ยินดีต้อนรับสู่ Blog ที่คนรักศิลปะ ภาษาและวัฒนธรรม อยากแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ

ระลึกถึงความตายสบายนัก การเจริญมรณสติในชีวิตประจำวัน โดย พระไพศาล วิสาโล (๒)

โดย พระไพศาล วิสาโล
จัดพิมพ์โดย ชมรมกัลยาณธรรม
พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น
ในเมื่อจะต้องเจอกับความตายอย่างแน่นอน แทนที่จะวิ่งหนีความตายอย่างไร้ผล
จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาเตรียมใจรับมือกับความตาย


(ต่อจากบล็อกที่แล้ว)

ตายก่อนตาย

อานิสงส์ของการเจริญมรณสติ ๓ ประการข้างต้น คือการขวนขวายใส่ใจในสิ่งที่ชอบผัดผ่อน การปล่อยวางสิ่งที่ชอบติดยึด และการเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในด้านหนึ่งช่วยให้เราอยู่อย่างมีความสุขและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตายที่จะมาถึง เพราะเมื่อได้ทำสิ่งที่สมควรทำเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีสิ่งคั่งค้างกังวลใจ ไร้ความห่วงหาอาลัย อีกทั้งละเว้นสิ่งที่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ ก็พร้อมจะจากโลกนี้ไปด้วยใจสงบ การอยู่อย่างมีความสุขและมีคุณค่า กับการเตรียมตัวตายอย่างสงบจึงเป็นเรื่องเดียวกัน หาได้แยกจากกันไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งหากต้องการตายเป็นก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็นด้วย ในข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยกล่าวในรูปปุจฉาวิสัชนาว่า “เตรียมสำหรับตายให้ดีที่สุดอย่างไร? ตอบ: อยู่ให้ดีที่สุด ! เตรียมสำหรับอยู่ให้ดีที่สุดอย่างไร? ตอบ:เตรียมพร้อมสำหรับที่จะตายนะซี่!”

การเตรียมตัวตายที่ดีที่สุดคือการอยู่อย่างพร้อมที่จะตายอยู่เสมอ นั่นคือทำความดีทุกขณะที่มีโอกาส และฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง ขณะเดียวกันก็ระลึกถึงความตายอยู่เป็นนิจเพื่อกระตุ้นเตือนให้ทำกิจทั้งสองประการดังกล่าว การเจริญมรณสติยังช่วยให้เราพร้อมเผชิญความตายได้ดีขึ้น ตรงที่เป็นการฝึกใจให้คุ้นกับความตายอยู่เสมอ ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่าความตายไม่น่ากลัวมากเท่ากับความกลัวตาย และสาเหตุที่เรากลัวตายมากก็เพราะไม่คุ้นชินกับความตายโดยเฉพาะความตายของตัวเอง ปัญหานี้จะลดลงไปเมื่อเราเจริญมรณสติอยู่เสมอ เพราะช่วยให้ใจคุ้นชินกับความตายของตัวเอง หากความคุ้นชินนั้นมิได้เกิดในระดับความคิดหรือสมองเท่านั้น แต่ลงไปถึงอารมณ์ความรู้สึกหรือหัวใจ ก็จะทำให้เรายอมรับความตายของตนเองได้ง่ายขึ้น

การฝึกตายอยู่เสมอเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรายอมรับความตายในระดับอารมณ์ความรู้สึกด้วย เพราะการฝึกชนิดนี้ ยิ่งจินตนาการได้ใกล้เคียงความจริงมากเท่าไร ความกลัว ความอึดอัด และความห่วงหาอาลัย จะถูกกระตุ้นขึ้นมามากเท่านั้นโดยเฉพาะในใจของผู้ฝึกใหม่ การตระหนักรู้ในอารมณ์ดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับมันได้ดีขึ้นเมื่อความตายมาใกล้ตัวจริง ๆ ขณะเดียวกันการเผชิญกับสถานการณ์ที่คุกคามชีวิต แม้จะเป็นแค่สมมติหรือจินตนาการ แต่ก็ช่วยให้เรามีความคุ้นกับมันมากขึ้น จึงช่วยลดความตื่นตระหนกว้าวุ่นหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาจริง ๆ

การฝึกตายหากทำอย่างสม่ำเสมอมากเท่าไร ก็มีผลดีต่อจิตใจมากเท่านั้น วิธีที่จะทำให้การฝึกตายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอก็คือการทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนะวิธีการการฝึกตายที่กลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิต นั่นคือ “ตายก่อนตาย” หมายถึงฝึกการตายจากกิเลส หรือตายจากการยึดมั่นในตัวตน คือทำให้ตัวตนตายไปก่อนที่จะหมดลม

