มาทำความรู้จักปลาการ์ตูนกันดีกว่า

ชื่อไทย ปลาการ์ตูน
ชื่อสามัญ Anemonefish


ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีความงดงาม สีสวยสด ด้วยลีลาท่วงท่าในการว่ายน้ำ เป็นที่สะดุดตาของบรรดานักเลี้ยงปลาจำนวนมาก ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นักเลี้ยงปลาทะเลแทบทุกคนรู้จักดี และเคยเลี้ยง ราคาที่ย่อมเยา ขนาดที่กำลังน่ารัก สีสันสะดุดตา ล้วนเป็นปัจจัยให้นักเลี้ยงปลาสนใจและอยากมีไว้เป็นเจ้าของ

ปลาการ์ตูนเป็นชื่อเรียกกันติดปากของปลาการ์ตูนส้มขาว แท้ที่จริงแล้วเราใช้เรียกแทนชื่อกลุ่มปลาที่สามารถเล่น หรืออยู่ร่วมกันกับดอกไม้ทะเลได้โดยไม่เป็นอันตราย และอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ในทะเลธรรมชาติ เมื่อปลาการ์ตูนถูกไล่ทำร้ายโดยปลาชนิดอื่น ปลาการ์ตูนก็จะว่ายน้ำหนีอย่างเร็วเข้าไปหลบซ่อนในดอกไม้ทะเล เมื่อศัตรูที่ว่ายน้ำตามเข้ามาไม่ทันระวังตัว ว่ายตามเข้าไปหาดอกไม้ทะเล ก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเล บ้างก็บาดเจ็บ บ้างก็ตายและเป็นอาหารของดอกไม้ทะเลต่อไป ดอกไม้ทะเลจึงเป็นเสมือนบ้านที่อยู่อาศัยของปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนในแต่ละกลุ่มยังอาจจะมีสีสันได้หลายหลากกว่าที่แจกแจงอยู่นี้ เนื่องจากปลาการ์ตูนสามารถผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันได้ สีและลายที่ได้มาจึงอาจไม่เหมือนกับพ่อ แม่ หรืออาจไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ สีของปลาอาจขึ้นกับสภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัยก็ได้

ชนิดของปลาการ์ตูน


1. ปลาการ์ตูนส้ม – ขาว ( Amphiprion ocellaris )



ที่มา : ประเทศไทย

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นหลาน

ขนาด : ขนาดทั่วไปประมาณ 3-7 เซนติเมตร

ลักษณะนิสัย : ทั่วไปแล้ว ปลาส้มขาวจะอยู่รวมกันเป็นฝูง กับดอกไม้ทะเลเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า นีโม (NEMO)

เป็นตัวแทนของปลาทะเลที่นิยมเลี้ยงกันก็ว่าได้ สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ คุ้นตา เช่น สัญลักษณ์บนเสื้อ ตามปกหนังสือ ในหนังสือการ์ตูน หรือตุ๊กตา เป็นต้น ปลาส้มขาวที่พบจะมีสีตั้งแต่ สีเหลืองอ่อน จนถึง สีส้มเข้ม มีแถบสีขาว 3 แถบบนตัว (หัว, กลางตัว, โคนหาง) ปลาจะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ ที่ขนาด ตัวผู้ 3 เซนติเมตร ตัวเมีย 4 เซนติเมตร (ตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้)เราสามารถที่จะเลี้ยงปลาส้มขาวได้หลายตัวใน 1 ตู้ เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้หลายชนิด เช่น เนื้อกุ้ง เนื้อหอย เนื้อปลา อาหารสำเร็จรูป ซึ่งเราสามารถฝึกให้ปลากินอาหารสำเร็จรูปได้ เพื่อความสะดวก และประหยัดเวลาในการจัดหาและเตรียมการ ปลาส้มขาวเป็นปลาที่ชอบว่ายน้ำอยู่กลางค่อนล่างของตู้ ต้องการอาณาเขตน้อย อยู่รวมกับปลาชนิดอื่นได้ แต่เนื่องจากเป็นปลาที่รักสงบ เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้จึงทำให้ปลาส้มขาวเกิดความเครียดง่าย ซึ่งมีผลให้ปลาติดเชื้อไวรัสได้ง่าย รักษาลำบากและจะตายในที่สุด




