พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เรียบง่าย ประหยัด สง่างาม (1)

ที่มา : กรุงเทพวันอาทิตย์ (คลิก)
เรื่อง : ปวิตร สุวรรณเกต pavitsu@yahoo.com
ภาพ : หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานออกแบบและสถาปัตยกรรม







"เรียบง่าย ประหยัด มีความสง่างาม" คือแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในการก่อสร้าง พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร


เดิมการพระราชทานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่พระประมุขของนานาประเทศที่เข้ามาเยี่ยมประเทศไทยเป็นทางราชการจะใช้พื้นที่ท้องพระโรงกลางในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พื้นที่อันจำกัดทำให้ต้องแยกผู้รับพระราชทานเลี้ยงเป็นสองส่วนซึ่งไม่เหมาะสม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ต่อเติมจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นในทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเคยเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้เป็นสถานที่รับรองแขกของพระองค์ ซึ่งสำนักพระราชวังได้ดำเนินการรื้อพระที่นั่งองค์เดิมลงใน พ.ศ. 2501 เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรม


"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริจะสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่มานานแล้ว มีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่สำหรับจัดเลี้ยง เพราะว่าทุกทีที่เคยจัดเลี้ยงพระราชอาคันตุกะก็จะเป็นที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทซึ่งคับแคบและไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากอาคารที่สร้างมานานแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังสร้างสถานที่สำหรับจัดเลี้ยง ซึ่งพื้นตรงนี้ก็เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งองค์เดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ชื่อพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารเหมือนกัน เมื่อสร้างขึ้นใหม่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็พระราชทานนามเป็นพระที่นั่งชื่อเดิม" ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรชัย ชลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับสนองพระราชดำริ เล่าให้ฟัง


เดิมการก่อสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2539 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดสรรเงินรายได้ที่จัดเก็บจากการเข้าชมพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นทุนในการก่อสร้าง ในครั้งนั้น ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระราชดำริและได้ดำเนินการในการพัฒนาแบบสถาปัตยกรรมซึ่งถือเป็นต้นแบบของพระที่นั่งองค์ปัจจุบัน แต่เมื่อสร้างชั้นใต้ดินไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นทำให้ต้องระงับการก่อสร้าง สำนักพระราชวังได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งใน พ.ศ. 2545 และมีการเร่งการดำเนินการก่อสร้างใน พ.ศ. 2547 โดย ผศ.สุรชัย รับสนองพระราชดำริ และมี อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา เป็นผู้ช่วย


"ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ท่านเคยเรียกผมไปสัมภาษณ์ถามว่า ถ้าเผื่ออาจารย์ทำพระที่นั่งองค์นี้อาจารย์มีความคิดว่าอาจารย์จะทำอย่างไร มีความคิดเห็นอย่างไร จะทำเป็นแนวไหนอย่างไร ตอนแรกผมไม่ทราบว่ามีแบบร่างอยู่ก่อนผมก็ให้ความเห็นด้วยความคิดของตัวเองว่า เนื่องจากเป็นอาคารที่ต่อเนื่องกันอย่างไรเสียคงจะต้องมีลักษณะที่กลมกลืนกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตัวอาคารพระที่นั่งองค์ใหม่รูปร่างภายนอกก็ปรับให้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือตัวฐานจะเป็นฝรั่งและหลังคาเป็นทรงไทย ส่วนภายในก็พยายามให้ต่อเนื่องกันเพียงแต่รายละเอียดต่างๆ จะน้อยลง แต่จะเป็นทรงยุโรปเป็นทรงคลาสสิก ข้อใหญ่คงจะเป็นความกลมกลืนอาคารน่าจะมีรูปร่างภายนอกแบบเดียวกันเพื่อที่จะต่อเชื่อมกันได้ ดร.จิรายุท่านก็ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ผศ.สุรชัยกล่าว "หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทำถึงมาเจอว่าเคยมีแบบที่ ม.ร.ว.มิตรารุณ ท่านเคยทำกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามพระราชประสงค์มีคนเอามาให้และบอกว่า ม.ร.ว.มิตรารุณ ท่านเคยร่างเอาไว้แบบนี้ ผมก็บอกว่าดี เอามาดูก็เป็นอะไรที่ตรงกับที่ผมเคยคิดเอาไว้คือ เป็นรูปทรงที่กลมกลืนกันข้างในก็เป็นทรงคลาสสิกแบบยุโรปแม้กระทั่งการออกแบบตกแต่งภายในเองก็เห็นจากรูปที่ท่านร่างเอาไว้ เพราะฉะนั้นหลายๆ อย่างก็เป็นความคิดที่พ้องกัน ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าอย่างน้อยผมคิดแล้วถูก"


