บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
13 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
วิถีเซน(39)...อิสรภาพแห่งใจ ตอน 2








ขอบคุณความเป็นอนิจจัง

เรามีครูบาอาจารย์หลายท่านที่สอนเรื่องความเป็นอนิจจัง รวมทั้งลัทธิเต๋าด้วย ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ถึงเธอจะเห็นด้วยกับคำสอนนี้ มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะคำสอนนี้ไม่ใช่แค่ความคิดเฉยๆ เธอต้องใช้ความเป็นอนิจจังนี้เป็นเครื่องมือในการเจริญสมาธิ เมื่อเธอสัมผัสกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเธอตลอดทั้งวัน เธอจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังได้ด้วยตัวเอง เธอสามารถมองเห็นความเป็นอนิจจังในคู่ครองของเธอ เห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ตัวเธอเองก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ และเธอเองก็เป็นอนิจจังเช่นเดียวกัน

เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องการคงอยู่อย่างถาวร แต่นั่นไม่เป็นอนิจจัง ถ้าเธอเปรียบเทียบภาพของเธอเมื่ออายุ 5 ขวบกับตัวเธอในปัจจุบัน เธอจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของร่างกาย ความรู้สึก และการรับรู้ เธอสามารถมองเห็นความแตกต่างอันยิ่งใหญ่ระหว่างเธอเมื่ออายุ 5 ขวบกับเธอในปัจจุบัน เธอจะเห็นความเป็นอนิจจัง เมื่อเรามีการเจริญสมาธิอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติของความเป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเรา

ความเป็นอนิจจังนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องทางลบ ไม่ใช่บทเพลงที่ทำให้รู้สึกเศร้า เพราะถ้าเธอตระหนักรู้ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง เธอจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ มากขึ้น เธอจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ ณ ที่นี้ เพราะเธอรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง และเธอก็จะเห็นคุณค่าของทุกนาทีที่จะอยู่กับเขา ถ้าเธอเห็นความเป็นอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่าง เธอจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความสวยงามมาก เหมือนกับดาวตกที่อยู่เพียงชั่ววินาที เหมือนดอกไม้ไฟที่ถูกจุดขึ้นมา สว่างไสวไปชั่วแค่วินาทีเดียวก่อนดับไป

เวลาที่เรามีความโกรธ เราอาจพูดออกไปด้วยความรู้สึกโกรธเพื่อทำให้คนที่รักเรารู้สึกเป็นทุกข์ เราจะต้องพิจารณาว่าคนรักของเธอนั้นเป็นอนิจจัง เธออาจหลับตาและทำสมาธิเพื่อมองให้เห็นว่าอีก 300 ปี คนรักของเธอก็จะไม่อยู่ในรูปลักษณ์แบบนี้ และตัวเธอเองก็จะไม่อยู่ในรูปลักษณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเธอสัมผัสกับธรรมชาติความเป็นอนิจจัง เธอจะสามารถลืมตาขึ้นมาและเห็นว่าความโกรธนั้นได้มลายหายไป เธอได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทุกวินาทีที่คนรักยังอยู่กับเธอ เธออาจสวมกอดคนรักเขาให้อยู่ในอ้อมกอดของเธอ หายใจเข้า เธอยังอยู่ที่นี่ หายใจออก ความโกรธได้ถูกถอดถอนออกไปด้วยการพิจารณาความเป็นอนิจจัง

เห็นอนิจจังก็เห็นธรรม

ความเป็นอนิจจังในพุทธศาสนาไม่ได้หมายถึงความเป็นอนิจจังเท่านั้น แต่หมายถึงความไร้ตัวตน (อนัตตา) ความเป็นดั่งกันและกัน ความเอื้ออิงเกื้อกูลเพื่อที่จะเกิดขึ้น หรือ ปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่เห็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ เราก็จะไม่เห็นธรรมชาติของความเป็นอนิจจังด้วย เวลาที่เราพิจารณาความเป็นอนิจจังก็หมายถึง เราพิจารณาความเป็นดั่งกันและกัน ความเป็นอนัตตา และความเป็นปฏิจจสมุปบาทด้วย

