พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เรียบง่าย ประหยัด สง่างาม (2)




องค์พระที่นั่งชั้นที่ 1 เป็นทางเข้า ซึ่งสามารถเข้าจากทางด้านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทได้ และมีถนนลอดผ่านองค์พระที่นั่งไปยังที่เทียบรถพระที่นั่ง ซึ่งต่อเนื่องกับโถงบันได ด้านในมีบันไดทางขึ้นทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ภายในองค์พระที่นั่งชั้นที่ 1 ประกอบด้วยห้องรับรององคมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แบ่งส่วนเป็นข้าราชการฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ห้องพยาบาล และห้องน้ำชายหญิง ด้านทิศใต้เป็นส่วนบริการ ประกอบด้วยห้องเตรียมอาหาร ห้องพักอาหาร และห้องพักเจ้าหน้าที่ การตกแต่งภายในเน้นการตกแต่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมด้วยหินอ่อนสีครีมจากประเทศอิตาลี เช่น เสา พื้น บัว และ บันได


องค์พระที่นั่งชั้นที่ 2 เป็นส่วนจัดเลี้ยง ประกอบด้วยห้องโถงใหญ่เพื่อจัดงานเลี้ยงพระราชทานสำหรับผู้ร่วมงานจำนวน 500 คน มีพื้นที่ 1,040 ตารางเมตร เป็นห้องที่มีพื้นที่มากที่สุดในพระที่นั่ง ความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน 15 เมตร บริเวณโถงอัฒจันทร์ชั้น 2 มีเสาหินอ่อนขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 4 ต้น เสาดังกล่าวมีความสูงตั้งแต่พื้นชั้นสองขึ้นไปจนถึงเพดานชั้นที่สาม ด้านทิศเหนือมีบันไดควบคู่กับบันไดเลื่อนเชื่อมต่อระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ด้านทิศใต้เป็นพระที่นั่งโถงยอดปราสาทตั้งอยู่กลางสระน้ำ


การตกแต่งภายในห้องจัดเลี้ยงเน้นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและการเลือกใช้เครื่องตกแต่งที่แลดูสง่างามและมีคุณค่า โครงสีโดยรวมของห้องเป็นสีครีม เพดานห้องตกแต่งด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ประดับเพดานด้วยโคมระย้าแก้วเจียระไนขนาดใหญ่จำนวนห้าโคม โดยโคมกลางห้องมีขนาดใหญ่ที่สุด บริเวณขอบโลหะของโคมระย้าทั้งหมดฉลุลวดลายเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ผนังประดับด้วยโคมไฟสีทองรูปแบบฝรั่งเศสโบราณหล่อด้วยบรอนซ์ติดตั้งเป็นระยะ เสาหินอ่อนทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบบางสถาปัตยกรรมทำด้วยหินอ่อนคาร์ราร่า และแกะสลักที่ประเทศอิตาลี พื้นห้องปูด้วยพรมลวดลายพรรณพฤกษา


ในส่วนห้องโถงกลางซึ่งเป็นโถงบันไดตกแต่งด้วยการจัดวางงานฝีมือจากช่างศิลปาชีพ ซึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้นำมาแสดงไว้ที่พระที่นั่งองค์ใหม่นี้ บริเวณกลางห้องโถงเป็นที่ตั้งของบุษบกทองคำ บริเวณเพดานเหนือบุษบกทองคำซึ่งมีความสูงสองชั้นประดับด้วยโคมระย้าขนาดใหญ่ ผนังชานพักบันไดด้านทิศตะวันตกเป็นที่แสดงบานประตูไม้แกะสลักบานใหญ่ และบริเวณทางเข้าสู่ห้องจัดเลี้ยงเป็นที่วางแสดง สัปคับสี่ชิ้นซึ่งมีทั้งที่เป็นงานไม้แกะสลักและงานประดับลวดลายถม พื้นห้องเป็นหินอ่อน


