บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
9 มกราคม 2554
 
All Blogs
 

วิถีเซน(35)...ปริศนาเซน








ปริศนาฝ่ามือ

ท่านโมกุเซน เป็นพระเซนรูปหนึ่งที่อาศัยอยู่ในวัดที่ตำบลทันบา วันหนึ่งมีศิษย์ฆราวาสของท่านมาปรารภกับท่านว่า ภรรยาของตนเป็นคนขี้เหนียวเหลือเกิน อยากให้ท่านอาจารย์ไปช่วยเทศน์โปรดด้วย ท่านอาจารย์โมกุเซน จึงไปเยี่ยมภรรยาของชายผู้นั้น แล้วยกกำปั้นที่กำแน่นยื่นตรงไปตรงหน้าเธอ ด้วยความประหลาดใจภรรยาชายผู้นั้นได้ถามท่านอาจารย์ว่า

"ท่านหมายความว่าอย่างไร ?"
ท่านโมกุเซนตอบว่า
"ถ้ามือของฉันเป็นเช่นนี้ตลอดไป เธอจะเรียกมันว่าอะไร ?"
"มือพิการ" ภรรยาชายผู้นั้นตอบ
ท่านโมกุเซนจึงแบมือ แล้วยื่นฝ่ามือที่แบไปตรงหน้าเธออีก แล้วถามว่า
"ถ้ามือฉันเป็นอย่างนี้อยู่เสมอล่ะ เธอจะเรียกว่าอย่างไร ?"
"ก็พิการอีกแบบหนึ่ง" เธอตอบ
"ถ้าเธอเข้าใจเช่นนั้นได้ เธอก็ย่อมเป็นภรรยาที่ดีได้"

ท่านอาจารย์กล่าวแล้วก็ลาจากไป หลังจากนั้น ภรรยาของศิษย์ท่านอาจารย์ก็ช่วยเหลือสามีของเธอเป็นอย่างดี รู้จักจับจ่ายใช้สอยและรู้จักเก็บออม ท่านที่มีภรรยาแล้วและมีปัญหาเช่นนี้ลองใช้วิธีของท่านอาจารย์โมกุเซนดูก็คงจะดี สำคัญแต่ว่าภรรยาของท่านจะมีสติปัญญาเท่าภรรยาของศิษย์ท่านอาจารย์หรือไม่เท่านั้น

ทดสอบเซ็น

ท่านฉินโซ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาศึกษาเซ็นอยู่ในวัดร่วมกับคณะข้าราชการคนอื่นๆ แต่เป็นผู้ที่มีความแตกฉานในเซ็นมากกว่าผู้อื่น ท่านมักจะมีวิธีการทดสอบบุคคลต่างๆให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่เสมอ วันหนึ่ง ขณะที่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนของอาคาร เพื่อนศิษย์ด้วยกันได้ชี้มือออกไปที่พระกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังเดินอยู่นอกหน้าต่าง แล้วถามท่านฉินโซว่า

"พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระธุดงค์ใช่ไหม ?"
"ไม่ใช่" ท่านฉินโซตอบ
"รู้ได้อย่างไรล่ะว่าไม่ใช่ ?" เพื่อนศิษย์สงสัย
"เอาละ จะทดสอบให้ดู" ท่านฉินโซตอบ แล้วเขาก็ตะโกนออกไปดัง
"ท่านพระธุดงค์ครับ"
เสียงตะโกนทำให้พวกพระภิกษุที่เดินอยู่ข้างล่างแหงนหน้ามองขึ้นไปที่หน้าต่าง ท่านฉินโซจึงกล่าวว่า
"นั่นไง ฉันว่าแล้ว จริงไหมล่ะว่าไม่ใช่"

ท่านผู้อ่านละครับ ว่าใช่หรือไม่ใช่ ? ถ้าพิจารณากันอย่างผิวเผินแล้วก็น่าจะใช่ เพราะเวลาถูกเรียกก็เงยหน้าขึ้นตอบรับ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ตามที่ท่านฉินโซว่า เพราะการเงยหน้าตอบรับแสดงว่า พระเหล่านั้นยังมีความหวั่นไหวอยู่ ยังไม่สงบจริง แสดงว่าท่านยังไม่ใช่พระธุดงค์จริงๆ

ใครเข้าใจ

วันหนึ่งท่านอาจารย์กิชุ ได้ขึ้นธรรมมาสเพื่อแสดงธรรมโปรดศิษย์ของท่าน ปรากฏว่ามีศิษย์ฆราวาสคนหนึ่ง เดินออกมาหน้าธรรมมาส แล้วค่อยๆ ก้าวเดินจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก เป็นการแสดงความเข้าใจในธรรม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง พระรูปหนึ่งเห็นดังนั้น ก็ลุกออกมาหน้าธรรมมาสแสดงความเข้าใจในธรรมของท่านบ้าง โดยท่านได้ค่อยๆ ก้าวเดินจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก สวนทางกับฆราวาสท่านนั้น ท่านอาจารย์กิชู เห็นทั้งสองแสดงปริศนาธรรมเสร็จแล้ว ก็กล่าวขึ้นว่า

"ฆราวาสเข้าใจเซ็น แต่พระไม่เข้าใจเซ็น"
ฆราวาสท่านนั้นจึงเข้าไปหาท่านอาจารย์ แล้วกล่าวว่า
"กระผมขอบพระคุณท่านที่ยกย่อง ......"
พูดยังไม่ทันขาดคำ ท่านอาจารย์ก็เอาไม้หวดเขาทันที พระรูปนั้นก็เข้าไปหาท่านอาจารย์บ้าง และพูดว่า
"กระผมขอรับคำสอนจากท่าน"
ท่านอาจารย์ก็ตอบด้วยการหวดด้วยไม้เท้าอีก แล้วก็ถามขึ้นกลางที่ประชุมว่า
"ใครสรุปปริศนาธรรมข้อนี้ได้ ?"
ทุกคนเงียบหมด ท่านอาจารย์ย้ำอีกก็ไม่มีผู้ใดตอบ
"เอาละ ฉันจะสรุปเอง"

แล้วท่านอาจารย์กิชุก็โยนไม้เท้าทิ้งลงกับพื้น พลางหันหลังเดินกลับห้องทันที การถ่ายทอดแบบเซ็นบางครั้งก็ดูประหลาด และดูเหมือนไร้เหตุผล แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้วจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะปริศนาแต่ละข้อ มุ่งไปสู่การให้ละวางอัตตาทั้งสิ้น แล้วท่านครับล่ะสรุปได้หรือยัง ?


รื้ออัตตา

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านอาจารย์นันเซ็น กำลังจะออกไปทำงานในทุ่งตามปกติ ก็มีพระภิกษุแปลกหน้ารูปหนึ่งมาเยี่ยมท่านถึงกระท่อม ท่านจึงต้อนรับเป็นอย่างดี และได้กล่าวว่า

"ขอให้ท่านทำตัวให้สบายเถิด ท่านจะหุงหาอาหารในครัวก็ได้ตามสะดวก เมื่อท่านฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว กรุณานำอาหารที่เหลือไปให้เราที่ทุ่งด้านโน้นด้วยก็จะเป็นพระคุณยิ่ง"

แล้วท่านอาจารย์ก็ออกไปทำงานในทุ่งตลอดทั้งวัน พอตกเย็นก็กลับมายังกระท่อมด้วยความหิวโหย เพราะไม่มีอะไรตกถึงท้องเลยตลอดวัน พอมาถึงกระท่อมก็พบพระรูปนั้นกำลังนอนหลับสบายอยู่ มีร่องรอยว่าได้หุงหาอาหารและฉันอิ่มแล้ว อาหารที่เหลือก็เททิ้งหมด เครื่องใช้ต่างๆ ก็ถูกรื้อทำลายเสียสิ้น ท่านอาจารย์นันเซ็น จึงค่อยๆ เอนกายลงนอนข้างๆ พระรูปนั้น พระรูปนั้นจึงรีบลุกขึ้น แล้วจากไปอย่างเงียบๆ ต่อมาอีกหลายปี ท่านอาจารย์ได้เล่าเรื่องนี้ให้ศิษย์ทั้งหลายฟัง แล้วกล่าวเสริมว่า

"ท่านเป็นพระที่ดีมากทีเดียว ฉันยังคิดถึงจนบัดนี้"

ท่านทำใจแบบท่านอาจารย์นันเซ็นได้หรือเปล่า? สำหรับท่านอาจารย์นันเซ็นแล้ว ท่านไม่ต้องทำใจเลยเพราะปกติของท่านก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว

ผู้รู้

วันหนึ่ง ท่านกากุได้ถามท่านอาจารย์โตกุซานว่า

"ผมคิดว่าอาจารย์เซ็นและผู้รอบรู้เซ็นแต่เก่าก่อน ย่อมไปยังที่แห่งหนึ่ง ท่านอาจารย์พอจะบอกผมได้ไหมว่าท่านเหล่านั้นไปอยู่ยังที่ไหน?"
"ฉันไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน" ท่านอาจารย์ตอบ
ท่านกากุรู้สึกผิดหวัง กล่าวว่า
"ผมหวังว่าจะได้รับคำตอบเหมือนม้าที่กำลังวิ่ง แต่ผมกลับได้รับคำตอบเหมือนเต่าที่กำลังคลาน"
ท่านอาจารย์โตกุซานนั่งนิ่งเงียบเหมือนคนใบ้

วันต่อมา หลังจากสรงน้ำแล้ว ท่านอาจารย์โตกุซานก็กลับมายังห้องนั่งเล่น ท่านกากุได้นำน้ำชามาถวาย ท่านอาจารย์จึงตบหลังลูกศิษย์เบาๆ แล้วถามว่า

"ปริศนาที่เธอพูดถึงเมื่อวานนี้เป็นอย่างไรบ้าง?"
"วิธีสอนของท่านอาจารย์วันนี้ดีขึ้นครับ" ท่านกากุตอบ

ท่านอาจารย์โตกุซานนั่งนิ่งเงียบเหมือนคนใบ้เช่นเดิม

ความเร่าร้อนเมื่อปะทะกับความสงบ เมื่อเข้ากันไม่ได้ ก็ย่อมเกิดความไม่พอใจ วันแรกท่านกากุเร่าร้อน วันต่อมาท่านสงบลงบ้างแล้ว ความรู้สึกจึงดีขึ้น ท่านอาจารย์โตกุซานก็มีแต่ความสงบทั้งสองวัน ความเป็นปกติธรรมดาตามธรรมชาตินี่แหละ คือหนทางของผู้รู้อย่างแท้จริง

พระหลายวัด

ท่านอาจารย์เคียวเซอิ ได้สอบถามพระบวชใหม่รูปหนึ่งที่พึ่งจาริกมาถึงวัดของท่านว่ามาจากไหน ?
"มาจากวัดสามภูเขาขอรับ" พระรูปนั้นตอบ
"เธออยู่ที่ไหนระหว่างพรรษาที่แล้ว ?" ท่านอาจารย์ถามอีก
"อยู่ที่อารามห้าภูเขาขอรับ" พระตอบ

ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า
"ฉันจะฟาดเธอด้วยไม้เท้านี้สามสิบที"
"ทำไมกระผมต้องถูกลงโทษด้วยเล่า ?" พระรูปนั้นสงสัย
"เพราะเธอออกจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งนะสิ"

การแสวงธรรม ถ้าใจไม่หนักแน่นมั่นคง เปลี่ยนจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งเรื่อยๆ ไปโดยไม่มีความอดทน เพื่อศึกษาสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็คงจะต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิต ท่านละครับเริ่มเข้าวัดที่หนึ่งแล้วหรือยัง ?