ความเป็นอนิจจังนั้นไม่ใช่ความจริง แต่เป็นปรมัตถ์หรือความจริงอันสูงสุดที่เราจะต้องประกาศว่าเป็นความจริงสมบูรณ์ยิ่งใหญ่กว่าความจริงอื่น หาใช่ลัทธิความเชื่อ แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องก้าวข้ามผ่านความคิดเห็นที่เรายึดติดกับการเป็นอนิจจัง เพราะความเป็นอนิจจังไม่ใช่ความคิดเห็น แต่เป็นเครื่องมือที่ให้เราใช้

สมมติเรามีคำถามว่า ความเป็นอนิจจังคืออะไร ความเป็นจริงคือ ต้นไม้เป็นอนิจจัง ก้อนเมฆก็เป็นอนิจจัง แล้วอะไรเล่าคืออนิจจัง

ความเป็นอนิจจังนั้นเป็นเหมือนคำคุณศัพท์ แต่มันก็ควรจะเป็นคำนามด้วย คำคุณศัพท์คือคำที่บอกคุณลักษณะ เป็นคำที่ขยายคำนาม ความเป็นอนิจจังหมายถึง ไม่มีอะไรที่จะอยู่เหมือนเดิมตลอดไป แต่บางอย่างอาจสามารถอยู่ได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น ในชั่วขณะต่อไปมันก็กลายเป็นสิ่งอื่น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าตลกที่จะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะคงอยู่ตลอดไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตรงนั้นแค่ชั่วขณะของเสี้ยว เสี้ยว เสี้ยว วินาที และนั่นก็คือเช่นนั้นเอง

เวลาที่เราเห็นภาพลักษณ์บางอย่าง ภาพบางอย่างที่ปรากฏขึ้นภายนอก เราคิดว่าข้างในคงมีอะไรบางอย่างที่อยู่ได้นาน นั่นก็คือจุดที่ทำให้เราตีตราลงไปว่ามันเป็น "นิจจัง" หรือถาวร แต่จริงๆ แล้วเธอไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้เหมือนกับเป็นคนเดิมแม้ในชั่วขณะ หรือสองชั่วขณะ

หวังว่าคำสอนนี้คงไม่ซับซ้อนจนเกินไป

ก้อนเมฆไม่เคยตาย

ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพานไป พระพุทธองค์ได้สอนบทคาถาที่สวยงามที่มีชื่อเป็นภาษาบาลีของเถรวาท ในพระสูตรมหาปรินิพพานว่า

"สังขารเป็นอนิจจัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นอนิจจัง
เป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องผ่านการเกิดและการตาย
เมื่อธารแห่งการเกิดและการตายนั้นจบสิ้นลง
นิพพานก็กลายเป็นแหล่งแห่งความสุข"

เมื่อความคิดเห็นเรื่องการเกิดและการดับได้ถูกถอดถอนออกไป การดับสิ้นซึ่งความคิดเห็นนั้นเราเรียกว่า ความสุข เราอาจแบ่งบทคาถานี้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนต้นคือสองประโยคแรกซึ่งหมายถึง ภาวะที่ยังมีการเกิดการดับ สองประโยคสุดท้ายคือเป็นความจริงอันสูงสุด หรือปรมัตถ์ธรรม สองประโยคแรกนี้พูดถึงความเป็นจริงเปรียบเทียบ หมายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ สรรพสิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมานั้นเป็นอนิจจัง เพราะทั้งหมดจะต้องผ่านการเกิดการตาย เวียนว่ายอยู่ในนั้น เป็นประโยคที่พูดอยู่ในโลกธรรม ส่วนสองประโยคสุดท้ายพูดถึงความเป็นจริงอันสูงสุด หรือปรมัตถ์ธรรม

