Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
วิพากษ์ "ตุลาการภิวัตน์"

มองมุมใหม่ : วิพากษ์ "ตุลาการภิวัตน์"

วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2549


ในการเสวนาทางวิชาการช่วงปลายพฤษภาคม 2549 หัวข้อเรื่อง "พิพากษาหาความยุติธรรมประเทศ เพิ่มดุลยภาพการเมืองไทย ก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองรอบสอง" ความตอนหนึ่งเรียกร้องให้มีกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" (Judicialization of politics and administrations) ซึ่งหมายถึง "การที่อำนาจตุลาการเข้าตรวจสอบการออกกฎหมาย และการใช้อำนาจของนักการเมือง" "การให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบถ่วงดุลสองอำนาจใหญ่คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ"

บทบรรยายเห็นว่า ต้นตอของปัญหาการเมืองไทยปัจจุบันคือ การที่กลไกตรวจสอบถ่วงดุลของระบอบประชาธิปไตยไม่ทำงาน จนเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง ฉะนั้น หนทางปฏิบัติขององค์กรตุลาการคือ เติมเต็มข้อบกพร่องดังกล่าวด้วยการให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่จัดการเลือกตั้งให้ยุติธรรมเท่านั้น

บทความดังกล่าวอ้างที่มาของ "ตุลาการภิวัตน์" ว่า เริ่มต้นจากผู้พิพากษาสูงสุดของสหรัฐอเมริกาชื่อ จอห์น มาร์แชล ซึ่งได้ตัดสินไว้ตั้งแต่ปี 1803 ว่า ศาลสูงสหรัฐมีอำนาจตัดสินคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือสภาคองเกรส ว่า เป็นไปตามครรลองรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปรากฏว่า ข้อเสนอ "ตุลาการภิวัตน์" ดังกล่าวได้รับเสียงสะท้อนอย่างต่อเนื่อง มีผู้นำไปต่อเติมขยายความเพิ่ม กระทั่งเป็นหนังสือชื่อเดียวกัน เรียกร้องให้องค์กรตุลาการลงมาแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองไทยปัจจุบัน "อย่างเป็นฝ่ายรุก" ข้อเสนอบางข้อมีนัยที่เรียกร้องให้องค์กรตุลาการออกมาเลือกข้างคู่ขัดแย้งทางการเมือง และ "ตั้งธง" ให้ตุลาการวินิจฉัยอรรถคดีการเมืองไปในทิศทางที่พวกตนต้องการ

แต่ทั้งหมดนี้ ก็มิใช่อะไรมากไปกว่าจุดเริ่มที่เป็นบทบรรยายที่สับสนด้วยข้อมูลวิชาการ โยงใยกับทัศนะการเมืองส่วนตัว แพร่ขยายไปลงท้ายเป็นกระแสความคิดที่มุ่งใช้องค์กรตุลาการมาสนองเป้าหมายทางการเมืองของพวกตน โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะไปทำลายกฎหมายรัฐธรรมนูญ และผลกระทบต่อสถานะขององค์กรตุลาการในระยะยาว

อำนาจตุลาการในการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญเริ่มครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยคณะศาลสูงสุดที่นำโดย จอห์น มาร์แชล ได้พิพากษาคดีพิพาทระหว่างมาร์เบอรี่และแมดิสัน (Marbury v. Madison) ไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1803 มีความเดิมว่า นายมาร์เบอรี่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาท้องถิ่น (justice of the peace) ในนาทีสุดท้ายโดยประธานาธิบดีอาดัมส์

แต่เมื่อเจฟเฟอร์สันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี กลับให้รัฐมนตรีแมดิสันงดการส่งหมายแต่งตั้งออกไป มาร์เบอรี่จึงอ้างบทบัญญัติตามส่วนที่ 13 แห่งพระราชบัญญัติตุลาการซึ่งผ่านโดยสภาคองเกรสในปี 1789 ฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดให้บังคับรัฐมนตรีส่งหมายแต่งตั้ง แต่คณะศาลสูงสุดกลับวินิจฉัยว่า ส่วนที่ 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้ ศาลสูงสุดไม่มีอำนาจออกคำสั่งบังคับตามที่ร้องขอ

คดีนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ให้ศาลสูงสุดของสหรัฐ มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญและตัดสินว่า กฎหมายใดที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร "ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่" อำนาจดังกล่าวเรียกว่า judicial review ศาลสูงสุดของสหรัฐได้ใช้อำนาจนี้มาถึงปัจจุบัน

ช่วงที่มีชื่อเสียงคือยุค 1960 ซึ่งมีคำวินิจฉัยให้กฎหมายแบ่งแยกสีผิว "ขัดรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้" ให้สิทธิเท่าเทียมแก่คนผิวสีในสหรัฐ อำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นี้ก็คือ บทบาทของฝ่ายตุลาการในการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การให้ตุลาการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญได้ก็แพร่ขยายไปสู่ประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ แต่วิธีการแตกต่างไป เช่น ฝรั่งเศสใช้ระบบคณะกรรมการร่วมนิติบัญญัติ-ตุลาการ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี จัดตั้งเป็นศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ส่วนญี่ปุ่น อินเดีย ปากีสถาน ตามอย่างสหรัฐและอังกฤษ ให้ศาลสูงสุดใช้อำนาจดังกล่าว ในประเทศไทย judicial review ตามแนวทางประชาธิปไตยก็มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 2540 ในรูปของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ

ฉะนั้น บทบาทของตุลาการในการถ่วงดุลอำนาจบริหารและนิติบัญญัติที่สำคัญที่สุดคือการวินิจฉัยบทกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารโดยยึดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นสูงสุดเท่านั้น หน้าที่ดังกล่าวเป็นของศาลรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเฉพาะที่เป็นคดีความเข้ามาสู่ศาลตามขั้นตอนวิธีพิจารณาความตามกฎหมาย การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจโดยฝ่ายตุลาการจึงไม่ใช่การกระทำตามอำเภอใจที่เอากฎหมายและองค์กรตุลาการไปรองรับเป้าประสงค์ทางการเมืองของฝ่ายใด

สิ่งที่ผู้ที่นิยม "ตุลาการภิวัตน์" ต้องการ เช่น สนับสนุนให้องค์กรตุลาการออกแถลงการณ์แสดงท่าทีการเมืองที่ไม่ใช่อรรถคดี หรือให้ตุลาการ "ตั้งธง" ไว้ล่วงหน้าในคดีการเมือง เหล่านี้ ไม่ใช่การใช้อำนาจตุลาการมาถ่วงดุลอำนาจบริหารและนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการผลักดันให้องค์กรตุลาการเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคฝ่ายต่างๆ โดยตรง ให้องค์กรตุลาการ "เลือกข้าง" แสดงทัศนะที่ไม่ใช่อรรถคดี กระทั่งพิพากษาคดีการเมืองไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนและทำลายคู่ปรปักษ์

คนพวกนี้คำนึงแต่เป้าหมายเฉพาะหน้า ใช้วิธีการต่อสู้แบบไหนก็ได้ อ้างทฤษฎีแนวคิดลอยๆ ที่ปั้นขึ้นเอง หรือที่ไปบิดเบือนมาจากตำราแล้วบัญญัติเป็นศัพท์ใหม่ๆ หรูๆ มีความหมายบิดเบี้ยวอย่างไรก็ได้ ให้บรรลุเป้าหมายการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นอำนาจนิยมขวาจัดของพวกตนเป็นพอ

ไม่คำนึงว่า "ตุลาการภิวัตน์" ที่พวกตนเรียกร้องจะทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรตุลาการ สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชน ทำให้องค์กรตุลาการแปดเปื้อนทางการเมือง และอาจลงท้ายเป็น "ระบอบตุลาการธิปไตย" ที่องค์กรตุลาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่เหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





Create Date : 05 สิงหาคม 2549
Last Update : 5 สิงหาคม 2549 21:32:32 น. 0 comments
Counter : 443 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.