เป้าหมายในการดำเนินการในครั้งนี้คือ ให้แล้วเสร็จทันการพระราชทานเลี้ยงประมุขจาก 26 ประเทศ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 12-13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ภายใต้แนวทางที่พระราชทานคือ เรียบง่าย ประหยัด และมีความสง่างามที่จะไม่อายแขกบ้านแขกเมือง


"ตอนนั้นมีเวลา 2 ปี ที่จะออกแบบด้วยก่อสร้างด้วยก็หาวิธีที่จะทำได้เร็วและสามารถที่จะประหยัด พยายามใช้ของเท่าที่จำเป็น ระบบการก่อสร้างก็จะใช้ระบบที่ทันสมัย หลายอย่างก็ใช้วิธีหล่อมาแล้วมาติดตั้งประกอบ... ต้องคิดถึงลักษณะที่เราเรียกว่า Design Built คือ ออกแบบไปทำไป ต้องวางแผนในการทำงานที่ค่อนข้างละเอียดมากเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงเรื่องของการเลือกใช้วัสดุ เรื่องวิธีการในการก่อสร้างว่าวิธีไหนจะประหยัดเวลาได้มากที่สุด"


พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารเป็นอาคาร 3 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น อาคารมีขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร โดยประมาณ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 18,512 ตารางเมตร ถือเป็นพระที่นั่งที่มีพื้นที่ใช้สอยมากที่สุดในพระบรมมหาราชวัง ผนังด้านนอกขององค์พระที่นั่งชั้นที่ 1 มีการเซาะร่องปูน ซุ้มพระทวารและซุ้มพระแกลมีลักษณะโค้งตามแบบตะวันตก ส่วนตัวอาคารโดยทั่วไปยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ประกอบด้วยซุ้มพระทวาร พระแกล และ เสา ส่วนหลังคามีลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีซึ่งมีการประดับด้วยองค์ประกอบหลังคาแบบไทยประเพณี เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง เป็นต้น เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกลมกลืนกันทั้งในแบบศิลปะไทยประเพณีและแบบศิลปะตะวันตกโดยคงลักษณะสำคัญของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นแบบอย่าง


"คนเคยอ่านประวัติพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทคงทราบว่าเดิมเป็นทรงคลาสสิกทั้งหมดแล้วมาเปลี่ยนหลังคาเป็นทรงไทยทีหลังตรงนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยน เมื่อเชื่อมต่อมาจะไปสร้างหลังคาแบบฝรั่งก็ตะขิดตะขวงอยู่ หรือจะเป็นไทยทั้งแท่งก็ไม่เข้ากันอีกเพราะว่าสัดส่วนของอาคารไทยกับสัดส่วนของอาคารฝรั่งจะต่างกัน มีคนถามว่าทำไมไม่เป็นทรงไทยเหมือนพระที่นั่งโบราณองค์อื่นที่อยู่ในนั้น อาคารนี้มีพื้นที่เยอะและมีขนาดใหญ่ทึบตันมากถ้าไปทำทรงไทยสัดส่วนจะไม่ได้ จะไม่ได้ความอ่อนช้อยสวยงามแบบอาคารไทย"


แนวคิดในงานสถาปัตยกรรมภายในนอกจากรูปแบบที่สอดคล้องกลมกลืนยังรวมถึงรูปแบบที่เรียบง่ายโดยมีแนวทางในการออกแบบคือ กำหนดมิติภายในของอาคาร ให้ห้องทุกห้องจะมีเพดานสูงโล่งตามแบบอาคารสมัยโบราณ เพื่อให้เกิดความรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย โอ่โถง และสง่างาม เลือกใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน ผิววัสดุส่วนใหญ่เป็นผิวด้านลดความมันวาวเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนสายตา ผนังส่วนใหญ่ฉาบเรียบทาสีบางส่วนประดับด้วยหินอ่อน การประดับตกแต่งไม่มีรายละเอียดมากเกินความจำเป็นเน้นเฉพาะบริเวณที่มีความสำคัญเท่านั้น