ตัวตนนั้นมิได้มีอยู่จริง หากเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตนแล้ว ก็จะเกิดการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ตามมาว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความสำเร็จ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่พึงปรารถนา แม้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ยังอดยึดไม่ได้ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ด้วยเหมือนกัน เช่น ความโกรธ(ของกู) ความเกลียด(ของกู) ศัตรู(ของกู) ความยึดมั่นในตัวกูของกูนี้เองที่ทำให้เรากลัวความตายเป็นอย่างยิ่งเพราะความตายหมายถึงการพลัดพรากสูญเสียไปจากสิ่งทั้งปวง และสิ่งที่เรากลัวที่สุดคือพลัดพรากจากตัวตนหรือการดับสูญของตัวตน

เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ ความตายก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะจะไม่มีความพลัดพรากสูญเสียใด ๆ เลยในเมื่อไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ที่สำคัญที่สุดคือไม่มี “เรา”ตาย เพราะตัวเราไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยเหตุนี้การฝึกใจให้ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนจึงเป็นวิธีเตรียมตัวตายที่ดีที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้แนะนำวิธีปฏิบัติหลายประการเพื่อการละวางตัวตน วิธีหนึ่งก็คือฝึก “ความดับไม่เหลือ” กล่าวคือทุกเช้าหรือก่อนนอนให้สำรวมจิตเป็นสมาธิ แล้วพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราหรือของเราแม้แต่สักอย่างเดียว รวมทั้งพิจารณาว่าการ “เกิด”เป็นอะไรไม่ว่าเป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นคนดี เป็นคนชั่ว เป็นคนสวย เป็นคนขี้เหร่ ก็ล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น “เกิด”ในที่นี้ท่านเน้นที่ความสำคัญมั่นหมายหรือติดยึดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เมื่อเห็นแล้วให้ละวางความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิด “ตัวกู”ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (แต่การทำหน้าที่ตามสถานะหรือบทบาทดังกล่าวก็ยังทำต่อไป) เป็นการน้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือแห่งตัวตน

เมื่อทำจนคุ้นเคย ก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อใดที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส หรือจิตนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา ก็ให้มีสติเท่าทันทุกคราวที่ “ตัวกู”เกิดขึ้น นั่นคือเมื่อเห็น ก็สักว่าเห็น ไม่มี “ตัวกู”ผู้เห็น เมื่อโกรธ ก็เห็นความโกรธเกิดขึ้น ไม่มี “ตัวกู”ผู้โกรธ เป็นต้น

การปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อดับ “ตัวกู”ไม่ให้เหลือ ซึ่งก็คือทำให้ตัวกูตายไปก่อนที่ร่างกายจะหมดลม หากทำได้เช่นนั้นความตายก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด ความตายก็ไม่มีด้วยซ้ำ เพราะไม่มีผู้ตายตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นวิธีเอาชนะความตายอย่างแท้จริง แต่ถึงแม้ตัวกูจะไม่ตายไปอย่างสิ้นเชิง ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูอยู่ เมื่อจวนเจียนจะตายท่านพุทธทาสภิกขุได้แนะนำให้น้อมจิตสู่ความดับไม่เหลือเช่นเดียวกัน นั่นคือละวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวกูของกู วิธีการนี้ท่านเปรียบเสมือน “ตกกระไดแล้วพลอยกระโจน” กล่าวคือเมื่อร่างกายทนอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว จิตก็ควรกระโจนตามไปด้วยกัน ไม่ห่วงหาอาลัยหรือหวังอะไรอย่างใดอีกต่อไป ไม่คิดจะเกิดที่ไหนหรือกลับมาเกิดใหม่อีกต่อไป นาทีสุดท้ายของชีวิตเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จิตจะปล่อยวางตัวกูเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง จึงนับว่าเป็น “นาทีทอง”อย่างแท้จริง


บทส่งท้าย

พระอาจารย์ลี ธมมธโร เคยกล่าวว่า “คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย” ท่านได้ข้อคิดนี้จากเรื่องเล่าของชายแก่คนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตจากกรงเล็บของหมีใหญ่อย่างหวุดหวิด หมีตัวนั้นเข้ามาทำร้ายเขาและภรรยาขณะที่กำลังหาของป่า ภรรยาหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนชายแก่ถูกหมีปราดเข้ามาประชิดตัว พยายามต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้ ภรรยาจึงตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก ชายแก่จึงทำตาม ล้มนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นดังนั้นจึงหยุดตะปบ ยืนคร่อมตัวเอาไว้ ดึงขาและหัวชายแก่ แล้วใช้ปากดันตัวอยู่พักหนึ่ง เขาก็ทำตัวอ่อนไปอ่อนมา ขณะเดียวกันก็บริกรรมว่า “พุทโธ”ไปด้วย หมีเห็นชายแก่ไม่กระดุกกระดิก คิดว่าเขาตายแน่แล้วจึงเดินจากไป

ชายแก่รอดตายได้เพราะทำตัวเหมือนคนตาย แต่คำพูดของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่านั้น ในแง่หนึ่งคืออยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไร้ความยินดียินร้ายในโลกธรรม ไม่อาลัยในชีวิต ผู้ที่ทำใจได้เช่นนี้แม้เผชิญความตายต่อหน้า ย่อมมีจิตสงบ ความทุกข์ทรมานมิอาจย่ำยีบีฑาได้ เท่ากับว่าอยู่เหนือความตาย ลึกลงไปกว่านั้นก็คือการอยู่อย่างไม่มีตัวกู พร้อมจะตายทุกเมื่อ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงทำอะไรไม่ได้ คือ “พ้นตาย”นั่นเอง