แสดงธรรม

พระภิกษุผู้ที่เป็นหัวหน้าศิษย์ของท่านอาจารย์ยากุซานได้ไปอาราธนาอาจารย์ของตน ให้ขึ้นเทศน์สอนศิษย์ เพราะท่านอาจารย์ไม่ได้เทศน์สอนศิษย์มาเป็นเวลานานแล้ว

"พวกพระคิดถึงการเทศน์สอนธรรมของท่านมาก"
"ถ้าอย่างนั้นก็จงตีระฆังประชุม" ท่านอาจารย์บอกหัวหน้าศิษย์

บรรดาพระภิกษุในวัดต่างก็รีบมาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันต่อหน้าท่านอาจารย์เพื่อฟังธรรม ท่านอาจารย์ยากุซานมองดูบรรดาศิษย์แล้ว ก็หันหลังกลับโดยมิได้กล่าวอะไรแม้แต่เพียงคำเดียว พระภิกษุผู้เป็นหัวหน้า จึงรีบตามมาถามด้วยความสงสัย

"ท่านอาจารย์ ท่านบอกว่าท่านจะแสดงธรรม ?"
ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า
"ผู้คงแก่เรียนจึงสมควรจะแสดงพระสูตร ท่านมารบกวนพระแก่ๆ ทำไม ?"

ความหมายของเซ็น คือการมีชีวิตอยู่ตามปกติ ทุกวัน ทุกชั่วโมง ในชีวิตประจำวันของอาจารย์เซ็น ก็เป็นการแสดงธรรมเรื่องชีวิตนั่นเอง ซึ่งท่านอาจารย์ยากุซาน ก็ได้แสดงธรรมอยู่ทุกวินาทีอยู่แล้ว หากแต่ว่าพระศิษย์ของท่านในวัด ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นเองเท่านั้น

ผู้รับ ผู้ให้

อูเมชุ ซิบิ เป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งเมืองเอโด ทราบว่าท่านอาจารย์เซอิเซตสุ มีความประสงค์จะขยายศาลาโรงธรรม เพราะที่มีอยู่เดิมคับแคบไม่พอกับผู้ที่มาฟังธรรม อูเมชุ ซิบิ จึงตกลงใจที่จะเป็นผู้บริจาคปัจจัย เพื่อเป็นค่าก่อสร้างเสียเอง เป็นจำนวนเงินถึง 500 เหรียญทอง ซึ่งในสมัยนั้นนับว่ามากที่สุดแล้ว เพราะว่าเงินเพียง 3 เหรียญทอง ก็สามารถใช้สอยอยู่กินได้ตลอดปีแล้ว ท่านพ่อค้าได้หิ้วถุงเงินเข้าไปหาท่านอาจารย์ แล้วน้อมถวายบอกความประสงค์ให้ทราบ ท่านอาจารย์ ก็กล่าวแต่เพียงว่า

"ดีแล้ว อาตมาจะรับไว้" แล้วก็นั่งนิ่งเงียบ

อูเมชุ ซิบิ นั่งรอ ด้วยหวังว่าท่านอาจารย์คงจะกล่าวอนุโมทนาและอวยพรให้ตนโชคดีทำมาค้าขึ้นต่อๆ ไป แต่เห็นท่านอาจารย์ก็ยังคงนั่งนิ่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงนั่งกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านต่างๆ นานา แหมเงินตั้ง 500 เหรียญทองเชียวนะ ท่านอาจารย์ไม่เห็นกล่าวอนุโมทนาเลยสักนิด คิดแล้วก็ทำใจกล้ากราบเรียนว่า

"หลวงพ่อครับ เงินในถุงใส่ไว้ครบ 500 เหรียญเลยครับ"
"เมื่อตะกี้ เธอบอกแล้วไม่ใช่เรอะ ?" หลวงพ่อตอบ

ท่านพ่อค้ายิ่งตีสีหน้าไม่ถูก นั่งนิ่งกันไปอีกพักใหญ่ ท่านพ่อค้าก็เลยตัดสินใจอีกครั้ง กล่าวเลียบเคียงให้หลวงพ่อโมทนาให้พร
"หลวงพ่อครับ เงินจำนวน 500 เหรียญทองนี่ แม้ผมจะค้าขายใหญ่โต ก็ยังรู้สึกว่ามันมากอยู่นะครับ"
"เธออยากให้ฉันขอบใจเธอใช่หรือเปล่าล่ะ ?" หลวงพ่อเดาใจ
"ครับ นิดหนึ่งก็ยังดีครับ" พ่อค้าตอบอย่างดีใจ
"ทำไมต้องให้ฉันขอบใจด้วยล่ะ ผู้ใดเป็นผู้ให้ทาน ผู้นั้นต่างหากที่ควรจะขอบใจ"

ท่านอาจารย์เซอิเสตสุตอบ แล้วนิ่งเงียบอืก
ถ้ามองอย่างสามัญแล้ว เมื่อมีการให้ย่อมอยากได้รับการตอบสนองกลับบ้าง ความจริงการให้หรือการทำบุญนั้น เป็นอุบายอย่างหนึ่งในการทำลายความยึดมั่นว่าตัวกูของกูลง แต่จะมองเห็นกันหรือไม่เท่านั้น

เรื่องของอิคคิว

ในสมัยอาชิคากะที่ประเทศญี่ปุ่น มีเด็กน้อยผู้หนึ่งชื่อว่าอิคคุยุ ชอบติดตามมารดาไปวัดอยู่เสมอ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ชอบเรียกไปใช้สอยอย่างใกล้ชิด วันหนึ่งขณะที่กำลังปัดกวาดทำความสะอาดอยู่นั้น ก็บังเอิญไปปัดเอาถ้วยชาอย่างดีราคาแพงของหลวงพ่อตกแตก เด็กน้อยรู้สึกตกใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นของหาไม่ได้อีกแล้ว เสียงหลวงพ่อก็กำลังเดินเข้ามาในห้อง หนูน้อยอิคคุยุไม่มีเวลาคิดมากกระวีกระวาดลุกขึ้นยืน ทั้งสองมือถือถ้วยชาที่แตกซ่อนไว้ข้างหลัง ตาจ้องมองหลวงพ่อที่นั่งลงบนอาสนะ อิคคุยุก็แน่ใจว่าหลวงพ่อคงยังไม่ได้ยืนเสียงถ้วยชาแตก จึงเกิดปฏิภาณ ขึ้นทันที

"หลวงพ่อครับ คนเรานี่ต้องตายทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นเลยหรือครับ ?"
"ลูกเอ๋ย มันเป็นกฏธรรมชาติธรรมดา" หลวงพ่อชี้แจงโดยซื่อ และกล่าวต่อไปอืกว่า
"บรรดาทุกสิ่งในโลกไม่มียกเว้น เมื่อถึงคราวแล้วย่อมต้องตายอย่างแน่นอน"

อิคคุยุนั่งฟังหลวงพ่อเทศน์สอนจนจบ แล้วแบมือยื่นเศษถ้วยชาให้หลวงพ่อดู พร้อมกับทำหน้าเศร้าๆ ว่า
"ถ้วยชาของหลวงพ่อก็เหมือนกันครับ มันถึงคราวตายเสียแล้ว"

สมัยแรกๆ นั้น ทุกคนทราบแต่เพียงแววไหวพริบ ปฏิภาณของเด็กน้อยอิคคุยุเท่านั้น ยังไม่มีใครคาดฝันเลยว่า เด็กน้อยผู้นี้ ต่อมาจะกลับกลายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็นในสมัยที่ท่านโตและบวชเป็นพระ และตัวลูกศิษย์องค์นี้ กลับเป็นผู้บรรลุธรรมก่อนอาจารย์ผู้เฒ่าของท่านเสียอีก

เรื่องของผี

นานมาแล้ว มีสามีภรรยาคู่หนึ่งรักกันมาก ต่อมาภรรยาเกิดล้มป่วยหนักจะไม่รอดแล้ว จึงได้ขอร้องสามีว่า ถ้านางตายจากไปแล้วขออย่าได้ไปมีหญิงอื่นอีก ถ้าไม่เชื่อนางก็จะเป็นผีมารบกวนไม่หยุด หลังจากภรรยาตายไปแล้ว ชายผู้นั้นก็ได้ปฏิบัติตามคำขอร้องด้วยดี จนเวลาล่วงเลยไปกว่า 3 เดือน ก็ได้พบรักกับหญิงคนใหม่จนถึงกับทำการหมั้นหมายกัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น พอตกกลางคืนผีภรรยาเดิม ก็มาตัดพ้อต่อว่าต่างๆ นานา แม้ชายผู้นั้นจะชี้แจงอย่างไร ผีภรรยาเดิมก็ไม่ยอม เขาไปทำอะไรๆ มาแม้จะลับอย่างไรผีภรรยาก็รู้หมด เป็นเช่นนี้ทุกคืน เขาจึงกินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายซูบผอม ญาติมิตรก็ได้แต่ปลอบโยน แต่ก็ไม่มีใครสามารถช่วยเขาได้ จนสุดที่จะทน ชายผู้นั้นจึงได้ไปหารือกับอาจารย์เซ็น ซึ่งอยู่วัดใกล้ๆ บนเขา ท่านอาจารย์นั่งฟังอย่างเห็นใจ ท่านรู้อยู่เต็มอกว่าผีภรรยาที่มาหาเขาทุกคืนนั้นคืออะไร แต่จะอธิบายให้เขาฟังคงยาก

"โอ ผีเมียเจ้านี่ช่างรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเลยรึ ตอนนี้ถ้ามันมาอีกเจ้าลองให้มันทายปัญหาดู และสัญญาไว้เลยว่า ถ้าหากผีตอบปัญหาได้ เจ้าจะยอมถอนหมั้นและอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิต"หลวงพ่อแนะ
"จะให้ผมถามอะไรล่ะครับ ?" ชายผู้นั้นสงสัย
"เจ้าจงหาเมล็ดถั่วไว้กำมือใหญ่ แล้วให้ผีทายว่ามีกี่เมล็ด หากผีทายไม่ได้ เจ้าจะได้รู้เสียที ว่าผีที่เจ้ารู้เห็นนั้นคืออะไร"

ตกคืนนั้นผีก็มาอีก ชายผู้นั้นก็กล่าวยกย่องว่าผีฉลาด รู้อะไรไปเสียหมดทุกอย่าง

"แน่ละซี วันนี้เธอไปหาอาจารย์บนเขาฉันยังรู้เลย" ผีรับคำ
ชายผู้นั้นจึงรีบถามคำถามที่หลวงพ่อแนะนำมา
"เธอรู้ดีอย่างนั้น ลองบอกมาซิว่า ถั่วในกำมือนี้มีกี่เมล็ด ?"