เมื่อเราได้ถอดถอนความคิดเห็นเรื่องของการเกิดการดับ เราก็จะพบความสุขที่แท้จริง เพราะว่าการเกิดการดับเป็นเพียงความคิดเห็น ไม่ใช่ความเป็นจริง เมื่อเราฝึกอย่างลึกซึ้ง เราจะมองเห็นว่าภาพข้างนอกเหมือนกับมีการเกิดการตายอยู่ แต่เมื่อมองอย่างลึกซึ้งเธอจะเห็นว่า ไม่มีการเกิด-การตาย ไม่มีการเกิด-การดับ

เมื่อเรามองไปที่เมฆบนท้องฟ้า เราจะเห็นว่าเมฆไม่เคยตาย เมฆไม่เคยดับไป เมฆนั้นไม่เคยตายไปจากความไม่มีอะไรไปเป็นสิ่งที่มีอะไร แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่เมฆนั้นจะเกิดขึ้นมา เพราะว่ามีการเกิดขึ้นนั้นหมายถึง จากที่ไม่มีอะไร เธอได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง จากที่ไม่เคยเป็นใคร เธอเกิดขึ้นมาเป็นใครคนหนึ่ง เมฆไม่เคยเป็นแบบนั้น ก่อนที่จะเกิดขึ้นมาเป็นเมฆ เมฆได้เป็นอะไรสักอย่างมาก่อนแล้ว เช่น เป็นมหาสมุทร เป็นไอร้อนที่สร้างขึ้นจากพระอาทิตย์ ฉะนั้นเมฆไม่ได้มาจากสิ่งที่ไม่มีอะไรแล้วกลายมาเป็นเมฆ ธรรมชาติของเมฆจึงเป็นธรรมชาติของการไร้การเกิดไร้การตาย



การเกิดขึ้นนั้นหมายถึง
จากที่ไม่มีอะไร
เธอได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง
จากที่ไม่เคยเป็นใคร
เธอเกิดขึ้นมาเป็นใครคนหนึ่ง
เมฆไม่เคยเป็นแบบนั้น
ก่อนที่จะเกิดขึ้นมาเป็นเมฆ
เมฆได้เป็นอะไรสักอย่างมาก่อนแล้ว
เช่น เป็นมหาสมุทร
เป็นไอร้อนที่สร้างขึ้นจากพระอาทิตย์
ฉะนั้นเมฆไม่ได้มาจากสิ่งที่ไม่มีอะไร
แล้วกลายมาเป็นเมฆ
ธรรมชาติของเมฆจึงเป็นธรรมชาติ
ของการไร้การเกิดไร้การตาย

.........................


เข้าใจทุกข์ก็พ้นทุกข์

ในตอนแรกๆ เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง มันต้องผ่านการเกิดการตาย แต่ว่าในสองประโยคสุดท้ายนั้น การเกิดการตายเป็นแต่เพียงความคิดเห็น และเมื่อสามารถข้ามพ้นความคิดเห็นของการเกิดและการตายได้ เราก็จะพบแหล่งของความสุข และเธอจะไม่กลัวความเป็นอนิจจังและการเกิดการตายอีกต่อไป

นั่นคือบทคาถาที่มีความงดงามมากที่สุดคาถาหนึ่ง ในคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองอย่างลึกซึ้งในเรื่องความเป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังจึงหมายถึง การเป็นดั่งกันและกัน หมายถึงความเป็นอนัตตา และนั่นก็คือสิ่งที่เราควรจะทำสมาธิ เราไม่ควรยึดติดว่าเป็นความจริงอันสูงสุด เป็นความคิดเห็นอันสุดยอด