องค์พระที่นั่งชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องรับรองทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีโถงทางเดินโดยรอบ เนื่องจากโถงกลางเป็นโถงโล่งทะลุขึ้นมาจากชั้นสอง เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดโล่งตรงกลางบริเวณเหนือห้องจัดเลี้ยงจึงเน้นการตกแต่งด้วยการประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ทางด้านทิศตะวันออก และประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. ทางด้านทิศตะวันตก พระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยนี้แกะสลักด้วยหินอ่อนชนิดโปร่งแสงและปิดทอง ตกแต่งด้วยซุ้มโค้งเป็นลวดลายทำด้วยเหล็กหล่อรับกับราวระเบียงโดยรอบที่เป็นลวดลายเหล็กหล่อเช่นกัน และมีสีหบัญชรทำจากหินอ่อนคาร์ราร่าแกะสลักอย่างสวยงามเตรียมไว้ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกสีหบัญชรในงานพระราชพิธี


ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งใช้สำหรับเก็บของ และอีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของงานระบบ เช่น ระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นงานระบบที่มีความทันสมัยและติดตั้งในตัวอาคารอย่างประณีตและกลมกลืนกับงานสถาปัตยกรรม มีการจัดระบบการให้แสง ระบบเสียงในห้องจัดเลี้ยง ระบบดูดอากาศเสียบริเวณที่มีการจอดรถพระที่นั่ง รวมถึงระบบสำหรับการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี


เครื่องเรือนส่วนใหญ่ในพระที่นั่งมีการออกแบบใหม่โดยมีเครื่องเรือนโบราณเป็นต้นแบบ แต่มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและดูเหมาะสม เครื่องเรือนและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางส่วนต้องสั่งทำจากต่างประเทศ


"หินอ่อนไปทำที่อิตาลี ต้องไปออกแบบไปคลุกคลีอยู่ที่โรงงานที่นั่น เริ่มทำกับช่างอิตาลีตั้งแต่ในงานปั้นว่าเอาตรงไหนจะแก้ตรงไหน ปั้นแล้วจึงจะมาแกะเป็นหินอ่อน ได้รับทราบจากช่างที่อิตาลีว่า จริงๆ แล้วคนทั้งเมืองที่เป็นเมืองช่างที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรเนซองท์ตั้งแต่สมัยไมเคิลแองเจลโล เขาภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ เพราะปัจจุบันไม่ค่อยมีสถาปนิกคนไหนที่ทำงานโบราณอย่างนี้ เขาปลื้มใจที่ได้แสดงฝีมือตรงนี้...ให้เขาทำเสาหินอ่อนเพราะเขามีเครื่องมือที่ทำได้เร็ว เขาก้าวหน้าไปจนถึงขึ้นโครงหินอ่อนด้วยหุ่นยนต์แล้ว แต่แกะลายที่ละเอียดยังใช้คนอยู่ เขาทำได้เร็วกว่าเราเยอะ ถ้าทำที่เมืองไทยด้วยเครื่องไม้เครื่องมือของเราสู้เขาไม่ได้ ประกอบกับความชำนาญที่เขาเป็นช่างหินอ่อนมาตั้งแต่สมัยโรมัน เพราะฉะนั้นเขาทำได้เร็วมากใช้เวลาไม่กี่วัน" ผศ.สุรชัย เล่าให้ฟัง "งานหล่อโลหะก็ต้องไปหลายเมืองในฝรั่งเศสเป็นโรงหล่อที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งจากที่มีอยู่ 2-3 โรงในประเทศ ผมไปคุมงานถึงโรงหล่อซึ่งอยู่ไกลจากปารีสมากอยู่แถวชายแดนเยอรมนี คือ พยายามที่จะหาช่างที่ดีที่สุด เฉพาะโคมไฟก็ใช้โรงหล่อประมาณ 3 โรง ขึ้นอยู่กับว่าใครเก่งงานแบบไหน เราเอาแบบที่เราร่างไว้แล้วไปให้เขาหล่อขึ้นมาทำงานกับเขาว่าตรงนี้มันทำได้ไม่ได้แค่ไหน จะเป็นอะไรที่ออกแบบเฉพาะชิ้นที่ไม่มีที่อื่นในโลก"


พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารไม่ได้มีแต่งานฝีมือของช่างต่างประเทศเท่านั้น งานฝีมือของช่างไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งแห่งนี้เช่นกัน


