LovelyTrip เที่ยวทุกที่ที่ใจอยากไป
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
21 มีนาคม 2560
 
All Blogs
 

เที่ยว “ชัยปุระ” เมืองวิจิตรในรัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย






4  วันเต็มของการใช้ชีวิต กิน  นอนและเที่ยวที่เมือง “ชัยปุระ” แห่งนี้ทำให้เราได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆมากมายทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม  อาหารพื้นถิ่น   วิถีชีวิตของผู้คนชาวอินเดีย  ทุกสิ่งอย่างอยู่ร่วมกันกับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ทันสมัยกันมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะหลอมรวมกันป็นความสวยงามได้อย่างลงตัว


ไม่แปลกใจเลยที่เมือง “ชัยปุระ” ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นเมืองที่ติดอันดับโลกด้านไอทีแต่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่คู่กับผู้คนยุคสมัยนี้ได้อย่างดี

เมือง “ชัยปุระ” หรือ ไจปูร์ หรือ นครสีชมพู (Pinkky City) เป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถานประเทศอินเดีย 

คนอินเดียเรียกเมืองนี้ว่า ไจปูร์ แต่คนไทยเรียกว่า ชัยปุระ    มีความหมายว่า “เมืองแห่งชัยชนะ” 

ค่าตั๋วเครื่องบิน จากสนามบินสุวรรณภูมิบินตรงลงสนามบินชัยปุระเริ่มต้นที่ 4,510 บาท อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีกับเงินบาท ณ วันที่เดินทาง 7-12 มีนาคม 2560 อยู่ที่ 1 รูปีเท่ากับ 0.52 บาท

ส่วนอากาศที่เมืองชัยปุระ กลางวันเฉลี่ยที่  25-35 องศา แต่กลางคืน อุณหภูมิลดต่ำลงมาก อยู่ที่ 10-25 องศา กลางวันแดดแรงมากแนะนำให้พกครีมกันแดดและแผ่นมาร์กหน้าสำหรับดูดความร้อนจากใบหน้าพกติดตัวไปด้วยนะคะ

การเดินทางไปเปิดประสบการณ์ใหม่ที่เมือง“ชัยปุระ” แบบบินตรงกับสายการบินไทยสมายล์ ทริปนี้ดีต่อใจ มีทั้งสนุกและตื่นเต้น เป็นทริปที่เรียกว่า Amazing & Unseen เพราะเป็นการเดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้เป็นครั้งแรก

เครื่องออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลาสี่ทุ่ม ถึงสนามบินชัยปุระ ตีหนึ่งนิดๆใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง (เวลาอินเดียช้ากว่าประเทศไทย 1.30 ชั่วโมง) และประมาณตีสอง เราเข้าเช็คอินที่โรงแรม Fortune Select Metropolitan Hotel นอนหลับพักผ่อนได้  7 ชั่วโมง ประมาณ 9 โมงเช้าเริ่มประเดิมอาหารอินเดียมื้อแรกก่อนออกไปตะลุยเที่ยวกัน

วันแรกของการเที่ยวในเมือง “ชัยปุระ”ตามโปรแกรมไม่อัดแน่นทำให้รู้สึกได้ว่า มาเที่ยวและพักผ่อนจริงๆ เรา นั่งรถทัวร์สีขาวสะอาดตาพาเที่ยวชมเมืองสีชมพู ตลอดสองข้างทางตึกรามบ้านช่องของเมืองนี้ก็ล้วนเป็นสีชมพูทั้งหมด



ไกด์อินเดียเล่าให้ฟังว่า เมืองสีชมพูนี้ เกิดขึ้นจากไอเดียของ มหาราชซาราม ซิงห์ ที่ได้รับสั่งให้ประชาชนทาสีชมพูทับบนสีปูนเก่าของบ้านเรือนตนเอง ช่วงก่อนเจ้าชายแห่งเวลส์มาเยือนเพื่อแสดงถึงไมตรีจิตอันดีต่อกันต่อมารัฐบาลอินเดียได้ออกกฎหมายควบคุมสิ่งก่อสร้างภายในเขตกำแพงเมืองเก่า ให้ต้องทาสีชมพูรักษาสภาพเดิม


