Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นถึงบทสรุป

เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นถึงบทสรุป

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
การเจรจาเป็นทางการเพื่อจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย (JTEPA) ได้มาถึงรอบที่ 7 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ถึง 1 เม.ย. 2548 ที่อำเภอเขาใหญ่ นครราชสีมา ซึ่งมีความคืบหน้าจนใกล้ถึงบทสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า


คณะผู้เจรจาฝ่ายไทยประสบความสำเร็จเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นยอมเสนอเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ยกเว้นภาษีแป้งมันสำปะหลังแปรรูปในโควตา 200,000 ตัน ลดภาษีปลาทูน่ากระป๋องจาก 9.6% เหลือศูนย์ใน 5 ปี ลดภาษีเป็นศูนย์ทันทีสำหรับกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และกุ้งแปรรูป ลดภาษีเหลือ 2%

สำหรับอาหารทะเลสำเร็จรูปหลายรายการ ลดภาษีเป็นศูนย์ทันทีให้กับทุเรียน มะละกอ และมะพร้าว ลดภาษีผลไม้อีกหลายชนิดเป็นศูนย์ใน 3-7 ปี ลดภาษีไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจาก 11.9% เหลือ 8.5% และไก่ปรุงสุกจาก 6% เหลือ 3% ใน 5 ปี ให้โควตากากน้ำตาล 4,000 ตัน โดยเริ่มในปีที่ 3 และเพิ่มเป็น 5,000 ตันในปีที่ 4 ลดภาษีเนื้อหมูจาก 21.3% เหลือ 10.65% ใน 5 ปี ให้โควตากล้วย 3,000 ตันในปีแรกและเพิ่มเป็น 6,000 ตันในปีที่ 5 ให้โควตาสับปะรด 100 ตันในปีแรก และเพิ่มเป็น 300 ตันในปีที่ 5

แม้ว่าญี่ปุ่นจะยังไม่ยินยอมในหลายรายการ เช่น สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลังดิบ ผลิตภัณฑ์ข้าวและน้ำตาล แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเอฟทีเอที่ญี่ปุ่นทำกับฟิลิปปินส์และเม็กซิโก ญี่ปุ่นก็ได้ยอมอ่อนข้อให้กับไทยค่อนข้างมาก

อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีท่าทียืดหยุ่นมากขึ้นในการส่งพ่อครัวไทยและกิจการสปาไทยไปญี่ปุ่น รวมทั้งยินยอมตกลงในความร่วมมือด้านเกษตรว่าด้วยมาตรฐานสุขอนามัย และสร้างความร่วมมือระยะยาวด้านการผลิต การตลาด เทคโนโลยีและวัฒนธรรมระหว่างสหกรณ์เกษตรญี่ปุ่นกับสหกรณ์เกษตรไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ญี่ปุ่นไม่เคยทำกับประเทศอื่นใดมาก่อน

ในทางตรงข้าม ญี่ปุ่นยังไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายไทยซึ่งต้องการคงภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนไว้ตามเดิมที่ 7.0-9.5% เป็นเวลา 10 ปี แล้วจึงเริ่มลดภาษีในปีที่ 11 ให้เหลือศูนย์ในปีที่ 15

ชิ้นส่วนรถยนต์นั้นจะลดภาษีจาก 10-30% ในปีแรกกระทั่งเป็นศูนย์ในอีก 15 ปี ส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่นั้น ขอเลื่อนการเจรจาไป 3 ปี ฝ่ายไทยมีท่าทียืนยันในสินค้าเหล็กมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเพราะการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างหนักของกลุ่มธุรกิจเหล็กไทย ซึ่งอ้างว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กไทยมีคุณภาพสูงและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ

ความจริงคือ อุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนมาก หลายโครงการต้องกู้เงินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศรวมกันนับแสนล้านบาท ต้องนำเข้าเทคโนโลยีและวัตถุดิบขั้นต้นจากต่างประเทศแทบทั้งหมด ใช้พลังงานมาก ทำให้การผลิตมีต้นทุนสูงและในบางรายการก็มีปัญหาคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เหล็กนำเข้าจากต่างประเทศได้

