@ดูงิ้วเถิดชื่นใจ@
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
ชุดงิ้วหมวดชุดลำลอง 行头 - 褶

หมวดชุดลำลอง



การใช้งาน: ใช้กับบัณฑิต จอมยุทธ์หรือชาวบ้านสามัญธรรมดา

รูปแบบ: ปกเฉียง ดุมข้าง (สีข้างขวา) ชุดของผู้ชายยาวถึงเท้า
ตัวเสื้อผ่าข้างทั้งสองด้าน แขนเสื้อกว้าง ต่อชายผ้าสีขาวยาว
ชุดของผู้หญิง ดุมหน้า ปกตั้ง ชุดยาวเลยเข่าลงมาเล็กน้อย

ที่มา: ชุดของชายพัฒนามาจากชุดลำลองในสมัยราชวงศ์หมิง ปกเฉียงแขนเสื้อกว้าง
ชุดลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของชุดลำลองที่สืบทอดมานาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและซ่ง
ส่วนของหญิงพัฒนามาจากรูปแบบเสื้อที่มีปกตั้งขึ้น ดุมหน้า ตัวสั้นค่อนข้างสั้น ชายไว้ในกระโปรง
ในส่วนปกที่ตั้งขึ้นของชุด เพิ่งมานิยมกันมากในสมัยราชวงศ์หมิง เพื่อปกปิดส่วนคอให้ดูเรียบร้อย

จุดเด่น: ชุดนี้นอกจะเป็นชุดลำลองแล้ว ยังมีสามารถใช้งานได้หลายอย่าง
สามารถเป็นชุดที่สวมใส่ไว้ภายในก่อนสวมชุดบรรดาศักดิ์หรือชุดคลุมทับอีกที
อีกทั้งตัวละครชายยังสามารถใส่โดยไม่ติดดุม เพื่อแสดงถึงอุปนิสัยที่เปิดเผย กล้าหาญ

วัตถุดิบ: ผ้าต่วนใช้กับตัวละครหน้าลาย เพราะตัวผ้ามีน้ำหนัก เข้ากับลักษณะตัวละคร
นอกนั้นส่วนมากจะใช้ผ้าซาติน เพราะอ่อนเบา ดูเหมาะสมเป็นชุดลำลองอย่างแท้จริง
ลวดลาย: มีการกำหนดเป็นแบบแผนไว้โดยยึดตามประเภทของตัวละคร
ตำแหน่งของลวดลาย บ้างปักเฉพาะมุมของชุด บ้างปักทั่วทั้งชุด หรืออาจไม่มีลายใดๆเลยก็ได้

สี: ราชวงศ์ใช้สีเหลือง งานมงคลใช้สีแดง ผู้สูงอายุใช้สีเขียวขี้ม้า นอกนั้นดูที่ความเหมาะสม

การปัก: จะปักเป็นไหมล้วนหรือปักไหมแล้วตัดเส้นด้วยดิ้นทองก็ได้





ชุดบุรุษบุ๋นลำลอง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครบัณฑิต ซิ่วไฉ ชุดปักลายไม้ดอกทั้งกิ่ง ดูสะอาดตา ลายที่ปักมีความสมดุล
ไหมที่ใช้ปักลายสีสด ให้ความรู้สึกสง่างามผึ่งผาย เหมาะกับบุคลิกของผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะสีชุดจะเป็นสีอ่อนเพื่อขับลายปักให้เด่นชัดมากขึ้น
ภาพ: หลิ่วเมิ่งเหมย จากงิ้วเรื่อง หมู่ตันถิง



ชุดลำลองปกลาย
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครบัณฑิต ซิ่วไฉ แต่มีการปักลายเฉพาะที่ปกเสื้อและรอบปกเสื้ออีกหนึ่งชั้น
โดยปกติใช้กับตัวละครบัณฑิตตกยาก บริเวณอื่นของชุดไม่มีการปักลวดลายเพิ่มเติม
ในส่วนของบริเวณลายที่ปักเป็นลายดอกเหมยบนลายคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง สีชุดเน้นที่สีอ่อนเป็นหลัก
ภาพ: จางเซิง จากงิ้วเรื่อง หงเหนียง



ชุดบุรุษบู๊ลำลอง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครชายหนุ่มที่มีสถานะทางสังคมสูงและมีความสามารถในการต่อสู้
การปักลายใช้การปักลายไม้เลื้อยเชื่อมต่อกันระหว่างด้านซ้ายและด้านขวา
ภาพ: จิวยี่ จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดนักรบลำลอง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครนักรบในตำแหน่งแม่ทัพหรือนักรบในป่าเขาลำเนาไพร
ทั้งชุดปักลายวงดอกไม้สิบวง
ภาพ: หลินชง จากงิ้วเรื่อง เหย่จูหลิน



ชุดลำลองตัวละครหน้าลาย
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหน้าลายที่มีบุคลิกดุดัน เปิดเผย
ลายที่ปักมีทั้งแบบลายกิ่งไม้และลายเมฆ เวลาใส่ไม่ต้องกลัดกระดุม
ภาพ: โจวชู่ จากงิ้วเรื่อง ฉูซันไฮ่