ตัวเมืองของนครสีชมพู ย่านพระราชวังแห่งสายลมหรือฮาวามาฮาลมีตลาดชื่อ ฮาวามาฮาลบาซ่าร์ (Hawa Mahal Bazaar) เป็นแหล่งช้อปปิ้งที่มีความคึกคักมากทั้งผู้คน รถโดยสาร มอเตอร์ไซต์ รถทัวร์ ม้า อูฐ วัว เดินเต็มไปหมดทั้งบนถนนและบนทางฟุตบาท มีร้านค้าเปิดขายของตลอดแนวคนขายของทุกร้านเป็นผู้ชายทั้งหมด ทำหน้าที่เรียกลูกค้าให้ซื้อของกันคึกคัก 

คนขายของที่นี่ตื้อเก่งมาก ขอบอกว่า ถ้าของยังไม่ถูกใจ...ต้องใจแข็งเข้าไว้และเดินทำไม่รู้ไม่ชี้ อย่าแสดงออกว่าอยากได้.. แค่ยืนๆดูก็พอ...แต่ถ้าใจอยากได้ก็ทำเป็นดูเฉยๆ คนขายจะรีบบอกราคาเราเอง ห้ามถามราคาก่อน

ส่วนของที่อยากซื้อให้ต่อรองแบบสุดๆไปเลยของราคา 100 บาทสามารถต่อรองได้ 50 -70 บาทขึ้นอยู่กับสินค้าที่เราซื้อ ถ้าต่อรองแล้วไม่ได้ราคาที่ต้องการ ให้เดินออกจากร้านไปเลย....สักพักคนขายจะเรียกเรากลับไปในราคาที่ต้องการ...แต่ไม่ควรต่อรองราคาให้ถูกจนน่าเกลียดเกินไป เว้นแต่ว่าไม่ต้องการสินค้าตัวนั้น

พวกเราทุกคนลงจากรถไปเก็บภาพบรรยากาศ วิถีชีวิต วัฒนธรรมของเมืองนี้ ตามโปรแกรมเที่ยวซึ่งมีทั้งหมด 10 ที่เที่ยวสวยงาม ขอนำมาฝากกันนะคะ

1.พระราชวังแห่งสายลม หรือฮาวามาฮาล สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่เป็นแลนด์มาร์คของที่นี่ถูกสร้างด้วยหินทรายสีชมพูสูง 5 ชั้น หน้าตาคล้ายรวงผึ้งแกะสลัก ตัวพระราชวังมีช่องหน้าต่างเล็กๆและมีการแกะสลักบานหน้าต่างหินอ่อนหรือหินทรายเป็นลวดลายต่างๆอย่างสวยงาม ว่ากันว่า ทำไว้ให้หญิงสาวนางในได้มองผู้คนที่เดินผ่านไปมาอยู่นอกพระราชวัง

2. ป้อมปราการแอมเบอร์ฟอร์ท และพระราชวังแอมเบอร์พาเลซ ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกันมองจากฝั่งถนนขึ้นไปตัวป้อมปราการดูสวยงาม สง่า ตั้งอยู่บนภูเขาสูงท่ามกลางธรรมชาติแม้จะมีแดดแรงแต่อากาศไม่อบอ้าว 

ทุกคนจะขึ้นชมป้อมปราการฯได้ โดยนั่งช้างขึ้นไป ที่นี่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปะโมกุล(อิสลาม)และฮินดูดูเข้ากันอย่างสวยงามและลงตัว

ป้อมปราการที่โดดเด่นอยู่บนยอดเขา มองเห็นกำแพงยาวยาวกว่า 13 กิโลเมตรดูคล้ายกำแพงเมืองจีน ที่นี่มีช้างเกือบ 100 เชือกมาบริการนักท่องเที่ยวขึ้นป้อมปราการฯชมบรรยากาศและทัศนียภาพ

ระหว่างทางขึ้น หรือมองลงมาจากริมเชิงหน้าผาของป้อม จะมองเห็นทะเลสาป และทัศนียภาพสวยงามมาก ไม่เสียดายเงิน 100 รูปีที่ทิปให้ควาญช้างที่พาเราขึ้นเขาชมความสวยงามของที่นี่ด้วยความเต็มใจเลยค่ะ


3.พระราชวังฤดูร้อน จัลมาฮาล เป็นพระราชวังสำหรับพระราชวงศ์ล้อมรอบด้วยทะเลสาป Man Sagar น้ำรอบพระราชวังช่วยลดความร้อนช่วงหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี

4.ซิตี้พาเลซ เป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองเมืองในอดีต สร้างสมัย มหาราชาใจสิงห์เป็นสถาปัตยกรรมแบบราชสถาน ศิลปะชั้นยอดแบบโมกุล(อิสลาม)ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ Sawai Man Singh Museum แสดงของใช้ส่วนพระองค์ของมหาราชา


5.จันทาร์ มานทาร์ สถานที่ท่องเที่ยวด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองชัยปุระ  มีหอนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่นี่ จากทั้งหมด 4 แห่ง วัดเวลาได้อย่างแม่นยำ....สมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือคำนวณฤกษ์เวลาออกรบ และได้รับประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.2010

6.จุดชมวิวเมืองชัยปุระ@ ป้อมนราห์การห์(NaharagrhFort) หรือป้อมไทเกอร์ สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1734 สมัยมหาราชาไสวจัย ซิงห์ที่ 2

เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูแลปกป้องเมืองชัยปุระในอดีตตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมือง ระยะทางห่างจากเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดบริการนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวชมวิวเมือง ขึ้นมาแล้วมองเห็นอาคารบ้านเรือนทั้งเมืองดูสวยงาม บรรยากาศดี

7. อนุสรณ์สถานมหาราชาแห่งชัยปุระ (Royal Gaiotor) อยู่ทางทางทิศตะวันออกห่างจากเมืองชัยปุระไป ประมาณ 10 กิโลเมตรสร้างขึ้นในบริเวณที่ถวายเพลิงพระศพของมหาราชาแห่งชัยปุระเพื่อรำลึกถึงอดีตมหาราชาที่เคยปกครองเมืองชัยปุระอนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปโดมแบบฮินดูสไตล์ของราชปุต

8.อัลเบิร์ตฮอลล์ (Albert Hall) หรือพิพิธภัณฑ์กลางของเมืองชัยปุระสร้างตามสถาปัตยกรรมของอังกฤษ ด้านในจัดแสดงวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยในราชสถานรวมถึงห้องสมุดและภาพวาดแบบย่อส่วน (Miniature Painting) ในสมัยของโมกุลให้ชม

และอิซร์ลัต (Isar Lat) หรือเรียกว่าสวาร์กาสูลี (Swargasuli)เป็นหอคอยสูงสีเหลืองนวลซึ่งเป็นจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งของเมืองชัยปุระที่งดงาม

9. รัมบักห์พาเลซ (Rambagh Palace) เป็นพระราชวังอีกแห่งหนึ่งของมหาราชาแห่งเมืองชัยปุระปัจจุบันถูกดัดแปลงให้กลายเป็นโรงแรมที่แพงที่สุดของ   ชัยปุระ ที่นี่อลังการและสวยงามมาก 





พวกเรามีโอกาสได้แวะมานั่งจิบชาก่อนขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยได้เห็นการใช้ชีวิต

บางส่วนของสังคมชนชั้นสูงยามค่ำคืนและนักธุรกิจที่มานัดพบปะสังสรรค์กัน


10.Ganesh Temple วัดพระพิฆเนศใหญ่ที่สุดของที่นี่ใครมาแล้วต้องมากราบไหว้ขอพรจากองค์พระพิฆเนศ ช้างหัวเทพในศาสนาฮินดูถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความเป็นมงคล ภูมิปัญญาความรู้และความมั่งคั่ง เป็นที่เคารพบูชาที่นิยมมากที่สุดของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

และ เบียร์ล่ามันเดียร์ (BirlaMandir) หรือเรียกอีกชื่อว่า วัดลักษมีนารายัน (LaxmiNarayan) ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงวัดพระพิฆเนศ สามารถเดินถึงกันได้  ที่นี่เป็นวัดฮินดูสีขาวโดดเด่น สวยงาม เฉพาะอย่างยิ่งยามค่ำคืนแสงไฟจะเป็นสีเหลืองนวล วัดนี้สร้างโดยมหาเศรษฐีชาวอินเดีย ภายในมีพระอุมาเทวี ซึ่งทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้แต่ห้ามถ่ายภาพ

ถามว่าแล้ว 4 วันที่ใช้ชีวิตที่นี่ได้กินอาหารแบบไหนและได้ทันดูเทศกาลสาดสีของชาวอินเดียหรือเปล่า 

ต้องบอกว่า 13  มื้อจัดเต็มอาหารอินเดียที่โรงแรมและโรงแรมเองนั้นเข้าใจนักท่องเที่ยวโดยไม่ทำเมนูอาหารที่มีเครื่องเทศแรงเกินไป

