Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย 2

มองมุมใหม่ : ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย 2

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผู้นำพรรคไทยรักไทยก็ประกาศทันทีว่า จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขนานใหญ่ เพื่อปูทางไปสู่การเป็นประเทศสมัยใหม่ที่แข่งขันได้ในโลกทุนนิยมยุคโลกาภิวัตน์

มาตรการแรกๆ ที่กล่าวถึงคือ เร่งรัดแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป

ความจริงแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลได้ทำไปแล้ว และที่กำลังจะทำต่อไป ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน แต่เป็นเพียง "การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ" ให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ โดยยังมีรัฐบาลถือหุ้นส่วนข้างมาก

ถึงกระนั้น ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ รัฐบาลจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ใหม่ของบริษัทมหาชนแปลงสภาพเหล่านี้ ทำให้บริษัทมหาชนต้องผ่านขั้นตอนการเสนอโครงการ การตรวจสอบ และประเมินโดยสถาบันการเงินเช่นเดียวกับบริษัททั่วไป อีกทั้งยังต้องทำรายงานงบการเงิน และการบริหารเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านตลาดหลักทรัพย์

มาตรการสำคัญลำดับต่อไปคือ การเร่งทำความตกลงการค้าทวิภาคีหรือเอฟทีเอให้เสร็จสิ้น ซึ่งความตกลงที่เสร็จสิ้นไปแล้วคือ บาห์เรน และออสเตรเลีย ส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่และมีความสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย

คู่เจรจาล้วนเป็นประเทศที่เป็นหรือกำลังจะเป็นคู่ค้ารายสำคัญของไทยทั้งสิ้น ฉะนั้น หากทำเอฟทีเอได้สำเร็จ ไทยก็จะมีการค้าต่างประเทศที่เสรีมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นประเทศเกือบปลอดภาษีศุลกากรได้ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า

เอฟทีเอจะเป็นทั้งโอกาสและแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไม่ได้มีเฉพาะการลดภาษีการค้าสินค้า แต่ยังครอบคลุมการค้าบริการ การลงทุน การส่งเสริมการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา การแก้ไขมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี ไปถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม

เอฟทีเอจึงเป็นการเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการของไทยในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็จะเปิดเศรษฐกิจไทยให้สินค้า บริการ และผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน และแข่งขันกับสินค้าบริการ และผู้ประกอบการไทยได้โดยตรง

ฉะนั้นอุตสาหกรรมไทยที่ปรับตัวแข่งขันและยืนหยัดในตลาดในประเทศได้ ก็จะมีโอกาสออกไปแข่งขันในตลาดโลก ในขณะที่อุตสาหกรรมไทยส่วนที่เคยชินกับการผูกขาดและการคุ้มครองโดยรัฐ ก็จะเผชิญกับแรงกดดันให้ปรับตัวทั้งการบริหาร ประเภทสินค้าบริการ คุณภาพ ต้นทุน ราคา และการตลาด ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับให้มีการปรับตัวที่เจ็บปวดน้อยที่สุด

มาตรการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การริเริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในขณะนี้ ยังเป็นเพียงร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่คาดว่าจะผ่านสภาออกมาเป็นกฎหมายได้ไม่ยากนัก ด้วยจำนวนเสียงท่วมท้นในสภาของพรรคไทยรักไทย

แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ การจัดตั้งเขตพิเศษที่มีการบริหารนโยบายและทรัพยากรเศรษฐกิจที่เป็นเอกภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วน มีแรงจูงใจด้านภาษีและการใช้จ่ายของรัฐที่เอื้อต่อการลงทุนของเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐก็มีนโยบายพัฒนาการลงทุนในพื้นที่อย่างชัดเจน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งออกสินค้า

แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมีมานานแล้วหลายรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต แต่ไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ เพราะความอ่อนแอของรัฐบาลผสมหลายพรรค แรงต่อต้านจากกลุ่มคลั่งชาติต่างๆ ภายในประเทศ และกระแสโลกาภิวัตน์ในสากลที่ยังไม่รุนแรง

แต่คราวนี้ รัฐบาลสามารถกุมกระบวนการทางสภาได้เบ็ดเสร็จ การต่อต้านภายนอกสภาอาจจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษ โดยเป็นแนวร่วมทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นักธุรกิจที่เสียประโยชน์ สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมไปถึงนักวิชาการและราษฎรอาวุโส ที่มีแนวคิดชาตินิยมและอนุรักษนิยม ที่จะออกมาเคลื่อนไหวชูธง "ต่อต้านกฎหมายขายชาติ" กันอีก

ฉะนั้น ภาระสำคัญของรัฐบาลคือ ต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนอย่างละเอียด และถูกต้อง เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อ "คารมรักชาติ"

รัฐบาลยังประกาศทุ่มเงินลงทุน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพครั้งใหญ่ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ในระยะสี่ปีข้างหน้า ครอบคลุมโครงการตัดถนนทั่วประเทศ ขยายทางรถไฟระหว่างเมือง ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน รวมทั้งระบบรถไฟรางคู่ในกรุงเทพมหานคร

รัฐบาลยังมีโครงการสำคัญในภาคเกษตร คือการจัดตั้ง บรรษัทพิเศษหรือเอสพีวีขึ้นมาจัดการด้านการผลิตและการรับซื้อสินค้าเกษตร ให้เกษตรกรรับวัตถุดิบไปผลิตเป็นผลผลิตแล้วนำมาขายให้เอสพีวีในราคาที่ตกลงกันไว้ โดยเอสพีวีเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านตลาดทั้งหมด ซึ่งมีแนวโน้มว่า โครงการนี้จะเป็นการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรที่มีราคาแพง ก่อปัญหาเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน และทำให้ภาคเกษตรของไทยมีต้นทุนสูง ไม่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แม้จะมีความจำเป็นเพื่อยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว แต่ก็มีราคาแพงนับล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ

ข้อนี้รวมกับโครงการเอสพีวีที่มีแนวโน้มขาดทุนเป็นภาระหนี้สินขนาดใหญ่ของรัฐด้วย ทำให้เป็นความเสี่ยงสูงสำหรับรัฐบาล เพราะหากเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงกะทันหัน รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง ในขณะที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำยืดเยื้อ ทำให้เงินกู้โครงสร้างพื้นฐานเป็นภาระเกินตัวและเอสพีวีขาดทุนมาก ปัญหาก็อาจจะลุกลามเป็นวิกฤติการคลังและวิกฤติเศรษฐกิจได้

รัฐบาลไทยรักไทย 2 จะต้องจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม กระจายความเสี่ยงของแหล่งเงินกู้และระยะเวลาให้ยาวนานออกไป รวมทั้งทบทวนโครงการเอสพีวีให้มีขนาดและขอบข่ายกิจกรรมเล็กลง เพื่อจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ยกเลิกแนวคิดเอสพีวีไปเลย





Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 31 กรกฎาคม 2549 22:09:03 น. 0 comments
Counter : 204 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.