Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
วิกฤติขาดน้ำภาคตะวันออก ปัญหาการทำงานของรัฐบาล

วิกฤติขาดน้ำภาคตะวันออก ปัญหาการทำงานของรัฐบาล

25 กรกฎาคม 2548 15:18 น.


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติในขณะนี้ ความจริงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่รู้ล่วงหน้า แต่เป็นปัญหาสะสมที่รู้กันมานานแล้วในหมู่โรงงานเอกชนในพื้นที่ คือ ปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่มีสูงกว่าปริมาณน้ำเข้า ทำให้มีการใช้ "น้ำต้นทุน" ที่อยู่ก้นอ่างเก็บน้ำไปเรื่อยๆ เพียงแต่ไม่มีผู้บริหารในภาครัฐสนใจ


การบริหารทรัพยากรน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในภาคตะวันออกอยู่ในความดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งให้สัมปทานผูกขาดแก่บริษัทบริหารและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ โดยอาศัยอ่างเก็บน้ำสามแห่งในพื้นที่เป็นหลัก

ปัญหาขาดแคลนน้ำในขณะนี้ มีสาเหตุเฉพาะหน้าจากภาวะฝนแล้งอย่างรุนแรง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างมากจากปริมาณกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร แห้งขอดเหลือเพียง 33 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เอามาใช้ได้จริงเพียง 13 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นน้ำก้นอ่างต่ำกว่าระดับท่อที่มีอยู่

อัตราการใช้น้ำของอุตสาหกรรมตะวันออกคือวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันเนื่องจากขาดแคลนน้ำ จึงได้ลดปริมาณการใช้ลงมาเรื่อยๆ ถึงกระนั้น น้ำที่เหลืออยู่ก็พอใช้ไปถึงเพียงสิ้นเดือน ก.ค.นี้เท่านั้น และหากไม่มีปริมาณน้ำใหม่มาเพิ่ม โรงงานนับร้อยแห่ง รวมทั้งโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ก็จะต้องหยุดการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เพราะอุตสาหกรรมภาคตะวันออกปัจจุบันผลิตมูลค่าสูงถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี

แล้วบรรดาผู้คนในรัฐบาลทำอะไรบ้าง?

บุคคลแรกๆ ที่ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน ซึ่งผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางลงไปดูพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.แล้วกลับมารายงานต่อนายกรัฐมนตรี แต่ข้อมูลกลับไม่ปรากฏต่อนายกรัฐมนตรี มีเพียงรายงานว่า ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ กระทั่งภาคเอกชนออกมาร้องเรียนอย่างเปิดเผยในปลายเดือน มิ.ย. แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังคงได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ถึงกับต่อว่าผู้ร้องเรียนว่า เอาแต่อยู่โรงงานดูน้ำจากท่อประปา ไม่ไปดูน้ำที่อ่างเก็บน้ำ รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งถึงกับทุบอกตัวเองประกาศเอาตำแหน่งเป็นประกันว่า น้ำไม่ขาดแคลน

เมื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเดินทางลงไปดูพื้นที่ด้วยตนเองจึงปรากฏความจริงว่า ได้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำจริง และสั่งการให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการทำฝนเทียมและขุดเจาะบ่อบาดาล ให้ได้น้ำเพิ่ม 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ถึงบัดนี้ ปริมาณน้ำก็ได้เพิ่มเพียง 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น และยังต้องบำบัดสารคลอไรด์ก่อนนำไปใช้อีกด้วย

ล่าสุด บรรดาโรงงานในพื้นที่ได้ดิ้นรนหาทางออกกันเองโดยไม่หวังพึ่งรัฐบาล ด้วยการวางแผนบรรทุกน้ำจากภาคกลางเข้ามาทางเรือถ้าน้ำในพื้นที่หมดลง วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เท่ากับเป็นการเผาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ได้น้ำมาป้อนโรงงาน ซึ่งก็คือ วิกฤติถึงขั้นน้ำแพงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว!

เมื่อการขุดเจาะบ่อบาดาลไม่เข้าเป้า ก็หาแพะมารับบาปด้วยการสั่งย้ายอธิบดีกรมทรัพยากรบาดาล ทั้งๆ ที่กรมนี้เพิ่งจะเข้ามารับแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายเท่านั้น

แล้วรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีคนนั้นล่ะ ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน?