เรามีแนวโน้มที่จะเสาะแสวงหาความน่ายินดีความพึงพอใจในตัวเรา ในตัวเรามีสิ่งที่เรียกว่า "มนัส" เป็นสภาพหนึ่งของจิตใต้สำนึกที่พยายามวิ่งหนีความทุกข์ และยึดติดกับความอยาก ความน่ายินดี ความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง เมื่อเราไม่มีปัญญาเห็นแจ้งที่เกิดจากการเจริญสติและสมาธิ เรากำลังอนุญาติให้มนัสบงการชีวิตของเราด้วยการวิ่งหนีออกจากความทุกข์ วิ่งหนีออกจากความเจ็บปวด แล้วพยายามวิ่งตามความอยากอยู่เสมอ

เรารู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถโอบกอดความทุกข์ของเรา และมองเข้าไปสู่ธรรมชาติของความทุกข์นั้น เราจะไม่สามารถเห็นหนทางที่นำไปสู่การเยียวยา และหลุดพ้นออกจากความทุกข์

มนัสจะพยายามทำให้เราเพิกเฉยกับความเป็นจริงเช่นนี้ คือ หลีกหนีความดีงามของความทุกข์ มนัสจึงไม่สามารถเห็นบทบาทของโคลนตมที่มีต่อดอกบัว มนัสเชื่อว่าดอกบัวเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีโคลนตม มนัสนั้นจึงไม่เห็นอันตรายที่เกิดจากการวิ่งตามความอยาก

มนัสนั้นดึงดูดความอยากมากมายและเมื่อได้มาซึ่งความอยากเหล่านั้นแล้ว เรากลับเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้น เหมือนกับกระดูกเปล่าที่สุนัขพยายามกัดแทะอย่างไม่เคยพึงพอใจ และมนัสก็ไม่สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น การทำสมาธิหมายถึง การมีปัญญารู้แจ้งในคุณดีงามของความทุกข์ และมีปัญญาที่จะเห็นถึงอันตรายของการวิ่งเสาะแสวงหาสิ่งที่เราอยากได้ เราต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ให้เห็นสิ่งเหล่านี้



เรารู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ
ที่เราสามารถเรียนรู้ได้
แต่ถ้าเราไม่สามารถ
โอบกอดความทุกข์ของเรา
และมองเข้าไปสู่ธรรมชาติ
ของความทุกข์นั้น
เราจะไม่สามารถเห็นหนทาง
ที่นำไปสู่การเยียวยา
และหลุดพ้นออกจากความทุกข์

.............................

ไร้ความตาย ไร้ความกลัว

การทำสมาธิเพื่อมองอย่างลึกซึ้ง ให้เห็นถึงธรรมชาติของการไร้การเกิดไร้การตาย คือการเข้าถึงธรรมชาติแห่งนิพพาน นิพพานหมายถึงการถอนรากของความคิดเห็นในเรื่องการเกิดการตาย

นิพพานนั้นไม่ใช่คำสัญญาที่เกิดขึ้นหากเราทำบุญด้วยการปฏิบัติในตอนนี้ แต่นิพพานนั้นอยู่ที่นี่ ณ ขณะนี้แล้ว ดำรงอยู่ในการปฏิบัติของเรา นิพพานหมายถึงการถอดถอนความคิดเห็นทั้งหลาย รวมถึงความคิดเห็นสองขั้วเรื่องการเกิด-การดับ เราไม่เพียงจะต้องถอดถอนความคิดเห็นเรื่องความเป็นอมตะ ความคิดเห็นเรื่องความเป็นอนิจจังก็ต้องถอดถอนด้วย

เมื่อเราการถอดถอนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเกิดการดับแล้ว เราก็จะได้พบกับนิพพานซึ่งคือความสุขอันแท้จริงและการไร้ซึ่งความกลัว เราสามารถฝึกที่จะแทงทะลุผ่านความคิดเห็นแห่งการเกิดและการตาย การเป็นอยู่และการไม่เป็นอยู่ การมีและการไม่มี

นิพพานก็ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามเสาะแสวงหาเช่นเดียวกัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตรงนั้นแล้วในธรรมชาติแห่งนิพพาน และเธอก็เป็นนิพพานอยู่แล้ว ความเป็นจริงของเธอคือการไร้การเกิดไร้การตาย ไร้การมาไร้การไป เราอยู่ในนิพพานอย่างสมบูรณ์แล้ว เราจึงไม่เป็นเหยื่อของการเสาะแสวงหาอีกต่อไป

