค่ ศีล ๕ ศีล ๘ ก็ยังไม่ "วิสุทธิ" ดังได้กล่าวมาแล้ว อย่าว่าไปถึงศีล ๑๐ ของสามเณรเลย เพราะ ข้อที่ ๑๐ นั้น ขาดสะบั้นกัน เสียจน กล้าพูดกันออกมาว่า "เงิน" เป็น "ปัจจัย" และ จะยืนยัน ให้มันเป็นความจำเป็น ให้ได้ แล้วก็หาเรื่องไปตู่ว่า สมัยพระพุทธเจ้า ไม่จำเป็นเรื่องเงิน ส่วนสมัยนี้จำเป็น
ก็ในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่มี "เงิน" ใช้กันหรือไฉน? เขาก็มี เขาก็จำเป็น แต่ พระพุทธองค์ ได้ทรงเห็นว่า มันเป็นโทส เป็นบาปแน่แล้ว จึงได้ตราเป็นกฎไว้แค่ ข้อที่ ๑๐ ในชั้นเพียงสามเณร ก็จะต้องเลิกขาด อย่าไปยึด ไปรับมี ไปหอบหิ้วมัน
ถ้าเราให้ "กิเลส" มันชนะเช่นนี้เสมอ อีกหน่อย ศีลข้อไหนๆ ก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น ก็จะเหลือแต่ภาษา ที่นำมาสวด มาท่องเล่นกันเท่านั้น ส่วนความหมาย ก็บิดเบือนไปเสียบ้าง ไม่ทำตามเอาดื้อๆ นี่แหละ เสียบ้าง ใครจะทำไม? ซึ่งก็คงไม่มีใคร ไปทำไมใครได้ง่ายๆ หรอก! แต่ผู้ปฏิบัตินั้นเอง กับศาสนาของตัวเอง ก็จะเลวลงๆ เช่น พระบางประเทศ ที่ตีตั๋ว ดูหนัง ดูละครได้ พระบางประเทศ ไม่ใช่แค่ ร้องเพลงเก่งเท่านั้น เป่าปี่ตีกลอง ก็เก่งด้วย ฯลฯ และที่สุด บางประเทศ ก็มีเมีย เอาเสียเลยก็ได้

เราจะให้พุทธศาสนาในเมืองไทย มันเลวลงๆ เช่นนั้นบ้างหรือ? กรุณาอย่าหย่อนข้อ โอนอ่อนกับแรงโลก (โลกียธรรม) แรงกิเลสของตน ให้มากนัก
คำว่า "ปัจจัย" นั้น มี ๔ อย่าง อย่าไปแก้คำสอน อย่าไปเบี้ยวบาลี ของ พระบรมศาสดา หน่อยเลย เดี๋ยวนี้ ภาษาคำว่า "ปัจจัย" กำลังจะรวมเอา "เงิน" เข้าไปด้วย จนเรียกกันติดปาก และ ชักเห็นจริงตามกันยิ่งแล้ว เพราะ อำนาจกิเลส หรือ เพราะแรงหุ้มห่อ ของกาฝาก
เมื่อแค่ "ศีล ๕-ศีล ๘-ศีล ๑๐" ในความหมายตื้นๆ หยาบๆ แค่เบื้องต้นเท่านี้ ก็ยังบริสุทธิ์ บริบูรณ์ไม่ได้ แล้วจะไปหวังอะไร จากผู้ปฏิบัติธรรมผู้นี้ อย่าลืมว่า พระไม่ใช่ฆราวาส งานของพระ กับงานของฆราวาสนั้น ก็บริสุทธิ์กว่ากัน ยังกะอะไรดี งานๆ (ที่เป็นไปเพื่อมิจฉา ๓) อาชีพๆ (ที่เป็นไปเพื่อ มิจฉา ๕) เงินๆ (ชาตรูปรชต คือ ทอง เงิน เพชร พลอย และ ของมีค่าทั้งหลาย ที่เป็นธุลี หรือ เศษเสี้ยวแห่งเครื่องนำพา ให้ก่อกิเลส ก่อการเกิด) นั้น ไม่ใช่เรื่องที่พระ จะใส่ใจ ใฝ่ใจ เลยจริงๆ
เหตุที่รักษา "ศีล" ไม่วิสุทธิ์ คือ ไม่บริสุทธิ์ ขาด ทะลุ ด่างพร้อย กะพร่องกะแพร่ง อยู่เสมอ จนไม่ขัดเกลากิเลส ไม่ตั้งมั่น ถึงขั้นเป็นปกติ ขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เพราะทำไม่ได้ แท้จริง เพราะไม่รู้แจ้ง ไม่เข้าใจในเนื้อหา (อัตถะ) และชั้นเชิง คุณค่า (ธรรมะ) ของ "ศีล" นั้นๆ จริงๆ นั้นหนึ่ง
ไม่เข้าใจ ไม่คาดคิด และไม่เชื่อมั่น ว่า "ศีล" นั้นสำคัญยิ่ง และก็เพราะ "ศีล" นั่นแหละ จะพาสู่การ "ละกิเลส ออกจากจิต" พาสู่ "ปัญญา" สู่ "นิพพาน" นั้นอีกหนึ่ง

และ ไม่เข้าใจ คำว่า "ปฏิบัติ" ที่ถูก ที่แท้ นั้นอีกหนึ่ง โดยไปหลงว่า "ปฏิบัติ" คือ นั่งหลับตา บ่นบริกรรม เสียเป็นส่วนมาก
การสร้าง "สมาธิ" แบบพุทธนั้น ไม่ใช่ยึดเอา การนั่งหลับตา บ่นบริกรรม เป็นหลักเลย เบื้องต้นของ "สมาธิ" นั้น มี "ศีล" มาก่อน และ "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" นั้น ก็ต้องเป็น "สมังคีธรรม" คือ ต้องประกอบกัน ต้องมีการคล้องจอง สัมพันธ์กัน ช่วยกันไปกันมา ดำเนินงานซับซ้อน แต่ต่อเนื่องกัน เป็นสาย มีเหตุมีผล ร้อยเรียง สลับเชิงซ้อน ติดต่อกัน เนื่องกันไปหมด
ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาถ้วนรอบ มีการฝึกหัดปฏิบัติ ครบทุกด้านทุกมุม ให้มี "สติ" เป็น "มหาปัฏฐาน" ทีเดียว ทั้งลืมตา และหลับตา เดิน ยืน นั่ง นอน ทำการทำงาน ก็ปฏิบัติครบองค์ ๑ ถึง ๘ ของ "มรรคอริยสัจ" นั่นแหละ คือ ทางเดินอันยอดเยี่ยมสายเดียว (เอกายนมรรค) ที่พระบรมครูของเรา ทรงยืนยัน


ธรรมบรรยายจากครูอาจารย์






Create Date : 08 เมษายน 2554
Last Update : 8 เมษายน 2554 17:33:15 น. 2 comments
Counter : 1089 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:0:56:27 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำอวยพรค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักนะ


โดย: tantaro วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:3:00:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.