ในที่สุด ชายผู้นั้นก็ทราบว่า "ผี" ที่มาหลอกทุกคืนนั้นคืออะไร ผีตอบไม่ได้ เพราะตัวเขาเองไม่ได้นับถั่วไว้ก่อนนั่นเอง

สิริมงคล

มีชายผู้หนึ่งอายุ 60 ปีแล้ว แกอุตสาหะประกอบอาชีพสร้างครอบครัวจนมีฐานะเป็นเศรษฐี มีบุตรหลานพร้อมหน้า ต่อมาแกเกิดไม่แน่ใจว่า เมื่อสิ้นแกแล้ว ลูกหลานจะสามารถรักษาครองความเป็นเศรษฐีเช่นนี้ได้ตลอดไปหรือไม่ แกใคร่ครวญเพื่อหาหลักประกันอยู่หลายปีก็คิดว่า ทางเดียวที่จะพึ่งได้ก็คือพระ เพื่ออาศัยทางด้านอภินิหาร แกจึงไปหาหลวงพ่อซินก่าย พระเซ็นซึ่งเป็นที่นับถือทั่วไปในเวลานั้น เล่าความในใจให้ฟังแล้วนิมนต์ท่านไปฉันอาหารที่บ้าน และขอให้ช่วยเขียนคำอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย ในวันพิธี ท่านเศรษฐีได้เชิญแขกเหรื่อและญาติมิตรมามากมาย หลังฉันอาหารแล้ว ท่านเศรษฐีก็ส่งม้วนกระดาษแดงและพู่กันให้หลวงพ่อซินก่าย หลวงพ่อจุ่มหมึกป้ายพู่กันอย่างรวดเร็ว เป็นอักษรสามประโยค

"ให้พ่อตายก่อน แล้วลูกตาย และหลานตาย" ทุกคนตกตลึงไปหมด โดยเฉพาะท่านเศรษฐี หลุดปากออกมา
"โอย หลวงพ่อ !"

หลวงพ่อซินก่ายเห็นเป็นโอกาส จึงสอนว่า

"ลูกเอ๋ย พ่อไม่ได้เขียนเล่นๆ คำว่า 'ตาย' นั้น ทุกคนจะต้องพบมิใช่หรือ ฉะนั้นถ้าหากว่าต้องตายแล้ว ก็ขอให้ตายเรียงกันก่อนหลังจะมิดีกว่าหรือความทุกข์ที่คนเราต้องรับกันอยู่ทุกวันนี้ก็หนักพออยู่แล้ว พวกเจ้าจึงไม่ควรจะต้องมาเสียน้ำตาที่ลูกหลานต้องมาด่วนจากไปก่อนเจ้า พ่อจึงถือว่าเป็นพร และเป็นสิริมงคลของวงศ์ตระกูล"

แล้วหลวงพ่อก็ได้แสดงธรรมให้ทุกคนรู้จักว่า "เงิน" นั้นคืออะไร เราควรจะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องไปเป็นทุกข์กับเงินนั้นคงเหมือนกับการรักษาโรคในปัจจุบัน ที่แพทย์ทางโรคจิตใช้วิธีการทำช๊อคให้แก่คนไข้ที่อาละวาด อาจารย์เซ็นก็มีวิธีการทำช๊อคให้แก่ผู้ที่เมาสมบัติเหมือนกัน

ท่านคิดจะนิมนต์หลวงพ่อซินก่าย ไปเจิมสิริมงคลที่บ้านหรือยัง ?

เซ็นทุกนาที

ในรัชสมัยเมจิ มีพระเซ็นองค์หนึ่งชื่อเท็นโน อยู่ในข่ายที่ท่านอาจารย์นันอิน อาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็น จะส่งตัวออกไปเผยแพร่พระธรรม ท่านเท็นโนจึงหาโอกาสที่จะไปกราบลาท่านอาจารย์ผู้เฒ่า เย็นวันนั้น ฝนตกไม่ขาดระยะ ท่านเท็นโนเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงกางร่มสวมรองเท้าไม้ เดินฝ่าสายฝนตรงไปยังกุฏิท่านอาจารย์นันอิน แล้วกราบเรียนเรื่องนี้ต่อท่านอาจารย์ และฟังความคิดเห็นว่าควรหรือไม่ ท่านอาจารย์เห็นศิษย์เข้ามาหา ก็ปฏิสันถารเป็นอันดี สักพักท่านก็ถามว่า

"ที่เธอมานี่ สวมเกี๊ยะมาหรือเปล่า ?"
"สวมมาครับ" ท่านเท็นโนตอบ
"ร่มล่ะ เธอกางร่มมาหรือเปล่า ?" ท่านอาจารย์ถามอีก
"กางร่มมาด้วยครับ ผมวางไว้นอกประตู" ท่านเท็นโนตอบ

ท่านอาจารย์นันอิน จึงถามต่อไปเรื่อยๆ อีกว่า
"ที่เธอวางร่มอยู่นอกประตูน่ะ เธอวางอยู่ทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาของเกี๊ยะ?"

ท่านเท็นโนนิ่งอึ้ง เพราะจำไม่ได้ พร้อมกับทราบด้วยตนเองว่าตนยังไม่พร้อม ที่จะนำพระธรรมไปเผยแพร่ เพราะตนยังไม่มีเซ็นอยู่ ทุกลมหายใจ ตกลงต้องอยู่ศึกษากับท่านอาจารย์นันอินไปก่อน โดยที่ท่านอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากห้ามปรามชี้แจง

ท่านเท็นโนต้องอยู่ศึกษาต่ออีก 6 ปี รวมเวลาศึกษาถึง 16 ปี ท่านจึงมีสติสมบูรณ์เต็มที่

ในสมัยนี้ มีบางท่านพอได้ผลจากการปฏิบัติธรรมบ้างเล็กน้อย ก็ตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ตั้งสำนักโน้นสำนักนี้มากมายไปหมด ถ้าแนวสอนของผู้อื่นไม่ตรงกับของตนก็โจมตีกัน ทำไมไม่เฉลียวใจเลยว่าคำสอนที่ถูกต้องที่สุด ก็คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ผู้ที่เป็นเช่นนี้แม้จะศึกษาจนตลอดชีวิต ก็คงไม่มีเซ็นอยู่ในตัวเลย

แน่หรือ ?

ท่านอาจารย์โตซุย ท่านชอบธุดงค์แสดงธรรมไปเรื่อยๆ ไม่ติดวัด พอแสดงธรรมที่ไหนคนติดมากเข้า ท่านก็จะย้ายไปที่อื่นเป็นเช่นนี้ตลอด จนมาถึงวัดสุดท้ายเมื่อท่านแสดงธรรมแล้ว ท่านก็ประกาศว่าท่านจะหยุดแสดงธรรมด้วยปากแล้ว จากนั้นตัวท่านเองก็หลีกเร้นไปโดยไม่ทิ้งร่องรอย ไม่มีใครทราบว่าท่านไปอยู่ที่ไหน ต่อมาเนื่องจากเป็นผู้ที่มีศิษย์มากมาย ศิษย์ของท่านคนหนึ่งจึงไปพบท่านเข้าโดยบังเอิญ ท่านอาศัยปะปนอยู่กับพวกขอทานใต้หลืบสะพานแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต ศิษย์ผู้นั้นดีใจมากจึงขอฝากตัวอยู่ด้วย ท่านอาจารย์มองดูศิษย์ ไม่ได้บอกรับหรือปฏิเสธ เพียงกล่าวว่า

"ถ้าอยากอยู่ก็ลองดู หากเห็นว่าอยู่อย่างฉันได้ ฉันก็ไม่ว่า"

ดังนั้น ศิษย์ผู้นั้นจึงได้ติดสอยห้อยตาม ใช้ชีวิต และปฏิบัติตัวเหมือนท่านอาจารย์ตลอด เป็นการบังเอิญเหลือเกิน ที่ต่อมาเพียงวันเดียว หลังจากไปเที่ยวขออาหารมาแล้ว เกิดมีขอทานที่อยู่ใต้หลืบสะพานเดียวกันล้มป่วยตายลง คืนนั้นท่านอาจารย์และศิษย์จึงจัดการนำไปฝัง พอกลับมาท่านอาจารย์ก็ล้มตัวลงนอนพักอย่างสบาย ส่วนศิษย์ไม่อาจข่มตาหลับลงได้ นอนกระสับกระส่ายทั้งคืนจนรุ่งเช้า พอรุ่งสว่าง ศิษย์ก็รีบเตรียมตัวจะออกไปขอทานกับท่านอาจารย์ แต่ท่านอาจารย์กลับหันมาบอกว่า

"เออ วันนี้ดี เราไม่ต้องออกไปขอทานก็ได้ อาหารของขอทานที่ตายที่เขาขอมาเมื่อวานนี้ยังเหลืออยู่นั่นไง เอามากินกันเถอะ"

ว่าแล้วท่านอาจารย์ก็เขี่ยแบ่งอาหารให้ศิษย์ แล้วตัวท่านก็กินเอากินเอา ส่วนศิษย์ได้แต่นั่งดูกระอักกระอ่วน ไม่อาจกลืนได้แม้สักคำ ท่านอาจารย์จึงว่า

"ฉันว่าแล้ว เธออยู่อย่างฉันไม่ได้หรอก เธอไปเถอะ อย่าพยายามติดตามฉันอีกเลย"

ท่านอาจจะนึกว่า จำเป็นถึงขนาดที่จะต้องลดตัวลงขนาดนั้นหรือ แต่ถ้าคิดให้ลึกแล้ว ลาภสักการะ ชื่อเสียง พัดยศ กระทั่งสิ่งที่คนวัดเขาเทิดทูนบูชาคือความเป็นพระอรหันต์ มันจะอะไรกันนักหนา ใช้ทำประโยชน์อะไรได้ เมื่อสิ่งที่กล่าวถึงนั้น เป็นเพียงการปิดฉลากว่าเป็นนั่นเป็นนี่เท่านั้น แต่สิ่งที่แท้จริงที่ฉลากปิดอยู่นั้นล่ะจะเป็นอย่างไร ท่านพร้อมจะไปอยู่กับท่านอาจารย์โตซุยหรือยัง ?