เมฆที่อยู่บนท้องฟ้านั้นก็เป็นธรรมชาติแห่งนิพพาน อยู่ในธรรมชาติของการไร้การเกิดไร้การตาย เมฆนั้นจึงไม่ต้องไปเสาะแสวงหานิพพาน เพราะเมฆนั้นเป็นนิพพานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่ข้อสัญญา แต่เป็นธรรมชาติอันแท้จริงที่เราจะต้องตื่นรู้ ด้วยการถอดถอนความคิดเห็นเกี่ยวกับนิพพาน



เมฆที่อยู่บนท้องฟ้านั้น
ก็เป็นธรรมชาติแห่งนิพพาน
อยู่ในธรรมชาติของ
การไร้การเกิดไร้การตาย
เมฆนั้นจึงไม่ต้องไปเสาะแสวงหานิพพาน
เพราะเมฆนั้นเป็นนิพพานอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่ข้อสัญญา
แต่เป็นธรรมชาติอันแท้จริง
ที่เราจะต้องตื่นรู้ด้วยการถอดถอน
ความคิดเห็นเกี่ยวกับนิพพาน

......................

เพชรตัดทำลายมายาแห่งความคิดเห็น

ในพระสูตรเพชรตัดทำลายมายา ได้บอกว่ามีความคิดพื้นฐาน 4 ประการที่เราจะต้องโยนทิ้ง ประการแรกคือ ความคิดเกี่ยวกับตัวตน เมื่อไรที่เราสามารถมองเห็นว่าตัวของเรานั้นกอปรขึ้นด้วยสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อนั้นเราจะเป็นอิสระจากความคิดเห็นเกี่ยวกับ "ตัวฉัน" หรือ อัตตา

ประการที่สองคือ ความคิดเห็นเกี่ยวกับมนุษย์ นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เธอจะต้องถอดถอนความคิดเห็นเกี่ยวกับมนุษย์ ประวัติวิวัฒนาการของมนุษย์อาจทำให้เราคิดว่า เราเป็นสิ่งพิเศษกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เราจะต้องถอดถอนความคิดเห็นที่ว่าเราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเราเองเพียงลำพัง เพราะมนุษย์นั้นประกอบขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ในตัวของเราประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ พืชพันธุ์ต่างๆ และสรรพสัตว์ต่างๆ ถ้าเราส่งองค์ประกอบเหล่านั้นคืนกลับไปสู่ธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้อีกต่อไป

เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า พระสูตรเพชรตัดทำลายมายาเป็นความแท้จริงของนิเวศวิทยาเชิงลึก เพราะถ้าเราไม่รักษาสรรพสัตว์ พืชพันธุ์ และแร่ธาตุไว้ได้ เราก็จะไม่สามารถรักษาตัวเราได้ เราจะต้องปกป้องสัตว์ พืช แร่ธาตุไว้เพื่อมนุษย์จะได้รับการปกป้องเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เราจึงต้องถอดถอนความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แยกออกมาใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองได้ นั่นไม่ใช่ความจริงเลย เราประกอบไปด้วยเมฆ พื้นดิน ไฟ อากาศ และธาตุทั้ง 4 หากขาดสิ่งเหล่านี้เราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้


ข้อที่สามคือ ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต บรรดาสิ่งมีชีวิตนั้นคือมนุษย์และสัตว์ ซึ่งมนุษย์และสัตว์นั้นไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากขาดซึ่งพืชและแร่ธาตุ ในประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตทำให้เรารู้ว่า เรามาจากแร่ธาตุต่างๆ เรามาจากพืชพันธุ์ต่างๆ เรามาจากสัตว์ต่างๆ เรารู้ว่าเรามีบรรพบุรุษที่เป็นมนุษย์ แต่เราก็มีบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์ พืชพันธุ์ และแร่ธาตุด้วย เราจึงไม่ควรแยกตัวออกมาจากสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นก็คือตัวเรา และตัวเราก็คือสิ่งเหล่านั้นด้วย