"ตรงไหนที่ใช้ของไทยได้ก็ใช้ของไทย เป็นนโยบายที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดอยู่แล้ว สิ่งไหนที่คนไทยสามารถทำออกมาได้ดีเราก็ใช้ของไทย หินอ่อนในส่วนทั่วๆ ไปก็เป็นหินอ่อนที่สั่งจากในไทย แต่ในส่วนที่โชว์ในห้องก็เป็นหินอ่อนนอก โดยตัวรูปแบบตัวโครงสถาปัตยกรรมจริงๆ ถ้าเป็นยุโรปก็ยุโรปแต่ของบางอย่างเราก็ใช้ของไทยเข้าไป เช่น ในห้องสรงที่เดี๋ยวนี้นิยมใช้เป็นอ่างสำหรับล้างมือตรงนั้นก็ใช้เป็นอ่างเหมือนกันแต่ใช้งานฝีมือไทยเป็นชามเงินซึ่งออกแบบใหม่ขลิบด้วยลายไทยให้ช่างฝีมือที่เชียงใหม่ขึ้นรูปเป็นชามเงิน หรือของศิลปาชีพหลายๆ ชิ้นเวลามาแต่งก็สามารถที่จะเข้ากันได้"


ในการทำงาน ผศ.สุรชัย จะกราบบังคมทูลความคืบหน้าในการก่อสร้างให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับทราบเป็นระยะ รวมถึงเมื่อเกิดปัญหาในการทำงาน


"ผมคิดว่าหลายๆ ครั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงรับทราบเป็นระยะๆ ในระหว่างก่อสร้าง สำนักพระราชวังเองก็ทำรายงานกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่เป็นระยะ...ตอนที่ทำบันไดเลื่อนก็ต้องกราบบังคมทูลว่าจะโปรดหรือไม่ ถ้าจะทำบันไดเลื่อน เพราะตอนนั้นก็ห่วงอยู่ว่าถ้าทำบันไดเลื่อนแล้วในขณะที่เสด็จจะสง่างามไหม แต่ก็คิดว่าน่าจะจำเป็นเพราะว่าระดับขั้นบันไดสูงมากระดับต่างกันระหว่างพระที่นั่งองค์เก่ากับพระที่นั่งองค์ใหม่ประมาณเมตรกว่าๆ น่าจะไม่สะดวกสำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบันไดที่สูงพอสมควร ก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็โปรดว่าจะให้มีบันไดเลื่อนก็ไม่เป็นไร แต่ก็ทรงกำชับว่าขออย่าให้น่าเกลียดขอให้กลมกลืนกับอาคารเดิม ก็ออกมาเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันที่มีราวบันไดแบบโบราณประกบข้าง" ผศ.สุรชัย กล่าว "จำได้ว่าทำแบบร่างส่งไป 2 แบบ ผมห่วงเรื่องว่าเวลาพระองค์ท่านเสด็จกับพระราชอาคันตุกะจะไม่สง่าฉะนั้นถ้าทำบันไดเลื่อนก็น่าจะทำคู่เพราะถ้าเสด็จมาแล้วพระองค์หนึ่งขึ้นบันไดพระองค์หนึ่งขึ้นบันไดเลื่อนจะดูไม่เหมาะก็เลยทำบันไดคู่ ทีนี้ก็มีสองทางเลือก ทางหนึ่งคือให้เสด็จคู่ ขึ้นพร้อมกันตรงกลางซึ่งตรงนั้นจะเป็นจุดเด่นมาก อีกแบบหนึ่งคือที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือแยกออกเป็นสองข้างแล้วตรงกลางเป็นขั้นบันไดที่คนส่วนใหญ่ที่ตามเสด็จ หรือแขกคนอื่นจะขึ้นได้ ด้วยวิธีที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้คนจะไม่ค่อยสังเกตเห็นบันไดเลื่อนเท่าไรนัก ได้ฝาก ดร.จิรายุไปกราบบังคมทูลถามว่ามีแบบ 2 แบบนี้ ท่านก็ตอบมาว่าโปรดแบบที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ตอนที่จะมีงานแพทย์หลวงก็มาสำรวจดูเหมือนกันว่าถ้าจะเสด็จจริงๆ จะสะดวกหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งเรื่องความเร็วของบันไดเลื่อน ซึ่งต้องลดความเร็วให้ช้ากว่าปกติก็ลองกันหลายรอบ ในที่สุดวันงานจริงๆ ก็ได้รับข่าวมาว่าท่านจะเสด็จใช้บันไดเลื่อน"