ปัญหาทั้งหมดนี้สะท้อนถึงวิธีการทำงานของรัฐบาลที่เป็นปัญหาเสียเอง

การบริหารทรัพยากรน้ำไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำกันวันต่อวันหรือปีต่อปี แต่ต้องเป็นการบริหารระยะยาวหลายปี มีการวางแผนล่วงหน้า โดยมีหลักการกระจายน้ำจากพื้นที่ส่วนเกินไปยังพื้นที่ขาดแคลนในจังหวะเวลาที่พอดี ซึ่งก็คือ ต้องมีฐานข้อมูลปริมาณน้ำและความต้องการใช้น้ำในอดีตและปัจจุบัน จำแนกตามพื้นที่ ฤดูกาล ลักษณะการใช้ และผู้ใช้อย่างละเอียด รวมทั้งมีการคำนวณถึงภาวะในอนาคต แล้วมีโครงการต่างๆ มารองรับ

เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำและระบบท่อเพิ่มเติมในพื้นที่ที่จำเป็น ฉะนั้น การบริหารทรัพยากรน้ำจึงต้องมีเจ้าภาพเพียงรายเดียวที่มีฐานข้อมูล กำลังคน และงบประมาณอย่างพอเพียง

แต่ปัจจุบัน การบริหารจัดการน้ำถูกกระจายไปสู่หน่วยงานต่างๆ จำนวนมากหลายกรม หลายกระทรวง โดยไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพ ไม่มีใครรู้จริงว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีปริมาณน้ำเท่าใด กระจายในพื้นที่ใดบ้าง ลักษณะการใช้และผู้ใช้เป็นอย่างไร ในปีหน้าและปีต่อๆ ไปแต่ละพื้นที่จะมีน้ำพอใช้หรือไม่ แล้วควรจะมีโครงการผันน้ำอย่างไรและที่ใดบ้าง

แต่ที่ไม่อาจให้อภัยได้คือ แม้แต่ภาคตะวันออก ซึ่งทั้งรัฐบาล การนิคมอุตสาหกรรม และอีสท์วอเตอร์ ต่างมีข้อมูลที่ค่อนข้างดี รู้กันมานานแล้วว่า จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำในที่สุด ก็ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่ดีพอจนเกิดเป็นวิกฤติในวันนี้จนได้

สาเหตุเพราะในรัฐบาล รัฐมนตรีมักจะไม่ทำงานระยะยาว แต่มุ่งสร้างผลงานระยะสั้นให้เป็นข่าว เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็ทำงานแบบการตลาด หวังสร้างภาพพจน์และผลงานระยะสั้น สร้างหัวข้อข่าวไปเรื่อยๆ ปรับคณะรัฐมนตรีทุก 3-4 เดือน ใครที่ทุ่มเททำงานสำคัญในระยะยาว เช่น วางแผนบริหารน้ำทั้งระบบช่วง 4 ปีข้างหน้า ก็จะถูกมองว่า ไม่มีผลงาน ไม่เป็นข่าว และอาจถูกปรับออกจากตำแหน่งในเวลาไม่กี่เดือน

ยิ่งกว่านั้น นายกรัฐมนตรีเองมีแนวโน้มที่ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ทั้งหมดนี้ เป็นผลให้บุคคลใกล้ชิดรอบตัวและบรรดารัฐมนตรี ไม่มีใครกล้ารายงานข่าวร้ายหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีการปิดข่าวและข้อมูลไม่ให้ความจริงเข้าถึงนายกรัฐมนตรี นำมาซึ่งการออกความเห็นและการตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายครั้ง

ปัญหาขาดน้ำในภาคตะวันออกครั้งนี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญอีกบทหนึ่ง สำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำรัฐบาลที่จะเข้าใจว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและปัญหาขณะนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และวิธีการทำงานเดิมที่ใช้มา 4 ปีแรกเริ่มไม่ได้ผล



Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 31 กรกฎาคม 2549 23:31:53 น. 0 comments
Counter : 320 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.