ผู้เดินตาม

มีสามเณรรูปหนึ่ง เดินทางไปกับอาจารย์ของตนที่เป็นพระอรหันต์ สามเณรแบกถุงย่ามเดินตามหลังอาจารย์ ระหว่างทางได้คิดตั้งความปรารถนาพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในขณะที่คิด พระอรหันต์ผู้เป็นอาจารย์ก็เรียกถุงย่ามมาถือไว้เอง แล้วให้สามเณรเดินนำหน้า ตัวท่านเองเดินตามหลัง

เดินไปได้สักพัก สามเณรกลับคิดว่า พุทธภูมินั้นไม่ใช่ภูมิที่จะบรรลุได้ง่ายๆ ต้องบำเพ็ญเพียรบารมีหลายอสงไขยกัลป์ กว่าจะได้ตรัสรู้ คิดท้อถอย จึงคิดปรารถนาแต่เพียงอรหัตภูมิเท่านั้น ฝ่ายพระอรหันต์ผู้อาจารย์ ก็เรียกสามเณรให้กลับมาถือย่ามเดินตามหลังท่านตามเดิม

เดินไปได้อีกหน่อย สามเณรองค์นั้นก็กลับคิดว่า จะท้อถอยไปทำไม เมื่อตั้งใจมุ่งต่อพระโพธิญาณแล้วก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคบรรลุให้ได้ พอคิดเช่นนั้น อาจารย์ก็กลับเรียกย่ามไปถือ และให้สามเณรเดินนำหน้าอีก

สามเณรผู้เป็นศิษย์ นึกแปลกใจในการกระทำของอาจารย์ จึงถามขึ้นว่า "ท่านอาจารย์ทำเช่นนี้ประสงค์อะไร กระผมไม่เข้าใจเลย"

"เจ้าไม่รู้หรือว่า เมื่อเจ้าปรารถนาพระโพธิญาณ จิตเจ้าสูงและยิ่งใหญ่กว่าเรา เราได้เพียงอรหัตภูมิ แม้จะหมดอาสวะแล้วก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นอรหันต์ จึงต้องเคารพผู้ที่มีปณิธานต่อพุทธภูมิเดินนำหน้า" อาจารย์อธิบาย

"กระผมเป็นเพียงปุถุชน และนี่ก็เป็นเพียงความตั้งใจเท่านั้น ยังไม่ได้บรรลุสักนิด ไฉนท่านอาจารย์จึงคิดเช่นนั้น" สามเณรแย้ง

"เจ้าอย่าดูแคลนในสิ่งที่เป็นเพียงความปรารถนา เมื่อใจเกิดธรรมย่อมเกิด เมื่อใจดับธรรมย่อมดับ อำนาจใจที่มุ่งต่อพุทธภูมิแม้เพียงชั่วขณะจิต ก็จัดว่ายิ่งใหญ่แล้ว เราจึงต้องเคารพ" ท่านอาจารย์ตอบ

ท่านที่ชอบสาบานโปรดจำไว้ อย่าได้ดูแคลนจิตในขณะที่ท่านสาบาน พลังจิตสามารถส่งผลอย่างที่คาดไม่ถึงจริงๆ

ยังมีแสง

มีพระอาจารย์รูปหนึ่งแตกฉานในพระไตรปิฎกมาก คราวหนึ่ง ศิษย์ของท่านรูปหนึ่งได้ไปศึกษาเซ็น เมื่อสำเร็จผลแล้วก็กลับมาปฏิบัติรับใช้อาจารย์เดิมของตน วันหนึ่งท่านอาจารย์องค์นั้นกำลังค้นคว้าพระไตรปิฎกอยู่ในห้อง ก็มีผึ้งตัวหนึ่งกำลังบินวนเวียน เพื่อจะหาทางออกให้พ้นจากห้อง ผึ้งบินไปบินมาชนกับกระดาษแก้วที่หน้าต่าง วนเวียนไปมาหาทางออกไม่ได้ ศิษย์ผู้นั้นจึงกล่าวว่า

"ผึ้งตัวนี้โง่จริง มาบินหาทางออกในที่ๆ ไม่ใช่ทาง เพราะติดอยู่เพียงกระดาษแก้ว จะมามัวชอนไชหาประโยชน์อะไร?"

ศิษย์หมายเตือนอาจารย์ แต่ท่านอาจารย์ก็ยังไม่เข้าใจ วันหนึ่งท่านอาจารย์อาบน้ำอยู่ ก็เรียกศิษย์ผู้นั้นมาขัดถูตัวให้ ศิษย์ขัดถูไปก็พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า

"น่าเสียดาย วิหารสวยๆ ใหญ่ๆ เช่นนี้แต่ไม่มีพระพุทธรูปไว้บูชา"

อาจารย์ได้ยินก็หันมามองดูศิษย์ แต่ศิษย์กลับพูดต่อไปอีกว่า

"ถึงแม้ว่าไม่มีพระพุทธรูป แต่ก็ยังมีแสงสว่าง"

อาจารย์อดไม่ได้ จึงพูดขึ้นว่า

"เจ้าพูดอะไรกัน ตั้งแต่เจ้าไปเรียนเซ็นมานี่ ดูเจ้าแปลกไป ที่เจ้าพูดตะกี้นี้เจ้าหมายความว่าอะไร ?"

"ท่านอาจารย์ ท่านมีอุปการคุณมาก ผมจะบอกความจริงให้ ที่ท่านอาจารย์ใช้เวลามากมายศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะท่านอาจารย์จะได้เพียงปัญญาที่เกิดจากการฟังและการนึกเท่านั้น แต่ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัตินั้นท่านอาจารย์ไม่มีเลย ผมจึงว่าเสียดายวิหารใหญ่ไม่มีพระพุทธรูป คือขาดความรู้แจ้งเห็นจริงในใจท่านเอง แต่ท่านอาจารย์ยังรู้สึกเอะใจ แสดงว่าท่านยังมีเชาว์รู้เท่าอยู่บ้าง ผมจึงว่าแม้จะขาดพระพุทธรูปแต่ก็ยังมีแสงสว่าง"

นิกายเซ็นถือว่าการเขย่าธาตุรู้ในตัวเอง ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ให้ผุดขึ้นมา เป็นจุดสำคัญที่สุด แล้วท่านล่ะคิดจะเขย่าบ้างหรือยัง ?

สอนวิชาแบบเซ็น

มีขโมยที่เพิ่งจะหัดกระทำโจรกรรม ลอบเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีเพียงตาและหลาน เมื่อเข้าไปแล้วก็ลงไปแอบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงนอนของชายชรา บังเอิญชายชราได้อุ้มหลานมานั่งเล่นบนเตียงนอนนั้น หลานชายซึ่งยังเล็กกำลังเล่นผลส้ม ปรากฏว่าได้ทำผลส้มหลุดจากมือกลิ้งหายไปใต้เตียง ขโมยหน้าใหม่ตกใจคิดว่าถ้าปล่อยไว้ประเดี๋ยวชายชราก้มลงมาเก็บก็คงเห็นตนแน่ ก็เกิดปัญญาขึ้น จึงหยิบผลส้มออกไปวางข้างๆ รองเท้าของชายชรา ชายชราก้มลงไปเก็บ ขณะที่ก้มลงนั้น เท้าของแกก็ไปเหยียบถูกส้มที่วางอยู่ข้างรองเท้า แกรู้ทันที จึงพูดขึ้นว่า

"พี่ชายที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง ออกมาเสียดีๆ จะดีกว่า"

ขโมยตกใจ รู้ว่าเจ้าของรู้แล้วก็คลานออกมาแต่โดยดี กราบไหว้อ้อนวอนขอให้ยกโทษ ชายชราจึงว่า

"แกเป็นคนมีปัญญาเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงที่สุด แกเริ่มงานโจรกรรมมานานเท่าไรแล้ว ?"

"ครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับ" ขโมยตอบ

"แกมีครูสอนบ้างไหม ?" ชายชราถาม

"ไม่มีเลย" หัวขโมยตอบ

"ไม่มีครูสอนก็มักพลาดอย่างนี้ ฉันประกอบโจรกรรมมาสิบกว่าปีแล้วไม่เคยถูกจับเลย วันนี้แกมาเข้าบ้านโจรอย่างฉัน แต่ฉันไม่เอาโทษแกหรอก" ชายชราเปิดเผยความจริง

หัวขโมยพอรู้เรื่องก็อ้อนวอนขอเรียนวิชาโจรกรรม ชายชราตกลง แต่มีข้อแม้ว่า แกสอนอะไรหัวขโมยจะต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง แล้วก็กำหนดจะพาไปขโมยของที่บ้านเศรษฐีในคืนวันพรุ่งนี้ เมื่อถึงเวลาทั้งสองก็ลอบเข้าไปในบ้านเศรษฐี ผู้คนกำลังนอนหลับสนิท ชายชราได้เปิดหีบสมบัติ ซึ่งเป็นหีบโบราณขนาดใหญ่ สามารถบรรจุคนได้สบาย แกขนเอาสมบัติออกจากหีบจนหมด แล้วสั่งให้หัวขโมยเข้าไปอยู่ในหีบ

ชายชราปิดหีบสมบัติและลั่นกุญแจปล่อยทิ้งไว้ ตนเองรีบหลบหนีออกไป ฝ่ายขโมยพอถูกวิธีนี้เข้าก็ตกใจเป็นที่สุด คิดว่าเสียรู้ขโมยแก่เสียแล้ว จึงครุ่นคิดหาอุบายหาทางออกอยู่ครู่ใหญ่ก็คิดออก ด้วยสมัยโบราณ คนจีนไม่ว่าหนุ่มหรือแก่จะไว้ผมยาวกันทั้งนั้นและรัดเกล้าเป็นมวยไว้บนศีรษะ หัวขโมยหนุ่มจึงแก้รัดเกล้า แล้วปล่อยให้ผมสยายยาวรุงรัง ฉีกเสื้อผ้าขาดวิ่นให้ดูคล้ายภูตผี แล้วทำเสียงตึงตังอยู่ในหีบ ข้างเศรษฐีได้ยินเสียงก็ตกใจ งัวเงียลุกขึ้นมาเปิดหีบดูพอหีบเปิดเจ้าขโมยก็ทำเสียงกรีดร้องหลอกหลอน จนเศรษฐีขวัญหนีดีฝ่อคิดว่าเป็นปีศาจ เลยล้มสลบลง ขโมยหนุ่มได้โอกาสก็รีบหลบหนีออกไป และไปต่อว่าชายชราต่างๆ นานา ชายชราจึงอธิบายว่า