การเจริญมรณสติคือการฝึกใจให้พร้อมตายทุกเมื่อ เป็นวิถีสู่การตายก่อนตายและการพ้นตาย แม้ด้านหนึ่งจะคล้ายกับการทำตนเหมือนคนตาย แต่อีกด้านหนึ่งคือการปลุกใจให้ตื่นจากความประมาท เพื่ออยู่อย่างมีชีวิตชีวา โปร่งโล่ง เบาสบาย เป็นชีวิตที่เปี่ยมด้วยความพากเพียรรับผิดชอบแต่ก็พร้อมปล่อยวางในเวลาเดียวกัน

มรณสติเมื่อบำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอ ย่อมช่วยให้เกิดปัญญาตระหนักรู้ว่าความตายมิได้เป็นปฏิปักษ์กับชีวิต แต่เป็นสิ่งที่สามารถหนุนเสริมและขับเคลื่อนชีวิตให้เป็นไปในทางที่งอกงามได้ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วชีวิตกับความตายนั้นหาได้แยกจากกันไม่ หากดำรงอยู่ควบคู่กับชีวิตตลอดเวลา ดังมีพุทธพจน์ว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต” สำหรับผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมดังกล่าว ความตายจึงไม่ใช่ศัตรู หากเป็นส่วนหนึ่งของธรรมดาที่สบตาได้อย่างสบายใจ

บทพิจารณาสำหรับการเจริญมรณสติ

ปัจฉิมพุทโธวาท

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปปะมาเทนะ สัมปะเทถะ
ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา
นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า

บังสุกุลตาย

อะนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง
อุปปาทะวะยะธัมมิโน มีการเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
เตสัง วูปะสะโม สุโข ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข

บทพิจารณาสังขาร

สัพเพ สังขารา อะนิจจา
สังขารคือร่างกาย จิตใจ แลรูปธรรม นามธรรม ทั้งหมดทั้งสิ้น
มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้ว ดับไป มีแล้ว หายไป
สัพเพ สังขารา ทุกขา
สังขารคือร่างกาย จิตใจ แลรูปธรรม นามธรรม ทั้งหมดทั้งสิ้น
มันเป็นทุกข์ ทนยาก เพราะเกิดขึ้นแล้ว แก่ เจ็บ ตายไป
สัพเพ ธัมมา อะนัตตา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขาร และมิใช่สังขาร ทั้งหมดทั้งสิ้น
ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวตัวว่าตนของเรา
อะธุวัง ชีวิตัง ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน
ธุวัง มะระณัง ความตายเป็นของยั่งยืน
อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง อันเราจะพึงตายแน่แท้
มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ
ชีวิตัง เม อะนิยะตัง ชีวิตของเราเป็นของไม่เที่ยง
มะระณัง เม นิยะตัง ความตายของเราเป็นของเที่ยง
วะยะ ควรที่จะสังเวช
อะยัง กาโย ร่างกายนี้
อะจิรัง มิได้ตั้งอยู่นาน
อะเปตะวิญญาโณ ครั้นปราศจากวิญญาณ
ฉุฑโฑ อันเขาทิ้งเสียแล้ว
อะธิเสสสะติ จักนอนทับ
ปะฐะวิง ซึ่งแผ่นดิน
กะลิงคะรัง อิวะ ประดุจดังว่าท่อนไม้และท่อนฟืน
นิรัตถัง หาประโยชน์มิได้

อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕

สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทังสิ้น
เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

ระลึกถึงความตายสบายนัก
มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธการ
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ

พระศาสนโสภณ (จตตสลลเถร)




Create Date : 03 มีนาคม 2556
Last Update : 3 มีนาคม 2556 15:33:37 น. 0 comments
Counter : 1276 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Pang-Pouille
Location :
上海 เซึียงไฮ้ China

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 38 คน [?]






Blog ใหม่วันนี้


ภาพดี ๆ...โลกนี้มีให้ดู

ภาพดอกไม้สวย ๆ จากประเทศจีน


Story เล็ก ๆ กับวัฒนธรรมจีน

ชวนกันกินติ่มซำฮ่องกงที่เซียงไฮ้


ที่บล็อก ภาพดี ๆ โลกนี้มีให้ดู

อย่าลืมแวะชมฤดูใบไม้ผลิที่เซี่ยงไฮ้


Hobbies แสนรัก

ความรู้งานฝีมือจากเมืองจีน

วิธีทำกระเป๋าใส่กุญแจ




สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามละเมิดไม่ว่าการลอกเลียน นำรูป ข้อความที่เขียนไว้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดในบล็อกแห่งนี้ ไปเผยแพร่อ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อก

hits
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
3 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Pang-Pouille's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.