ชุดลำลองสำหรับตัวตลกบุ๋น
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครตลกบุ๋นที่มีนิสัยละโมบ คดโกงหรือมักมากในกามารมณ์
ปกติชุดจะเป็นสีเขียว ลายบนชุดปักลายให้มีลักษณะกระจายทั่วทั้งชุด เช่น ลายของมงคลแปดชนิด
ภาพ: เจี่ยงกั้น จากงิ้วเรื่อง เจี่ยงกั้นเต้าซู



ชุดลำลองสำหรับตัวตลกบู๊
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครตลกบู๊ มีความสามารถในการต่อสู้
ลายที่ปักมีลักษณะกระจายทั่วทั้งชุด ส่วนมากเป็นลายนกหรือแมลง
เพราะสัตว์เหล่านี้มีปีก สื่อถึงความแคล่วคล่องว่องไวของตัวละครที่สวมใส่
ภาพ: หยางเซียงอู่ จากงิ้วเรื่อง ซันเต้าจิ่วหลงเปย



ชุดลำลองสีต่างๆ
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครที่มีสูงอายุ เป็นชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดา
ชุดไม่มีการปักลวดลายใดๆ ชุดแบบนี้ยังแบ่งได้เป็นแปดชนิด แต่ละชนิดต่างกันเพียงเล็กน้อย
ชุดมีหลายสี เลือกใส่ตามสถานะ บุคลิกตัวละคร และเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ
ภาพ: ซ่งซื่อเจี๋ย จากงิ้วเรื่อง ซื่อจิ้นซื่อ



ชุดลำลองสีดำ
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครชาวบ้านฐานะยากจนข้นแค้น ส่วนมากเป็นบัณฑิตที่สอบไม่ผ่าน
ลักษณะเด่นของชุดคือมีสีดำทั้งชุด เว้นแต่ปกใช้ผ้าสีขาว
ภาพ: ฟ่านจ้งอวี่ จากงิ้วเรื่อง เวิ่นเฉียวน่าวฝู่



ชุดพ่อบ้าน
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครพ่อบ้านหรือวีรบุรุษที่มีชาติกำเนิดต่ำต้อย
ชุดมีสีขาวปกดำ ปกติยังใช้กับตัวละครคนใช้ จึงเรียกชื่อว่า ชุดพ่อบ้าน
ภาพ: หวังจง จากงิ้วเรื่อง อี้เจ๋อหวังขุย



ชุดรุ่งเรือง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครที่ถึงคราวตกอับสุดขีด ชุดเป็นสีดำปกขาว ปะด้วยเศษผ้าสีต่างๆ
แต่ทุกสีถูกนำมารวมอยู่บนพื้นผ้าสีดำ เพราะเป็นสีที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง ช่วยขับสีของเศษผ้าสีต่างๆได้เป็นอย่างดี เหตุที่เรียกว่า ชุดรุ่งเรือง เนื่องจากผู้ที่สวมใส่ชุดนี้มักจะกลับมาได้ดีในตอนจบ
ภาพ: ฟ่านซุย จากงิ้วเรื่อง เจิ้งถีผาว



ชุดพ่อเฒ่า
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครชายสูงอายุ สีชุดที่ใช้ไม่มีการฟอกสี ใช้สีเดิมของผ้า แสดงถึงความยากจน ต่ำต้อย เรียบๆ ชุดนี้ไม่ต้องใส่ชุดด้านในรองก่อนสวมใส่
ภาพ: จางหยวนซิ่ว จากงิ้วเรื่อง ชิงเฟิงถิง



ชุดเด็กรับใช้
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครเด็กรับใช้ มีลักษณะเหมือนชุดลำลองสีต่างๆ แต่มีขนาดเล็กกว่า บริเวณปกปักลายดอกไม้หรือลายอื่นๆ
ภาพ: เด็กรับใช้ จากงิ้วเรื่อง ซีเซียงจี้



ชุดเด็ก
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครเด็ก มีขนาดเล็กกว่าชุดเด็กรับใช้
ปกสีขาว ชายแขนเสื้อสีดำ ไม่มีชายผ้าขาว
ภาพ: จางหยวน จากงิ้วเรื่อง ซางหยวนจี้จื่อ



ชุดเจ้าพนักงาน
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครเจ้าพนักงานในศาลตัดสินคดีความ เป็นชุดที่มีระดับชั้นต่ำสุด
ภาพ: เจ้าพนักงาน



ชุดลำลองลายดอก
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิงที่มีฐานะธรรมดาไม่ร่ำรวย การปักลวดลายใช้ลายดอกไม้เชื่อมสองฝั่ง
ภาพ: เฉินซิ่วอิง จากงิ้วเรื่อง เถี่ยกงหยวน



