'พระเมรุ พระเมรุมาศ' สง่างามสมพระเกียรติยศ





เรื่อง : มนตรี ประทุม
ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (คลิกเพื่อชมภาพเพิ่มเติม)




ในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือยุคของกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรนั้น มีการประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จนถึง พระบาท สมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณี ที่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ถือปฏิบัติกันมานับร้อย ๆ ปี โดยแต่ละยุคสมัยรูปแบบของพระเมรุ หรือพระเมรุมาศ ยังยึดตามความเชื่อ เรื่อง เขาพระสุเมรุ และได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนั้น ๆ

การจัดสร้างพระเมรุหรือพระเมรุมาศ ในสมัยโบราณจะมีความใหญ่โตกว่าปัจจุบันมาก ต้องใช้กำลังคน และกำลังเงินมหาศาล แต่เมื่อถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดสร้างพระเมรุมาศ มีใจความตอนหนึ่งว่า

“แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยืนยาวได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้ แต่เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”


ดังนั้นการสร้างพระเมรุหรือพระเมรุมาศในยุคของพระองค์ จึงดูเรียบง่าย แต่สง่างามสมพระเกียรติ ส่งผลให้การสร้างพระเมรุ หรือพระเมรุมาศในยุคหลัง ๆ เปลี่ยนแปลงไป และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสร้างพระเมรุ หรือพระเมรุมาศ โดยเฉพาะรูปแบบการก่อสร้าง ช่างฝีมือจะสร้างตามอิสริย ยศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซึ่งพระเมรุมาศสำหรับ พระบรมราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง พระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า จะใช้แบบเดียวกับพระเมรุมาศของ พระมหากษัตริย์ แต่จะลดเครื่องประกอบลงตามฐานะ เช่น มีฉัตร 7 ชั้น หรือ 5 ชั้น เป็นต้น ขณะที่ องค์พระเมรุ หรือพระเมรุมาศ ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น จะนิยมใช้กัน 2 รูปแบบ ได้แก่ พระเมรุมาศทรงปราสาท และ พระเมรุมาศทรงบุษบก

สำหรับอาคารประกอบโดยรอบพระ เมรุ หรือพระเมรุมาศ จะประกอบด้วย องค์พระเมรุ หรือ พระเมรุมาศ จะมีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประดิษฐานพระจิตกาธาน บนพระจิตกาธานจะประดิษฐานพระโกศ, หอเปลื้อง คือ สถานที่ไว้พักพระลองทองใหญ่ประกอบโกศ ที่ได้เปลื้องออกจากพระโกศในแล้ว และใช้เก็บวัสดุเครื่องใช้ถวายพระเพลิง, พระที่นั่งทรงธรรม เป็น พระที่นั่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับ ประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในการออกพระเมรุ, ศาลาลูกขุน เป็นสถานที่เข้าเฝ้าฯ ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าในพระองค์

คด หรือ ซ่าง คือ อาคารแสดง บริเวณเขตล้อมรอบพระเมรุ มีทางเข้าออก 4 ทางทำเป็นมุมฉาก เรียกว่า ซ่าง เป็นสถานที่ พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ, ทับเกษตร อาคารขนาบสองข้างของซ่างเป็นสถานที่ฟังสวดพระอภิธรรม, ทิม เป็นอาคารที่พักข้าราชบริพาร, พลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนฯ ใช้เป็นสถานที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนราชรถ ซึ่งจะแห่ไปยังพระเมรุ หรือพระเมรุมาศ, พลับพลายกหน้าพระที่นั่ง สุทไธสวรรค์ปราสาท เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เพื่อถวายบังคมพระโกศ และทอดพระเนตรกระบวนแห่จากวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระเมรุมาศ



ลองมาศึกษาโครงสร้างหลัก ๆ ของพระเมรุ หรือพระเมรุมาศ จาก นายอารักษ์ สังหิตกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะผู้ควบคุมและออกแบบการก่อสร้างพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 และพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อธิบายให้ฟังว่า ฐานราก ในสมัยโบราณจะใช้ไม้ซุงยาว 5-6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตอกเป็นฐานราก ซึ่งปัจจุบันจะใช้แผ่นพื้นสำเร็จวางปูเพื่อเป็นฐานของพระเมรุหรือพระเมรุมาศได้ทันที ส่วนของเสานั้น สมัยโบราณจะใช้เสาไม้สัก เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เป็นเสาหลักของพระเมรุหรือพระเมรุมาศ แต่ปัจจุบันจะใช้เสาเหล็กแทน ซึ่งจะมีความแข็งแรงเท่ากับเสาไม้ ส่วนประกอบอื่น อาทิ ลวดลาย ไม้ตัวโครงสร้าง จะใช้ไม้และไม้อัดเป็นองค์ประกอบ

“สิ่งที่วิศวกรต้องคำนึงถึงมากที่สุดในการสร้างพระเมรุหรือพระเมรุมาศ ก็คือ ความแข็งแรงเมื่อใช้งาน การรับน้ำหนักของคนจำนวนมาก แรงปะทะของลม ซึ่งต้องไม่สั่นไหว” นายอารักษ์ กล่าว

ในขณะที่ พระเมรุ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานในการจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เล่าให้ฟังว่า ตนได้ศึกษาการออกแบบพระเมรุมาศของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ซึ่งเป็นพระเมรุทรงปราสาท มาเป็นต้นแบบ โดยส่วนยอดพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะประกอบด้วย ยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วย ชั้นบัวคลุ่ม (บัวกลุ่ม) จนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น หน้าบันทั้ง 4 ทิศ อัญเชิญ ตราพระราชลัญจกร “กว” มาประดิษฐาน อย่างไรก็ตามการออกแบบในครั้งนี้ตนได้คำนึงถึงสถาปัตย กรรมไทย ตามแบบโบราณราชประเพณี เพื่อให้พระเมรุมีความงดงามเปรียบเสมือนสรวงสวรรค์ สมพระเกียรติมากที่สุด

พระเมรุ หรือพระเมรุมาศ เปรียบเสมือน เครื่องแสดงพระเกียรติยศ และเป็นสถานที่ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ซึ่งในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในครั้งนี้ เหล่าพสกนิกร และคณะทูตานุทูต จะได้เห็นความยิ่งใหญ่ ตามแบบโบราณราชประเพณี ไม่ว่าจะเป็นริ้วกระบวนแห่พระศพ งานมหรสพ โขน ละคร หนังใหญ่ หุ่นกระบอก ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ที่ไม่มีประเทศใดเสมอเหมือน.






Create Date : 15 มกราคม 2551
Last Update : 15 มกราคม 2551 18:48:53 น. 0 comments
Counter : 3468 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

snodgrass
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





แสงหนึ่ง - ครอบครัว "ศรีณรงค์"
บรรเลงสดในรายการ "จับเข่าคุย"



ทำให้ใจเต้นแรง


บล็อกล่าสุด

รวมรูปคนดัง (6 มี.ค. 51) - Catherine Zeta Jones, Rachel McAdams, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Winona Ryder, Natalie Portman, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Jessica Alba, Kate Beckinsale, Jennifer Hawkins และอีกมากมาย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในความทรงจำของ "หมึกแดง"

บทความเก่าของคุณ ปิติ เลิศลุมพลีพันธุ์ "สนามวิจารณ์ : คารวะแด่ Morricone"

: Users Online
Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
15 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add snodgrass's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.