ถ้าเธอเห็นความเป็นอนิจจัง
ของทุกสิ่งทุกอย่าง
เธอจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง
มีความสวยงามมาก
เหมือนกับดาวตกที่อยู่เพียงชั่ววินาที
เหมือนดอกไม้ไฟที่ถูกจุดขึ้นมา
สว่างไสวไปชั่วแค่วินาทีเดียว
ก่อนดับไป

..............................


ความรู้วิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้ว่าโลกของสิ่งมีชีวิตนั้นน่าสนใจ และมันดำรงอยู่ในโลกของสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย อนุภาคและอิเล็กตรอนที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก นักวิทยาศาสตร์สามารถมองเห็นวิญญาณของสิ่งที่ไม่มีชีวิตได้ ความคิดที่แบ่งแยกสิ่งมีชีวิตออกจากสิ่งไม่มีชีวิตเป็นความคิดเห็นที่ผิดที่เราจะต้องถอดถอนออกจากตัวเรา

ข้อที่สี่คือ ความคิดเห็นเกี่ยวกับช่วงชีวิต เราคิดว่าในช่วงระยะเวลาที่เรามีชีวิตนั้น มีช่วงเวลาที่เรียกว่าการเกิด หรือเริ่มต้น และช่วงขณะของการหยุดการดำรงอยู่ หรือการตาย เรียกได้ว่าชีวิตของเราเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันเกิดและจบลงเมื่อวันตาย เราคิดว่า ก่อนที่จะเกิดเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น เมื่อตายไปเราก็จะหายไปอย่างสิ้นเชิง เราคิดว่า จากสิ่งที่ไม่มีชีวิตเรากลายเป็นสิ่งมีชีวิต จากสิ่งที่มีชีวิตกลายเราเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ช่วงชีวิตของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ก่อนที่เราจะเกิด เราอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว หลังจากวันตาย เราก็อยู่ตรงนั้น เมื่อเรามองเช่นนี้ ความคิดเห็นเรื่องการเกิดการตายจะได้รับการคลี่คลาย นี่คือความคิดเห็นพื้นฐานทั้ง 4 ที่เราจะต้องถอดถอนในพระสูตรเพชรตัดทำลายมายา



ในงานภาวนาครั้งนี้ เราได้ทบทวนพระอริยมรรคมีองค์ 8 หรือ หนทางที่ถูกต้อง 8 ประการ เราพูดถึงสัมมาทิฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง วิธีการคิดที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง การใช้วาจาที่ถูกต้อง การมีอาชีพที่ถูกต้อง การมีความเพียรที่ถูกต้อง การมีสติที่ถูกต้อง เรารู้ดีว่าหนทางที่พระพุทธองค์ได้นำเสนอนั้นเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติอันถูกต้อง 8 ประการ ซึ่งคือหนทางสำหรับทุกคน ไม่ใช่หนทางสำหรับนักบวชเท่านั้น

นี่คือการน้อมรับพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน พุทธศาสนาเพื่อมวลมนุษย์




พระสูตรเพชรตัดทำลายมายา
เป็นความแท้จริงของนิเวศวิทยาเชิงลึก
เพราะถ้าเราไม่รักษาสรรพสัตว์
พืชพันธุ์ และแร่ธาตุไว้ได้
เราก็จะไม่สามารถรักษาตัวเราได้

..................