2. ปลาเพอคูล่า ( Amphipiron percula )



ที่มา : ประเทศอินโดนีเซีย

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นหลาน

ขนาด :ขนาดทั่วไปประมาณ 3-7 เซนติเมตร

ลักษณะนิสัย : ไม่ชอบว่ายน้ำออกนอกถิ่นที่อยู่ มักจะอยู่เป็นคู่ รักสงบ
เป็นปลาที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกับปลาส้มขาวมาก

โดยทั่วไปนักเลี้ยงปลาสมัครเล่นมักจะแยกชนิดกันไม่ค่อยออก เพราะการสังเกตสีสัน ลายบนตัวปลาทีละครั้งทำให้นักเลี้ยงปลาบางคนดูผิด คิดว่าปลาเพอคูล่าเป็นปลาส้มขาว แต่ถ้านำปลาทั้งสองชนิดมาเปรียบเทียบพร้อมๆกัน เราก็จะสามารถเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ด้วยความแตกต่างกันเล็กน้อยทางสรีระ ปลาเพอคูล่าจะมีซี่กระดูกบนครีบหลัง 9-10 อัน ส่วนส้มขาวมี 11 อัน เพอคูล่ามีซี่กระดูกที่ครีบเหงือก 16 อันหรือ (16-18) ในขณะที่ส้มขาวมี 17 อันหรือ (15-17) และถ้าดูทางด้านสี และลวดลายบนตัว ปลาเพอคูล่าจะมีสีดำบนลำตัวมากกว่าปลาส้มขาว และแถบสีขาวกลางตัวจะมีหลายลวดลายที่ต่างกัน หนาบ้าง บางบ้าง กว้างบ้าง แคบบ้าง แหลมบ้าง แคบบ้าง เว้าบ้าง ซึ่งไม่เหมือนกับปลาส้มขาวที่ลายขาวข้างลำตัว จะมีลายแบบเดียวกันหมด ปลาเพอคูล่าบางตัวอาจจะมีสีพื้นเป็นสีดำแทนสีส้มบนลำตัว เหลือแต่ส่วนปาก ครีบหลัง หาง ครีบท้อง ครีบหู ที่เป็นสีส้มซึ่งดูสวยงามมาก (เพอคูล่าดำ) ด้วย เหตุนี้ จึงทำให้ปลาเพอคูล่าเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการในหมู่นักเลี้ยงเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปแล้วปลาเพอคูล่าจะเจริญเติบโตช้ากว่าปลาส้มขาว กว่าจะเจริญเติบโตเต็มที่ก็ใช้เวลากว่า 1 ปี ในขณะที่ปลาส้มขาวใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือนเท่านั้น เนื่องจากการที่ไม่ทำร้ายปลาตัวอื่นในตู้ หากนำมาเลี้ยงรวมกันปลาส้มขาวจะไล่กัดปลาเพอคูล่า ถ้าเราเลี้ยงให้ปลาสมบูรณ์เต็มที่แล้วปลาก็จะวางไข่เองตามธรรมชาติ





3. ปลาการ์ตูนทอง (Premnas biaculeatus : Yellow - striped) และ
ปลาการ์ตูนแดง (Premnas biaculeatus : white - striped)




ที่มา : ประเทศอินโดนีเซีย

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นหลาน

ขนาด :ขนาดทั่วไปประมาณ 8-10 เซนติเมตร

ลักษณะนิสัย : ปลาจะหวงถิ่นมากพบได้ตามรอบนอกของแนวปะการัง และส่วนที่เป็นแนวปะการังลาดชัน มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Entacmaea quadricolor

ปลาการ์ตูนแดง
แถบสีขาวทั้ง 3 แถบ มีขนาดเล็ก บาง เมื่อเปรียบเทียบกับปลาการ์ตูนทอง และสีแดงที่ตัวปลายังจะสดใสกว่าปลาการ์ตูนทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้จะมีสีแดงสดมาก ปลาชนิดนี้ค่อนข้างจะเปราะบางมากระหว่างการขนส่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรคเมือกขาวขุ่นห่อหุ้มทั่วทั้งตัว และตายอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่งคือ เมื่อย้ายที่ใหม่ปลาจะไม่ค่อยกินอาหารโดยเฉพาะปลาตัวใหญ่ อาจเกิดจากความตกใจ หรือ สับสนกับที่ใหม่ ปรับตัวเข้ากับที่ใหม่ไม่ได้จนตายในที่สุด