"ถ้าฉันไม่ทำกับแกเช่นนั้น ปัญญาของแกจะเกิดหรือ แกจงรู้เถิดว่าความสามารถนั้นถ่ายทอดกันไม่ได้ เพราะเป็นของแต่ละคนฉันทำเช่นนี้ก็เพื่อปลุกปัญญาแกให้เกิด เมื่อถึงคราวอับจนจะได้นำออกมาใช้แก้ไขได้เอง แกจะมัวแต่พึ่งคนอื่นตลอดเวลาจะมีประโยชน์อะไร ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนแนะนำแกจะมิตายหรือ เมื่อถึงคราวอับจนแกสามารถหลุดออกมาได้เช่นนี้จึงใช้ได้"

ขโมยหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจตลอด

การสอนแบบเซ็น จะไม่ใช้วิธีแบบป้อนข้าวป้อนน้ำเด็ดขาด แต่จะใช้วิธีตั้งโจทย์ให้ศิษย์ขบคิดเอาเอง โดยไม่แนะอะไรให้ทั้งสิ้นขบปัญหาแตกเมื่อไรก็สำเร็จเมื่อนั้น เซ็นจึงมีปริศนาธรรมมากมาย

ท่านพร้อมที่จะไปกระทำโจรกรรมกับขโมยเฒ่าหรือยัง ?

ผัวะ ผัวะ ผัวะ

ท่านรินไซได้ไปเป็นศิษย์ของท่านฮวงโปอยู่ 3 ปี ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด วันหนึ่งเพื่อนของท่านให้ไปถามท่านอาจารย์ฮวงโปว่า

"แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออะไร ?"

คำตอบที่ท่านได้รับก็คือ ถูกท่านฮวงโปตีด้วยไม้เท้า 3 ทีโดยไม่อธิบายอะไรเลย ท่านรินไซน้อยใจจึงคิดจะลาไปยังสำนักอื่น ท่านฮวงโปจึงแนะนำให้ไปหาพระอาจารย์ต้ายู้ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเคาอัน ท่านต้ายู้พอทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงบอกกับท่านรินไซว่า

"ที่ท่านฮวงโปตีเจ้านั้น ก็เพื่อปลดเปลื้องเจ้าให้ออกจากความทุกข์ต่างหากเล่า"

ท่านรินไซพิจารณาแล้วก็รู้แจ้งว่า

"พุทธธรรมนั้น น้อยนิดยิ่งนัก ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำใจไม่ให้เป็นทุกข์เท่านั้น"

ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่อีกเลยเพราะหยุดคิดปรุงแต่งด้วยกิเลสเสียแล้ว ท่านได้กลับไปหาท่านฮวงโปอีกครั้ง และเล่าให้ฟังถึงการสนทนาธรรมและสิ่งที่ท่านได้รับจากท่านต้ายู้ ท่านอาจารย์ฮวงโป จึงคิดจะทดลองดูว่า ศิษย์รู้แจ้งในธรรมจริงแท้แค่ไหน จึงกล่าวว่า

"เจ้าต้ายู้นี่มันเพ้อเจ้อเหลือเกิน มาคราวหน้าถ้าพบกันอีกต้องตีเสียให้เข็ด"

"จะรอถึงคราวหน้าทำไม ทำไมไม่ตีเสียเลยคราวนี้"

ท่านรินไซกล่าวตอบ ว่าแล้วท่านก็ตบหน้าท่านฮวงโปฉาดใหญ่ ความปล่อยวางเกิดขึ้นในขณะเดียวกันทั้งศิษย์และอาจารย์ ท่านฮวงโปเพียงแต่พูดว่า

"เจ้าบ้าคนนี้ มันกำลังลูบหนวดเสือ"

เป็นการสอบไล่ขั้นสุดท้ายแบบเซ็น และทดสอบด้วยว่าอาจารย์เก่งจริง หมดกิเลสจริงหรือเปล่า เราท่านกล้าใช้วิธีนี้หรือเปล่า ?

ผู้ปล่อยวาง

ท่านริโยกัน เป็นพระเซ็นที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบสมณเพศในกระท่อมเล็กๆ หลังหนึ่งตรงเชิงเขา คืนหนึ่งขณะที่ท่านริโยกันไม่อยู่ ก็มีขโมยลอบเข้าไปในกระท่อมแต่พบว่า ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลยที่มีค่าพอจะลักเอาไปได้ ในขณะนั้นท่านอาจารย์ริโยกันก็กลับมาพอดี พอเห็นขโมย แทนที่ท่านจะโกรธ ท่านกับพูดกับขโมยผู้นั้นว่า

"เจ้าคงเดินทางมาไกลโขซินะ ฉะนั้นเจ้าไม่ควรจะกลับไปมือเปล่า นี่แน่ะเอาเสื้อที่ฉันสวมอยู่นี่ติดมือกลับไปด้วยเถอะ คิดเสียว่าเป็นของกำนัลจากฉัน"

ว่าแล้วท่านก็ถอดเสื้อที่ท่านกำลังสวมอยู่ส่งให้ขโมยไป ขโมยรับเสื้อด้วยความงุนงง แล้วรีบหลบจากกระท่อมไปทันที เมื่อขโมยไปแล้ว ท่านอาจารย์ริโยกันก็นั่งลงมองพระจันทร์ และรำพึงว่า

"เจ้าขโมยที่น่าสงสาร ฉันคิดว่าฉันควรจะให้พระจันทร์ที่สวยงามดวงนี้แก่เจ้าแทนเสื้อตัวนั้นมากกว่า"

ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่มีความยึดถืออะไรเหลืออยู่อีก ไม่ว่ามิตร หรือศัตรู ก็มีความหมายเช่นกัน

สำหรับปุถุชนเช่น เราๆ ท่านๆ ถ้าหากรู้จักยอมเสียสละสิ่งที่เหลือใช้ หรือเป็นส่วนเกินของชีวิต ออกไปให้แก่ผู้ที่ยังขาดแคลนบ้าง เพียงเท่านี้สังคมก็คงจะน่าอยู่ขึ้นอีกมากทีเดียว

ขอเว้นสักคน

ชาวนาคนหนึ่ง ภรรยาถึงแก่กรรมลง เขามีความเศร้าโศก คิดถึงภรรยาเขามาก จึงตกลงใจประกอบพิธีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ เขาได้นิมนต์พระภิกษุนิกายเท็นได มาประกอบพิธีที่บ้านหลังจากพระทำพิธีสวดมนต์จบลงแล้ว ชาวนาได้ถามพระว่า

"ท่านคิดว่าภรรยาของผม จะได้รับส่วนบุญจากการทำพิธีสวดครั้งนี้ไหม?"

"ไม่เพียงแต่ภรรยาของท่านเท่านั้น ที่จะได้รับส่วนบุญจากการสวดครั้งนี้ แม้แต่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็ย่อมมีส่วนได้รับผลบุญครั้งนี้ด้วยเช่นกัน" พระภิกษุตอบข้อข้องใจ

"ถ้าเช่นนั้น" ชาวนาแย้งขึ้นด้วยความไม่สบายใจ "ภรรยาของผม ก็คงได้รับผลบุญไม่เต็มที่ซิครับ"

พระภิกษุพยายามอธิบายให้ชาวนาเข้าใจ ว่าเป็นพุทธประสงค์ที่จะแผ่เมตตา โดยให้ผลบุญเหล่านั้นตกไปถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้า เมื่อพระภิกษุอธิบายจบลงแล้ว ชายชาวนาก็กล่าวขึ้นว่า

"กระผมก็คิดว่าเป็นคำสอนที่ดีอยู่หรอก แต่จะกรุณายกเว้นสักคนจะได้ไหมครับ คือกระผมมีเพื่อนบ้านอยู่คนหนึ่ง มันหยาบคายและชอบเอาเปรียบผมมาก ถ้าท่านจะกรุณายกเว้น อย่าเอาเจ้าหมอนั่นเข้าไปไว้ในหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นได้ก็คงจะดี"

ขึ้นชื่อว่า ตัวกู ของกู ยากที่จะปลดเปลื้องออกได้ง่ายๆ เสียจริงเวลากรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลหลังจากทำบุญ ท่านมีข้อแม้บ้างหรือเปล่า!

ใครชนะ ?

ในประเทศญี่ปุ่นสมัยก่อน มีประเพณีอย่างหนึ่งของพระภิกษุนิกายเซ็น คือ พระภิกษุอาคันตุกะ ที่เดินทางมาถึงที่วัดใด จะต้องตอบปัญหาธรรมชนะพระภิกษุที่อยู่ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าพักได้ ถ้าแพ้ก็ต้องเดินทางหาวัดใหม่ต่อไป วันหนึ่ง มีพระอาคันตุกะองค์หนึ่ง จาริกมาจากที่ไกลถึงที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น มีพระภิกษุพี่น้อง 2 องค์อาศัยอยู่ องค์พี่เป็นผู้คงแก่เรียนรอบรู้แตกฉานมาก องค์น้องนอกจากจะตาบอดข้างหนึ่งแล้ว ยังมีสติปัญญาค่อนข้างทึบอีกด้วย เมื่อทราบระเบียบว่า จะต้องมีการโต้ธรรมะกันก่อนเข้าพักอาศัย พระอาคันตุกะก็ยินดีปฏิบัติตาม แต่เนื่องจากพระองค์พี่เหน็ดเหนื่อยจากการปฏิบัติงานมาทั้งวัน จึงได้มอบให้พระองค์น้องทำหน้าที่โต้ปัญหาธรรมแทน และได้แนะให้พระองค์น้องใช้วิธีโต้ปัญหาแบบ "เงียบ" พระทั้งสององค์จึงไปยังที่บูชา จุดธูปบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วการโต้ปัญหาธรรมะก็เริ่มขึ้น ชั่วครู่เดียวพระอาคันตุกะก็เดินออกไปหาพระองค์พี่ แล้วกล่าวว่า

"น้องชายท่านเก่งเหลือเกิน ผมยอมแพ้แล้ว "

"ท่านโต้ปัญหากันว่าอย่างไรล่ะ" พระองค์พี่ถาม

พระอาคันตุกะจึงชี้แจงว่า "ทีแรกผมชูนิ้วขึ้นมาก่อนหนึ่งนิ้ว ซึ่งหมายถึงพระพุทธ น้องชายของท่านชูสองนิ้วตอบ ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีพระพุทธก็ต้องมีพระธรรมด้วย ผมจึงชูสามนิ้วตอบซึ่งหมายถึงว่าถ้าจะให้ครบ ก็ต้องมีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วย คราวนี้น้องชายท่านกลับชูกำปั้นมาที่หน้าผม ซึ่งหมายความว่า จะเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ตาม ก็ต้องมารวมเป็นหนึ่งเดียว คือสัจธรรม ผมจึงว่าน้องท่านเป็นผู้ชนะ ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ที่นี่"

พระภิกษุอาคันตุกะกล่าวแล้ว ก็ลาพระภิกษุองค์พี่เดินทางต่อไปสักครู่ พระองค์น้องก็เข้ามาหาพระพี่ชายอย่างเร่งรีบ แล้วถามหาพระอาคันตุกะว่า

"เจ้าหมอนั่นมันไปไหนแล้วล่ะ ?"