อุตสาหกรรมเหล็กไทยจึงได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยด้วยการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิพิเศษต่างๆ รวมทั้งกีดกันการแข่งขันจากผลิตภัณฑ์เหล็กนำเข้าด้วยการจัดเก็บภาษีนำเข้า และใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นระยะๆ จัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่ม ทำให้ผลิตภัณฑ์นำเข้ามีราคาแพงจนไม่สามารถแข่งกับเหล็กภายในประเทศได้

แต่การคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กกลับเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ เพราะการปกป้องอันยาวนานเป็นการสร้างอำนาจผูกขาดให้กลุ่มธุรกิจเหล็ก บังคับให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องซื้อผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศซึ่งมีราคาสูง บางรายการมีปัญหาคุณภาพ บางครั้งถึงกับขาดแคลนหาซื้อไม่ได้

อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ถูกกระทบโดยตรงคืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นวัตถุดิบในปริมาณสูงและต้องมีคุณภาพดี ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตมีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีนับพันแห่ง การคุ้มครองกลุ่มธุรกิจเหล็กทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์มีต้นทุนสูงและสินค้ามีปัญหาคุณภาพ ผลต่อเนื่องคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เหล็กแผ่นมาผลิตตัวถังรถแล้ว ก็ต้องใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบเป็นรถยนต์ออกจำหน่าย การผลิตรถยนต์จึงมีต้นทุนสูงขึ้นและมีปัญหาคุณภาพตามไปด้วย เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคนี้ได้

การคุ้มครองกลุ่มธุรกิจเหล็กยังเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่กำลังพัฒนาขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรเกษตรได้ เนื่องจากวัตถุดิบมีต้นทุนสูงและมีปัญหาคุณภาพ ส่งผลไปถึงเกษตรกรทั่วประเทศอีกทอดหนึ่งที่ต้องใช้เครื่องจักรกลราคาแพง และไม่ได้คุณภาพตลอดมา การคุ้มครองกลุ่มธุรกิจเหล็กยังส่งผลไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น ก่อสร้าง ของเด็กเล่น เฟอร์นิเจอร์ ท่อ ถัง ภาชนะ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมส่งออกหรือมีศักยภาพที่จะส่งออก สร้างดุลการค้าให้กับประเทศไทย

ฉะนั้น ฝ่ายไทยควรจะใช้การเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่นทำการเปิดเสรีอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยทั้งระบบซึ่งครอบคลุมธุรกิจทั้งใหญ่และเอสเอ็มอีหลายหมื่นแห่ง รวมทั้งผู้บริโภคหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ โดยไม่ควรมองว่า เป็นการอ่อนข้อ แต่เป็นมาตรการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำลง มีคุณภาพสูงขึ้น ส่งออกสินค้าได้มากขึ้นในระยะยาว และเพื่อให้ธุรกิจเหล็กไทยเองได้เผชิญกับการแข่งขัน เป็นแรงกดดันให้ต้องปรับตัว ทั้งในด้านต้นทุน เทคโนโลยี และคุณภาพสินค้า

ทางออกของการเจรจาคือ ควรยอมเปิดตลาดเหล็กให้กับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างมีขั้นตอนโดยมีระยะปรับตัว 5 ปีคือ เริ่มลดอัตราภาษีในปีที่ 6 กระทั่งเป็นศูนย์ในปีที่ 10 แต่ขณะเดียวกัน ก็ควรลดอัตราภาษีในอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย คือ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งอาจใช้สูตรเดียวกันคือ มีระยะปรับตัว 5 ปี เริ่มลดอัตราภาษีในปีที่ 6 จนเป็นศูนย์ในปีที่ 10

ส่วนรถยนต์นั้น ควรเปิดตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ขนาด 3,000 ซีซีขึ้นไป เพราะปัจจุบัน ไทยได้เปิดตลาดให้กับออสเตรเลียแล้ว จึงควรเปิดให้ญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการแข่งขันกัน



Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 31 กรกฎาคม 2549 21:48:21 น. 0 comments
Counter : 239 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.