ปลาการ์ตูนทอง
ลักษณะภายนอกคล้ายกับปลาการ์ตูนแดงมาก แต่มีความแตกต่างกันตรงที่แถบสีขาวทั้ง 3 แถบบนลำตัว เป็นสีเหลืองทอง แทนที่จะเป็นสีขาวและหนากว้างกว่าแถบสีขาวของปลาการ์ตูนแดง เป็นปลาที่มีความแข็งแรงมากกว่าปลาการ์ตูนแดง ในการขนส่งไม่ค่อยมีปัญหามาก การเป็นโรคเมือกขาวขุ่นคลุมตัวก็แทบจะไม่มี ปรับตัวได้ดี สีของปลาการ์ตูนทองเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์โดยรวมแล้วจะมีสีเข้มมากกว่าปลาการ์ตูนแดง




4. ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (Amphiprion Frenatus)



ที่มา : ประเทศออสเตรเลีย

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นลูก

ขนาด : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 3-7 ซ.ม

ลักษณะนิสัย : ชอบอาศัยอยู่ตามลากูน หรือรอบนอกของแนวปะการัง มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Entacmaea quadricolor

ปลาในกลุ่มนี้จัดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เหมาะกับนักเลี้ยงปลามือใหม่ ด้วยการที่มีสีแดงสดสวยเป็นหลักปนกับสีดำ กินอาหารง่ายไม่ค่อยเลือกอาหาร ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ง่าย ทนทานต่อสภาพน้ำที่ไม่ดีได้มากกว่าปลาการ์ตูนส้มขาว และ เพอคูล่า ปลาเต็มวัยลำตัวมีสีดำอมแดง ครีบทุกครีบมีสีแดง มีแถบสีขาว 1 แถบ พาดขวางบริเวณหลังตา ปลาขนาดเล็กจะมีลำตัวและครีบเป็นสีแดง มีแถบขาวพาดขวางลำตัว 3 แถบ บริเวณหลังตา ตอนกลางของลำตัว และโคนหาง ในปลาวัยรุ่นแถบสีขาวที่โคนหางจะหาย



5. ปลาการ์ตูนอินเดียแดง (Amphiprion Akallopisos)



ที่มา : ประเทศอินโดนีเซีย

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นหลาน

ขนาด : โตเต็มที่แล้วจะมีขนาดประมาณ 3.5 นิ้ว

ลักษณะนิสัย : รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่คล้ายปลาการ์ตูนส้ม – ขาว

มีแถบขาวที่กลางหลังบางเล็กกว่าปลาอินเดียแดงสีส้ม แถบขาวจะเริ่มตั้งแต่บริเวณระหว่างตา จนถึงโคนหาง และไม่มีแถบสีขาวที่แผ่นปิดเหงือก ส่วนหางจะมีสีขาว ใส ปลาในกลุ่มนี้ ยังแบ่งตามตำแหน่งของสีขาวบนตัวปลาได้เป็น 2 กลุ่มย่อย พวกแรกจะมีแถบสีขาวยาวอยู่บนกลางหลัง ตั่งแต่ปากบน จรดโคนหาง




6. ปลาการ์ตูนลายปล้อง (Amphiprion Clarkii)



