สถาบันดนตรี"กัลยาณิวัฒนา" มรดกดนตรีที่ทรงเหลือไว้





ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน (คลิก)




สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีความสนพระทัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน-เขียน การกีฬา การถ่ายภาพ การเรียนการสอน โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส การต่างประเทศ ด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์ แต่ไม่ว่าจะทรงมีความสนพระทัยด้านใด สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ จะทรงศึกษาเรื่องราวนั้นๆ อย่างละเอียดและลึกซึ้ง รวมทั้งให้การสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสศึกษา ฝึกอบรม และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ในด้านการดนตรีก็เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงสนพระทัยดนตรีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทยหรือดนตรีตะวันตก เช่นเดียวกับดนตรีคลาสสิคที่ทรงสนับสนุนตลอดมาเช่นกัน ก่อนเสด็จทอดพระเนตรและฟังดนตรีคลาสสิค จะทรงศึกษาเนื้อหาประวัติของผู้เขียน ผู้แต่ง และการนำเสนออย่างละเอียด

นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยเกี่ยวกับศิลปะและการแสดงทุกชนิดที่เกี่ยวเนื่องกับอักษรศาสตร์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทว่ามิได้ทรงศึกษาต่อเนื่อง เนื่องจากทรงศึกษาด้านอื่นหนักมาก

ในปี 2543 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ มีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าประทานการสนับสนุนดนตรีคลาสสิคอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีโอกาสศึกษาและฝึกอบรมเรื่องดนตรีคลาสสิคในสถาบันการศึกษาชั้นสูงในต่างประเทศ เพื่อจะได้นำกลับมาถ่ายทอดและพัฒนาการดนตรีในประเทศให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้ง "กองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชน"

"อุทัยศรี ศรีณรงค์" หรือป่าน อาจารย์สอนดนตรีอิสระและนักร้องประสานเสียงวงบางกอก ซิมโฟนี่ ผู้ได้รับประทานทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชนรุ่นแรกๆ เล่าถึงความรู้สึกก่อนที่จะได้รับประทานทุนว่า

"ได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และได้เล่าถึงความยากลำบากในการเรียน เพราะทุนการศึกษาที่เคยได้รับจากโรงเรียนฮ่องกง อคาเดมี่ ฟอร์ เพอร์ฟอร์มมิ่ง อาร์ท ถูกตัดจนเหลือเพียงครึ่งเดียว หลังจากเกิดโรคระบาดซาร์ส

"เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงให้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัย นับจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ ความปลื้มปีติเดินทางมาถึงพร้อมจดหมายจากกรรมการทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิคในพระอุปถัมภ์ฯ"


"อุทัยศรี" ระลึกอยู่เสมอว่า ตนเองโชคดีเพียงใดที่ได้รับทุนนี้ เพราะนั่นทำให้ความฝันที่เธอเคยคิดว่าจะไม่มีวันทำสำเร็จ กลับกลายเป็นรูปเป็นร่างอย่างสวยงามในปัจจุบัน


ต่อมาในปี 2547 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเปลี่ยนแปลงกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชนมาเป็น "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิค" เนื่องจากทรงพบว่า ไม่ได้มีเพียงเยาวชนเท่านั้นที่ควรได้รับการสนับสนุน แต่ยังมีนักประพันธ์เพลง, ศิลปิน รวมไปถึงอาจารย์ที่สอนในแขนงวิชาดนตรีคลาสสิค โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงรับเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภ์เพื่อให้ขอบเขตการสนับสนุนกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับประทานทุนจำนวน 20 คน ทรงวินิจฉัยในการประทานทุนด้วยพระองค์เองอย่างละเอียดและรัดกุม เนื่องจากทรงหวังว่าผู้ที่ได้รับทุนนี้จะนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองด้านดนตรีคลาสสิค ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีนานาชาติ, การเข้าแข่งขันการแสดง, การเข้าค่ายอบรมระยะสั้นหรือระยะยาว และการศึกษาต่อยังต่างประเทศ

"ทวีเวท ศรีณรงค์" อายุ 27 ปี นักเรียนทุนดนตรีเพื่อส่งเสริมดนตรีคลาสสิคในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ เล่าว่า

"ผมได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่ประทานทุนส่วนพระองค์ให้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาดนตรีคลาสสิค ใน พ.ศ.2542 ระหว่างจะขึ้นชั้นเรียนปีที่ 2 ที่ Royal Academy of music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

"หากไม่ได้รับทุนจากพระองค์ท่าน ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้เรียนต่อหรือไม่ เนื่องจากในปีดังกล่าวยังอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

"ช่วงนั้นมีผู้ใหญ่ที่เมืองไทยเห็นว่าผมเล่นดนตรีคลาสสิคมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จึงได้กราบทูลให้พระองค์ท่านได้รับทราบ และจากนั้นประทานทุนส่วนพระองค์ให้เรียนต่อ ผมและครอบครัวรู้สึกปลาบปลื้มมาก และคิดว่าโชคดีมากที่พระองค์ท่านทรงเมตตาให้ทุนส่วนพระองค์ตกปีหนึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากมาย ซึ่งถือว่าเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทดแทนพระองค์ท่านได้ไม่หมด หากไม่มีพระองค์ท่านคงไม่ได้เรียนต่อจนทุกวันนี้

"โดยหลังจากจบปริญญาตรีแล้ว พระองค์ยังประทานทุนเรียนต่อในระดับอนุปริญญาตรีอีกใบหนึ่ง และต่อด้วยการเรียนระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา

"หลังจากเรียนจบ ผมก็ไม่รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาเอก เพราะอยากการให้รุ่นน้องได้รับทุนมาเรียนกันหลายๆ คน จึงได้ไปสมัครสอบและได้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กและตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 แล้ว"


"ทวีเวท" เล่าว่า หลังจากที่ได้รับทุนไปแล้วประมาณ 9 เดือนกว่า ได้มีโอกาสกลับมาเมืองไทยแสดงดนตรีคลาสสิคเปียโน ไวโอลิน ต่อหน้าพระพักตร์ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน โดยรับสั่งว่า

"ให้เรียนเต็มที่และให้หาประสบการณ์ในการเล่นดนตรีคลาสสิค และอยากให้กลับมาช่วยพัฒนาและยกระดับดนตรีคลาสสิคในเมืองไทยให้ดีขึ้น

"พระองค์ท่านให้ทุนโดยไม่ผูกมัดว่าจะต้องกลับมาชดใช้ทุน แต่ผมก็ได้วางแผนแล้วว่าจะต้องกลับมาเมืองไทยช่วยพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิคเมืองไทยอย่างแน่นอน"


นายทวีกล่าวด้วยว่า รู้สึกเสียใจกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่าน นอกจากเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทยแล้ว ยังถือว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ในแวดวงดนตรีคลาสสิคเมืองไทยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระองค์ท่านทรงสนับสนุนดนตรีคลาสสิคมาก จะเสด็จทอดพระเนตรการแสดงอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะเสด็จส่วนพระองค์เพื่อประทับในจุดที่ดีที่สุดในการฟังดนตรีคลาสสิค คือที่นั่งในช่วงกลางห้องแสดง นอกจากนี้ ยังทรงเป็นนักฟังที่ดีมาก และทรงรู้เรื่องเพลงที่นำมาแสดงมาก


ความสนพระทัยและความตั้งพระทัยที่จะสนับสนุนเยาวชนให้มีการศึกษาและพัฒนาด้านดนตรีคลาสสิค ยิ่งเข้มแข็งขึ้น เมื่อกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสถาบันดนตรีคลาสสิคแห่งประเทศไทย เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเจริญพระชันษา 84 ปี ทั้งนี้ เพื่อสอดรับกับพระราชดำริของพระองค์ท่านที่ว่า ประเทศไทยควรมีสถาบันสอนดนตรีคลาสสิค

โดยกระทรวงวัฒนธรรมขอประทานพระราชานุญาตใช้พระนามเป็นชื่อสถาบัน คือ "สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา" เพื่อเชิดชูพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่รู้จักและกล่าวขานถึงในวงการดนตรีระดับนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาเยาวชนไทยที่มีความสามารถพิเศษด้านดนตรีคลาสสิคให้มีความสามารถเป็นเลิศเทียบเท่าระดับโลก

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านดนตรีโดยเฉพาะ ทั้งทำหน้าที่บ่มเพาะ พัฒนา และส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านดนตรีให้ได้รับการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษเป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างเต็มศักยภาพภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

โดยมีปรัชญาว่า "เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีคลาสสิคสู่สาธารณชน พัฒนาบุคคลให้มีความสามารถด้านดนตรีคลาสสิค เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ" และปณิธานว่า "พัฒนาพรสวรรค์ สรรค์สร้างคีตกวี ผลิตนักดนตรีสู่สากล"

อ.ธนาทร เจียรกุล คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงโครงการนี้ไว้ว่า

"หลายคนอาจจะสงสัยถึงสาเหตุที่จัดตั้งสถาบันดนตรีนี้ขึ้น ทั้งที่สถาบันที่สอนเกี่ยวกับดนตรีก็มีอยู่แล้ว แต่บทบาทและหน้าที่ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เน้นสร้างทั้งนักดนตรีและนักฟังดนตรีคลาสสิคให้เติบโตไปพร้อมๆ กันอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่สนับสนุนแต่เพียงนักดนตรีเท่านั้น ซึ่งตรงกับพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

พระองค์ไม่ได้เป็นนักดนตรี หากทรงเป็นนักฟังดนตรีคลาสสิคที่ดี มีความตั้งใจที่จะซึมซับในรายละเอียดทุกๆ ส่วนที่ปรากฏขึ้นมา ทรงต้องการเห็นแวดวงดนตรีคลาสสิคในประเทศไทยก้าวไกลและทัดเทียมนานาชาติ

ส่วนอีกบทบาทหนึ่งของสถาบันคือ การสร้างมาตรฐานของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลเฉกเช่นสถาบันดนตรีในต่างประเทศ"


ทั้งหมดนี้คือมรดกที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงฝากไว้ให้แก่วงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทย







 

Create Date : 06 มกราคม 2551
0 comments
Last Update : 6 มกราคม 2551 20:58:32 น.
Counter : 1451 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


snodgrass
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





แสงหนึ่ง - ครอบครัว "ศรีณรงค์"
บรรเลงสดในรายการ "จับเข่าคุย"



ทำให้ใจเต้นแรง


บล็อกล่าสุด

รวมรูปคนดัง (6 มี.ค. 51) - Catherine Zeta Jones, Rachel McAdams, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Winona Ryder, Natalie Portman, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Jessica Alba, Kate Beckinsale, Jennifer Hawkins และอีกมากมาย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในความทรงจำของ "หมึกแดง"

บทความเก่าของคุณ ปิติ เลิศลุมพลีพันธุ์ "สนามวิจารณ์ : คารวะแด่ Morricone"

: Users Online
Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add snodgrass's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.