"เธอชนะเขาแล้วไม่ใช่หรือ ?" พระผู้พี่ถามด้วยความสงสัย

"ชนะกะผีอะไรล่ะ" พระองค์น้องโกรธ

"เธอโต้ปัญหากับเขาว่าอย่างไรล่ะ?" พระองค์พี่ถามต่อ

"โต้อย่างไรนะหรือ" พระองค์น้องตะโกน "พอเห็นหน้าผมเท่านั้น มันก็ชูนิ้วเดียวมาที่หน้าผม ซึ่งมันดูหมิ่นว่าผมมีตาข้างเดียว ผมสู้อดทนเพราะเห็นว่าเป็นแขก จึงชูตอบไปสองนิ้ว แสดงความยินดีที่เขามีตาครบบริบูรณ์ แทนที่มันจะรู้ตัว มันกลับชูนิ้วกลับมาอีกสามนิ้ว ซึ่งหมายความว่า ทั้งผมและมันมีตารวมกันอยู่สามตา อย่างนี้ไม่ใช่เยาะเย้ยแล้วจะเรียกว่าอะไร ผมเหลืออดจริงๆ จึงชูกำปั้นขึ้นมาจะต่อยหน้ามันสักหน่อย แต่มันกลับวิ่งออกมาเสียก่อน"

พระที่แท้นั้น ท่านมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะไปทั้งหมด แต่พระที่พบเห็นในปัจจุบัน ส่วนมากจะเป็นแบบพระองค์น้องเสียทั้งนั้น

ยิ้มครั้งเดียว

ท่านอาจารย์โมกุเย็น เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเซ็นองค์หนึ่งและตลอดชีวิตของท่านๆ ไม่เคยยิ้มเลย เมื่อตอนที่ท่านเจ็บหนักและจวนจะสิ้นใจ ท่านได้พูดกับศิษย์ที่มาห้อมล้อมใกล้ชิดรอบตัวท่านว่า

"พวกเจ้าก็ได้เรียน ศึกษาธรรมะกับข้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เจ้าจงแสดงความหมายอันแท้จริงของคำว่า เซ็น อย่างถูกต้องและชัดเจนที่สุดให้ข้าดูซิ ใครก็ตามที่สามารถแสดงได้ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจความหมายของ เซ็น ได้อย่างถูกต้องชัดเจนที่สุดแล้ว เขาจะเป็นผู้ที่ได้รับมอบบาตร และจีวร สืบจากข้าต่อไป"

บรรดาศิษย์ทั้งหลายที่ห้อมล้อมอาจารย์ ต่างมองหน้ากัน ไม่มีใครกล้าแสดงออกมาได้ทันใดนั้นก็มีศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า อันจู เป็นผู้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์โมกุเย็นมาช้านาน ก็ได้เขยิบตัวเข้าไปใกล้ และใช้มือเลื่อนถ้วยยาเข้าไปใกล้ตัวท่านอาจารย์ 2-3 นิ้ว แสดงการตอบคำถามของท่านอาจารย์ ใบหน้าของท่านอาจารย์ เคร่งเครียดมากขึ้นและถามว่า

"เจ้าเข้าใจเพียงเท่านี้นะหรือ ?"

อันจู จึงกลับยื่นแขนออกไป แล้วลากถ้วยยากลับมาไว้ที่เดิม คราวนี้ บรรดาศิษย์ต่างพากันประหลาดใจ เพราะเห็นใบหน้าท่านอาจารย์สดใสขึ้น มีรอยยิ้มปรากฏ ท่านได้กล่าวว่า

"มิเสียแรงที่เจ้าอยู่กับข้ามาสิบกว่าปี เจ้าไม่เคยเห็นตัวจริงของข้าเลย จงรับบาตรและจีวรนี้ไป เพราะมันเหมาะกับเจ้า"

พอพูดจบ ท่านอาจารย์โมกุเย็นก็ถึงแก่มรณภาพ

ท่านรู้หรือยังว่าที่ท่านอันจูเลื่อนถ้วยยาเข้าไปหาท่านอาจารย์ และเลื่อนถ้วยยากลับมาไว้ที่เดิมนั้น หมายความว่าอย่างไร ? ท่านอาจารย์โมกุเย็นใกล้จะสิ้นใจอยู่แล้ว ยังจะมาห่วงสังขารอยู่อีกหรือ !

หนามบ่งหนาม

ศิษย์ของท่านโซเย็น ซากุ คนหนึ่ง ได้เล่าเรื่องการเรียนในสำนักเก่าที่ตนเคยเล่าเรียน ให้ท่านอาจารย์ฟังว่า

"พวกครูของกระผมที่นั่นชอบนอนกันในตอนบ่ายทุกบ่าย ครั้นพวกกระผมไปถามท่านว่า ทำไมอาจารย์จึงชอบนอน ครูของผมก็มักจะตอบว่า ฉันไม่ได้นอน แต่ฉันกำลังเดินทางไปสู่เมืองในความฝันเพื่อพบปะกับบรรดานักปราชญ์ต่างๆ ในอดีตเหมือนที่ท่านขงจื้อได้เคยกระทำมา และท่านขงจื้อก็จะจดจำเอาคำสอนของนักปราชญ์เหล่านั้นมาสอนลูกศิษย์อีกที"

ศิษย์คนนั้นเล่าต่ออีกว่า

"บังเอิญบ่ายวันหนึ่งอากาศร้อนจัด พวกเราบางคนเกิดง่วงและหลับไป พอดีครูของพวกกระผมมาพบเข้า ก็ดุและบริภาษด้วยถ้อยคำต่างๆ นานา พวกนักเรียนเหล่านั้นจึงได้ตอบครูว่า

'พวกเราก็ได้ไปในเมืองแห่งความฝัน เพื่อพบกับนักปราชญ์สมัยก่อนเช่นเดียวกับท่านอาจารย์ขงจื้อเหมือนกัน' "

ครูของพวกเราก็ถามว่า
"แล้วได้ความจากนักปราชญ์เหล่านั้นว่าอย่างไร ?"

พวกเราคนหนึ่งจึงได้ตอบว่า

"เราได้ถามท่านนักปราชญ์โบราณเหล่านั้นแล้ว ว่าครูของพวกเราได้มาพบท่านทุกบ่ายหรือเปล่า ท่านนักปราชญ์เหล่านั้นกลับตอบว่า ไม่เคยเห็นหน้าครูคนใดมาหาเลย"

ในตอนบ่ายๆ ท่านชอบเดินทางไปหาท่านนักปราชญ์โบราณอยู่เสมอฯ อีกหรือเปล่า ระวังจะพบกับเจ้านายที่นั่นนะครับ จะหาว่าไม่เตือน

เสียงของมือข้างเดียว

ท่านมามิยา ได้เข้าไปหาอาจารย์ เพื่อขอคำแนะนำสั่งสอนเกี่ยวกับเซ็น ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้อธิบายอะไร เพียงแต่ตั้งปริศนาธรรมให้ไปขบคิดว่า

"เสียงของมือข้างเดียว เป็นอย่างไร?"
ท่านมามิยา ได้พยายามขบคิดเป็นเวลานาน ก็ยังไม่อาจหาคำตอบได้ ท่านอาจารย์รำคาญมาก จึงบอกเขาว่า

"เจ้ายังใช้ความเพียรไม่เต็มที่ เพราะยังมัวพะวงอยู่กับเรื่องอาหาร ทรัพย์สมบัติ และชื่อเสียงต่างๆ อยู่อย่างนี้ เจ้าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เจ้าควรไปตายดีกว่า"

ท่านมามิยา จึงกลับไปพยายามใช้สมาธิขบคิดปัญหานี้ใหม่ ต่อมาเมื่อพบท่านอาจารย์อีก ท่านอาจารย์ก็ถามอีกว่า

"เจ้าแก้ปัญหาไปได้เพียงใดแล้ว ?"

ทันใดนั้นท่านมามิยา ก็ล้มตัวลงนอนทำเป็นตายทันที เมื่อท่านอาจารย์เห็นเช่นนั้น ก็กล่าวขึ้นว่า

"โอ! เจ้าตายสนิทเลยนะ แต่ว่าเสียงของมือข้างเดียวน่ะเป็นอย่างไร?"

ท่านมามิยา ลืมตาขึ้นมองท่านอาจารย์ แล้วตอบว่า

"กระผมยังแก้ปัญหาข้อนั้นไม่ได้เลยขอรับ

"เฮ้!" ท่านอาจารย์เอ็ดตะโรทันที"คนตายน่ะ พูดไม่ได้ดอก ออกไปให้พ้น"

ท่านอาจจะคิดว่าเสียงของมือข้างเดียว ก็เหมือนกับการตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง แต่ยังไม่ใช่ เพราะนั่นยังง่ายเกินไป ถ้าเช่นนั้นเสียงของมือข้างเดียวเป็นอย่างไร ?