ชุดลำลองสตรี
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิงจนเงินแต่ไม่จนใจ มีคุณธรรม สุภาพเรียบร้อย หรือที่เรียกว่า ชิงอี
ชุดเป็นสีดำ บริเวณริมชุดเป็นสีน้ำเงินเข้ม
ภาพ: หานอวี้เหนียง จากงิ้วเรื่อง เซิงสื่อเฮิ่น



ชุดสตรีลำลองประยุกต์
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิง มีการประยุกต์ชุด โดยกระดุมเลียนแบบชุดคลุมสตรี
บริเวณหน้าอกและรอยผ่าของชุดทำเป็นลักษณะหัวคฑาหยูอี้ ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น
ภาพ: ฉินเซียงเหลียน จากงิ้วเรื่อง คดีเฉินซื่อเหมย



ชุดไว้ทุกข์
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิงที่กำลังไว้ทุกข์
โดยความเป็นจริงชุดไว้ทุกข์จะไม่มีการปักลวดลายใดๆลงไปบนชุด
แต่เพื่อความสวยงามจึงปักลายลงไป เป็นลายดอกบัวซึ่งเกี่ยวข้องกับงานศพและพระพุทธศาสนา
ภาพ: มู่กุ้ยอิง จากงิ้วเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง



ชุดรุ่งเรืองสตรี
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิงที่ถึงคราวตกอับสุดขีด ชุดเป็นสีอ่อน ปะด้วยเศษผ้าสีต่างๆ
ภาพ: จางฮุ่ยจู จากงิ้วเรื่อง ฮวงซันเล่ย



ชุดแม่เฒ่า
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิงชราฐานะยากจน
จุดเด่นของชุดคือปกที่กลัดกระดุมที่สีข้าง เหมือนของชุดผู้ชาย
ภาพ: ยายเฒ่า







ข้อมูลชุดงิ้วในบทความนี้ เป็นข้อมูลของชุดงิ้วปักกิ่ง (京剧) ซึ่งยึดถือแบบแผนมาจากงิ้วคุนฉวี่ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษแห่งงิ้วทั้งปวง (百戏之祖) โดยในวงวิชาการที่ศึกษาเรื่องงิ้วจะทราบกันว่า แบบชุดงิ้วปักกิ่งและงิ้วคุนฉวี่มีระเบียบแบบแผนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณและเคร่งครัด จนเป็นแบบอย่างให้กับงิ้วท้องถิ่นประเภทอื่นๆนำไปพัฒนาหรือประยุกต์การใช้งานออกไปอย่างกว้างขวาง ในขณะที่งิ้วปักกิ่งและงิ้วคุนฉวี่ยังคงพยายามรักษาแบบแผนนี้ไว้ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

บทความเรื่องชุดงิ้วจะแบ่งเป็น 5 หมวด คือ
1.หมวดชุดบรรดาศักดิ์
2.หมวดชุดคลุม
3.หมวดชุดเกราะ
4.หมวดชุดลำลอง
5.หมวดชุดอื่นๆ แบ่งเป็นสี่หมวดย่อย และหมวดเครื่องแต่งกายเพิ่มเติมคือ
5.1ชุดแบบยาว
5.2ชุดแบบสั้น
5.3ชุดแบบเฉพาะ
5.4ชุดอุปกรณ์เสริม
และ เครื่องแต่งกายเพิ่มเติม

โดยสี่หมวดแรกเป็นการจัดหมวดตามประเภทชุด ส่วนหมวดสุดท้าย (หมวดชุดอื่นๆ) มีลักษณะเฉพาะและยากจะจัดเข้าพวกกับสี่หมวดแรก จึงไว้ในหมวดชุดอื่นๆรวมทั้งปิดท้ายด้วยเครื่องแต่งกายเพิ่มเติม

ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จะมีบางส่วนที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากงิ้วไทย เนื่องจากคนไทยเชื้อสายจีนส่วนมากเป็นชาวแต้จิ๋ว จึงมักคุ้นเคยกับงิ้วแต้จิ๋วมากกว่า ซึ่งงิ้วแต้จิ๋วก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการแสดงและการแต่งกายที่แต่งต่างออกไป จึงขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบการพิจารณาอ่านบทความ


Create Date : 08 ตุลาคม 2553
Last Update : 9 ตุลาคม 2553 10:31:47 น. 0 comments
Counter : 5724 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อุปรากรจีน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




@ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจอุปรากรจีนครับ@

"บทความทุกชิ้นทั้งในกระทู้และblogนี้
ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอก
หากต้องการจะนำไปใช้ในกิจการใดๆ
รบกวนให้เกียรติลงชื่อ/Creditผู้เขียน
หรือจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก็จะดีมาก
มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

Credit: ดนุพล ศิริตรานนท์

สามารถชมคลิปสารคดีงิ้วและงิ้วเรื่องต่างๆได้ที่
https://www.facebook.com/jingju.thai
http://www.youtube.com/user/MrOperahouse

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับสิ่งตัวเองที่รักนะครับ
Friends' blogs
[Add อุปรากรจีน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.