การออกแบบดังกล่าวเป็นการสนองแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ และมีการออกแบบอีกหลายส่วนที่สนองแนวทาง "เรียบง่าย ประหยัด และ มีความสง่างาม"


ความเรียบง่าย


ความเรียบง่ายในที่นี้หมายถึง การออกแบบที่แลเห็นเป็นมิติในภาพรวม เน้นเฉพาะรายละเอียดที่เป็นจุดสำคัญ และมีเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม


"ตัดรายละเอียดที่มากมายออกเน้นในส่วนที่ควรจะเน้น เช่น องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมต่างๆ ผนังทั่วไปอาจจะเป็นแค่ปูนธรรมดาแต่บางส่วนที่เป็นจุดเด่นได้จะเน้นด้วยหินอ่อน ราวระเบียง ราวบันได โคมไฟก็เป็นงานหล่อโลหะ เราตัดทอนพวกรายละเอียดของตัวผนังอะไรต่างๆ ไปให้เรียบ ลวดลายก็ใช้เท่าที่จำเป็น ลวดลายรุงรังที่ปิดทองเยอะๆ ก็จะหายไป จะเห็นว่าจะเป็นสีค่อนข้างที่จะสะอาดตาเรียบๆ แล้วเน้นมิติเอาเท่านั้นเอง อาจจะมีสีเข้มสีอ่อนในโทนสีเดียวกันเพื่อให้มีมิติแทนที่จะต้องไปเสียเงินกับลวดลายปิดทองเยอะๆ "


ความประหยัด


พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารเริ่มก่อสร้างในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการต้องหยุดไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยึดแนวทางประหยัดเพื่อความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ โดยให้ยึดแนวทางการประหยัดอย่างมีเหตุผลและการดำเนินงานที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ลดรายละเอียดที่มีมากเกินความพอดี


"เลือกใช้วัสดุในลักษณะที่จะประหยัด แนวทางของพระองค์ท่านที่ผมเข้าใจคือ ความคุ้มค่าในการลงทุน วัสดุบางอย่างต้องลงทุนเพื่อความคงทนอยู่ได้นานเพราะจำเป็นต้องใช้ในระยะยาวด้วย"


ความสง่างาม


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ถึงความสง่างามคือความโล่งโปร่งสบายตามลักษณะอาคารสำคัญในยุโรป และการให้ความสำคัญกับแกนอาคารในลักษณะสมมาตรเพื่อสร้างจุดนำสายตาทั้งทางแนวตั้งและแนวนอน โดยเน้นจุดกึ่งกลางพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และแนวแกนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นหลักในการกำหนดทิศทางในการวางจุดเด่นของแต่ละห้อง


"ตัดรายละเอียดที่มากมายออกให้มีความสง่างามในตัวเองในเรื่องของความโอ่โถง ออกแบบให้ไม่ดูทึบตันดูกว้างโอ่โถงเป็นระเบียงเป็นอะไรต่างๆ ไม่ใช่เป็นห้องทึบธรรมดา"


แนวทางนั้นได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนเมื่อการก่อสร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารเสร็จสมบูรณ์



Page 1 | 2








Create Date : 24 ธันวาคม 2550
Last Update : 24 ธันวาคม 2550 4:16:13 น. 0 comments
Counter : 5618 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

snodgrass
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





แสงหนึ่ง - ครอบครัว "ศรีณรงค์"
บรรเลงสดในรายการ "จับเข่าคุย"



ทำให้ใจเต้นแรง


บล็อกล่าสุด

รวมรูปคนดัง (6 มี.ค. 51) - Catherine Zeta Jones, Rachel McAdams, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Winona Ryder, Natalie Portman, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Jessica Alba, Kate Beckinsale, Jennifer Hawkins และอีกมากมาย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในความทรงจำของ "หมึกแดง"

บทความเก่าของคุณ ปิติ เลิศลุมพลีพันธุ์ "สนามวิจารณ์ : คารวะแด่ Morricone"

: Users Online
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add snodgrass's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.