ขโมยกลับใจ

อาจารย์บันไก ได้เปิดสอนวิปัสสนากรรมฐาน ขึ้นที่วัดของท่าน เนื่องจากท่านเป็นอาจารย์เซ็นที่มีชื่อเสียง จึงมีนักศึกษามาจากทั่วสารทิศในประเทศญี่ปุ่น เข้ามารับการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนักศึกษาที่มาศึกษานั้น มีผู้หนึ่งชอบประพฤติตัวเป็นขโมย ชอบขโมยทรัพย์สินของนักศึกษาด้วยกัน

วันหนึ่งถูกจับได้ พวกนักศึกษาโกรธแค้นมาก จึงนำเรื่องไปฟ้องร้องท่านอาจารย์บันไก แต่ท่านก็กลับนิ่งเฉย ต่อมา นักศึกษาผู้นั้นก็ทำการขโมยของ และถูกจับได้อีก พวกนักศึกษาจึงพากันไปกล่าวโทษอีก แต่ท่านอาจารย์กลับทำเป็นไม่สนใจ คราวนี้พวกนักศึกษาโกรธมาก จึงยื่นคำขาดกับท่านอาจารย์บันไกว่า หากท่านอาจารย์ยังไม่ยอมชำระโทษหัวขโมยให้อีก พวกตนจะพากันออกจากสำนักทั้งหมด เมื่อท่านอาจารย์บันไกได้อ่านคำฟ้องแล้ว ท่านก็ให้เรียกประชุมบรรดานักศึกษาทั้งหลาย และกล่าวว่า

"พวกเธอทั้งหลายที่ลงชื่อในหนังสือฟ้องร้องนี้ นับว่าเป็นคนฉลาดมาก เพราะเธอต่างก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำอะไรควรละเว้น หากพวกเธอประสงค์จะออกจากสำนักฉันไปศึกษาต่อที่อื่นฉันก็ยินดี ให้เธอไปได้ตามแต่ใจปรารถนา แต่เจ้าเพื่อนขี้ขโมยที่น่าสงสารของเธอคนนี้ เขายังโง่เขลามาก ยังไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าหากฉันไม่สอนเขาแล้ว ใครล่ะจะเป็นผู้สอน เธอทั้งหลายจงเห็นใจเถิดที่ฉันต้องให้เขาอยู่กับฉันต่อไป"

พอท่านอาจารย์กล่าวจบลง นักศึกษาหัวขโมยก็ร้องไห้ออกมาด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็กลับตัวเป็นคนดีไม่มีนิสัยชอบขโมยของอีกเลย ท่านอาจารย์คงได้พิจารณาดูแล้วว่า นักศึกษาหัวขโมยยังคงพอจะโปรดได้ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ ท่านอาจจะต้องใช้วิธีตรงกันข้ามก็ได้

สิ่งที่ควรทำ

ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสมัยกามากูระ มีนักศึกษาผู้หนึ่งชื่อ ชินกัน ได้ศึกษาพุทธปรัชญาตามแนวของนิกายเท็นได เป็นเวลาถึง 6 ปี แล้วไปศึกษาตามแนวของเซ็นอีก 7 ปี จากนั้นได้เดินทางไปประเทศจีนและได้ศึกษาเซ็นตามแนวของจีนอีก 13 ปี เมื่อเขากลับมาประเทศญี่ปุ่น จึงมีผู้สนใจสนทนาซักถามปัญหาธรรมต่างๆ แต่ท่านชินกัน ก็ไม่ค่อยจะยอมตอบคำถาม วันหนึ่ง มีนักศึกษาเฒ่าจากสำนักเท็นไดมาหาท่านชินกันและกล่าวว่า

"ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ในสำนักเท็นไดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้รับฟังคำสอนมาก็มาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าได้ใจจนทุกวันนี้ คือทางสำนักได้สอนว่า ในโลกนี้แม้แต่ต้นหญ้าและต้นไม้ก็อาจบรรลุหรือตรัสรู้ได้ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดสำหรับข้าพเจ้ามาก"
"มันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า ที่เราจะมานั่งถกเถียงกันว่าต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้หรือไม่อย่างไร แต่ปัญหามันควรจะอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั้นแหละจะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร ท่านเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า ? " ท่านชินกันถาม

"จริงสินะ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนเลย" นักศึกษาเฒ่าตอบ

ท่านชินกันจึงบอกว่า

"ถ้าอย่างนั้นก็กลับบ้าน และลงมือคิดได้แล้ว"

พระพุทธองค์เคยตรัสสอนพราหมณ์ ที่มาถามปัญหาพากอภิปรัชญาทั้งหลาย เช่น ชาตินี้ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ว่าไม่มีประโยชน์อะไร ทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า

"เหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร แทนที่จะรีบรักษา กลับจะมัวหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า ใครเป็นผู้ยิง ลูกศรทำด้วยอะไร คันศรทำด้วยอะไร เช่นนี้ก็คงไม่ทันการ"

การปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์ก็เช่นกัน ท่านว่าจริงไหมครับ ?

สัจมรรค

ท่านอาจารย์นินากาวะ เป็นอาจารย์ของท่านอิคกุยุ ในวาระที่ท่านอาจารย์นินากาวะใกล้จะสิ้นลมหายใจ ท่านอาจารย์อิคกุยุ ก็ได้ไปเยี่ยม และถามท่านนินากาวะว่า

"ท่านอาจารย์ต้องการให้ผมนำทางให้ไหม?"

ท่านอาจารย์นินากาวะ ตอบว่า

"ท่านจะช่วยอะไรผมได้ เวลามาผมมาตัวคนเดียว เวลาผมจะไป ผมก็ต้องไปคนเดียว"

ท่านอิคกุยุได้ยินดังนั้นจึงตอบว่า

"ถ้าท่านอาจารย์ยังคิดว่า ท่านมาคนเดียว และไปคนเดียวอยู่ละก้อ แสดงว่าท่านหลงทางแล้ว ให้ผมนำทางท่านดีกว่า เพราะความจริงแล้ว ไม่มีการมาและการไปเลยต่างหาก"

ด้วยคำแนะนำของท่านอิคกุยุ เพียงเท่านี้ ท่านนินากาวะ ก็ถึงซึ่งความหลุดพ้น และมรณภาพไปด้วยความสงบ

สำหรับคำสอนทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อที่ว่าตายแล้วเกิดแบบมีวิญญาณออกจากร่าง แล้วไปแสวงหาที่เกิดใหม่ เป็นมิจฉาทิฐิ และความเชื่อที่ว่าตายแล้วดับสูญ ก็เป็นมิจฉาทิฐิเช่นกัน ความจริงคนเราเป็นเพียงปัจจัยต่างๆ ที่รวมตัวกัน เมื่อคงอยู่ไม่ได้ก็สลายตัวไปรวมกับปัจจัยตัวอื่นๆ ซึ่งเมื่อรวมตัวครบก็เกิดเป็นคนใหม่ขึ้นมาอีก คนใหม่ก็ไม่ใช่คนเก่าเพราะปัจจัยไม่เหมือนกัน เปรียบเหมือนตอนเป็นเด็ก ปัจจัยที่รวมตัวกันเป็นเด็กก็อย่างหนึ่ง เมื่อแก่ ปัจจัยที่รวมตัวกันเข้าก็ไม่เหมือนกับตอนเป็นเด็ก แม้จะไม่ใช่ชุดเดียวกัน แต่ก็เป็นส่วนสืบเนื่องมาจากปัจจัยเมื่อตอนเป็นเด็กเพราะความยึดติดฝังแน่นเป็นปัจจัยสืบทอดตลอดมา จึงคิดว่าเป็นตัวตนของเราอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง .. เชื่อหรือไม่ ?

อภินิหารของเซ็น

นิกายชินชูในประเทศญี่ปุ่น เป็นนิกายที่ถือปฏิบัติว่า การสวดสรรเสริญพระเมตตาคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ จะทำให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระในนิกายนี้เกิดพากันอิจฉาริษยาท่านอาจารย์บันไกแห่งวัดริยูมอน ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จึงได้คัดเลือกพระที่ปราดเปรื่ององค์หนึ่ง มาโต้วาทีกับท่านอาจารย์บันไก พระนิกายชินชูเดินทางไปที่วัดริยูมอน ในขณะนั้นท่านอาจารย์บันไกกำลังเทศน์สั่งสอนศิษย์อยู่ จึงได้หยุดเทศนามองดูพระอาคันตุกะด้วยอาการสงบ พระนิกายชินชูเข้าไปยืนตรงหน้าด้วยอาการท้าทายแล้วกล่าวว่า

"นี่แน่ะ อาจารย์บันไก อาจารย์ผู้ก่อตั้งนิกายของเรานั้นสามารถแสดงอภินิหารได้อย่างมหัศจรรย์ โดยตัวท่านจะยืนชูพู่กันอยู่บนฝั่งแม่น้ำด้านนี้ แล้วให้ลูกศิษย์ชูกระดาษอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ท่านสามารถเขียนพระนาม พระอมิตาภาพุทธะ ให้ผ่านอากาศไปติดในกระดาษได้ ท่านล่ะ ทำอภินิหารแบบนั้นได้ไหม ? "

ท่านอาจารย์บันไกตอบอย่างสงบว่า

"ฉันคิดว่า อาจารย์ของท่านอาจจะแสดงกลอย่างนั้นได้ แต่ไม่ใช่วิธีการของเซ็น อภินิหารของฉันมีอยู่ คือ เมื่อฉันรู้สึกหิวฉันก็กิน และเมื่อฉันรู้สึกกระหายน้ำฉันก็ดื่ม"

สัจจะธรรมของเซ็น ก็คือการปฏิบัติตนตามกฎความเป็นจริงของธรรมชาติ จะไม่สนใจในเรื่องอภินิหารใดๆ เลย

มณีที่แท้จริง

สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงชูดวงมณีซึ่งมีสีต่างๆกันขึ้น แล้วทรงถามท้าวมหาราชทั้ง 5 ว่า

"มณีนี้ มีสีเป็นอะไร ?"

ท้าวมหาราชทั้ง 5 ต่างก็กราบทูลว่ามีสีต่างๆ กันไป พระโลกนาถทรงเก็บดวงมณีนั้น แล้วทรงยกพระหัตถ์เปล่าชูขึ้น ตรัสถามว่า

"มณีนี้ มีสีอะไร ?"

ท้าวมหาราชทั้งหลายทูลว่า

"ในพระหัตถ์ของพระองค์มิได้มีดวงมณี จะมีสีมาแต่ไหนเล่า?"