ที่มา : ประเทศไทย ในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นลูก

ขนาด :ขนาดทั่วไปประมาณ 3-7 เซนติเมตร

ลักษณะนิสัย : ไม่ชอบว่ายน้ำออกนอกถิ่นที่อยู่ มักจะอยู่เป็นคู่ รักสงบ

ลำตัวมีสีดำเข้ม ส่วนหน้าครีบอกและหางมีสีเหลืองทอง มีแถบขาว 3 แถบ ตรงส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง ปลาชนิดนี้มีความผันแปรของสีสูง มีไม่ตำกว่า 8 รูปแบบ สีของลูกปลาวัยรุ่นก็ต่างจากปลาเต็มวัย พบทั้งอ่าวไทย และอันดามัน จัดเป็นปลาการ์ตูนใหญ่ที่สุดของเมืองไทยขนาดโตที่สุดประมาณ 15 เซนติเมตร อาศัยอยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเลหลายชนิด บางครั้งเป็นชนิดที่พบตามพื้นทราย ปลาการ์ตูนลายปล้องมีการแพร่กระจายกว้างมาก อาจอยู่รวม กัน เป็นกลุ่ม 3-4 ตัว โดยมีตัวเมีย ซึ่งมีขนาดโตที่สุด เป็นจ่าฝูง ตัวที่มีขนาดรองลงมาจะเป็นตัวผู้ิ ถ้าตัวเมียตายไปตัวผู้ก็จะรีบโตและเปลี่ยนเพศขึ้นมาทำหน้าที่แทน




7.ปลาการ์ตูนอานม้า (Amphiprion Polymnus)



ที่มา : ประเทศไทย และ แถบทะเลประเทศญี่ปุ่น จนถึงแถบทะเลประเทศออสเตรเลีย ทางตะวันออก ของหมู่เกาะ โซโลมอน ทางตะวันตกของหมู่เกาะสุมาตรา

สามารถในการเพาะของฟาร์ม : สามารถเพาะพันธุ์ได้ถึงรุ่นลูก

ขนาด :ปลาการ์ตูนที่มีขนาดใหญ่ อาจมีขนาดยาวของลำตัวถึง 5-6 นิ้ว

ลักษณะนิสัย : เป็นปลาที่ดูเหมือนไม่ค่อยว่ายน้ำไปไหน ชอบว่ายน้ำอยู่กับที่ อยู่บริเวณรังที่ทำไว้

ปลาอานม้าจัดเป็นปลาการ์ตูนที่ตกใจง่ายในเวลากลางคืน จากการสังเกตในเวลากลางคืนปลาจะค่อยๆ ว่ายน้ำออกจากบริเวณรังที่นอนไปเรื่อยๆ คล้ายกับละเมอ และเมื่อมีเงาเคลื่อนไหวหรือแสงไฟวาบขึ้นมา ปลาจะตกใจและพยายามว่ายน้ำกลับรังอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความตกใจ ปลาจะว่ายชนกับตู้ หรือก้อนหินภายในตู้ บางตัวถึงกับกระโดดออกมาตายนอกตู้ และเป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างเวลาที่ปลากลุ่มนี้เครียด เช่น ตกใจ ถ่ายน้ำใหม่ จัดตกแต่งตู้ใหม่ ย้ายตู้ใหม่ หรือแม้แต่นำปลาใหม่มาใส่เพิ่ม ลูกตาของปลามักจะบวมออกมาทั้ง 2 ข้าง แต่จะหายเป็นปกติเองได้ภายใน 1-2 เดือน ถ้าไม่เกิดการติดเชื้อเสียก่อน (เมื่อปลาตาบวมแล้วตกใจอีก ว่ายเอาลูกตา-ไปชน หรือ ขีด ข่วน จนเกิดแผลติดเชื้อทำให้ตาบอดในที่สุด) ดังนั้นในการเลี้ยงจึงจำเป็นต้องใช้ตู้ขนาดความจุน้ำเกิน 150 ลิตร และควรอยู่ในที่สงบไม่พลุกพล่าน จึงจะเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงพ่อ แม่พันธุ์ 1 คู่ เพื่อให้พ่อ แม่พันธุ์วางไข่





พฤติกรรม

ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลงและจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่าปลาการ์ตูนจะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้

ความสัมพันธ์กับดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จะอาศัยอยู่ภายในดอกไม้ทะเลซึ่งมีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เพื่อป้องกันตัว เป็นพฤติกรรมที่สัตว์ทั้งสองพึ่งพากัน ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่อ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน ที่เที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเล

อันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด


ขอบคุณข้อมูลจาก Percula Farm คลิ๊กเลย





Create Date : 15 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2555 18:44:36 น. 0 comments
Counter : 16961 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nongmalakor
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 120 คน [?]




ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
Google
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2555
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 พฤศจิกายน 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add nongmalakor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.