ทุกคนเลยอิ่มอร่อยได้ทุกมื้อ โดยเฉพาะแป้ง นามหรือแป้งโรตีย่าง  แป้งนุ่ม หอม อร่อยแต่ต้องทานตอนกำลังอุ่นๆค่ะ รวมถึงอาหารพื้นถิ่นที่ชื่อ ดาลบาตีโชมา แป้งทอดลูกกลมๆรีๆ ขนาดพอดีคำใครมาถึงอินเดียแล้วต้องกินไม่อย่างนั้นมาไม่ถึงค่ะ



เวลาจะกิน คนขายจะใส่ไส้ที่เป็นถั่วบดผสมเครื่องเทศ รสชาติออกหวานกินกับน้ำแกงข้นๆก็อร่อยลงตัว  อาหารนี้หาซื้อกินได้แทบจะทุกจุดของเมืองนี้ 


ส่วนอาหารที่เรากินกัน 13 มื้อมีหน้าตาอาหารอย่างไร ตามภาพด้านล่างนี้เลยคะ


ส่วนเทศกาลสาดสีนั้นที่อินเดียเริ่มวันจันทร์ที่ 12มีนาคม แต่พวกเราเจอเทศกาลนี้จากชาวอินเดียก่อนวันเริ่มจริง 1 วัน ทุกคนเจอสาดแบบมีมารยาทแต่รวดเร็วไวแบบไม่ทันตั้งตัว ทำเอาหน้าตาเป็นสีชมพูกันหมด  พวกเราสนุกสนานกันมาก

แต่ขอบอกว่า ใครโดนสีแล้วต้องรีบไปล้างออกจากใบหน้าทันทีเพราะแต่เดิมการเล่นสาดสีในสมัยก่อนจะใช้สีที่ทำจากสมุนไพรต่างๆนานาชนิดปัจจุบันเริ่มมีสีสังเคราะห์เข้ามา อาจทำให้ผิวหน้าแพ้ได้

เทศกาลสาดสีที่อินเดียจะคล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา  ที่อินเดียเรียกว่า วันโฮลี่ หรือวันตรุษของชาวฮินดู ถือเป็นวันเริ่มต้นรับสิ่งดีๆในวันขึ้นปีใหม่และ เวลาชาวฮินดูจะสาดสีกัน เราจะได้ยินเสียงคนอินเดียหรือชาวฮินดู พูดคำว่า แฮปปี้โฮลี่ เพราะชาวอินเดียเชื่อกันว่า การสาดสี ให้กันเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากตัว

ดังนั้น ก่อนวันเทศกาลเราจะเห็นชาวอินเดียเดินทางกลับบ้านไปเฉลิมฉลองเทศกาลสาดสีในบ้านเกิดกันเยอะแยะมากมาย . 


ขอขอบคุณสายการบินไทยสมายล์ ที่จัดทริปสนุกๆ เที่ยวเมืองชัยปุระ https://www.thaismileair.com/ และขอบคุณพ็อกเก็ตไวไฟ #GlobalWIFIที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดียได้ตลอดทริปเดินทาง


#ไทยสมายล์ #Thaismile #ไจปูร์ #ชัยปุระ #Lovelytrip #TravelIndia #TourIndia #jaipur#Tourjaipur#Traveljaipur #เที่ยวไจปูร์ #เที่ยวชัยปุระ #เที่ยวอินเดีย #GlobalWIFI #IncredibleIndia






 

Create Date : 21 มีนาคม 2560
3 comments
Last Update : 13 ธันวาคม 2560 6:50:21 น.
Counter : 5665 Pageviews.

 

สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 3757448 21 มีนาคม 2560 17:24:49 น.  

 

แปลกตา...กว่าเมืองที่เคยเห็น.... อากาศขนาดนั้น ผมว่า
กำลังดี ไม่ร้อนมาก กลางคืนเย็นแบบนี้ดีครับ

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 21 มีนาคม 2560 20:45:22 น.  

 

น่าเที่ยวมากครับ

 

โดย: แซงค์ ชายคาตะวัน IP: 119.76.5.175 21 มีนาคม 2560 21:13:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Lovelytrip
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




จำนวนผู้ชม 5140140 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 970 ครั้ง

เที่ยวทุกที่ที่ใจอยากไป
New Comments
Friends' blogs
[Add Lovelytrip's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.