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

"เธอทั้งหลายเหตุใดจึงหลงนัก ตถาคตนำเอามณีของโลกออกแสดงเธอต่างก็กล่าวว่า มีสี เขียว แดง เหลือง ขาว ต่างๆกันไป ครั้นตถาคตนำเอาดวงมณีที่แท้จริงออกแสดง เธอทั้งหลายกลับไม่รู้"

ท่านล่ะ ว่ามีสีอะไร?
สิ่งที่เหนือกว่าพุทธะ

ท่านอาจารย์โตซาน ได้สอนบรรดาศิษย์ของท่านว่า

"พวกเธอควรจะรู้ว่า ย่อมมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและสูงกว่าอยู่เสมอในพระพุทธศาสนานี้"

"อะไรคือสิ่งที่ลึกซึ้งและสูงกว่า พุทธะ?" พระรูปหนึ่งถาม

"สิ่งนั้นคือ ไม่ใช่พุทธะ" ท่านอาจารย์ตอบ

ก็คงเช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า

"พึงเห็นความไม่มีในความมี และพึงเห็นความมีในความไม่มี"

คำสอนในพระพุทธศาสนาส่วนมาก จะสอนให้รู้จักมองความจริงในสองระดับ แล้วแต่สติปัญญาของแต่ละคน ระดับแรกก็มองแบบสมมุติสัจจะไปก่อน เมื่อต้องการแสวงหาความรู้แจ้งจริงๆ แล้ว ก็ต้องมองให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คือมองแบบปรมัติสัจจะหรือวิมุติสัจจะ

พระใบลานเปล่า

ในสมัยพุทธกาล มีพระสาวกองค์หนึ่งชื่อ ตุจโฉโปฏฐิละ เป็นผู้คงแก่เรียน แตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อท่านอธิบายธรรม ก็ไม่มีใครกล้าพูดหรือเถียงท่าน เป็นที่นับหน้าถือตาโดยทั่วไปวันหนึ่ง ท่านไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ขณะก้มลงกราบ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

"มาแล้วหรือ พระใบลานเปล่า"

เมื่อท่านเสร็จกิจทูลลากลับ พระพุทธองค์ก็ตรัสอีกว่า

"กลับแล้วหรือ พระใบลานเปล่า"

ท่านตุจโฉโปฎฐิละสงสัยว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสเช่นนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าจริง ท่านเป็นพระเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย เมื่อมองดูจิตใจของตน ก็ไม่ต่างจากฆราวาสเลย ฆราวาสยินดีอะไรอยากได้อะไร ตนก็เป็นเช่นนั้น ความเป็นสมณะไม่มีเลย ท่านจึงสนใจจะปฏิบัติบ้าง เมื่อไปหาอาจารย์ตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีใครกล้ารับ เพราะเห็นว่าท่านร่ำเรียนมามาก ไม่มีใครกล้าสอน ในที่สุดท่านได้ไปขอปฏิบัติกับสามเณรน้อยซึ่งเป็นอริยบุคคล เณรจึงขอทดลองดูก่อน โดยสั่งให้ท่านห่มผ้าให้เรียบร้อย แล้วสั่งให้วิ่งลงไปลุยในหนองที่เป็นโคลนตม เมื่อเณรเห็นว่าท่านละทิฐิได้แล้ว จึงสอนวิธีกำหนดอารมณ์จับอารมณ์ให้รู้จักจิตของตน โดยยกอุบายขึ้นว่า

"เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในโพลงจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่หกรู ถ้าเหี้ยเข้าไปในนั้น ทำอย่างไรจึงจะจับเหี้ยได้?" เณรแนะอีกว่า

"จะจับเหี้ย ก็ต้องหาอะไรมาปิดรูไว้ก่อนห้ารู เหลือเพียงรูเดียวให้เหี้ยออก แล้วคอยจ้องมองดูที่รูนั้น เมื่อเหี้ยวิ่งออกมาเมื่อไร ก็คอยจับเอาเท่านั้น"

การกำหนดจิตก็เหมือนกับการจับเหี้ย ต้องปิดทวารทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสียก่อน คงเหลือกำหนดแต่จิตหรือใจเพียงอย่างเดียว แล้วใช้สติเป็นตัวคอยควบคุม

ท่านคิดจะจับเหี้ยหรือยัง ?

จะทักทายอาจารย์เซ็นว่าอย่างไร

ท่านโกโสะ เคยตั้งคำถามว่า

"เมื่อท่านพบอาจารย์เซ็นเดินมาตามถนน ท่านจะทักทายว่าอย่างไร?"

คำถามนี้ไม่ต้องการคำตอบ

สำหรับอาจารย์เซ็นผู้รู้แจ้งแล้ว การจะทักทายท่านด้วยคำพูดหรือนิ่งเงียบ ก็ไม่ต่างกันเลย ในโลกของธรรมชาติย่อมมีความสงบร่มรื่น และความงามอยู่ในตัวเองแล้ว ในโลกแห่งการรู้แจ้งธรรมย่อมอยู่เหนือทั้งคำพูดและการนิ่งเงียบ

พระผู้เฒ่ากับคนแบกของ

พระเซนชรารูปหนึ่งในประเทศจีนซึ่งปฏิบัติภาวนาอยู่นานหลายปี ท่านมีจิตดีและกลายเป็นคนสงบเงียบมาก แต่ก็ยังไม่เคยสัมผัสการสิ้นสุดแห่ง "ฉัน" และ "ผู้อื่น" ภายในใจได้อย่างแท้จริง ท่านไม่เคยบรรลุถึงต้นธารความนิ่งหรือศานติที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไปขออนุญาตอาจารย์ว่า

"ผมขอออกไปปฏิบัติบนเทือกเขาได้ไหมครับ ผมถือบวชและฝึกฝนมานานหลายปี ไม่ต้องการอื่นใดนอกจากการเข้าใจธรรมชาติแท้ของตนเองและโลก"

อาจารย์รู้ว่าจิตของพระรูปนี้สุกงอมแล้วจึงอนุญาตให้ไปได้ ท่านออกจากวัดโดยมีบาตรและบริขารเพียงเล็กน้อยติดตัว ระหว่างทางได้เดินผ่านเมืองต่าง ๆ หลายเมือง ครั้นออกจากหมู่บ้านสุดท้ายก่อนขึ้นเขา ปรากฏว่ามีชายชราคนหนึ่งเดินสวนทางลงมา ชายคนนั้นมีห่อใหญ่มากเป้ติดหลังมาด้วย (ชายชราผู้นี้แท้จริงแล้วคือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งพุทธศาสนิกชาวจีนเชื่อกันว่าจะมาปรากฏแก่คนที่มีจิตสุกงอมในจังหวะที่เขาจะบรรลุธรรม ภาพของพระมัญชุศรีที่มีการบรรยายไว้มาก มักเป็นภาพพระองค์ถือดาบแห่งปรีชาญาณคมกริบที่สามารถตัดความยึดมั่น มายาคติ และความรู้สึกแบ่งแยกได้หมดสิ้น) ชายชราเอ่ยทักพระว่า

"สหาย ท่านกำลังจะไปไหนหรือ"

พระจึงเล่าเรื่องของตนว่า
"เราปฏิบัติมานานหลายปีแล้ว ตอนนี้สิ่งเดียวที่ต้องการคือการได้สัมผัสจุดศูนย์กลางนั้น คือการรู้สิ่งที่เป็นแก่นแท้แห่งชีวิต บอกเราเถิดผู้เฒ่า ท่านทราบอะไรเกี่ยวกับความรู้แจ้งนี้บ้างไหม"

จังหวะนั้นชายชราเพียงแต่ปลดของที่แบกมาปล่อยให้หล่นลงพื้น แล้วพระก็บรรลุธรรมตามแบบฉบับนิทานเซนที่ดี ความหมายก็คือ เราต้องรู้จักปล่อยวางความทะเยอทะยานและสิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นภารกิจ ปล่อยวางอดีต อนาคต อัตลักษณ์ ความกลัว ทัศนคติ ความรู้สึกแห่งความเป็น "ตัวฉัน" และ "ของฉัน" เสียให้สิ้น

มาถึงจุดนี้ พระเพิ่งบรรลุธรรมมองชายชราอย่างสับสนเล็กน้อยว่าควรทำอย่างไรต่อไป ท่านถามว่า

"แล้วต่อไปล่ะ"

ชายชรายิ้มก่อนก้มลงหยิบห่อของมา เป้ใส่หลังอีกครั้งแล้วเดินเข้าเมืองไป

การจะวางแอกหนักลงได้นั้น ก่อนอื่นเราต้องรับรู้ทุกอย่างที่แบกอยู่ กล่าวคือ เราต้องเห็นความทุกข์โศกของตนเอง เห็นความยึดมั่นและความเจ็บปวด เห็นความที่เราทั้งหลายต่างก็อยู่ในวังวนนี้ และยอมรับการเกิดและการตาย หากเราไม่เผชิญหน้า ถ้าเรากลัวตาย กลัวการยอมระวางและไม่อยากมอง เราไม่อาจเปลื้องความทุกข์โศกไปได้ มีแต่จะผลักไสมันแล้วก็หวนมายึดจับกลับไปกลับมาอยู่เท่านั้นเอง เราจะปลงภาระได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นธรรมชาติของชีวิตอย่างตรงไปตรงมาแล้วเท่านั้น ครั้นแล้วด้วยปัญญากรุณา เราก็สามารถหยิบมันขึ้นมาใหม่ เมื่อปล่อยวางแล้ว เราย่อมกระทำ

การต่าง ๆ ในโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือกระทั่งอย่างน่าทึ่ง โดยไม่รู้สึกขมขื่นหรือเกิดความสำคัญตนแต่อย่างใด.


เรื่อง:www.dharma-gateway.com
เสียงประกอบ //www.palungjit.com/




 

Create Date : 09 มกราคม 2554
4 comments
Last Update : 9 มกราคม 2554 18:34:49 น.
Counter : 4735 Pageviews.

 

ดิฉันอ่านเจอปริศนาธรรม 3 ข้อนี้ แต่แก้ไม่ออกว่าหมายถึงอะไรค่ะ ถ้าจะขอความกรุณาท่านผู้รุ้ช่วยไขปริศนาให้ด้วยจะเป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ
1.สะพานไหล น้ำไม่ไหล
2.ก่อนพ่อแม่ให้กำเนิดเรา หน้าตาดั้งเดิมของเราเป็นอย่างไร
3.สิ่งทั้งหลายรวมไปที่หนึ่ง หนึ่งนั้นคืออะไร

ขอบพระคุณค่ะ
สนะยา เชียงใหม่
sontaya_aw@hotmail.com

 

โดย: สนธยา IP: 203.156.40.83 4 กันยายน 2554 17:23:48 น.  

 

ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ซาโตริ ...

 

โดย: พระมหาสกุล มหาวีโร IP: 223.204.86.223 6 กันยายน 2554 15:54:29 น.  

 

อ่านแล้วได้สติปัญญาเกิดเพราะต้องคิดตามเรื่องราวจากบทความต่างๆ เป็นวิทยาทานได้ดีครับ

 

โดย: hypo.pk@gmail.com IP: 27.55.13.129 27 มกราคม 2556 1:10:18 น.  

 

💛💑💏💁👫😘😗😔😏😸😾🙈😹😻🙉🙈🙈🙉🙊

 

โดย: 😹😹😹😹 IP: 182.232.147.185 18 กันยายน 2560 5:47:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.