ความยากในการทำงานครั้งนี้ ผศ.สุรชัย บอกว่า "ส่วนหนึ่งคือเรื่องของเวลาเป็นเวลาที่กระชั้นมากโดยปกติแล้วไม่น่าจะทำได้ก็ต้องหาวิธี อย่างเช่น แบ่งต้องจัดระบบการทำงานไม่ให้ช่างเดินชนกัน ในนั้นมีช่างร่วม 500 คน ทำงานพร้อมๆ กันจะต้องรู้ว่าใครทำก่อนทำหลังใครทำเสร็จแล้วคนอื่นมาทำต่อได้ ระบบการบริหารการก่อสร้างค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าหนักใจที่สุด รวมถึงแบบต้องเสร็จทันให้ช่างมีงานทำ เพราะมันไม่ใช่แบบที่ออกแบบเสร็จแล้ว แบบบางทีเขียนแล้วมีปัญหาอะไรที่หน้างานก็แก้ไขกันตรงนั้น เช่น ทางเดินใต้พระที่นั่งที่เจาะใหม่ตอนนี้จะมีอุโมงค์ที่เดินจากพระที่นั่งองค์หน้ามาพระที่นั่งองค์หลังได้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าจะเป็นอย่างไรก็คือต้องทุบแล้วเห็นว่าสภาพเป็นอย่างไรแล้วถึงจะไปออกแบบได้ ก็จะมีเสาระเกะระกะเพราะสามตึกนี้จะสร้างคนละสมัย เป็นอะไรที่ไม่รู้ว่าจะเจออะไรต้องรีบออกแบบให้ทันก่อสร้าง"


ถามถึงความรู้สึกในฐานะผู้รับสนองพระราชดำริ ผศ.สุรชัย บอกว่า "เป็นความภูมิใจที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ทำงานนี้ อย่างน้อยก็เป็นอะไรที่คนไทยในรุ่นหลังยุคปัจจุบันน้อยคนมีโอกาสจะได้ทำอะไรแบบนี้ ในสมัยโบราณส่วนใหญ่อาคารในพระบรมมหาราชวังส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝรั่งทำ"


ด้วยแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร จึงเป็นพระที่นั่งที่เรียบง่าย ประหยัด และสง่างาม


หมายเหตุ - ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานออกแบบและสถาปัตยกรรม



Page 1 | 2






Create Date : 24 ธันวาคม 2550
Last Update : 4 มกราคม 2551 4:40:38 น. 1 comments
Counter : 2723 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ อยากเห็นภาพพระที่นั่งจังเลยค่ะ
ปล. จขบ ทำ บ สวยจังเลยค่ะ
ว่างๆแวะไปที่ บ ตูนได้นะคะ ตอนนี้ บ ยังไม่สวยเลย เพราะเพิ่เริ่มทำค่ะ ถ้ายังไงช่วยแนะนำด้วยนะคะ


โดย: toonadmiringgongli (lovegongli ) วันที่: 24 ธันวาคม 2550 เวลา:13:17:46 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

snodgrass
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





แสงหนึ่ง - ครอบครัว "ศรีณรงค์"
บรรเลงสดในรายการ "จับเข่าคุย"



ทำให้ใจเต้นแรง


บล็อกล่าสุด

รวมรูปคนดัง (6 มี.ค. 51) - Catherine Zeta Jones, Rachel McAdams, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Winona Ryder, Natalie Portman, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Jessica Alba, Kate Beckinsale, Jennifer Hawkins และอีกมากมาย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในความทรงจำของ "หมึกแดง"

บทความเก่าของคุณ ปิติ เลิศลุมพลีพันธุ์ "สนามวิจารณ์ : คารวะแด่ Morricone"

: Users Online
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add snodgrass's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.