ท่านติช นัท ฮันห์ เวบหมู่บ้านพลัม
เสียงประกอบ //www.palungjit.com/






ประวัติปรมาจารย์แห่งเซน ติช นัท ฮันห์

ท่านติช นัท ฮันห์ มีนามเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า (Nguyen Xuan Bao) เกิดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2469 ที่จังหวัดกวงสี ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ฉายาของท่านเมื่อบวชแล้วคือ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)

“ติช” ในเวียดนามเป็นคำเรียก พระ แปลว่า “แห่งศากยะ” คือ ผู้สืบทอดพุทธศาสนา “นัท ฮันห์” แปลว่า “สติอยู่กับปัจจุบันขณะ” คือ การกระทำเพียงหนึ่ง (One Action) ดังนั้น “ติช นัท ฮันห์” จึงแปลว่า ผู้สืบทอดพุทธศาสนาอันสติอยู่กับปัจจุบันขณะ หมู่ลูกศิษย์ในทางตะวันตก เรียกท่านว่า “Thay” (ไถ่) ซึ่งในภาษาเวียดนามมีความหมายว่า “ท่านอาจารย์”

ในปี พ.ศ.2485 เมื่ออายุได้ 16 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) วิถีชีวิตในวัดเซนแห่งนี้เป็นรากฐานอันสำคัญต่อชีวิตนักบวชของท่าน สามเณรต้องเรียนรู้การมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ในทุกการกระทำ อาจารย์ได้มอบหนังสือเล่มเล็กๆ กำชับให้ศึกษาหนังสือนั้นจนกว่าจะเข้าใจ “การนำสารัตถะแห่งพระวินัย มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน” เป็นตอนแรกของคู่มือเล่มเล็กนั้น กล่าวถึง อากัปกิริยาของพระฝึกหัดจะต้องเกิดขึ้นพร้อมไปกับสัมมาสติ หรือการกำหนดรู้ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2492 เมื่ออายุ 23 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานนิกายเซน จากนั้นจึงเดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนา

ท่านติช นัท ฮันห์ มีความคิดว่า พุทธศาสนาต้องรับใช้สังคม หรือพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) จะมัวเจริญสติเจริญภาวนาอยู่ในวัดอย่างเดียวไม่ได้ ท่านจึงช่วยเหลือผู้คนและสังคมด้วยวิถีแห่งสติและสันติตามแนวทางพุทธศาสนา ช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาให้เข้ากับยุคสมัย รวมทั้งเขียนบทความทางพุทธศาสนา แต่กลับถูกผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลเวียดนามต่อต้านเป็นอย่างมาก




Create Date : 13 มกราคม 2554
Last Update : 13 มกราคม 2554 16:57:38 น. 5 comments
Counter : 1124 Pageviews.

 





โดย: นู๋หญิงจ๋า วันที่: 16 มกราคม 2554 เวลา:22:39:13 น.  

 
สวัสดีตอนเช้าค่ะคุณทัสนะ

ยาวจัง .. แต่ก็พยายามอ่าน ค่ะ บางอย่างข้ามไปบ้าง

เข้าใจว่าอารมณ์ของคนเรา รัก โลภ โกรธ ฯลฯ ก็เป็นอนิจจัง ใช่ไหมคะ แต่ทำไมเวลาโกรธคนบางคนถึงได้หายช้าจังก็ไม่รู้

ขอบคุณที่เล่าสู่กันฟังนะคะ



เริ่มงาน + ด้วยความสุขนะคะ


โดย: PhueJa วันที่: 17 มกราคม 2554 เวลา:9:13:04 น.  

 
เข้าใจทุกข์ก็พ้นทุกข์นะคะ

จะพยายามค่ะ แหะๆ

ขอบคุณที่ไปร่วมแสดงความยินดีนะคะ



โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 17 มกราคม 2554 เวลา:11:27:25 น.  

 
ขอบคุณที่แวะไปทักทายนะคะ



โดย: ขอบคุณที่ซ้ำเติม วันที่: 17 มกราคม 2554 เวลา:15:18:12 น.  

 


พาหลานมาเยี่ยมจร้า :)


โดย: สาวสะตอใต้ วันที่: 17 มกราคม 2554 เวลา:21:28:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.